,
จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ นักกฎหมายผู้ผันเส้นทางสู่การต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่ร่วมกับชุมชน

เรื่อง สุลักษณา หลำอุบล

ภาพ ลูค ดุกเกิลบี

แม้เวลาจะผ่านมาหลายปีแล้วที่จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ หรือ หญิง ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในศาลกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองทองในภาคอีสาน แต่เธอยังคงจำคำพูดของผู้พิพากษาในวันนั้นได้แม่น ผู้พิพากษาพูดด้วยเสียงดังชัดถ้อยชัดคำข้ามห้องพิจารณาคดีว่าพวกชาวบ้านที่มาขึ้นศาลนี่ รู้เรื่องอะไรบ้างหรือเปล่า เรียนจบถึง .4 กันหรือเปล่าเถอะ

ในฐานะนักศึกษาด้านกฎหมาย คำพูดของผู้พิพากษาคนนั้นทำให้หญิงตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบความยุติธรรมของไทย และยังทำให้เป้าหมายของเธอที่เคยอยากเป็นผู้พิพากษาเริ่มสั่นคลอน   อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวกลับได้เปิดเส้นทางใหม่อีกด้านที่เธอได้เลือกก้าวเดินมาจนถึงทุกวันนี้ 

“วันนั้นเราออกมาจากศาล ทั้งช็อคแล้วก็ร้องไห้กัน ทำไมผู้พิพากษาต้องพูดจากับชาวบ้านแบบนี้ด้วย” หญิงยังคงสงสัยจนถึงวันนี้ “พอได้ยินแบบนั้นเราก็ไม่อยากเป็นผู้พิพากษาอีกเลย”

หญิงล้มเลิกความฝันที่จะเป็นผู้พิพากษาและเลือกที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน เธอลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนหลายแห่ง ปัจจุบันจุฑามาศในวัย 26 ปีทำงานเคียงข้างชุมชนเพื่อหยุดการทำเหมืองแร่ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำงานจับตาและติดตามกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่ 

จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหว

หญิงเริ่มทำกิจกรรมทางสังคมตั้งแต่สมัยเรียนปีหนึ่งที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอได้เข้าชมรมสิ่งแวดล้อมและมีโอกาสไปลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองและชุมชนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ชมรมสิ่งแวดล้อมที่เธอเข้าร่วมนั้นเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “ดาวดิน” ซึ่งปัจจุบันได้กลายมาเป็นกลุ่มนักกิจกรรมเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยที่หลาย ๆ คนต่างรู้จัก

หญิงทำงานกับชุมชนหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง การสร้างเขื่อน และนิคมอุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคือหมู่บ้านที่จังหวัดเลยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหมืองทองคำ ซึ่งหญิงเล่าว่า “เป็นที่ที่เปิดโลกเรามาก และยังจำติดตามาจนทุกวันนี้”

หมู่บ้านนาหนองบงเป็นหมู่บ้านเล็กอยู่ในหุบเขาและล้อมรอบด้วยผืนป่าในภาคอีสาน อยู่ติดกับพรมแดนลาว หมู่บ้านแห่งนี้เผชิญความขัดแย้งกับบริษัทเหมืองแร่ทองคำโดยในปี พ.ศ. 2549 บริษัททุ่งคำเริ่มสร้างเหมืองทองในพื้นที่ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ทำมาหากิน ใช้ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลังและต้นยาง จนทำให้แหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ปนเปื้อนสารพิษอย่างไซยาไนต์และสารหนูเกินค่ามาตรฐานสูงมาก ส่งผลให้เด็ก ๆ และผู้ใหญ่ในแถบนั้นเริ่มมีอาการปวดหัว มีผื่นคัน เจ็บหน้าอก รวมถึงอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ  

ปัญหาและความขัดแย้งชัดเจนขึ้นเมื่อชาวบ้านจาก 6 หมู่บ้านรวมตัวกันต่อสู้และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาแก้ปัญหา แต่สิ่งที่ชาวบ้านได้รับ กลับเป็นการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ถูกทำร้าย และความแตกแยกกันเองในชุมชน

“เหตุการณ์มันแย่ไปทุกอย่าง ทำไมไม่มีใครช่วยเหลือหรือจ่ายเงินชดเชยชาวบ้านเลย” หญิงกล่าว “แล้วอย่างนี้จะมีกฎหมายไว้ทำไม”

ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านเหมืองแร่ทองคำถูกบริษัทฟ้องร้องคดีแพ่งและอาญารวม 19 คดี และเรียกร้องค่าเสียหายกว่า 320 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ประท้วงคัดค้านเหมืองทั้งหมด 4 คดี ซึ่งรวมถึงกรณีที่ชาวบ้านขวางทางเข้าออกของเหมืองทองคำด้วย

หญิงเคยเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีกับชาวบ้านหลายครั้ง และทุกครั้งทำให้เธอเปลี่ยนความเชื่อที่เธอมีมาตลอดว่าทุกคนอยู่ใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียม หลายครั้งที่ศาลมักจะดูถูกชาวบ้านแทนที่จะให้ความเป็นธรรม “เรารู้สึกหมดศรัทธากับกระบวนการยุติธรรมแล้ว” เธอเล่า

และในกลางดึกคืนหนึ่ง หมู่บ้านนาหนองบงต้องเจอกับเหตุการณ์เลวร้ายที่ไม่มีวันลืม เพียงไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มีกลุ่มชายฉกรรจ์สวมหมวกคลุมหน้าราว150 คนพร้อมอาวุธบุกเข้ามาในหมู่บ้านและทำลายกำแพงกั้นที่ชาวบ้านทำขึ้นเพื่อปิดทางเข้าเหมืองทอง และจับชาวบ้านหลายคนไปมัดไว้แล้วรุมทำร้ายจนชาวบ้าน 7 คนมีอาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล 

“ตอนนั้น เราคิดแล้วว่าอาจจะมีรัฐประหาร” หญิงเล่า “คนพวกนี้เลยกล้าทำอะไรแบบนี้ได้ เพราะพวกเขารู้ว่ายังไงก็เอาผิดพวกเขาไม่ได้”

 หลังจากรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม ทหารหลายร้อยคนก็เข้ามาประจำการที่นาหนองบง เพื่อ “ดูแลความปลอดภัย” และ “รักษาความสงบ” ให้แก่หมู่บ้าน

“เราแยกประเด็นสิ่งแวดล้อมออกจากเรื่องการเมืองไม่ได้หรอก” หญิงพูด “กฎหมายหลายฉบับที่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็ผ่านในช่วงรัฐบาลทหารทั้งนั้น ที่เขาทำรัฐประหารก็เพื่อที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้นายทุนใหญ่ ๆ ให้มาตักตวงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น”

“เรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ เพราะอย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถต่อสู้กับการกดขี่ได้”

ทำงานเพื่อชุมชน

หลังจากเรียนจบ หญิงก็เข้าร่วมองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม โดยทำงานติดตามและตรวจสอบนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรแร่ หญิงยังทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชนให้สามารถต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน

 เธอทำงานกับโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ หรือ PPM ซึ่งก่อตั้งโดยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานด้านนี้มาอย่างยาวนาน องค์กรนี้ทำงานกับชุมชนหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และส่งเสริมให้ชุมชนรวมกลุ่มต่อสู้โดยใช้หลักสันติวิธี รวมถึงใช้วัฒนธรรมและประเพณีในชุมชนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและสื่อสาร

หนึ่งในชุมชนที่โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ทำงานด้วย คือชุมชนดงมะไฟที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งชาวบ้านได้คัดค้านการก่อสร้างเหมืองหินมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และมีแกนนำเสียชีวิตไปแล้ว 4 รายจากการถูกลอบสังหารในช่วงปี พ.ศ. 2538-2542

คืนหนึ่งในเดือนกันยายน 2563 ไม่กี่วันก่อนที่ชาวบ้านจะเข้าไปยึดคืนพื้นที่ในเหมืองหิน มีเหตุการณ์ที่ส่งสัญญาณอันตรายว่าเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ และเจ้าหน้าที่ PPM รวมถึงชาวบ้าน ตกเป็นเป้าหมายของการอาจถูกลอบสังหารเอาชีวิต

แต่หญิงและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ยังคงตัดสินใจปักหลักในที่ชุมนุมร่วมกับชาวบ้าน และช่วยกันผลัดเวรเฝ้าหน้าทางเข้าที่ชุมนุมเผื่อว่ามีอันตรายใด ๆ

“ก็ทั้งกังวลและกลัวนั่นแหละ” หญิงเล่า “แต่เรารู้ว่ามันก็ต้องไปต่อ เราจะทิ้งชาวบ้านไม่ได้”

แม้จะมีสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง แต่หญิงและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของ PPM ก็ยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าทางเข้าเหมือง และเป็นหูเป็นตาให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ทุกคนในที่ชุมนุมรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

“ใจต้องแกร่ง  พร้อมเผชิญกับความล้มเหลว  อุปสรรคและความยากลำบากมากมายที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้  หญิงทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี  มีภาวะการนำที่ดีต่องานลักษณะนี้” 

การทำงานที่แตกต่าง

PPM สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่โครงการได้เข้าไปอยู่ในชุมชนเพื่อ “ร่วมกิน ร่วมอยู่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมศึกษากับพี่น้องอย่างสม่ำเสมอ” ไม่ได้ทำงานแบบ “ออฟฟิศ” เลิศศักดิ์อธิบาย ในขณะที่เอ็นจีโออื่น ๆ อาจเข้ามาทำงานในพื้นที่แล้วไม่นานก็ไป แต่ PPM จะฝังตัวอยู่กับคนในพื้นที่ บางครั้งก็นานเป็นหลายเดือน 

เลิศศักดิ์อธิบายว่าคนทำงานแบบนี้ได้นั้น “ใจต้องแกร่ง  พร้อมเผชิญกับความล้มเหลว  อุปสรรคและความยากลำบากมากมายที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้”  และเสริมว่า“หญิงทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี  มีภาวะการนำที่ดีต่องานลักษณะนี้” 

ทีมงาน PPM มีกันเพียง 7 คน แต่ละคนถูกส่งไปอยู่กับชุมชนที่ทางโครงการฯ ทำงานขับเคลื่อนด้วย ดังนั้น คนที่ทำงานนี้จะต้องเสียสละเวลาและชีวิตส่วนตัวไปกับงานนี้ค่อนข้างมาก 

“หญิงเป็นคนหนึ่งในทีมงานที่มีความอดทนสูง  ตั้งแต่ทำงานร่วมกันมาหลายปี  หญิงและทีมงานคนอื่น ๆ ใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้านมากกว่าที่จะพบเห็นกันนอกหมู่บ้าน”

หญิงได้รับมอบหมายให้ไปอยู่กับชุมชนที่คัดค้านเหมืองลิกไนต์ในอำเภองาว จังหวัดลำปางในช่วงปี 2560-2563 ซึ่งกลุ่ม “คนรักษ์บ้านแหง” ได้นำการต่อสู้และได้ชัยชนะในการคัดค้านการทำเหมืองในชุมชนหลังจากสู้มานานหลายปี

“ตอนแรกครอบครัวเราก็ติดขัดนิดหน่อยที่ทำไมต้องยกห้องนอนของน้องสาวให้หญิง และให้น้องสาวมานอนรวมกับเราแทน” แวววรินทร์ บัวเงิน หรือ โจ้ แกนนำชุมชนที่เป็นเจ้าของบ้านเล่า “แต่หลังจากสู้เรื่องเหมืองมาด้วยกัน ตอนนี้หญิงก็กลายมาเป็นน้องสาวคนที่สามของบ้านแล้ว” แวววารินทร์พูดติดตลก และก็ว่าบางทีแม่ก็ชอบบ่นว่าทำตัวเหมือนกันเข้าไปทุกวัน เพราะนอนที่ไหนก็ทำรกที่นั่น 

หน้าที่และงานของหญิงมีตั้งแต่งานข้อมูลด้านนโยบายเหมืองแร่ โดยงานเขียนและงานวิเคราะห์เชิงกฎหมายและนโยบายไปจนถึงดูแลเพจเฟสบุคขายกระเทียมออร์แกนิคของชุมชน เพื่อหาเงินระดมทุนเข้ากลุ่ม

หญิงได้รับการยอมรับจากความสามารถในการอธิบายนโยบายและข้อกำหนดยาก ๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่ให้กลายเป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่าย และช่วย เอาข้อเรียกร้องของชุมชนไปแปลเป็นภาษาทางการแบบราชการได้ 

“ปกติแล้วสังคมหมู่บ้านแบบนี้จะมีความชายเป็นใหญ่ แต่ถ้าเป็นเรื่องยุทธศาสตร์การต่อสู้หรือการขับเคลื่อนเรื่องการคัดค้านเหมือง ขนาดผู้ชายมีอายุในหมู่บ้านยังต้องฟังหญิง” แวววรินทร์เล่า

งานหนักแต่เติมเต็มจิตใจ

เมื่อพูดถึงการจัดการชีวิตส่วนตัวของหญิง หญิงบอกว่าหลังจากทำงานนี้มาหลายปี หญิงเองก็แทบนึกถึงชีวิตด้านอื่นไม่ออก เพราะต้องจากบ้านเพื่อเดินทางลงพื้นที่เป็นเวลาหลายเดือนเช่นนี้เป็นปกติ

“เรารู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ทำงานนี้ เพราะอย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถต่อสู้กับการกดขี่ได้” หญิงเล่า “รู้สึกดีที่ได้มีส่วนแบ่งเบาความทุกข์ออกไปบ้าง และหาทางแก้ให้กับปัญหาที่ชาวบ้านเจอ”

หญิงเชื่อว่าการทำงานร่วมกับชุมชนโดยอยู่ในพื้นที่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์กับชาวบ้านมากที่สุด 

“มันช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เร็ว และมีประสิทธิภาพ อย่างในเหตุการณ์ของชาวบ้านดงมะไฟ ถ้าเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น เราก็คงไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้ถูกและทันสถานการณ์” หญิงกล่าว

หญิงเพิ่งสอบผ่านเพื่อได้รับใบอนุญาตว่าความเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งทำให้เธอสามารถเป็นทนายความได้ แต่หญิงยังคงอยากทำงานกับชุมชนในพื้นที่ต่อไป

จากคำถามที่ชาวบ้านมีในตอนแรกว่าเธอจะอยู่ในพื้นที่ได้นานแค่ไหน สุดท้ายหญิงก็เอาชนะหัวใจผู้คนจากความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของเธอ

“พอผ่านไปสักพัก คนในชุมขนก็เริ่มเชื่อใจว่าเราจะอยู่และร่วมสู้ไปด้วยกันกับเขา” หญิงพูด “ตอนนี้คนที่นี่ก็เหมือนเป็นครอบครัวของเราแล้ว”

สุลักษณา หลำอุบล เป็นนักเขียนอิสระประจำอยู่ที่กทม./เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้สื่อข่าวให้สำนักข่าวทางเลือก ก่อนย้ายมาทำงานในองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคและในประเทศไทย ในประเด็นเรื่องสิทธิผู้หญิง และสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ลูค ดุกเกิลบี ช่างภาพข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ผู้บันทึกภาพการต่อสู้ของชุมชนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทย เมื่อปี 2561 ลูคได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากการนำเสนอประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

Feature profiles

แสวงหาความยุติธรรม: ยูรีซา สามะ กับการสานสันติภาพผ่านการเจรจาในชายแดนใต้

error: Content is protected !!