,
พชร คำชำนาญ จากผู้ตกเป็นเหยื่อการเลือกปฏิบัติ สู่การต่อสู้เพื่อชนพื้นเมืองในไทย

เรื่อง นันทิชา โอเจริญชัย

ภาพ ลูค ดุกเกิลบี

เมื่อก่อน ทุกคนเรียกเขาด้วยสารพัดชื่อ ไม่ใช่แค่เด็กๆแถวบ้านหรือครูที่โรงเรียน แต่แม้กระทั้งพ่อแม่ของเขาเองก็เหมือนกัน ที่พูดถ้อยคำดูถูกที่ทำให้เขารู้สึกถูกด้อยค่าความเป็นมนุษย์

“ผมจำได้ว่าเคยมีคนถามว่าทำไมผมไม่เกิดมาเหมือนคนทั่ว ๆ ไป” พชร คำชำนาญ เล่า “พวกเขาพูดใส่หน้าว่า เป็นเกย์มันเสียชาติเกิด”

พชรใช้เวลาหลายปีในการเอาตัวออกห่างจากอคติและความเกลียดชังที่เขาได้รับที่บ้านเกิดของเขา ในขณะที่บาดแผลจากการถูกเลือกปฏิบัติไม่เคยจางหาย เขาเลือกที่จะใช้ประสบการณ์ครั้งนั้นเป็นแรงผลักดันที่จะปกป้องสิทธิของผู้อื่น

ผู้ชายอายุ 25 ปีคนนี้จึงกลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำการเคลื่อนไหว #Saveบางกลอย แคมเปญที่สร้างความตระหนักให้แก่สาธารณชนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในไทย

บาดแผลของความอยุติธรรม

พชร ถูกเลี้ยงดูมาโดยตาและยาย เขาเติบโตมากับลูกพี่ลูกน้องผู้หญิงในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงวัยเด็กเขาชอบแต่งตัวแบบเด็กผู้หญิงและชอบเต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นปัญหาจนกระทั่งเขาย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ของตัวเองที่จังหวัดอ่างทอง

พชรเล่าว่าพ่อแม่เขาเคร่งครัดมากตามแบบฉบับข้าราชการทั่วไป แม่อยากให้เขาบวชเป็นพระตามประเพณีไทยที่เด็กผู้ชายมักจะทำกัน พ่อของเขาอยากให้เขาเล่นฟุตบอล แต่เมื่อเด็กคนอื่น ๆ ในทีมฟุตบอลล้อว่าเขาเป็นตุ๊ด พ่อก็ดูเหมือนจะไม่ได้รู้สึกอะไร

แกก็เป็นอย่างนั้นจริงๆไหมใช่หรอ” พ่อถามพชร “ในตอนนั้น ผมคิดว่าการเป็นเกย์เป็นสิ่งที่ผิด ก็เพราะสิ่งที่คนมาพูดกรอกหูผมนี่แหละ” พชรเล่าย้อนถึงความเข้าใจของตนเองในอดีต

พชรพยายามลบล้างความ “ผิด” ในตัวเอง เขาจึงตั้งใจเรียนมากเพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจในตัวเขา เขาสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดังที่กรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่จะให้พ่อแม่ยอมรับ แต่เป็นเพราะเขาต้องการอยู่ห่างจากพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด

เขาใช้เวลาจนถึงปีสุดท้ายของการเรียนชั้นมัธยมปลายจึงจะกล้าเปิดเผยตัวตนและมีความมั่นใจในตัวเองขึ้น หลังจากนั้น เขาก็เข้าเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศ

การเรียนด้านวารสารศาสตร์และสิทธิมนุษยชน รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อพบปะชุมชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ได้สร้างประสบการณ์ที่ประทับใจและจุดประกายบางสิ่งในตัวเขา

“ตอนที่เราพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน เราเห็นเลย ว่าชีวิตพวกเขาแขวนอยู่บนเส้นด้ายจริงๆ” พชรกล่าว

“งานของผมคือทำให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีพวกเราที่พร้อมสู้ไปพร้อมกับเขา พวกเขาจะได้รู้สึกพร้อมลุกขึ้นสู้”

ทลายความเชื่อเดิม

หลังจากเรียนจบ เขาได้สมัครเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือซึ่งทำงานด้านสิทธิของชนพื้นเมือง ภาระกิจอย่างแรกของเขาคือการทำวิดีโอสั้นเกี่ยวกับพิธีกรรมประจำปีของชุมชนกะเหรี่ยงที่แม่ลากี จังหวัดตาก

หลังจากนั่งรถบนถนนขรุขระนานถึง 4 ชั่วโมง เขาก็ถูกต้อนรับด้วยอาหารที่ไม่คุ้นเคย และการใช้ชีวิตเรียบง่ายต่างจากชีวิตเมือง “มันทรมานมาก” พชรเล่าให้ฟังถึงการไปหมู่บ้านกะเหรี่ยงเป็นครั้งแรก

ความทรมานกลับหายไปในอีกหนึ่งวันหลังจากนั้นที่เขาได้ไป “ไร่หมุนเวียน” เป็นครั้งแรก “มันสวยมาก และได้เห็นชีวิตชุมชน ชาวบ้านหลายคนมาเจอกันและทำพิธีกรรมเพื่อแสดงความเคารพต่อธรรมชาติ” พชรเล่า

ชาวกะเหรี่ยงใช้วิธีทำไร่หมุนเวียนเพื่อทำการเกษตร โดยการสลับพืชที่ใช้เพาะปลูกไปเป็นประจำเพื่อรักษาดิน เกษตรกรจะเริ่มจากตัดและเผาพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อปลูกพืช และหลังจากเก็บเกี่ยว พวกเขาก็จะปลูกป่ากลับคืนในพื้นที่นั้น

พชรสนใจวิถีการทำเกษตรและการจัดการไฟของชุมชนกะเหรี่ยงมาก และอยากจะปกป้องภูมิปัญญาดั้งเดิมของพวกเขาไว้

“ตอนที่พชรอยู่ที่หมู่บ้าน เขาได้สลัดความเป็นเด็กเมืองออกไปเลย” พลอย สรรพยาสาร เพื่อนสนิทของพชรที่เดินทางไปหมู่บ้านด้วยกันเล่าให้ฟัง

หลาย ๆ คน ในไทยยังมองว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และชุมชนพื้นเมืองมักถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในช่วง “ฤดูฝุ่น” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“คนเรามักมีทัศนคติบางอย่างต่อคนบางกลุ่ม และเชื่อว่าคนกลุ่มหนึ่งจะแสดงออกด้วยท่าทีแบบนี้หรือท่าทีแบบนั้น” พชรตั้งข้อสังเกต “ถ้าคุณเป็นชนเผ่าพื้นเมือง คุณจะถูกมองว่าเป็นพวกอพยพหรือเป็นพวกบุกรุกป่า หรือถ้าคุณเป็นเกย์ คุณจะเป็นพวกบ้าผู้ชาย หรือไม่ก็สำส่อน”

พชรอยากจะลบการมองคนแบบเหมารวมนี้แล้วลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากเห็น “เขาทุ่มเทกับงานมาก มากจนบางทีเขาก็ลืมดูแลตัวเอง” พลอยบอก

“ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ผมบอกได้เลยว่าเหนื่อยมาก แต่ชัยชนะเล็ก ๆ แบบนี้เป็นความหวังให้ผมสู้ต่อ”

ปกป้องสิทธิชนพื้นเมือง

สามปีต่อมา พชรทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรที่มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เขายังเป็นอาสาสมัครในภาคีเครือข่าย #Saveบางกลอย ที่ทำงานต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลเรื่องสิทธิในที่ดิน

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติในผืนป่าบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีระหว่างพรมแดนไทยและพม่า พวกเขาปลูกผัก ล่าสัตว์ขนาดเล็ก อาศัยในบ้านไม้ที่เก็บไม้มาจากป่า และดูแลรักษาทรัพยากรในผืนป่าที่พวกเขาต้องพึ่งพิงมาหลายชั่วอายุคน

แต่วิถีของชุมชนเริ่มสั่นคลอนในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 ที่รัฐบาลไทยประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และในปี 2540 เจ้าหน้าที่ได้บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากในที่ใหม่ที่ห่างจากพื้นที่เดิมไป 20 กิโลเมตร

เจ้าหน้าที่ยืนยันกับชุมชนว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่หลายครอบครัวกลับได้อยู่ในพื้นที่เสื่อมโทรม และไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก หลายคนไม่ได้รับการเยียวยาเพราะพวกเขาไม่มีเอกสารทางราชการที่ระบุว่าเขามีสัญชาติไทย

รัฐบาลได้ชี้แจงว่าการย้ายถิ่นฐานนี้เป็นไปเพราะข้อกังวลด้านความปลอดภัยบริเวณชายแดน และเป็นการปกป้องผืนป่า แต่สำหรับชาวกะเหรี่ยงแล้ว การทำเช่นนี้เป็นการพรากชุมชนจากถิ่นฐานที่ชอบธรรม หลังจากที่บางครอบครัวไม่สามารถทำมาหากินได้ บางคนจึงกลับไปตั้งถิ่นฐานที่เดิม

ในปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานเผาบ้านและทุ่งนาของชุมชนกะเหรี่ยงไปกว่า 100 หลังคาเรือน เพื่อที่จะไล่ชุมชนออกไป และในปี 2557 “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิที่ดินชาวกะเหรี่ยงได้หายตัวไป หลังจากนั้นก็พบซากไหม้เกรียมของเขาในถังน้ำมันที่ถูกทิ้งไว้ในอ่างเก็บน้ำของอุทยาน

แม้ว่าจะเผชิญกับความรุนแรงหลายครั้งครา ชาวกะเหรี่ยงยังยืนกรานที่จะกลับไปอยู่ในผืนดินเดิมและได้เดินทางกลับไปในเดือนมีนาคม 2564 เมื่อกลับไปถึง พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่บังคับให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์และนำตัวออกไปพร้อมข้อหา “บุกรุก”

“ผมหยุดเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้” พชรกล่าว “ผมอยากร้องไห้มาก แต่ก็ทำไม่ได้ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ต่อหน้าชาวบ้าน”

สองสามเดือนหลังจากนั้น พชรได้รับข่าวไม่ดีนัก ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนผืนป่าที่เป็นบ้านของชุมชนกะเหรี่ยงเข้าไปในรายการมรดกโลก ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้พยายามถึง 3 ครั้งในการนำเสนอให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก แต่ไม่เป็นผล เพราะมีข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่นั่น

การต่อสู้ที่ยาวนาน

ในการประท้วง #Saveบางกลอย ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พชรโกนหัวและล่ามโซ่ตรวน เพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ไปพร้อมกับชาวกะเหรี่ยงและนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิคนอื่น ๆ ในวันนั้น พชรไม่สามารถกลั้นน้ำตาที่เขามีไว้ได้

“ผมเห็นเพื่อนในรุ่นเดียวกันใช้ชีวิตสนุกสนานอย่างเต็มที่ แต่ผมทำไม่ได้” พชรกล่าว “ผมต้องโตขึ้นให้ได้ เพราะในงานนี้ ผมจะใช้อารมณ์นำไม่ได้ เพราะชุมชนพึ่งพาคุณ”

พชรยังเชื่อว่าจะมีทางออกสำหรับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยให้ได้รับอนุญาตกลับเข้าไปอยู่ในป่าอย่างถูกกฎหมาย หลังจากการประท้วงที่กรุงเทพฯ แฮชแทก #Saveบางกลอย ก็กลายเป็นกระแสทางออนไลน์ และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิชนพื้นเมืองให้แก่คนไทยในวงกว้าง

“ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ผมบอกได้เลยว่าเหนื่อยมาก” เขาพูด “แต่ชัยชนะเล็ก ๆ แบบนี้เป็นความหวังให้ผมสู้ต่อ”

การเคลื่อนไหวของเยาวชนเพื่อประชาธิปไตยได้ช่วยจุดประเด็น #Saveบางกลอย ให้ไปไกลกว่าเดิม พชรเชื่อว่าตอนนี้มีแรงผลักดันให้เกิดการต่อสู้ร่วมกันระหว่างคนเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียม

แม้ว่าเส้นทางการต่อสู้จะยาวไกลทั้งสำหรับชนพื้นเมืองและการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย พชรเชื่อว่าคนรุ่นใหม่พร้อมที่จะยืนหยัดและลุกขึ้นสู้เพื่อคนอื่น

พชรเชื่อว่าคนทุกคนในประเทศนี้เท่าเทียมกัน ทุกคนควรได้รับสิทธิเท่าเทียม และเขาก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ

กลุ่มชนพื้นเมืองในการปกป้องสิทธิในการอยู่อาศัยในผืนดินที่เคยอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ

หน้าที่ของเรา คือทำให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีเรา” พชรกล่าว “พวกเขาจะได้มีกำลังใจ พร้อมลุกขึ้นสู้”

 

บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน

นันทิชา โอเจริญชัย คือนักเขียนและนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมชาวไทย ที่มีความสนใจด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ลูค ดุกเกิลบี ช่างภาพและนักข่าว ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทย และเชี่ยวชาญงานทางด้านสารคดีและภาพถ่ายคนที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับหัวข้อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

Feature profiles

“รัฐสภาต้องคุยเรื่องชีวิตและเลือดเนื้อของผู้คน” เส้นทางต่อสู้การเมือง-เหมืองของเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

error: Content is protected !!