- 27 มกราคม 2023
คนกว่าครึ่งล้านในไทยเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หลายคนเป็นลูกหลานผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลกในเมียนมา ชายสองคนฟ้องคดีรัฐไทยครั้งประวัติศาสตร์เพื่อทวงคืนสิทธิแต่กำเนิดและท้าทายระบบสถานะบุคคลที่ไร้ความยืดหยุ่น
ตอนที่ชนินทร์เปิดบัญชีเฟซบุ๊กใหม่ เขาเห็นคำชวนสมัครเปิดบัญชีในหน้าเฟซว่า “สมัครง่ายและใช้เวลาไม่นาน” เชิญชวนให้เขาเข้าร่วมโลกโซเชียล แต่สำหรับชนินทร์ มันไม่ได้ง่ายเหมือนคนอื่นๆ
ตอนที่ต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เขาใช้ชื่อ “ชนินทร์” และย่อสั้นเป็นนินทร์เพื่อเติมให้เต็มในช่องชื่อจริงและนามสกุล ส่วนเพื่อนของเขาลงทะเบียนด้วยชื่อ “ยาว โนสกุล”
พวกเขาเจอเรื่องแบบนี้บ่อยๆ ทั้งสองคนอยู่ในสถานะเดียวกัน คือ เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ การไม่มีนามสกุลหรือสถานะทางกฎหมายเหมือนคนส่วนใหญ่รองรับ ทำให้พวกเขาได้รับคำถามอยู่บ่อยๆ ตอนเข้าเรียนหนังสือ หรือเวลาที่ยื่นบัตรประจำตัวสีชมพูที่ระบุตัวตนว่า “ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทยเป็นการชั่วคราว”
มีคนอีกมากที่มีประสบการณ์เหมือนชนินทร์และยาว ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและสงครามกลางเมืองที่ยาวนานหลายทศวรรษส่งผลให้ชาวเมียนมาเดินทางเข้ามาประเทศไทยหลายล้านคน เหตุการณ์รัฐประหารในปี 2564 ยังทำให้ผู้คนกว่าหนึ่งล้านคนย้ายเข้ามาไทย จังหวัดตากที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไทยและติดชายแดนเมียนมาฝั่งรัฐกะเหรี่ยงกลายเป็นจุดหมายหลักที่ผู้ผลัดถิ่นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเดินทางเข้ามา หนึ่งในนั้นคือพ่อแม่ของชนินทร์และยาว
สงครามระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และรัฐบาลกลางของเมียนมากลายเป็นหนึ่งในสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ สถานที่พักพิงผู้อพยพชั่วคราวในไทยกลับกลายเป็นที่พักพิงถาวร ส่งผลให้ลูกหลานผู้ลี้ภัยหลายคนเจอกับความซับซ้อนเรื่องสถานะทางกฎหมาย
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR ระบุว่า ในปี 2564 มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในไทยถึง 560,000 คน ในตากเพียงจังหวัดเดียว มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติอาศัยอยู่ถึง 107,000 คน ประเทศไทยถือได้ว่ามีประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
“เราเกิดในประเทศไทย พูดพม่าไม่ได้ ไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่นั้นสักคน แต่เราก็ไม่ใช่คนไทย บางครั้งเราก็รู้สึกไม่ได้เป็นคนสักที่ พม่าก็ไม่ใช่ ประเทศไทยก็ไม่ใช่” ชนินทร์เล่า
ในวัยสี่สิบเศษ ชนินทร์และยาวยังคงเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ แม้ว่าทั้งสองคนจะทำงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และในความย้อนแย้ง ทั้งสองยังทำงานให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อยที่ชายแดน หลังจากที่ชนินทร์และยาวพยายามยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยกับทางการหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล พวกเขาจึงก้าวเข้าสู่ภารกิจสืบหาข้อมูลการเกิดของตัวเอง และยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในระบบที่ไร้ความยืดหยุ่นนี้
ตกอยู่ระหว่างช่องว่าง
ก่อนหน้านี้ เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยจะได้รับสัญชาติไทย ไม่ว่าพ่อแม่จะถือสัญชาติใดก็ตาม จนในช่วงพ.ศ. 2510 รัฐบาลทหารพม่าเดินหน้าต่อสู้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยกังวลว่าจะมีผู้อพยพหลั่งไหลเข้าไทย ในปี 2515 รัฐบาลไทยประกาศว่าเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่ใช่คนไทยจะไม่ได้รับสัญชาติไทย เฉพาะเด็กที่สืบสายเลือดไทยเท่านั้นที่จะได้รับสัญชาติ คำสั่งนี้ยังมีผลย้อนกลับถอนสัญชาติเด็กที่มีพ่อแม่เป็นผู้อพยพและเกิดก่อนปี 2515
พ่อแม่ของชนินทร์และยาวเคยอาศัยอยู่ที่ผาอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ก่อนจะหนีสงครามข้ามมาฝั่งไทยที่อยู่ห่างออกไปราว 12 กิโลเมตร ครอบครัวทั้งสองตั้งรกรากที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากแล้วให้กำเนิดลูกชาย ชนินทร์เกิดในปี 2524 ส่วนยาวเกิดหลังจากนั้นไปอีกสองปี
ในปี 2535 ประเทศไทยออกกฎหมายสัญชาติที่ชัดเจนและเป็นมิตรกับชาวต่างชาติมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลดทอนความคลุมเครือว่าคนกลุ่มไหนจะได้และไม่ได้สัญชาติไทย กฎใหม่ข้อนี้ยังให้ประโยชน์กับคนที่เกิดจากพ่อแม่ที่อพยพเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมายก่อนหน้าการประกาศกฎหมายนี้ด้วย
ตอนที่ชนินทร์อายุ 30 ปีกว่าๆ เขาได้ยินจากผู้ใหญ่บ้านว่าคนรุ่นเขาที่ตกอยู่ในความคลุมเครือทางกฎหมายมา 20 ปี สามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ ชนินทร์จำความรู้สึกตื่นเต้นตอนที่เขาไล่ดูสำเนาเอกสารทางทะเบียนได้ ชื่อน้องสาวของเขาอยู่ในรายชื่อผู้ที่สามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ แต่ชายหนุ่มกลับไม่เจอของตัวเอง “เอกสารน้องระบุว่าเกิดที่พม่า” เจ้าหน้าที่บอกกับเขา
ที่เอกสารระบุเช่นนั้นเป็นผลจากการบันทึกข้อมูลในปี 2534 ตอนนั้นชนินทร์อายุ 10 ขวบ และมีการสำรวจและจดทะเบียนประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยมีล่ามอาสาสมัครซึ่งเป็นครูในพื้นที่ที่พูดได้สองภาษาคอยช่วยแปล
“วันนั้นมีคนมายืนรอคิวทำประวัติเยอะมาก พอถึงขั้นตอนลงทะเบียนก็ทำแป๊บเดียวและวุ่นวาย ข้อมูลที่เก็บไปอาจจะผิดก็ได้” หมุ่ยแฮ แม่ของชนินทร์และเพื่อนบ้านที่ไปร่วมการจัดทำทะเบียนเล่าถึงบรรยากาศวันนั้น
เอกสารของยาวก็ระบุเช่นกันว่าเขาเกิดที่เมียนมา คนหลายคนก็เจอเรื่องราวคล้ายกันกับสองหนุ่ม ข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียนพบว่าในปี 2565 เพียงปีเดียวมีจำนวนคำร้องขอแก้ไขทะเบียนประวัติบุคคลมากถึง 529 คำร้อง ทั้งหมดนี้มาจากผู้คนทั่วไทยที่ส่งเรื่องขอแก้ไขประวัติบุคคลที่บันทึกผิดพลาด
“มีคนอีกเป็นแสนที่เจอสถานการณ์เดียวกันกับชนินทร์และยาว” ศิวนุช สร้อยทอง กล่าว เธอเป็นทนายความของชนินทร์และยาวและอดีตที่ปรึกษาทางกฎหมายประจำโครงการ “สี่หมอชายแดนตาก” โครงการซึ่งทำงานขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติบริเวณชายแดนไทย-เมียนมามายาวนาน
ชีวิตในความคลุมเครือทางกฎหมาย
“ตอนเด็กๆ ผมไม่ค่อยคิดอะไรมากเรื่องไม่มีสัญชาติ” สมัยเรียนประถม มีแค่เด็กสองจากสิบคนในห้องเรียนที่มีนามสกุล เด็กชายเลยคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่คนชาติพันธุ์จะไม่มีนามสกุล “แต่พอมานึกดูตอนนี้ ผมก็พลาดโอกาสอะไรไปหลายอย่างเหมือนกัน”
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยนั้นพัฒนาขึ้นมาก แต่การไม่มีสัญชาติย่อมหมายถึงการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิส่วนอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่มักจะได้รับและมองข้าม
อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งที่คนไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเจอคือไม่สามารถยื่นกู้ทุนเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ ทำให้หลายคนไม่กล้าฝันหรือส่งให้ตัวเองเรียนต่อในระดับสูง นอกจากนี้ เวลาจะเดินทางออกนอกพื้นที่ยังต้องขออนุญาตจากทางอำเภอ ทำให้ชีวิตประจำวันต้องยุ่งยากมากขึ้นเพราะต้องเกี่ยวพันกับระบบราชการ
บางทีความท้าทายที่สุดของการเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติในไทยคือการจัดการกับเอกสารมากมายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การทำธุรกรรมทางธนาคารไปจนถึงซื้อรถ ส่วนใหญ่แล้ว เจ้าหน้าที่มักไม่คุ้นเคยกับขั้นตอนทำเอกสารต่างๆ ให้คนไร้สัญชาติไทยและอาจปฏิเสธที่จะช่วยดำเนินการให้ตั้งแต่ต้น
ชนินทร์และยาวรู้สึกว่าโอกาสที่พวกเขาสูญเสียไปมากที่สุดในฐานะคนที่สื่อสารได้สองภาษา คือ โอกาสทำงานเพื่อชุมชนที่บ้าน แม้ว่าพวกเขาจะมีประสบการณ์ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายปีที่โรงพยาบาลแห่งเดียวในอำเภอท่าสองยาง แต่ทั้งสองบรรจุราชการไม่ได้เพราะไม่มีสัญชาติไทย นั่นแปลว่าเขาจะไม่อาจเลื่อนตำแหน่งและเติบโตในหน้าที่การงานได้ หรือได้รับสวัสดิการที่เป็นธรรมเหมือนคนอื่นๆ
ยาวได้รับเงินเดือนประมาณ 10,000 บาท ในขณะที่เพื่อนร่วมงานในตำแหน่งเดียวกันที่บรรจุราชการได้รับเงินเดือนราว 14,000 บาท นอกจากนี้ การไม่สามารถลงสมัครรับตำแหน่งทางการเมืองหรือแม้แต่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งยังจำกัดไม่ให้ทั้งสองคนทำงานตอบแทนชุมชนบ้านเกิด
“บางครั้งคนเขาชอบแซวว่า ‘เฮ้ย ต่างด้าวกำลังช่วยให้คำปรึกษากับคนไทยว่ะ’ แซวกันเล่นๆ แต่ความเป็นจริงมันสะเทือนความรู้สึกจริงๆ” ชนินทร์เล่าด้วยน้ำเสียงเจ็บปวด
ยาวภูมิใจที่ตัวเองสร้างเนื้อสร้างตัวจากคนที่ไม่มีต้นทุนชีวิตมากและหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ แต่สถานะไร้รัฐไร้สัญชาติทำให้เขาต้องเจอเรื่องท้าทายบ่อยๆ “ตอนนี้บ้านผมจดทะเบียนอยู่ในทะเบียนบ้านคนอื่น ถ้าผมมีสัญชาติไทยนะ ผมจะจดทะเบียนบ้านหลังนี้ในชื่อผม”
สืบค้นอดีต
ชนินทร์ก็เหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ เขาไม่ค่อยสนใจมากนักเวลาแม่เล่าเกี่ยวกับตอนที่เขาเกิดให้ฟัง แต่พอโตขึ้น ชายหนุ่มเข้าใจแล้วว่าชีวิตเขาขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ว่าเขาเกิดที่ไหน
มุ่งมั่นที่จะแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับการเกิด ชนินทร์เริ่มต้นภารกิจรวบรวมหลักฐานและคำบอกเล่าจากพยานมากกว่ายี่สิบคน มีแม่ของเขา เพื่อนบ้านและผู้สูงอายุในพื้นที่เพื่อมายืนยันว่าแท้จริงแล้ว เขาเกิดที่ชายแดนฝั่งไทย
ชนินทร์พร้อมกับทีมผู้สืบพยาน ประกอบไปด้วยทนายและเจ้าหน้าที่อำเภอ เดินทางไปที่ชายแดนไทย-เมียนมาตรงบริเวณที่เขาเชื่อว่าเป็นสถานที่เกิดของเขา จุดนี้เคยเป็นจุดที่ผู้ลี้ภัยสร้างเพิงพักพิงชั่วคราวไม่กี่หลังและไม่ได้เป็นหมู่บ้าน
แม่ของชนินทร์เล่าว่าตอนที่แม่คลอดเขา หมอตำแยในแถบนั้นมาช่วยทำคลอดให้ ชนินทร์เกิดที่นี่สี่ปีก่อนที่จะมีการสร้างโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียว หมอตำแยและพ่อของชนินทร์ได้จากโลกนี้ไปแล้วทำให้แม่เป็นพยานในเหตุการณ์คนเดียวที่สามารถยืนยันข้อมูลนี้ได้
แต่ว่าเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน เนาะกา ข้างเคียงขุนเขา หญิงชราอายุ 74 จำได้ว่าเคยเห็นแม่ของชนินทร์อุ้มท้องใกล้คลอดได้ เธอเล่าว่าเธอยังเคยไปที่บ้านของชนินทร์เพื่อช่วยแม่คนใหม่ “อยู่ไฟ” หลังคลอด ส่วนเพื่อนบ้านอีกคนที่ลงมาทำไร่ยังจำได้ว่าเคยเห็นชนินทร์ตอนที่เป็นเด็ก
ชนินทร์รวบรวมใบรับรองผลการเรียนจากโรงเรียนและรูปถ่ายเก่าสมัยเด็กส่งเป็นหลักฐานให้อำเภอท่าสองยางพิจารณาแก้ไขข้อมูลบันทึกการเกิด ยาวก็ทำแบบนี้เช่นกัน
แม้ว่าจะมีหลักฐานต่างๆ แต่คำร้องของชนินทร์กลับถูกปฏิเสธจากอำเภออยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่าพยานและหลักฐานไม่น่าเชื่อถือมากพอ ปัญหานี้เป็นสิ่งที่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในไทยพบเจออยู่ตลอด ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสต่างๆ เพราะขาดเอกสารที่รับรองชัดเจน ตามหลักกฎหมายแล้ว การพิจารณาแก้ไขข้อมูลบันทึกการเกิดนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอำเภอ
HaRDstories ติดต่อไปยังนายอำเภอสมชาย ไตรทิพย์ชาติสกุล แต่เลขาของเขาแจ้งทางโทรศัพท์ว่านายอำเภอไม่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม
สู้ความไร้รัฐไร้สัญชาติ
ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณอำเภอท่าสองยาง ชุมชนสองฝั่งมักไปมาหาสู่กันอยู่เรื่อย ๆ โดยคนฝั่งเมียนมามักจะนั่งเรือไม่กี่นาทีข้ามแม่น้ำเมยไปตลาด ไปโรงเรียน หรือหาหมอที่โรงพยาบาลในไทยซึ่งค่อนข้างดีกว่าที่เมียนมา
“ชุมชนแถวชายแดนพูดภาษาคล้ายกัน มีวัฒนธรรมเดียวกันและส่วนใหญ่มักเป็นเครือญาติกัน” ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบาย “ความเป็นพี่น้องกันมีส่วนสำคัญมากในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและความต้องการพื้นฐานในสถานการณ์ความไม่สงบ”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ชายแดนทำงานเชิงรุกเพื่อจัดการกับปัญหาการไร้รัฐไร้สัญชาติและการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข โดยเริ่มจากการบันทึกข้อมูลการเกิดของเด็กตั้งแต่แผนกคลอดบุตร ในปี 2555 โรงพยาบาลท่าสองยางและโรงพยาบาลอีกสามแห่งในตากร่วมกันตั้งโครงการ “สี่หมอชายแดนตาก” เพื่อบันทึกข้อมูลการเกิดและให้ข้อมูลผู้คนเกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับ พ่อแม่จะได้รับสูติบัตรของเด็กไม่ว่าจะอยู่ในสถานะทางกฎหมายใด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่คลินิกกฎหมายยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิทางกฎหมายของเด็กให้แก่พ่อแม่อีกด้วย
สำหรับคนอย่างยาวที่เกิดในช่วงที่ยังไม่มีโรงพยาบาลในพื้นที่ หลักฐานการเกิดเดียวที่มีคือแผ่นไม้ไผ่ที่บันทึกอักษรภาษาพม่า บอกรายละเอียดวันและเวลาเกิดตามปฏิทินจันทรคติ พระพม่าที่ลี้ภัยสงครามมาฝั่งไทยทำให้แม่ยาวไว้ แต่หลักฐานนี้ไม่ถือเป็นหลักฐานการเกิดในไทยอย่างเป็นทางการได้
“การรักษาคนในแถบชายแดนไม่ใช่งานการกุศลที่ช่วยเหลือเป็นกรณี ๆ ไป แต่ว่าเป็นเรื่องที่มีระบบรองรับและผู้คนควรได้รับสิทธิที่พึงมี การที่คนชายแดนรู้เรื่องสิทธิตามกฎหมายของตน เขามาโรงพยาบาลได้อย่างมีศักดิ์ศรี” นายแพทย์ ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง หนึ่งในคนหลักที่สนับสนุนชนินทร์และยาวกล่าว
ตามหลักสากลแล้ว ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี 2491 ระบุว่ามนุษย์ทุกคนพึงได้รับสิทธิการยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย แต่เพราะว่าการพิสูจน์การเกิดในประเทศเพื่อได้รับสัญชาติไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้หลายคนเลือกที่จะซื้อสิทธิ์เพื่อสวมสัญชาติไทยอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 5,000 – 200,000 บาท
แม้ว่าวันนี้ระบบบันทึกข้อมูลการเกิดในไทยจะดีขึ้น ส่งผลให้มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติน้อยลง แต่ปัญหาทางการเมืองในเมียนมาที่ยังคงมีอยู่สืบเนื่องจากรัฐประหารปี 2564 อาจทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น อาจารย์ศิรดาอธิบายว่าปัจจุบัน ผู้อพยพชาวเมียนมาในไทยหลายคนที่ตื่นตัวทางการเมืองปฏิเสธไม่ไปเข้าระบบงานทะเบียนต่าง ๆ เช่น ต่ออายุพาสปอร์ต เพราะไม่ต้องการยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฐบาลและเกรงว่าจะถูกตรวจสอบโดยกองทัพได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาคนไม่มีเอกสารแสดงตนตามมา รวมถึงสถานะทางกฎหมายของผู้อพยพและลูกหลานพวกเขาในอนาคต
“วิกฤตทางการเมืองไม่มีท่าทีสิ้นสุดลงง่ายๆ คนที่เข้ามาเลยมีท่าทีว่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่กึ่งถาวรในไทย ท่ามกลางความซับซ้อนเรื่องสถานะทางกฎหมายของบุคคล ลูกหลานคนเหล่านี้จะมีสถานะอย่างไร” ศิรดาตั้งคำถาม
คดีประวัติศาสตร์
หลังจากที่ข้อมูลการเกิดของชนินทร์และยาวไม่เคยถูกแก้ไขตามคำร้องหลายครั้ง ในปี 2559 ทั้งคู่จึงยื่นฟ้องรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 6 หน่วยงานจากการปฏิเสธอย่างไม่เป็นธรรม คดีนี้ถือเป็นเพียงไม่กี่คดีที่บุคคลไร้สัญชาติฟ้องร้องรัฐบาลไทย
ตุลาการศาลปกครองพิษณุโลกแถลงคดีครั้งแรกตอนช่วงต้นปี 2565 เป็นไปในแนวทางสนับสนุนชนินทร์และยาว แต่คำพิพากษาช่วงท้ายปีนั้นกลับกลายเป็นฝั่งตรงข้าม ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว
“หลักฐานไม่น่าเชื่อถือชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้เชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ผู้ฟ้อง” และ “พยานเป็นสมาชิกครอบครัวของผู้ฟ้อง” ศาลจังหวัดพิษณุโลกระบุในคำพิพากษาที่สาธารณะสามารถขอคัดดูได้
ศิวนุช ทนายความที่ดูแลคดีนี้ ชี้ว่าคำตัดสินของศาลไม่ได้พิจารณาถึงบริบทของพื้นที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างไกล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พยานจะเป็นเครือญาติกัน “สะท้อนให้เห็นว่าศาลอิงแต่หลักทฤษฎี และมีความเป็นกระดาษนิยมมากกว่ามนุษยนิยม”
“ถ้าท่านไม่เชื่อว่าผมเกิดที่ไทย แล้วผมเกิดที่ไหนล่ะ” ชนินทร์ถาม “ผมพิสูจน์ไม่ได้ว่าผมเกิดที่พม่าเพราะผมไม่มีพยานที่นั่นและมันไม่ใช่ความจริง”
ชนินทร์และยาวยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อไปยังศาลฎีกา ไม่เพียงแต่หวังว่าจะได้รับสัญชาติไทยเท่านั้น แต่เพื่อสร้างมาตรฐานในการแก้ไขข้อมูลสถานะบุคคลทางกฎหมาย แทนที่จะปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการอุทธรณ์นี้อาจใช้เวลาอย่างน้อยสามปี เวลาที่จะไต่เต้าและเติบโตในเส้นทางอาชีพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ร่นลงมาเรื่อยๆ
“ผมรอวันที่จะได้สัญชาติไทยมาทั้งชีวิต” ชนินทร์เขียนในโพสต์เฟซบุ๊กล่าสุด “จะมีประโยชน์ไหมถ้าได้มาในวันที่สายไป”
ชนินทร์และยาวต้องเจอกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก ทั้งคู่สามารถยื่นขอแปลงสัญชาติไทยได้เพราะว่าทั้งสองแต่งงานกับคนไทย หรือยอมรับว่าพวกเขาเป็นผู้อพยพชาวเมียนมา แล้วแปลงสัญชาติด้วยวิธีนั้น แต่นั่นหมายถึงการยอมรับกลายๆ ว่าพยานและหลักฐานที่รวบรวมมาตลอดเป็นเท็จทั้งหมด
“จะหมายความว่าพยานของเราและทุกสิ่งที่เราทำมาเป็นเรื่องโกหก” ยาวว่า
ยาววางแผนเผื่อวันที่เขาได้สัญชาติไทยไว้เรียบร้อยแล้ว คนชาติพันธุ์ที่ได้รับสัญชาติจะใช้นามสกุลที่รัฐกำหนดให้หรือไม่ก็ใช้นามสกุลเดียวกับญาติ แต่ยาวคิดต่างออกไป
“ผมจะตั้งนามสกุลเองใหม่ เอาคำนั้นคำนี้จากนามสกุลของคนที่เคยช่วยผมมาผสมกัน” ยาวเล่าถึงความฝันพร้อมเสียงหัวเราะ “แล้วก็จะเปลี่ยนชื่อเฟซจากนายยาว โนสกุล เป็นนายยาว มีสกุล”
ณิชา เวชพานิช นักข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามประเด็นสังคมผ่านมุมมองด้านสิทธิและชีวิตผู้คน เธอเคยทำงานกับสำนักข่าวท้องถิ่นภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวและโฟโต้เอเจนซี่ Thai News Pix มีประสบการณ์ถ่ายภาพข่าวให้สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์มากกว่า 18 ปี สนใจประเด็นข่าวด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
More Features
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 10 พฤษภาคม 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 8 กุมภาพันธ์ 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ