ผู้สนับสนุนสหภาพคนทำงานถือป้ายขณะร่วมเดินขบวนที่กรุงเทพฯ ในโอกาสวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม 2565 ภาพ : ลูค ดักเกิลบี/HaRDstories
- 29 กันยายน 2023
ประเทศไทยมีสมาชิกสหภาพแรงงานแทบน้อยที่สุดในโลก นับเป็น 1.5% เท่านั้นจากกำลังแรงงานกว่าสามสิบล้านคน แต่ตัวเลขนี้อาจเปลี่ยนเร็วๆ นี้ เมื่อคนทำงานรุ่นใหม่กำลังรวมตัวกันผ่านโลกออนไลน์
“ทำไมเจ้านายสั่งกูได้ทุกอย่างเลยวะ!?” – ความรู้สึกคับแค้นใจของคนทำงานไทยตั้งอยู่บนคำถามง่ายๆ ที่คลิปแอนิเมชั่นของเพจ “พูด” แทงใจชาวมิลเลเนียมหลายคนจนมียอดคนชมมากกว่า 300,000 วิว คลิปเสนอด้วยเสียงพากย์จริงจัง แต่ประชดประชัน “ถ้าไม่อยากยอมเจ้านาย อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น วิธีเดียวเลย คือ สมัครสมาชิกสหภาพหรือจัดตั้งสหภาพ”
“สหภาพแรงงาน” อาจไม่ค่อยเป็นที่นิยมในสังคมไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเผยว่ามีเพียง 1.5% ของกำลังแรงงานในไทยเท่านั้นที่เป็นสมาชิกองค์กรของแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์นี้ นับว่ามีสัดส่วนน้อยกว่าประเทศไหนๆ ในโลก แต่ตัวเลขนี้อาจจะเปลี่ยนในอีกไม่นาน… อย่างน้อยก็ในอุดมการณ์ของชาวอินฟลูเอนเซอร์เอียงซ้ายอย่างเพจพูดและสหภาพคนทำงาน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนรุ่นใหม่ไทยตื่นตัวที่จะคุยเรื่องสิทธิแรงงานมากขนาดไหน
โลกดิจิทัลเปิดประตูต้อนรับคลื่นลูกใหม่ของขบวนการแรงงานไทย หลายกลุ่มพากันเรียกขานตัวว่า “สหภาพ” ไม่ว่าจะเป็นสหภาพคนทำงาน สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ สหภาพไรเดอร์ และสหภาพบุคลากรทางการแพทย์ แม้แต่บาริสต้าในดินแดนฮิปสเตอร์อย่างเชียงใหม่ก็มีสหภาพของตัวเอง
สหภาพแรงงานทั้งหลายนี้อาจดูเหมือนเป็นแค่คอนเทนต์ไวรัลประเดี๋ยวประด๋าว แต่กลับมีพลังดึงดูดผู้คนสู่การเคลื่อนไหวที่จัดตั้งจริงจัง ทุกวันนี้ คนไทยมากกว่า 72% ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดตามข่าวสารและมีส่วนร่วมทางการเมือง และโลกออนไลน์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของนักกิจกรรมสิทธิแรงงาน
“การจัดตั้งออนไลน์กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสต์ของสหภาพยุคใหม่” ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักประวัติศาสตร์อิสระด้านแรงงานกล่าว “ทุกวันนี้ พวกเราใช้เวลาส่วนมากบนโลกดิจิทัล สหภาพคนทำงานเป็นสหภาพแห่งแรกในไทยที่ใช้โอกาสจากเทคโนโลยีนี้”
ศักดินาสังเกตว่า ขบวนการแรงงานยุคใหม่นี้ดึงดูดกลุ่มคนที่ปกติแล้วไม่มองตัวเองว่าเป็น “แรงงาน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง วันนี้ สหภาพคนทำงานมีสมาชิกลงทะเบียนเกือบ 3,000 คน มาจากพื้นเพหลากหลาย ตั้งแต่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักดนตรี ไรเดอร์ ไปถึงแรงงานข้ามชาติ
แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ขบวนการแรงงานไทยพบเจออุปสรรคหลายอย่าง ในปี 2566 สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation) ได้จัดลำดับให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรองรั้งท้ายด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน
มือหนึ่งรัวคียบอร์ด อีกข้างประคองหน้าจอ จะเป็นไปได้ไหมที่นักสหภาพเจนใหม่ พร้อมอาวุธบนโลกโซเชียลจะพลิกฟื้นขบวนการแรงงานไทย?
จาก “พูด” สู่ “สหภาพคนทำงาน”
ในโลกสีสันของธุรกิจโฆษณา ฉัตรชัย พุ่มพวง สัมผัสถึงความแข่งขันของวงการกับตัว ชายหนุ่มวัย 28 ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำโดยไม่ได้ค่าเหนื่อยเพิ่ม ผ่านเกณฑ์ชีวิตมนุษย์ออฟฟิศตัวอย่างจนเขาเอามาเขียนบทเล่าได้อย่างถึงอารมณ์ในคลิปไวรัล วันนี้ เขาเป็นหนึ่งในคนเบื้องหลังเพจสื่อ “พูด” ที่นำเสนอประเด็นสังคมย่อยง่ายได้ใจคนรุ่นใหม่ คนกลุ่มเดียวกับฝูงชนที่พากันลงถนนเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยช่วงปี 2563
ขับเคลื่อนด้วยความขับข้องใจต่ออิทธิพลกองทัพและสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย การเคลื่อนไหวบนท้องถนนได้ขยายออกสู่ประเด็นสังคมอื่นๆ ที่กว้างออกไป ตั้งแต่สวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ จนถึงสิทธิแรงงาน
เมื่อเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยดังก้องบนท้องถนน ฉัตรชัยเองก็ไปเข้าร่วมชุมชนกับคนชนชั้นกลางอีกหลายๆ คน ก่อนจะค้นพบว่า ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจไทยนั้น ก็เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน
“ถ้าเรามีประชาธิปไตยทางการเมืองแล้ว แต่ยังถูกกดขี่ในที่ทำงาน เราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริงได้ยังไง” ฉัตรชัยตั้งคำถาม เขาลาออกจากงานในบริษัทโฆษณามาร่วมก่อตั้ง “พูด” สื่อที่คนในทีมทำงานทุกคนได้รับค่าแรงเท่ากัน
วัฒนธรรมของเพจพูดนั้นแสดงถึงความตื่นตัวของ “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน” ที่แพร่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดที่หลอมรวมหลักการประชาธิปไตยเข้าด้วยกันกับสภาพแวดล้อมการทำงานทุกๆ วัน ทั้งการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมตัดสินใจและขับเคลื่อนองค์กร
ฉัตรชัยมองเห็นจุดร่วมและความท้าทายของการต่อสู้ทางการเมืองกับการต่อสู้ในที่ทำงาน แต่ในความเชื่อมโยงนี้ยังมีรอยต่อที่เชื่อมไม่สนิท คนชนชั้นกลางหลายคนไม่มองตนเองเป็น “แรงงาน” ซึ่งอาจเป็นผลสะท้อนจากการศึกษาไทยที่ไม่ค่อยได้พูดถึงสิทธิแรงงานและสหภาพ วันแรงงานสากล ซึ่งเป็นวันหยุดประจำประเทศเอง ยังมักถูกมองว่าเป็นวันของกรรมกรอย่างเดียว
ฉัตรชัยมองเห็นโอกาส ถ้าหากเขาจัดตั้งคนกลุ่มที่ไม่นิยามตัวเองว่าเป็น “แรงงาน” ล่ะจะเป็นอย่างไร ปี 2564 เขาและเพื่อนๆ ที่มีความเชื่อคล้ายกัน รวมถึงนักสิทธิแรงงานรุ่นใหญ่ จึงรวมกันตั้งสหภาพคนทำงาน โดยจงใจเลี่ยงคำว่าแรงงาน ซึ่งติดภาพจำแรงงานแบบเดิมๆ ในไทยเพื่อให้เปิดกว้างต้อนรับคนหลากหลายมากที่สุด
อาจพูดได้ว่า สหภาพคนทำงาน เป็นสหภาพแรงงานแรกในไทยที่ตั้งขึ้นบนฐานออนไลน์ เป็นการเปิดบทใหม่ให้กับขบวนการแรงงาน ในสายตาของนักประวัติศาสตร์แรงงานอย่างศักดินาแล้ว สหภาพนำโดยคนรุ่นใหม่นี้กำลังเขียนประวัติศาสตร์คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 เมื่อนักศึกษานำการเคลื่อนไหวคัดค้านรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การรวมพลังสามประสานในหมู่นักศึกษา แรงงาน และเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ กรุยทางสู่บรรยากาศประชาธิปไตยที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็นและเป็นแรงบันดาลใจให้การประท้วงหยุดงานหลายร้อยครั้ง
“ประวัติศาสตร์สอนให้เราเห็นว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่เข้มแข็งที่สุด เกิดขึ้นเมื่อแรงงาน นักศึกษาและเกษตรกรรวมตัวกัน” ศักดินากล่าว “พอคน 99 เปอร์เซ็นรวมตัว จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”
รวมตัวออนไลน์
โควิดคืบคลานจากปี 2564 เข้าสู่ต้นปี 2565 สถานบันเทิงในไทยพากันปิดประตูลงกลอนยาวหลายเดือน คิวเล่นดนตรีตามบาร์และร้านอาหารของมงคลก็พัดหายวับไปตามกัน ในชั่วข้ามคืน มือกลองหนุ่มในวัยสามสิบได้แต่อยู่กับความเงียบกริบ เครื่องดนตรีวางแน่นิ่งอยู่ริมห้อง
แต่มงคลไม่อยู่เฉยรอโชคชะตา เขากับเพื่อนๆ นักดนตรีพากันจัดคอนเสิร์ตหน้าทำเนียบรัฐบาลช่วงปลายปี 2564 เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดสถานบันเทิงและเยียวยาแก่คนทำงานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดนี้ ในการประท้วงวันหนึ่ง เขาพบกับฉัตรชัยและคนอื่นๆ ที่มีความเชื่อคล้ายกัน มงคลจึงได้ร่วมตั้งกลุ่ม “คนทำงานกลางคืน” สาขาหนึ่งในสหภาพคนทำงานที่รวมตัวกันเหนียวแน่น
สหภาพคนทำงานพัฒนาจากกลุ่มเฟสบุ๊ก ใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ทำงานสหภาพ ตั้งแต่เปิดรับสมัครสมาชิกไปจนถึงเก็บค่าบำรุง ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีต่างๆ อำนวยความสะดวก แต่สหภาพยังคงให้ความสำคัญในการพบหน้ากันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก พร้อมกัลมีโอเพนแชทบนแอปพลิเคชั่นไลน์เพื่อเป็นช่องทางแจ้งการละเมิดสิทธิแรงงานและคำให้ปรึกษา
การขับเคลื่อนสหภาพแรงงานบนโลกออนไลน์เปิดโอกาสให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมตามศักยภาพของตนเอง ช่วยปลดปัญหาโครงสร้างทางอำนาจที่อาจเกิดขึ้นในองค์กรตามขนบ รูปแบบการจัดตั้งสหภาพบนโลกดิจิทัลนี้ยังสะท้อนกระแสขบวนการแรงงานสากลที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างช่วงโรคระบาดที่การรวมตัวกันตามแบบเดิมทำได้ยาก
“เมื่อทางเลือกในการรวมตัวทางกายภาพถูกริบไป เพราะโควิดหรือสถานการณ์อื่นๆ ที่ไม่เปิดให้มีการรวมตัว แรงงานและสหภาพต้องหาวิธีการจัดตั้งและแสดงความสามัคคีรูปแบบอื่นๆ… การหาแนวทางรวมตัวที่สร้างสรรค์จะเป็นผลดีในระยะยาว” เคท แลปปิน จากเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจสากล (Public Services International) แสดงความเห็นในรายงานปี 2564 โดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท
แต่ถึงแม้สหภาพคนทำงานจะเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยังไม่เป็นที่รองรับสถานะทางกฎหมายภายใต้กฎหมายแรงงานไทย วันนี้ กฎหมายจำกัดให้เฉพาะแรงงานที่มีนายจ้างหรืออยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกันเท่านั้นที่สามารถรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน แม้ว่ากฎหมายลักษณะนี้อาจช่วยออกกฎหมายคุ้มครองคนทำงานอย่างเฉพาะกลุ่ม แต่ในเวลาเดียวกันก็ทลายไม่ให้คนทำงานรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว แรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบยิ่งอยู่ในสถานะที่ลำบาก เพราะไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับให้ตั้งสหภาพแรงงานของตนเองได้
ปี 2564 ประเทศไทยมีสหภาพแรงงานที่จดทะเบียน 1,432 แห่ง แต่ไม่มีแห่งไหนที่เป็นสหภาพกลางสำหรับคนทำงานทุกประเภท… ช่องว่างที่สหภาพคนทำงานหวังเข้าเติมเต็ม
สหภาพคนทำงานตั้งใจเป็นองค์กรส่วนกลางที่ประกอบด้วยสาขาย่อยของคนอาชีพต่างๆ โมเดลนี้จะเปิดโอกาสให้สมาชิกที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกันได้แลกเปลี่ยนในวงย่อย สาขาคนทำงานกลางคืนวันนี้มีสมาชิกกว่า 50 คน ซึ่งสมาชิกสามารถเข้าถึงกองทุนเยียวยาและยืมเครื่องดนตรีไปฝึกซ้อมหรือแสดงได้ หลังจากหลายคนต้องขายเครื่องมือทำมาหากินนี้ไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
สำหรับมงคล สหภาพคนทำงานได้กลายเป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่ง “เราคอยช่วยกันในสิ่งที่แต่ละคนถนัด เราเป็นนักดนตรี เขียนข้อกฎหมายหรือแถลงการณ์ไม่เป็น แต่สิ่งที่เราไม่ถนัด เรามีเพื่อนช่วยได้ นักดนตรีถนัดร้องเพลงในม็อบก็จัดไป เพื่อนจะช่วยแถลงข้อเรียกร้องของเรา” มือกลองหนุ่มย้ำถึงพลังของการร่วมมือกันในสหภาพ
ความซับซ้อนของโลกโซเชียล
การตั้งสหภาพแรงงานบนโลกออนไลน์เปิดโอกาสหลายอย่าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่ออินเทอร์เน็ตทลายข้อจำกัดทางพรมแดน ทว่ายิ่งขยายช่องว่างในด้านอื่นๆ คนไทยยังต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตที่สร้างความเหลื่อมล้ำของคนแต่ละกลุ่ม ยังไม่นับการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์
อนุกูล ราชกุณา คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “สหภาพไรเดอร์” สหภาพไม่จดทะเบียนที่รวมตัวเหล่าไรเดอร์จากหลากหลายแอป หลังจากรวมตัวกันเมื่อปี 2564 และเป็นพันธมิตรกับสหภาพคนทำงาน อดีตไรเดอร์หนุ่มต้องเจอกันมรสุมโลกโซเชียลที่เป็นเสมือนดาบสองคม
ตามกฎหมายแรงงานไทยปัจจุบัน แรงงานแบบชั่วคราวและแรงงานแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนบริษัทให้บริการอย่างแกร็บ ฟู้ดแพนด้า และลาลามูฟนั้นไม่นับเป็นลูกจ้างหรือพนักงาน ทำให้ตกอยู่ในสถานะเปราะบาง
ไม่พอใจต่อสภาพการทำงานที่เป็นอยู่ หนุ่มไรเดอร์ในวัย 31 เริ่มหารือกับไรเดอร์คนอื่นๆ ผ่านไลน์กลุ่ม จนมีสมาชิกกว่า 60 คนเข้ามาร่วมเล่าปัญหาที่พบเจอ แต่วันหนึ่ง สมาชิกกลุ่มไลน์ตั้งชื่อว่า “holyshit” (ไอเหี้ย) ก็เข้ากลุ่มมาแล้วไล่เตะสมาชิกทุกคนออกจากกลุ่ม เป็นอันจบบทสนทนาที่เริ่มก่อตัว
สหภาพไรเดอร์เลยเปลี่ยนจากไลน์กลุ่มเป็นโอเพ้นแชทที่เปิดให้สมาชิกมีส่วนร่วมได้ในระดับหนึ่งเพื่อรับมือกับการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เหล่าไรเดอร์ไม่หยุดอยู่เท่านั้น แต่ยังบุกดินแดนติ๊กต๊อกเพื่อสื่อสารเรื่องราวของพวกเขา คลิปสั้นๆ 15 วินาที “แฉเล่ห์กลบริษัทแพลตฟอร์ม ยืมเงินไรเดอร์ทำธุรกิจ” มียอดวิวทะลุล้าน เป็นข้อพิสูจน์เสียงตอบรับจากสาธารณะวงกว้าง
ทว่าพวกเขาไม่ได้แค่เสียงตอบรับด้านบวก แต่ยังต้องเจอกระแสโต้กลับ ตัวอย่างหนึ่งคือกระแส #บอยคอตฟู้ดแพนด้า ช่วงกรกฎาคม 2564 ที่กลายเป็นข่าวดัง เริ่มต้นจากบริษัทดังกล่าวประกาศยุติการทำงานของไรเดอร์คนหนึ่งที่สวมเสื้อไรเดอร์ไปร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย กลายเป็นการจุดกระแสถกเถียงร้อนแรงบนโลกออนไลน์ระหว่างผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวฝั่งดังกล่าวและคู่ปรับอนุรักษ์นิยม
การปะทะคราวนั้นสะท้อนบทถกเถียงในขบวนการแรงงานไทยที่มีมายาวนานเรื่องแนวคิดทางการเมือง ที่ผ่านมา ขบวนการแรงงานไทยไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเต็มที่เพราะทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างกัน อาจแบ่งได้คร่าวๆ เป็นฝ่ายหัวก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยม การเกิดขึ้นของสหภาพใหม่ที่ตั้งบนโลกออนไลน์เองก็สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งแยกดังกล่าว
“โลกโซเชียลมีอัลกอริทึมซึ่งคัดกรองข้อมูลที่เราสนใจ ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นจึงเป็นสิ่งที่เราชอบและเห็นด้วย แง่หนึ่งจึงเหมือนว่าเราติดอยู่ในโลกที่เป็นห้องสะท้อน” ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในบทสัมภาษณ์เรื่องการเมืองดิจิทัลที่นำไปสู่สังคมที่ขาดบทสนทนาหลากหลาย “แต่ละห้องมีคนที่อยู่ฝั่งเดียวกัน คุยกันเอง โดยไม่มีการข้ามห้องกัน แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่ความเห็นต่างถูกได้ยินหรือหลุดเข้ามาในห้องเรา เราจะรับไม่ได้”
วันแรงงานสากลที่ผ่านมาในไทยเองก็แสดงให้เห็นถึงรอยปริแตกในขบวนการแรงงาน ขบวนการแรงงานวัยรุ่นอย่างสหภาพคนทำงานเดินขบวน ร่วมกับแรงงานข้ามชาติจากแยกราชประสงค์สู่หอศิลป์ กรุงเทพฯเรียกร้องสิทธิแรงงานและขับไล่เผด็จการในทุกรูปแบบ กิจกรรมวันนั้นทำให้ฉัตรชัยกับเพื่อนๆ ในสหภาพถูกแจ้งความจากหน่วยงานตำรวจในพื้นที่ฐานไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า อีกด้านหนึ่ง สหภาพแรงงานตามขนบเลือกแนวทางที่แตกต่างออกไป ยืนยันจุดยืนไม่ยุ่งเรื่องการเมืองและให้ความร่วมมือกับภาครัฐ
จากหนึ่งคลิ๊ก สู่คลื่นมวลชน
“ขอโทษค่ะ ไรเดอร์ที่คุณเรียกกำลังไม่ให้บริการอยู่ในขณะนี้…” ช่วงสองปีที่ผ่านมา ไรเดอร์แพลตฟอร์มพากันใช้วิธีปิดแอปเพื่อต่อรองกับบริษัทเรื่องนโยบายทำงานที่ปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง แต่การนัดหยุดงานบนโลกดิจิทัลนี้ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไป
การนัดหยุดงานยังเป็นเรื่องไม่คุ้นชินสำหรับหลายคน ไม่ใช่ว่าแรงงานไทยไม่ได้เจอการละเมิดสิทธิ แต่เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานนั้นขาดความชัดเจน จนถึงวันนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้รองรับอนุสัญญาที่รับรองการรวมกลุ่มและการนัดหยุดงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) แม้ว่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกรุ่นก่อนตั้งแต่ปี 2462
อนุกูลเชื่อว่า ไรเดอร์ไม่ได้เป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งของเครื่องจักรแพลตฟอร์มเท่านั้น ร้านอาหารหรือแม้แต่ผู้บริโภคเองก็ยังมีบทบาทสำคัญ “อำนาจของแพลตฟอร์มมันไม่ได้มีแค่ไรเดอร์อย่างเดียว มันมีลูกค้าและก็ร้านค้า ถ้าอยากให้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อยู่หมัด จะต้องจัดตั้งทุกฝ่าย ลองนึกดู… ถ้าลูกค้าหยุดสั่ง ไรเดอร์หยุดส่ง ร้านค้าหยุดใช้ออเดอร์หรือแอป มันจะมีทรงพลังมากๆ เลย”
แรงงานในธุรกิจภาพยนตร์เองก็สู้กับสภาพการทำงานที่หนักหน่วง พวกเขาทดลองใช้วิธีอื่น นอกเหนือจากการนัดหยุดงาน ปี 2565 สหภาพแรงงานสร้างสรรค์นำแคมเปญบนโซเชียล เรียกความสนใจผู้คนเรื่องชั่วโมงการทำงานที่คนงานกองถ่ายต้องทำ 12-16 ชั่วโมงต่อเนื่อง สหภาพชี้แจ้งว่า ชั่วโมงทำงานทรหดแบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติในวงการคนทำหนังเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่ทำให้คนทำงานหลายคนสุขภาพเสียและเสี่ยงอันตรายระหว่างการทำงาน บางกรณีถึงกับประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต
โต้คลื่นไปกับกระแสหนังและซีรีส์เรื่องใหม่ แคมเปญประสบความสำเร็จและได้เสียงตอบรับจากสาธารณะอย่างกว้างขวาง เสียงกดดันดังจนโปรดักชั่นเฮ้าส์หลายแห่งออกประกาศลดชั่วโมงการทำงาน
วันนี้ สหภาพคนทำงานกำลังทยอยขยายฐานสมาชิก โดยสร้างพื้นฐานที่มั่นคงบนโลกดิจิทัลเพื่อเตรียมตัวยกระดับการต่อรองเพื่อสิทธิแรงงาน นักสหภาพรุ่นใหม่พากันฝันถึงความฝันที่ประเทศไม่เคยเห็นมาก่อน “การนัดหยุดงานทั่วไป” ของมวลชนจากหลากหลายอาชีพในวงกว้างเพื่อชะงักระบบเศรษฐกิจ
“สำหรับเรา สหภาพแรงงานไม่ได้หยุดอยู่แค่บนโลกออนไลน์ แต่เป็นประตูสู่กิจกรรมต่างๆ” สมาชิกสหภาพคนทำงานคนหนึ่งอธิบายโดยขอให้ไม่เปิดเผยชื่อ พื้นที่ดิจิทัลเปิดให้เขามีอิสระที่จะเป็นกระบอกเสียงเรื่องแรงงาน โดยไม่เปิดเผยตัวตนต่อสายตาของที่ทำงาน “เราพยายามใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือไปสู่การรวมตัวออฟไลฟ์ มันอาจจะดูช้า แต่เรากำลังสะสมพลัง”
บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน
ณิชา เวชพานิช นักข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามประเด็นสังคมผ่านมุมมองด้านสิทธิและชีวิตผู้คน เธอเคยทำงานกับสำนักข่าวท้องถิ่นภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
พีระพล บุณยเกียรติ เป็นช่างภาพข่าวอิสระที่ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เขาทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้กับ SOPA Images เอเจนซี่ภาพข่าวของประเทศฮ่องกง พีระพล สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลและ สนใจในการเดินขบวนประท้วงต่างๆของประชาชน
More Features
- 8 กุมภาพันธ์ 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 10 มีนาคม 2023
- by พีระพล บุณยเกียรติ
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 31 พฤษภาคม 2023
- by HaRDstories