- ธันวาคม 2, 2021
“วันนี้เราจะมาไขความลับกันว่า กบขยายพันธุ์อย่างไร” เสียงบรรยายของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษดังมาจากเต็นท์ข้างศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูน วันนี้มีชาวบ้านกว่า 100 คน มาชมการสาธิตวิธีเลี้ยงปู ลูกอ๊อด หอยขม และวิธีทำปุ๋ยหมัก
ใจ เจ้าหน้าที่กลุ่มเยาวชนของศูนย์เรียนรู้ฯ นั่งฟังและจดตามอย่างกระตือรืนร้น “เคยเลี้ยงกบมาแล้ว แต่ตายหมด วันนี้ก็เลยมาฟังอีก เพราะอยากจะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น คิดว่าทางเดียวที่จะทำให้เราอยู่รอดได้คือเปลี่ยนที่ดินที่มีให้เป็นที่ทำกิน แล้วก็ผลิตอาหารกินเอง”
เกือบ 30 ปีก่อน ชุมชนราษีไศลจำต้องอพยพออกจากพื้นที่ เมื่อปี 2537 มีการสร้างกำแพงคอนกรีตสูง 17 เมตรกั้นกลางแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีทุ่งหญ้าตามธรรมชาติที่น้ำพัดพาตะกอนมาในฤดูฝน ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์มาก
ไรวรรณ อนันต์เอื้อ ในวัย 48 ปี เล่าย้อนถึงช่วงชีวิตที่มีความสุขเมื่อตอนเป็นเด็กว่าสมัยนั้นชาวบ้านมักจะแบ่งปันและใช้ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นี้ร่วมกัน แต่พอมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำมูล พื้นที่กว่า 100,000 ไร่ก็ถูกน้ำท่วม ส่งผลให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนที่มีมายาวนานกว่า 3 ศตวรรษก็ถูกพัดพาไปด้วย
“เรามีห้องครัวและร้านยาจากธรรมชาติ เราสามารถเข้าไปหาอาหารและเก็บมากินได้ แต่หลังจากนั้นก็ลำบากขึ้น และชีวิตของผู้คนทั้งสองฝั่งของพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามก็ไม่เคยมาบรรจบกันอีก” ไรวรรณเล่าต่อว่า คนในพื้นที่เพิ่งรู้ว่าโครงการนี้จะสร้างเขื่อนแบบถาวรเมื่อตอนที่เห็นรถบรรทุกขนปูนเข้ามา “เราถึงได้รู้ว่าเราเสียบ้าน เสียที่ทำมาหากินไปแล้ว และเราจะต้องลุกขึ้นสู้”
ชุมชนและระบบนิเวศที่สูญสลาย
ในช่วงปี 2533 การทำโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลเริ่มโครงการสร้างเขื่อนเก็บน้ำ 14 แห่งที่บริเวณแม่น้ำชีและมูล ภายใต้ชื่อ “โครงการอีสานเขียว” หนึ่งในนั้นคือเขื่อนราษีไศลที่ได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารโลก โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า พัฒนาระบบชลประทาน และสร้างงานใหม่ ๆ
“คนสร้างเขื่อนไม่รู้หรอกว่า พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญทางระบบนิเวศพอ ๆ กับป่าไม้และป่าโกงกาง” อุบล อยู่หว้า ที่ปรึกษาโครงการอาสาสมัครของศูนย์เรียนรู้ฯกล่าว “ไม่ใช่แค่ต้นไม้ใหญ่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ชุ่มน้ำก็เหมือนกัน ดังนั้นเราก็ไม่ควรไปทำลายมัน”
ปี 2541 ประเทศไทยร่วมลงนามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำ 15 แห่ง ทั่วประเทศไทย แต่การลงนามในครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังโครงการสร้างเขื่อน จึงทำให้วิถีชีวิตของผู้คนริมลุ่มน้ำมูลต้องเปลี่ยนแปลงไป
อุดร สำไร ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดตั้งแต่เขื่อนสร้างเสร็จ ชาวบ้านต้องเจอกับปัญหาน้ำแล้งในบางฤดู รวมถึงน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้น จนทำให้ชาวบ้านปลูกข้าวและเกี่ยวข้าวได้เพียงปีละครั้ง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านปลูกข้าวในนาได้ถึงปีละ 2 ครั้ง
“การก่อสร้างเขื่อนราษีไศลใช้งบประมาณถึง 870 ล้านบาท สูงกว่างบเดิมที่ตั้งไว้ตั้ง 5 เท่า เงินนี้ยังไม่รวมค่าบำรุงรักษาเลย จริง ๆ แล้วจะมีค่าชดเชย 2 พันล้านบาทให้กับชาวบ้านที่เสียที่ดิน แต่ก็ยังได้กันไม่ถึงครึ่ง แถมชาวนาที่นี่ยังต้องมาเจอปัญหาน้ำใช้ไม่พออีกนะ” อุดรกล่าว
เขื่อนราษีไศลไม่ได้ติดตั้งระบบสูบน้ำที่จะผันน้ำเข้าที่นาของชาวบ้านในช่วงฤดูแล้ง และไม่มีระบบระบายน้ำออกจากที่นาในช่วงน้ำหลาก เขื่อนยังตั้งขวางทางไหลของแม่น้ำ จึงทำให้ระบบนิเวศในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไป น้ำมีค่าความเค็มสูงขึ้นซึ่งทำลายข้าวและพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร
“ไม่มีใครเขามาที่นี่กันแล้ว ที่นี่กลายเป็นที่รกและอันตราย มีแต่วัชพืชขึ้นเต็มไปหมด ปลาก็น้อยลงไปเยอะ เพราะมีแต่สัตว์นักล่า น้ำจากเขื่อนท่วมตรงนี้ตลอดปี และต้นไม้ที่จมอยู่ก็เน่าไปหมด” นวรัตน์ เสียงสนั่น นักวิจัยด้านประมง อธิบายระหว่างขับรถกระบะผ่านป่าบุ่งทามเก่าที่ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
การสูญเสียที่ดินทำกินเป็นปัญหาใหญ่ของคนที่นี่ ชาลี วงษ์หงษ์คำ มีเพียงเรือไม้ลำเดียวเป็นทรัพย์สินติดตัว ทุกเช้า ชาลีและสุพิน ดวงดี ภรรยาของเขา จะต้องพายเรือฝ่าดงต้นไม้ที่มีงูและยุงชุมเพื่อหาปลา พวกเขามีลูกสาว 2 คนและแม่ที่ต้องเลี้ยงดู “เรายังต้องไปแถว ๆ ป่าทามเพื่อจับปลาและเก็บผักกิน ปกติจะใช้เวลาแค่ 20 นาที แต่ตอนนี้ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมงเลย เพราะเรือชอบเข้าไปติดในพงหญ้า”
ครอบครัววงษ์หงษ์คำมีรายได้จากการขายผักและปลาราว ๆ 70-350 บาทต่อวัน และมีรายได้จากการทำงานในร้านขายของชุมชนอีก 5,000 บาทต่อเดือน ชาลีบอกว่าต่อไปลูกสาวทั้งคู่ก็จะต้องออกไปจากที่นี่แล้ว
ชุมชนแห่งนี้ต้องเจอกับการสูญเสียที่ดินทำกินที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรษ ปัญหาการจัดการน้ำ และรายได้ที่หดหาย หลายคนจึงตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐาน เป็นเวลากว่า 40 ปีที่ชุมชนในเขตชนบทภาคอีสานประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน คนหนุ่มสาวไปเป็นแรงงานก่อสร้าง ทำงานในบริษัทขนส่ง และเข้าสู่สังคมการทำงานในเมือง
“เรามีห้องครัวและร้านยาจากธรรมชาติ เราสามารถเข้าไปหาอาหารและเก็บมากินได้ แต่หลังจากนั้นก็ลำบากขึ้น”
บาดแผลเก่าจากเขื่อนปากมูล
เขื่อนปากมูลตั้งอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี กั้นแม่น้ำตอนล่างที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนลาว ในช่วงปี 2533 กระแสการคัดค้านเขื่อนปากมูลกระจายไปทั่วประเทศ ผู้ประท้วงเข้ายึดพื้นที่และขวางไม่ให้มีการก่อสร้างเขื่อนอยู่หลายเดือน แม้ว่าเขื่อนจะสร้างเสร็จเมื่อปี 2537 แต่การต่อสู้นั้นได้ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นเครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน การทำเหมือง และการเวนคืนที่ดิน
“ชาวบ้านเรียนรู้ว่า พวกเขาสามารถลุกขึ้นสู้ได้ และไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ พวกเขามีสิทธิ์เรียกร้องเงินค่าชดเชยได้” วัฒนา นาคประดิษฐ์ อดีตเลขาธิการสมัชชาคนจน กล่าว “สิ่งสำคัญจากกรณีเขื่อนปากมูลคือ การที่แรงงาน ชาวนา และชนกลุ่มน้อยเข้าใจว่า พวกเขามีสิทธ์ที่จะต่อสู้ในศาลและตั้งคำถามถึงนโยบายที่ดิน”
แม้ว่าประชากรถึง 1 ใน 3 ของประเทศอาศัยอยู่ในภาคอีสาน แต่ที่นี่กลับได้รับงบประมาณพัฒนาท้องที่น้อยกว่า 5% พรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตยและพยายามช่วยเหลือชาวอีสานกลับถูกยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการทำรัฐประหารและยังดำรงตำแหน่งเรื่อยมาจากการเลือกตั้งเมื่อในปี 2562 ที่มีข้อถกเถียงถึงความชอบธรรมเมื่อปี 2562
“พวกเราถูกมองว่าขวางความเจริญของพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐมักทำให้เราใช้ชีวิตยากขึ้น พอเราจะประท้วง เขาก็มาขู่ตลอดว่าจะจับเข้าคุก” อภิรักษ์ สุธาวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านเหล่าโดน ที่เดินทางไปประท้วงเขื่อนราษีไศลที่กรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้งเมื่อหลายปีก่อน เล่า “แล้วสุดท้ายเขาก็ใช้วิธีทำให้เขื่อนเป็นเรื่องที่พวกเราแตะต้องไม่ได้ โดยการเชิญเจ้ามาเปิดพิธี คนก็เลยไม่กล้าสู้ ช่วงนั้นทหารกดขี่อย่างหนัก ผู้ใหญ่บ้านหลายหมู่บ้านถูกซื้อตัว มิตรภาพแตกหักและความสัมพันธ์ในครอบครัวแตกร้าว”
คนในหมู่บ้านของอภิรักษ์แตกออกเป็น 2 ฝั่ง คือกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่คัดค้านเขื่อน แต่ไม่ว่าอย่างไรทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้รับผลกระทบจากเงินเยียวยาด้วยกันทั้งนั้น ผู้นำชุมชนแต่ละที่ไม่อยากมาเจอหน้ากัน บนถนนหนทางเริ่มเห็นกลุ่มวัยรุ่นต่อยตีกัน ส่วนแกนนำประท้วงก็ต้องห่างหายจากครอบครัวไปหลายเดือน
เมื่อถามอภิรักษ์ว่า เขายกโทษให้คนที่อนุมัติให้สร้างเขื่อนเพื่อผลประโยชน์ตัวเองหรือเปล่า เขาตอบพร้อมถอนหายใจว่า “จริง ๆ หลายคนก็เสียชีวิตไปแล้ว พวกเขาได้รับผลกรรมจากการหักหลังคนอื่นแต่ตัวเองได้ประโยชน์ ถ้ามองในมุมพุทธศาสนาแล้ว การสร้างเขื่อนนี่เป็นบาป เพราะไปทำลายชีวิตสัตว์และธรรมชาติ เราอยากให้เอาเขื่อนนี้กลับไป แล้วเอาชีวิตของเราคืนมา”
“คนสร้างเขื่อนไม่รู้หรอกว่า พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญทางระบบนิเวศพอ ๆ กับป่าไม้และป่าโกงกาง”
เงินชดเชย
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ต่อสู้และกดดันรัฐบาลอยู่หลายปี จนเมื่อปี 2540 รัฐบาลเริ่มจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ถือครองที่ดินราษีไศล 1,154 คน เป็นเงินไร่ละ 32,000 บาท จากข้อมูลจากองค์กรแม่น้ำสากล (International Rivers) ระบุว่าเกษตรกรกว่า 17,000 ราย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อน
“บ้านป้าอยู่บนที่เนินที่โคกเลยไม่เป็นไร แต่ป้าเสียที่นาไป 15 ไร่” หนูเพ็ง สวยท่าคู คุณป้าวัย 60 ปีเล่า “ป้าต้องย้ายออก และได้เงินชดเชยไม่กี่บาท”
ปัญญา คำลาภ จากสมาคมชุมชนประมงน้ำจืดภาคอีสาน ได้ร่วมกับกลุ่มนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษากรณีการสูญเสียรายได้จากการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งถือเป็นงานวิจัยแรกของกลุ่มอาเซียน
“ตอนที่ปิดประตูระบายน้ำปีแรก ทุกอย่างก็จมอยู่ใต้น้ำหมด ตอนนั้นผู้คนกลัวกันมาก แล้วหลังจากนั้นทุกคนก็ใช้ชีวิตด้วยความกังวลมาตลอด” ปัญญา กล่าว “ดังนั้นการจ่ายเงินชดเชยเพิ่มเติมให้กับคนที่สูญเสียวิถีชีวิต ก็น่าจะช่วยให้คนตกใจน้อยลงและช่วยเหลือผู้คนมากขึ้นได้บ้าง”
ปฏิบัติการเคลื่อนไหวภาค
ประชาชนเขื่อนราษีไศล
แม่น้ำบนความวิกฤต
กรมชลประทานอนุมัติให้เพิ่มเงินชดเชยและให้งบประมาณเพื่อทำโครงการเกษตรผสมผสานขึ้นเมื่อปี 2554 นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณ 57 ล้านบาทให้แก่สมาคมคนทาม เพื่อทำแผน 10 ปีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเขื่อนราษีไศล
ภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง ซึ่งกำกับดูแลเขื่อนราษีไศล กล่าวว่า “ในมุมกฎหมาย พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นของประเทศ ดังนั้นผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยจึงกำลังทำผิดกฎหมายอยู่ แต่ในมุมด้านสังคม นี่คือวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้น เราจึงต้องช่วยเหลือและจ่ายค่าชดเชยให้อย่างต่อเนื่อง” ภานรินทร์กล่าวต่อว่า เขาเข้าใจถึงความทุกข์ยากของเกษตรกรเป็นอย่างดี และเจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือชาวบ้านเพาะปลูกพืชผลที่ให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้นและเหมาะสมกับพื้นที่ “ถ้าทุกคนทำตามโมเดลนี้ ก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป คนก็จะได้ไม่ต้องออกมาประท้วง ผมหวังไว้อย่างนั้น”
ท่ามกลางเสียงเตือนจากนักสิ่งแวดล้อม รัฐบาลยังคงเดินหน้าแผนโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งต่อยอดจากโครงการเดิมที่ต้องการผันน้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสาน
ภานรินทร์เชื่อว่า โครงการนี้เป็นแผนที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้ “แม้ว่าจะเป็นโครงการระยะยาวถึง 20 ปี และใช้เงินจำนวนมหาศาล แต่ผู้คนจะได้รับผลประโยชน์มาก เพราะสามารถปลูกพืชได้ตลอดปี”
อภิรักษ์ สุธาวรรณ์ ที่มักเจอกับคำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ และโครงการอุโมงค์ส่งน้ำ 140 กิโลเมตรมามากครั้ง เขาทิ้งท้ายให้กับคนรุ่นใหม่ว่า “คนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่า คนรุ่นผมเจอกับอะไรมาบ้าง ในหนังสือเรียนก็มีแต่จะพูดว่าเขื่อนคือสิ่งที่ดี ผมอยากให้พวกเขาได้ลองตั้งคำถามและไม่จำเป็นต้องเชื่อสิ่งที่รัฐพูดทั้งหมด ถ้าพวกเราไม่สู้เพื่อปกป้องบ้านเรา แล้วใครล่ะจะมาสู้เพื่อเรา”
บรรณาธิการโดย ไทเลอร์ รอนนี
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายนักข่าวสิ่งแวดล้อมในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia-Pacific Earth Journalist Network และ Internews
ลอร์ ซีเกล เป็นผู้สื่อข่าวหญิงชาวฝรั่งเศส เสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับแพลตฟอร์มข่าวออนไลน์ Mediapart ของฝรั่งเศส รวมไปถึง Nikkei Asia และช่องโทรทัศน์ฝรั่งเศส-เยอรมัน ARTE
ลูค ดุกเกิลบี เป็นช่างภาพที่พำนักอยู่ในกรุ
More Features
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 31 พฤษภาคม 2023
- by HaRDstories
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 10 พฤษภาคม 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์