,

ปกป้องผืนป่าที่เรียกว่าบ้าน: เรื่องราวการต่อสู้ยุติเหมืองถ่านหินของดวง

เรื่อง นันทิชา โอเจริญชัย

กลุ่มหญิงอาวุโสสวมชุดชนเผ่าหลากสีนั่งล้อมรอบหญิงสาวคนหนึ่ง ขณะที่กล้องขนาดใหญ่สองตัวกำลังเริ่มบันทึกภาพ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลแต่หนักแน่น พรชิตา ฟ้าประทานไพร วัย 18 ปี เล่าถึงเหตุผลที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงการเหมืองถ่านหินซึ่งกำลังคุกคามบ้านของเธอ ชุมชนอันเงียบสงบซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางภูเขาของภาคเหนือ ประเทศไทย

หนึ่งปีที่แล้ว พรชิตา หรือ ดวง คงไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีคนมาสัมภาษณ์เธอออกอากาศโทรทัศน์ระดับประเทศ ตอนนั้นเธอเป็นแค่เด็กนักเรียน เป็นนักเต้นกับสมาชิกสภาโรงเรียน และเด็กสาวที่คอยช่วยดูแลสวนมะเขือเทศของครอบครัวหลังเลิกเรียน

“ครอบครัวในชุมชนเราจะพากันไปทำสวนตอนช่วงกลางวัน แล้วก็จะกลับบ้านมากินข้าวด้วยกันตอนเย็น” ดวงกล่าว “ก่อนนั้นเราไม่เคยต้องมาจัดประชุมว่าวันรุ่งขึ้นเราจะประท้วงที่ไหน แล้วใครจะเป็นคนถือป้าย”

เดือนเมษายน 2562 ข่าวคราวเกี่ยวกับแผนการสร้างเหมืองถ่านหินเดินทางมาถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยง ‘กะเบอะดิน’ ชาวบ้านต่างตกใจเมื่อรู้ว่า โครงการเหมืองถ่านหินจะทับพื้นที่ไร่นาจำนวนมากและจะเปลี่ยนเส้นทางน้ำสองสายที่พวกเขาพึ่งพาเป็นปัจจัยหลักในการทำเกษตร ทุกคนต่างกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมของชุมชน

“ไม่แฟร์เลยค่ะ ชุมชนของเราไม่มีใครรู้เรื่องนี้กันเลย” ดวง ซึ่งกลายเป็นผู้นำของการเคลื่อนไหวยุติเหมืองถ่านหินในพื้นที่อย่างไม่คาดฝัน กล่าว

หวั่นผลกระทบบานปลาย

หมู่บ้านของดวงอยู่ท่ามกลางขุนเขาเขียวขจีในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนแห่งนี้เป็นบ้านของชาวกะเหรี่ยงโพล่งมากกว่า 300 คน อันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทำมาหากินแบบยังชีพตามประเพณีดั้งเดิม หลายคนยังคงอาศัยธรรมชาติเป็นแหล่งที่มาหลักของปัจจัยสี่ ผืนป่าอันเป็นบ้านที่บรรพบุรุษอาศัยอยู่มาอย่างยาวนานแห่งนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญของวิถีชีวิต

แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานก่อนเกิดรัฐชาติ แต่ชาวกะเหรี่ยง รวมถึงชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อื่นๆ กลับไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐว่าเป็นชนพื้นเมือง

คล้ายๆ กับครอบครัวส่วนใหญ่ในชุมชน ครอบครัวของดวง ไม่ได้ถือครองโฉนดที่ดินใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้พวกเขาไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายในที่ดินที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ หากแผนการสร้างเหมืองถ่านหินดำเนินต่อไป ชุมชนแห่งนี้จะสูญเสียพื้นที่การเกษตรมากถึง 41 แปลง

ข้อมูลจากกรีนพีซระบุว่า โครงการเหมืองถ่านหินจะผันน้ำสองสายที่หมู่บ้านในพื้นที่ต้องพึ่งพาในการเกษตร โดยคาดการณ์ว่าเหมืองจะใช้น้ำมากถึง 380,000 ลิตรต่อวั ซึ่งอาจทำให้ชุมชนโดยรอบขาดแคลนน้ำ ยังมีความกังวลว่าเหมืองจะทำให้มีสารโลหะหนักปนเปื้อนพื้นที่ จนส่งผลให้ป่าและสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่เสื่อมโทรมตามไปด้วย

เหมืองถ่านหินแห่งนี้จะตั้งห่างจากหมู่บ้านไปเพียงหนึ่งถึงสองกิโลเมตร ทำให้มีข้อกังวลถึงฝุ่นและเสียงรบกวนชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากรถบรรทุกถ่านหินต้องขับผ่านหลายหมู่บ้านกว่าจะถึงทางหลวงสายหลัก

ชาวบ้านกล่าวว่าพวกตนไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับโครงการเหมืองถ่านหินมาก่อน จนกระทั่งวันที่มีป้ายมาตั้งที่หน้าบ้านของเขาเมื่อปี 2562

“ตกใจค่ะ ตอนที่รู้ว่าจะมี [เหมืองถ่านหิน] มาสร้างที่นี่” ณัฐธิตา วุฒิสินละวัฒน์ เพื่อนของดวงผู้เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านเหมือง กล่าว

การประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จัดโดยหน่วยงานเอ็นจีโอช่วยให้ชุมชนได้รับรู้ว่า รัฐบาลได้ให้สัญญาณไฟเขียวแก่บริษัทเหมืองแร่สัญชาติไทยเพื่อสร้างและดำเนินการเหมืองถ่านหินขนาด 284 ไร่ 30 ตารางวาในเขตพื้นที่อมก๋อยแล้ว และโครงการเหมืองแห่งนี้ก็ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2554

การประชุมโลกร้อนสหประชาชาติ (COP26) เมื่อปีก่อน ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าไทยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2573 ในกรณีได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แผนพลังงานของประเทศยังคงพึ่งพลังงานจากถ่านหินอยู่ระหว่างร้อยละ 16-17 ของพลังงานทั้งหมด ถึงแม้ปัจจุบันจะมีโครงการเหมืองถ่านหินที่ดำเนินการอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศ แต่ก็มีการเสนอให้จัดตั้งโครงการเพิ่ม ซึ่งหลายแห่งถูกวางลงในพื้นที่ภาคเหนือ

แผนหยุดเหมือง

มุ่งมั่นที่จะปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง ดวงและเพื่อนร่วมกันเริ่มคิดแผนการหยุดโครงการเหมืองทันที ด้วยการช่วยเหลือจากองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ พวกเขาได้จัดการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ร่างคำร้อง และจัดวงอภิปรายให้ชาวบ้าน ข้าราชการ และตัวแทนของโครงการมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อโต้แย้ง ภายในไม่กี่สัปดาห์ ดวงและเพื่อนๆ ได้กลายเป็นโฆษก ผู้เจรจา คนทำอาหาร และผู้ประสานงานการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองถ่านหินครั้งนี้

“เราต้องรีบเรียนรู้ว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวที่ซับซ้อนให้คนในชุมชนเข้าใจ แล้วก็ไว้วางใจเราได้ยังไง” ดวงกล่าว

เดือนพฤษภาคม 2562 ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือถึงนายอำเภออมก๋อย ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย” โดยเรียกร้องให้มีการระงับสัมปทานเหมืองถ่านหิน ต่อมาเดือนมิถุนายน ชาวบ้านหลายพันคนได้เดินขบวนประท้วง และอีกครั้งหลายร้อยคนเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งครั้งนั้นมีชาวบ้านถูกจับกุมสองคน

 หลังจากนั้นไม่นาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ดวงและเพื่อนระดมคนเข้าร่วมได้มากถึง 3,000 คน จนล้นห้องประชุมที่จัดงาน ส่งผลให้ทางการต้องเลื่อนการประชุมออกไป

เดือนกรกฎาคม 2563 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบความผิดปกติในกระบวนการอนุมัติสัมปทานเหมืองถ่านหินและแนะนำให้ทบทวนแผนโครงการใหม่ ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียนว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของประชาชนที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ใส่ชื่อชาวบ้านหลายคนที่กล่าวว่าไม่เคยมีใครมาสอบถามความเห็นตนแต่อย่างใด

“บริษัทบอกว่ามีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนแล้ว โดยจัดรับฟังความเห็นทั้งหมดสองครั้ง” ดวงกล่าว “ทั้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาไทยด้วยซ้ำ”

“หลายคนมองว่าเราเป็นแกนนำ แต่เราไม่อยากให้มองแบบนั้น เพราะเราทุกคนต่อสู้มาด้วยกัน”

บทเรียนจากแม่เมาะ

ดวงเห็นเค้าลางหายนะที่อาจเกิดขึ้นจากการทำเหมืองถ่านหินหลังได้ไปศึกษาดูงานเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จังหวัดลำปาง

ตั้งแต่โครงการเหมืองถ่านหินเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2521 ชุมชนแม่เมาะที่จังหวัดลำปางได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นควันที่ปกคลุมเรือกสวนไร่นา พืชผลต่างๆ ก็ไม่งอกงามอีกต่อไป สารพัดสารเคมีที่โครงการเหมืองปล่อยออกมาทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยกันไปต่างๆ นานา ดวงจึงได้รู้ว่าชาวบ้านกะเบอะดินอาจต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน

“การรู้ถึงสิทธิที่เรามี การมีความรู้ความเข้าใจว่าพวกเราไม่ควรถูกละเมิดสิทธิแบบนั้น และการได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชุมชนของเรา” ดวงกล่าว

เยาวชนแกนนำการเคลื่อนไหว

บ้านกะเบอะดินต่างจากชุมชนพื้นเมืองหลายแห่งในประเทศไทย ที่นี่มีเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นผู้นำการต่อสู้ เป็นคนนำเสนอเรื่องราวของตัวเองต่อนักข่าวและเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นคนรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มผู้สนับสนุนและแปลเป็นภาษากะเหรี่ยงให้คนในชุมชนได้เข้าใจ และเป็นคนช่วยเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอสำรวจประชากรและจัดทำแผนที่แหล่งน้ำและครัวเรือนของหมู่บ้านตัวเอง

หนึ่งในผู้สนับสนุนชุมชนแห่งนี้คือ กรวรรณ บัวดอกตูม ผู้ประสานงานฝ่ายวิจัยด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของกรีนพีซ ประเทศไทย เธอเล่าถึงความทรงจำเมื่อเห็นดวงครั้งแรกว่า ตอนนั้นดวงยืนอยู่กลางวงรายล้อมด้วยชาวบ้านมากมาย เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่เปี่ยมด้วยพลัง กำลังอธิบายสถานการณ์เหมืองถ่านหินและแนะนำเจ้าหน้าที่องค์กรเอ็นจีโอให้ชุมชนได้รู้จัก

“ดวงเป็นคนพาเพื่อนๆ ให้ทำสิ่งที่เธอทำ อย่างการพูดต่อหน้ากล้อง การเล่าเรื่อง หรือแม้แต่การประสานงาน” กรวรรณกล่าว “หลายครั้ง เราได้เห็นดวงเป็นคนอยู่เบื้องหลังคอยช่วยจัดกิจกรรมหรือก้าวออกจากกลุ่มไลน์ เพื่อให้เพื่อนๆ เป็นคนนำการสนทนาเอง”

แม้ว่าดวงจะไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง แต่เธอก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้คนในชุมชน ดวงลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียงและต่อสู้เพื่อหลายครอบครัวในชุมชนพร้อมกับช่วยลดช่องหว่างระหว่างหมู่บ้านกับโลกภายนอก

“ดวงเป็นคนมั่นใจ พูดเก่ง ออกกล้องได้” ณัฐธิตา เพื่อนของดวง กล่าว “ดวงฝ่าฟันอุปสรรคมาแล้วมากมาย แล้วก็ได้เรียนรู้จากโลกข้างนอกมาเยอะมาก”

ด้วยความช่วยเหลือของผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ดวงได้กลายเป็นนักข่าวพลเมืองของช่องไทยพีบีเอสและยังรายงานความคืบหน้าทางเฟซบุกเพจของหมู่บ้านกะเบอะดินด้วย

“หลายคนมองว่าเราเป็นแกนนำ แต่เราไม่อยากให้มองแบบนั้น เพราะพวกเราทุกคนต่อสู้มาด้วยกัน” เธอกล่าว

นับตั้งแต่เริ่มการต่อสู้ มีชาวอมก๋อยหลายพันคนแล้วที่ได้ออกมาร่วมประท้วงเรียกร้องให้มีการประเมิน EIA ใหม่ ขณะนี้กลุ่มต่อต้านเหมืองในพื้นที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องสผ. ฐานประมาทเลินเล่อ ดวงและเพื่อนๆ รวบรวมหลักฐาน ให้ทางกลุ่มฟ้อง สผ. ข้อหาอนุมัติ EIA ที่จัดทำขึ้นมาโดยมิได้ขอความยินยอมจากคนในพื้นที่

ความท้าทายใหม่ๆ ยังรออยู่ข้างหน้า

และแม้ว่าการต่อสู้เรื่องเหมืองของชาวบ้านจะยังไม่สิ้นสุด แต่การต่อสู้อีกสองประเด็นก็ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว โดยเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการเสนอจัดทำโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินเข้าสู่เขื่อนภูมิพลและโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่จะต้องผ่าพื้นที่ป่าของอมก๋อย

“เราไม่คิดว่ามันจะนานขนาดนี้” ดวงกล่าว “คิดว่า ตอนที่พวกเราส่งหนังสือร้องเรียนไปตั้งแต่แรกๆ ปัญหาก็น่าจะแก้ให้เสร็จได้แล้ว”

ก่อนร่วมการเคลื่อนไหว ดวงฝันอยากเป็นครูสอนในระดับอนุบาล ชีวิตในวัยเด็กเธออยู่ใกล้โรงเรียนอนุบาล และพบว่าตัวเองชอบใช้เวลากับเด็กๆ มาก เธอรักการไปโรงเรียน แล้วก็อยากส่งต่อความรักในการเรียนรู้ให้เด็กๆ แต่ดวงกลัวว่าตัวเองจะสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ และกลัวเรื่องการปรับตัวเข้ากับชีวิตในเมือง เธอจึงตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับปริญญาตรี

“ตอนนั้นเราก็คิดว่าปล่อยไปละกัน” ดวง ตอนนี้ในวัย 21 ปี กล่าว “แต่หลังๆ มานี้เรารู้สึกว่าตัวเองมีทักษะ แล้วก็ความรู้ที่จะช่วยชุมชนได้”

แม้ว่าเธอจะเลือกหยุดเดินตามเส้นทางความฝันไปก่อนในตอนนี้ แต่ดวงก็ได้นำทักษะใหม่ๆ ที่เธอได้เรียนรู้มาให้การศึกษาและสร้างพลังให้แก่ชุมชนภาคเหนือหลายแห่งที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่คล้าย ๆ กัน ปัจจุบันดวงเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มีหน้าที่ช่วยรวบรวมข้อมูล จัดเวทีสนทนา และระดมพลรณรงค์คุ้มครองป่าไม้และสิทธิที่ดิน เฉกเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์กร NGO ที่ได้สนับสนุนเธอและหมู่บ้านกะเบอะดินมาก่อน

“ช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้เยอะมาก ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่” ดวงหวนนึกถึงเส้นทางชีวิตของตัวเองในฐานะนักปกป้องสิทธิของชุมชน

ในวันนี้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับดวงคือ การปกป้องบ้านเกิดที่เธอเติบโตมา เพื่อให้คนรุ่นหลังมีวัยเด็กที่ไร้กังวลและดีต่อกายดีต่อใจเหมือนเธอ

นันทิชา โอเจริญชัย คือนักเขียนและนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมชาวไทย ที่มีความสนใจด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Feature profiles

ธนพร วิจันทร์ : ผู้นำสหภาพแรงงานผู้ไม่ยอมเลิกงาน

error: Content is protected !!