เส้นทางของแม่สองคน : ตามหาความยุติธรรมให้ชัยภูมิ ป่าแส และอะเบ แซ่หมู่

รูปภาพ โดย จิตรภณ ไข่คำ

ห้าปีผ่านไป ชัยภูมิ ป่าแส นักปกป้องสิทธิรุ่นใหม่ชาวลาหู่ และ อะเบ แซ่หมู่ ชายหนุ่มชนเผ่าลีซู ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารที่เชียงใหม่ ขณะที่ครอบครัวอะเบได้รับเงินเยียวยาแล้ว ครอบครัวชัยภูมิยังคงตามหาความยุติธรรมและเรียกร้องให้กองทัพรับผิดชอบ

 

แม่สองคนสูญเสียลูกชายจากการยิงที่ด่านทหารที่เชียงใหม่ แม้จะต่างเหตุการณ์ นาปอย ป่าแส หญิงชนเผ่าลาหู่และอะหมี่มะ แซ่หมู่ จากชุมชนชาติพันธุ์ลีซู ต่างตามหาความยุติธรรมและต้องการให้กองทัพรับผิดชอบความตายของลูกชายเมื่อห้าปีก่อน

ลูกชายทั้งสอง อะเบ แซ่หมู่ และชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ในปี 2560 แม้จะเป็นคนละเหตุการณ์ แต่ระยะเวลานั้นห่างกันเพียงหนึ่งเดือน ในทั้งสองกรณี กองทัพอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารทำไปเพื่อป้องกันตัวและกล่าวหาชายทั้งสองว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด

มั่นใจว่าลูกชายไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด นาปอยและอะหมี่มะตั้งคำถามเกี่ยวกับชุดเหตุการณ์ที่ทางการร้อยเรียงสู่สาธารณะว่าเป็นสาเหตุของการยิง ในปี 2562 พวกเธอฟ้องร้องคดีร่วมกันเพื่อเรียกร้องค่าเยียวยา 11 ล้านบาทจากกองทัพตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 

ชัยภูมิเป็นคนกระตือรือร้น ทำกิจกรรมด้านสิทธิและวัฒนธรรมชนพื้นเมืองสม่ำเสมอ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนวัยรุ่นคนนี้เป็นสมาชิกกิจกรรมของชุมชนลาหู่หลายกลุ่ม รวมถึงเป็นนักดนตรีและคนทำหนังมีฝีมือ เด็กหนุ่มสอนเยาวชนพื้นเมืองเล่นดนตรีเพื่อไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เขายังเป็นหนึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องสัญชาติให้คนไร้รัฐในภาคเหนือของไทย

อะเบเป็นสมาชิกชุมชนลีซูที่อาศัยอยู่กลางหุบเขาในเชียงใหม่ ครอบครัวเป็นคนคริสต์และหากินจากการทำเกษตร โดยอะเบเป็นกำลังหลักของครอบครัว

 

เหตุการณ์ยิง

อะเบถูกยิงและสังหารโดยทหาร ไม่ไกลจากด่านตรวจบ้านรินหลวง เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2560 พี่ชายเขาเล่าว่า อะเบกำลังเดินทางไปไร่ ด้านกองทัพกล่าวว่าชายหนุ่มลีซูทำร้ายเจ้าหน้าที่ก่อนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารต้องยิงเพื่อป้องกันตัว กองทัพยังอ้างว่าพบเฮโรอีนสองหลอดอยู่ในย่ามอะเบ

ห่างออกไปราวเดือนเดียว ชัยภูมิในวัย 17 ปีและเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกหยุดรถที่ด่านตรวจทหารจุดเดียวกันกับอะเบช่วงสิบเอ็ดโมงเช้า ชัยภูมิโดนวิสามัญฆาตกรรมหลังจากนั้นไม่นาน 

กระสุนนัดนั้นทะลุต้นแขนซ้ายของเด็กหนุ่มและแตกกระเด็นเข้าฝังในลำตัว ทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอด ส่งผลให้ชัยภูมิเสียชีวิตในทันที

หนึ่งสัปดาห์ต่อมา แม่ทัพภาคที่ 3 แถลงข่าวกับสื่อมวลชน ระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารพบยาบ้าจำนวน 2,800 เม็ดในฝาปิดหม้อกรองอากาศของรถ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการจับกุมชัยภูมิ แต่เขาหลบหนีและพยายามปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ ทหารรายหนึ่งจึงต้องยิงปืนออกไป 1 นัดเพื่อป้องกันตัว

จนถึงวันนี้ กองทัพยังไม่ได้เผยแพร่หลักฐานกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ที่ด่านตรวจเพื่อยืนยันคำอธิบายดังกล่าว

 

ตามหาความยุติธรรม

มีนาคม 2563 ศาลพิพากษาให้กองทัพจ่ายเงินเยียวยา 824,180 บาทพร้อมดอกเบี้ยรายปีแก่ครอบครัวอะเบ

แต่คำขอเยียวยาของครอบครัวชัยภูมิกลับถูกปฏิเสธมาตลอดห้าปีที่เด็กหนุ่มเสียชีวิต มกราคม 2565 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปฏิเสธคำร้องขอให้เยียวยาอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ทหารกระทำเพื่อป้องกันตัว 

“รู้สึกเสียใจในทุกๆ ครั้งที่ฟังคำพิพากษา ชัยภูมิเป็นกำลังหลักสำคัญของครอบครัวและเป็นลูกของเรา ลูกที่เรารัก แต่เราจะไม่ยอมแพ้ ต้องสู้จนถึงที่สุด” นาปอยเผยความรู้สึกในวันที่ศาลตัดสิน

ทนายที่ช่วยเหลือครอบครัวกล่าวว่าจะสู้ต่อในชั้นศาลและยื่นฟ้องคดีใหม่กับศาลแพ่ง

“ถ้าโลกใบนี้มองมนุษย์ให้มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ความเจ็บปวดก็จะไม่เกิดขึ้นกับผู้คนบนโลก และหากมองคนให้เท่าเทียมก็จะไม่จำเป็นต้องตามหาความยุติธรรม ทุกชีวิตมีคุณค่าเสมอ แม้คนตัวเล็กตัวน้อยก็ตาม” ไมตรี จำเริญสุขสกุล นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่กล่าว เขาคอยช่วยเหลือครอบครัวชัยภูมิมาโดยตลอด

 

ชีวิตของพวกเขาหลังความสูญเสีย ถูกถ่ายทอดในภาพถ่ายของ จิตรภณ ไข่คำ ช่างภาพเชียงใหม่ ครอบครัวทั้งสองมักจะถูกนำเสนอบนหน้าสื่อตอนอยู่ห้องตัดสินศาลหรือระหว่างงานแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ ภาพถ่ายชุดนี้ ช่างภาพได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวนาปอยและอะหมี่มะ เพื่อบันทึกภาพชีวิตหลังสูญเสียลูกชายและฉายภาพชีวิตประจำวันในชุมชนของอะเบและชัยภูมิ

“รู้สึกเสียใจในทุกๆ ครั้งที่ฟังคำพิพากษา ชัยภูมิเป็นกำลังหลักสำคัญของครอบครัวและเป็นลูกรักของเรา”

"ถ้าโลกใบนี้มองมนุษย์ให้มีศักดิ์ศรีเท่ากัน ความเจ็บปวดก็จะไม่เกิด และหากมองคนให้เท่าเทียมก็จะไม่จำเป็นต้องตามหาความยุติธรรม ทุกชีวิตมีคุณค่าเสมอ แม้คนตัวเล็กตัวน้อยก็ตาม"

จิตรภณ ไข่คำ ช่างภาพข่าวอิสระประจำอยู่ที่เชียงใหม่ เขาถ่ายภาพครอบครัวทั้งสองช่วงปี 2564 และเยี่ยมเยียนในหลายโอกาสเพื่อถ่ายทอดชีวิตของพวกเขาในชุมชนตนเอง ดูผลงานจิตรภณเพิ่มเติมได้ที่ www.jittraponkaicome.com

More Features

ส่วย นายหน้า และเขาวงกตสู่สัญชาติ: ชะตา ‘โรฮิงญา’ ในไทย ที่รัฐไม่ (ยอม) เห็น

error: Content is protected !!