วินัย ดิษฐจร ผู้บันทึกการต่อสู้ของประชาชนผ่านเลนส์กล้อง

เรื่อง  ธีรนัย จารุวัสตร์

ในวัยเพียง 15 ปี ‘วินัย ดิษฐจร’ ต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ เพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เมื่อพ่อของเขาประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บที่โรงงานจนต้องออกจากงาน

นับเป็นเหตุผกผันที่ซ้ำเติมครอบครัวของวินัยอีกรอบในเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนหน้านี้ครอบครัวของเขาเคยไปบุกเบิกทำไร่ทำนาที่ชัยภูมิ แต่สุดท้ายก็ขาดทุนจนล้มไป ต้องหอบครอบครัวกลับมาตั้งต้นใหม่ที่เมืองหลวง

ในเวลานั้น จังหวะชีวิตของวินัยคงดูคล้ายจะลงเอยเหมือนกับอีกหลายต่อหลายชีวิต ที่จมอยู่ในวงจรความยากจน ณ ชุมชนคลองเตย ดินแดนที่หลายคนไม่อาจหลุดพ้นจากวัฏจักรปากกัดตีนถีบ ไม่มีโอกาสได้มาสร้างชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ใดๆ 

จนกระทั่งชีวิตวินัยต้องพลิกผันไปอีกครั้ง เมื่อเขาได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “ทุ่งสังหาร – The Killing Fields” ที่บอกเล่าเรื่องราวของช่างภาพสองคน ที่ตีแผ่ความโหดร้ายของระบอบเขมรแดงในประเทศกัมพูชา

“หนังเรื่องนั้นเป็นภาพจำที่ติดตาพี่มากๆ” วินัยเล่าความหลัง “ตั้งแต่นั้นมา พี่อยากเป็นช่างภาพแบบพระเอกใน Killing Fields เลย” 

หลังจากที่ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบจากสารพัดงานต่างๆ ที่ผ่านมือ (“พูดกันตรงๆ เป็นจับกังนั่นแหละ” วินัยเล่า) ในที่สุดเขาก็มีเงินพอที่จะซื้อกล้องตัวแรกในชีวิต วินัยจำได้ว่าเป็นกล้องยี่ห้อ Pentax มือสอง ซื้อจากคลองถม วินัยฝึกฝนและศึกษาวิธีการถ่ายภาพเอง พลิกหน้าหนังสือพิมพ์ตามหางานช่างภาพ เริ่มตั้งแต่ถ่ายภาพสุนัขลงนิตยสารคนรักสัตว์เลี้ยง แล้วค่อยไต่ขึ้นมาเป็นช่างภาพโฆษณาการท่องเที่ยว… เข้าสู่เส้นทางแห่งอาชีพ “ช่างภาพ” อย่างเป็นทางการ

ใครจะไปคาดคิดว่า เส้นทางนี้จะพาให้กระเป๋ารถเมล์ที่เรียนหนังสือไม่จบในวันนั้น กลายเป็นช่างภาพมืออาชีพในวัย 56 ปี ที่ได้เป็นพยานบันทึกเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของไทยมาแล้วหลายบทหลายตอน ตั้งแต่ภาพหาดทรายและทะเลของไทยในยุคที่นักท่องเที่ยวยังไม่รู้จัก ภาพเหตุการณ์ประท้วงของผู้ชุมนุมเสื้อสีต่างๆ ไปจนถึงภาพเหตุสลายการชุมนุมและนองเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

ท่ามกลางนิทรรศภาพถ่ายครั้งแรกของเขาที่กำลังจัดแสดง ณ VS Gallery ในย่านสาธร วินัยเล่าเรื่องราวและจุดผกผันชีวิตอย่างหมดเปลือก ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตขึ้นมากับความยากจนในวัยเด็กที่ทำให้วินัยเห็น “ความไม่เท่าเทียม” และ “ความไม่เป็นธรรม” กับตาตัวเอง จนกลายเป็นคติที่ทำให้เขาเชื่ออย่างใจจริงว่า อาชีพช่างภาพเป็นเครื่องมือที่ช่วยตีแผ่ “ความไม่เท่าเทียม” และ “ความไม่เป็นธรรม” ให้คนอื่นได้เห็นด้วยตาตนเองอย่างซื่อสัตย์และทรงพลังที่สุดก็ว่าได้ 

“พี่คิดว่าเวลาเราเป็นช่างภาพ เราควรศึกษาที่มาที่ไปด้วยว่าเหตุการณ์ที่เราถ่ายอยู่นี้ มีที่มาอย่างไร มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างไร เพราะอะไร” วินัยกล่าว “ไม่ใช่ไปคิดว่าเรามาผจญภัยสนุกๆ ถ่ายภาพให้ออกมาสวยๆ แล้วก็เลิกงาน กลับบ้าน จบ ไม่ใช่แบบนั้น” 

“การเป็นช่างภาพ ก่อนจะเป็นกลาง คุณต้องมองเห็นความไม่ยุติธรรมก่อนด้วย เพราะถ้าคุณเป็นสื่อ แต่เพิกเฉยกับความไม่ยุติธรรม คุณเป็นกลางไม่ได้หรอก”  

เล่าเรื่องการเมืองไทยผ่านเลนส์กล้อง

นิทรรศการที่วินัยจัดขึ้นที่ VS Gallery เป็นเสมือนการรวบรวมผลงานของเขาที่ใช้เวลานับสิบๆ ปี ในการบันทึกเหตุการณ์การชุมนุม การประท้วง และการปะทะระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยเสื้อเหลือง เสื้อแดง มาถึงเหตุการณ์การชุมนุมล่าสุดของนักศึกษาและประชาชน ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ หรือ “บี” เจ้าของแกลเลอรีแห่งนี้ เล่าว่าเขาเจอรูปภาพผลงานของวินัยครั้งแรกจากในโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งเขาเริ่มสังเกตว่าหลายๆ ภาพเหล่านั้น ถึงแม้วินัยจะถ่ายในต่างวาระกัน แต่สามารถนำมาร้อยเรียงได้เป็นเสมือน “สมุดภาพ” ที่เล่าเรื่องเดียวกัน นั่นคือประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคปัจจุบัน

“เค้าแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ งานเหมือนเป็น archive [หอจดหมายเหตุ] ทั้งเก่าและใหม่ แทบไม่เห็นใครโพสต์งานย้อนหลังแบบนี้เลย เหตุการณ์จาก 15 ปี 20 ปี ยังเก็บภาพไว้ เค้าพิเศษจริงๆ” วรวุฒิกล่าว

ความน่าสนใจอีกมิติหนึ่งในภาพของวินัยคือ “อารมณ์ความรู้สึก” ที่แสดงออกผ่านสายตาและใบหน้าของบุคคลที่อยู่ในภาพ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเชื่อ ความกลัว ความสับสน ความสิ้นหวัง หรือกระทั่งความเสียดาย แม้จะเป็นภาพของคลื่น “มนุษย์” นับร้อยนับพันคนกำลังชุมนุมหรือวิ่งกันชุลมุน แต่วินัยสามารถใช้เลนส์กล้องสื่อให้เห็นความเป็น “มนุษย์” ผ่านภาพถ่ายอย่างติดตา

“พี่วินัยเค้าชอบเล่นภาพให้ดึงความสนใจไปหาสีหน้าและแววตาของคนในเหตุการณ์นั้น ผมมองว่าความสามารถนี้หายากมาก” วรวุฒิกล่าว “เค้าไม่ได้ถ่ายภาพคนในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็น ‘ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคน’”  

วินัยกล่าวว่ากุญแจสำคัญเบื้องหลังผลงานเหล่านี้ คือการมองเห็นมากกว่าแค่มองภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏต่อหน้าเท่านั้น

“เราต้องเข้าใจบริบท ความหมาย และที่มาของเหตุการณ์นั้นๆ ที่เราไปถ่ายด้วย ไม่ใช่ไม่รู้เรื่องเลย ไปถ่ายภาพอย่างเดียว” 

ตัวอย่างที่เด่นชัดคือการชุมนุมของนิสิตและนักศึกษาที่เริ่มต้นขึ้นในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อประท้วงคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ พรรคการเมืองที่มีคนรุ่นใหม่และหัวก้าวหน้าเป็นฐานเสียงสำคัญ แต่ในเวลาไม่ถึงปี การประท้วงได้ยกระดับกลายเป็นขบวนการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นประเด็นล่อแหลมที่สื่อกระแสหลักจำนวนมากเซนเซอร์ตัวเองและไม่ยอมรายงาน

เนื่องจากการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นความผิดที่มีโทษสูง ผู้ชุมนุมหลายคนใช้สัญลักษณ์และการสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างอ้อมๆ ถ้าหากใครไม่มีความรู้หรือความเข้าใจมาก่อน ก็อาจจะมองไม่เห็นข้อความที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ในสถานการณ์การชุมนุม

“ถ้าคุณรู้ความหมาย คุณก็จะเข้าใจ hidden meaning [ความหมายที่ซ่อนอยู่]” วินัยกล่าว “จริงอยู่ว่าบางอันมันอันตราย แต่ถ้าเราสื่อสารมันออกไปอย่างมีศิลปะ เอาศิลปะมาจับตรงนี้ มันช่วยได้นะ”

สื่อนอกกระแส

หากกวาดตาดูนิทรรศการภาพถ่ายที่วินัยนำมาแสดงที่แกลเลอรี่ คงจะนึกภาพแทบไม่ออกว่างานแรกในชีวิตช่างภาพของวินัยคือ… ถ่ายภาพน้องหมาในสตูดิโอ ให้กับนิตยสารสำหรับบรรดาไฮโซคนรักสุนัข

“งานแรกในชีวิตเลย ถ่ายภาพหมาครับ” วินัยกล่าวพร้อมขำไปด้วย “แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นดีนะ … ก่อนหน้านี้ได้แต่อ่านในหนังสือ พอได้ลองมาทำจริงๆ เออก็โดนใจ เรารู้สึกไม่เครียด เราสนุกไปกับมัน ตอนนั้นรู้ละว่ารักอาชีพนี้” 

แต่เมื่อวินัยก้าวหน้าในอาชีพเรื่อยๆ หัวข้อและงานที่ต้องถ่ายภาพก็เริ่ม “ดาร์ก” ขึ้นตามมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพการสู้รบของชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า หรือวิกฤติ “ไฟใต้” ที่ปะทุขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้เขาได้มีประสบการณ์ครั้งแรกกับอคติที่เจ้าหน้าที่รัฐมีต่อสื่อมวลชนที่ไม่รายงานเฉพาะข้อเท็จจริงด้านที่ภาครัฐนำเสนออย่างเดียว 

“มีครั้งนึง กองทัพพาคณะสื่อมวลชนไปทำข่าวทหารพรานหญิง พวกนักข่าวกับช่างภาพสำนักข่าวสื่อใหญ่ๆ เค้าก็ส่งข่าวเฉพาะที่เจ้าหน้าที่ให้ข่าวอย่างเดียว แต่พี่ไปคลุกคลีกับทหารพรานในค่ายจริงๆ เราก็อยากรู้ไงว่าเค้าคิดยังไง เค้าจะว่ายังไงบ้าง เราอยากเข้าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ”

“ปรากฏว่าผบ.ค่ายก็ระแวงเรา มองว่าเราไม่น่าไว้ใจ เลยเทศนาพี่เรื่องความรักชาติซะชุดใหญ่ บอกว่าเราเป็นสื่อนะ ต้องคิดถึงประเทศชาตินะ” วินัยเล่าไปด้วยหัวเราะไปด้วย

วินัยมีประวัติเป็น “ลูกหม้อ” ของหลายสำนักมาแล้วทั้งไทยและเทศ ตั้งแต่นิตยสาร National Geographic ไปจนถึงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อครั้งที่สำนักข่าว European Press Agency (EPA) มาเปิดสาขาในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2548 วินัยก็ได้รับมอบหมายให้วางรากฐานและจัดซื้ออุปกรณ์ทั้งหมดสำหรับ EPA ในประเทศไทย (“เริ่มจากเป็นห้องเปล่าๆ เลย ว่างั้นก็ได้” วินัยเล่าความหลัง)

เนื่องจากว่าวินัยจบการศึกษาสูงสุดเพียงม. 3 ก่อนที่จะต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นเสาหลักให้ครอบครัว เขาต้องศึกษาและต่อยอดความรู้เกี่ยวกับงานช่างภาพด้วยตนเองทั้งหมด ไม่ว่าจะทั้งเทคนิคการถ่ายภาพ ศึกษาคำศัพท์และบริบทในวงการต่างๆ สำหรับเขียนบทความ และที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้คือการฝึกเรียนภาษาอังกฤษเพื่อสื่อสารกับสำนักข่าวต่างชาติ 

หลังจากฝากชื่อและผลงานไว้มากมายกับ EPA วินัยลาออกและมุ่งสู่หนทางของช่างภาพฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว

ภาพที่แลกมาด้วยรอยกระสุน

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ประเทศไทยประสบกับวิกฤติการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าคิดเป็นสถิติก็คือปฏิวัติรัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญทั้งถาวรและชั่วคราว 5 ฉบับ นายกรัฐมนตรี 7 คน ในจำนวนนี้ 2 คนถูกโค่นจากเหตุการณ์รัฐประหาร อีก 3 คนถูกศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง 

ในเบื้องหลังวิกฤติเหล่านี้ ยังมีการประท้วงและสลายการชุมนุมหลายครั้ง กรณีที่นองเลือดที่สุดคือปฏิบัติการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งขณะที่กำลังถ่ายภาพเหตุการณ์ทหารเคลื่อนพลเข้า “กระชับพื้นที่” ในเดือนเมษายนปีนั้นเอง วินัยได้ถูกยิงจังๆ เข้าที่ขา จนต้องวานให้มอเตอร์ไซค์รีบพาไปส่งถึงห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล ในมือยังกำกล้องไว้แน่น 

การชุมนุมของคนเสื้อแดงสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2553 หลังถูกสลายด้วยกำลังทหารภายใต้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีขณะนั้น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 90 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน 

ในจำนวนผู้เสียชีวิต มีสื่อมวลชนต่างชาติรวมอยู่ด้วย 2 ราย นั่นคือ “มุราโมโต้ ฮิโรยูกิ” จากประเทศญี่ปุ่น และ “ฟาบิโอ โปเลงกี” จากประเทศอิตาลี 

การชุมนุมระลอกล่าสุดของขบวนการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ตกเป็นเป้าการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุจากภาครัฐหลายกรณีเช่นกัน มีทั้งผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บกันไปตามๆ กัน จากการใช้เครื่องมือสลายการชุมนุมต่างๆ โดยไม่มีคำเตือนล่วงหน้าอย่างชัดเจน ทั้งเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนเหล็กหุ้มยาง (กระสุนยาง) และแก๊สน้ำตา 

รายงานของกลุ่ม iLaw ระบุว่า มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 8 คนถูกยิงด้วยกระสุนยางระหว่างปฏิบัติหน้าที่ช่วงการชุมนุมตลอดปี 2564

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้วินัยไม่พอใจเป็นอย่างมาก คือยุทธวิธีการปิดล้อมไม่ให้นักข่าวเข้าพื้นที่ที่มีการใช้กำลังสลายม็อบหรือจับกุมผู้ชุมนุม เหตุการณ์หนึ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางคือ กรณีการเข้าจับกุมม็อบ “ชาวจะนะรักษ์ถิ่น” ข้างทำเนียบรัฐบาลในคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ซึ่งปรากฏภาพตำรวจควบคุมฝูงชน ใช้โล่กันและยิงเลเซอร์ใส่สื่อมวลชน เพื่อไม่ให้นักข่าวถ่ายภาพการจับกุม 

“ตำรวจสั่งไม่ให้นักข่าวเข้าพื้นที่ ทั้งที่ผู้ชุมนุมกำลังโดนสลายอยู่ต่อหน้าต่อตา พี่อยากรู้ว่าเจ้าหน้าที่เอาอำนาจอะไรมาสั่ง มีอำนาจอะไรมาสั่งไม่ให้สื่อทำหน้าที่ มีหลายเคสมาก” วินัยกล่าวอย่างมีอารมณ์  

มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่ามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้างาน ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความขลุกขลักกับสื่อมวลชนที่ทำงานในภาคสนาม

“สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารเป็นของทุกคน ทั้งประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน สมควรมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองจากรัฐเวลาใช้สิทธิเสรีภาพตรงนี้” มงคลกล่าว

นอกจากนี้ การทำหน้าที่ในภาคสนามของวินัย ยังต้องยุ่งยากมากขึ้นเพราะสถานะการเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐมักเลือกปฏิบัติกับนักข่าวหรือช่างภาพฟรีแลนซ์ เพราะมองว่าเป็น “สื่อเทียม” หรือ “สื่อปลอม” ไม่น่าเชื่อถือเหมือนกับสื่อหรือนักข่าวที่มีสังกัด 

‘รัฐไม่ปรานีคุณหรอก’

อย่างไรก็ตาม วินัยยอมรับว่า รัฐไม่ใช่เป็นฝ่ายเดียวที่ต้องรับผิดชอบกับความปลอดภัยของช่างภาพที่ทำงานในภาคสนาม แต่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของต้นสังกัดด้วย เขาเล่าว่ารู้สึกตกใจมากที่เห็นช่างภาพหลายคนถูกส่งลงพื้นที่ โดยที่ไม่มีการอบรมเรื่องหลักความปลอดภัยหรืออุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ

มีหลายกรณี ช่างภาพและนักข่าวภาคสนามต้องซื้ออุปกรณ์เซฟตี้ หรือหามาใส่เอง เพราะต้นสังกัดไม่มีให้ ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บในสถานการณ์ที่รุนแรง วินัยยังกล่าวด้วยว่า สุดท้ายแล้วการที่ต้นสังกัดไม่ให้การสนับสนุนช่างภาพอย่างเพียงพอ ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้บางคนที่มีความสามารถในการถ่ายภาพ ตัดสินใจไม่เข้าวงการนี้เพราะไม่มีเงินหรือทุนที่เพียงพอ

“ช่างภาพบางคนต้องซื้อกล้องเองด้วย สำนักข่าวไม่ลงทุนเลย คุณเป็นช่างภาพ คุณต้องมีกล้องสิ แต่มันก็มีต้นทุน ของมันนะ กล้องถ่ายไปนานๆเข้าก็สึกหรอ ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงิน มันทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในวงการช่างภาพ”

ชาลินี ถิระศุภะ หรือ “เจน” ช่างภาพฟรีแลนซ์และสตริงเกอร์ของสำนักข่าวต่างชาติแห่งหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่าตนมองเห็นปัญหาเดียวกันกับที่วินัยพบเจอ นั่นคือความแตกต่างอันน่าตกใจในมาตรฐานและความรัดกุมว่าด้วย “ความปลอดภัย” ระหว่างสื่อไทยและสื่อเทศ 

กล่าวคือ หลายสำนักข่าวในไทยมักไม่ค่อยให้ความสนใจกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักข่าวและช่างภาพในภาคสนาม ต่างกับสำนักข่าวต่างประเทศที่มีสตาฟในไทย 

“สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับช่างภาพ คือควรต้องมีอบรมทักษะตรงนี้ เพราะไม่งั้นเวลาพอถึงหน้างาน เกิดเรื่องขึ้นมา ไม่รู้จะวิ่งไปทางไหน ทำยังไง ออกทางไหน” ชาลินีกล่าว “เราเคยเห็นนะ บางคนมัวแต่ถ่ายภาพคน รู้ตัวอีกทีโดนเบียดไปอยู่กลางวงหมดแล้ว ระหว่างตำรวจกับม็อบ รุมสกรัมกันตรงนั้น” 

เมื่อถามถึงว่า มีคำแนะนำอะไรบ้างที่อยากฝากให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากจะเป็นช่างภาพบ้าง วินัยกล่าวว่า หนึ่ง คิดไว้เสมอว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ สอง อย่าหวังที่จะรวย เพราะอาชีพนี้ไม่ง่ายเลย  

“เราต้องคิดไว้เสมอว่า รัฐไม่ปรานีคุณหรอก เค้าจะทำให้คุณหวาดกลัว ไม่กล้าทำงาน หรือหาทางให้คุณเซนเซอร์ตัวเองจนได้”

ด้านชาลินีเสริมว่า “ช่างภาพข่าวเป็นอาชีพที่หลายคนอยากทำ คนรุ่นใหม่เห็นแล้วอยากเป็นบ้าง แต่มันไม่ได้สวยงามแบบนั้นนะ (หัวเราะ)”

“เป็นอาชีพที่สนุกจริง ได้รายงานเรื่องจริงที่เกิดขึ้น รายงานภาพเหตุการณ์ของโลกให้คนได้เห็น มันมีเสน่ห์จริงๆ แต่อย่าไปคาดหวังอะไรมากกับรายได้” ชาลินีกล่าวทิ้งท้าย

เส้นทางเส้นใหม่

ความไม่แน่นอนบนเส้นทางอาชีพช่างภาพฟรีแลนซ์ ถูกตอกย้ำในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อพรมแดนถูกปิดตาย โครงการและการจ้างงานต่างๆ ถูกยกเลิก และความต้องการอาชีพช่างภาพก็ถดถอยลง ตามสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา

เมื่องานช่างภาพไม่สามารถเป็นอาชีพหลักได้อีกต่อไป วินัยต้องทำอาชีพเสริมเลี้ยงตนเองในช่วงโควิด ปัจจุบันเขาเป็น “ไรเดอร์” สำหรับแอพพลิเคชั่นส่งอาหาร 

เขากล่าวว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะชอบอาชีพใหม่นี้ 

“พี่ชอบนะ เหมือนทำให้เราได้ผจญภัยทุกวัน ได้ไปเห็นมุมใหม่ๆ ของเมืองที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน” วินัยกล่าว “เห็นทั้งความโรแมนติกของกรุงเทพที่เราไม่เคยเห็น ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของเมืองที่มันชัดมากๆ ตามตรอกซอย ชุมชน” 

เพราะอาชีพไรเดอร์นี้ ทำให้วินัยหันมาสนใจการถ่ายภาพแนวสตรีท หรือ street photography ซึ่งในแง่นี้แล้ว ดูเหมือนเส้นทางบนอาชีพช่างภาพที่วินัยเริ่มเดินครั้งแรกจากสตูดิโอถ่ายภาพสุนัขเมื่อหลายสิบปีก่อน จะยังไม่จบลงง่ายๆ 

เส้นทางนี้ยังพาวินัยไปผจญภัยอยู่เรื่อยๆ

“บางทีเราไปส่งอาหาร เราก็ปักหมุดไว้ว่าเจออะไรบ้างระหว่างทาง แล้วกะว่าค่อยกลับไปถ่าย” วินัยกล่าว พร้อมโชว์รูปและหมุดบนแผ่นที่ในมือถือ “บางทีพี่ไปเห็นตรอกหรือซอยตอนฝนตก โหยสวยมาก เราอยากเห็นว่าถ้าเป็นแสงยามเย็นล่ะ จุดเดียวกันจะสวยแบบไหน จะเอากล้องกลับไปถ่าย … กรุงเทพเป็นเมืองที่มีหลายโทนสีมาก” 

วินัยทิ้งท้ายว่าเขามีแผนจะรวบรวมรูปทั้งหมดที่เขาถ่ายระหว่างทำอาชีพไรเดอร์ แล้วอาจจะนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในอนาคตก็เป็นได้ 

“เวลาคุณเป็นช่างภาพ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพไหน คุณก็จะมองเห็นโลกผ่านมุมสี่เหลี่ยมในกล้อง ทำให้คิดอยู่ตลอดว่า สิ่งที่เรามองเห็นเนี่ยจะออกมาเป็นรูปภาพหน้าตายังไง” 

“พี่ว่ามันทำให้มีความสุขนะ การที่เราได้มองโลกแบบนี้”

 ธีรนัย จารุวัสตร์ (โทนี่) เป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไทภาคภาษาอังกฤษ รายงานข่าวการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิมนุษยชน

ดูงานเพิ่มเติมของวินัย ดิษฐจร ได้ที่นี่

รูปภาพสงวนลิขสิทธิ์ วินัย ดิษฐจร

More Features

เหตุไฉน ‘สหภาพ’ ถึงยังเป็น ‘คำต้องห้าม’ ในวงการสื่อไทย?

error: Content is protected !!