บทความต้นฉบับเรื่องนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ New Naratif
- กุมภาพันธ์ 24, 2022
ชนพื้นเมืองทั้งในประเทศไทยและอินโดนีเซียที่อาศัยอยู่ในผืนป่ามาหลายชั่วอายุคนกำลังเผชิญปัญหาในการอนุรักษ์ผืนป่าอันเป็นบ้านเกิดและวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน แต่การที่รัฐประกาศสร้างอุทยานแห่งชาติและบังคับให้ผู้อยู่อาศัยในผืนป่าออกจากพื้นที่ ทำให้พวกเขาไม่อาจสานต่อประเพณีและวิถีชีวิตบนดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้อีกต่อไป
พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร หรือ แบงค์ เพิ่งทานอาหารเช้าเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงเช้าของวันที่ 5 มีนาคม 2564 ตอนที่เฮลิคอปเตอร์หลายลำพากันลงจอดบนพื้นดินใกล้ชุมชน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้หลายคนก็กรูเข้ามาขับไล่ตัวเขาและครอบครัวออกจากบ้าน เคหสถานที่ก่อสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายแทบดูไม่ออกว่าเป็นบ้านกระจายตัวอยู่บนพื้นที่บริเวณแม่น้ำบางกลอยตอนบนภาคตะวันตกของประเทศไทย แบงค์เล่า
“น่าจะเรียกว่าเป็นเพิงพักพิง [มากกว่า] เราเพิ่งย้ายกลับมาที่บ้านบางกลอยบน ก็เลยยังไม่มีบ้านอยู่ เราสร้างที่พักขึ้นมาง่าย ๆ ให้พอได้ใช้นอนหลับตอนกลางคืน” เขากล่าว
แบงค์ย้ายกลับไปอยู่บางกลอยบนช่วงเดือนมกราคม 2564 พร้อมกับญาติพี่น้องชาวกะเหรี่ยงอีกหลายสิบคน การย้ายกลับไปครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ย้ายกลับตั้งแต่ปี 2554 หลังถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินและอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
ป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และได้รับการแต่งตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2524 รัฐบาลใช้ประเด็นของความมั่นคงตามแนวชายแดนมาอ้างเพื่อบังคับให้ชาวกะเหรี่ยงต้องย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ป่าครั้งแรกเมื่อปี 2540 โดยให้ย้ายจากพื้นที่ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” ไปอยู่ที่ใหม่ แต่พื้นที่หมู่บ้านแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่บางกลอยล่างกลับเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมและไม่เหมาะที่จะทำการเกษตร ดังนั้น ชาวบ้านบางคนจึงตัดสินใจย้ายกลับมาที่หมู่บ้านแห่งเก่า ต่อมาปี 2554 รัฐบาลได้เริ่มรณรงค์ให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้รับการรับรองเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก และได้ย้ายชุมชนกะเหรี่ยงให้ไปอยู่ที่อื่นอีกเป็นครั้งที่สอง
อีกสิบปีต่อมา เดือนกรกฎาคม 2564 แก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้ชาวกะเหรี่ยงพื้นเมืองหลายคนและก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนและการอนุรักษ์ระหว่างประเทศหลายแห่ง
แผนที่โดย Ellena Ekarahendy ขอบคุณภาพจาก : New Naratif
การขับไล่ออกจากพื้นที่จำนวนหลายครั้งทำให้ชาวกะเหรี่ยงหลายคนที่ก่อนหน้านี้เคยพึ่งพาอาศัยการทำเกษตรและหาปลาแบบยังชีพต้องออกไปทำงานรับจ้างรายวันในพื้นที่เขตเมือง แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พวกเขาหลายคนตกงานและต้องกลับไปอยู่บ้านเกิดอันเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่แก่งกระจาน จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมข้อหา “บุกรุก”
“ถูกจับแล้วก็ถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมด 87 คน แต่คนที่ถูกตั้งข้อหามีแค่ 27 คน เพราะคนที่ถูกจับมีทั้งคนแก่ เด็ก แล้วก็ทารกด้วย” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรที่ติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กล่าว “เจ้าหน้าที่ตำรวจมีชื่อแกนนำ…ซึ่งคนที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ออกมาพูด [เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น]”
ชุมชนบางกลอยเคยตกเป็นเป้าหมายการข่มขู่และกระทำรุนแรงมาก่อน นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงที่หลายคนรู้จักคือ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หายตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2557 หลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวไว้ด้วยข้อหาเก็บน้ำผึ้งป่าในอุทยานแห่งชาติ ขณะที่ถูกจับนั้น บิลลี่อยู่ระหว่างการช่วยเหลือกลุ่มชาวกะเหรี่ยงยื่นฟ้องชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น ชัยวัฒน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับไล่ชุมชนกะเหรี่ยงเมื่อปี 2554 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เผาบ้านเรือนและยุ้งข้าวเกือบ 100 หลัง ตามรายงานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
กฎหมายไทยกำหนดไว้ว่า อุทยานแห่งชาติจะต้องได้รับการอนุรักษ์สภาพธรรมชาติของพื้นที่ให้คงอยู่ตามธรรมชาติโดยปราศจากการรบกวนโดยมนุษย์ แต่ชนพื้นเมืองอย่างแบงค์และครอบครัวคือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานมาหลายชั่วอายุคน
“เป็นคำอ้างของอุทยาน” ธนาธร วิทยเบญจางค์ วัย 23 ปี นักศึกษานักกิจกรรมที่ร่วมจัดประท้วงสนับสนุนชุมชนบางกลอยที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 กล่าว “วาทกรรมที่ฝ่ายรัฐอ้างคือ ปล่อยให้ป่าเป็นป่าที่ไม่มีคนอยู่”
ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อมีการกำหนดอุทยานแห่งชาติขึ้นมาภายใต้ฉากหน้าของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นมักจะจบลงด้วยการที่ชุมชนพื้นเมืองต้องพลัดถิ่น ซึ่งพวกเขาเคยเป็นผู้พิทักษ์รักษาป่าไม้คนสำคัญตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา
เรื่องราวเดียวกัน แต่คนละประเทศ
ห่างจากแก่งกระจานประมาณ 2,000 กิโลเมตรในพื้นที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มิจัก ตัมปุง นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 กำลังพยายามจัดสรรเวลาทำงานส่งอาจารย์พร้อมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินของเพื่อนร่วมชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติบูกิต ดูอาเบลาส
มิจักมาจากชุมชนกึ่งเร่ร่อนชนเผ่าอุรังริมบา ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองทางตะวันตกของพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยอุดมไปด้วยป่าไม้ นามว่า บูกิตดูอาเบลาส พื้นที่แห่งนี้ชนเผ่าอุรังริมบาขนานนามกันว่า มาเกกัล ฮูลู โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2543 แต่สองทศวรรษต่อมา ชุมชนชาวอุรังริมบาประสบปัญหาในการคุ้มครองปกป้องขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ซึ่งเรียกกันว่า อาดัต
อาดัตและระเบียบทางสังคมที่มาควบคู่กันของชนเผ่าอุรังริมบานั้นหยั่งรากลึกในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษแห่งนี้ ตามธรรมเนียมแต่เดิมมา ชาวอุรังริมบาได้จัดสรรพื้นที่ภายในชุมชนสำหรับเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่คลอดบุตร ฝังศพ เพาะปลูกพืชผล จนถึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามคนเข้าเด็ดขาด โดยยึดตามประเภทของที่ดินและลักษณะภูมิประเทศ
แผนที่โดย Ellena Ekarahendy ขอบคุณภาพจาก : New Naratif
นโยบายด้านการอนุรักษ์ของรัฐบาลอินโดนีเซียได้กำหนดชุดเขตพื้นที่ใหม่ลงบนพื้นที่ป่าโดยไม่ได้คำนึงถึงการใช้ที่ดินตามประเพณีของชาวอุรังริมบาตั้งแต่ขั้นตอนแรก
“การกำหนดแผนการจัดการอุทยานแห่งชาติบูกิตดูอาเบลาสมีปัญหามาตั้งแต่ปี 2547 นโยบายที่กำหนดมาไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของเรา” มิจักกล่าว พร้อมเสริมว่า แผนการฉบับดังกล่าวได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2561 ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการด้านการจัดหมวดหมู่ที่ดิน โดยข้อตกลงฉบับปัจจุบันกำหนดให้การใช้ที่ดินยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนการที่จะย้ายชุมชนออกไปยังเขตกันชนที่อยู่พื้นที่ขอบด้านนอกของอุทยานด้วย ซึ่งจะเป็นการถอนรากถอนโคนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับป่ากึ่งเร่ร่อนให้หมดสิ้นไป
“เราได้เอกสารสำเนาแผนฉบับ 2547 มา” อดิตยา ดิปตา อนินดิตา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันโซโกลา ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาที่ทำงานร่วมกับชุมชนอุรังริมบามาตั้งแต่ปี 2546 กล่าว “เราอ่านแผนนั้นด้วยกัน พออ่านเสร็จ คนในชุมชนหลายคนตกใจ”
อุรังริมบาต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนเองในฐานะผู้เพาะปลูกและผู้เก็บหาของป่ามายังชีพ ในอดีต ครอบครัวแต่ละครอบครัวต้องการพื้นที่แค่ 6 ไร่ เพื่อใช้ปลูกข้าว มันสำปะหลังและผลิตผลตามฤดูกาลประเภทอื่น ๆ ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในครอบครัว แต่กฎระเบียบของอุทยานแห่งชาติได้จำกัดพื้นที่ที่อนุญาตให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้ จึงทำให้ชาวอุรังริมบาประสบปัญหาในการทำมาหาเลี้ยงครอบครัว ต่อมาช่วง 2553-2563 ชาวอุรังริมบาหลายคนก็ได้พากันทิ้งวิถีการเลี้ยงชีพด้วยการปลูกพืชและหาอาหารในป่ามาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา เพื่อให้มีรายได้มาซื้ออาหารจากตลาดแทน
“หมู่บ้าน 2 แห่งกับแม่น้ำสายเดียว ชาวบ้านเยอะขึ้น แต่แม่น้ำมีแค่สายเดียว หายังไงก็เลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกคนไม่ได้”
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ “เกอลอมปอก มาเกกัล เบอร์สาตุ” ได้พยายามรื้อฟื้น “เบฮุมา เบตานม” ขึ้นมา ซึ่งเป็นประเพณีการทำการเกษตรของชาวอุรังริมบา โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กลุ่มได้ร่วมกันระดมทุนสนับสนุนการจัดทำสวนนำร่องภายในอุทยานแห่งชาติบูกิตดูอาเบลาส และยังได้เริ่มบันทึกประเพณีการทำการเกษตรของอุรังริมบาขึ้นมา ด้วยหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนเริ่มทำการเกษตรปลูกพืชอาหารอีกครั้ง ทั้งนี้ ความพยายามดังกล่าวก็ประสบปัญหาความท้าทายในทางการเกษตร
“สิ่งที่เราทำอาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ เพราะทุกวันนี้มีศัตรูพืชมากขึ้น” มิจักกล่าว พร้อมเล่าว่าชาวอุรังริมบากำลังเผชิญปัญหาพืชผลทางการเกษตรลดลงจากอดีต
แม้ว่าชาวอุรังริมบาจะอาศัยและใช้ประโยชนจากผืนป่าได้อย่างยั่งยืน พร้อมกับทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องป่าไม้มาได้หลายชั่วอายุคน ท่ามกลางโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ชาวอุรังริมบาก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย ชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บางกลอยเองก็เผชิญปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารเช่นเดียวกัน ชาวบ้านที่นี่ถูกย้ายให้ไปอยู่ที่บางกลอยล่าง ซึ่งชุมชนกะเหรี่ยงอีกแห่งก็ถูกย้ายให้มาอยู่ที่นี่เหมือนกัน แต่ชาวกะเหรี่ยงทั้งสองกลุ่มทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการหาปลา ทำให้แม่น้ำเพชรบุรีไม่เพียงพอสำหรับการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม
“หมู่บ้าน 2 แห่งกับแม่น้ำสายเดียว ชาวบ้านเยอะขึ้น แต่แม่น้ำมีแค่สายเดียว หายังไงก็เลี้ยงปากเลี้ยงท้องทุกคนไม่ได้” แบงค์กล่าว
หลังถูกบังคับให้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บางกลอยล่าง ชาวกะเหรี่ยงต้องเผชิญกับปัญหาดินแห้งแล้งที่แทบจะปลูกข้าวกินไม่ได้ ผืนดินแห่งใหม่ที่ย้ายมาอยู่นี้ไม่เหมาะที่จะทำไร่หมุนเวียน และปัญหาขาดสารอาหารก็กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนอีกปัญหาหนึ่ง ส่งผลให้คนในชุมชนเกิดปัญหาด้านสุขภาพ ตั้งแต่ปวดท้องไปจนถึงปวดหัวเรื้อรัง ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนต้องพึ่งพาอาหารที่คนภายนอกบริจาคให้ แต่ทางการก็ห้ามไม่ให้นำเข้ามา
“บางครั้งชาวบ้านไม่มีอาหาร คนจากข้างนอกที่เข้าใจปัญหาก็พยายามส่งอาหารแล้วก็สิ่งของอื่น ๆ มาให้ แต่ก็เอาเข้ามาไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจไม่ยอมให้เอาอาหารมาให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ” กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี จากมูลนิธิชนพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าว
กิตติศักดิ์กล่าวเสริมว่าพื้นที่บางกลอยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด และบ่อยครั้งไม่อนุญาตให้นักข่าวและนักวิจัยเข้าพื้นที่ “จากประสบการณ์ของผมคือแปลกมาก เพราะเราเข้าไปได้ทุกที่ในประเทศ ยกเว้นที่นี่”
การคุกคามที่เกิดขึ้นทุกวัน
กิตติศักดิ์เล่าว่า ชาวกะเหรี่ยงยังเข้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ยากอยู่ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก จุดตรวจเข้มงวดที่อยู่ทางตอนเหนือของอุทยานคือจุดที่บิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไป ถูกควบคุมตัวและพบเห็นครั้งสุดท้าย จุดตรวจที่นี่จึงยังเป็นจุดที่ยังคงสร้างความปวดร้าวให้แก่คนในพื้นที่
“ด่านคั่นอยู่ตรงกลางระหว่างหมู่บ้านกับโลกข้างนอก บิลลี่ถูกอุ้มที่ด่านนั้น ชาวบ้านทุกคนก็ต้องเดินทางผ่านด่านนั้น” พรเพ็ญ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าว “มันเจ็บปวดมากนะที่ต้องผ่านด่านตรวจนั้น แล้วรู้ว่าญาติของเรา เพื่อนของเรา ถูกอุ้มหายไปจากที่นี่”
แบงค์กล่าวว่า ชุมชนกะเหรี่ยงมักถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานข่มขู่ ดังนั้น ตอนที่ตัวเขาได้ยินเฮลิคอปเตอร์บินเข้ามาช่วงเช้าวันที่ 5 มีนาคม 2564 เขารู้ได้ทันทีว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่กำลังมาจับตัวชาวบ้าน
“เรารู้ว่าเป็นพวกเจ้าหน้าที่ เพราะพวกเขามีหน่วยลาดตระเวนอยู่เต็มไปหมด” แบงค์อธิบาย “เฮลิคอปเตอร์ไม่ได้มาแค่ครั้งเดียว… ตั้งแต่มกราคมถึงมีนาคม มีเฮลิคอปเตอร์บินมาหลายครั้งมาเจรจาขอให้เราออกไป”
แต่เมื่อชุมชนปฏิเสธที่จะย้ายออกจากผืนดินของบรรพบุรุษ พวกเขาเลยถูกจับ
“เขามัดมือผมไขว้ไว้ด้านหลัง ไม่ได้มัดมือทุกคน มัดเฉพาะผู้ชาย” ชัยยศ มีมิ วัย 18 ปี ชาวบ้านบางกลอยที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว กล่าว
“เราเคยเจอคนที่ญาติพี่น้องถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับแล้วถูกจำคุก ข้อหาเข้าพื้นที่อุทยานไปเก็บพริกไม่กี่เม็ด” ซีเนอ เลธ ที่ปรึกษาของคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อกิจการชนเผ่าพื้นเมือง กล่าว “สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลไม่มีทางเลือกอื่นให้พวกเขามีชีวิตอยู่รอดได้”
ที่เกาะสุมาตรา ชาวอุรังริมบาก็เผชิญกับการถูกข่มขู่คุกคามรุนแรงจากภายนอกชุมชน และเผชิญปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าของสวน แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นยังไม่มีการรายงานข่าวให้สังคมรับรู้มากนัก
“มีการใช้อาวุธปืน ข่มขืน ฆ่า เกือบทุกปี” มิจักกล่าว “หากมีการทำผิดอาญาหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือทางวาจาเกิดขึ้นกับชาวอุรังริมบา ก็มักจะแก้ปัญหาตามกฎอาดัต” กฎหมายจารีตประเพณีไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าผู้กระทำความผิดไม่ได้ถูกดำเนินคดีจริง
แม้จะเผชิญอุปสรรค แต่ทั้งสองชุมชนที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยต่างก็พยายามต่อสู้เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสิทธิในที่ดินด้วยวิธีการของตนเอง ที่บางกลอย การหายตัวไปของบิลลี่ได้กระตุ้นให้ชุมชนกะเหรี่ยงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้กลับไปอยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษอีกครั้ง
“ตอนที่บิลลี่หายตัวไป มันทำให้ผมต้องเข้มแข็งแล้วก็ลุกขึ้นมาสู้ต่อ” แบงค์กล่าว นับตั้งแต่นั้นมา เขาได้เข้ารับมารับบทบาทการทำงานแทนบิลลี่ โดยรับหน้าที่เป็นตัวแทนของชุมชนในการสานต่อการสู้
เดือนธันวาคม 2564 แบงค์และชาวบ้านคนอื่น ๆ พากันเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบงค์บอกว่าไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยปกป้องสิทธิในที่ดินและความมั่นคงด้านอาหารของชาวบ้าน นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังช่วยกันรณรงค์ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งด้านสิทธิในที่ดิน
เดือนมกราคม กลุ่มบางกลอยยังได้เข้าร่วมการรณรงค์ซึ่งจัดโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ ที่กรุงเทพฯ หลังจากร่วมประท้วงเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อาสาเป็นประธานคณะกรรมการอิสระ ซึ่งชุมชนชาวบ้านกะเหรี่ยงมองว่าเป็นสัญญาณที่ดี
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบางคนกลับค้นพบทีหลังว่าทางตำรวจได้ตั้งข้อหาพวกเขาฐานละเมิด พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 จากการเข้าร่วมการประท้วง
ขณะเดียวกัน ชุมชนอุรังริมบาก็ได้รับสิทธิ์ในการจัดการอุทยานแห่งชาติร่วมกันเมื่อปี 2561 หลังกลุ่มเกอลอมปอก มาเกกัล เบอร์สาตุซึ่งมิจักเป็นประธาน ได้ผลักดันมานานกว่าทศวรรษ โดยทางกลุ่มได้จัดเวทีสนทนา อารยะขัดขืนหรือการขัดขืนอย่างสงบ เช่น นำเอาแนวปักเขตที่ดินของทางการออก และทำ “แผนที่ตอบโต้” ด้วยการสร้างแผนที่ทางเลือกเพื่อตอบโต้แนวเขตของทางการพร้อมกับยืนกรานในอธิปไตยชุมชน โดยทางชุมชนชาวอุรังริมบาได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ไปยังสำนักงานจัดการอุทยานแห่งชาติบูกิตดูอาเบลาสและสถาบันแห่งอื่นของรัฐ รวมถึงสำนักงานบริหารของประธานาธิบดี
“สำหรับเราแล้ว ปัญหาหลักคือการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือผู้นำ” มิจักกล่าว “โดยปกติ ทุกห้าปี จะมีการเปลี่ยนหัวหน้าสำนักงาน นโยบายก็จะเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีนำเสนอปัญหาและการแสดงข้อกังวลด้วย” ทั้งนี้ มิจักเสริมว่า ผู้นำคนปัจจุบันให้การตอบรับต่อคำวิจารณ์และข้อเสนอแนะของชาวอุรังริมบาดีกว่าหัวหน้าคนก่อน ๆ
“หัวหน้าอุทยานคนปัจจุบันให้การตอบรับต่อคำร้องขอของเรา เรื่องการแก้ไขระบบกำหนดแบ่งเขตเป็นอย่างดี เขาให้ความสำคัญต่อชุมชนพื้นเมือง โดยเขามองว่า อุทยานแห่งชาติจะไม่สามารถดำเนินไปด้วยดีหากชาวอุรังริมบาไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการ”
ผู้พิทักษ์ผืนป่า
ชุมชนพื้นเมืองทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับการถูกประณามจากการดำเนินชีวิตตามวิถีดั้งเดิมและมักถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ของบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่มานานหลายทศวรรษ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลไทยได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำเกษตรแบบหมุนเวียนว่าเป็นไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นวิธีการทำการเกษตรที่ปลูกพืชหลายชนิดและหมุนเวียนที่ดินเพื่อปล่อยให้ผืนดินฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ การทำเกษตรแบบนี้ยังใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดวัชพืช ทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าและมลพิษทางอากาศ
พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลงจนน่ากังวลทำให้ประเทศไทยสร้างภาพว่าการทำไร่หมุนเวียนนั้นไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและผิดกฎหมายป่าไม้ต่างๆ ช่วงปี 2503 และกำหนดพื้นที่หลายแห่งให้เป็น “พื้นที่ป่าสงวน” โดยรัฐบาลได้ตำหนิวิถีทำเกษตรกรรมของชนกลุ่มน้อยพื้นเมืองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ผลที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานรัฐหลายแห่งได้ย้ายชนกลุ่มน้อยพื้นเมืองหลายชุมชนออกจากพื้นที่คุ้มครอง
ทุกวันนี้ ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยยังคงต้องเผชิญกับบทลงโทษรุนแรงของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2563 ซึ่งอาจถูกจำคุกสูงสุด 20 ปี และปรับอีก 2 ล้านบาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานบุกรุกและกระทำความผิดอื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน ที่อินโดนีเซีย ตัวแทนจากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจัมบีของรัฐบาลอ้างเมื่อปี 2550 ว่า การทำไร่แบบถางและเผาของชาวอุรังริมบา ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบหมุนเวียนด้วยการเผาพื้นที่ เป็นการทำลายผืนป่า
“ชุมชนพื้นเมืองหลายแห่งทำการเพาะปลูกแบบถางและเผา หรือการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งมีรายงานยืนยันว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน” ซีเนอ เลธ จากคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อกิจการชนเผ่าพื้นเมือง กล่าว “เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วทั้งเอเชีย ไม่ได้เกิดขึ้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก มีชนเผ่าพื้นเมืองถูกดำเนินคดี ข่มขู่คุกคาม และถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ รวมถึงถูกกล่าวหาว่าเป็นคนที่ขัดขวางการพัฒนาหรือเป็นคนทำลายสิ่งแวดล้อมกับพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ใช่ผู้พิทักษ์ป่าไม้อย่างที่เป็นอยู่จริง”
นักเคลื่อนไหวชนพื้นเมืองกล่าวว่า การแก้ปัญหานี้ส่วนหนึ่งจะต้องแก้ด้วยการผลักดันให้มีแนวทางที่เปิดให้มีผู้คนส่วนร่วมมากกว่านี้ เพื่อให้เข้าใจว่าการอนุรักษ์ที่แท้จริงคืออะไร อดิตยา ดิปตา อนินดิตา จากสถาบันโซโกลา กล่าวว่า “ผู้กำหนดนโยบายควรให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมดำเนินการ ไม่ใช่ทำตามนโยบายอย่างเดียว”
“นั่นคือสิ่งที่เราต้องสร้าง ทำให้วิถีชีวิตของชาวอุรังริมบากับความพยายามอนุรักษ์ดำเนินคู่กันให้ได้ เพื่อปกป้องผืนป่า” มิจักกล่าวเสริม
แต่ชุมชนอุรังริมบาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า พร้อมกับนักเคลื่อนไหว ไม่ได้เรียกร้องขอให้พวกเขามีส่วนร่วมเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจหลักในการอนุรักษ์ป่าไม้
“ถ้าเป็นไปได้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในสำนักงานอุทยานอย่างน้อยครึ่งหนึ่งควรเป็นคนที่มาจากชุมชนอุรังริมบา พวกเขาควรเป็นคนที่ตัดสินใจเกี่ยวกับพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษตัวเอง” เดดิ กุสเตียน ผู้ประสานงานการจัดทำแผนที่อย่างมีส่วนร่วมของของมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม CAPPA กล่าว
สุดท้ายแล้ว ชุมชนพื้นเมืองทั้งสองแห่งต่างต้องการที่จะ “ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข” บนพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษตัวเอง กิตติศักดิ์ จากมูลนิธิชนพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม กล่าว แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เขาเชื่อว่า รัฐบาลจะต้องให้การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของชนพื้นเมืองก่อน
“สิ่งที่ชาวกะเหรี่ยงอยากได้คือ ที่ดินที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร รัฐบาลจัดสรรที่ดินที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตรได้หรือไม่” กิตติศักดิ์กล่าว “รัฐบาลบอกว่าจัดสรรที่ดินให้แล้ว แต่ไม่ได้บอกต่อว่าที่ดินที่ให้นั้นไม่ดียังไง”
ในประเด็นความกังวลเรื่องความยั่งยืนของป่าไม้นั้น นักเคลื่อนไหวพื้นเมืองกล่าวว่า ชุมชนจะต้องเป็นผู้นำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวทางปฏิบัติของชนพื้นเมืองมีความยั่งยืนและสำคัญต่อการอนุรักษ์ป่าไม้ ในการทำเช่นนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถช่วยกันกำหนดนโยบายการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติที่มีลักษณะเคารพและสนับสนุนการทำงานของชาวบ้านผู้พิทักษ์ดูแลป่าไม้มาตั้งแต่ดั้งเดิม
“ป่าคือบ้านของเรา คือบ้านของบรรพบุรุษเรา เราช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของธรรมชาติมาตลอด” แบงค์กล่าว “ถ้าสิ่งที่รัฐบาลพูดเป็นความจริง ถ้าเราเป็นคนทำลายป่าไม้ เราคงไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากมายเช่นนี้ แก่งกระจานคงจะไม่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ถ้าไม่มีเราคอยดูแลปกป้องผืนป่าแห่งนี้”
ผลงานฉบับนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการ SEAFORE ASEAN Masterclass สนับสนุนโดย IWPR
ซามิรา ฮัสสาน เป็นนักเขียน นักวิจัย และนักแปล โดยมีประสบการณ์เคยทำงานประเด็นด้านการอพยพย้ายถิ่น เชื้อชาติ และสุขภาพจิตในประเทศสิงคโปร์ บังคลาเทศ และเกาหลีใต้ หากมีเวลาว่าง ซามิรามักใช้เวลาคอยดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้รอดชีวิต
ซาห์นัส เมลาซานดี เป็นนักจัดตั้งชุมชน นักวิจัย และนักแปลอิสระที่อาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน การเคลื่อนไหวทางสังคม เพศภาวะ วรรณกรรม และศิลปะ เธอร่วมก่อตั้งชมรมนักอ่านนามว่า LiteraSEA โดยเน้นอ่านวรรณกรรมของนักเขียนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีสมาชิกชมรมที่อาศัยอยู่ทั้งในและนอกภูมิภาคแห่งนี้
More Features
- 8 กุมภาพันธ์ 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 31 พฤษภาคม 2023
- by HaRDstories
- 3 ธันวาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์