- ตุลาคม 14, 2021
สอน คำแจ่ม เดินรอบ ๆ หลุมศพของสามี สองมือของเธอค่อย ๆ ปัดกวาดพื้นดิน และเศษใบไม้ร่วงออก แม้ว่าจะขัดกับธรรมเนียมศาสนาพุทธ แต่สอนและชุมชนตัดสินใจที่จะไม่เผาศพนายทองม้วน คำแจ่ม ผู้เป็นสามี จนกว่าจะได้รับความเป็นธรรมในกรณีที่เขาถูกสังหาร
ในเช้าที่ร้อนอบอ้าวอีก 21 ปีต่อมา สอนและคนในชุมชนหลายร้อยคนรวมตัวกัน นั่งในขบวนรถบรรทุกมุ่งหน้าไปศาลากลางหนองบัวลำภู เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
สอนนั่งในรถบรรทุกคันแรกที่นำขบวน นึกย้อนถึงการเดินทางแบบเดียวกันนี้ในอดีต แต่ในครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากสามีของเธอถูกสังหาร
4 ชีวิตที่ปลิดปลิว
ในช่วงต้น พ.ศ. 2533 เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อยู่รอบเขาหินปูนในอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู กับบริษัททำเหมืองเอกชนที่ต้องการทำเหมืองหินปูนในบริเวณนั้น ชุมชนในพื้นที่พยายามที่จะหยุดการมาของเหมือง เนื่องจากกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และไม่พอใจที่โครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ชุมชนจึงจัดกิจกรรมประท้วงเพื่อส่งเสียงความกังวลของพวกเขา
หลังจากนั้นไม่นาน ชุมชนกลับต้องเผชิญกับกระสุนปืนอย่างไม่หยุดหย่อน จนทำให้สูญเสียสมาชิกชุมชนถึง 4 ชีวิต 2 ชีวิตถูกสังหารเมื่อปี 2536 และอีก 2 คน เมื่อปี 2542 นายทองม้วน สามีของสอน ซึ่งเป็นกำนันตำบลดงมะไฟในขณะนั้น ถูกลอบสังหารระหว่างขี่มอเตอร์ไซค์บนถนนเปลี่ยวที่ไร้ผู้คน
บริษัททำเหมืองได้เคยติดต่อทองม้วนเพื่อขอความเห็นชอบโครงการทำเหมือง “แต่ทองม้วนปฏิเสธ และบอกพวกเขากลับไปว่า เขายืนอยู่ข้างชุมชน” สอนเล่า และไม่กี่วันหลังจากนั้น สามีของเธอก็ถูกปลิดชีวิต
หลังจากการสืบสวนคดีสังหารทองม้วนไร้ความคืบหน้า สอนและคนในชุมชนตัดสินใจไม่เผาร่างของเขา และนำร่างไร้ชีวิตของทองม้วนที่อยู่ในโลง มาแห่ประท้วงที่หน้าศาลากลางหนองบัวลำภู แล้วตั้งโลงศพไว้ 3 วัน โดยมีชาวบ้านนอนบนพื้นหน้าศาลากลาง เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่และตำรวจสืบสวนเร่งหาผู้กระทำผิดมารับโทษ
“แต่ใน 3 วันนั้น กลับไม่มีใครสนใจเลย พวกเราเลยกลับบ้าน” สอนพูดด้วยน้ำเสียงเศร้า
20 ปีหลังจากนั้น สอนยังต้องเดินทางมาประท้วงอีกเหมือนเคย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกและหยุดการทำเหมือง แต่ในครั้งนี้ ชาวบ้านได้เตรียมแผนการรับมือไว้ หากข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ถูกรับฟัง
การต่อสู้ทางกฎหมาย
ไม่กี่ปีหลังจากทองม้วนเสียชีวิต ชุมชนก็มีความหวังเล็ก ๆ เมื่อศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมาเพิกถอนใบอนุญาตทำเหมืองในบางพื้นที่ของบริษัท เนื่องจากบริษัทไม่สามารถทำตามข้อกำหนด
เมื่อปี 2553 หรืออีก 6 ปีต่อมา ศาลปกครองสูงสุดในกรุงเทพมหานครได้พลิกคำตัดสินนี้ ใบอนุญาตของบริษัท ใบอนุญาตใช้ประโยชน์ป่าไม้ และใบอนุญาตทำเหมือง ได้รับการต่ออายุไปจนถึงเดือนกันยายนปี 2563
ในช่วงที่ใบอนุญาตทำเหมืองใกล้หมดอายุเมื่อปี 2563 ชุมชนก็ได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานราชการในท้องที่อีกครั้ง ให้ยกเลิกและยุติโครงการดังกล่าวอย่างถาวร
“พวกเราต่อสู้กับเรื่องนี้มานานกว่า 26 ปี ตั้งแต่อายุ 40 ปี อยากให้มันจบที่รุ่นเรา” ลำดวน วงศ์คำจันทร์ แกนนำหลักในอายุ 66 ปี กล่าว “ไม่อยากเห็นลูกหลานและคนรุ่นใหม่ ๆ ต้องมาเจอกับความทุกข์นี้”
“พวกเราต่อสู้กับเรื่องนี้มานานกว่า 26 ปี ตั้งแต่อายุ 40 ปี อยากให้มันจบที่รุ่นเรา”
แผนที่วางไว้
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ชาวบ้านหลายร้อยคนที่คัดค้านเหมืองหินปูนเดินทางมาจนแน่นศาลากลางจังหวัด พวกเขาเรียกร้องให้ปิดเหมือง จนท้ายสุด ตัวแทนชุมชนบางส่วนได้เข้าไปในห้องประชุมใหญ่
ตัวแทนชาวบ้านราว 50 คน นั่งตรงข้ามตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
ในระหว่างการพูดคุยเจรจากับนายเวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ชุมชนได้นำเสนอข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา และอ้างอิงถึงมาตรากฎหมายที่เกี่ยวกับเหมืองแร่ พวกเขาสามารถนำเสนอข้อโต้แย้งที่หนักแน่น พร้อมเรียกร้องให้ปิดเหมืองหินปูนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย
หลังจากอภิปรายถกเถียงกันนานหลายชั่วโมง แกนนำชุมชนได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลยังคงไม่สนใจข้อเรียกร้องของพวกเขาเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน
“เราได้นำเสนอหลักฐานของการทำผิดกฎหมายของเหมืองแร่ และแจ้งให้คุณทราบถึงสิ่งที่กฎหมายกำหนด คุณมีอำนาจที่จะสั่งยุติเหมืองหินปูน แต่กลับปฏิเสธที่จะทำแบบนั้น” จุฑามาศ ศรีหัตถผดุงกิจ จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าว
การประชุมสิ้นสุดลงทันทีเมื่อสมาชิกชุมชนลุกขึ้นและตะโกนว่า “ถ้าคุณไม่ปิดเหมืองหินปูน พวกเราก็จะทำเอง” แล้วเดินออกไปจากห้องประชุม
นักกิจกรรมต่อต้านเหมืองขึ้นรถกลับ แต่ในครั้งนี้ พวกเขามาขวางถนนหลักที่มุ่งหน้าสู่เหมืองหินปูน นี่คือแผนที่เขาร่วมคิดตั้งแต่ปี 2562
“เราจะไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ถ้าพวกเราประท้วงขวางถนนโดยไม่มีการประชุมพูดคุยก่อน กิจกรรมครั้งนี้ต้องการชี้ให้เห็นชัดว่า กลไกของรัฐไม่สามารถยกเลิกเหมืองหินปูนนี่ได้” เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ที่ร่วมจัดการชุมนุมในครั้งนี้ กล่าว
พื้นที่อนุรักษ์
ชาวบ้านที่ร่วมขวางทางเข้าเหมืองมาจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ พวกเขาประเมินว่า ทุกวัน ผู้คนราว 4,000 คนจาก 6 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบจากการระเบิดเหมือง ไม่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือน เศษหินร่วงหล่น และรอยร้าวที่เกิดขึ้นต่อตัวบ้าน
เหมืองแห่งนี้กินพื้นที่ป่าชุมชนไป 175 ไร่ และทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปเก็บเห็ด ไผ่ และสมุนไพร เหมือนที่เคยทำมาหลายชั่วอายุคน
นอกจากนี้ พื้นที่บนเขาหินปูนบางจุดยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้าน ถ้ำใกล้ ๆ กันนั้นมีพระพุทธรูปหลายพันองค์ และพระพุทธรูปบางส่วนก็ตั้งอยู่บนยอดเขา
ไม่ไกลจากเหมืองหิน ชาวบ้านเจอภาพเขียนผนังมากมายในถ้ำ กรมศิลปากรตรวจสอบพบว่า ภาพเขียนผนังนั้นเขียนขึ้นนานกว่า 3,000 ปี พร้อมยกให้เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณคดี
ชุมชนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเหมืองหินปูนจึงดำเนินการในพื้นที่นี้ได้ในเมื่อกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ระบุว่า พื้นที่ป่าไม้ที่มีลุ่มน้ำหรือแหล่งโบราณคดีจะต้องไม่มีกิจกรรมการทำเหมือง
คนในชุมชนหวังว่า สักวันหนึ่ง พื้นที่ที่เป็นทั้งแหล่งโบราณคดีและสถานที่สำคัญทางศาสนาแห่งนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้ แต่การที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้นั้น เหมืองหินปูนนี้จะต้องปิดตัวลงเสียก่อน
ทวงคืน
ชุมชนได้เลือกพื้นที่ปักหลักและปิดถนนตรงทางแยกที่รถบรรทุกของบริษัทใช้เข้าออกเพียงทางเดียว ถนนเส้นนั้นอยู่ใกล้กับถนนเส้นหลักที่มีผู้คนใช้เดินทางสัญจร
แรกเริ่มชุมชนใช้ยางรถยนต์และผ้าใบกันน้ำทำเป็นแคมป์ชั่วคราว ต่อมาก็เริ่มกลายเป็นการปักหลักกึ่งถาวรโดยใช้โครงสร้างไม้และแท่งปูนมาเป็นกำบัง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2563 เป็นต้นมา ชาวบ้านก็ชุมนุมในพื้นที่นั้นตลอดเวลา จนกว่าจะแน่ใจว่า บริษัทเหมืองหินปูนจะไม่กลับมาอีก
ในวันที่ใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติหมดอายุลงเมื่อเดือนกันยายน 2563 ชุมชนร่วมกันเดินประท้วงปิดทางเข้าเหมืองหินเป็นครั้งแรก ท่ามกลางอากาศร้อนจัดนั้น ชาวบ้านได้ทำพิธีขอขมาเจ้าที่ก่อนกางป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า “ให้เหมืองจบที่รุ่นเรา!”
ชุมชนยืนยันที่จะอยู่ต่อ แม้ว่าชาวบ้านหลายคนถูกข่มขู่ รวมทั้งนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ได้รับข้อความขู่ฆ่า แต่พวกเขาต้องการที่จะปักหลักสู้จนกว่าจะแน่ใจว่า รัฐจะไม่ต่อใบอนุญาตให้ทำเหมือง
เป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ชุมชนใช้ต่อสู้เพื่อหยุดเหมืองหินปูนนี้และปิดจบหน้าประวัติศาสตร์ที่แสนเศร้า การต่อสู้นี้มีความสำคัญต่อสอน คำแจ่มมาก เพราะนั่นหมายถึงว่า ทองม้วน สามีของเธอที่เสียชีวิตไป จะได้ไปสู่สุคติ เพราะร่างของเขายังคงอยู่ในสุสานใกล้ป่าของชุมชนมานานกว่า 20 ปีแล้ว
“ถ้าเราหยุดเหมืองปูนไม่ได้ เราก็จะยังไม่เผาศพเขา” สอนกล่าว
สอนและชาวบ้านในชุมชนยังคงต้องการให้ตำรวจรื้อฟื้นคดีฆาตกรรมสามีของเธอและนักปกป้องสิทธิที่เสียชีวิตอีก 3 คน การสืบสวนเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นยังสืบสาวไปยังคนทำผิดไม่ได้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา พวกเขาจึงรวมตัวกันยื่นจดหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนคดีนี้อีกครั้ง
ในขณะที่บริษัทเหมืองหินปูนพยายามที่จะต่อใบอนุญาตกลับมาทำเหมือง แต่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังช่วยกันฟื้นฟูผืนป่าที่ครั้งหนึ่งกลายเป็นเหมือง ด้วยการปลูกต้นไม้หลายหมื่นต้น
“พื้นที่เหมืองเคยเป็นป่าที่สมบูรณ์ มีสมุนไพร และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน” อนุตา เรียงโหน่ง แกนนำสตรีของกลุ่มในวัย 58 ปี กล่าว “เราอยากเห็นป่าที่สมบูรณ์อีก เราไม่อยากให้มีบริษัทเหมืองที่นี่อีกแล้ว เราจะเฝ้าดูอยู่ที่นี่ (หน้าพื้นที่เหมือง) พร้อม ๆ ไปกับเฝ้าดูต้นไม้ของเราเติบโต”
รายงานเพิ่มเติมโดย ปริตตา หวังเกียรติ และบรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน
ลูค ดุกเกิลบี ช่างภาพข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ผู้บันทึกภาพการต่อสู้ของชุมชนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทย เมื่อปี 2561 ลูคได้รับรางวัลจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากการนำเสนอประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน
More Features
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 10 มีนาคม 2023
- by พีระพล บุณยเกียรติ
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 31 พฤษภาคม 2023
- by HaRDstories