- 7 กรกฎาคม 2022
14 วันจากใต้สุดของประเทศถึงเมืองหลวง นักอนุรักษ์ทางทะเลกับชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือไกลเพื่อปกป้องอนาคตของสัตว์น้ำและความมั่นคงทางอาหารของครัวไทย
เด็กไทยทุกคนคงจำภาพแผนที่ประเทศไทยได้ดีจากหนังสือเรียน ประเทศไทยหน้าตาเหมือนขวานที่มีด้ามจับไล่ยาวลง ขนาบข้างด้วยทะเลสองฝั่ง ได้แก่ ฝั่งซ้าย ทะเลอันดามัน และฝั่งขวา ทะเลอ่าวไทย
ปัตตานี จังหวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ตอนปลายของด้ามขวานติดฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเชื่อมต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก เมืองชายแดนนี้ห่างจากกรุงเทพฯ ใจกลางของประเทศประมาณ 1,079 กิโลเมตรทางบก ถ้าเดินทางด้วยเครื่องบินและรถยนต์คงใช้เวลาแค่เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่การเดินทางจากปลายด้ามสู่หัวขวานครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 14 วัน
สองสัปดาห์ก่อนวันมหาสมุทรโลก สมาชิกสมาคมรักษ์ทะเลไทย 4 ชีวิตแต่งตัวในชุดลุยทะมัดทะแมง รวมตัวกันที่ทำการสมาคมซึ่งเป็นบ้านเช่าหลังเก่า รถยนต์สองคันอัดแน่นไปด้วยเต็นท์ ยาสามัญ และธงรณรงค์ รถสองคันนี้จะคอยขนของและเป็นพาหนะเดินทางสำรองในวันที่ทะเลมีพายุ ส่วนตัวคนนั้นจะไปกับเรือ
“ทำงานประมงมายี่สิบปี ครั้งนี้จะลงเรือไกลที่สุดในชีวิต” นายกสมาคมหัวเราะ รับกระปุกวิตามินซีจากเพื่อนร่วมงานในค่ำคืนวันแรกของการเดินทาง
นายกสมาคมเป็นชายตัวเล็ก ท่าทางเงียบๆ อายุห้าสิบปี มองปราดเดียวก็รู้ว่าเขาไม่ใช่ลูกทะเลเพราะผิวออกไปโทนเหลืองมากกว่าเข้มแดดเหมือนชาวประมง แต่วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ปีนกราบเรือหาปลาอย่างคล่องแคล่ว ไม่เคอะเขิน เขาใช้เวลามากกว่ายี่สิบปีขึ้นลงเรือของชาวประมงหลายท้องที่เพื่อร่วมกันปกป้องทะเล
นอกจากวิตามินและยาสมุนไพรเสริมกำลังแล้ว พวกเขาไม่ได้เตรียมของกินอะไรอีก เพราะมั่นใจว่า ตลอดเส้นทางข้างหน้าจะเต็มไปด้วยของกินอุดมสมบูรณ์ สมาคมรักษ์ทะเลไทยเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานกับชาวประมงพื้นบ้านมากกว่า 66 แห่งทั่วไทยมาตลอดสี่สิบปี ครั้งนี้พวกเขาคิดการใหญ่ อาศัยเรือชาวประมงอาสาเดินทางและแวะพักกับชุมชนตลอดแนวชายฝั่งเพื่อไปให้ถึงเมืองหลวง
จานกับข้าวคงไม่พ้นอาหารทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมนูปลาทูที่เป็นปลาพื้นบ้านหาได้ทั่วและเป็นแหล่งโปรตีนราคาเข้าถึงได้กับทุกคน ประดิษฐ์พิศดารเป็นเมนูหลากหลาย ทอด แกง ตากแห้ง ทะเลไทยเคยมียอดจับปลาทูสูงสุดถึง 130,000 ตันในปีเดียว มากกว่าปลาชนิดไหนๆ แต่พวกเขาไม่แน่ใจนักว่าเมนูเหล่านี้จะเหลือไปอีกนานเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ ปลาทูไทยกำลังลดน้อยลงต่อเนื่องอย่างน่าใจหาย เฉลี่ยปีละเกือบ 20%
ภัยคุกคามใหญ่คือความนิยมจับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ควรจะโตเต็มวัยเพื่อเป็นปลาไซส์ใหญ่ที่จะสืบพันธุ์ต่อและมีราคาสูง ประเทศไทยอาจเสียโอกาสทางเศรษฐกิจกว่าหนึ่งแสนล้านบาทในช่วงเวลาแค่ห้าปี นอกจากนี้ งานศึกษาของกรมประมงช่วงห้าปีที่ผ่านมานี้ พบว่ามีสัดส่วนการจับปลาตัวเล็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนนั้นยังปะปนไปด้วยลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจถึงกว่า 80%
มิถุนายน เดือนแห่งวันทะเลโลก ยังเป็นช่วงเวลาที่เหล่านักอนุรักษ์มองว่าเกิดการสังหารหมู่สัตว์น้ำวัยอ่อน แม้รัฐบาลจะปิดอ่าวไทยเพื่อปล่อยให้ปลาทูวางไข่และเติบโต แต่ระยะเวลาเท่านี้พอให้สัตว์น้ำโตไหมยังเป็นเรื่องถกเถียงไม่จบ
ประเด็นดังกล่าวได้กลายมาเป็นภารกิจหลักของทริปล่องเรือไกลเพื่อทวงคืน “น้ำพริกปลาทู” คราวนี้ เมื่อการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในไทยวันนี้ยังทำได้ถูกกฎหมาย พวกเขาจึงตั้งใจนำเสียงของประมงพื้นบ้านไปพบผู้นำประเทศเพื่อขอให้ออกกฎหมายควบคุม
หาดปะนาเระ ปัตตานี: อัลลอะห์ กอแระ และจุดเริ่มต้นเส้นทางอนุรักษ์
จุดเริ่มต้นของทริปคือชุมชนประมงมุสลิม อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี วันแรกของการเดินทางตรงกับวันศุกร์ เรือไม้ทาสีสันสวยงามพากันลอยอย่างสงบในเวิ้งน้ำที่จอดเรือประจำชุมชนหลังตลาดปลา วันนี้ไม่มีใครออกเรือ เพราะตามหลักศาสนาอิสลาม วันศุกร์เป็นวันสำคัญที่ชาวมุสลิมไปมัสยิด
“วันศุกร์ไม่มีใครออกเรือจับปลา ถ้าใครฝ่าฝืนจะต้องเสียค่าปรับ” สะมะแอ เจ๊ะมูดอ หรือที่คนแถวนี้นับถือเป็นพี่ชายแล้วเรียกด้วยคำมลายูว่า “แบ” อธิบาย “โต๊ะครูมีคำสอนว่า ทุกคนสามารถใช้ทรัพยากรได้ แต่ไม่มีใครสามารถจับจองเป็นของปัจเจกได้ ถ้าจับเพื่อบริโภคหรือขายเลี้ยงครอบครัวก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ควรทำลายล้าง”
บ้านของแบแอหลังเล็กและยังเป็นร้านขายมะตะบะชื่อดังประจำย่าน ใครๆ พากันแซวว่านี่หรือคือบ้านของอดีตนายกคนแรกของ “สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย” แบแอเกิดและโตกับท้องทะเลปะนาเระ เป็นนายท้ายคุมเรือพร้อมกับผู้ช่วยอีกสองคน หาปลาพอเลี้ยงครอบครัวมาเรื่อยๆ จนกระทั่งสามสิบปีก่อน ทะเลที่เขาและชาวปะนาเระพึ่งพิงกลับเปลี่ยนไป สัตว์น้ำจับได้น้อยลงและอุปกรณ์ประมงเสียหาย เพราะเรือคราดหอยจากต่างถิ่น ซึ่งใช้เครื่องมือคราดหน้าดิน เข้ามาหากินจำนวนมาก แบแอเลยลุกขึ้นเป็นแกนนำพาคนในชุมชนคัดค้าน
คัดค้านไปมาพวกเขาก็พบว่า โศกนาฏกรรมแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่ที่ปะนาเระที่เดียว แต่กำลังเกิดทั่วไทย ประเทศไทยมี 22 จังหวัดที่ติดทะเล หรือเรียกได้ว่าราว 1 ใน 3 ของประเทศ ชาวประมงหากินกันแบบพื้นบ้านโดยใช้เครื่องมือประมงที่เป็นวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเลือกจับเฉพาะบางชนิดมาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงปี 2503 เทคโนโลยีเครื่องมือประมงพัฒนารุดหน้า ทำให้จับปลาได้อย่าง “มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อุปกรณ์ประมงนำเข้าจากต่างประเทศ ทำจากวัสดุไนลอนทนทานไม่ขาดง่าย พากันหลั่งไหลเข้ามาในไทย โดยเฉพาะอวนลากแผ่นตะเฆ่จากเยอรมนีที่มีแผ่นไม้ยึดปากอวนให้สามารถกางอวนลากจับสัตว์หน้าดินทะเลได้ ยังมีอวนลากคู่อวนสองผืนกางแขนช่วยกันลากจับสัตว์น้ำ ประมงไทยแบบพื้นบ้านจึงพัฒนาไปสู่แบบพาณิชย์ ทว่า “ประสิทธิภาพที่มากขึ้น” กลับไม่ใช่ฝันหวาน เพราะอวนลากได้ลากจับสัตว์ทะเลแบบเหมาหมด ไม่เลือกประเภท แม้แต่สัตว์น้ำที่เรือประมงไม่ต้องการเพราะคนไม่นิยมบริโภค อย่างปลาขนาดเล็ก กินไปยังไงก็เจอแต่ก้าง
“เครื่องมือประมงที่ชาวบ้านใช้จากภูมิปัญญาชาวบ้านมักจะเป็นเครื่องมือแบบเลือกจับสัตว์น้ำแค่บางประเภท แต่ว่าเครื่องมือประมงพาณิชย์มักเป็นแบบจับหมด” แบแออธิบาย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ของไทยเปิดศักราช 2500 ด้วยการส่งเสริมอวนลากและขยายพื้นที่ประมง จนสิบปีถัดมาเกิดภาวะ “ทะเลร้าง” ที่ชาวประมงพื้นบ้านสังเกตว่าธรรมชาติไม่อุดมสมบูรณ์อีกต่อไป จึงเกิดกระแสอนุรักษ์ทะเล ชุมชนประมงพากันคัดค้านการใช้เครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากเกินไปและเริ่มโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศต่างๆ
นอกจากจะเล่าสู่กันฟังปัญหาที่เจอตามมัสยิดและร้านน้ำชาตามประสาชุมชนมุสลิมแล้ว ชาวประมงปะนาเระยังพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ให้เท่าทันนโยบายและกฎหมายประมงใหม่ๆ “โรงเรียนชาวเล” ตั้งอยู่ข้างร้านน้ำชาที่เป็นแหล่งแฮงเอาท์ประจำชุมชน โรงเรียนเป็นทั้งที่ประชุม สหกรณ์ขายอวนที่มีขนาดตาข่ายถูกต้องตามกฎหมาย และโรงครัวที่สาวๆ รุ่นเล็กรุ่นใหญ่มาแปรรูปอาหารทะเลขายเป็นผลิตภัณฑ์
“พอเราได้คุยกับชุมชนประมงอื่นๆ ก็คุยกันถูกคอดี เห็นว่ามีปัญหาร่วมกันหลายพื้นที่ เลยรวมตัวเป็นสมาพันธ์ขึ้นมาผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย” ปี 2536 ชาวประมงภาคใต้จึงรวมตัวกันก่อตั้งเป็น “สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย” ก่อนชุมชนจากฟากฝั่งทะเลอื่นๆ ทั้งภาคตะวันตกและภาคตะวันออกจะเข้ามาร่วมด้วย ขยายเป็นเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในไทย
วันนี้ แบแอในวัย 68 เดินทางมาส่งคณะเดินทางที่หาดเล็กๆ เรือกอแระอันเป็นเอกลักษณ์เรือทางชายแดนใต้ห้าลำลอยคอรอคอยพวกเขา เจ้าของเรือพากันตระเตรียมออกทะเลเพื่อส่งคณะเดินทางออกไปทำภารกิจอนุรักษ์
บรรยากาศแบบนี้ชวนให้แบแอหวนนึกถึงการผจญภัยเมื่อเขายังเป็นหนุ่มวัยสามสิบกว่า วันนั้นเขากับเพื่อนๆ ขึ้นรถตะลอนไปค้างแรมตามชุมชนประมง เลาะไล่ขึ้นไปกรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกการใช้เรือปั่นไฟ วิธีหาปลาโดยใช้ตะเกียงไฟที่ส่องสว่างยามค่ำคืนล่อฝูง “ปลากระตัก” (anchovy) ปลาขนาดเล็กมาเล่นที่ผิวน้ำ ก่อนจะใช้อวนจับ ขยายเวลาหาปลากระตักจากกลางวันสู่กลางคืน แต่แน่นอนว่ามีลูกสัตว์น้ำติดมาด้วยจำนวนมาก
“สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่เราเรียกร้องไปนะ เลยต้องมีทริปนี้ไง” ประเทศไทยเคยห้ามใช้เรือปั่นไฟล่อปลาราวสิบปี ทว่าได้มีการนำกลับมาใช้อีกครั้ง โดยกลุ่มสนับสนุนยืนยันว่าเรือปั่นไฟไม่ได้จับสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนปะปนมาก แบหัวเราะ มือยื่นส่งธงให้ วิโชคศักดิ์ เอ็นจีโอหนุ่มเพื่อนเก่าแก่ที่ทำงานทางทะเลมาด้วยกันนานหลายสิบปี ธงข้อความ #saveสัตว์น้ำวัยอ่อน โบกสะบัดใต้ฟ้าสีหม่นของพายุ เหมือนกำลังบอกว่าการเดินทางครั้งนี้จะไม่ได้ไร้มรสุม
ใกล้ชายฝั่งสวนกง สงขลา: โลมาสีชมพูและลูกปลาทู
ปากคาบบุหรี่ มือสาละวนอยู่กับตะขอเบ็ดและลูกปลาตัวเล็กขนาดไม่เกินธนบัตร เช้าวันที่สอง ท้องฟ้าเปิดสว่างที่หาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา ชายชาวประมงกำลังเตรียมเหยื่อจับปลาอินทรี
เมื่อเรือออกจากฝั่ง ชายชาวประมงวางอวนลอยจากท้ายเรือพร้อมกับเหยื่อลูกปลาทู เวลาผ่านไปสักพัก อวนที่สาวขึ้นมามีเพียงความว่างเปล่า แต่ระหว่างนั้นเอง นายท้ายเรือคุมหางเสือชะลอเครื่องยนต์ลง เขาชี้มือไปยังแผ่นผิวน้ำทะเลที่สลับจังหวะขึ้นลงให้คณะเดินทางดูอย่างตื่นเต้น โลมาหัวขวดสีชมพูสองสามตัวกำลังหยอกล้อเล่นน้ำ ใต้แผ่นน้ำลงไปที่มนุษย์มองไม่เห็น พวกมันคงกำลังหาอาหารกิน ไม่ปลาอินทรีก็อาจเป็นลูกปลาทู
อย่างที่ว่ากันว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” สัตว์น้ำวัยอ่อนนั้นมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เป็นผู้บริโภคขั้นแรกสุด ที่สามารถกินแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ได้โดยตรงและกลายเป็นอาหารสำคัญของปลากินเนื้อชนิดอื่นๆ แต่ว่าทุกวันนี้ สัตว์น้ำวัยอ่อนกลับถูกจับก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์จำนวนมาก
ปลาวัยอ่อนมักปะปนอยู่กับสัตว์น้ำพันธุ์ที่มีขนาดเล็กตามธรรมชาติของสายพันธุ์ เช่น ปลากระตัก เครื่องมือประมงอย่างอวนลากและเรือปั่นไฟกวาดจับปลาทั้งสองกลุ่มนี้พร้อมกัน แต่ด้วยขนาดและหน้าตาคล้ายกัน ทำให้แม่ค้าหรือผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าตนกำลังกินลูกปลาหรือกินปลาเต็มวัยไซส์จิ๋วกันแน่ เห็นได้จากข่าวที่รายงานพบลูกปลาทูปะปนอยู่กับปลากระตักตากแห้งขายราคาถูกตามท้องตลาด เป็นต้น
ปลาทูสามารถโตถึงวัยเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ถึงขนาด 16-20 เซนติเมตร แต่ว่าทุกวันนี้ เรืออวนล้อมปั่นไฟกลับสามารถจับลูกปลาทูขนาดเล็กกว่า 3-4 เซนติเมตร ลูกปลาทูเป็นอาหารสำคัญของปลาอินทรีซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจราคาสูง รวมถึงสัตว์ทะเลอย่างโลมาหัวขวดสีชมพู เมื่อปลาเล็กหายไป จะส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ปลาบางสายพันธุ์จะเกิดพฤติกรรมกินลูกตัวอ่อนสายพันธุ์ตัวเอง เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสัตว์น้ำ
“สัตว์น้ำมีวงจรชีวิตของมัน วัยอ่อน วัยเจริญพันธุ์และวางไข่ ในฐานะนักชีววิทยาคนหนึ่ง ผมไม่ได้คิดว่าเราห้ามใช้ประโยชน์จากทะเลเลย แต่เราสามารถจัดการให้ยั่งยืนได้” ดร.เริงชัย ตันสกุล ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว
เขาเชื่อว่า ทุกประเทศควรศึกษา “ผลผลิตสูงสุดที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพทางทะเลว่าสามารถจับสัตว์น้ำได้มากสุดเท่าไหร่และหาสมดุลระหว่างการทำประมงกับเปิดให้ระบบนิเวศฟื้นฟู เมื่อศึกษาแล้วจึงสามารถกำหนดโควต้าการทำประมงร่วมกัน
“ประมงไม่ใช่วิทยาศาสตร์หรือการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คือการจัดการองค์ความรู้ทุกอย่างรวมกัน เราได้ข้อมูลด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์ แล้วมาดูให้เหมาะสมกับการกินการใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในยุคเราเท่านั้น แต่รวมถึงลูกหลานเราด้วย น่าเสียดาย วันนี้คนไทยยังไม่รู้ว่า จริงๆ แล้ว เราควรใช้ประโยชน์จากทะเลมากน้อยเพียงไหน”
วันนั้น ลูกทริปพากันแห้วไม่ได้กินปลาอินทรี แต่แม้ท้องจะหิว การได้เห็นโลมาสีชมพูทำให้พวกเขาต่างอิ่มอกอิ่มใจไปตามๆ กัน รวมถึงกองเชียร์ทางบ้านที่คอยติดตามไลฟ์สดจากมือถือนายกสมาคมรักษ์ทะเล คนส่วนใหญ่มักรู้สึกเชื่อมโยงกับสัตว์น้ำตัวใหญ่ได้ง่าย เหมือนกับตัววิโชคศักดิ์เองที่เป็นคนเมืองแล้วตกหลุมรักงานอนุรักษ์ทะเล เพราะได้รู้จักกับหญิงชาวประมงที่ดูแลพยูน
โต๊ะกินข้าวกลางทะเล: ความมั่นคงในโลกท้าทาย
วิโชคศักดิ์และสมาชิกทริปจากสมาคมรักษ์ทะเลคาดไว้ถูกต้อง พวกเขาไม่ต้องเตรียมอะไรมากไปกว่าวิตามินซี เพราะทุกสถานที่พวกเขาแวะผ่านเต็มไปด้วยอาหารอุดมสมบูรณ์
ปลาทูนึ่งทานคู่กับข้าวมัน ปลาหลังเขียวในแกงสีเหลืองเผ็ดแสบสันด้วยรสขมิ้น ปลาตากแห้งรสเค็มหวาน เกษรินทร์ เจ๊ะเหล็ม สาวมุสลิมวัย 30 เอง ก็ขอเป็นหนึ่งคนที่เติมเสบียงให้เหล่านักเดินทาง
มื้อเย็นที่บ้านเกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นปลาเกล็ดขาวแห้งทอดกรอบ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มวิสาหกิจประจำชุมชนทำ เกษรินทร์จากบ้านไปทำงานเป็นแม่บ้านประจำห้างที่เมืองใกล้ๆ หลายปี แต่ด้วยโรคตาที่ทนแสงจ้าของไฟไม่ได้ทั้งวัน เธอจึงลาออกกลับมาอยู่บ้าน ออกเรือหาปลาบ้างตามโอกาสด้วยวิชาประมงที่เรียนรู้จากพ่อ และใช้เวลาส่วนใหญ่ผลักดันธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล
ลูกหลานประมงส่วนมากมักจะออกไปหางานนอกชุมชน แต่หญิงสาวอยากพัฒนาชุมชนประมงบ้านเกิดให้มีทางเลือกอาชีพมากขึ้น เกษรินทร์จำได้ดีถึงกลางดึกคืนวันหนึ่ง ใครสักคนปลุกเธอขึ้นมาแจ้งว่าน้องที่สนิทกันคนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างเดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด “เด็กคนนี้พ่อแม่หย่ากัน พ่อค่อนข้างจน ไม่มีเรือ เขาเลยไม่ได้เรียนต่อแล้วออกไปทำงาน มันหดหู่ใจเรามาตลอด ทำไมบ้านเราไม่มีงานให้น้องเขาทำ” เธอเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ
เธอพัฒนากลุ่มแปรรูปอาหารและขายทางออนไลน์ จนวันนี้มีลูกค้าประจำจากหลายภูมิภาคและสมาชิกกลุ่มกว่า 20 คน คล้ายกับอีกหลายชุมชนประมงพื้นบ้านที่กลุ่มสตรีมักจะรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจแปรรูปอาหารทะเลและติดต่อกับลูกค้าโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดียช่วงโควิด
แต่วันนี้ ความพยายามเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำของเกษรินทร์เป็นเหมือนคลื่นลูกเล็กที่ปะทะกับคลื่นลูกใหญ่ เมื่อทิศทางการแปรรูปสัตว์น้ำเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปที่ให้มูลค่าน้อยลง พวกเขาเรียกธุรกิจเหล่านั้นว่า “อุตสาหกรรมปลาเป็ด” นำเศษชิ้นส่วนตัดปลาที่เหลือทิ้งจากโรงงานแปรรูปหรือปลาขนาดเล็กเนื้อน้อยไปบดเป็นลูกชิ้น หรือว่าป่นเป็นอาหารสัตว์ดั่งชื่อว่าเป็นปลาสำหรับเลี้ยงเป็ด
แนวคิดปลาเป็ดนี้เริ่มในไทยช่วงต้นพุทธศักราชที่ 25 โดยรัฐบาลได้ทดลองตั้งโรงงานปลาป่นบนเกาะใกล้ชุมพร เพื่อนำสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ไม่ได้ขนาดมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแทนที่จะทิ้งลงทะเลไปอย่างเปล่าประโยชน์ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในปัจจุบัน
ปี 2563 ประเทศไทยมีผลผลิตสัตว์น้ำรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านตัน พบเป็นปลาเป็ดถึง 27.9% และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การจับปลาเป็ดนั้นฟังดูเหมือนเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีและทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจซุกซ่อนปัญหาอยู่ข้างใน เมื่อลูกปลามักจะถูกจับปะปนไปในคราบของปลาเป็ด งานศึกษาของกรมประมงพบว่า อวนลากคู่ในอ่าวไทย ระหว่างปฏิบัติภารกิจจับปลาเป็ด ได้จับลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจปนถึง 81.23%
ในปีเดียวกัน ขณะที่ผลผลิตปลาเป็ดเพิ่มขึ้น ปลาทูซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านพบได้ทั่วกลับลดลงจนผิดสังเกต เหลือเพียงราว 26,000 ตัน จากที่เคยหาได้หลักแสน น้อยลงเกือบ 6 เท่าภายในช่วง 6 ปี
“มันเป็นข้อเท็จจริงประจักษ์กับตา แน่นอนว่ามีปัจจัยทางธรรมชาติหลายอย่าง เช่น เรื่องโลกร้อน แต่การพบลูกปลาทูปนอยู่ในกองปลาเป็ดจำนวนมากก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้” วิโชคศักดิ์ว่า
การจับปลาขนาดเล็กส่งผลกระทบเป็นลูกคลื่นต่อผู้คนตลอดเส้นทางการผลิต ไม่เพียงแต่ในกลุ่มแปรรูปอาหารทะเล แต่รวมถึงการท่องเที่ยว อัศนีย์ วาฮับ สาวชาวประมงจากบ้านหินช้าง จ.ระนองเป็นตัวแทนจากทะเลฝั่งอันดามันเข้าร่วมการเดินทาง เธอรู้สึกตื่นเต้นที่ต้องคุมท้ายเรือลำหนึ่งวิ่งยาวหลายชั่วโมงบนน่านน้ำที่ไม่คุ้นเคยเพื่อไปกรุงเทพฯ ปกติเธอจะวิ่งเรือในทะเลแถวบ้านเพื่อพานักท่องเที่ยวไปดูวิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน คนมาเที่ยวต่างหวังว่าไปบ้านหินช้างจะได้กินอาหารทะเลสดอย่างกุ้งแช่บ๊วย กุ้งมังกร และปลากระพง
“ถ้าเราจับสัตว์น้ำวัยอ่อน เราก็จะไปตัดตอนสายพันธุ์ของปลาเศรษฐกิจที่คนนิยมกินกัน (food fish)” อัศนีย์ว่า บางทีเธอก็ถูกถามว่า ราคาทะเลที่สูงขึ้นเพราะสัตว์ทะเลหายากมากขึ้นก็เป็นเรื่องดีกับคนประมงแบบเธอหรือเปล่า แต่เธอไม่คิดอย่างนั้น เพราะอยากมีท้องทะเลให้หลานได้เลี้ยงตัวเองต่อ
“เราอยากให้หลานสานต่ออาชีพประมง ถ้าเรารู้จักรักษาทรัพยากร ไม่มีงานไหนที่จะรวยเหมือนกับทำประมง”
สมาคมปลาป่นแห่งประเทศไทยระบุว่า ราคารับซื้อปลาเป็ดปี 2565 อยู่ที่ราว 8 บาท/กิโลกรัม และเมื่อแปรรูปเป็นปลาป่นมีราคาเฉลี่ยกิโลละ 30 บาท ขณะที่ปลาทูสด ไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูป ได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ 110 บาท สมาคมรักษ์ทะเลไทยประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (lost economic value) ช่วงปี 2559-2563 พบว่า ประเทศไทยอาจสูญเสียรายได้เพราะจับสัตว์น้ำวัยอ่อนสูงเกือบหนึ่งแสนล้านบาท
นครศรีธรรมราช: ธนาคารปูและภารกิจตรวจตราที่ไม่จำเป็น?
ถังแกลลอนพลาสติกตั้งเรียงรายอยู่ในศาลาพร้อมกับสายออกซิเจนโยงใย เหมือนกับทะเลจำลองขนาดจิ๋วที่เลี้ยงชีวิตน้อยๆ อยู่บนบก ภาพดังกล่าวเห็นได้ทั่วไปทุกจุดเช็คอินที่เหล่านักเดินทางได้รับการต้อนรับจากชาวบ้าน หลายทีมันเป็นพื้นหลังของวงเสวนายามค่ำคืนคุยถึงอนาคตของสิ่งที่อยู่ในถัง…ลูกสัตว์น้ำ
หลังจากทรัพยากรทางทะเลร่อยหรอลง เกิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทั่วชายฝั่งทะเลไทย ชุมชนหลายแห่งทำโครงการ “ธนาคารปูม้า” รับปูม้าไข่จากชาวประมงที่จับได้มาขยายพันธุ์ลูกปูก่อนนำไปปล่อยทะเล ผลปรากฏออกมาว่ามีปูม้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
หมู่บ้านท่าพยา อ.ปากพนัง ที่ ประทีป น้ำขาว เป็นผู้ใหญ่บ้านคอยดูแลเพิ่งตั้งธนาคารปูม้าใหม่ได้ไม่นาน โดยได้คำแนะนำจากชุมชนประมงและมหาวิทยาลัยใกล้เคียง ประทีปสนับสนุนโครงการนี้ แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า จริงๆ แล้ว มันคงไม่จำเป็นเลย ถ้าทะเลหน้าบ้านวันนี้ยังอุดมสมบูรณ์
การทำโครงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนอาจจะไม่ได้มีแค่ต้นทุนเงินตราอย่างเดียว แต่บางทีก็เป็นต้นทุนความสัมพันธ์ ประทีปเล่าว่า แถวบ้านเขา ชุมชนประมงจะทำบ้านปลาที่เรียกว่า “ซั้ง” ปักท่อนไม้ไผ่ไว้ในระยะเขตใกล้ชายฝั่งเพื่อเป็นปะการังเทียมให้ปลา พร้อมกำหนดกติกาไม่จับสัตว์น้ำสามเดือนในบริเวณ แต่บางทีตอไม้ไผ่ที่หักแล้วปักคาอยู่ใต้น้ำก็เกี่ยวกับอวนปลาที่ชาวบ้านใช้จนขาด ทำให้คนที่สนับสนุนการทำบ้านปลาขัดแย้งกับเจ้าของอวน
ความขัดแย้งในหมู่ชาวประมงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ นโยบายอนุรักษ์ทะเลส่วนใหญ่นั้นมักเจาะจงที่เครื่องมือประมง ออกข้อกำหนดว่าเครื่องมือประมงที่มีตาอวนถี่หรือลักษณะทำลายล้างสัตว์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย บริเวณอ่าวปากพนังซึ่งเป็นป่าชายเลนอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ยังมีการลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายอยู่ ชาวประมงอาสาออกเรือตรวจตราพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐต้องเผชิญการปะทะ บางคนถึงขั้นถูกขับเรือพุ่งชนจนพิการ ที่ร้ายยังรู้สึกถูกกีดกันจากคนในชุมชนกันเอง
“ถ้ามีกฎหมายชัดเจน แต่ต้นทางว่าห้ามจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะหยุดความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องเครื่องมือประมงไปหมด” ศรเดช คำแก้ว เจ้าหน้าที่มูลนิธิภาคใต้สีเขียว กล่าว เขาทำงานร่วมกับชุมชนประมงทั่วนครศรีธรรมราช
ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งในสิบประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลมากที่สุดในโลก ทว่าประเทศผู้นำเข้าตั้งคำถามถึงการทำประมงผิดกฎหมายและการใช้แรงงานบนเรือประมงมาต่อเนื่อง จนเมษายนปี 2558 สหภาพยุโรปให้ “ใบเหลือง” เตือนไทยให้ปรับปรุงการทำประมงให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล ประเทศไทยจึงชำระกฎหมายประมงที่ใช้มานานเกือบเจ็ดสิบปีและได้รับการปลดใบเหลืองเมื่อปี 2562
กฎหมายประมงตัวใหม่มีมาตราหนึ่ง (มาตรา 57) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใด “จับ” หรือ “นำ” สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง อย่างไรก็ตาม เจ็ดปีผ่านไปหลังออกกฎหมายดังกล่าว รัฐมนตรีไม่ได้ประกาศกำหนดอะไรมากไปกว่าประโยคสั้นๆ นั้น จึงไม่มีการบังคับใช้จริง ทำให้ทุกวันนี้ เมื่อเรือประมงกลับจากการออกทะเลและอาจจับสัตว์น้ำวัยอ่อนติดอวนมาด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถตรวจสอบได้
“ประมงพื้นบ้านพร้อมปรับตัวถ้าไทยประกาศใช้กฎหมายตัวนี้ ให้เวลาเปลี่ยนผ่านสักปีหนึ่ง เริ่มต้นจากทำความเข้าใจกับผู้คน ออกมาตรการจูงใจก่อน แล้วค่อยใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นอย่างตรวจจับคนที่ทำผิดกฎหมาย ผมเชื่อว่า พฤติกรรมปรับเปลี่ยนได้”
ศรเดชล่องเรือไปกับคณะเดินทางตลอดแนวชายฝั่ง วันนั้น พวกเขาล่องเรือห้าชั่วโมงและเปลี่ยนเรือทั้งหมดห้ารอบ ทั้งหมดเป็นเรือของชาวประมงอาสาที่ผลัดกันมารับช่วงสั้นๆ บางคนเป็นคนหน้าใหม่ที่ศรเดชไม่เคยทำงานอนุรักษ์ร่วมกันมาก่อน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ คงจะได้ทำ
3 สมุทร: เมื่อ “ปลาใหญ่” กิน “ปลาเล็ก”
กว่าสิบวันที่ล่องทะเล พวกเขาผ่านทะเลหน้าตาหลากหลายรูปแบบ ทั้งทะเลเปิดกว้าง ปากอ่าวเปรอะโคลน เกาะน้อยใหญ่ จนกระทั่งวันนี้ ล่องเข้าน่านน้ำใกล้จังหวัดปริมณฑล เงาของโรงงานและโกดังเก็บสินค้าก็เริ่มปรากฏ
สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ 3 สมุทรประกาศชัดว่าเป็นเมืองทะเล ด้วยความที่ว่าตั้งอยู่ติดอ่าวไทยบริเวณก้นอ่าว ทำให้เป็นจุดที่ปลาทูสายหลักโตเต็มวัยอพยพมาถึง ในความย้อนแย้ง สามจังหวัดนี้ยังเป็นตัวท็อปจับปลาเป็ดได้เยอะสุดในไทยและเป็นฐานที่มั่นของโรงงานปลาป่น
ร่างของ ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านคนปัจจุบันที่กำลังคุมท้ายเรือ พลันดูกระจ้อยร่อยเหมือนปลาทูตัวหนึ่งที่ว่ายเข้าหาอุตสาหกรรมข้างหน้า แต่เขาไม่เกรงกลัว เหตุถูกทำร้ายร่างกายเมื่อปี 2556 ไม่ได้ทำให้ความเชื่อของเขาสั่นคลอน ปิยะลุกขึ้นเป็นแกนนำต่อต้านเรือคราดหอยลายที่บ้านเขาที่ประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งวันหนึ่งถูกชาย 4 คน รุมทำร้ายร่างกายที่สะพานปลา พร้อมกับต่อว่าเขาว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรือคราดหอยลายถูกจับ
ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด ปิยะเข้าใจดีถึงอำนาจที่ต่างกันของ “ปลาใหญ่” และ “ปลาเล็ก” แห่งท้องทะเลไทย
กรมประมงเผยสถิติเรือประมงปี 2564 ว่าประเทศไทยมีเรือประมงพื้นบ้าน 51,237 ลำ (82.86%) และเรือประมงพาณิชย์ 10,595 ลำ (17.14%)
ปิยะเชื่อว่า วันนี้ ปลาใหญ่ที่มีอยู่เพียงไม่กี่หมื่นตัวกำลังเป็นตัวการหลักที่กวาดกินสัตว์น้ำวัยอ่อน ข้อมูลสถิติการจับปลาเป็ดเมื่อปี 2564 พบว่า อวนลากแผ่นตะเฆ่กับอวนลากคู่ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำการประมงแบบพาณิชย์นั้น จับปลาเป็ดราว 200,000 ตัน ขณะที่เครื่องมือที่ประมงพื้นบ้านที่เลือกจับสัตว์น้ำเฉพาะประเภทอย่างอวนครอบปลากระตัก และลอบหมึก มีปลาเป็ดติดมาราวหลักร้อยถึงหลักพัน
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่เหล่านักเดินเรือกำลังเร่งไปกรุงเทพฯ มูลนิธิยุติธรรมสิ่งแวดล้อม องค์กรสิ่งแวดล้อมจากยุโรป ได้ยื่นหนังสือถึงตัวแทนรัฐบาลไทย ขอให้เร่งลดกองเรืออวนลากเพราะทำลายล้างสัตว์ทะเล ทางสมาคมเรือประมงพาณิชย์ได้ออกมาคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว พร้อมเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าอวนลากนั้นถูกกฎหมายในไทยและยังเป็นที่ยอมรับในสากล
ฮาร์ดสตอรี่ได้ติดต่อทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเพื่อขอสัมภาษณ์ แต่ไม่อาจติดต่อได้
“วันนี้ ปลาเต็มวัยในทะเลน้อยลง ประมงเลยพากันเร่งจับปลาวัยอ่อนเพิ่มขึ้น เหมารวมเอาหมดทุกชนิด ถ้าปล่อยไปแบบนี้ทะเลก็จะเหลือแต่น้ำ จะกระทบกับอาชีพประมงทุกขนาด” ปิยะกล่าว “แต่คนที่ได้ผลกระทบมากที่สุดคือ เรือประมงท้องถิ่นขนาดเล็ก ที่ไม่อาจตามฝูงปลาไปน่านน้ำลึกระหว่างประเทศอื่นเหมือนประมงลำใหญ่ได้”
การออกกฎหมายควบคุมสัตว์น้ำวัยอ่อนย่อมสร้างผลกระทบต่อคนหลายภาคส่วน อำนวย เอื้ออารีมิตร ประธานสมาคมผู้ผลิตปลาป่นแห่งประเทศไทย เผยว่า อุตสาหกรรมปลาป่นกับเรือประมงพาณิชย์จะได้รับผลกระทบถ้ารัฐบาลออกกฎหมายคุมเข้มสัตว์น้ำวัยอ่อน
“ถ้าออกมาตรานี้ขึ้นมาจะกระทบอุตสาหกรรมปลาป่นแน่นอน เพราะทำให้ต้นทุนของเรือประมงสูงขึ้น ซึ่งวันนี้ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลายๆ ด้าน ทั้งแรงงานและค่าน้ำมัน”
เขาอธิบายว่า อุตสาหกรรมปลาป่นไทยกว่า 300,000 ตันต่อปีนั้น นำปลาทะเลที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ไปบดป่นเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงสำหรับเลี้ยงกุ้งหรือไก่ในฟาร์ม ทั้งในไทยและส่งออกต่างประเทศ 65% ทำมาจากชิ้นส่วนปลาตัดเหลือจากอุตสาหกรรมปลากระป๋อง ส่วนอีก 35% เป็นปลาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ (bycatch)
ตัวเลข 35% นี้อาจมีสัตว์น้ำวัยอ่อนบ้าง เพราะปลาที่ได้จากประมงพาณิชย์นั้นมาจากการลากอวนซึ่งเป็นการจับแบบเหมาหมด จึงเลี่ยงติดปลาวัยอ่อนยาก และพอติดมาก็ตายแล้ว ไม่ควรทิ้งลงทะเลเพราะจะทำให้น้ำเสีย อย่างไรก็ตาม ประมงพาณิชย์ไม่ได้จับปลาใกล้ชายฝั่งตามกฎหมาย ซึ่งเป็นที่วางไข่ของสัตว์น้ำ ดังนั้น โอกาสที่จะจับปลาวัยอ่อนจึงมีน้อย
“ไม่มีเรือลำไหนอยากจะจับปลาเป็ดปลาป่นหรอกครับ เพราะว่ากิโลหนึ่งได้ไม่กี่บาท ไม่คุ้มค่าออกเรือ ปลาที่ใช้ทำปลาป่นจึงเป็นปลาที่เลี่ยงไม่ได้” เขาสรุป
กรุงเทพฯ : ทะเลไม่ใช่แค่เรื่องของคนมีเรือ
เช้าวันมหาสมุทรโลก แม่น้ำเจ้าพระยาคึกคักไปด้วยฝูงเรือ ชาวกรุงฯ ที่นั่งเรือเร็วไปทำงานพากันเหลียวหลังมองเรือประมงไม้ทาสีแดงสลับฟ้าลอยลำขัดกับพื้นหลังสะพานแขวนสีทอง วิโชคศักดิ์ สมาชิกสมาคมรักษ์ทะเล และชาวประมง พากันโหนตัวขึ้นเรือ หลังเดินทางรอนแรมมานานสองสัปดาห์ นักเดินทางก็มาถึงจุดหมาย
ธงรณรงค์โบกสะบัดตามความเร็วของเรือที่วิ่งผ่ากลางแม่น้ำสายสำคัญไปสู่รัฐสภาริมน้ำ พวกเขาตบเท้าเข้าห้องประชุมติดแอร์ ชาวประมงหนุ่มคนหนึ่งคุกเข่าลงหน้ากลุ่มคนในชุดสูท เทลูกปลาทูตัวเล็กทอดกรอบที่ได้มาจากตลาดโครมใหญ่ ไม่ต้องการทนเห็นอะไรอย่างนี้อีก
วันนี้ ประเทศไทยมีแนวทางแก้ปัญหาจับสัตว์น้ำวัยอ่อนหลายด้าน ไม่ว่าจะมาตรการควบคุมเครื่องมือประมงอย่างอวนลากให้ทำได้เฉพาะในเขตน้ำลึก หรือนโยบายปิดอ่าวไทยในช่วงสัตว์น้ำวางไข่ แต่วิโชคศักดิ์และเหล่านักเดินทางเชื่อว่า ทั้งหมดนี้ยังไม่พอ วันนี้สัตว์น้ำวัยอ่อนยังเป็นเหมือนกองลูกปลาทูกองนั้น
ธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับหนังสือจากนักเดินทาง เขาชี้แจงว่า กฎหมายตัวนี้จะยังออกทันทีไม่ได้เลย เพราะต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพราะกฎหมายจะมีผลกระทบและจำกัดสิทธิ
สิทธิของใครดูจะเป็นคำถามสำคัญ “มันดูเหมือนว่า ประมงพื้นบ้านกำลังอิจฉาประมงพาณิชย์ที่ทำมาหากินได้มากกว่า” วิโชคศักดิ์อธิบาย “แต่ผมพูดในฐานะคนที่ไม่ใช่ประมงเหมือนกัน ว่านี่ก็เป็นเรื่องของผม ผมควรได้แสดงความเห็น เพราะเป็นคนใช้ทะเลทางตรงและทางอ้อม ผมอยากกินอาหารทะเลที่ถูกและดี”
นักเดินทางยื่นคำขาดชัดเจนให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายดูแลสัตว์น้ำวันอ่อนภายใน 30 วัน กำหนดให้ชัดเจนว่า เรือประมงไม่ควรมีสัตว์น้ำวัยอ่อนบนเรือจำนวนไม่เกินร้อยละเท่าไหร่ในบรรดากองปลาทั้งหมดที่จับขึ้นมาได้ หากเดือนถัดมายังไม่เห็นผล พวกเขาพร้อมจะยื่นฟ้องคดีกับหน่วยงานรัฐ
สมาคมรักษ์ทะเลเก็บข้อมูลพบว่า ภาคกลางและกรุงเทพฯ เป็นตลาดวางขายสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามห้างร้าน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่าตนกำลังกินสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะมันซ่อนรูปมาในชื่อเมนูหลากหลาย ปลากระตัก หมึกกระตอย ปลาทูแก้ว และปลาข้าวสาร
ตลอด 1,079 กิโลเมตร จากใต้สุดของประเทศไทยมายังศูนย์กลางของประเทศ วิโชคศักดิ์กับเพื่อนๆ ชาวประมงพูดซ้ำในสิ่งที่พูดอยู่เสมอมา มองผ่านใบหน้าของนักการเมือง ผู้สื่อข่าว เลยไปยังใบหน้าหลากหลายของคนทำงานในเรือด่วน เขาอยากบอกว่า ทุกคนกำลังลงเรือลำเดียวกัน
“ผมไม่ใช่ชาวประมง ผมไม่มีเรือ แต่ผมเป็นเจ้าของทะเล ไม่ใช่ว่าทะเลนี้เป็นของชาวประมง แล้วชาวประมงจะอ้างว่า ห้ามคนอื่นเข้ามามีส่วนจัดการ”
ณิชา เวชพานิช นักข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามประเด็นสังคมผ่านมุมมองด้านสิทธิและชีวิตผู้คน เธอเคยทำงานกับสำนักข่าวท้องถิ่นภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
พีระพล บุณยเกียรติ เป็นช่างภาพข่าวอิสระที่ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เขาทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้กับ SOPA Images เอเจนซี่ภาพข่าวของประเทศฮ่องกง พีระพล สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลและ สนใจในการเดินขบวนประท้วงต่างๆของประชาชน สามารถติดตามผลงานของพีระพลเพิ่มเติมได้ใน
More Features
- 12 มกราคม 2023
- by HaRDstories
- 10 พฤษภาคม 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 10 มีนาคม 2023
- by พีระพล บุณยเกียรติ
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ