- มิถุนายน 3, 2022
ขณะยืนอยู่ภายในบริเวณบ้านที่เธออาศัยอยู่ตั้งแต่ถือกำเนิดเมื่อ 45 ปีก่อน พรีมสินี สินทรธรรมทัช ชี้ให้ดูวัดที่ปู่ย่าตายายเคยพาเธอไปสวดมนต์ไหว้พระเมื่อยังเป็นเด็ก ช่วงเทศกาลสำคัญผู้คนหลายร้อยคนจากทั่วจังหวัดและจังหวัดข้างเคียงจะมารวมตัวกันที่วัดแห่งนี้ กลุ่มผู้หญิงจะช่วยกันทำอาหารและแลกเปลี่ยนเรื่องซุบซิบอย่างออกรสในพื้นที่ครัวขนาดใหญ่ของวัด ผู้ชายจะอยู่ข้างนอกคุยกันเรื่องทำไร่ไถนาหรือไม่ก็เรื่องล่าหมูป่าให้กันฟัง
ข้ามถนนไปเป็นโรงเรียนที่เธอเคยเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ พรีมสินีรักสนามหญ้าขนาดใหญ่ที่โรงเรียนมาก “หญ้ามันนุ่มมาก ตอนล้มก็ไม่เจ็บ”
แต่หมู่บ้านในความทรงจำเก่าก่อนของพรีมสินีไม่อยู่แล้ว แม้วัดแห่งนี้จะยังตั้งอยู่ที่เดิม แต่ว่าไม่มีใครแวะเวียนมาเหมือนในอดีต อาคารโรงเรียนก็ทรุดโทรมพังลงกองกับดิน กลบกลืนด้วยไม้ใหญ่และพืชนานาพันธุ์
พรีมสินียืนอยู่โดดเดี่ยวกลางความรกร้าง เพื่อนบ้านทุกคนย้ายจากไปหมดแล้ว เขาหม้อ ภูเขาที่หมู่บ้านของเธอตั้งชื่อตาม ถูกระเบิดกลายเป็นบ่อเหมืองขนาดใหญ่ ปากบ่อสูงทะมึนกว่า 100 เมตร ตั้งตระหง่านค้ำเหนือบ้านเธอ
เดือนพฤศจิกายน ปี 2544 เหมืองทองคำที่กล่าวอ้างว่าใช้วิทยาการสมัยใหม่แห่งแรกในประเทศไทยได้เริ่มเดินเครื่องถลุงแร่ เจ้าของเหมืองทองคำชาตรีแห่งนี้คือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จากนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
เหมืองทองคำชาตรีมีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยบ่อแร่ขนาดใหญ่จำนวน 2 บ่อ โรงแยกแร่ 2 แห่ง นับแต่เริ่มดำเนินการมา เหมืองแห่งนี้ผลิตทองคำไปแล้วกว่า 1.8 ล้านออนซ์ หรือราว 51,000 ตัน และยังผลิตแร่เงินได้อีกกว่า 10 ล้านออนซ์ หรือราว 283.49 ตัน
ทุกวันนี้ เหมืองเงียบสนิท เพราะถูกสั่งปิดมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 หลังถูกร้องเรียนและฟ้องร้องคดีต่าง ๆ จากชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ ซึ่งระบุว่าเหมืองก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและทำลายสิ่งแวดล้อม
แต่ทว่าความเงียบงันอาจยุติลงในอีกไม่นาน ตั้งแต่ปี 2560 หลังถูกสั่งปิด เหมืองได้ตั้งหน้าฟ้องร้องรัฐบาลไทยข้อหาเพิกถอนใบอนุญาตทำเมืองของบริษัท แม้ว่าคดีความจะยังอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุญาตโตตุลาการระหว่างประเทศ แต่เมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยกลับมีคำสั่งอนุมัติให้เปิดเหมืองทองคำชาตรีได้
หลายทศวรรษแห่งความขัดแย้ง
ปี 2547 หรือ 3 ปี หลังจากเหมืองเริ่มระเบิดหินและแปรสภาพแร่ธาตุต่าง ๆ ที่พบ ชาวบ้านบ้านเขาหม้อและหมู่บ้านใกล้เคียงต่างพากันเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ บริษัทกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน พวกเขาหลายร้อยครอบครัวอพยพออกไปหาที่อยู่ใหม่ หลงเหลือเพียงไม่กี่คน รวมทั้งพรีมสินี ที่ตัดสินใจอยู่ที่นี่ต่อไป
“เสียงระเบิดกับฝุ่นคละคลุ้งไปหมด“ พรีมสินีเล่า “ตอนเขาระเบิดภูเขา ฝุ่นควันตลบอยู่หลายวันเลย“
ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เหมืองเปิดทำการ เกิดคดีฟ้องร้องจำนวนมากจากทั้งสองฝ่ายระหว่างชาวบ้านกับเหมือง กลุ่มชาวบ้านกว่า 300 คน ได้เข้าชื่อร่วมฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class-action) ต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพของชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มได้ฟ้องร้องเหมืองข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน คดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ชาวบ้านบางกลุ่มได้เคยยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องข้อหาอนุมัติสัมปทานเหมืองทั้งที่ไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องจริง ส่วนทางบริษัทฯ ก็ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทคืน โดยยื่นฟ้องชาวบ้าน นักกิจกรรม และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) หน่วยงานที่อนุมัติสัมปทานเหมืองแร่ บอกกับสื่อมวลชนว่าเสียงร้องเรียนของชาวบ้านเริ่มขึ้นไม่กี่ปีหลังเหมืองเริ่มดำเนินการ
เริ่มจากข้อร้องเรียนเรื่องเสียงและฝุ่นจากการทำเหมือง ซึ่งทางอธิบดี กพร. มองว่าเป็นปัญหาที่ ”จัดการได้” แต่ว่าปัญหากลับขยายใหญ่และบานปลายกลายเป็นเรื่องพบสารโลหะหนักในแหล่งน้ำ ตามมาด้วยการตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่อาศัยโดยรอบเหมือง หลังจากมีการร้องเรียนต่อเนื่องว่าสารเคมีและสารโลหะหนักที่รั่วไหลจากเหมืองเป็นสาเหตุทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย
ปี 2557 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจเลือดชาวบ้าน พบว่าเกินครึ่งของผู้ใหญ่ 731 คน และกว่าสองในสามของเด็ก 67 คน ที่ได้รับการตรวจเลือดโดยสถาบันฯ มีปริมาณสารโลหะหนักในเลือดสูงกว่าปกติ สารที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ สารหนูและแมงกานีส บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การตรวจเลือดในครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่มีความถูกต้อง และไม่เป็นกลาง
ปี 2558 มีการตรวจเลือดในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่อีกครั้ง โดยคณะทำงานที่มีตัวแทนของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ตัวแทนของชาวบ้าน และตัวแทนภาครัฐเข้าร่วม จากจำนวนผู้ใหญ่เข้ารับการตรวจจำนวน 1,004 ราย พบมีแมงกานีสปะปนในเลือดสูงกว่าระดับมาตรฐาน 420 ราย มีสารหนูสูงเกินกว่าระดับมาตรฐาน 196 ราย และมีสารไซยาไนด์สูงเกินกว่าระดับมาตรฐาน 59 ราย ส่วนผลการตรวจเลือดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 297 คน พบว่ามีแมงกานีสในเลือดสูงเกินกว่าระดับมาตรฐาน 165 ราย มีสารหนูสูงเกินกว่าระดับมาตรฐาน 53 ราย และมีไซยาไนด์ในเลือดสูงเกินกว่าระดับมาตรฐาน 2ราย ทั้งนี้ แม้บริษัทอัคราฯ จะร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ แต่ทางบริษัทกลับไม่เคยให้การรับรองผลการตรวจเลือดดังกล่าวแต่อย่างใด
“พอรู้ตัวเลขสารโลหะหนักในเลือดของตัวเอง ความตื่นกลัวก็ก่อตัวขึ้นในหมู่ชาวบ้าน” นิรันดร์ระบุ
ไซยาไนด์กับความเป็นพิษ
มานิจ ลำพะสอน อายุ 70 ปี หนึ่งในโจทก์ที่ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม เดิมเขาเป็นคนบ้านเขาหม้อ แต่มานิจตัดสินใจขายที่ดินตนเอง แล้วอพยพมายังแหล่งที่อยู่ใหม่ห่างจากจุดเดิมราว 2.5 กิโลเมตร แต่ทว่าบ้านหลังใหม่ที่ย้ายมาอยู่นั้นตั้งอยู่ห่างจากบ่อเก็บกักสารเคมีและแร่หลงเหลือจากการผลิตแค่ 800 เมตร
“เขาบอกย้ายมาตรงนี้แล้วปลอดภัย แต่ไม่จริง ” มานิจบอก “ผมต้องอยู่ร่วมกับสระเก็บไซยาไนด์มาหลายปี”
ปี 2554 มานิจเข้ารับการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลรัฐในตัวเมือง ผลพบไซยาไนด์ในปริมาณที่สูงถึง1.04 ไมโครกรัมต่อลิตร (μg/L) มากกว่าปริมาณมาตรฐานตามข้อมูลอ้างอิงของห้องปฏิบัติการที่ระบุว่าไม่ควรเกิน 1 ไมโครกรัมต่อลิตร เนื่องจากหากมากกว่านั้นจะถือว่า “เป็นพิษ”ต่อร่างกาย หลังจากนั้นมานิจได้เข้ารับการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วง 5 เดือนต่อมาที่ห้องปฏิบัติการเดิม ผลการตรวจครั้งนี้พบปริมาณไซยาไนด์ในเลือดสูงกว่าเดิมถึง 1.56 ไมโครกรัมต่อลิตร
การทำเหมืองทองคำมีการนำสารไซยาไนด์ถูกนำมาใช้ในการแยกแร่ทองคำออกจากแร่ทั่วไปมานานแล้ว แต่สารไซยาไนด์เข้มข้นนั้นจัดเป็นสารพิษ จึงมีการสั่งห้ามใช้ไซยาไนด์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำและแร่เงินในหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐเชค เยอรมัน ฮังการี คอสตาริกา และรัฐบางแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทอัคราฯ ได้ออกมายืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัยและการควบคุมสิ่งแวดล้อมของเหมืองทองคำชาตรีว่าอยู่ในระดับสากล โดยระบุว่าเหมืองของตนถือเป็น “หนึ่งในเหมืองทองที่ปลอดภัยที่สุดและมีระบบการจัดการที่ดีสุดแห่งหนึ่งของโลก” รวมถึงมี”ประวัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยไร้ที่ติ”
“เราใช้สารละลายไซยาไนด์ระดับความเข้มข้น 130 ppm [หน่วยต่อหนึ่งล้าน] ในการผลิตทองคำ จากนั้นลดความเป็นพิษของมันจนเจือจางเหลือแค่ 20 ppm ซึ่งถือว่าเคร่งครัดตามมาตรฐานระดับโลกในการควบคุมสภาพน้ำ” เชิดศักดิ์ อรรถอรุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าว
“แต่ความเข้มข้นของสารเคมีที่ออกจากโรงงานเราจริงๆ ไม่เคยเกิน 10 ppm เมื่อเก็บกักในบ่อก็เจือจางลงอีกจนถึง 0.2-0.25 ppm พูดไปแล้วไซยาไนด์ขนาดนี้เข้มข้นน้อยกว่าที่อยู่ในถ้วยกาแฟเราด้วยซ้ำ”
“ไม่อยากแม้แต่จะหายใจ”
ปี 2558 ตอนที่ พิสมัย เรียงผา ตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน ผลตรวจเลือดโดยโรงพยาบาลของรัฐพบปริมาณสารโลหะหนักในเลือดของเธอสูง แมงกานีสวัดได้ 1.39 ไมโครกรัมต่อลิตร ขณะที่ระดับปกติอยู่ในช่วง 0.2-1.1 ไมโครกรัมต่อลิตร
“วิงเวียนกับรู้สึกอ่อนเพลียตลอด ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะแพ้ท้อง แต่กลับเป็นอยู่อย่างนั้นหลายปี” พิสมัยบอก
ลูกชายของเธอเกิดมาพร้อมปริมาณแมงกานีสในกระแสเลือดสูงเช่นเดียวกัน หนูน้อยต้องเข้า ๆ ออก ๆ หลายครั้งโรงพยาบาลในช่วงขวบปีแรก ตอนนี้เขาอายุ 6 ขวบ และมีสุขภาพดี พิสมัยเชื่อว่าสุขภาพลูกดีขึ้นเพราะเหมืองปิดตัวตอนเขาอายุได้หนึ่งขวบพอดี
ประนอม ฉิมพาลี อาศัยอยู่ห่างจากบ่อเหมืองเพียง 500 เมตร ที่หมู่บ้านหนองแสง จังหวัดเพชรบูรณ์ เธอบอกว่า ครอบครัวเธอก็เดือดร้อน เพื่อนบ้านพากันอพยพไปนานแล้วเช่นกัน บ้านของประนอมตั้งโดดเดี่ยวท่ามกลางซากปรักหักพังของหย่อมบ้านที่บัดนี้ไม่มีใครอยู่
สองปีก่อน แม่ของเธอเสียชีวิตหลังทุกข์ทรมานจากโรคที่เกิดกับผิวหนังโดยไม่ทราบสาเหตุ “ตัวแม่มีแผลพุพองและรอยไหม้เต็มไปหมด” ประนอมบอก “แม่ร้องเจ็บแผลทั้งวัน ก็เลยเอาแม่ซ้อนขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ไปโรงพยาบาล ไกล 16 กิโลเมตร เราไม่มีเงินจะไปจ้างรถพาไปโรงพยาบาล แล้วแม่ก็พยุงตัวเองไม่ได้ ก็เลยต้องเอาผ้ามัดแนบไว้กับตัว แล้วพากันขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปหาหมอ”
บริษัทอัคราฯ ปฏิเสธว่าไม่มีสารโลหะหนักรั่วไหล พร้อมกับยืนยันว่าทางบริษัทได้มีการประสานงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังที่สุดเพื่อให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบเหมืองมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี “ผลการตรวจเลือดหลายครั้งไม่พบว่าจะมีใครเป็นอันตรายสักคน” เชิดศักดิ์กล่าว
แต่ประนอมกล่าวทั้งน้ำตา “ทนไม่ไหวแล้ว ไม่อยากแม้แต่จะหายใจ ไม่เคยมีใครมาช่วยเราเลย “
ปัจจุบัน ประนอมอาศัยอยู่กับลุงอายุ 84 ปี ซึ่งตรวจพบสารหนูและแมงกานีสเกินมาตรฐานในเลือดเช่นกัน ลุงของประนอมต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดร้าวตามร่างกายเรื่อยมา “บางทีปวดมาก จนแกพยายามเดินไปที่ถนน หวังให้รถชนตายเพื่อให้พ้นทุกข์“
อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ไม่ปฏิเสธว่าการปนเปื้อนสารโลหะหนักเป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่รอบเหมือง แต่ก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าต้นตอมาจากเหมือง เพราะพื้นที่โดยรอบมีแร่ธาตุมีค่า เช่น แร่ทองและแร่เงินสะสมอยู่มาก ก็จะพบสารโลหะหนักและแร่ธาตุอื่น ๆ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในดินและในน้ำใต้ดินได้เช่นกัน สิ่งที่ควรทำคือ การมีแผนการที่ชัดเจนว่าจะบรรเทาปัญหาให้ชาวบ้านอย่างไร แต่จนถึงปัจจุบันกลับยังไม่มีแผนการชัดเจนที่ว่าแต่อย่างใด
ปิดโดยคำสั่ง คสช.
ปี 2558 หลังจากมีการร้องเรียนและมีการฟ้องร้องทางกฎหมายกันไปมานานหลายปี ชาวบ้านจำนวนหนึ่งตัดสินใจเข้าร้องเรียนต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้น
เดือนธันวาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งการให้เหมืองทองหยุดการดำเนินการทั้งหมด มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2560
บริษัท คิงสเกต คอนโดลิเดต บริษัทแม่ของอัคราฯ อาศัยข้อกำหนดในความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement หรือ TAFTA) ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ว่าบริษัทได้ยื่นฟ้องประเทศไทยต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ระบุว่าการสั่งให้หยุดดำเนินการทำให้เหมือง “ถูกเวนคืนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” และจะเรียก “ค่าเสียหายจำนวนมาก” พร้อมยืนยันจะ “ดำเนินคดีจนถึงที่สุด”
จวบจนถึงปัจจุบันคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ปริมาณค่าเสียหายที่บริษัทคิงส์เกตฯ เรียกร้องยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ หากอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยออกมา จะมีผลทางกฎหมายให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติ ขณะที่บริษัทคิงส์เกตฯ มีสิทธิ์ถอนคดี ถ้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับไทยเป็นผลสำเร็จได้
เดือนมกราคม 2565 ประเทศไทยอนุญาตให้เหมืองกลับมาดำเนินการต่อได้ ทั้งขยายอายุสัมปทานเดิมให้ไปจนถึงปี 2574 นอกจากนั้นยังอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษเพื่อการสำรวจแร่เพิ่มครอบคลุมพื้นที่ 4 แสนไร่
พลเอกประยุทธ์ปฏิเสธข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้านว่าการอนุมัติใหม่นี้แลกกับการให้คิงส์เกตฯถอนฟ้อง
แรงกดดันที่ต้องแบกรับ
ข่าวเรื่องเหมืองจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง สร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองมาตั้งแต่แรก
มีนาคม 2565 เพียงสองเดือนหลังการประกาศให้เหมืองกลับมาดำเนินการใหม่ พรีมสินีร่วมกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง บุกไปถึงรัฐสภาเพื่อขอพบกับนักการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อร้องขอความช่วยเหลือ
จิราพร สินธุไพร ส.ส.ฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย เสียงสำคัญในสภาฯ ของการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคดีเหมืองทองคำชาตรี บอกว่า จะนำเรื่องเหมืองมาเป็นประเด็นหลักในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนพฤษภาคม การอภิปรายจะมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ประกาศจะเดินหน้าต่อสู้ทุกหนทาง เพื่อไม่ให้เหมืองได้กลับมาดำเนินการอีก
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าพรรคสามัญชน พรรคการเมืองที่ก่อกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนที่คัดค้านเหมืองทองคำ กล่าวว่า ประชาชนจะใช้ช่องทางทางกฎหมายดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่อนุมัติให้เหมืองชาตรีกลับมาดำเนินการ ทั้งที่คดียังคงค้างคาอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ เจ้าหน้าที่ที่ว่านี้ เลิศศักดิ์บอกว่าจะมี “อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น”
และถึงแม้บริษัทคิงส์เกตฯ กล่าวยอมรับว่าจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการปลุกฟื้นเหมืองขึ้นมาใหม่ และได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนการระดมทุนของบริษัทฯ เลิศศักดิ์กลับมีแผนแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
“เราจะไปประท้วงหน้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอัคราฯ พยายามอย่างหนักที่จะจดทะเบียนตัวเองเป็นบริษัทมหาชน แล้วก็พยายามจะระดมเงินทุนให้สำเร็จ เราจะต้องบอกให้สังคมและนักลงทุนรู้ถึงอันตรายของการทำเหมือง พร้อมกับเรียกร้องให้หยุดสนับสนุนธุรกิจที่สร้างพิษภัยต่อชีวิตคน“
มานิจยังใช้ชีวิตอยู่ใกล้บ่อเก็บกักกากแร่ในระยะครึ่งกิโลเมตร เขาบอกว่า ตอนรู้ว่าเหมืองจะกลับมาอีก เขากลัวมาก “เพราะผมจะต้องนอนติดกับบ่อไซยาไนด์ สูดดมมันเข้าไปทุกวันเหมือนแต่ก่อน”
ความสูงของเขื่อนกั้นบ่อเก็บกากแร่ก็ทำให้เขากังวลเช่นกัน มีข่าวว่าเขื่อนกั้นแบบนี้เคยพังมาแล้ว รายงานข่าวระบุว่ามันสร้างผลเสียหายอย่างหนักต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม
เตรียมเปิดใหม่ แต่ไม่เร็วอย่างที่หวัง
คิงส์เกตฯ บอกว่ามีแผนจะเปิดบ่อเหมืองเพิ่มอีกในพื้นที่ และอาจใช้เวลาดำเนินการต่อเนื่องถึงสามทศวรรษ
ส่วนตัวแทนของบริษัท อย่างเชิดศักดิ์ บอกว่า กว่าจะกลับมาดำเนินการได้น่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน “อย่างเร็วที่สุดคงเป็นช่วงก่อนสิ้นปี” เขากล่าว “สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเดินได้ยากและช้ากว่าปกติ การสั่งซื้อเครื่องจักรหรืออะไหล่ใช้เวลานานกว่าเดิม ทุกอย่างคงไม่เร็วอย่างที่เราหวัง เราหยุดไปนานถึง 5 ปี คงต้องใช้เวลาปัดฝุ่นพักใหญ่ ”
และแม้จะปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เชิดศักดิ์ยอมรับว่า การทำงานจากนี้ เพื่อให้ชุมชนเข้าใจและยอมรับเหมือง จะยังคงไม่ใช่เรื่องง่าย
นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ บอกว่า ข้อขัดแย้งกับเหมืองได้ก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวลึกในชุมชน
ระหว่างที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งร่วมคัดค้านและฟ้องร้องคดี ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทุกข์ใจกับการกลับมาใหม่ของเหมือง ในช่วงที่รุ่งเรืองเต็มที่ เหมืองทองคำชาตรีเคยมีคนทำงานอยู่มากกว่า 800 คน
วิสูตร แคฝอย อายุ 54 บอกว่ารอวันจะได้กลับไปทำงานเป็นพนักงานขับรถในเหมืองอีก หลังจากขับมา 13 ปี ตอนนี้เขากังวลว่า หลังจากหยุดไป 5 ปี เจ้านายจะเห็นว่าเขาอายุมากเกินกว่าที่จะรับเข้าทำงานอีกหรือไม่ เขากังวลเรื่องนี้มากกว่า ส่วนเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ เขาไม่มีความกังวลใด ๆ
วิสูตรไม่เชื่อที่มีคนกล่าวหาว่าเหมืองเป็นพวกละโมบโลภมาก เขามองว่าพวกที่คัดค้านมายาวนานนั่นต่างหากที่เป็นพวกเรียกร้องอยากได้เงินทอง “พวกที่บอกว่าสุขภาพมีปัญหาอยู่ห่างไปหลายกิโล ส่วนผมนี่นั่งอยู่กับกองแร่ทุกวัน“ เขาบอก “ถ้ามันจะมีใครสักคนที่ป่วย คน ๆ นั้นต้องเป็นผม ” วิสูตรบอกว่าเขาสนับสนุนให้เหมืองเปิดเดินเครื่องอีก เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อคนทำงานในพื้นที่และครอบครัว
กฎหมายใหม่ควบคุมเหมือง
ขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเหมืองทองคำชาตรีดำเนินต่อไป รัฐบาลไทยก็ได้ออกนโยบายทองคำมาบังคับใช้กับกิจการเหมืองแร่ทองคำใหม่ นโยบายและกฎหมายใหม่นี้กำหนดให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแบบแสดงตัวชี้วัดทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำเหมือง และให้มีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทนการศึกษาผลกระทบก่อนการทำเหมืองเพียงครั้งเดียวเช่นที่ผ่านมา กฎหมายใหม่ยังกำหนดให้ชุมชนมีกลไกในการป้องกันตัวเอง นอกจากนั้นนโยบายทองคำยังกำหนดให้ทองที่ขุดได้ต้องผ่านกระบวนการทำให้เป็นทองบริสุทธิ์ในประเทศ แทนการส่งออกเป็นทองคำดิบเช่นที่ผ่านมา
นอกจากนั้น พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ ยังกำหนดให้ชุมชนมีอำนาจในการให้การรับรองคำร้องขอสัมปทานใด ๆ ทั้งให้มีกรรมการท้องถิ่นที่มีตัวแทนของชุมชน ตัวแทนหน่วยงานรัฐ และตัวแทนของผู้ประกอบการ ร่วมกันในการพิจารณา หากมีความจำเป็นต้องระงับสัมปทาน
กฎหมายใหม่นี้ยังให้ภาษีและค่าภาคหลวงที่ได้จากกิจการเหมืองเป็นรายได้ของท้องถิ่น แทนการจ่ายต่อรัฐบาลกลางเช่นที่ผ่านมา พรบ.แร่ใหม่นี้ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนและผลเสียหายที่เกิดขึ้น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่นี้ยังกำหนดโทษหนักขึ้นทั้งโทษปรับและโทษจำคุก
นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หน่วยงานซึ่งกำลังถูกตั้งคำถามหนักในการอนุมัติให้เหมืองทองคำชาตรีกลับมาดำเนินการอีก กล่าวว่าตนเองมองในแง่ดีว่า กฎหมายใหม่นี้จะรับประกันให้นักลงทุนได้ลงทุนได้อย่างมั่นใจ ขณะเดียวกันจะช่วยบรรเทาความกังวลของชุมชนต่อความปลอดภัย ผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา
การกลับมาครั้งนี้ เหมืองทองคำชาตรีจะกลับมาในฐานะเหมืองทองคำหนึ่งเดียวในประเทศไทย
เหมืองอีกแห่ง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก ตั้งอยู่ห่างออกไปราว 5 ชั่วโมงทางรถยนต์ และถูก คสช. สั่งปิดเหมือนกันเมื่อปี2559 ไม่อาจกลับมาเปิดดำเนินการได้อีก การคัดค้านยาวนานของประชาชนรวมทั้งการปิดถนนหน้าเหมืองต่อเนื่องหลายเดือน สร้างความเสียหายแก่ธุรกิจเหมืองจนนำไปสู่การล้มละลายของบริษัทผู้ดำเนินการ เลิศศักดิ์เคยเป็นผู้นำการคัดค้านยาวนานนั้น เขาคิดอยู่ว่าจะนำวิธีการแบบนั้นมาใช้กับการคัดค้านเหมืองทองคำชาตรีหรือไม่
“ก็หวังว่าเราจะไม่ถูกกดดันจนวันนั้นมาถึง”
Mongabay เป็นผู้จัดทำและเผยแพร่บทความครั้งแรก โดยอนุญาตให้ HaRDstories นำบทความมาเผยแพร่อีกครั้ง
กรรณิกา เพชรแก้ว ตระเวนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำข่าวการเมือง สงคราม ความขัดแย้ง และการละเมิดสิทธิ ที่เจ้าตัวพบว่าเกิดขึ้นกับทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม พบงานของเธอได้ที่ Inter Press Service, The Straits Times, Mongabay, Earth Journalism Network and Mekong Eye งานส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีความสุขทุกครั้งที่งานได้รับการแปลเป็นภาษาบ้านเกิดเมืองนอน เช่นชิ้นนี้
More Features
- 12 มกราคม 2023
- by HaRDstories
- 8 กุมภาพันธ์ 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 10 พฤษภาคม 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ