- มีนาคม 30, 2022
สิงห์คาร เรือนหอมขับเรือหางยาวล่องไปบนแม่น้ำยวมที่ทอดตัวยาวเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทยทางตะวันตกเฉียงเหนือกับเมียนมา เขาชี้ไปที่แม่น้ำฝั่งตรงข้ามพร้อมเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กว่าพ่อมักจะพามาจับปลาแถวนี้ วางไซดักกุ้งแม่น้ำ และสร้างกระท่อมไม้ไผ่เป็นที่พักไว้นอนค้างคืน หลายปีต่อมา เขายังได้สัมผัสวิถีชีวิตเดิมและจับปลากับลูกชายเหมือนที่เคยทำมา แต่ลึก ๆ แล้ววันนี้ สิงห์คารกลัวว่าสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้สืบทอดต่อไปยังรุ่นหลาน
เรือแล่นห่างจากจุดที่เขาจับปลาไปราวหนึ่งชั่วโมง จนถึงหน้าผาสูงที่มีแมกไม้สีเขียวห้อยลงมาปกคลุม เรือค่อย ๆ ชะลอเมื่อถึงจุดที่มีหินกองโตกั้นไว้ สิงห์คารเล่าต่อว่าจากจุดนี้ไปอีกสิบกิโลเมตรอาจมีโครงการสร้างเขื่อนแห่งใหม่เกิดขึ้นอีกไม่นาน ขวางเส้นทางไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำ
ไม่ใช่สิงห์คารเพียงคนเดียวเท่านั้นที่กังวลเรื่องวิถีชีวิตและบ้านเกิดของตนเอง แต่โครงการนี้ยังสร้างความกังวลให้แก่หลายชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ ในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ผันน้ำราว 1,795 ลูกบาศก์เมตรต่อปีไปยังพื้นที่ราบลุ่มในภาคกลาง
“เขาไม่ได้บอกเราเลยว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง” เอกชัย จามรจารุเดช ผู้ได้รับผลกระทบจากหมู่บ้านในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่เล่า “บอกว่าไม่ต้องกังวลอะไรเลย เพราะเขาจะมีค่าชดเชยให้ หรือไม่ก็จะหาที่ทำกินที่ใหม่มาให้”
โครงการระยะยาว
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เกิดขึ้นในช่วงปี 2535 โดยมีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าของโครงการ โครงการแห่งนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อว่า “โครงการผันน้ำยวม”
โครงการดังกล่าวจะใช้เวลาสร้างประมาณ 7 ปี และใช้งบประมาณราว 7 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากต้นทุนการสร้างที่สูงจึงทำให้โครงการนี้ต้องพักไปชั่วคราว และกรมชลประทานนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งในปี 2559 ต่อมารองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร เผยว่าทางวิสาหกิจจีนได้ยื่นข้อเสนอก่อสร้างโดยใช้งบเพียง 4 หมื่นล้านบาทและใช้เวลา 4 ปี แต่กรมชลประทานปฏิเสธคำอ้างนั้นและเดินหน้าโครงการต่อท่ามกลางความคลุมเครือ
หากโครงการนี้ได้ไปต่อ เขื่อนนี้จะกลายเป็นเขื่อนแรกที่สร้างขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงไหลตามธรรมชาติและไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้น
สถานีสูบน้ำ 6 แห่งและอาคารดักตะกอนจะสร้างขึ้นบนเส้นทางจากหมู่บ้านแม่เงาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปจนถึงหมู่บ้านที่สิงห์คารอาศัยอยู่ ที่ตั้งของโครงการห่างจากเมียนมาเพียง 14 กิโลเมตร โดยสถานีสูบน้ำจะสูบน้ำจากเขื่อนสูง 70 เมตร เพื่อผันน้ำเข้าสู่อุโมงส่งน้ำกว้าง 8 เมตรที่อยู่ใต้ดินลึกลงไป 600 เมตร และวางยาวไปจนถึงอำเภอฮอดในเขตจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะทางกว่า 62 กิโลเมตร จากนั้น น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรในพื้นที่ราบภาคกลาง
สิงห์คารเดินเลียบไปตามริมน้ำแล้วเล่าถึงสิ่งมีชีวิตหลากชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณร่องน้ำยวม รวมถึงสัตว์ป่า และระบบนิเวศที่แตกต่างกันไปตามฤดูกาลอย่างในช่วงน้ำแล้งและช่วงน้ำป่าไหลหลาก
“คนเมืองมองไม่เห็นหรอก” สิงห์คารบอก “เวลาพวกเขาเห็นแม่น้ำจะเห็นแค่น้ำ แต่จริง ๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้นเยอะ”
การผันน้ำและเสียงวิพากษ์จากผู้คน
โครงการนี้จะตัดผ่านป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง รวมถึงอุทยานแห่งชาติแม่เงา และกินพื้นที่ป่าราว 3,637 ไร่ ซึ่งพื้นที่กว่า 1,287 ไร่นั้นเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสำคัญเพื่อรักษาพื้นที่ให้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเป็นบ้านและผืนดินทำกินของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยมายาวนาน แต่กลับกลายมาเป็นจุดวางวัสดุก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำและทิ้งดินถึง 6 จุด กินพื้นที่ถึง 443 ไร่
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment (EIA) ปี 2549 ระบุว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนเพียง 21 ครัวเรือน และพื้นที่ทำกินของ 4 ครอบครัว
แต่เพียรพร ดีเทศน์ จากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ ประเมินว่าจะมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงถึง 46 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมถึงผู้คนที่พึ่งพาลุ่มน้ำสาละวินเพื่อการดำรงชีวิต
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่าเฉพาะในอำเภอสบเมยเพียงพื้นที่เดียว ประชาชนจากหมู่บ้านแม่เงาอย่างน้อย 74 ครัวเรือน และหมู่บ้านท่าเรือราว 9 ครัวเรือนอาจถูกไล่ที่เพื่อสร้างเขื่อนและสถานีสูบน้ำ
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับโครงการเป็นประเด็นพูดคุยในวงกว้างยาวนานหลายเดือน โดยเฉพาะการไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างทั่วถึง และการบิดเบือนข้อมูลการมีส่วนร่วมของคนในท้องที่ นอกจากนี้ แทนที่เจ้าหน้าที่จะอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่กลับเน้นย้ำข้อมูลด้านดี รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการเพียงอย่างเดียว อย่างเช่น ปริมาณน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคราว 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งส่งผลให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 462 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง รายได้จากการจับปลาราว 620,000 บาท จากการท่องเที่ยว 4.7 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในภาคกลางช่วงฤดูแล้งถึง 1,610,025 ล้านไร่
“มีรูปผู้ใหญ่บ้านอยู่ในรายงาน EIA แต่เจ้าตัวยังไม่รู้เรื่องเลย” พิบูลย์ ธุวมณฑล เครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อย ที่ทำงานสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบโครงการให้กับชุมชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเล่า
“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า EIA คืออะไร” ภูสอ กมลกรุนมาศ ผู้ใหญ่บ้านจากหมู่บ้านแม่สอใต้ พื้นที่ที่กำลังจะกลายเป็นที่ทิ้งกองดินกล่าว
แม้ว่าจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่การประชุมดังกล่าวกลับจัดในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังเป็นช่วงฤดูฝนซึ่งชุมชนที่อยู่ห่างไกลเดินทางมาร่วมได้ลำบาก การรวมกลุ่มขนาดใหญ่จึงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านภาษา ชุมชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นชาวชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่กลับไม่มีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นทั้งในเอกสารและระหว่างการประชุม
“หลายคนไม่มีสัญชาติ พวกเขาเลยไม่กล้าออกมาคัดค้านโครงการ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบตรง ๆ” ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าว
กรมชลประทานและมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นหน่วยงานที่ร่วมทำผลสำรวจเพื่อจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งสองแห่งปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็น
ระบบนิเวศถูกคุกคาม
แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาเชิงลึกเรื่องระบบนิเวศในแม่น้ำยวม แต่ลุ่มน้ำสาละวินป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งอยู่อาศัยสำคัญของปลากว่า 200 ชนิดและยังเป็นที่วางไข่ของปลา
การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมจะลดปริมาณออกซิเจนที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิตในแหล่งน้ำ เมื่อตะกอนไม่ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ แหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ หายไป ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนี้จะเชื่อมลุ่มน้ำสาละวินและเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน ซึ่งแม่น้ำทั้งสองสายมีสิ่งมีชีวิตต่างชนิดพันธุ์และต้องการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
“เหมือนกับย้ายปลาจากมหาสมุทรนึงไปอีกมหาสมุทร” สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว
มีปลาเพียง 10 ชนิดเท่านั้นที่พบในลุ่มน้ำทั้งสองแห่ง ทำให้นักวิชาการด้านประมงกังวลถึงการรุกรานของปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
“ถ้าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งหายไป ก็จะกระทบอีกหลายร้อยสายพันธุ์” อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้กล่าว
ชุมชนที่อาศัยริมน้ำยวมจะได้รับผลกระทบจากจำนวนประชากรปลาที่ลดลง การสูญเสียพื้นที่เพาะปลูก และยิ่งเสี่ยงเจอกับน้ำท่วมและดินถล่มที่รุนแรงขึ้น โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมยังอยู่บนบริเวณแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนตัวตลอดเวลา นำมาซึ่งความเสี่ยงสูงต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งรายงาน EIA อ้างอิงถึงข้อกังวลต่าง ๆ เหล่านี้เพียงสั้นๆ
บทเรียนจากอดีต
เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 2507 โดยตั้งอยู่ปลายน้ำถัดลงไปจากหมู่บ้านของศักดิ์ชัย แยมู เกษตรกรกะเหรี่ยง ณ บ้านแม่งูด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนสกัดไม่ให้แม่น้ำปิงไหลตามธรรมชาติและการกักน้ำยังทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง พัดพาสารอาหารและตะกอนอันอุดมสมบูรณ์ที่ศักดิ์ชัยใช้เพาะปลูกข้าว
“ตั้งแต่มีเขื่อน บางครอบครัวก็บ้านแตกสาแหรกขาด ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย” ศักดิ์ชัยเล่า
เมื่อผืนดินทำกินกลายเป็นผืนทรายและไม่สามารถเพาะปลูกได้ หลายคนจำใจจากบ้านไปหางานทำในเมือง เมื่อก่อนพวกเขาสามารถสร้างบ้านและเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ในตอนนี้กลับต้องหางานทำเสริมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าน้ำค่าไฟ
ศักดิ์ชัยเสียที่ดินเพาะปลูกไปราว 10 ไร่ เขาได้รับค่าชดเชยเป็นเงินก้อนครั้งเดียวจำนวน 400,000 – 500,000 บาท
“เงินแค่นี้ จะใช้ได้นานกี่เดือน กี่ปีกันเชียว” มึดา นาวานาถ จากหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบในอำเภอสบเมย แม่ฮ่องสอน พูดถึงสิ่งที่ชุมชนต้องพบเจอ “แค่มีที่ดินที่อยู่กันตอนนี้ เขาก็อยู่กันได้แล้ว โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเลย”
ชุมชนจับมือกันสู้
บทเรียนและผลกระทบจากเขื่อนภูมิพลทำให้ชาวบ้านแม่งูดเลือกที่จะไม่เดินซ้ำรอยอดีต ชุมชนเลือกที่จะลุกขึ้นคัดค้านโครงการผันน้ำยวมและร่วมกันส่งจดหมายเรียกร้อง รวมไปถึงทำป้ายเขียนข้อความประท้วง
องค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ อย่างเช่นเครือข่ายชาติพันธุ์อมก๋อย ซึ่งนำโดย พิบูลย์ ธุวมณฑล กำลังเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบและอธิบายถึงรายละเอียดโครงการและผลกระทบที่เกิดขึ้น เครือข่ายภาคประชาชนนี้ยังได้รวมตัวกันฟ้องร้องสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคัดค้านข้ออ้างผิด ๆ ที่ระบุไว้ใน EIA
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเดินทางไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านและสืบสวนข้อร้องเรียนของโครงการผันน้ำยวม
“ทำไมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่เคยคิดที่จะให้ชุมชนที่อยู่ในป่าเป็นคนดูแลป่าเลย” ธงชัย เลิศพิเชียรไพบูลย์ จากหมู่บ้านแม่เงาตั้งข้อสังเกต
แม้ว่าจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบรวมอยู่ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่นักวิชาการยังสงสัยในศักยภาพและประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว อย่างเช่น บันไดปลาที่จะช่วยให้ปลาอพยพย้ายถิ่นได้ หรือการวางสิ่งกีดขวางไฟฟ้าเพื่อป้องกันการบุกรุกของปลาต่างถิ่น แต่ทั้งหมดนั้นกลับยังขาดการศึกษาวิจัยรองรับ ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยว การปลูกและฟื้นฟูป่า รวมถึงการติดตามแผ่นดินไหว ไม่อาจจะแก้ไขผลกระทบทางสังคมและระบบนิเวศที่รุนแรงเช่นนี้ได้
“เหมือนพวกเขาทำบุญและบาปในคราวเดียวกัน” เพียรพร จากองค์กรแม่น้ำนานาชาติกล่าว “เขาพยายามฟื้นฟูป่า และเรียกคืนพื้นที่จากชุมชน แต่ยังอนุญาตให้มีโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายธรรมชาติมาตั้งอยู่”
อาจารย์สิตางศุ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผลในการก่อสร้างโครงการที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปีนี้ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจารย์สิตางศุ์เชื่อว่ายังคงมีทางออกปัญหาขาดแคลนน้ำที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และคุ้มค่าต่อเงินทุนที่ลงไปมากกว่านี้ ซึ่งรวมถึงการลดการอุปโภคบริโภค การแก้ไขจุดรั่วไหล การพัฒนาการจัดการ และการฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มน้ำ
“ถ้าจะแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ เราจะมองในระยะสั้นไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบไปทั่วลุ่มน้ำและพื้นที่ใกล้เคียง” อาจารย์สิตางศุ์กล่าวเสริม “ผู้บริหารจะต้องเปลี่ยนแนวคิดและเปิดใจมากขึ้น ลองรับฟังข้อมูลจากหลากหลายศาสตร์ แล้วเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนจัดการปัญหาร่วมกัน”
รายงานนี้รายงานครั้งแรก โดยความร่วมมือกับ The Third Pole และ HaRDstories เรียบเรียงบทความชิ้นนี้ใหม่อีกครั้ง
นันทิชา โอเจริญชัย คือนักเขียนและนักรณรงค์เรื่
ลูค ดุกเกิลบี ช่างภาพและนักข่าว ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทย และเชี่ยวชาญงานทางด้านสารคดีและภาพถ่ายคนที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับหัวข้อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม
More Features
- 5 เมษายน 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 10 มีนาคม 2023
- by พีระพล บุณยเกียรติ
- 12 มกราคม 2023
- by HaRDstories
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ