“เพราะการเมืองและเหมืองคือเรื่องเดียวกัน” 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักกิจกรรมสามัญชนบนแผ่นดินเหมือง

เรื่องและภาพ ลูค ดักเกิลบี

ในเดือนเมษายน 2563 ชายหนุ่มวัยกลางคนคนหนึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ตั้งแคมป์ริมฟุตบาทหน้าศาลฎีกา เมืองหลวงของไทย ตำรวจคอยจับตาตอนที่เขาประกาศอดอาหารประท้วง เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกจับจากการเคลื่อนไหวนำโดยเยาวชนเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาล

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เขาคนเดียวกันเคยนั่งอยู่ใจกลางการประท้วงอีกแห่ง ห่างไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตรในพื้นที่ชนบทอีสาน ใช้ชีวิตทั้งคืนวันกับชุมชนที่ตั้งแคมป์ปิดถนนทางเข้าเหมืองหินปล่อยมลพิษ ที่ที่พวกเขาต่อสู้มากว่า 30 ปี

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่งของไทย เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งของพรรคสามัญชน พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายตามอุดมคติ พรรคนี้ตั้งขึ้นในปี 2562 โดยนักเคลื่อนไหวที่มีความคิดคล้ายกันและเป็นคนทำงานภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ชาวบ้านสามารถร้องต่อรัฐสภาได้โดยตรงและขยายเสียงดังมากขึ้นให้คนมีอำนาจได้ยิน

เลิศศักดิ์เคยไปเยี่ยมพรรคกรีน (Green Party) ที่ออสเตรเลีย การเดินทางครั้งนั้นทำให้เขาเห็นว่า เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว และนักเรียน สามารถตั้งพรรคการเมืองเพื่อมุ่งเป้าต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม เขาได้รู้ว่าจะดูแลและผลักดันการเคลื่อนไหว รวมทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งผ่านการที่มีงพรรคการเมืองทำงานเคียงข้างเอ็นจีโอได้อย่างไร

“เอ็นจีโอไทยต้องคิดถึงมากกว่าแค่เรื่องดูแลองค์กร แต่ต้องร่วมมือกันสร้างความเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มากขึ้นด้วย” เลิศศักดิ์ในวัย 52 ปีกล่าว

กลยุทธ์นี้กรุยแนวทางการทำงานของเขาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สำหรับเลิศศักดิ์แล้ว ประสบการณ์การนั่งอยู่หน้าศาลฎีกาครั้งประท้วงอดอาหารหรือการตั้งแคมป์ประท้วงต่อต้านเหมืองที่ต่างจังหวัด ต่างเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียม

รากฐานการเคลื่อนไหว

ในแง่หนึ่ง เลิศศักดิ์เดินตามรอยพ่อของเขา พนักงาน รปภ. โรงงานเหล็กแห่งหนึ่งในจ. สระบุรี ภาคกลางของไทย พ่อของเขาชอบอ่านข่าวการเมืองและยังเป็นตัวแทนของสหภาพด้วย

ในโรงงานเหล็กแห่งนั้น คนงานไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทัดเทียมกับพนักงานในออฟฟิศใหญ่ ซึ่งได้สวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดีกว่ามาก พ่อของเลิศศักดิ์ออกมาพูดเรื่องความอยุติธรรมนี้แล้วก็กลายเป็นประธานสหภาพแรงงาน จนในที่สุดเหล่าแรงงานก็ได้รับชัยชนะ

“ตอนนั้นผมเด็กมาก แต่เขาก็คุยเรื่องนี้กันที่บ้าน ว่าพ่อผมต้องถือปืนเพื่อปกป้องตัวเอง ว่าแม่ผมเป็นห่วงพ่อยังไง” เลิศศักดิ์เล่า

สระบุรีเป็นพื้นที่ที่มีการทำเหมืองชุกชุมและเป็นที่รู้จักกันในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมซีเมนต์แห่งประเทศไทย

“ที่จังหวัดผมอยู่ไม่ไกลจากเหมืองนะ ที่บ้านผมมีฝุ่นตลอดเลย จากรถขนหินผ่านไปผ่านมานี่แหละ ที่ผมจำได้ชัดๆ ตอนเด็กก็ตามนี้”

เลิศศักด์เรียนจบสาขาจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในกรุงเทพฯ และอยากเรียนต่อปริญญาโท แต่เขาก็ได้เริ่มทำงานกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) โครงการที่ส่งคนรุ่นใหม่ไทยไปหลาย จังหวัดเพื่อเรียนรู้ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ท้องถิ่นกำลังเผชิญด้วยตัวเอง

“ผมเริ่มมีความคิดเห็นและความรู้สึกเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเราตอนอยู่มหาลัย ผมเห็นว่ามีความอยุติธรรมอยู่ แล้วก็อยากรู้ว่าเราทำงานในพื้นที่ได้จริงไหม” เลิศศักดิ์กล่าว

เขาเริ่มทำงานกับองค์กรที่ช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่หยุดการสร้างเขื่อนแม่น้ำสงคราม ลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำโขง พื้นที่นั้นก็เหมือนอีกหลายที่ในภาคอีสาน มันตั้งอยู่บนผืนแร่โปแตช หินเกลือชนิดหนึ่งที่ใช้ทำปุ๋ย บริษัทต่างๆ ก็เริ่มสำรวจแร่โปแตชด้วยแล้ว เหตุผลหลักที่ชุมชนออกต่อต้านเขื่อนนั้นเพราะว่าพวกเขากลัวว่าการไหลของน้ำจะเปลี่ยนไปจากธรรมชาติ แล้วกระทบแร่โปแตชจนความเค็มเพิ่มขึ้นสูง

เลิศศักดิ์มีความรู้เกี่ยวกับประเด็นโครงการเหมืองจากการเห็นแคมเปญต่อต้านเหมืองโปแตชที่จ. อุดรธานี ซึ่งไม่เหมือนแคมเปญต่อต้านเขื่อนที่มีการเตรียมการอย่างดี การต้านเหมืองแทบไม่ได้ตระเตรียมอะไร และนักรณรงค์ก็ไม่ได้ทำงานเชื่อมโยงกันในเรื่องทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะทองคำ ถ่านหิน หรือโปแตช เขาเห็นว่าการสร้างเครือข่ายที่สามารถทำงานกันได้นั้นจำเป็นมาก หากแคมเปญเหล่านั้นจะได้รับการสนับสนุนเหมือนการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ 

ตอนปี 2553 เลิศศักดิ์ก่อตั้งโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) และส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนต่อต้านเหมืองทองคำในจ. เลย และจ.พิจิตรสร้างเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

ในการทำงานช่วงแรกของ PPM เลิศศักดิ์และทีมทำงานกับชุมชนต่อต้านเหมืองทอง จ. พิจิตร ทางเหนือของไทยเท่านั้น แต่หลังจาก PPM ได้รับทุนสนับสนุนบางส่วน องค์กรก็เติบโตขึ้นจนตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ 8 คนที่คอยสนับสนุนชุมชนรากหญ้า 10 ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหลายที่ทั่วไทย

“ต้นทุนของ PPM คือการทำงานร่วมมือกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและหญิงนักปกป้องสิทธิ ผู้หญิงเป็นกลุ่มแรกที่เจอว่าเกิดอะไรขึ้นกับน้ำ ดินมันปนเปื้อนยังไง แล้วผลกระทบที่ตามมาต่อสุขภาพของพวกเธอและครอบครัว ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมนั้นกระทบการหาอาหารและน้ำสะอาด ให้ครอบครัวและชุมชนของพวกเธอ” เลิศศักดิ์กล่าว

กรณีเหมืองดงมะไฟ

ในปี 2562 มีคนแนะนำชุมชนในต.ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภูให้เลิศศักดิ์รู้จัก ระหว่างที่เขากำลังรณรงค์ให้พรรคสามัญชน

ปี 2536 บริษัทสกัดเหมืองในพื้นที่ต้องการหาหินปูนในภูผาฮวก แต่ชาวบ้านรวมตัวกันประท้วงหยุดโครงการนี้ ด้วยความกลัวผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากเหมืองและโกรธที่ไม่มีการปรึกษาชุมชนก่อน 

แต่ผลที่ตามมานั้นเลือดเย็น สมาชิกชุมชน 4 คน ถูกยิงจนเสียชีวิต 2 คนในปี 2538 และอีก 2 คนในปี 2542 ถัดมาอีก 20 ปีให้หลัง เมื่อเลิศศักดิ์แวะไปกับทีมงาน ชุมชนที่แตกแยกและเหนื่อยล้าก็ยังคงพยายามปิดเหมืองนั้นอยู่

“พวกเราตัดสินใจแล้วว่าจะพยายามปิดเหมืองให้ได้ ยังไงก็ยังมีโอกาสอยู่” เลิศศักดิ์อธิบาย

ขั้นแรก เลิศศักดิ์และทีมของเขาใช้ชีวิตหนึ่งปีร่วมกับชุมชน สร้างขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ แผนปฏิบัติการใหม่ แล้วก็สร้างความเชื่อใจ

“มีการฟ้องกันหลายคดีแล้วระหว่างชาวบ้านกับบริษัททำเหมือง ศาลรับคำร้องชาวบ้านในชั้นหนึ่งเพื่อที่เปลี่ยนคำตัดสินในอีกชั้น เราต้องมีวิธีการใหม่” เลิศศักดิ์เท้าความ

“จะจัดตั้งชุมชนต้องการความเข้มแข็งที่แท้จริง ตอนที่เราไปถึง มีผู้นำแค่ไม่กี่คนที่ยังสู้อยู่ เราต้องทำให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมอีกครั้ง”

หลังจากใช้เวลาหนึ่งปีสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมชุมชน เลิศศักดิ์เห็นว่าประทานบัตรเหมืองหลายใบกำลังจะหมดอายุ ด้วยความกลัวว่าบริษัทเหล่านั้นจะยื่นต่อประทานบัตร ชุมชนเลยตัดสินใจปิดถนนเข้าเหมือง จากปิดถนนชั่วคราวก็กลายเป็นถาวร ที่วันนี้ยังคงกันไม่ให้บริษัทกลับมาทำเหมือง

ซ้ายก็เหว ขวาก็หลุม

การต่อต้านบริษัทเหมืองในไทยนั้นเสี่ยงมาก สื่อไทยรายงานกรณีดังเกี่ยวกับการฟ้องร้องชุมชน นักเคลื่อนไหวถูกคุกคามและถูกฆาตกรรมเป็นประจำ งานวิจัยของเอ็นจีโอ Protection International พบว่ามีกรณีอย่างน้อย 9 รายที่พิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตระหว่างพยายามปิดเหมืองหิน อย่างในกรณีเหมืองดงมะไฟก็นับเป็น 4 กรณีแล้ว

“เหมืองหินไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่กำไรสูงมาก เลยเป็นสิ่งที่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทั้งนักธุรกิจและนักการเมืองมักจะทำกัน การต่อต้านเหมืองจึงเป็นเรื่องอันตราย” เลิศศักดิ์อธิบาย

เลิศศักดิ์เคยเจอเหตุการณ์เช่นนั้นจังๆ ในช่วงปลายปี 2563 เขาถูกขู่ฆ่าหลังจากโดนเรียกในฐานะผู้นำและผู้ริเริ่มการต่อต้านเหมืองดงมะไฟ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขากลัวถูกสั่งเก็บ

พรพรรณ อนุเวช ชาวบ้านอายุ 52 ปี เป็นการ์ดของแคมป์ต่อต้านนี้มานานปีกว่า เธอและอาสาสมัครซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเลิศศักดิ์ให้ปลอดภัย เมื่อเจอคำขู่ พวกเธอก็ตอบโต้ทันควัน

“ถ้าพวกนั้นใช้ความรุนแรงเราก็พร้อมจะสู้ เราอยากดูแลหัวหน้า (เลิศศักดิ์) ให้ดีที่สุด เพราะเขาอยู่นี่เพื่อช่วยเหลือเรา ตอนนั้นเราจัดการเร็วมาก พาเขาไปที่ที่ปลอดภัย” พรพรรณกล่าว

ปรานม สมวงษ์ จาก Protection International เอ็นจีโอที่ทำงานใกล้ชิดกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน/สตรีนักป้องสิทธิในชุมชน เธอร่วมงานกับ PPM ในหลายกรณีที่เสี่ยงมาก ปรานมบอกว่า “อุตสาหกรรมการสกัดไม่พัฒนาอย่างที่สัญญาไว้ แต่กลับทำให้ที่ดินเสื่อมและความเป็นอยู่ของคนลำบาก บังคับชุมชนให้ย้ายที่อยู่ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และทางเพศ และสิ่งแวดล้อมเสียหายอย่างถาวร”

เธอเสริมว่า “เลิศศักดิ์อุทิศตัวเพื่อการปกป้อง ป้องกันและส่งเสริมสิทธิชุมชน โดยเฉพาะความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเท่าเทียม เขาทำงานหนักมากเพื่อส่งเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน/สตรีให้เติบโตและขึ้นมานำ PPM ได้”

“เลิศศักดิ์อุทิศตัวเพื่อการปกป้อง ป้องกันและส่งเสริมสิทธิชุมชน โดยเฉพาะความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเท่าเทียม”

กลับไปสู่จุดเริ่มต้น

ในเดือนมีนาคม 2565 เลิศศักดิ์อยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในหมู่บ้านบ้านเขาหม้อ จ.พิจิตร เขารู้สึกตัวว่าเคยมาที่นี่แล้ว นั่นเป็นเพราะนี้เป็นที่ที่เขาเคยอยู่หลายปีก่อนตอนมาช่วยชุมชนนี้ครั้งแรก

เหมืองทองคำชาตรีเป็นเหมืองทองแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในไทย ดำเนินการโดยบ.คิงส์เกต บริษัทออสเตรเลียภายใต้ชื่อบ.อัครา รีซอร์สเซส  บริษัทลูกสัญชาติไทยที่มีคิงส์เกตเป็นเจ้าของทั้งหมดตั้งแต่ปี 2544 การทำงานของบริษัทนี้มีข้อกล่าวหามากมาย ร่ายไว้ในหนังสือที่ส่งถึงพรรคฝ่ายค้านกุมภาพันธ์ปีนี้ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่และตัวแทนชุมชนกล่าวว่า เหมืองทำให้ “ชุมชนถูกทอดทิ้ง ครอบครัวแตกแยก” จากการที่ “ทางน้ำมีแต่โลหะหนัก” ชาวบ้านยังยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ทำเขตกันชนระหว่างเหมืองกับหมู่บ้านอีกต่อไปแล้ว

บ้านที่ PPM ใช้พบปะกับชาวบ้านทุกวันนี้เป็นเพียงไม่กี่หลังที่ยังไม่ถูกซื้อไป บ้านหลังนี้ล้อมไปด้วยที่ดินที่เหมืองทองเป็นเจ้าของ

ในปี 2559 ผลการตรวจสุขภาพอย่างเป็นทางการระบุว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองมีระดับไซยาไนด์และสารหนูสูงกว่าค่าปกติ ผลที่ตามมาคือนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้นำรัฐบาล คสช. ขณะนั้น) ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปิดเหมืองทองคำชาตรี ท่ามกลางความกังวลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

แม้การปิดเหมืองจะดูเหมือนเป็นชัยชนะ เลิศศักดิ์และคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ยังคงกังขาว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็เป็นไปตามที่เลิศศักดิ์คาดการณ์ เพราะเมื่อปิดบริษัทใหญ่ต่างชาติโดยใช้คำสั่งพิเศษได้นำไปสู่คดีระหว่างประเทศ และอาจทำร้ายประเทศไทยและชุมชนมากกว่าเดิม

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คิงส์เกตได้ฟ้องรัฐบาลไทย เรียกร้องเงิน 30 ล้านบาทสำหรับค่าชดเชยการถูกปิดเหมือง คดีนี้ใกล้ตัดสินชี้ขาด โดยที่เชื่อกันว่ารัฐบาลไทยได้ให้ประทานบัตรเหมืองอีก 4 แปลงแก่อัครา รีซอร์สเซส ซึ่งทางบริษัทเองได้ระบุในจดหมายข่าวบริษัทว่าได้รับการต้อนรับกลับมาอย่างดี

“จริงๆ นะ ผมว่าตอนนี้มาถึงจุดที่ถ้าไม่ย้ายชุมชนก็ไม่ต้องเปิดเหมืองอีกเลย” เลิศศักดิ์กล่าว

เลิศศักดิ์ตัดสินใจพาชุมชนบ้านเขาหม้อมาที่กรุงเทพฯ ให้ส่งคำร้องต่อพรรคฝ่ายค้าน

“เราอยากให้เห็นว่าการเปิดเหมืองทองคำอีกครั้งนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างกับชุมชน ตอนนี้สังคมพูดกันแต่เรื่องรัฐบาลล้มเหลว ไม่สามารถรับมือบริษัทออสเตรเลียได้ แต่เราต้องเอาเรื่องชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คนไปคุยกันในสภา”

รายงานเพิ่มเติมโดย ณิชา เวชพานิช

เรียบเรียงและแก้ไขโดย ทอม วาเธอร์

แปลจากภาษาอังกฤษ โดย กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม

ลูค ดุกเกิลบี เป็นช่างภาพข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ลูคมักจะบันทึกภาพการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของชุมชนในประเทศไทย

Feature profiles

นลัทพร ไกรฤกษ์ นักสื่อสารที่เปลี่ยนสังคมไทยให้มองคนพิการอย่างเท่าเทียม

error: Content is protected !!