ไอดา อรุณวงศ์ จากนักแปล สู่นักต่อสู้เพื่อสิทธิการประกันตัว

เรื่อง ธีรนัย จารุวัสตร์

ภาพ ลูค ดักเกิลบี

นักแปลและนักเขียนอิสระ ผันตัวเองมาเป็นแกนนำในการระดมเงินบริจาคช่วยประกันตัวนักกิจกรรมและผู้ชุมนุมหลายร้อยชีวิต เพื่อ “ชดใช้หนี้” ให้แก่ประชาชนที่ยอมถูกจับกุมและดำเนินคดี ในการลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลที่ได้มาจากการรัฐประหาร

ลึกเข้าไปในซอยแห่งหนึ่งในย่านฝั่งธนฯ จะพบกับบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่เคียงคู่ประวัติการต่อสู้ของประชาชน

ย้อนกลับไปในยุค “6 ตุลา” ขณะที่ประเทศไทยถูกปกครองด้วยรัฐบาลเผด็จการขวาจัด บ้านหลังนี้กลายเป็นที่ตั้งสำนักงานกฎหมายอาสา ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มทนายความหัวก้าวหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่บรรดานิสิตนักศึกษา ชาวนา และประชาชน ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย จนถูกดำเนินคดีจากผู้มีอำนาจในสมัยนั้น 

ถึงแม้ชายผู้เป็นเจ้าของบ้านได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่หลานสาวของเขาได้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้และ “คืนชีพ” ตัวบ้าน ให้กลายเป็นศูนย์กลางของการเรียกร้องความเป็นธรรมและต่อสู้ทางคดีเพื่อประชาชนอีกครั้งหนึ่ง 

เธอคนนั้นคือ ไอดา อรุณวงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “กองทุนราษฎรประสงค์” (ปัจจุบันจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิสิทธิอิสรา”) ที่ระดมเงินบริจาคหลายล้านบาทมาเป็นทุนในการประกันตัวและสู้คดีให้แก่ผู้เห็นต่างทางการเมือง ภารกิจอันใหญ่หลวงนี้ทำให้ไอดาต้องเบนเข็มทิศชีวิตตนเองในวัย 48 ปี จากอาชีพนักแปลและนักเขียน กลายมาเป็นผู้ดูแลกองทุนเกือบจะเต็มตัวโดยประจำการอยู่บ้านหลังดังกล่าว ที่มีสถานะเป็นสำนักงานของกองทุนไปด้วยในตัว 

“ก็เป็นเรื่องน่าสนใจดี ที่บ้านหลังนี้กลับมารับภารกิจแบบนี้อีกครั้ง” ไอดาให้สัมภาษณ์ 

ไอดาไม่ได้เป็นทนายความ แต่ปัจจุบันก็ต้องทำหน้าที่กึ่งนักกฎหมายไปโดยปริยาย เพราะต้องเดินเรื่องเอกสารเกี่ยวกับคดีต่างๆ ที่กองทุนดูแล และถึงแม้ไอดาจะกล่าวย้ำว่ากองทุนราษฎรประสงค์ เป็นผลงานร่วมกันของทีมงาน แต่เพื่อนร่วมทีมยืนยันว่า ไอดาเป็นกำลังหลักของกองทุนโดยไม่ต้องสงสัย

“เอาจริงๆ นะ ไอดาเค้าเป็นตัวหลักในเรื่องนี้นั่นแหละ” ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว “อะไรที่เราช่วยได้ เราก็ยินดีที่จะช่วย”

 

ความบังเอิญเป็นเหตุ

กองทุนราษฎรประสงค์อยู่ภายใต้การดูแลของไอดาและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรวมทั้งหมด 4 คน ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ไอดาย้ายมาอาศัยที่บ้านของลุงที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อกี่ปีก่อน ก็เป็นเพราะเธอถูกรังควานและสะกดรอยตามจากกลุ่มบุคคลซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จนไม่สะดวกใจที่จะอยู่ที่อพาร์ทเมนต์เดิมในตัวเมือง 

ไอดากล่าวว่าชีวิตของเธอทุกวันนี้แบ่งเป็น “ทำงานหนังสือประมาณ 30%  แล้วอีก 70% คืองานศาล” 

“ปกติเราตื่นนอนตีสามครึ่ง เราชอบบรรยากาศช่วงนั้น” ไอดาเล่า “มันมืดและเงียบสงบดี เราได้อยู่กับตัวเอง กินกาแฟ ดูแลแมว ตอบอีเมลล์” 

ไอดายืนยันว่าบทบาทของเธอในฐานะผู้ดูแลกองทุนบริจาคเพื่อสิทธิการประกันตัวของประชาชน เป็น “ความบังเอิญ” ล้วนๆ เพราะเธอเองไม่เคยจบปริญญาด้านกฎหมายหรือนิติศาสตร์ด้วยซ้ำ แต่เป็นด้านอักษรศาสตร์ 

“เราเองก็ไม่เคยคิดว่าจะมาใช้เวลาอยู่กับศาลทุกวันแบบนี้เหมือนกัน” ไอดาเล่าอย่างอารมณ์ดี 

“ความบังเอิญ” ครั้งนั้นมีที่มาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมจำนวนมาก ทำให้ “อานนท์ นำภา” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ริเริ่มระดมเงินบริจาคมาเป็นทุนสำหรับว่าความและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายสำหรับผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งหลายคนเป็นผู้มีรายได้น้อยและอาศัยอยู่ในชนบท

อานนท์ตั้งชื่อกลุ่มทนายความอาสาดังกล่าวว่า “สำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์” แต่ต้องมาติดขัดเล็กน้อยตรงที่การเปิดบัญชีธนาคารสำหรับรับบริจาค ต้องมีชื่อเจ้าของบัญชี 3 คน 

“เผอิญมีคนที่สำนักพิมพ์เป็นเพื่อนร่วมชั้นกับอานนท์พอดี” ไอดาย้อนความหลัง “แล้วทีนี้เค้าบอกต้องมีสามชื่อ ขาดอีกชื่อนึง เค้ามาชวนเรา เราก็เลยตามเลย (หัวเราะ)” 

ต่อมาในปี 2557 เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช.นักกิจกรรมและผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกจับกุมและตั้งข้อหา “ฝ่าฝืนคำสั่งของคสช.” ที่ห้ามการชุมนุมและกิจกรรมการเมือง พร้อมกับถูกส่งไปดำเนินคดีภายใต้ศาลทหาร 

ไอดาเริ่มเล็งเห็นว่า ผู้ชุมนุมหลายคนไม่มีทุนทรัพย์ในการวางเงินประกันตัวที่กำหนดโดยศาลทหาร จึงริเริ่มใช้กองทุนของสำนักงานกฎหมายราษฎรประสงค์มาเป็นทุนช่วยเหลือด้านการประกันตัว เพื่อไม่ให้มีใครต้องติดคุกเพราะไม่มีเงินประกันตัว 

ไอดาไม่ได้ดำเนินการเพียงแค่ระดมเงินบริจาคเข้ากองทุนดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็น “นายประกัน” ให้จำเลยด้วย 

“นายประกัน” อาจจะเป็นบทบาทที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก แต่สำคัญอย่างมากในกระบวนการศาล เพราะนายประกันเป็นคนที่ต้องเดินทางไปที่ศาลพร้อมหลักทรัพย์เพื่อทำเรื่องขอประกันตัว และต้องคนรับผิดชอบด้วยในกรณีที่จำเลยหลบหนีระหว่างการประกันตัว

“การระดับคนบริจาคเงินประกันตัวน่ะ ไม่ยากหรอก” ไอดาอธิบาย “แต่การหาคนเป็นนายประกัน ยากมาก เพราะไม่ค่อยมีคนกล้าไปศาล แล้วช่วงแรกๆ หลังรัฐประหารยิ่งเป็นศาลทหารด้วย ยิ่งไม่กล้ากว่าเดิมอีก” 

ไอดากล่าวต่อ “แต่ในเมื่อเราระดมเอง เราก็ต้องรับผิดชอบเอง และเราก็ต้องการแสดงจุดยืนของเราด้วยการไปประกันตัวให้คนที่เค้าออกมา [ประท้วง]”

ชดใช้หนี้

ไอดายอมรับตรงๆ ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่เธอเองก็ไม่กล้าออกมาแสดงจุดยืนเช่นกัน โดยเฉพาะหลังรัฐประหารใหม่ๆ ที่คสช.เรียกนักกิจกรรม นักวิชาการ และผู้วิจารณ์นับร้อยคนไปรายงานตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” ในค่ายทหาร พร้อมๆ กันกับเดินหน้าปราบปรามการชุมนุมอย่างราบคาบ 

เมื่อไอดาทราบว่าเธอได้รับทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cornell เธอคว้าโอกาสไว้ทันทีเพื่อเดินทางออกนอกประเทศ แต่ผ่านไปไม่กี่เดือนเธอก็ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย เพราะแบกรับความรู้สึกผิดไม่ไหว

“พอเราเริ่มเห็นคนถูกจับเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราก็ยิ่งรู้สึกผิดเวลาเราเห็นข่าว” ไอดากล่าว “เลยตัดสินใจ กลับดีกว่า จริงๆ เราอยู่ต่อเป็นปีๆ ก็ได้ เพราะเค้าให้ทุนมาแล้ว แต่กลับดีกว่า เพราะยอมรับสภาพ เราไม่กลัวแล้ว” 

ไอดาเล่าความรู้สึกตอนนั้นว่า “รู้สึกว่าต้องทำ เราเคยปลอดภัยตอนที่คนอื่นโดนไปแล้ว ถึงเวลาชดใช้หนี้แล้ว เลยลุยบ้าคลั่งไปหมด ใครโดนจับ เราไปหมด” 

แต่การ “ลุยเดี่ยว” ของไอดาก็เริ่มจะไม่เพียงพอเมื่อจำนวนผู้ถูกจับกุมจากเหตุชุมนุมและกิจกรรมการเมืองพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้งในสองศาล (ทหารและพลเรือน) จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญตอนที่เธอประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บที่ขา ทำให้เดินเหินไม่สะดวกอีกต่อไป ทำให้ไอดายอมรับว่าต้องหาคนช่วย

ไอดาหันไปหาชลิตา เพื่อนเก่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ชลิตาตอบรับโดยทันที และตกลงกันว่าไอดาจะรับคดีศาลทหาร (“เขย่งๆ ไปแบบนั้นแหละ” ไอดาเล่า) ส่วนชลิตาจะรับคดีศาลพลเรือน 

“เมื่อก่อนศาลดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเรา ตอนนี้เราเป็นครบแล้ว นายประกันก็เป็น จำเลยก็เป็นด้วย” ชลิตากล่าวพร้อมหัวเราะ แต่เธอไม่ได้แค่เล่นมุข เพราะเธอเคยตกเป็นจำเลยจริงๆ ในคดีความมั่นคงเมื่อปี 2563

สถิติที่รวบรวมโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีพลเรือนกว่า 2,100 ชีวิตถูกไต่สวนภายใต้ศาลทหาร ก่อนที่คสช.จะโอนคดีทั้งหมดมายังศาลพลเรือนในปี 2559 

‘ประวัติแบบนี้จบไปจะงานทำได้ไง’’

ไอดาเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในยุค “ประชาธิปไตยผลิบาน” หลังการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งในปี 2535 หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การปฏิรูประบอบประชาธิปไตยและการร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” กลุ่มนิสิตนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยก็ได้รวมตัวกันเพื่อ “ออกค่าย” ช่วยเหลือชุมชนในประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิที่ทำกิน และปัญหาอื่นๆ  ไอดาก็เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ขณะนั้นที่เดินตามกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงและทุ่มเทเวลากับการทำกิจกรรม จนถูกอาจารย์คนหนึ่งตำหนิ

“อาจารย์คนนั้นเค้าบอกเราว่า ประวัติแบบนี้จบไปจะหางานทำได้ไง” ไอดาเล่า “เราเลยคิดว่า จะจบมาเป็นนักเขียนนักแปลอิสระแล้วกัน”

แต่ชีวิตนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยของไอดาก็ได้ช่วยให้เธอให้มารู้จักกับชลิตา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักกิจกรรมอีกคนที่ศึกษาอยู่ ณ คณะรัฐศาสตร์ของจุฬาฯ หลายปีต่อมา เมื่อไอดากำลังมองหาคนมาช่วยเป็นนายประกันในกองทุนราษฎรประสงค์ เธอนึกถึงชลิตาเป็นคนแรกทันที 

“เรารู้จักเค้าว่าเป็นคนเงียบๆ แต่ไม่กลัวใคร พร้อมช่วยคนอื่นตลอดเวลา” ไอดากล่าวถึงความทรงจำที่เธอมีเกี่ยวกับชลิตาในสมัยมหาวิทยาลัย 

“เราเลยรู้สึกว่า คนแบบนี้แหละเหมาะเป็นนายประกัน ต้องเป็นคนแบบอาจารย์ชลิตาเท่านั้น เพราะเป็นหน้าที่ที่ไม่ได้อะไรตอบแทนเลย แต่ต้องไปเมื่อไหร่ ก็ต้องไปให้ได้”

หลังจากจบการศึกษาแล้ว ไอดาก็หันมาเป็นนักแปลและผู้จัดทำหนังสืออิสระจริงๆ ตามที่เธอได้วางแผนไว้ แต่ขณะเดียวกันเธอก็ไม่ได้ละทิ้งบทบาทนักกิจกรรมจากสมัยมหาวิทยาลัยไปซะทีเดียว ไอดาได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม NGO ในการคัดค้านโครงการใหญ่ๆ ที่มีผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมในหลายชุมชน ขณะที่ชลิตาเดินทางไปทำวิจัยเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ 

ทั้งสองกลับมาร่วมงานกันอีกในฐานะนายประกันคนสำคัญของกองทุนราษฎรประสงค์ที่ไอดาริเริ่มนั่นเอง 

ตลกร้าย

ในยามบ้านเมืองปกติ ศาลทหาร หรือ “กรมพระธรรมนูญ” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้พระบรมมหาราชวัง คงเป็นสถานที่ที่ประชาชนพลเรือนไม่ค่อยย่างกรายไปบ่อยนัก เพราะขอบเขตของศาลทหารมีไว้สำหรับตัดสินคดีกำลังพลของกองทัพในความผิดทางทหาร เช่น ทำผิดวินัย หนีทหาร หรือขัดขืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา เป็นต้น 

แต่หลังรัฐประหาร 2557 ศาลทหารถูกดึงเข้ามาในวงโคจรของพลเรือนทั่วประเทศ ตามคำสั่งที่ 37/2557 ของคสช.ซึ่งอนุมัติให้ตุลาการศาลทหารพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคง” ซึ่งในความเป็นจริงก็หนีไม่พ้นบรรดาผู้ชุมนุมและนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจของคสช.

ในขณะที่ศาลพลเรือนมีลำดับชั้น 3 ศาล ได้แก่ชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ศาลทหารมีการตัดสินเพียงแค่ชั้นเดียวเท่านั้น

“สมัยแรกๆ ตอนนั้นจะได้เจอผู้ต้องหาค่อนข้างมาก เพราะเมื่อก่อนตอนขึ้นศาลทหาร เค้าให้ไปรายงานตัวด้วย นายประกันก็ต้องไปเหมือนกัน เลยต้องไปทุกวัน เพราะจับทุกวัน รายงานตัวทุกวัน หลายๆ คดีเข้าสุดท้ายก็เหมือนเราต้องไปทุกวันนั่นแหละ” ไอดากล่าว

“เราเจอจำเลยในคดีพวกนี้บ่อยมาก จนเราคุ้นหน้ากันไปเลย” ไอดาเล่าต่อไป “กลายเป็นเพื่อนกัน ให้กำลังใจกัน พอมารู้จักกันแบบนี้ก็ยิ่งทำให้เราเอาเวลามาอยู่กับเค้ามากขึ้น และทำให้เราเศร้าเสียใจไปกับเค้าด้วย เพราะเราเจอหน้าเค้าแล้ว ทำให้เรามีความรู้สึกร่วมตามไปด้วย” 

ไอดาแปลกใจที่พบว่าความรู้สึกร่วมในฐานะเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ชุมนุมหรือนักกิจกรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ศาลทหารด้วย ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกต่อต้านกันในทีแรก 

“ประสบการณ์เรากับศาลทหารนี่เป็นตลกร้ายนะ” ไอดาเล่าความทรงจำ “ ศาลทหารดูเหมือนเป็นคนเจ้าระเบียบมากกว่า [ศาลพลเรือน] แต่จริงๆ แล้ว กลับมีความเป็นมนุษย์ให้มากกว่า เพราะมันเล็ก คนในกระบวนการก็มีไม่กี่คน เดินไปในห้องพิจารณาคดีก็เห็นหน้ากันหมดแล้ว มองหน้ากันไปมาจนกลายเป็นเพื่อนกันไปเลย 

“อยู่กันด้วยไปๆ มาๆ เค้ามองเราในทางที่ดีขึ้น เราก็เข้าใจเค้ามากขึ้น เราได้เห็นชีวิตข้าราชการชั้นผู้น้อยกับตัวเอง เลยได้รู้ว่าเค้าก็ลำบากเหมือนกับเรา บางทีเวลาพิจารณาประกันตัวกันถึงดึกดื่น เค้าก็กลับบ้านไม่ได้ ก็ต้องอยู่กับเราไปเหมือนกัน กว่าจะเลิกศาล รถเมล์หมดแล้ว เค้าก็กลับบ้านลำบาก”

ไอดาสรุปประสบการณ์ของเธอที่ศาลทหารสั้นๆ ว่า “พอมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เรากับเค้าก็เข้าใจกันมากขึ้น”

หลังจากที่คดีการเมืองทั้งหมดถ่ายโอนไปที่ศาลพลเรือนในปี 2559 ไอดาก็ได้สัมผัสกับระบบราชการที่ “เลือดเย็นและไม่มีใบหน้า” อย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก ไอดาอดรู้สึกไม่ได้ว่าขั้นตอนต่างๆในศาลพลเรือนนั้นช่างซับซ้อนและเป็นความท้าทายต่อผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับกระบวนการด้านยุติธรรมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินเอกสาร ความไม่ทันสมัย หรือทัศนคติของผู้คนในกระบวนการ

“เราขอย้ำตรงนี้นะว่า เรากำลังวิจารณ์ระบบ” ไอดากล่าว “ระบบมันบังคับให้เราต้องไป[ยอมนอบน้อม ไปอ้อนวอนวิงวอน แม้แต่เอกสารประกันตัวเค้าก็ไม่ได้เรียกว่าแบบฟอร์มนะ ยังใช้คำว่า ‘คำร้อง’ เค้าให้เราไปขอร้องความเมตตาจากเค้า” 

ปัจจุบัน กองทุนราษฎรประสงค์ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายทนายความและอาสาสมัครมาช่วยเดินเรื่องประกันตัวและเป็นนายประกันให้ในคดีต่างๆ ทำให้ไอดาและชลิตาย้ายบทบาทจากนายประกันไปจัดทำข้อมูลอยู่เบื้องหลังแทน แต่ก็ทำให้ไอดาสูญเสียโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเช่นกัน 

“เดี๋ยวนี้เรารู้จักพวกเค้าเฉพาะเวลาเห็นชื่อในกระดาษกับใบเสร็จ เราไม่ได้รู้จักว่าเค้าเป็นใครแล้ว” ไอดากล่าว “ แต่ตอนนี้จะเจอหน้าหรือรู้จักทุกคนแบบเมื่อก่อนก็ไม่ได้เหมือนกันนั่นแหละ เพราะผู้ต้องหาที่กำลังโดนดำเนินคดีทุกวันนี้ มีเป็นร้อยๆ คนแล้ว”

ธีรนัย จารุวัสตร์ (โทนี่) เป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไทภาคภาษาอังกฤษ รายงานข่าวการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิมนุษยชน

ลูค ดักเกิลบี เป็นช่างภาพชาวอังกฤษประจำกรุงเทพฯ คอยติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากมลพิษและการพัฒนาต่อชุมชนท้องถิ่นสม่ำเสมอ

Feature profiles

ณัฐฐาพันธ์ แสงทับ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินในภาคใต้ของไทย

error: Content is protected !!