ณัฐฐาพันธ์ แสงทับ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินในภาคใต้ของไทย

เรื่อง ปริตตา หวังเกียรติ

ภาพ ลูค ดักเกิลบี

 

ย้อนกลับไปในวัย 18 ปี ณัฐฐาพันธ์ แสงทับ ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้พ่อแม่ของเธอต้องเสียค่าชดใช้หลายหมื่นบาทให้กับคู่กรณี นั่นเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของหลายเหตุการณ์ที่ดึงครอบครัวของเธอให้จมดิ่งลงสู่ความยากจน 

พ่อแม่ของเธอต้องนำเงินเก็บมาชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว ทั้งๆที่แต่เดิมเงินก็ขาดมืออยู่แล้ว ไม่นานนักพวกเขาจำเป็นต้องขายที่ดิน เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว เหตุการณ์ทั้งหมดนี้พาณัฐฐาพันธ์มาสู่การเป็นนักปกป้องสิทธิในที่ดินในภาคใต้ของไทย

“เรารู้ตัวว่าไม่ได้เป็นลูกที่ดีในตอนนั้น ออกจะเกเรด้วย” ณัฐฐาพันธ์ในวัย 31 ปี พูดถึงตนเองในอดีต “เราสร้างปัญหาให้พ่อแม่หลายเรื่อง พ่อแม่เสียเงินเสียทองไปเยอะเพราะเรา”

ณัฐฐาพันธ์ หรือ น้ำ เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวเกษตรกร อาศัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมื่อจำเป็นต้องขายที่ดินเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว ครอบครัวของเธอก็ไม่มีที่อยู่และที่ทำมาหากินอีกต่อไป สมาชิกในครอบครัวต้องย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในห้องเช่าขนาดเล็ก พ่อแม่ต้องเจียดรายได้อันน้อยนิดมาจ่ายค่าเช่าทุกเดือน เธอยังคงจดจำภาพความยากลำบากในตอนนั้นได้ดี และไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับเธอและครอบครัวอีก

การต่อสู้เพื่อที่ดิน

ภายหลังปี 2540 เกษตรกรในภาคใต้เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในที่ทำกิน เมื่อเห็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดิน ซึ่งบริษัทเอกชนได้รับสิทธิสัมปทานที่ดินจากรัฐ เพื่อทำธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมัน อันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ ขณะที่เกษตรกรรายเล็กแทบไม่มีที่ทำดินของตนเอง ซ้ำยังมีหลายคนที่ถูกไล่ที่เพื่อเปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำเกษตรกรรมแปลงใหญ่เชิงพาณิชย์

เมื่อเห็นปัญหาดังกล่าว ในปี 2551 เกษตรกรไร้ที่ทำกินในจังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงรวมตัวกันจัดตั้งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกษตรกรรายเล็ก ในการเรียกร้องที่ดินเพื่อการเกษตรจากภาครัฐ 

พวกเขาจัดตั้งชุมชนขึ้นมา 5 แห่ง บนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรของรัฐบาล หรือ “สปก.” ซึ่งให้สิทธิเกษตรกรในการเพาะปลูกบนที่ดินของรัฐจำนวนไม่เกิน 50 ไร่ต่อคน แต่ไม่ให้สิทธิครอบครองที่ดิน

พ่อแม่ของณัฐฐาพันธ์เข้าร่วมกลุ่ม สกต. และย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนสันติพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 ชุมชนที่จัดตั้งขึ้นในตอนนั้น  สมาชิกชุมชนตั้งกติการ่วมในการจัดการที่ดิน โดยแต่ละครัวเรือนได้รับสิทธิในการดูแลที่ดิน 11 ไร่ ที่ดิน 1 ไร่ใช้สำหรับอยู่อาศัยและเพาะปลูกพืชเพื่อบริโภคในครัวเรือน 10 ไร่ที่เหลือเป็นไร่นาแปลงรวม ผลิตผลที่ได้จากพื้นที่ในส่วนนี้ต้องแบ่งปันกับสมาชิกคนอื่นในชุมชน

อย่างไรก็ดี ภายหลังชุมชนเริ่มก่อร้างสร้างตัวได้ไม่นาน ชีวิตที่สงบสุขของชุมชนสันติพัฒนาต้องเจอกับความขัดแย้ง เมื่อบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (United Palm Oil Industry PLC) เริ่มเข้ามาปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชน ทั้งยังมีการอ้างสิทธิบนที่ดินซ้อนทับกับพื้นที่ของชุมชน รวมแล้วกว่า 1,486 ไร่

ประสบการณ์ใหม่

ณัฐฐาพันธ์ ตามพ่อแม่เข้ามาอยู่ในชุมชนสันติพัฒนา เธอค่อยๆซึมซับแนวคิดการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของ สกต. จนก้าวขึ้นมาเป็นแกนนำคนสำคัญของชุมชน

แรกเริ่มเดิมทีเธออาสาขับรถพาผู้สูงอายุจากแต่ละบ้าน มายังสถานที่จัดกิจกรรมของ สกต.  จนรุ่นพี่ในกลุ่มเริ่มเห็นแววของเธอ และชวนเธอเข้าอบรมงานเคลื่อนไหวของ สกต. รวมกับตัวแทนชุมชนคนรุ่นใหม่อีก 19 คน

ในขณะที่เธอเข้าร่วมการอบรม และช่วยรุ่นพี่ทำงานรณรงค์สิทธิในที่ดินทำกิน ทำให้เธอมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือนชุมชนหลายแห่งในประเทศที่ต่อสู้ประเด็นเดียวกัน มันเป็นประสบการณ์ที่เติมเต็มและสร้างพลังให้กับเธออย่างมาก ยิ่งทำให้เธอผูกพันกับกลุ่มและทุ่มเทกับการทำงานเพื่อปกป้องที่ดินทำกินของเพื่อนๆและพี่น้อง

จากเด็กเกเรคนหนึ่ง เธอก้าวขึ้นมาก็ได้กลายมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิคนสำคัญของชุมชนสันติพัฒนาและ สกต.

“เราโตมากับความจน ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือสูงๆ พอได้มาทำงานกับ สกต. เลยเป็นประสบการณ์ที่เปิดโลกให้เรามาก เรายังมีโอกาสเรียนรู้เรื่องสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของเราทุกคน  มันทำให้เราเห็นว่า เสียงของตัวเรามีค่า เช่นเดียวกับเสียงของทุกคนในชุมชน” ณัฐฐาพันธ์กล่าว

หลังจากนั้นไม่นาน ณัฐฐาพันธ์ก็ได้กลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิคนสำคัญของชุมชนสันติพัฒนาและ สกต. 

“แต่ถ้าหากตัวฉันหรือคนที่ปกป้องสิทธิในที่ดินคนอื่น ๆ ไม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ที่ดินของคนรุ่นถัดไปก็จะตกไปอยู่ในมือของบริษัท”

สู้เพื่อปกป้องชุมชน

ในระหว่างที่สมาชิกชุมชนสันติพัฒนา ดำเนินการประท้วงบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และคัดค้านการเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินที่ซ้อนทับกับที่ สปก. ที่ชุมชนอาศัยอยู่ ส่งผลให้ทางบริษัทฟ้องร้องชาวบ้านรวม 12 คน ในระหว่างปี 2551-2552 ด้วยข้อหาสร้างความปั่นป่วนและร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมดย้ายออกจากชุมชน

พวกเขาไม่ยอมย้ายออก แต่เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างเข้มข้นขึ้นอีก รวมทั้งเรียกร้องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบเอกสารที่ดินของบริษัท ผลการตรวจสอบพบว่า เอกสารที่ดินของบริษัทบางแปลงได้รับมาโดยมิชอบ

นอกจากนี้ สมาชิกชุมชนสันติพัฒนายังร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานราชการต่าง ๆ  เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความเห็นว่าบริษัทไม่มีกรรมสิทธิเหนือที่ดินอันเป็นที่ตั้งของชุมชน

ในปี 2556 ชุมชนยื่นเรื่องฟ้องร้องกับศาลปกครอง ขอให้สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินของบริษัทที่ได้มาโดยมิชอบ เพื่อให้ภาครัฐนำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรให้ชุมชนอย่างเป็นธรรม 

ศาลปกครองได้พิพากษาในวันที่ 19 มี.ค. ปี 2564 โดยมีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินของบริษัทรวม 23 แปลงซึ่งได้มาโดยมิชอบ

“เราดีใจที่ศาลตัดสินแบบนี้คำตัดสินของศาล” ณัฐฐาพันธ์ย้อนนึกถึงวันที่เธอและสมาชิกชุมชนเข้ารับฟังคำพิพากษา “เราใช้เวลามากกว่า 10 ปี จนพิสูจน์ให้เห็นว่า ชุมชนเรามีสิทธิทำกินในที่ที่เราอยู่ตอนนี้”

เมื่อความสงบสุขสั่นคลอน

หลังจากชัยชนะในศาล ชุมชนสันติพัฒนาก็กลับมาสงบสุขดังเช่นชื่อของชุมชนอีกครั้ง และได้รับการยกย่องในหมู่นักต่อสู่ที่ดินให้เป็นแบบอย่างของการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อปกป้องสิทธิที่ดินของชุมชน

แต่ณัฐฐาพันธ์และคนในชุมชนต่างรู้ดีว่า ความสงบสุขนั้นอาจคงอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ห่างออกไปอีก 40 กิโลเมตรจากชุมชนของพวกเขา มีชุมชนคลองไทรพัฒนาที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งกับบริษัทน้ำมันปาล์มอีกเจ้า โดยมีสมาชิกชุมชนถูกสังหารไปถึง 4 คน ในระหว่างปี 2553-2558  โดยชุมชนเชื่อว่าเป็นผลมาจากปมความขัดแย้งด้านที่ดิน

“เรารู้ว่าเราอาจเป็นเป้าได้ เราอาจโดนฟ้องหรือแย่ที่สุด ก็อาจโดนฆ่า”

ชีวิตในชุมชนสันติพัฒนาดำเนินไปอย่างสงบจนถึงปี 2563 ความกังวลของณัฐฐาพันธ์ก็เริ่มเป็นจริง

สัญญาณความไม่สงบ เกิดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 เมื่อมือปืนรายหนึ่งบุกเข้าบ้านของนายดำ อ่อนเมือง หนึ่งในแกนนำชุมชนสันติพัฒนา พร้อมลั่นไกปืนหวังเอาชีวิตของนายดำ โชคดีที่เขาหลบกระสุนปืนแล้วหนีออกจากบ้านได้ทันเวลา

ตำรวจสามารถรวบตัวคนร้ายและดำเนินคดีกับเขาหลังจากนั้นไม่นานนัก จนกระทั่งในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี มีคำสั่งจำคุกมือปืนเป็นเวลา 13 ปี 16 เดือน แต่ยังไม่สามารถสาวไปสู่ผู้บงการได้ 

ชาวบ้านเล่าว่ามือปืนอาศัยอยู่ไม่ไกลจากชุมชนสันติพัฒนา และไม่ได้มีเรื่องบาดหมางกับนายดำมาก่อน ทำให้คนในชุมชนเชื่อมโยงการลอบสังหารกับปมความขัดแย้งด้านที่ดิน

ชีวิตที่ไม่เคยสงบ

กรณีการลอบสังหารนายดำ ส่งผลให้ให้ณัฐฐาพันธ์และชุมชนต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น

“เราพยายามมองงานของเราในมุมบวก เราคิดว่าต่อให้เสี่ยง ก็คุ้ม เพราะเรากำลังช่วยให้ชุมชนและลูกหลานมีอนาคตที่ดี คนรุ่นต่อไปจะได้ไม่ต้องกังวลว่าอีกต่อไปว่าใครจะมาเอาที่ดินไปอีก”

“ถ้าหากเราหรือนักปกป้องสิทธิคนอื่นไม่ลุกขึ้นมาสู้ ที่ดินของลูกหลานในอนาคตก็จะตกไปอยู่กับนายทุน”

ณัฐฐาพันธ์เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของ สกต. คือการสร้าง “วัฒนธรรมร่วมแบ่งปัน” ที่สมาชิกชุมชนอยู่ด้วยกัน ร่วมมือกันปกป้องที่ดิน และมีกินไปด้วยกัน

ณัฐฐาพันธ์ค่อนข้างเปิดตัวอัตลักษณ์ทางเพศของเธอ แฟนของเธอเป็นเพื่อนสาวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทั้งสองคอยสนับสนุนและให้กำลังใจกันและกัน ทั้งด้านการงานและด้านจิตใจ  แม้จะอยู่ในชุมชนที่มีคนต่างรุ่น ณัฐฐาพันธ์ไม่เคยรู้สึกว่าตนโดนเลือกปฏิบัติเลย

“ทุกคนในชุมชนให้ความสำคัญกับงานที่เราทำ มากกว่าที่จะมาจับผิดเรื่องเพศของเรา เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และ สกต. เราสามารถเป็นตัวเองได้ที่นี่ เราเลยยิ่งอยากปกป้องบ้านหลังนี้”

บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน

ปริตตา หวังเกียรติ นักข่าวอิสระ พื้นเพมาจากภูเก็ต แต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ผลิตผลงานให้สำนักงานสื่อจากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ โดยสำนักงานที่ผลิตผลงานให้ล่าสุดคือ Internews

ลูค ดุกเกิลบี ช่างภาพข่าวชาวอังกฤษที่อยู่กรุงเทพมหานคร ลูคติดตามถ่ายภาพการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ตั้งแต่ปี 2558

We use cookies to ensure that we give you the best experience on our website.