เฉิดฉายและสุดขั้ว: งานศิลปะของธาดา เฮงทรัพย์กูลที่เผยประวัติศาสตร์มืดของไทย

โดย เอสรี ไทยตระกูลพาณิช

ภาพ ลูค ดุกเกิลบี

ในปี 2553 ทหารทิ้งรถถังลงพื้นสมุทรทางภาคใต้ของไทยโดยอ้างว่าเป็นการสร้างแนวปะการังเทียม 8 ปีหลังจากนั้น ศิลปินคนหนึ่งนำนโยบายที่ถูกลืมนี้มาจัดแสดงนิทรรศการ ผ่านภาพรถถังนอนนิ่งอยู่ก้นอ่าว ปลาแหวกว่ายผ่านประตูและตัวรถถัง มีเพียงปากกระบอกปืนเท่านั้นที่มีปะการังเกาะ
(You Lead Me Down to the Ocean, 2561)

ถ้าไม่ใช่เพราะธาดา เฮงทรัพย์กูล ซากวัตถุที่บ่งบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยชิ้นนี้คงจมหายไปตามกาลเวลาหรือถูกนำไปอวดอ้างเป็นหนึ่งในโครงการรัฐบาลที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม แต่ศิลปินรุ่นใหม่อย่างธาดา เฮงทรัพย์กูล เลือกชูนิ้วกลาง –ในรูปของศิลปะจัดวาง– ใส่มัน ใส่ระบอบอำนาจนิยมโดยรัฐ ระบบราชการ และทุกสิ่งทุกอย่างที่หยุดสังคมไม่ให้ไปไหน 

ศิลปินวัย 34 ปีที่นำเสนอการเมืองไทยอย่างรื้อรากถอนโคนคนนี้ ร้อยเรื่องราวชาตินิยม การเมืองที่บิดเบี้ยว และแผลฟกช้ำจากสงครามเย็นเข้าด้วยกันเป็นงานศิลปะที่ยั่วเย้าและกระตุ้นความคิดผู้ชม

แยกร่าง

“อยากให้ผมถ่ายรูปพระพุทธรูปใช่มั้ย ได้เลย นี่รูปพระพุทธหลังรถบรรทุก อยากได้รูปวัดใช่มั้ย ได้เหมือนกัน นี่รูปท้องฟ้ากับยอดเจดีย์”

ในช่วงวัยรุ่นที่โคราช ธาดาชอบถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจและเป็นคนหัวขบถ เขามักจะโดดเรียนแล้วไปเลือกหนังสืออ่านหรือใช้คอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรมเองที่บ้าน เมื่อเขาชนะการแข่งขันถ่ายภาพโลโมในตอนอายุ 17 ปี เขาก็ตระหนักว่าไม่จำเป็นต้อง “พึ่งระบบ” ก็ประสบความสำเร็จได้

ยากเอาการกว่าที่จะโน้มน้าวให้ธาดายอมเรียนต่อที่กรุงเทพฯ (“ตอนนั้นผมไม่คิดว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปเรียนกัน”) แต่สุดท้ายแล้วชายหนุ่มที่ไม่เข้าร้าน KFC กับพิซซ่า ด้วยเหตุผลต่อต้านทุนนิยมคนนี้ ก็เข้าสู่ฐานที่มั่นของบริโภคนิยมและศูนย์กลางระบบราชการในนามนักศึกษาศิลปะการถ่ายภาพของวิทยาลัยเพาะช่าง

นักศึกษาคนอื่น ๆ อาจเรียนรู้วิธีการถ่ายภาพวัดให้สมมาตรอย่างไร้ที่ติ และได้เกรดสี่ไปครองจากผลงานชนะการประกวดภาพถ่ายที่จัดโดยรัฐบาล แต่นั่นไม่ใช่ธาดา

“ผมทะเลาะกับอาจารย์ที่อนุรักษ์นิยมสุดโต่งตลอด” ธาดาเล่า “ถ้าจะได้เกรดดี ๆ ต้องถ่ายภาพพระหรือวัดที่มีฉากหลังเป็นพระอาทิตย์ตกดิน”

แสดงว่า พวกเขาต้องการภาพ “แนวพุทธดีๆ” ตามขนบใช่ไหม ธาดาก็ถ่ายภาพพระและพระพุทธรูปหลังรถบรรทุก (ตั้งชื่อว่า “Buddha Speeding Forward” หรือ “พระซิ่ง”) และภาพท้องฟ้าเปล่า ๆ ที่มียอดเจดีย์วัดโผล่ขึ้นมา

“ผมต้องแยกร่างเป็นสองร่าง ร่างแรกส่งงานอาจารย์ให้ได้เรียนจบ ส่วนอีกร่างทำงานศิลปะ”

งูกับนก

ชายทาตัวสีแดงนั่งซึมอยู่ในห้องนอนที่ปราศจากสิ่งประดับประดา ไม่มีช่องให้มองออกไปข้างนอกเพราะโปสเตอร์แคมเปญการเมืองปิดทับไว้ ด้านนอกมีชายชุดเทวดากำลังเล็งสไนเปอร์ในมือ รอบ ๆ ตัวมีพานที่นองเลือด (“พาเหรด, 2556”)

หลังจบมหาวิทยาลัย ธาดาจัดแสดงผลงานและได้เข้าไปคลุกคลีในแวดวงนักกิจกรรมทางการเมือง กวี และศิลปินสาขาอื่นๆ ที่มาพบปะสังสรรค์ตามประสาคนถูกคอกันด้วยแนวคิดเสรีนิยมพร้อมเสียงดนตรีที่เขาเป็นดีเจ แต่แล้วเหตุสลายการชุมนุม “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่กรุงเทพฯ ในปี 2553 ก็ทำให้เพื่อนของธาดาที่ชื่อ “เฌอ” สมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี ถูกสังหารด้วยกระสุนหนึ่งนัดที่ยิงจากสไนเปอร์

หลังจากสูญเสียลูกชายไป พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของเฌอที่มักร่วมวงดื่มกับธาดาบ่อย ๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมประท้วงรัฐบาลและทหาร ผ่านไปกว่า 10 ปี ครอบครัวของเฌอก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม จนวันนี้ก็ยังไม่มีใครต้องรับผิดต่อการเสียชีวิตของเฌอ

“งานของผมเป็นการเมืองเสมอ” ธาดาบอก “แต่หลังจากเฌอเสียชีวิต งานของผมก็ค่อนไปทางการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระทำที่รัฐเหี้ย ๆ นี่อยากจะลบให้คนลืม”

ชุดภาพถ่าย “พาเหรด” 2556 ของธาดา เป็นผลโดยตรงของความชอกช้ำทางการเมืองหลังปี 2553 โดยนำเสนอการกดทับของอำนาจนิยมต่อประชาชนบนเนื้อตัวของพวกเขา เพื่อเก็บประวัติศาสตร์หน้านี้ไว้เป็นความทรงจำ ภาพหนึ่งเป็นภาพชายไร้บ้านที่ธาดาไปทำความรู้จักด้วย ชายคนนี้ถูกตำรวจทุบตีอย่างสาหัสจนสมองกระทบกระเทือน เขาขอปัสสาวะใส่ประมวลกฎหมายอาญา และธาดาก็ถ่ายรูปเก็บไว้ ตอนนี้ชายผู้นี้ได้จากโลกนี้ไปแล้ว

อีกภาพเป็นภาพงูกำลังตั้งท่าจะฉกนก ซุ่มอยู่ในพรมดอกไม้สีเหลือง “ถ้าไม่มีใครบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าไว้ ไม่ว่าจะในรูปแบบงานศิลป์ เพลง บทกวี หรือข่าว งูมันก็จะนอนกินอยู่ในสวนดอกไม้ได้อย่างสบายใจเฉิบ” ธาดากล่าว

หลังรัฐประหารปี 2557 และการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่เก้าเมื่อปี 2559 ธาดาจัดแสดงผลงานด้านการเมืองแบบอินเตอร์แอคทีฟชื่อว่า “The Shards that Would Shatter at Touch I สุขสลาย” 2560

ในห้องแกลเลอรีสีขาว ธาดาแขวนผ้าดำ 40 ชิ้นที่จะสามารถเปลี่ยนสีได้ตามอุณหภูมิ ผู้เข้าชมสามารถนำผ้ามาทาบไว้ที่อก แล้วกอดไว้ ความร้อนของร่างกายจะทำให้ผ้าเปลี่ยนสี และค่อย ๆ เผยภาพนักโทษการเมืองของไทย รวมถึงเหยื่อความรุนแรงของรัฐ นิทรรศการได้นำเรื่องราวของพวกเขามานำเสนอ ซึ่งหนึ่งใน 40 คนนั้น คือ เฌอ

ธาดาเล่าให้ฟังว่า ผู้เข้าชมบางคนคิดว่าข้อความบอกเล่านั้นเป็นเรื่องแต่ง “พวกเขาไม่รู้ว่า นั่นคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ผมอยากให้คนเข้าใกล้ข้อเท็จจริงด้วยการกอดความจริงนั้นไว้ และรู้สึกถึงมันผ่านความละเอียดอ่อนของการสัมผัส”

เพื่อนศิลปินอย่างลัทธพล ก่อเกียรติตระกูลบอกว่า ผลงานชิ้น “สุขสลาย” นี้เป็นผลงานที่สะท้อนตัวตนของธาดาที่ดีที่สุดงานหนึ่ง

“ธาดาเป็นคนจิตใจดีและติดดิน เขามักจะเข้าหาคนอื่น ๆ เสมอ การที่ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงถึงคนที่ถูกทำให้สูญหายผ่านความอบอุ่นของร่างกาย มันเลยเป็นอะไรที่สะท้อนถึงตัวเขามาก ๆ มันเป็นวิธีการสื่อสารว่าเขาใส่ใจกับคนที่ถูกกระทำโดยกฎหมาย” 

ในบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบันที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ธาดาคิดว่า ผลงานในอดีตของเขายังคงร่วมสมัย “ถ้าผมทำงานชิ้นนั้นอีกครั้ง รายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจะต้องยาวเป็นหางว่าวแน่ คงต้องใช้ผ้ายาวคลุมหมดทั้งผนังทั้งพื้น”

หมู่บ้านซากระเบิด

ภาพหญิงสะสวยแต่งหน้า แต่งตา เขียนคิ้วโก่งแบบยุค 1960s ค่อย ๆ ยับย่น หยด และละลายหายไปในระยะเวลา 14 นาที ใกล้กันนั้น ซากระเบิดจากสงครามเวียดนามที่เก็บได้จากกองขยะถูกนำมาเรียงเป็นคำว่า bliss (“Under the Same Sky”, 2559)

ผลงานของธาดาสะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตของภาคอีสานอันเป็นภูมิลำเนา นิทรรศการ “Under the Same Sky” (2559) ร้อยเรียงความทรงจำที่เกือบจะถูกลบหายไปของครอบครัวเขา บทบาทของภาคอีสานยุคสงครามเย็น และกระทั่งผลพวงฐานทัพสหรัฐฯในพื้นที่ในระหว่างสงครามเวียดนาม  

ผู้หญิงในรูปที่กำลังละลายคือป้าของธาดา เป็นภาพที่เขาเจอที่บ้านตัวเอง จนเมื่อโตแล้วเขาถึงได้รู้ว่าเธอฆ่าตัวตายหลังจากที่หวานใจชาวอเมริกันถูกส่งตัวกลับประเทศในปี 2517

ระหว่างที่ค้นหาเศษเหล็กมาใช้ในงานจัดแสดง ธาดาเจอเศษซากระเบิดจากยุคสงครามจำนวนมาก เขาจึงนำมาจัดรวมกันเป็นคำว่า “bliss” (ผาสุก) และหลอมมันเป็นลูกโลก ระเบิดเหล่านั้นถูกสร้างขึ้นในปีเดียวกับที่ป้าของเขาปลิดชีวิตตัวเอง

“ผมอยากพูดถึงสงครามเวียดนามและผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะสิ่งที่สหรัฐอเมริกาทิ้งไว้ให้ไทยตั้งแต่ระบบการศึกษา ระบบราชการ และการโฆษณาชวนเชื่อที่ยังคงหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ ในตอนนั้น อารมณ์ความรู้สึกของคนคือถ้าหากมีแนวคิดคอมมิวนิสต์เข้ามา ศาสนาและสถาบันกษัตริย์จะหายไป”

งานศิลปะยังได้จัดแสดงภาพถ่ายของที่ที่เรียกกันว่าหมู่บ้านซากระเบิดในโคราช ที่เป็นฐานทัพสหรัฐฯเก่าและถูกทิ้งร้างจากสงครามเวียดนาม หลังจากตามหาหมู่บ้านนี้อยู่นาน สุดท้ายธาดาก็เจอเพราะชายคนหนึ่งช่วยนำทางไปตามถนนลูกรัง บริเวณนั้นมีหญ้าปกคลุม และยังเห็นซากที่ผุพังของหอวิทยุ เสาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ชักธงชาติอเมริกา และเสาคอนกรีตวางเรียงเป็นจุดให้นักบินทิ้งระเบิดที่ไม่ใช้แล้ว

งานศิลปะนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายของโบสถ์คริสต์นักบุญเทเรซา บ้านโนนแก้ว ที่โคราช ในวันที่ 2 มีนาคม 2485 ชาวบ้านยิงนักบวชชาวฝรั่งเศสทะลุฝาบ้าน (แต่กลับไปโดนนักบวชคนไทยจนเสียชีวิต) แล้วเผาโบสถ์นั้น ในยุคนั้นความรู้สึกเกลียดชังฝรั่งเศสมีมาก เนื่องจากกรณีพิพาทอินโดจีน ปัจจุบันบ้านของนักบวชได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก

บทตอนประวัติศาสตร์ไทยทั้งหมดนี้ ทั้งการพัวพันกับสงครามเวียดนาม ฐานทัพอเมริกาในภาคอีสาน และการเข่นฆ่าเพราะเกลียดกลัวชาวต่างชาติ ต่างก็มิได้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาของรัฐและไม่เป็นที่รับรู้ของคนไทย

“ระบบการศึกษาไทยมีที่มาจากกลุ่มชาตินิยมขวา” ธาดากล่าว “ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงที่ไทยทำก็เช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งต้องห้าม”

“อย่างเรื่องการฆ่านักบุญในโบสถ์ พวกเขาไม่สอนในโรงเรียนแน่นอน เพราะมันน่าอายที่จะเล่าถึงชาวพุทธที่ไปใช้ความรุนแรงกับคนต่างศาสนา แบบเรียนยังไม่เคยสอนว่าเราสนับสนุนอเมริกาในสงครามเวียดนาม เพราะเดี๋ยวคนจะรู้ว่าเราสนับสนุนการฆ่าคน”

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมุดคณะราษฎรปี 2475 ที่สะท้อนการปฏิวัติครั้งสำคัญของสยามถูกถอดออกไปอย่างเป็นปริศนา แต่บรรดา “อนุสรณ์สถาน” ในท้องทุ่งอีสานที่บันทึกประวัติศาสตร์อันไม่น่าพิศมัยของไทยก็กำลังถูกทำให้หายไปเช่นกันโดยมีไม่กี่คนสังเกตเห็น 

“เขาไม่จำเป็นต้องทำให้มันหายหรือทำลายไปเลย มันค่อย ๆ หายไปด้วยตัวมันเอง” ธาดาพูดถึงหมู่บ้านซากระเบิดที่ค่อย ๆ ผุพังตามกาลเวลา

สองสามปีก่อน ธาดาบอกที่ตั้งสถานที่นี้ให้กลุ่มอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้ทราบ เมื่อพวกเขาไปถึงที่ พวกเขาส่งข้อความบอกธาดาว่าไม่เหลืออะไรให้เก็บรักษาแล้ว

แด่ผู้ที่ยังจมอยู่ใต้น้ำ

“ฉันจะสู้เพื่อราชินี…..ฉันยิงเวียดกงไปอย่างน้อยยี่สิบรายแล้ว” “ที่รัก เรายังไม่ได้รับเงินสวัสดิการจากที่คุณไปประจำการเลย ชีวิตเราลำบากขึ้นทุกที” (“You Lead Me Down, to the Ocean,” 2561)

ในปี 2530 นายกรัฐมนตรีเปรม ติณสูลานนท์ พร้อมด้วยมกุฎราชกุมารในขณะนั้นเดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อดำเนินเรื่องซื้อรถถังเป็นการผูกสัมพันธไมตรี แต่กองทัพไทยกลับไม่สามารถซ่อมแซมรถถังมือสองที่ซื้อมาได้ จึงต้องจอดทิ้งไว้ที่โคราชหลายปี จนในปี 2553 รถถังเหล่านั้นก็ถูกทิ้งลงทะเลที่จังหวัดนราธิวาส ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่นำรถถังมาทำปะการังเทียมเพื่อช่วยเหลือชาวประมง

ในนิทรรศการ “You Lead Me Down, to the Ocean” (2561) ธาดาดำน้ำไปกับช่างภาพใต้น้ำ เพื่อเก็บภาพรถถังที่ถูกปล่อยทิ้งไว้เบื้องล่าง ปะการังขึ้นเพียงเล็กน้อยหลังผ่านไปนานหลายปี ภาพนี้จัดวางคู่ไปกับจดหมายเขียนโดยทหารไทยในสงครามเวียดนาม และภาพถ่ายยับย่นจากยุคนั้นที่ถูกยืดออกเป็นรยางค์เกี่ยวกระหวัดมาถึงภาพเปลือยบุคคลในยุคปัจจุบัน

ผลงานชิ้นนี้เป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อและลัทธิชาตินิยมในยุคสงครามเย็น ซึ่งธาดาเชื่อว่าแทบไม่เคยเป็นประโยชน์ต่อชีวิตผู้คน “มันกลายเป็นมรดกตกทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน เหมือนกับรถถังที่ถูกทิ้งอยู่ในความมืดใต้ทะเลลึก เช่นเดียวกับชีวิตผู้คน ผลงานนี้จึงขอมอบให้แก่ผู้ที่ยังจมอยู่ใต้น้ำ”

“รถถังใต้ผืนน้ำของธาดาสัมผัสได้ถึงความสงบนิ่ง มันดึงผมเข้าสู่เรื่องราวเบื้องหลังภาพนั้นในทันที” อับดุล อับดุลลา ศิลปินวัย 34 ปีจากออสเตรเลียซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของธาดาแสดงความคิดเห็นต่อผลงานเขา “ธาดามีความกล้า และไม่ยี่หระต่ออำนาจใหญ่คับฟ้า ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจนี้จากเขามาก”  

ความรู้สึกแรงกล้าทางการเมืองเช่นนี้ทำให้ธาดาสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ผุดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 เขาร่วมการแสดงออกทางศิลปะที่สนามหลวงเพื่อรำลึกถึงการสูญเสียประชาชนราว 90 คนจากเหตุการณ์ปราบกลุ่มคนเสื้อแดง

“ผมอยู่ข้างความจริง อยู่ข้างคนที่ส่งเสียง และกลุ่มเยาวชน” ธาดากล่าว “ผู้คนถูกย่ำยีตั้งแต่เกิด และพวกเขาต้องการเปลี่ยนอนาคต รัฐนั่นแหละที่ต้องหลีกทาง”

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด ธาดาไม่สามารถจัดแสดงผลงานใหม่ได้ เขาจึงใช้เวลาไปกับการช่วยเหลือส่งอาหารและของที่จำเป็นให้แก่คนไร้บ้านทั่วกรุงเทพประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์แทน “มีคนเยอะมากที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ เพราะเขาไม่มีบัตรประชาชน” ลัทธพล ที่มาช่วยธาดากล่าว

ธาดามีแผนจะเปิดงานจัดแสดงเร็ว ๆ นี้ที่แกลเลอรี MAIELIE เป็นผลงานเรื่องเล่าแนววิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคนในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า ที่เดินทางมายุคปัจจบัน

“เขามีความกล้า และมีหัวใจแบบพังก์ ประมาณว่าฉันจะลองหาทางทำและฉันจะทำมันให้ได้ด้วยตัวเอง” อับดุลลาบอก “ไม่ค่อยมีศิลปินรุ่นใหม่ที่ตรง ๆ แรง ๆ แบบ ‘ช่างแม่ง’ แบบนี้ แบบที่ธาดาเป็น ซึ่งมันจะเป็นผลดีกับเขาต่อไป”

 

บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน

เอสรี ไทยตระกูลพาณิช เป็นนักข่าวจากข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ เอสรีเขียนงานให้แก่สำนักข่าวหลายแห่ง เธอได้รับทุนของรัฐบาลรัสเซียในปี 2563 เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทด้านรัสเซียศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ลูค ดุกเกิลบี เป็นช่างภาพข่าวที่กรุงเทพมหานคร ลูคนำเสนอเรื่องราวในไทยและในภูมิภาคนี้มากว่า 15 ปี ให้แก่สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

Feature profiles

เมื่อลูกสาวชาวประมงลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลจากเมกะโปรเจคต์อุตสาหกรรม

error: Content is protected !!