ชีวิตในสุญญากาศทางกฎหมายและความหวัง: ชะตา ‘โรฮิงญา’ ที่รัฐไทยมองไม่เห็น

ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อปี 2563 ยืนมองโลกภายนอกจากห้องพักในกรุงเทพมหานคร วิศรุต วีระโสภณ / HaRDstories

ทีมข่าว HaRDstories พบว่า ชาวโรฮิงญาที่ตกค้างหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องจ่ายเงินทีละหลายหมื่นบาทให้กับเครือข่าย “นายหน้า” เพื่อแลกกับเอกสารยืนยันตัวตนที่จะช่วยให้อยู่ในไทยโดยไม่ต้องเสี่ยงถูกจับ แต่ชาวโรฮิงญาที่ไม่มีเงินจ่ายให้กับนายหน้ากลับถูกผลักให้อยู่นอกการคุ้มครองของกฎหมายต่อไป

ไซยีดะต้องจากบ้านเกิดของเธอในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เพื่อไปอาศัยในค่ายลี้ภัยค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ตั้งแต่อายุ 14 ปี  เธอมีชะตากรรมเช่นเดียวกับชาวโรฮิงญาอีกนับล้านคน ที่เผชิญการกีดกันหลากหลายรูปแบบจากทางการเมียนมา

ชีวิตในค่ายลี้ภัย มีเพียงอาหารประทังชีวิตและเต็นท์ที่พักให้เธอ ไม่มีการศึกษาหรืองานให้แก่เด็กผู้หญิงในวัย 14 ปีคนนี้ ต่อมาเมื่อเธออายุ 18 ปี ครอบครัวตัดสินใจส่งเธอไปแต่งงานกับชายชาวโรฮิงญาที่เธอไม่เคยรู้จักที่ทำงานอยู่ประเทศมาเลเซีย ครอบครัวชาวโรฮิงญาจำนวนมากมองว่า การจำใจส่งลูกสาวตัวเองไปแต่งงานย่อมดีกว่าการให้พวกเธอมีชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีอนาคต

ชาวโรฮิงญาโดยส่วนใหญ่ที่อาศัยในประเทศมาเลเซีย มักเป็นแรงงานเพศชาย เมื่อพวกเขาต้องการแต่งงาน ก็มักจะหาเจ้าสาวที่เป็นชาวโรฮิงญาด้วยกันจากพม่าหรือบังกลาเทศ สินสอดที่ฝ่ายชายเสนอให้นั้นมักเป็นค่าเดินทางมายังมาเลเซีย ในกรณีของไซยีดะเธอได้รับข้อเสนอเป็นค่าเดินทางจำนวน 10 ล้านจัต (166,577 บาท) เพื่อเดินทางจากบังกลาเทศไปยังมาเลเซีย ไซยีดะใช้วิธีว่าจ้างนายหน้า โดยตกลงจ่ายเงินให้ก่อนครึ่งหนึ่ง และจะจ่ายให้อีกครึ่งหนึ่งเมื่อได้พบว่าที่สามี (และสินสอด) ของเธอ

จากค่ายผู้ลี้ภัยที่ค็อกซ์บาซาร์ ไซยีดะขึ้นเรือมายังเมืองแห่งหนึ่งในบังกลาเทศ และเดินทางด้วยเรืออีกครั้งไปยังชายฝั่งในจุดใกล้เมืองย่างกุ้งมากที่สุด ไซยีดะต้องเดินเท้าอยู่ในป่าเกือบ 1 เดือน… กระทั่งเธอทราบข่าวว่า  ฝ่ายชายยกเลิกแผนที่จะแต่งงานเสียแล้ว และไม่ยอมจ่ายเงินค่าเดินทางให้เธอ ไซยีดะถูกนายหน้ากักตัวไว้เป็นนักโทษทันที  

“ฉันตกอยู่ในที่นั่งลำบากแน่ๆ ถ้าไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนให้พวกนายหน้าได้” ไซยีดะกล่าวผ่านล่าม 

ช่วงเวลานั้นเธอหวาดกลัวอย่างมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวโรฮิงญาว่า ใครที่ตกอยู่ในสภาพแบบเธอและหาเงินมาไถ่ตัวไม่ได้ ผู้ชายมักจะถูกรุมทำร้ายทุบตีและผู้หญิงจะถูกข่มขืน ก่อนที่นายหน้าจะเอาตัวไปขายต่อให้ขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อใช้เป็นแรงงานทาสต่อไป

ในห้วงความเป็นความตายของไซยีดะ เธอได้รู้จักกับชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในเมืองย่างกุ้งผ่านแชทแอพพลิเคชั่น และเล่าเรื่องราวของเธอให้เขาฟัง ในไม่นาน ทั้งสองเริ่มพูดคุยกันอย่างสนิทใจ จนกลายเป็นความสัมพันธ์

“ผมทำงานอยู่ที่ย่างกุ้งพอมีเงินและเกิดความรู้สึกดีกับเธอ เลยตัดสินใจให้ครอบครัวของทั้งสองฝั่งได้คุยกัน เราสองคนรักกันจึงตัดสินใจอยู่ด้วยกัน” อดุล ชายหนุ่มร่างเล็กผมหยักศก เล่าถึงความหลัง

ในที่สุด อดุลนำเงินเก็บของตัวเองไปจ่ายให้นายหน้าเพื่อไถ่ตัวไซยีดะออกมา ทั้งสองตัดสินใจเดินทางจากเมืองย่างกุ้งมาสู่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา จากนั้นจึงข้ามชายแดนมายังประเทศไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ในเดือนธันวาคม 2565 

ไซยีดะและอดุลเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของชาวโรฮิงญานับแสนชีวิตที่หลบหนีการปราบปรามจากรัฐบาลพม่า ซึ่งปะทุขึ้นในปี 2533 แต่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรุนแรงตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมักคุ้นเคยกับชาวโรฮิงญาจากภาพและข่าวคลื่นมนุษย์ผู้ลี้ภัยที่เดินทางผ่านไทยเพื่อไปยังประเทศที่สามอย่างมาเลเซีย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีชาวโรฮิงญาหลายคนอย่างไซยีดะและอดุล ที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะด้วย “ความจำเป็น” ที่ทำให้พวกเขาตกค้างอยู่ในไทย หรือ “ทางเลือก” เพราะมองว่าประเทศไทยให้อนาคตพวกเขาได้ดีกว่าประเทศบ้านเกิด หรือการต้องไปตายเอาดาบหน้าในประเทศอื่นๆ 

แต่ไม่ว่าพวกเขาจะยังคงอยู่ในไทยด้วยเหตุผลใด ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ต่างเป็น “บุคคลไร้สถานะ” ในสายตาของรัฐไทย สุญญากาศทางกฎหมายเช่นนี้ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างไม่มีอนาคตที่แน่นอน อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และต้องพึ่งพิงระบบ “ส่วย” ที่จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง

นี่คือเรื่องราวของชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ผู้มีสภาพเสมือนประชากรที่ภาครัฐมองไม่เห็น ที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในเงามืด และคอยแสวงหา “พื้นที่” ในบ้านใหม่ที่พวกเขาใช้พึ่งพิง

ราคาที่ต้องจ่ายกับการเป็นคนไร้ตัวตน

ยามเช้าใน จ.สงขลา ทางตอนใต้ของประเทศไทย ภายใต้ร้านอาหารมุสลิมที่คับคั่งไปด้วยลูกค้ามาเลือกซื้ออาหารเช้า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีประมาณ 200 หลังคาเรือนของชาวไทยมุสลิม  มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ร่วมกับพวกเขา 3 หลังคาเรือน 

แม่ค้าในร้านอาหารดังกล่าวให้ความเห็นถึงชาวโรฮิงญาในละแวกนี้ว่า มีชีวิตความเป็นอยู่และฐานะไม่ต่างจากคนไทย

“รวยกว่าคนไทยแล้วโรฮิงญาที่นี่”

ตรงข้ามกับร้านอาหารแห่งดังกล่าว เป็นบ้านไม้สองชั้นในสภาพทรุดโทรม ลานหน้าบ้านถูกจับจองด้วยรถมอเตอร์ไซต์พ่วงข้างที่เอาไว้ขายโรตี มีกองหมากตากแห้งเรียงรายอยู่บนพื้น ผู้เช่าบ้านดังกล่าวคืออิบราฮิม ชาวโรฮิงญาวัย 32 ปี ที่อยู่เมืองไทยมากว่า 20 ปี เขาและชาวโรฮิงญาคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน จำเป็นต้องปกปิดนามสกุลเต็ม เพราะการไม่ได้มีสถานะอยู่อาศัยในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย

“ตอนผมอายุ 12 ปี (ปี 2546) มีการปราบปรามชาวโรฮิงญามาตลอด ตอนนั้นทางบ้านผมยากจน จึงตัดสินใจเดินทางออกมา” เขาพูดด้วยภาษาไทยคล่องแคล่ว

ชายหนุ่มผิวเข้ม นัยน์ตาโต รูปร่างเล็ก เขามาจากครอบครัวที่เคยมีฐานะในเมืองซิตตเว เมืองท่าและเมืองหลักของรัฐยะไข่ ครอบครัวเขามีเรือหาปลา 3 ลำ มีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ไม่นานก็ถูกรัฐบาลพม่ายึดทรัพย์สิน ในช่วงเวลาที่มีการปราบปรามชาวโรฮิงญาตั้งแต่ปี 2523 

เขาตัดสินใจเดินทางออกมาทางเรือเลียบชายฝั่งเข้ามายังเมืองย่างกุ้ง ทำงานเป็นช่างเชื่อมเหล็กเก็บเงินอยู่ 1 ปี โดยมีเป้าหมายการเดินทางอยู่ที่ประเทศไทย

“ในความเป็นมนุษย์ ที่ไทยให้ผมได้มากกว่าพม่า”

แต่ใช่ว่าชีวิตในเมืองไทยจะราบรื่น หลังจากเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง อิบราฮิมจ่ายเงินให้นายหน้าพาข้ามมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย ทำงานอยู่ร้านขายของชำอีก 6 เดือน จ่ายเงินให้นายหน้าอีกครั้ง เพื่อพาเขามาทำงานอยู่แคมป์ก่อสร้างที่กรุงเทพฯ ในระหว่างนั้นอิบราฮิมได้โทรศัพท์ติดต่อกับชาลีดะ พี่สาวของเขา ที่เดินทางมายังประเทศไทยก่อนหน้าเขาไม่กี่เดือน ชาลีดะชักชวนให้อิบราฮิมมาใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.สงขลาด้วยกัน เขาตอบตกลงและเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเขาที่นั่นจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้เพื่อนบ้านบางคนจะเข้าใจว่า ชาวโรฮิงญาอย่างเขามีฐานะดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว อิบราฮิมต้องทำงานรัดตัวหลายงานพร้อมกัน ทั้งขายโรตี เชื่อมเหล็ก ซ่อมรถมอเตอร์ไซต์ แบกไม้ และเป็นล่ามให้กับศาลและสถานีตำรวจในพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อเก็บเงินส่งให้พ่อแม่และน้องสาวเดินทางหลบหนีออกมาจากรัฐยะไข่

“มีการปราบปรามพวกเราที่รัฐยะไข่มาโดยตลอด พวกผมอยู่ไม่ได้จริงๆ แรงงานพม่าเขามาไทยเพื่อหาเงิน แต่พวกเราชาวโรฮิงญามาเพื่อขอลี้ภัย”

อิบราฮิมและครอบครัวเริ่มต้นทำงานตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า พ่อของอิบราฮิมนำแป้งโรตีมานวดในกะละมัง แม่ของเขาปอกหมากที่กองอยู่เต็มบ้าน ด้านหลังของบ้านอาแลดะ ภรรยาของอิบราฮิมที่ตั้งครรภ์ลูกคนแรกกำลังทำงานบ้านอยู่ ในขณะที่อิบราฮิมคุยโทรศัพท์ เขาตอบตกลงปลายสายพร้อมรอยยิ้มเมื่อมีคนมาจ้างเขาให้ไปเชื่อมเหล็ก

ภาพที่เห็นตรงหน้าคือครอบครัวชาวโรฮิงญาที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่เบื้องหลังนั้นอิบราฮิมกล่าวว่า เขาต้องทำงานอย่างหนักและเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมอยู่บ่อยครั้งในประเทศไทย เขากล่าวว่านับเกิน 10 ครั้ง ที่ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐครั้งละ 5,000 – 30,000 บาท เพราะว่าเขาไม่มีบัตรยืนยันสถานะของตัวเอง 

“คือตอนนี้ผมกับพ่อแม่ไม่ใช่คนพม่า ไม่ใช่คนโรฮิงญา ไม่ใช่คนไร้สัญชาติ เหมือนคนไม่มีตัวตนบนโลกนี้”

หากย้อนไปตามประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญา พวกเขาคือกลุ่มชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐยะไข่มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 1973 จนถึงปี 2327 พวกเขาถูกปกครองโดยจักรวรรดิพม่า มีความขัดแย้งระหว่าง 2 ชนชาติมาตลอด จนกระทั่งในปี 2491 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ชาวพม่าได้เป็นแกนหลักในการจัดตั้งประเทศใหม่ และได้ออกกฎหมายพลเมืองในปี 2525 โดยในเอกสารได้ระบุยืนยันถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้ตั้งถิ่นฐานในเมียนมาทั้งสิ้น 135 กลุ่ม แต่ไม่นับรวมชาวโรฮิงญา 

ไม่ต่างกันชาวโรฮิงญาที่อพยพมายังประเทศไทย ก็ไม่ได้รับสถานะบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องอาศัยสถานะแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ได้สิทธิในการอยู่ในอาศัยและทำงาน แต่เมื่อต้องทำการพิสูจน์สัญชาติ ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ชาวโรฮิงญากลับถูกปฏิเสธสถานะจากรัฐบาลพม่า 

ทางออกเดียวสำหรับอิบราฮิมและชาวโรฮิงญาอีกหลายคน คือต้องยอมจ่ายเงินให้กับนายหน้า ที่ใช้ช่องทาง “พิเศษ” ช่วยทำเรื่องพิสูจน์สัญชาติกับสถานทูต และออกพาสปอร์ตเล่มสีเขียวหรือที่เรียกกันว่า “เล่ม CI” อันเป็นหนังสือรับรองสถานะบุคคล ที่ทางการพม่าออกให้แรงงานพม่าชั่วคราว 

อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวต้องแลกด้วยเงินจำนวนมหาศาลสำหรับชาวโรฮิงญาที่ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ในขณะที่ชาวเมียนมาทั่วไปจ่ายเงินประมาณ 3,000 – 6,000 บาท ให้นายหน้าเดินเรื่องทำเล่ม CI แต่บรรดานายหน้ามักเรียกราคาที่สูงกว่าหลายเท่าตัวกับชาวโรฮิงญา ตัวอิบราฮิมเองกล่าวว่า ตอนที่เขาจ้างนายหน้าให้พ่อกับแม่ของเขาได้รับพาสปอร์ตเล่มสีเขียว เขาต้องเสียเงินสูงถึง 37,000 บาท “ต่อเล่ม” 

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทย ก็ให้ข้อมูลกับ HaRDstories เช่นกันว่า ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย เนื่องจากความที่ไม่ชัดเจนของเอกสารการยืนยันสถานะของตัวเอง ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะถูกเนรเทศพ้นประเทศเมื่อใดก็ได้

ทางด้านซายิด มาลัม ประธานชมรมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา กล่าวว่าการพิสูจน์สัญชาติคือปัญหาสำคัญ โดยจำนวนเงินที่ชาวโรฮิงญาต้องจ่ายให้กับนายหน้านั้นอยู่ที่ประมาณ 20,000 – 30,000 บาท มากไปกว่านั้นคือการถูกเรียกค่าไถ่หรือการถูกเก็บส่วยจากเจ้าหน้าที่รัฐไทย ซายิดบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่ชาวโรฮิงญาต้องเจอ 

“บางคนขายโรตี ต้องจ่ายรายเดือน 3,000 – 4,000 บาท ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อที่จะขายได้” ซายิดกล่าว

ทีมข่าว HaRDstories ได้พยายามติดต่อสถานทูตเมียนมาในไทยเพื่อขอความเห็นกรณีการพิสูจน์สัญชาติของชาวโรฮิงญา แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมาจากสถานทูต

สำหรับอิบราฮิมนั้น เขาจำใจจ่ายเงินนายหน้าก้อนใหญ่เพื่อแลกกับเอกสารให้พ่อกับแม่เขา จะได้มีสิทธิในการไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล เพราะพ่อของเขาเป็นเบาหวานและแม่เป็นไทรอยด์

“ขอเพียงอย่างเดียวจากรัฐบาลไทยคือ ขอให้พวกผมได้มีสิทธิที่จะอยู่ในประเทศไทย เรื่องการทำมาหากิน พวกผมหากินกันเองได้”

ทุกวันนี้อิบราฮิมยังไม่สามารถไปต่ออายุบัตรแรงงานข้ามชาติ เพราะเขายังมีเงินไม่พอ หลังทำงานเชื่อมเหล็กเสร็จในตอนเที่ยงวัน เขารับเงินจากนายจ้าง 500 บาท อิบราฮิมบอกว่าใน 1 เดือน จะมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท ที่ต้องแบ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้ ค่าไฟ 700 บาท ค่าน้ำ 150 บาท ค่าบ้าน 1,300 บาท และค่ากินกับใช้สอยต่างๆ ในครอบครัวเดือนละ  6,000 บาท โดยมีรายได้เสริมบ้างจากการขายหมากและการขายโรตีของพ่อเขา

“ท้อไม่ได้” อิบราฮิมกล่าว “ผมเกิดมากับความโชคร้าย ก็คงโชคร้ายไปจนตาย สิ่งเดียวที่ผมขอคืออย่าให้ผมป่วย ขอสอวมือสองแขนยังมีแรง ไม่ว่าทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรผมจะสู้ไม่ถอย”

ความฝันของสาวโรฮิงญา อยากให้ลูกจบปริญญา

ถัดจากบ้านของอิบราฮิมไปประมาณ 300 เมตร เป็นบ้านของชาลีดะ พี่สาวของอิบราฮิม เธอพักอาศัยอยู่กับสามีและลูกสาวอีก 4 คน ชาลีดะพูดภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วเช่นเดียวกับน้องชาย

“ตอนอยู่พม่า ไม่เคยมีความสุขเลย ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ยิ่งอยู่นานไปสถานการณ์ยิ่งเลวร้าย ไม่มีอะไรดีขึ้น” 

ชาลีดะวัย 37 ปี  หยิบรูปถ่ายใบสุดท้ายที่ถ่ายร่วมกับเพื่อนๆ ในโรงเรียนของเธอออกมาให้ดู เธอเล่าว่า ไม่นานหลังถ่ายรูปนี้ เธอตัดสินใจเดินทางออกมาจากบ้านเกิดในเมืองซิตตเว เข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่อายุ 17 ปี เพราะความยากลำบากในการใช้ชีวิตในประเทศพม่า

“รัฐบาลพม่าไม่ให้เราเรียนหนังสือ  เพราะไม่อยากให้พวกเรามีหัวสมองไว้คิด” ชาลีดะกล่าว

ครอบครัวส่งเธอมาแต่งงานกับญาติห่างๆ เป็นชายชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาก่อนหน้า เขาอายุมากกว่าเธอเกือบ 10 ปี หลังจากอยู่กินด้วยกัน 20 ปี เธอให้กำเนิดลูกสาว 4 คนในเมืองไทย

ลูกสาวคนโตเรียนอยู่ชั้น ม.1  ส่วนลูกสาวคนถัดมาเรียนอยู่ชั้น ป.5 และ ป.2 ขณะที่ลูกสาวคนสุดท้องที่ยังอยู่ในอ้อมอกแม่ มีอายุเพียงขวบเดียว

“เป็นห่วงลูกหากเราเป็นอะไรขึ้นมา ไม่ได้หวังให้ลูกเราได้ทุกอย่างเหมือนคนไทย แค่หวังให้เขาได้สิทธิในการเรียน และสิทธิที่จะได้เป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็น”

ลูกของชาลีดะทั้ง 4 คน ถือบัตรประจําตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรคนไร้สัญชาติ ในขณะที่เธอกับสามีถือสถานะแรงงานข้ามชาติ ที่ตอนนี้ยังขาดการต่ออายุเพราะไม่มีเงินไปจ่ายให้กับนายหน้า ครั้งหนึ่งสามีของเธอเคยถูกจับ เพราะบัตรแรงงานหมดอายุและเขาทำอาชีพค้าขายโรตี ซึ่งเป็นอาชีพที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถทำได้ เขาถูกกักขังเกือบ 30 วัน กว่าที่ครอบครัวจะหาเงินมาจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐ

“สำหรับชาวโรฮิงญาต้องจ่ายเงินอย่างเดียว ถ้าไม่จ่ายเงินก็ไม่ได้กลับบ้าน”

แต่ถึงอย่างไรชาลีดะก็เน้นย้ำเสมอว่ารักเมืองไทย เธอไม่อยากย้ายไปไหน เพราะอยู่เมืองไทยเธอยังพอมีเสรีภาพในการออกไปไหนมาไหนได้ แต่ชีวิตในประเทศพม่า เพียงแค่ชาวโรฮิงญาเดินทางข้ามเขต ก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไถเงินและทำร้ายร่างกาย 

“เคยไปเที่ยวทะเลสงขลาด้วยกันทั้งครอบครัว เด็กๆ เล่นน้ำกันสนุกสนาน อยู่ที่พม่าไม่เคยได้ไปขนาดเราอยู่ติดทะเล”

ชาลีดะมีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน รวมทั้งมีแปลงผักเล็กๆ อยู่ข้างบ้านที่สร้างรายได้ให้กับเธอ บ่อยครั้งเพื่อนบ้านจะนำผลไม้และของกินมาให้ เวลาใครเรียกให้ไปช่วยอะไรเธอจะไปเสมอ เธอบอกว่าไม่อยากมีปัญหากับใคร เพราะรู้สถานะของตัวเอง จึงวางตัวเพื่อให้เป็นที่รักของคนในหมู่บ้าน

“เรารู้ดีว่าประเทศนี้ไม่ใช่ของเรา เราหนีออกมาเพราะความจำเป็น ที่พม่าบ้านเราอยู่ไม่ได้ เลยต้องมาอยู่ที่ประเทศไทย”

ชาลีดะกล่าวว่าด้วยสภาพสังคมในประเทศไทยทำให้เธอต้องกล้าที่จะสื่อสารกับคนอื่น ซึ่งต่างจากหลักทางศาสนาอิสลามของชาวโรฮิงญา ที่มีวัฒนธรรมไม่ให้ผู้หญิงคุยกับคนแปลกหน้า หน้าที่หลักของผู้หญิงโรฮิงญาคือทำงานบ้าน ห้ามออกไปข้างนอก ชาลีดะบอกว่าตอนอยู่ที่พม่าเธอไม่เคยได้ออกไปเที่ยวไหน แม้กระทั่งจะเดินไปบ้านเพื่อนใกล้ๆ ก็จะต้องไปกับพ่อแม่เท่านั้น

แต่ในไทยเธอเล่าว่าทุกๆ ปีเธอจะได้ทำอีดอัฎฮา (ฮารีรายอ ในภาษามลายู) เป็นเทศกาลของชาวมุสลิมที่ครอบครัวจะได้กลับมาพบกัน สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในพม่า เพราะชาวโรฮิงญาถูกห้ามไม่ให้จัดเทศกาลดังกล่าว

“ตอนออกมาจากพม่าคิดเพียงว่า ขอให้ชีวิตรอดไปจากตรงนั้น ไม่เคยจินตนาการว่าชีวิตจะมาถึงวันนี้ ไม่ขออะไรมากไปกว่าให้ลูกทุกคนเรียนจบปริญญา”

หากลูกๆ ของเธอสามารถเรียนจนจบในระดับอุดมศึกษา ก็จะมีโอกาสขอสัญชาติไทยได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวได้สัญชาติไทย

ขอแค่ได้กินข้าวกับครอบครัวทุกวัน

“คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าเราคือชาวโรฮิงญา แต่บางคนเขาไม่ชอบเรา คิดว่าเราเป็นตัวสร้างปัญหา เหมือนเป็นตัวอะไรสักอย่าง ที่เอาปัญหามาให้พวกเขา”  อิบราฮิมกล่าว

สำหรับอิบราฮิมสถานที่ที่ทำให้เขารู้สึกสบายใจที่สุด คือบ้านเพื่อนชาวไทยของเขา ที่มีลานหลังบ้านเล็กๆ พร้อมม้านั่งสำหรับสรวลเสเฮฮา และดื่มกินกันหลังเลิกงาน เดชอุดม หรือ “เจน” เพื่อนสนิทชาวไทยของอิบราฮิม ได้แสดงความคิดเห็นต่อเพื่อนชาวโรฮิงญาของเขาว่า

“รู้จักกันมา 3 ปี เขามาอยู่มานั่งกินด้วยกันกับเรา จนรู้ว่าเขาก็ไม่ต่างจากคนไทย มีอะไรเขาช่วยเหลือตลอด และด้วยพวกเรานับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน”

ในขณะที่ข้าราชการเกษียณอายุคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับอิบราฮิมมาตั้งแต่เขาย้ายเข้ามาในหมู่บ้าน ได้ให้ความคิดเห็นว่า

“ไม่ได้กีดกันอะไรกับการมีคนโรฮิงญาอยู่ในหมู่บ้านของเรา เขาก็ตั้งใจทำมาหากินไม่เคยมีปัญหา แต่เราแค่กังวลในอนาคต ถ้าเขาเข้ามาเยอะๆ จะเข้ามาแย่งงานคนไทย จนคนบ้านเราไม่มีงานทำ”

แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่รัฐไทย จะฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ จากความไม่มีสถานะของอิบราฮิมหลายต่อหลายครั้ง แต่เขาก็บอกว่าอยากอยู่เมืองไทย เพราะทางการไทยไม่ได้โหดร้ายเท่ากับพม่า 

“ที่พม่าฆ่ากันตายเลย แต่ที่นี่ไม่ว่าจะเกิดอะไรยังพอต่อรองกันได้” เขาเล่าความในใจ “ผมอยากอยู่เมืองไทยไปจนตาย แต่ก็ต้องมานั่งหวาดระแวงเพราะไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน”

อิบราฮิมเคยไปสอบถามหาความชัดเจนเรื่องสัญชาติของเขาที่สถานทูตพม่า เขาต้องการคำตอบว่าทางสถานทูตจะรับรองหรือไม่รับรองสัญชาติพม่าให้แก่เขา สิ่งที่เขาหวังจากสถานทูตคือ คำตอบยืนยันเป็นเอกสารว่า อิบราฮิมไม่มีสัญชาติพม่า เพื่อที่อย่างน้อยเขาจะได้ใช้สถานะ “คนไร้สัญชาติ”อย่างเต็มตัว และทำเรื่องขอสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือคนไร้สัญชาติ (ที่เรียกกันว่า “บัตรเลขศูนย์”) ได้เหมือนอย่างภรรยาของเขา ซึ่งจะช่วยให้อยู่ในไทยได้แบบไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ

แต่วิธีเดียวที่จะทำได้คือต้องหอบเงินไปให้นายหน้า 

“ถ้าอยากได้คำปฏิเสธสัญชาติจากสถานทูตพม่า ก็ต้องจ่ายเงินให้นายหน้าไปทำเรื่องให้”

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่ทำงานในวงการสิทธิชาวโรฮิงญากล่าวว่า ชีวิตชาวโรฮิงญาในประเทศไทยมักจะวนอยู่ในวงจรเดิมคือ ต้องทำงานเพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับนายหน้า เพื่อแลกกับสิทธิในการอยู่อาศัยและทำงานได้อย่างไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ  พวกเขาไม่กล้าที่จะส่งเสียงหรือเรียกร้องต่อหน่วยงานใด เพราะการจ่ายเงินใต้โต๊ะคือทางเลือกเดียวที่เขาทำได้ และการมีอยู่ของเหล่านายหน้า ที่เป็นกลุ่มคนไทย คนพม่าและคนโรฮิงญาทำงานร่วมกัน คือหน่วยงานเดียวที่จะช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในไทยได้

ช่วงเวลา 3 ทุ่ม พ่อของอิบราฮิมกลับมาจากการขายโรตี แม่ของเขากับอาแลดะภรรยายังคงนั่งแกะหมากตั้งแต่เช้าจนถึงดึกดื่น เมื่อทุกคนกลับมาถึงบ้าน พวกเขาจะกินข้าวร่วมกัน 

“ตั้งแต่เด็กผมถูกแยกจากครอบครัว เหมือนกับการกินข้าวไม่มีเกลือมันจืดไร้รสชาติ ใช้ชีวิตหาเงินไปวันๆ ไม่มีความสุข  ผมแค่อยากอยู่กับครอบครัว ไม่ว่าจะกินแค่ข้าวต้มอย่างเดียว ผมขอแค่ได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา”

สุญญากาศทางมนุษยธรรม

ชมรมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย เป็นกลุ่มที่จัดตั้งมาแล้วกว่า 18 ปี โดยเป็นการรวมกลุ่มของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย งานของชมรมนั้นคือการหารือและช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่เดือดร้อนในประเทศไท รวมทั้งประสานงานและเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ชาวโรฮิงญา 

ซายิด ประธานชมรม อาศัยอยู่เมืองไทยมา 35 ปี ปัจจุบันแต่งงานกับภรรยาชาวไทย มีลูกสองคน ชีวิตในไทยของเขาเริ่มต้นจากการขายโรตี จนปัจจุบันหันมาทำการค้า-ขายอัญมณี เขาเป็นคนหนึ่งที่ตั้งหลักกับชีวิตได้ จึงตัดสินใจออกมาขับเคลื่อนเพื่อชาวโรฮิงญาคนอื่น

“การพิสูจน์สัญชาติไม่ได้คือปัญหาหนักที่สุดของพี่น้องชาวโรฮิงญา”

 ซายิดประมาณการว่า ในประเทศไทยมีชาวโรฮิงญาอยู่ 1,300 ครัวเรือน หรือประมาณ 3-4 พันคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดย 75% คือคนที่ไม่มีสถานะตามกฎหมายเพราะไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ ในขณะที่ 25% อยู่ในสถานะบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือคนไร้สัญชาติ 

งค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทยให้ข้อมูลกับ HaRDstories ว่า ชาวโรฮิงญาจำนวนเกือบ 3,300 คนเดินทางมายังประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยตลอดช่วงปี 2565 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากตัวเลขปีก่อนหน้าถึง 290% 

IOM กล่าวด้วยว่า ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา (นับถึงเดือนกรกฎาคม) มีชาวโรฮิงญาเดินทางเข้าประเทศทั้ง 3 ชาติดังกล่าวแล้วกว่า 2,000 ชีวิต 

ด้านศิววงศ์ สุขทวี ภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องราวชาวโรฮิงญาในไทยระบุว่า ตัวเลขชาวโรฮิงญาในไทยไม่มีหน่วยงานใดเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการไว้ แต่ตนคาดการณ์ว่ามีประมาณ 5,000 – 10,000 คน

ซายิดมองว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาในไทยนับวันมีแต่จะแย่ลง

“ตอนนี้อยากขอให้ชาวโรฮิงญาสามารถทำบัตรแรงงานข้ามชาติไปได้ก่อนชั่วคราว”

ซายิดอ้างว่าตัวเขาเองเคยถูกปฏิเสธการร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย เพราะทางประเทศไทยไม่มีนโยบายให้ทาง UNHCR เข้ามาทำงานมอบสถานะผู้ลี้ภัยให้กับชาวโรฮิงญาที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งแตกต่างจากประเทศมาเลเซีย ที่มีการยอมรับให้หน่วยงาน UNHCR เข้ามาช่วยเหลือและมอบสถานะผู้ลี้ภัยแก่ชาวโรฮิงญาได้ ทำให้พวกเขามีสถานะความเป็นอยู่ที่ชัดเจนกว่า และสามารถขอลี้ภัยไปประเทศที่ 3 ได้ 

ทีมข่าว HaRDstories พยายามติดต่อสอบถามไปยัง UNHCR Thailand หลายวัน แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับใดๆ 

ทุกวันนี้งานของซายิดคือการเดินทางไปพูดคุยกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถช่วยเหลือชาวโรฮิงญาได้โดยตรง เพราะประเด็นเรื่องชาวโรฮิงญา ไม่ได้อยู่ในนโยบายหลักของหน่วยงานต่างๆ

นอกจากนี้ซายิดยังต้องคอยช่วยเหลือชาวโรฮิงญาที่เป็นเหยื่อของกลุ่มค้ามนุษย์ เขาเปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อโชว์ข้อมูลโดยอธิบายเพิ่มเติมว่า มีชาวโรฮิงญาคนหนึ่งจากรัฐยะไข่ส่งข้อความมาให้เขาช่วยเหลือ เพราะลูกสาวของเขาถูกกลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์กักขังไว้ที่ จ.สงขลา พร้อมเรียกค่าไถ่เป็นจำนวนเงิน 70,000 บาท

“อยากให้รัฐบาลไทยมองพวกเราเป็นมนุษย์ ให้พวกเราได้อยู่อาศัยเหมือนกับมนุษย์คนหนึ่ง ตามหลักสิทธิที่เราควรจะได้”

ซายิดกล่าวว่าตลอดการทำงานที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพราะชาวโรฮิงญาไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องอะไรได้ ด้วยความที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย รวมทั้งเมื่อออกมาก็มักจะถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง

“ตำรวจสันติบาลมาตามถึงบ้านถามผมว่า ‘จะไปไหน ไปทำอะไร’ เขามีเบอร์โทรศัพท์ผม รู้หมดว่ากำลังจะทำอะไร”

แม้แต่การขอเข้าไปเยี่ยมชาวโรฮิงญาที่ถูกกักขังอยู่ในด่าน ตม. ทั่วประเทศกว่า 20-30 แห่ง เขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป

ศิววงศ์ ตัวแทนภาคประชาสังคมไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นโยบายดังกล่าวเป็นคำสั่งของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่แทบไม่ให้มีการเข้าเยี่ยมผู้ต้องกักกลุ่มชาวโรฮิงญาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายที่ติดตามสิทธิผู้ต้องขังชาวโรฮิงญาจึงทำได้เพียงการมอบอาหารผ่านเจ้าหน้าที่เท่านั้น ยกเว้นแต่บางหน่วยงานที่ได้รับการอนุญาตจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ เช่น สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ที่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข แก่ชาวโรฮิงญาที่ถูกกักขังอยู่ตามสถานกักตัว

ซายิดค่อนข้างเป็นกังวลกับสถานการณ์ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย สถานะของชาวโรฮิงญาที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติและไม่มีบัตรแรงงานข้ามชาติ กลายเป็นคนนอกกฎหมาย ที่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ  และถ้าหากพวกเขาถูกจับ แต่ไม่สามารถตกลงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ซายิดกล่าวว่าชะตากรรมของพวกเขาจะลงท้ายด้วยการถูกจับขังอย่างไม่มีกำหนด หรือไม่ก็ถูกผลักดันให้กลับไปที่ประเทศพม่า

“ชาวโรฮิงญาในประเทศไทย อยู่กันอย่างไม่มีอนาคตแค่ให้รอดไปวันต่อวัน”

วันพรุ่งนี้ของชาวโรฮิงญา ความท้าทายของรัฐไทย

“ประเทศไทยกลัวว่าชาวโรฮิงญาจะทะลักเข้ามา นี่คือสาเหตุที่ทำให้เราเลือกไม่ออกนโยบายใดมาจัดการกับชาวโรฮิงญาโดยเฉพาะ”

ศิววงศ์ ชี้ให้เห็นสาเหตุของสถานะชาวโรฮิงญาที่รัฐไทยพยายามซุกซ่อนไว้ เขาเป็นนักวิชาการอิสระด้านแรงงานข้ามชาติ และภาคประชาสังคมจาก Migrant Working Group เครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคมจากหลากหลายหน่วยงาน ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล  กำหนดประเด็นด้านสุขภาพ การศึกษา และสิทธิแรงงาน ในเชิงนโยบายขับเคลื่อนร่วมกันกับทางภาครัฐ ภาควิชาการและภาคประชาสังคม

ศิววงศ์กล่าวว่า ชาวโรฮิงญามีการอพยพเข้ามาในไทยตั้งแต่ช่วงปี 2536 พร้อมกับชาวพม่ากลุ่มอื่น โดยชาวโรฮิงญาเองก็พยายามปกปิดอัตลักษณ์ตัวเอง แสดงตนว่าเป็นชาวพม่ามุสลิม และนโยบายการจัดการคนเข้าเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีการผ่อนผันในเชิงพฤตินัย

เวลาต่อมาเริ่มมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ให้แรงงานมาขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตทำงาน จากนั้นจึงมีการทำข้อตกลงกับรัฐบาลประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ ให้แรงงานที่ต้องการลงทะเบียนต้องมีการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อป้องกันคนหลบหนีเข้าเมือง ชาวโรฮิงญาที่เคยอยู่ในประเทศไทยในสถานะแรงงานข้ามชาติ จึงถูกบังคับให้ต้องกลับไปประเทศต้นทางเพื่อพิสูจน์สัญชาติ

แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นประชากรของตัวเอง แต่ศิววงศ์กล่าวว่า เขาเคยคุยกับเจ้าหน้าที่จากฝั่งพม่า ที่รับสัมปทานการทำหนังสือรับรองสถานะบุคคล (Certificate of Identity – C.I.) เจ้าหน้าที่ยอมรับตรงๆ ว่า พร้อมที่จะพิสูจน์สัญชาติให้กับชาวโรฮิงญา แต่มีข้อแม้ว่าชาวโรฮิงญาเหล่านั้นต้องจ่ายเงินผ่านนายหน้าให้กับรัฐบาลพม่าเสียก่อน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของอิบราฮิม 

ในขณะเดียวกันการมีคนโรฮิงญาอยู่ในประเทศไทย ก็เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ปฏิบัติงานภาครัฐของไทย ในการขูดรีดผลประโยชน์จากพวกเขา ทำให้ไม่มีการส่งข้อมูลไปสู่หน่วยงานรัฐในระดับนโยบาย แม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานอย่างตัวเลขชาวโรฮิงญาในประเทศไทย ก็ไม่เคยถูกจัดเก็บข้อมูลออกมา

“ทันทีที่มีการสำรวจ คือการยอมรับฐานะการมีอยู่ของชาวโรฮิงญาในประเทศไทย”

ศิววงศ์มองว่ามีแนวโน้มชาวโรฮิงญาเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า ซึ่งปัจจุบันเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหาร กับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายรัฐบาลเงา และการประท้วงต่อต้านของภาคประชาสังคม แต่การเดินทางเข้าไทยก็มาพร้อมความเสี่ยง เพราะถ้าหากถูกจับกุม เจ้าหน้าที่รัฐมักจะเหมารวมชาวโรฮิงญาว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับชาวพม่าอื่นๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานในการส่งกลับประเทศต้นทาง และไม่ถูกประณามจากองค์กรเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชน    

อย่างไรก็ดี ศิววงศ์กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอยู่บ้าง เห็นได้จากร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย. 2563

ในระเบียบได้นิยามกลุ่มคนต่างด้าว คือกลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาในไทย และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาได้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย จึงจำเป็นต้องกำหนดการคัดกรองกลุ่มคนดังกล่าว

คณะกรรมการการพิจารณาคัดกรองกลุ่มคนต่างด้าวประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานแต่งตั้ง

ในระหว่างการดำเนินการคัดกรองนั้น จะชะลอการส่งตัวคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร 

และหากผ่านการพิจารณาได้รับสถานะการคุ้มครองแล้ว ทางระเบียบกล่าวว่าจะไม่ส่งตัวผู้นั้นกลับไปยังประเทศภูมิลำเนา และให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงานเพื่อให้ผู้ได้รับการคุ้มครองสามารถเดินทางไปประเทศที่สามต่อไปได้ โดยผู้ได้รับการคุ้มครองจะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นกรณีพิเศษ เป็นการชั่วคราว แล้วส่งให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองต่อไป

แต่ศิววงศ์ก็ยังกังวลว่า เมื่อระเบียบดังกล่าวบังคับใช้จริงๆ ภาครัฐจะไม่ยอมนับรวมชาวโรฮิงญาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการด้วย เพราะภาครัฐไทยต่างกลัวปัญหาชาวโรฮิงญาทะลักเข้ามาในประเทศ รวมทั้งการพยายามรักษาท่าทีกับรัฐบาลพม่าอย่างเป็นมิตรที่สุด

“สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น แต่จะทันกับปัญหาที่ชาวโรฮิงญาเผชิญอยู่ทุกวันนี้หรือไม่?”

กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

ซากีร์ พิทักษ์คุมพลสมาชิกวุฒิสภาและรองเลขานุการสำนักจุฬาราชมนตรี องค์กรที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชาวโรฮิงญาที่ถูกกักขังอยู่ตามสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองล่าวว่าตลอดเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา คนในวงการรัฐสภาไทยไม่เคยพูดถึงประเด็นชาวโรฮิงญาในเชิงบวกหรือในเชิงพยายามแก้ไขปัญหาเลย จะมีก็แต่การพยายามเชื่องโยงชาวโรฮิงญากับความไม่สงบที่เกิดขึ้นทาง 3 จังหวัดชายแดนใต้  ทั้งที่ข้อสมมุติฐานเหล่านั้นแทบเป็นไปไม่ได้ 

“สิ่งที่รัฐไทยทำเพียงอย่างเดียวคือ ทำให้ประเด็นชาวโรฮิงญาไม่เป็นข่าว และไม่ให้อยู่ในความสนใจของนานาชาติ”

ซากีร์มองว่ารัฐไทยไม่จริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญา ยกตัวอย่างในช่วงรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเหตุการณ์ตรวจพบการค้ามนุษย์พร้อมค่ายกักกันชาวโรฮิงญาที่ จ.สงขลา ในปี 2558 จนเกิดการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่  แต่หลังจากนั้นก็ไม่เกิดการพูดคุยแก้ไขปัญหากันต่อ ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปสู่ประเทศมาเลเซียยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับคำบอกเล่าของชาวโรฮิงญาที่ให้สัมภาษณ์ในบทความนี้

“โรฮิงญาเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกสำหรับรัฐไทย จึงทำเพียงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นกรณี พอเรื่องเงียบไม่ถูกเป็นที่สนใจของประชาคมโลก ปัญหาเหล่านั้นก็จะถูกซุกไว้ใต้พรมต่อไป”

กว่าจะถึงวันนั้นที่เกิดความร่วมมือ ชีวิตชาวโรฮิงญาที่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในเมืองไทยยังคงดำเนินต่อไป ดังเช่น อดุลและไซยีดะ คู่สามี-ภรรยาชาวโรฮิงญาที่ได้กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง ในปัจจุบัน พวกเขาตัดสินใจเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ เพราะไม่สามารถหางานทำที่แม่สอดได้

ปัจจุบันทั้งสองคนอาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดรูหนู ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ริมถนนใหญ่ ย่านใจกลางกรุงเทพฯ อดุลยังหางานทำไม่ได้ ส่วนไซยีดะเพิ่งคลอดลูกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จาก 2 กลายเป็น 3 ชีวิต ที่จะต้องดิ้นรนเพื่อใช้ชีวิตในประเทศไทยต่อไป ท่ามกลางความไม่แน่นอนของวันพรุ่งนี้ ทั้งในเรื่องการงาน และสถานะทางกฎหมายของพวกเขา

“เขา (รัฐบาลพม่า) บีบพวกเราทุกอย่าง เรียนทำงาน เดินทางไปไหนก็ไม่ได้ มีการฆ่าชาวโรฮิงญาทุกวัน” อดุลเล่า “ถ้าเลือกได้ผมอยากกลับบ้าน ครอบครัวผมอยู่ที่นั่น มันเป็นที่ที่ผมเกิดมา ตั้งแต่ผมจำความได้ในรัฐยะไข่มีแต่เรื่องเหตุการณ์เลวร้าย มีแต่ความรุนแรง  ความสุขเดียวที่ผมจำได้ คือการได้อยู่กับครอบครัว วันนี้ผมมาอยู่เมืองไทยคนไทยใจดีเห็นอกเห็นใจ ไม่มีการแบ่งแยกเรื่องศาสนาเท่าในพม่า ตอนเมียผมไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล หมอช่วยลูกผมดีมาก” เสียงจากอดุลในวันที่เขามักให้กำลังใจไซยีดะภรรยาของเขาอยู่เสมอว่า “ไม่ว่าจะเจออะไรเราจะเผชิญหน้าไปด้วยกัน”

ณฐาภพ  สังเกตุ นักข่าวอิสระ ที่ติดตามเรื่องราวด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอินเดีย 1 ปี สนใจเรื่องราวของผู้คนชายขอบ

วิศรุต วีระโสภณ ช่างภาพสารคดีและข่าวชั้นนำของไทย  หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาการถ่ายภาพจาก Pohchang Academy of Art ในปี 2017 เขาได้ร่วมงานกับสิ่งพิมพ์ชั้นนำของไทย เช่น นิตยสารสารคาดี, The Momentum และ National Geographic Thailand

More Features

‘รัฐสวัสดิการ’ และบำนาญถ้วนหน้า: ขายฝันหรือทำได้จริง?

error: Content is protected !!