- พฤศจิกายน 19, 2021
เมื่อช่วงปี 2558 ตอนที่บริษัทเหมืองแร่สัญชาติจีนเดินทางมาถึงพื้นที่ชุมชนอันเงียบสงบที่พวกเธออาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร สิ่งที่กลุ่มสตรีท้องถิ่นกลุ่มนี้รู้สึกได้ทันทีคือ พวกเธอจะต้องร่วมกันปกป้องชุมชน
“กลุ่มเราตอนแรกมีแค่ผู้หญิง” มะลิ แสนบุญศิริ วัย 52 ปี อาชีพชาวนาและเป็นยายของหลาน 4 คน กล่าว “เราไม่ได้เตรียมอะไร แค่พากันออกมาเรียกร้อง หลังจากที่เห็นว่าทางบริษัทกำลังพยายามเจาะหาแร่ที่อยู่ใต้ดิน”
มาลีและเพื่อนบ้านกังวลว่าโครงการเหมืองแร่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน พวกเธอจึงก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อรณรงค์ต่อต้านการทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส พร้อมกับหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอันตรายของการทำเหมืองด้วยตนเอง ติดป้ายต่อต้านเหมืองโพแทชทั่วชุมชน จัดเวทีสาธารณะพูดคุยให้ข้อมูลแก่ชุมชน และเดินขบวนประท้วงต่อต้านเหมืองแร่โพแทชอยู่หลายครั้ง จนทำให้พวกเธอถูกข่มขู่และดำเนินคดีฟ้องร้องอยู่หลายครั้ง แต่กลุ่มพวกเธอก็ไม่ถอย
ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะยังคงเดินหน้าผลักดันให้เกิดโครงการเหมืองแร่ต่อไป แต่พวกเธอก็ยังมุ่งมั่นปกป้องบ้านเกิดของตนเองและพยายามรักษาให้แร่อยู่ลึกใต้พื้นดินที่ควรอยู่ต่อไปให้ได้
ใต้ผืนแผ่นดิน
ชาวบ้านอำเภอวานรนิวาสรู้ดีว่า ใต้ผืนแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งของชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งแร่เกลือสินเธาว์จำนวนมหาศาล เห็นได้จากการที่ชุมชนใกล้เคียงมีการผลิตเกลือแบบดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน แต่จนกระทั่งบริษัทเหมืองแร่โพแทชเข้ามายังพื้นที่เมื่อหกปีก่อนนี้เองที่ชาวบ้านถึงเริ่มตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของแร่ว่าจะส่งผลต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง
เมื่อช่วงปี 2558 มาลีเห็นป้ายของบริษัทติดอยู่บนที่ดินรอบชุมชนที่เธออาศัยอยู่หลายแปลง ข้อความบนป้ายระบุว่าบริษัทกำลังเข้ามาสำรวจพื้นที่ทำเหมืองแร่ ทำให้เธอนึกถึงคำเตือนของญาติคนหนึ่งที่เป็นแกนนำกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ที่จังหวัดอุดรธานีที่เคยบอกให้เธอคอยเฝ้าระวังหากมีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้นในชุมชน “เพราะนั่นหมายถึงการเตรียมเปิดเหมืองของพวกบริษัท” เขากล่าว
หลังจากนั้นไม่กี่วันต่อมา ขณะเตรียมจัดงานบุญร่วมกันอยู่ที่วัดของหมู่บ้าน มาลีและเพื่อน ๆ ก็ได้ยินข่าวว่า บริษัทเหมืองแร่ได้เดินทางเข้ามาเจาะเก็บดินตัวอย่างในพื้นที่แล้ว
“ทันทีที่ได้ยินแบบนั้น เราก็หยุดเลย รีบพากันไปที่นั่น ไปหยุดพวกบริษัท” นงลักษณ์ อุปแดง หนึ่งในผู้หญิงผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่ กล่าว
หลังจากสอบถามไปยัง อบต. ชาวบ้านได้รับการยืนยันว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ นั่นคือ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น ซึ่งได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 116,875 ไร่ บริษัทนี้เป็นบริษัทของรัฐบาลจีนและสนใจขุดเอาแร่โพแทชซึ่งเป็นเกลือใต้ผืนดินอุดมด้วยโพแทสเซียมมาใช้ผลิตปุ๋ย
สิ่งที่มาพร้อมกับการทำเหมืองแร่โพแทชคือความเสี่ยงที่แหล่งน้ำท้องถิ่นจะเค็มขึ้น มิเกล กาเนโด นักวิจัยด้านระบบนิเวศทางน้ำ มหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ผู้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของเหมืองโพแทช กล่าวว่า ระดับความเค็มในแหล่งน้ำที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในน้ำลดลงและก่อให้เกิดดินทรุดได้
“ถ้าวางแผนป้องกันไม่ดี ผลกระทบจากเหมืองที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมก็อาจจะสูงมาก” กาเนโดกล่าว “และอาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนด้วย ไม่ใช่แค่ระบบนิเวศอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเกลือทำปฏิกิริยากับสารตกค้างสารอื่น ๆ แล้วกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้”
สาเหตุที่ทำให้คนในพื้นที่ออกมาต่อต้านเหมืองโพแทชอย่างหนัก คือการที่พื้นที่ทางเกษตรกรรมในภูมิภาค ซึ่งพึ่งพาการเกษตรในการดำรงชีพเป็นหลัก กำลังตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงที่จะถูกทำลายลง ชุมชนแห่งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา และมหาสารคาม จึงพากันออกมาต่อสู้ป้องกันไม่ให้โครงการเหมืองแร่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนมานานเวลาหลายทศวรรษแล้ว
หญิงแกร่งนักสู้
แม้จะไม่มีการแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการ แต่ชาวบ้านจาก 82 หมู่บ้านทั่วอำเภอก็รู้ว่าเขตพื้นที่หมืองแร่โพแทชครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านของตน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเหมืองแร่ของคนในพื้นที่
ในที่สุดบรรดาผู้ชายในชุมชนก็เข้าร่วมกลุ่มของพวกเธอ จากนั้นกลุ่มก็เติบโตและเข้มแข็งขึ้น ทั้งมุมมองของกลุ่มแกนนำผู้หญิงร่วม 50 คน ที่มีต่อกลุ่มตนเองและมุมมองที่ชุมชนมีต่อพวกเธอก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
“มีความมั่นใจมากขึ้นค่ะ” นงลักษณ์กล่าว “ตอนนี้ชุมชนให้การยอมรับเรา พร้อมกับมอบหมายหน้าที่ให้รับผิดชอบมากขึ้นด้วย”
“ก็เปลี่ยนไปเยอะ” สัมฤทธิ์ โบราณมูล อายุ 48 ปี ผู้หญิงนักเคลื่อนไหวอีกคนกล่าว “เมื่อก่อน ก็อยู่แต่ที่บ้าน ตอนนี้ก็มาเป็นแกนนำ ก็รู้สึกเข้มแข็ง แล้วก็กล้าขึ้น”
กิติมา ขุนทอง นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ก็เป็นอีกหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมาตั้งแต่ต้น เธอช่วยจัดงานวันสุดท้ายของกิจกรรมไทวานรก้าวเดิน (Wanon Walk) ที่ชาวบ้านจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หลังสิ้นสุดการเดินเท้าประท้วงเป็นเวลา 6 วัน เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2561 แม้จะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐเข้ามาห้ามไม่ให้เธอจัดกิจกรรมดังกล่าวก็ตาม
สำหรับกิติมาแล้ว ความสำเร็จและการยืนหยัดต่อสู้กับภัยคุกคามจากภายนอกของกลุ่มชาวบ้านเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในโครงสร้างของภูมิภาคแห่งนี้
กิติมาชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่ว่า ผู้หญิงชาววานรนิวาสส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ พวกเธอทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการหาเก็บผัก หน่อไม้ และพืชต่าง ๆ จากป่าในธรรมชาติ เพื่อนำมารับประทานที่บ้านหรือนำไปขายที่ตลาด
“ชาวบ้านรู้ถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศชุมชน ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวตัวเองยังไงบ้าง” กิติมากล่าว “ดังนั้น พวกเขาก็เลยรู้สึกที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้”
ผู้หญิงชาววานรนิวาสเหล่านี้เติบโตมาในช่วงยุคสงครามเย็น พวกเธอก็เลยพบเห็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างครอบครัวของคนในอีสาน และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ผู้ชายอีสานเริ่มอพยพย้ายออกจากภูมิภาคไปหางานทำในเมือง ผู้หญิงที่อยู่ที่บ้านก็ต้องรับบทบาทเป็นคนตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ของครอบครัวแทน
“สิ่งที่เกิดขึ้นสอนผู้หญิงอีสานให้เป็นผู้นำ แล้วก็กระตุ้นให้ผู้หญิงมีบทบาทอำนาจในครอบครัวตนเองด้วย” กิติมาอธิบาย “จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นชาวบ้านผู้หญิงหลายคนทำหน้าที่เป็นแกนนำเคลื่อนไหวทางสังคมในภาคอีสาน”
“ก็เปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อน ก็อยู่แต่ที่บ้าน ตอนนี้ก็มาเป็นแกนนำ ก็รู้สึกเข้มแข็ง แล้วก็กล้าขึ้น”
คดีรุมเร้า
ความมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมและบทบาทความเป็นผู้นำของผู้หญิงกลุ่มนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีส่วนสำคัญยิ่งต่อการระดมทุนเพื่อนำมาใช้จัดงานกิจกรรมการคัดค้านประท้วงและนำมาจ่ายเป็นค่าดำเนินการทางกฎหมาย เมื่อไม่นานมานี้ พวกเธอได้ร่วมกันเดินเท้าขอรับบริจาคสมทบทุนทั่วชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง พร้อมกับรวบรวมเงินได้ราว 80,000 บาท และนำเงินจำนวนดังกล่าวมาใช้จ่ายเป็นค่าดำเนินการทางกฎหมายในการยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลที่กรุงเทพฯ
มาลีและแกนนำชุมชนคนอื่น ๆ ต้องเผชิญกับการถูกบริษัทนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้ข่มขู่คุกคามในรูปแบบของคดีปิดปาก (SLAPP) หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ซึ่งเป็นวิธีการที่บริษัทมักนำมาใช้ปิดปากนักเคลื่อนไหวด้วยการทำให้พวกเขาหรือเธอต้องแบกรับกับภาระค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีความทางกฎหมายจนกว่าจะหยุดวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านคัดค้าน และที่อำเภอวานรนิวาส ชาวบ้านหลายคนก็ถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองด้วย
พิสมัย สุขะ อายุ 53 ปี ถูกบริษัทฟ้องร้องฐานขัดขวางการดำเนินกิจการของบริษัท แม้ท้ายที่สุด ศาลจะสั่งยกฟ้องคดี แต่พิสมัยก็ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีดังกล่าวอยู่ การที่ต้องเดินทางไปขึ้นศาลอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งต้องเตรียมตัวสู้คดีก่อนหน้านี้ ทำให้เธอต้องหยุดงานและขาดรายได้มาเลี้ยงชีพ
พิสมัยเพิ่งสูญเสียสามีไปเมื่อไม่นาน เธอปลูกข้าวบนที่นาขนาดเล็กไว้เลี้ยงครอบครัวและขณะเดียวกันก็ต้องทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาดเพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง
“ฉันไม่เคยยอมรับข้อกล่าวหาของบริษัท เราไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรให้ เราแค่ไปนั่ง แล้วก็ขอดูข้อมูล” พิศมัยกล่าว พลางอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เธอร่วมประท้วงต่อต้านเหมืองจนถูกบริษัทฟ้องร้องดำเนินคดี
สักกพล ไชยแสงราช ทนายความที่ปรึกษาด้านกฎหมายของชาวบ้าน กล่าวว่า ในประเทศไทย มีการใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคามนักเคลื่อนไหวอยู่ทั่วไป “คิดไว้แล้วว่าบริษัทจะต้องฟ้องร้องชาวบ้าน เพราะว่า ในประเทศไทยน่ะ มีหลายบริษัทที่ใช้กระบวนการยุติธรรมมาหยุดยั้งชุมชนไม่ให้ต่อต้านพวกเขา” เขากล่าว
คอยเฝ้าพิทักษ์ชุมชน
ในช่วงหกปีที่ผ่านมา กลุ่มชาวบ้านวานรนิวาสได้เข้าหยุดยั้งไม่ให้มีการขุดเจาะหลุมสำรวจหาแร่ใต้ดินจำนวน 4 ครั้ง พร้อมกับจัดประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้ง ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2561 ชาวบ้านร่วมกันเดินเท้าประท้วงเป็นระยะเวลา 6 วัน และมีผู้คนเข้าร่วมจากทุกช่วงวัยนับหลายร้อยคน โดยพากันเดินขบวนจากชุมชนตนเองไปยังตัวเมืองจังหวัดสกลนคร รวมระยะทาง 85 กิโลเมตร
ชาวบ้านพากันเดินเป็นแถวยาวไปตามริมถนนชนบท พร้อมกับแจกแผ่นพับข้อมูลและตะโกนกล่าวร้องคำขวัญรณรงค์ต่อต้านเหมืองอยู่ตลอดระยะทาง เมื่อถึงช่วงกลางคืน ชาวบ้านก็หยุดพักนอนหลับที่วัดของหมู่บ้านที่เดินทางถึง มีการตั้งเวทีสนทนาชั่วคราว และมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากท้องถิ่นและที่อื่นมาร่วมสนทนาหารือเกี่ยวกับประเด็นเหมืองแร่ด้วย ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่สวมชุดนอกเครื่องแบบ คอยติดตามเฝ้าดูชาวบ้านอยู่อย่างใกล้ชิด
แม้สถานการณ์การเคลื่อนไหวในพื้นที่วานรนิวาสในตอนนี้จะยังนิ่งเงียบอยู่ แต่ชุมชนแห่งนี้ก็ยังคอยเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพราะสำนักงานและพนักงานของบริษัทบางคนยังคงอยู่ในพื้นที่อยู่ ถึงแม้ว่าอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ของบริษัทจะหมดอายุลงแล้วเมื่อปี 2563 ก็ตาม ดังนั้น เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สมาชิกกลุ่มชาวบ้านจึงพากันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปร้องเรียนไม่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมต่ออายุใบอนุญาตทำเหมืองให้บริษัท
กลุ่มชาวบ้านยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอีกคดีหนึ่ง นั่นคือ คดีที่บริษัทฟ้องร้องสมาชิกชุมชนจำนวน 9 คน ข้อหาหมิ่นประมาทและทำให้สูญเสียรายได้ และ สมบูรณ์ ดวงพรมยาว อายุ 54 ปี หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องร้อง ยืนกรานว่าตนและกลุ่มชาวบ้านไม่ได้ทำอะไรผิด
ชาวบ้านร้องเรียนไปยังศาลฎีกา เพราะ “การถูกดำเนินคดีไม่ได้ทำให้ชาวบ้านลำบากแค่ 9 คนเท่านั้น แต่ยังทำให้คนทั้งชุมชนลำบากไปด้วย เพราะต้องระดมทุนหาเงินมาช่วยจ่ายค่าธรรมเนียมศาล แต่เราจะไม่ยอมจ่ายแม้แต่บาทเดียว” เธออธิบายและกล่าวเสริมว่า “เราจะสู้จนถึงที่สุด”
รายงานเพิ่มเติมโดย ปริตตา หวังเกียรติ บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน
ลอร่า วิยาดิเอโก เป็นนักข่าวอิสระ ปัจจุบันประจำอยู่ที่กรุงมาดริด แต่ก่อนหน้านี้ประจำที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2552 ผลงานของเธอถูกเผยแพร่ในหลายสำนักข่าว ได้แก่ Público, Foreign Policy, Al Jazeera และ TV5Monde.
ลูค ดุกเกิลบี ช่างภาพข่าวอยู่ที่ประเทศไทย ลูคเคยไปเยือนชุมชนนี้ 3 ครั้งในช่วงเวลาหนึ่งปีเพื่อบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชน
More Features
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 12 มกราคม 2023
- by HaRDstories
- 10 มีนาคม 2023
- by พีระพล บุณยเกียรติ
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ