STORIES

เกษตรกรชาวสุราษฎร์ยังหวังรัฐรับรองสิทธิที่ดินชุมชน แม้ต้องเจอกระสุนปืนและความตายมาแล้ว

โดย ลูค ดุกเกิลบี

ทางลูกรังขรุขระเลื้อยเลาะไปตามสวนปาล์มน้ำมัน แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไปบนที่โล่งอันเป็นเกาะกลางทะเลมรกตของต้นปาล์มน้ำมัน เนินเขาขนาดย่อมในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้นเป็นที่ตั้งของชุมชนคลองไทรพัฒนา ชุมชนของเกษตรกรไร้ที่ดิน

ที่หน้าบ้านของพวกเขา ผู้คนกำลังมัดตะไคร้และกล้วยขนขึ้นท้ายรถกระบะเตรียมไปขายในตลาด เสียงฆ้อนตอกเสารั้วก้องอยู่ไกล ๆ เคล้าคลอไปกับเสียงวัวร้อง ในจังหวะชีวิตของชุมชนเช่นนี้ แทบไม่มีร่องรอยของบรรยากาศตึงเครียด ความไม่แน่นอน และความหวาดกลัวที่บีบคั้นความรู้สึกของคนในชุมชนเพียงไม่กี่ปีก่อนหน้า 

“เดือนแรกที่ผมย้ายมาที่นี่ ผมได้ยินเสียงปืนทุกคืน เขายิงกระสุนเข้าหมู่บ้านเราตอนมืด” ประทีป ระฆังทอง ผู้นำชุมชนอายุ 62 ปี ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตั้งแต่ตอนก่อตั้งเมื่อปี 2551 เล่าทวนความหลัง

ประทีปเป็นนักปกป้องสิทธิในที่ดินและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กลุ่มขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูประบบจัดการที่ดินในไทย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ได้ตั้งชุมชนคลองไทรพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าชุมชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นที่อยู่และที่ทำกินแก่เกษตรกรไร้ที่ดิน

เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ชุมชนราว 70 ครัวเรือนแห่งนี้ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งด้านสิทธิที่ดินกับบริษัทน้ำมันปาล์ม ระหว่างปี 2553 และ 2558 คนในชุมชน 4 คนถูกฆ่า แต่กลับไม่มีผู้ใดถูกพิพากษาว่ามีความผิด

แม้ว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งให้บริษัทน้ำมันปาล์ม จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ออกจากพื้นที่ แต่คนในชุมชนก็ยังคงกังวลว่า สถานการณ์ตึงเครียดอาจกลับมาอีกครั้ง พวกเขาตั้งใจที่จะยืนหยัดต่อไปในการต่อสู้เพื่อกรรมสิทธิ์ที่ดินของชุมชนที่จะรับรองสถานะหมู่บ้านของพวกเขาอย่างเป็นทางการ

“ผมถามชาวบ้านว่า พวกเขาอยากจะอยู่และต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะอยู่ที่นี่ไหม คนส่วนใหญ่บอกว่า พวกเขาไม่มีที่ไปอีกแล้ว” ประทีป นักกิจกรรมที่ถูกขู่ฆ่ามาตลอด กล่าว

ความขัดแย้ง

แม้ว่าราวหนึ่งในสามของประชากรไทยจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่การเข้าถึงที่ดินและเป็นเจ้าของที่ดินยังคงติดอยู่ในวังวนของความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประมาณการว่า หนึ่งในห้าของประชากรไทยครอบครองที่ดินถึงร้อยละ 80 ของที่ดินส่วนบุคคลทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ที่ดินหลายแห่งยังถูกทิ้งร้าง ไม่มีการใช้งาน และเก็บไว้เก็งกำไร

หลังปี 2540 กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในที่ดินและเกษตรกรรายย่อยไร้ที่ดินทำกินในภาคใต้ของไทยเริ่มรณรงค์เรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงพื้นที่ทำการเกษตร พวกเขาจัดตั้งสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือ สกต. เพื่อเป็นตัวแทนคนยากคนจนราว 600 คน ที่จ่ายค่าสมาชิกสหพันธ์ราคาไม่แพงแลกกับความช่วยเหลือ ทางกลุ่มเรียกร้องให้นำที่ดินที่ถูกครอบครองอย่างผิดกฎหมายหรือเวนคืนโดยรัฐมาทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก

สกต. ได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการ หลังจากงัดหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทน้ำมันปาล์มบริษัทหนึ่งครอบครองที่ดินขนา1353 ไร่ที่ตำบลชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผิดกฎหมาย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจึงดำเนินคดีบริษัทในข้อหาล่วงล้ำและบุกรุกพื้นที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเมื่อปี 2548

 แม้ทางกลุ่มจะคณะคดีที่ศาลชั้นต้นเมื่อปี 2550 แต่บริษัทน้ำมันปาล์มก็ยื่นอุทธรณ์ต่อ จนเมื่อปี 2557 ศาลฎีกาที่กรุงเทพมหานครได้มีคำพิพากษาสูงสุดให้บริษัทย้ายออกไป

ปี 2551 หลังชนะคดีในศาลชั้นต้น เกษตรกรไร้ที่ดินทำกินหลายร้อยคนที่เป็นสมาชิก สกต. ได้ย้ายเข้าไปปักหลักอยู่บนที่ดินขนาด 162 ไร่และร่วมกันตั้งชื่อชุมชนว่า คลองไทรพัฒนา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักปกป้องสิทธิในที่ดินก็ได้รณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ชุมชนตนมีสถานะอย่างเป็นทางการผ่านกรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชน

ไม่นานจากนั้น ความรุนแรงก็ปะทุขึ้น และในช่วง 8 ปีต่อมาชุมชนก็ถูกคุกคามและเผชิญกับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลอบฆ่าคนในชุมชน 4 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 2 คน

ลอบสังหาร

คีตนาฏ วรรณบวร เจ้าหน้าที่โครงการของ Focus on the Global South เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนคลองไทรพัฒนาในช่วงปีแรก ๆ ในตอนนั้นเธอทำงานกับ Protection International ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง 

“ชุมชนคลองไทรพัฒนาน่าเป็นห่วงมาก มีรายงานเข้ามาเรื่อย ๆ ว่าคนในหมู่บ้านเจอกับการข่มขู่และความรุนแรงทั้งฆาตกรรม พยายามฆ่า ยิงปืนข่มขู่ในตอนกลางคืน ทำลายพืชผลการเกษตรและทรัพย์สิน รวมถึงข่มขู่ทางกฎหมาย” เธอเล่าถึงช่วงเวลานั้น 

ความพยายามลอบสังหารเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นรอบนอกชุมชน โดยมือปืนนั้นแฝงตัวในความมืดในสวนปาล์มน้ำมัน ต่อมา ชาวบ้านจึงป้องกันตัวด้วยการขุดหลุมหลบกระสุนและวางกระสอบทรายเป็นป้อมรักษาการทั้งสี่มุมของหมู่บ้าน

วันที่ 11 มกราคม 2553 ชุมชนคลองไทรพัฒนาสูญเสียนายสมพร พัฒภูมิ จากการถูกลอบยิง

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 นางมณฑา ชูแก้ว อายุ 54 ปี และนางปราณี บุญรัตน์ อายุ 50 ปี ถูกยิงสังหารห่างจากจุดกั้นกระสอบทรายที่เป็นป้อมรักษาความปลอดภัยตรงทางเข้าหมู่บ้านเพียง 800 เมตร และพบปลอกกระสุนจากปืนไรเฟิลจู่โจม 10 นัดที่ปลิดชีวิตทั้งคู่ตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ

 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 นายใช้ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปี ถูกยิงสังหาร ตำรวจจับกุมผู้เป็นมือปืน แต่ไม่ช้าก็ปล่อยตัวไป แม้ว่ามือปืนคนเดิมจะถูกจับกุมตัวอีกครั้งเมื่อปี 2559 ในข้อหาพยายามฆ่านายสุพจน์ กาฬสงค์ หลานของนายใช้ แต่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีตัดสินว่าเขาไม่มีความผิด เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ นักปกป้องสิทธิที่ดินในหลายชุมชนของไทยต้องเผชิญกับการข่มขู่ ความรุนแรง และการคุกคามทางกฎหมายจากบริษัทต่าง ๆ มาโดยตลอด

ปี 2560 บริษัทน้ำมันปาล์มฟ้องร้องชาวบ้าน 15 คน จากหมู่บ้านน้ำแดง ซึ่งเป็นสมาชิกของ สกต. ในข้อหาบุกรุก ทำลายทรัพย์สิน และอาชญากรรมอื่น ๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและตั้งข้อหาพวกเขา  นอกจากนี้ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิที่ดิน 2 คน ถูกควบคุมตัวก่อนพิจารณาคดีเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน เนื่องจากไม่มีเงินประกันตัว  7 คน ถูกศาลตัดสินจำคุกในเวลาต่อมา

องค์กร Protection International เรียกข้อกล่าวหานั้นว่าเป็น “การใช้กระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การคุกคามครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ชุมชนสันติพัฒนา ที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นก่อนหน้านี้ แต่มีมือปืนบุกยิงนายดำ อ่อนเมือง แกนนำชุมชนที่บ้านพัก แต่นายดำหลบกระสุนได้อย่างหวุดหวิดและหนีมือปืนไปได้ 

มือปืนคนดังกล่าวเคยทำงานให้บริษัทปาล์มน้ำมันที่มีความขัดแย้งกับชุมชน เขาถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่า และต่อมาเดือนสิงหาคม 2564 เขาถูกตัดสินจำคุก 14 ปี 4 เดือน การตัดสินของศาลครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ลงมือสังหารหรือใช้กำลังคุกคามชาว สกต. จำต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน

อย่างไรก็ตาม ชุมชนคลองไทรพัฒนายังคงเฝ้ารอที่จะได้รับความยุติธรรมจากคดีฆาตกรรมสมาชิกทั้งสี่คนอยู่ ในขณะเดียวกัน แม้ว่าการก่อเหตุเหล่านี้จะทำให้ผู้คนทั่วทั้งหมู่บ้านหวาดกลัว แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านแข็งแกร่งและมุ่งมั่นยืนหยัดต่อสู้เพื่อความยุติธรรมต่อไปด้วยเช่นกัน

“5 ปีก่อน เราต่อสู้กันเองเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดิน เราสูญเสียแกนนำไป 4 คนจากการถูกลอบยิง และก็ยังจับมือปืนไม่ได้”

การป้องกันตนเอง

หลังจากเผชิญความรุนแรงและการสูญเสียและได้รับความช่วยเหลือเพียงน้อยนิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชนก็ตระหนักดีว่า พวกเขาต้องมีมาตรการปกป้องตัวเอง พวกเขาสร้างจุดรักษาความปลอดภัยทำจากไม้และกระสอบทรายตั้งไว้ที่ทั้งสี่มุมของหมู่บ้าน จนล่าสุดเมื่อสถานการณ์ด้านความปลอดภัยเริ่มดีขึ้น ก็มีคนในชุมชนประมาณ 3-4 คนประจำจุดดำเนินการเพื่อรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง และใช้วิทยุสื่อสารเพื่อติดต่อกัน

ตอนกลางคืน ทางเข้าหมู่บ้านที่ยานพาหนะเข้าได้ทางเดียวนั้นจะถูกปิดตายไม่ให้มีการเข้าออก และรถทุกคันที่เข้าและออกจากพื้นที่ในเวลาปกติจะมีการบันทึกข้อมูลลงสมุด พร้อมเลขทะเบียนรถ วัน เวลา และเหตุผลที่เข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านบางคนจะถือวิทยุสื่อสารไว้ติดตัวและติดตั้งกล้องวิดีโอที่หน้ารถกระบะของตัวเอง

เวลา 7 โมงเช้าของทุกวัน ชุมชนจะจัดประชุมหมู่บ้าน โดยมีการเช็คชื่อ และพูดคุยถึงสิ่งผิดปกติที่อาจมีในช่วงนั้น รวมถึงข้อร้องเรียนหรือข้อคับข้องใจต่าง ๆ แม้ว่าจะมีบางครอบครัวเลือกที่จะย้ายออกไป แต่มาตรการดูแลกันเองที่ชาวบ้านร่วมมือกันก็ช่วยหลอมรวมชุมชนในยามที่เผชิญกับการคุกคาม

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในชุมชนหลายคนก็อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมชุมชนถึงแทบไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเลย

คีตนาฏ ผู้ศึกษากรณีคลองไทรพัฒนา เชื่อว่ามีสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่กับภาคธุรกิจในภาคใต้ จึงทำให้เกิด “สุญญากาศทางกฎหมายในระดับหมู่บ้าน” ในขณะเดียวกันก็ขาดการสนับสนุนจากสาธารณชนในการต่อสู้ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

“กลยุทธ์เชิงรุกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ในการเข้าครอบครองที่ดินถูกมองว่าสุดโต่งและผิดกฎหมาย” คีตนาฏกล่าว 

“สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้จึงหันไปใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายเพื่อให้พวกเขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิทธิในหลักสากล และยกระดับการต่อสู้ไปในระดับประเทศและระดับสากล”

มองไปข้างหน้า

ช่วงปลายปี 2563 สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้โน้มน้าวให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงาน โดยมีประธานเป็นรองนายกรัฐมนตรี นายประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อแก้ปัญหาประเด็นสิทธิในที่ดินของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้จัดประชุมร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของจังหวัด

หลังจากการประชุมนั้น ชุมชนคลองไทรพัฒนาจึงมีเลขที่บ้าน และมีเจ้าหน้าที่มาวัดพื้นที่ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของชุมชนที่ได้การรับรองอย่างเป็นทางการ รวมถึงได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้จะยังไม่มีน้ำประปาและไฟฟ้า แต่พวกเขาก็มาไกลเกินที่ใครในอดีตจะจินตนาการได้ถึง 

“5 ปีก่อน เราต่อสู้กันเองเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดิน เราสูญเสียแกนนำไป 4 คนจากการถูกลอบยิง และก็ยังจับมือปืนไม่ได้” ธีรเนตร ไชยสุวรรณ สมาชิกชุมชนคลองไทรพัฒนาและแกนนำเยาวชนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าว 

“เราเรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านั้นและใช้แนวทางร่วมกันในชุมชนในช่วงไม่กี่ปีมานี้” ธีรเนตรกล่าว “เราพยายามที่จะให้สังคมเห็นและเข้าใจปัญหาสิทธิที่ดินที่พวกเราเผชิญอยู่ เพราะการมีแนวร่วมและเครือข่ายที่มากขึ้นจะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชุมชนเราได้ เพราะเราเป็นฝ่ายถูก”

รายงานเพิ่มเติมโดย ปริตตา หวังเกียรติ บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน

ลูค ดุกเกิลบี เป็นช่างภาพข่าวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ลูคติดตามถ่ายภาพการเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ตั้งแต่ปี 2558

We use cookies to ensure that we give you the best experience on our website.