เรื่อง ณิชา เวชพานิช
ภาพ พีระพล บุณยเกียรติ
ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมแรงงานนั่งในออฟฟิศสหภาพแรงงานซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านของตนที่สระบุรี เธอคอยให้คำปรึกษาและรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับสิทธิแรงงาน ภาพ : พีระพล บุณยเกียรติ/HaRDstories
- 31 สิงหาคม 2023
หลังจากถูกไล่ออก เธอขยายสมรภูมิการต่อสู้จากโรงงานสู่ท้องถนน นักสหภาพแรงงานกลายเป็นขาประจำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
“นั่งเฉยๆ” ที่โรงงานว่างเปล่าปิดทำการเป็นงานเดียวที่เหลือให้พนักงานอย่างธนพร วิจันทร์ทำ เธอทำงานในบริษัทวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่งในสระบุรีมาต่อเนื่อง 27 ปี โดยทำตำแหน่งสุดท้ายอยู่แผนกควบคุมคุณภาพสินค้า (คิวซี)
แต่นอกจากงานหลักแล้ว ธนพรยังเป็นแกนนำสหภาพแรงงานผู้เป็นปากเสียงให้แก่เพื่อนพนักงานเพื่อเจรจากับบริษัท จนอดสงสัยไม่ได้ว่างานอาสานี้แหละที่นำเธอไปสู่สภาพอันน่าอึดอัด นายจ้างของเธอ…บริษัทผลิตและส่งออกวัสดุก่อสร้าง อ้างว่าประสบวิกฤตเศรษฐกิจและต้องปิดฐานการผลิตที่สระบุรีหลังจากดำเนินการมาหลายปี
บริษัทยื่นข้อเสนอว่าจะย้ายพนักงานทั้งหมดไปที่โรงงานอีกจังหวัด แกนนำสหภาพวัย 51 ไม่ได้มีครอบครัวที่จะต้องดูแลอยู่ที่สระบุรี เลยเต็มใจลงชื่อขอย้ายสถานที่ทำงาน ทว่ากลับถูกปฏิเสธ ธนพรกลายเป็นลูกจ้างคนเดียวที่ค้างอยู่ที่โรงงานที่ปิดทำการ มีแค่พนักงานรักษาความปลอดภัยคนเดียวอยู่เป็นเพื่อน
ระหว่างพฤศจิกายน 2562 ถึงสิงหาคม 2563 ธนพรไปทำงานทุกวันในฐานะพนักงานแผนกควบคุมคุณภาพสินค้าที่โรงงานร้างว่างเปล่า จนกระทั่งถูกไล่ออกสิบเดือนต่อมา
ด้วยความตระหนักในสิทธิของตนเอง ธนพรยื่นฟ้องนายจ้างฐานเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม บริษัทผู้ถูกฟ้องอธิบายกับศาลว่าไม่สามารถบรรจุหญิงสาวกลับตำแหน่งเดิม เพราะได้จ้างหน่วยงานภายนอกทำงานในส่วนนี้แทนแล้ว (เอ้าท์ซอร์ส) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาขาดทุน ศาลแรงงานตัดสินให้การปลดธนพรออกนับเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยให้เหตุผลว่า การทำธุรกิจนั้นย่อมมีกำไร-ขาดทุนและไม่เป็นเหตุผลมีน้ำหนักมากเพียงพอที่จะเลิกจ้าง
ศาลสั่งให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายธนพรเป็นเงินราว 250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย แม้จะยืนยันไม่ได้ว่าการที่เธอเป็นนักสหภาพแรงงานเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจปลดเธอออกหรือไม่อย่างไร ธนพรเชื่อว่าอาจมีส่วน
“เขาเลิกจ้างเรา บอกว่าสหภาพแรงงานเป็นหอกข้างแคร่” ธนพรกล่าว “พนักงานจะฟังสหภาพ ไม่ฟังบริษัท”
ปี 2565 และ 2566 สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation) เครือข่ายสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งติดตามและประเมินการคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศต่างๆ ได้ให้คะแนนไทยในเกณฑ์รองจากต่ำสุด ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ “ไม่มีการประกันสิทธิแรงงาน”
ตั้งแต่ว่างงาน ธนพรกลายเป็นขาประจำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่หวนกลับมาสู่ท้องถนนไม่นานมานี้ นักสหภาพสาวขับรถเที่ยวไปมาระหว่างบ้านที่สระบุรีกับกรุงเทพฯ เพื่อร่วมประท้วงและแสดงตัวตามนัดศาล นอกจากนี้เธอยังมาช่วยเพื่อนผองแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิ
ห้องเรียนสิทธิข้างสายพานโรงงาน
ธนพรเติบโตในครอบครัวชาวนาอีสาน พอตอนอายุ 16 เธอตัดสินใจหันหลังให้กับงานในไร่และเดินทางเข้าสู่เส้นทางชีวิตสาวโรงงานที่สระบุรีเพื่อรู้จักโลกที่กว้างขึ้นตามประสาวัยรุ่น
เธอเริ่มงานแรกที่โรงงานเชือดไก่ สวมเสื้อกาวน์สีขาวทับชุดลำลองและทำหน้าที่ตัดแต่งชิ้นส่วนเนื้อไก่ที่ลำเลียงมาตามสายพาน ที่โรงงานนี้ ธนพรได้เรียนรู้เกี่ยวกับความยากลำบากที่แรงงานต้องเจอหลากหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาค่าจ้างไม่เป็นธรรม
ช่วงปี 2533 ไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ไม่ว่าจะเรื่องชั่วโมงการทำงานหรือการขึ้นเงินเดือน สมัยนั้น สาวโรงงานอย่างเธอได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ทว่าตอนที่โรงงานไก่ประกาศขึ้นค่าจ้าง พนักงานแต่ละคนกลับได้ไม่เท่ากัน แถมยังขึ้นแค่ไม่กี่บาท นั่นนำไปสู่บทเรียนสิทธิแรงงานภาคปฏิบัติครั้งแรก “หยุดงานประท้วง”
วันหนึ่ง ทันทีที่เสียงกระดิ่งให้สัญญาณเริ่มเดินเครื่องสายพานการผลิตหยุด พนักงานคนหนึ่งเคาะมีดสามครั้งบนที่ลับมีด กึ๊ก กึ๊ก กึ๊ก! ทันใดนั้น พนักงานทุกคนพากันละมือจากสายพานตามที่นัดแนะแล้วออกไปรวมตัวกันที่สนามหญ้าหน้าโรงงาน ปล่อยไก่หล่นกองพะเนิน การหยุดงานประท้วงวันนั้นประสบความสำเร็จ นายจ้างรับข้อเรียกร้องของคนงานให้ขึ้นเงินเดือนอย่างมีมาตรฐาน
บรรดาพนักงานพากันเริ่มตระหนักถึงพลังต่อรองที่ตนมีและไว้ใจธนพรกับแกนนำอีกสิบคนที่ร่วมกันวางแผนช่วงพักกลางวัน แต่นั่นทำให้พวกเธอตกเป็นที่เพ่งเล็งจากหัวหน้าคนงาน ด้วยความที่ยังไม่คุ้นกับแรงกดดันแบบนี้ ธนพรกับเพื่อนๆ จึงตัดสินใจลาออกจากงาน เธอได้งานใหม่ที่โรงงานวัสดุก่อสร้างและทำงานมาต่อเนื่องเกือบสามสิบปี
ช่วงเวลาทำงานที่นั่น ธนพรได้เรียนรู้เรื่องสหภาพแรงงาน…การรวมกลุ่มของเหล่าพนักงานเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตน ปี 2538 พนักงานกว่าห้าพันคนจากโรงงานสามแห่งในสระบุรีพากันหยุดงานประท้วง ก่อนจะเดินทางกว่า 120 กิโลเมตรไปยื่นข้อเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ “ม็อบอลาสโก้” (มาจากชื่อสามบริษัทฯ ผสมกัน) เป็นการประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสระบุรีและทำให้มีการตั้งสหภาพแรงงาน ธนพรที่ทำงานอยู่โรงงานใกล้เคียงตระหนักว่า การลาออกไม่ใช่แค่ทางเลือกเดียวเมื่อเจอปัญหาแรงงาน แต่การเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอาจช่วยปกป้องสิทธิได้
“ตอนนั้น คำว่า ‘สหภาพ’ มันน่ากลัวมากนะ เป็นพวกหัวรุนแรง ยุยงปลุกปั่น” ธนพรเล่าถึงอดีต นั่งอยู่ในออฟฟิศขนาดเล็กที่แปลงพื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านเป็นที่ทำการสหภาพแรงงานแห่งใหม่หลังจากต้องย้ายออกจากโรงงานที่ปิดตัว “แต่พอเราไปเจอมาเอง ถูกกลั่นแกล้งต่างๆ เลยรู้สึกว่ายอมไม่ได้แล้ว เราต้องการตั้งสหภาพแรงงาน”
รวมตัวอย่างเป็นทางการ
หลังจากเห็นชัยชนะของม็อบอลาสโก้ ปี 2541 ธนพรร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานในโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างที่เธอทำงานอยู่ โดยมีออฟฟิศตั้งอยู่ในโรงงาน
พอมีสหภาพแรงงานแล้ว พนักงานจึงสามารถต่อรองกับนายจ้างให้ปรับปรุงเงื่อนไขการทำงานได้อย่างเป็นระบบ แทนที่จะหาทางออกเป็นรายกรณี เช่น จากที่ลูกจ้างเคยได้รับเงินเป็นรายวัน สหภาพแรงงานผลักดันให้บริษัทเปลี่ยนวิธีการจ่ายเป็นเงินเดือนเพื่อให้เงินเดือนครอบคลุมวันหยุดเสาร์อาทิตย์ด้วย ชัยชนะอีกอย่างคือ การผลักดันให้บรรจุพนักงานภายนอก (เอ้าท์ซอร์ส) เป็นพนักงานประจำของบริษัทฯ ซึ่งช่วยลดการเลือกปฏิบัติในหมู่พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกัน แต่มีสัญญาการจ้างและได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน
“ขณะที่เราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี มันอาจไปแย่งส่วนกำไรสุงสุดซึ่งเป็นเป้าหมายของนายจ้าง” ธนพรกล่าว “เพราะฉะนั้นเราเลยต้องการอำนาจการต่อรอง และสิ่งที่เราทำได้คือมวลชน คนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัท”
แต่ประธานสหภาพอย่างเธอตระหนักดีว่าการมีสหภาพแรงงานประจำบริษัทที่เดียวอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาที่ใหญ่มากขึ้น ราวสิบปีต่อมา ธนพรกับสมาชิกได้ขยายสหภาพประจำบริษัทที่พวกเธอทำงานเป็นสหภาพแรงงานประเภทอุตสาหกรรม เปิดให้แรงงานในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างจากหลากหลายสถานประกอบการและขึ้นกับนายจ้างคนละรายสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ
ปัจจุบัน กฎหมายแรงงานไทยไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติตั้งสหภาพของตนเอง แต่สามารถเป็นสมาชิกสหภาพที่มีอยู่แล้วได้ ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติกว่าสามล้านคน โดยส่วนมากมาจากเมียนมาและกัมพูชา หลายคนกังวลว่า ถ้าออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิแรงงานอาจเสี่ยงถูกเลิกจ้าง ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจึงมักจะร่วมเคลื่อนไหวกับสหภาพแรงงานที่นำโดยนักสิทธิแรงงานไทย
ถอนเขี้ยวเล็บนักสหภาพ
วันนี้ สหภาพแรงงานวัสดุก่อสร้างยังคงมีอยู่ในนาม แต่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเข้มแข็งต่อเนื่องเหมือนสมัยก่อน การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและส่งผลต่อเนื่องให้สหภาพแรงงานหลายแห่งอ่อนแอลง บุญสม ทาวิจิตร แกนนำสหภาพแรงงานในสระบุรีและที่ต่อสู้ตั้งแต่สมัยม็อบอลาสโก้ก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกไล่ออกจากบริษัทตอนปี 2562
“อาจมองได้ว่า สถานการณ์โควิดเป็นโอกาสของนายจ้างที่จะทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแอลง เพราะส่วนใหญ่ ศาลจะวินิจฉัยว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่คาดไม่ถึงนี้ทำให้การเลิกจ้างพนักงานมีเหตุอันสมควร” พรนารายณ์ ทุยยะค่าย ทนายประจำคดีธนพรอธิบาย “แน่นอนว่า กลุ่มคนที่จะถูกเพ่งเล็งก่อนลูกจ้างอื่นๆ ก็คือกลุ่มที่เป็นกรรมการหรือสมาชิกสหภาพ”
ศาลพิพากษาให้บริษัทบรรจุบุญสมกลับเข้าทำงาน แต่ธนพรไม่ได้โชคดีเช่นนั้น
หลังจากถูกเลิกจ้าง ธนพรยิ่งรู้สึกเข้าอกเข้าใจคนทำงานที่อยู่ในสภาพคล้ายกัน เธอทุ่มเทเวลาว่างให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ รวมถึงช่วยเหลือคนที่ถูกละเมิดสิทธิจากที่ทำงาน ท่ามกลางแดดร้อนยามบ่ายเดือนมิถุนายน 2566 ธนพรยืนอยู่หน้าพนักงานหญิงโรงงานทอผ้าร่วมร้อยคน ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ หลายคนอายุเข้าห้าสิบ ถึงแม้พวกเธอจะสวมหมวกปิดใบหน้าไปครึ่งค่อนหน้า แต่ก็ไม่อาจช่วยปกปิดความกังวลบนใบหน้า
โรงงานปั่นด้ายที่พวกเธอทำงานหยุดเดินเครื่องเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว โดยอ้างว่าประสบปัญหาหนี้สินสะสมตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดจึงไม่อาจจ่ายค่าไฟฟ้าและเดินเครื่องต่อ ลูกจ้างโรงงานจึงได้รับเงินแค่ 25% จากรายได้ปกติและต้องอยู่กับอนาคตที่ไม่แน่นอน หลายคนใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ อยู่โดยไม่มีงานและเงินไม่ไหว จึงตัดสินใจลาออกเอง
ที่ทำงานพวกเธอไม่มีสหภาพแรงงาน แต่ธนพรยืนยันกับฝูงชน “อย่าทิ้งเรื่องหลักการการรวมตัว ไม่ใช่ว่าไม่มีสหภาพหรือโรงงานที่เปิดทำการอยู่แล้วจะรวมตัวไม่ได้”
ระหว่างการเจรจากับฝ่ายทรัพยากรบุคคลซึ่งมาเป็นตัวแทนเจ้าของโรงงาน นักสหภาพผู้โชกโชนปรับน้ำเสียงดุดันที่คุยกับฝูงชนเป็นนิ่งสงบ ธนพรตระหนักว่า นายจ้างไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะกลับมาเดินเครื่องโรงงานและจ่ายค่าเสียหายหากต้องปลดพนักงาน เธอเลยเสนอทางออกเฉพาะหน้าสำหรับทั้งสองฝ่าย…โรงงานควรจะยุติสัญญาจ้างกับพนักงานและให้หน่วยงานรัฐมอบกองทุนสงเคราะห์ช่วยเหลือพนักงาน
ถึงแม้ว่าทุกจังหวัดจะมีสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้บริการในพื้นที่ แต่ขั้นตอนทางกฎหมายมักเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับคนทำอาชีพรับจ้างทั่วไป เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงาน ส่วนมากจึงมักจะขอคำปรึกษากับคนที่คุ้นเคยเรื่องกฎหมายแรงงานต่างๆ และไม่เกรงกลัวที่จะออกมาปกป้องสิทธิอย่างธนพร
“พี่เขาไม่ได้เป็นห่วงว่าตัวเองจะเหนื่อย ทุกครั้งที่มีนัดก็ขับรถมาจากสระบุรีแล้วก็ขับกลับเลย” พนักงานโรงงานปั่นด้ายหญิงอายุ 48 คนหนึ่งเผยความรู้สึก โดยขอให้ไม่เปิดเผยชื่อ “ขอแค่พวกเราสู้ พี่ก็จะคอยส่งเสริมเราตลอด”
เสรีภาพการรวมตัว
สำหรับธนพร วันที่เธอจะปลดเกษียณจากภารกิจสู้เรื่องสิทธิแรงงานยังเป็นเรื่องไกลออกไป
นักสหภาพสาวยังไม่มีแผนสมัครงานใหม่ เพราะว่าคดีที่เธอถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นยังคงอยู่ในกระบวนการชั้นศาล ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าธนพรกับนายจ้างคงไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นอีกจากความขัดแย้งที่ผ่านมาทั้งหมด แต่ธนพรไม่ได้คิดอย่างนั้น เธอมองว่าการมีสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานไม่ใช่เรื่องคุกคามอะไร หากแต่เป็นเรื่องพื้นฐาน
ต้นปี 2566 ธนพรยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา ขอให้พิจารณาให้บริษัทบรรจุเธอกลับเข้าทำงานแทนการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอย่างเดียว เธอหวังว่าคดีนี้จะช่วยสร้างบรรทัดฐานการพิจารณาคดีแนวนี้ในไทย
ระหว่างนี้ เธอไม่ได้รอผลตัดสินของศาลอยู่เฉยๆ แต่ยุ่งอยู่กลับการเคลื่อนไหวสู้กับรัฐบาลที่หนุนโดยกองทัพ กลายเป็นขาประจำในการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เบ่งบานบนท้องถนนช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
การเคลื่อนไหวซึ่งเริ่มโดยนักศึกษาขยายออกเป็นเวทีผลักดันประเด็นสังคมหลากหลายด้าน สิงหาคมปี 2563 ธนพรขึ้นเวทีปราศรัยเล่าประสบการณ์ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในการประท้วง เวทีนั้นเปิดให้เธอได้คุยกับคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในไทย พวกเขารวมกันตั้ง “สหภาพคนทำงาน” สหภาพที่ยึดหลักความก้าวหน้าเพื่อความเท่าเทียมกันของแรงงานทุกภาคส่วน วันนี้ ประเทศไทยไม่มีสหภาพแรงงานกลางที่เคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง แต่สหภาพคนทำงานตั้งใจจะเป็นพื้นที่นั้น
ท่ามกลางการปะทะกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับหัวก้าวหน้า ธนพรมักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักสหภาพแรงงานฝั่งอนุรักษ์นิยมมากกว่าว่าเลือกข้างทางการเมือง แต่เธอยืนยันว่า สหภาพแรงงานจะต้องยืนอยู่ข้างฝั่งประชาธิปไตยเสมอ
ธนพรมองว่า การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยและสหภาพแรงงานนั้นตั้งอยู่บนคุณค่าพื้นฐานเดียวกัน นั่นคือ เมื่อคุณถูกละเมิดสิทธิ คุณสามารถรวมตัวและออกมาปกป้องสิทธิของตนเองได้หรือไม่
“จ่ายเงินบำรุงสมาชิกสหภาพก็เหมือนกับจ่ายภาษี ในฐานะสมาชิกสังคมหนึ่งๆ ทุกคนหวังว่าเงินที่เราจ่ายไปจะจัดสรรให้เป็นธรรมและเราได้มีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องต่างๆ” นักสหภาพแรงงานผู้ไม่ยอมแพ้กล่าว “ สหภาพแรงงานกับประชาธิปไตยในการเมืองประเทศ มันคือหลักการเดียวกัน”
ณิชา เวชพานิช นักข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามประเด็นสังคมผ่านมุมมองด้านสิทธิและชีวิตผู้คน เธอเคยทำงานกับสำนักข่าวท้องถิ่นภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
พีระพล บุณยเกียรติ เป็นช่างภาพข่าวอิสระที่ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เขาทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้กับ SOPA Images เอเจนซี่ภาพข่าวของฮ่องกง พีระพล สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลและ สนใจในการเดินขบวนประท้วงต่างๆของประชาชน สามารถติดตามผลงานของพีระพลเพิ่มเติมได้ใน Instagram @peerapon_boonyakiat
Feature profiles
- 10 ธันวาคม 2021
- by วันเพ็ญ พาใจ
- 25 สิงหาคม 2022
- by ปริตตา หวังเกียรติ
- 14 มกราคม 2022
- by สุลักษณา หลำอุบล
- 29 เมษายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช