ภาพ ลูค ดักเกิลบี/Redux
- 8 กุมภาพันธ์ 2023
นักข่าวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง กำลังผลักดันให้วงการอาชีพสื่อ “เป็นธรรม” ต่อคนทำงานมากขึ้น เริ่มต้นด้วยการทำให้อุตสาหกรรมสื่อเคารพสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมกัน หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “สหภาพ” นั่นเอง
สุเมธ สมคะเน หรือ “หนุ่ม” เป็นผู้สื่อข่าวที่คร่ำหวอดในวงการมากว่า 25 ปี และเขายังเป็นแกนนำองค์กรสำหรับสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกเพ่งเล็งและเจอกับแรงเสียดทานในวงการสื่ออย่างหนัก แม้แต่รายนามสมาชิกก็ต้องเก็บเป็นความลับ เพื่อป้องกันไม่ให้นักข่าวที่เป็นสมาชิกถูกข่มขู่หรือกดดันให้ออกจากงาน
เครือข่ายที่สุเมธสังกัดอยู่ ไม่ใช่กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง หรือองค์กรลับ หรือลัทธิใดๆ ทั้งสิ้น แต่คือ “สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย” หรือเรียกย่อๆ ว่า “สร.สท.”
“ในวงการสื่อมีการละเมิดกฎหมายแรงงานเยอะมาก แต่คนไม่ค่อยสนใจกัน แล้วในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ยิ่งเงียบเข้าไปใหญ่ เพราะเค้าก็กลัวถูกเลิกจ้างกัน” สุเมธ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวให้สัมภาษณ์ “เราก็เลยมีทางแก้ไขกันว่า งั้นตั้งเป็นสหภาพแรงงานสำหรับสื่อมวลชน แล้วให้สมาชิกเป็นความลับ”
ถึงแม้ว่าสิทธิการรวมตัวก่อตั้งสหภาพหรือการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพ จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย แต่กลุ่มบุคคลมากกว่า 10 คนที่ให้สัมภาษณ์ในสกู๊ปชิ้นนี้ เล่าประสบการณ์ว่าในความเป็นจริงนั้นกิจกรรมด้านสหภาพยังมีสถานะเป็นเสมือน “คำต้องห้าม” ในวงการสื่อไทย
คนทำงานสื่อหลายคนถูก “เตือน” ไม่ให้ก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพในบริษัทตนเอง เนื่องจากนายจ้างมักมีภาพลักษณ์ต่อสหภาพว่าเป็นคนก่อความวุ่นวายหรือแข็งข้อกับผู้บริหาร
มีข้อมูลว่าในอดีต คนทำงานสื่อจำนวนหนึ่งเคยถูกเลิกจ้างเพราะเคลื่อนไหวด้านสหภาพมาแล้ว ทั้งที่เป็นสิทธิตามกฎหมายก็ตาม
ความแปลกแยกต่อสหภาพในวงการสื่อยิ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะวิชาชีพและอุตสาหกรรมอื่นๆ มีสหภาพกันเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงอาชีพนายธนาคาร แต่การสำรวจของ HaRDstories พบว่าในบรรดาสำนักข่าวที่มีอยู่นับสิบๆ แห่งในประเทศไทย มีเพียงแค่ 4 สำนักข่าวเท่านั้นที่พนักงานมีสหภาพหรือองค์กรที่ทำหน้าที่ใกล้เคียงกับสหภาพ
หนี่งใน 4 แห่งนั้นคือ เดอะเนชั่น ที่มี นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์ หรือ “แอ๊ว” เป็นประธานสหภาพ
“ถ้าให้พี่ประเมินภาพรวมนะ พี่ว่าสื่อไทย 90 เปอร์เซนต์ไม่มีสหภาพของตัวเอง” นิภาวรรณกล่าว “แล้วพอไม่มีสหภาพของตัวเองนะ พนักงานก็หวังพึ่งองค์กรตัวเองให้คุ้มครองผลประโยชน์ของคนทำงานเสมอไปก็ไม่ได้”
คนทำงานด้านสื่อจำนวนหนึ่งให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า วัฒนธรรมการทำงานโดยไม่มีสหภาพเช่นนี้ ได้นำไปสู่การละเมิดสิทธิด้านแรงงานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมซึ่งวางตัวว่าเป็นผู้ปกป้องสิทธิเสรีภาพในสังคม
ผู้สื่อข่าวและช่างภาพภาคสนามมักถูกส่งไปทำหน้าที่ในภารกิจที่เสี่ยงอันตราย (เช่น การชุมนุมทางการเมือง) โดยต้นสังกัดไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองอย่างพอเหมาะให้ ทำให้หลายคนต้องควักเงินจากกระเป๋าตัวเองเพื่อซื้ออุปกรณ์เหล่านั้น ขณะที่จำนวนวันลาและเบี้ยเลี้ยงกรณีทำงานเสี่ยงภัยก็เป็นที่ทราบกันในวงการว่า “หายาก”
นอกจากนี้ ทีมข่าวหลายแห่งยังถูกกดดันจากผู้บริหารให้ผลิต “คอนเทนต์” เร่งสร้าง “ยอดวิว-ยอดคลิก” ให้ตรงเป้า จนกระทบต่อคุณภาพของงานข่าวก็ตาม
สุเมธสรุปสถานการณ์ในวงการสื่อด้วยคำพูดง่ายๆ “อาชีพเราเรียกร้องแต่สิทธิให้คนอื่น แต่กลับละเลยที่จะเรียกร้องสิทธิของตัวเรามาตลอด”
คำต้องห้าม (ที่ไม่ได้ห้ามตรงๆ)
ในทางทฤษฎีนั้น การรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งสหภาพมีกระบวนที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา แค่มี “ผู้ก่อการ” เพียง 10 คนก็สามารถจดทะเบียนตั้งสหภาพกับกระทรวงแรงงานได้แล้ว เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยและได้รับการรับรอง สหภาพนั้นๆ ก็จะมีสิทธิเป็นตัวแทนพนักงานในบริษัท เพื่อเจรจาต่อรองร่วมกันกับนายจ้าง
แต่ในทางปฏิบัติ นายจ้างมีหลายวิธีในการสกัดกั้นไม่ให้พนักงานก่อตั้งสหภาพได้สำเร็จ ตามคำบอกเล่าของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานในไทย
“ถ้าผู้ก่อการโดนปลดซัก 1 คน ก็ตั้งไม่ได้แล้ว” ณรงค์อธิบาย “ในอดีตเคยมีกรณีนายจ้างสงสัยว่าจะมีการตั้งสหภาพ เลยไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้านทะเบียนของกระทรวงแรงงาน สืบว่าใครเป็นแกนนำตั้งสหภาพบ้าง แล้วก็ปลดซะเลย การทำสหภาพในเมืองไทยจึงยังเป็นความเสี่ยงต่อตัวพนักงาน”
เสด็จ บุนนาค หรือ “เด้” บรรณาธิการข่าว ณ ThaiPBS ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อย่าว่าแต่จะก่อตั้งสหภาพเลย แค่เป็นสมาชิกสหภาพก็ยากแล้ว
เสด็จและคนทำงานด้านสื่ออีกจำนวนหนึ่ง กล่าวให้สัมภาษณ์ตรงกันว่าหัวหน้างานหรือผู้บริหารในสำนักข่าวหลายแห่งมักจะส่งสัญญาณเตือนไม่ให้พนักงานเข้าร่วมกับสหภาพใดๆ หรือถึงกับเอ่ยปากสั่งห้ามเลยก็มี กลายเป็นบรรยากาศความหวาดกลัวที่ทำให้สื่อมวลชนไม่ค่อยกล้า เพราะกลัวว่าจะถูก “เพ่งเล็ง” จากในที่ทำงาน หรืออาจจะต้องถึงกับเสียการงานที่ตนทำอยู่
“เค้าสั่งห้ามได้เพราะเค้าไม่ได้ห้ามตรงๆ ไง” เสด็จกล่าวพร้อมหัวเราะต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “เวลาเค้าห้ามพนักงาน [ไม่ให้ก่อตั้งสหภาพ] อะ เค้าไม่ห้ามกันตรงๆ หรอก เพราะถ้าห้ามตรงๆ ก็ผิดกฎหมายสิ”
เสด็จเองก็มีประสบการณ์โดยตรงกับงานสหภาพ เพราะเขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวที่ “เดอะเนชั่น” และมีบทบาทเป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งสหภาพเนชั่นร่วมกันกับนิภาวรรณ หลังจากที่การพยายามที่จะริเริ่มสหภาพก่อนหน้านั้นต้องยุติลง เมื่อแกนนำทยอยออกจากบริษัท ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะนายจ้างทราบแผนการที่จะก่อตั้งสหภาพนั่นเอง
“พี่เคยเห็นปรากฎการณ์ที่พยายามก่อตั้งสหภาพกัน แต่ก็มีอันเป็นไปทุกราย” นิภาวรรณเล่าอดีต “พี่เคยเห็นคนยืนหน้าไมค์พูดกับน้องๆ พนักงาน มีข้อเรียกร้องมาคุยกับน้องๆ แต่อยู่มาวันนึง เค้าก็หายไปจากบริษัทเราเลย พวกพี่ก็เดากันว่าคงจะโดนกดดันให้ออกนั่นแหละ”
เสด็จและนิภาวรรณกล่าวว่า พวกเขาบรรลุผลสำเร็จในการตั้งสหภาพได้ด้วยการทำทุกอย่างเป็นความลับ ทั้งการหาสมาชิกและจดทะเบียน กว่าที่จะประกาศตัวกับผู้บริหารว่าเดอะเนชั่นมีสหภาพ ก็คือเมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยทุกขั้นตอนแล้ว ทำให้ผู้บริหารบางส่วนแสดงทัศนะว่าไม่เห็นด้วยที่มีการรวมตัวกันไปตั้งสหภาพแบบนี้ แต่แกนนำก็ยืนยันว่าจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะประสบกับแรงกดดันในช่วงแรก สหภาพเดอะเนชั่นก็ยังดำเนินการมาได้จนถึงทุกวันนี้ นิภาวรรณกล่าวเสริมว่าแม้แต่ผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ของเนชั่นก็ให้การยอมรับสหภาพมากขึ้น และมองสหภาพในทางที่ดีขึ้น ในฐานะคนกลางสำคัญที่มีประโยชน์ต่อทั้งบริษัทและพนักงาน
“ความพยายามของพนักงานเราไม่จบสิ้นไง ไม่ใช่ว่าเราถอดใจไปเลย ต่อให้มีบางคนที่เค้าริเริ่มต้องออกจากบริษัทไป ก็มีคนอยากทำต่อ ช่วยกันสานต่อ” นิภาวรรณกล่าว “เราไม่ท้อใจ รวมตัวกัน และเราก็ทำสำเร็จในที่สุด”
สารพัดอุปสรรคและปัญหา
เสด็จกล่าวว่าตนเข้าใจว่าการพยายามตั้งสหภาพในสำนักข่าวอื่นๆ ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จลุล่วงด้วยดีแบบเนชั่นเสมอไป เพราะแต่ละที่ต่างก็เจออุปสรรคหรือแรงกดดันแตกต่างกันไป เสด็จและเพื่อนนักข่าวจำนวนหนึ่ง จึงรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพกลางสำหรับสื่อมวลชน เป็นองค์กรทำหน้าที่เจรจาต่อรองให้กับสมาชิก ไม่ว่าสมาชิกนั้นจะอยู่สำนักข่าวใดก็ตาม หรือที่กฎหมายแรงงานเรียกว่า “สหภาพแรงงานประเภทกิจการ”
ดังนั้น “สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย” หรือ “สร.สท.” จึงริเริ่มขึ้นในปี 2553 (จดทะเบียนสำเร็จในปี 2556) โดยมีสุเมธ ผู้สื่อข่าวจากไทยรัฐ ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสหภาพคนปัจจุบัน
สุเมธเล่าว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนในวงการสื่อตัดสินใจก่อตั้ง สร.สท.ขึ้น ก็คือเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย รวมถึงผู้สื่อข่าวต่างชาติ 2 ราย ขณะที่สื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่งก็ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
นอกจากการใช้ความรุนแรงที่ทำให้สื่อมวลชนบาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว สิ่งที่ทำให้สุเมธไม่พอใจอย่างยิ่งก็คือการที่ต้นสังกัดหลายสำนักส่งผู้สื่อข่าวและช่างภาพไปทำหน้าที่ในพื้นที่อันตราย โดยที่ไม่ได้ดูแลในด้านการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตัวหรือให้เบี้ยเลี้ยงเท่าที่ควรจะเป็น
“เราเลยมาคิดกันว่าทำยังไงกันดี ให้คนทำงานภาคสนามจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ไม่ใช่ส่งไปตายเอาดาบหน้าอย่างเดียว” สุเมธเล่าที่มาของการตั้งสร.สท.
ในฐานะเป็นสหภาพแรงงานกลางสำหรับสื่อมวลชน สร.สท. มีอำนาจทางกฎหมายในการเข้าไปเจรจาต่อรองกับนายจ้างแทนสมาชิกที่เป็นลูกจ้างในสำนักข่าวนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าตอบแทนและสวัสดิการ หรือเจรจายุติข้อพิพาทการทำงาน หรือดูแลเรื่องการปลดพนักงาน – ตราบใดที่สำนักข่าวนั้นมีพนักงานเป็นสมาชิกสร.สท.ไม่ต่ำกว่า 20%
รายชื่อคนทำงานสื่อที่เป็นสมาชิกสร.สท.ถือเป็นความลับ เพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกถูกกดดันหรือลงโทษในทางใดๆ สุเมธกล่าวว่านอกจากนี้สร.สท.ยังมีภารกิจสนับสนุนสื่อมวลชนที่ต้องการจัดตั้งสหภาพภายในองค์กรของตนอีกด้วย
“เราเหมือนเป็นศูนย์กลางให้กับสหภาพในสำนักข่าวต่างๆ ใครไม่มี อยากให้ช่วยตั้งให้ เราก็พร้อมช่วย” สุเมธกล่าว “แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า เค้าพร้อมกันรึเปล่า ส่วนใหญ่เค้าไม่ค่อยพร้อมหรอก”
สุเมธยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ สร.สท. ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ก็เป็นเพราะข้อจำกัดจำนวนมาก ที่ทำให้คนทำงานสื่อหลายคนรู้สึกว่าไม่สามารถช่วยอะไรได้มาก
ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่ารายชื่อสมาชิกสหภาพกลางจะเก็บเป็นความลับ แต่ถ้าหากเกิดกรณีพิพาทและ สร.สท.เข้ายื่นข้อเรียกร้องให้กับสมาชิกของตน ระเบียบของกฎหมายแรงงานระบุว่าผู้ที่ร่วมลงชื่อข้อเรียกร้องก็จะต้องเปิดเผยตนเองเช่นกัน ทำให้เสี่ยงต่อการ “เอาคืน” จากนายจ้างในภายหลังได้
อีกข้อจำกัดหนึ่งคือ ผู้ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการของสหภาพกลาง ต้องเปิดเผยตนเองตั้งแต่แรก ไม่สามารถเป็นบุคคลนิรนามได้แบบสมาชิก
ในฐานะอดีตประธานสร.สท. เสด็จเล่าว่าองค์กรของตนเจอปัญหาคนไม่ค่อยอยากเข้าร่วมตั้งแต่เริ่มตั้งสหภาพกลางแล้ว ไม่ว่าจะในฐานะสมาชิกหรือกรรมการ เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งตัวแทนสร.สท.เคยไปแจกใบสมัครและใบปลิวแนะนำองค์กรให้กับนักข่าวสายการเมืองถึงที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ไม่มีใครสนใจสมัครกัน
“ผู้บริหารหนังสือพิมพ์บางที่เค้าบอกตรงๆ เลยว่า เค้าให้คนของเค้าเป็นสมาชิกได้ แต่จะไม่ให้คนของเค้ามาเป็นกรรมการ เค้าพูดงั้นเลยนะ” เสด็จกล่าว “แต่สมาชิกก็ยังหายากเลย … คนทำงานสื่อเองบางครั้งก็ไม่กล้ามาสมัครเป็นสมาชิก เค้ากลัวต้นสังกัดจะไม่ยอมถ้ารู้ว่ามาเป็นสมาชิก กลัวถูกเพ่งเล็ง”
ข้อกังวลนี้ของเสด็จไม่ใช่เป็นการพูดขึ้นลอยๆ พนักงานในสังกัดช่องข่าวแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์เชิงลึกกับ HaRDstories ว่าที่ทำงานของตนเคยมีกรณีปฏิเสธไม่บรรจุพนักงานคนหนึ่ง หลังจากที่ฝ่ายบุคคลสืบพบว่าผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวมีประวัติเคยร่วมเคลื่อนไหวกับสร.สท.
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ สุเมธกล่าวว่าจึงไม่แปลกที่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพข่าวไม่ค่อยอยากจะสมัครเป็นสมาชิกสร.สท. โดยในปัจจุบัน สร.สท.มีจำนวนสมาชิก “ไม่ถึง 50 คน” จากทั่วประเทศ และยังไม่มีสำนักข่าวใดมีพนักงานเป็นสมาชิก สร.สท. เกิน 20% แม้แต่ที่เดียว
แต่ความกลัวก็ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยเดียว สุเมธกล่าวว่าอีกปัจจัยคือคนทำงานในวงการสื่อเองก็ไม่ได้มีความตระหนักรู้หรือความสนใจเกี่ยวกับสิทธิด้านแรงงานมากนัก หลายคนมองว่าสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรมถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องยอมรับ หรือไม่ได้มองว่าสหภาพเป็นทางออกของปัญหา ขณะที่อีกจำนวนมากยังยึดติดภาพลักษณ์ว่าสหภาพเป็นเรื่องของ “แรงงาน” อย่างพนักงานโรงงานหรือขนส่งสาธารณะ ไม่เกี่ยวกับคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งสุเมธยืนยันว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด
“ขนาดคนทำงานแบงก์เค้ายังมีสหภาพกันได้เลย แล้วทำไมเราเป็นนักข่าว จะมีสหภาพบ้างไม่ได้ล่ะ?” เขาฝากคำถามทิ้งไว้
มรดกความคิดจากอีกยุค
ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้คือสหภาพเป็นสิ่งที่แทบจะหาไม่ได้เลยในอุตสาหกรรมสื่อไทย ทั้งที่เป็นสาขาอาชีพที่มีความหลากหลายมาก ไม่ว่าจะในเชิงความเห็นทางการเมือง อุดมการณ์ เนื้อหา หรือแพลทฟอร์ม
ในปัจจุบัน มีสำนักข่าวเอกชนเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่มีสหภาพเป็นของตนเอง คือบางกอกโพสต์และเดอะเนชั่น ขณะที่อสมท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็มีสหภาพเช่นกัน ส่วน ThaiPBS ไม่มีสหภาพอย่างเป็นทางการ แต่มี “สหพันธ์พนักงาน” ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 สำนัก
ส่วนสำนักข่าวอื่นๆ ไม่พบข้อมูลเลยว่ามีสหภาพ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวหัวใหญ่ๆอย่างเครือมติชน เดลินิวส์ ผู้จัดการ หรือไทยรัฐ ซึ่งสุเมธทำงานอยู่
เมื่อ HaRDstories สอบถามนักข่าวคนหนึ่งว่า ที่ทำงานของตนมีสหภาพหรือไม่ บุคคลดังกล่าวตอบกลับมาว่า “ไม่มีอะ … แรงเสียดทานเยอะ ถ้าเป็นสมาชิก ก็จะถูกจับตา ทำงานไม่สนุกเข้าไปอีก”
สุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ให้ข้อมูลว่า นอกจากอสมท.และ ThaiPBS แล้ว ก็ไม่มีช่องโทรทัศน์สื่อมวลชนสำนักใดอีกที่มีสหภาพเป็นของตัวเอง ซึ่งคนทำงานในภาคส่วนทีวีจำนวนหนึ่งก็ยืนยันข้อมูลกับ HaRDstories ในลักษณะเดียวกัน
สำนักข่าวออนไลน์ที่มีภาพลักษณ์เป็นคนรุ่นใหม่อย่าง The Matter และ The Standard ถือว่าสถานการณ์ดีกว่าเพื่อนในวงการสื่อระดับหนึ่ง ตรงที่ทั้งสองสำนักข่าวมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานเป็นระยะๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสื่อสารกับฝ่ายบริหารได้ว่า ไม่ชอบอะไร อยากให้ปรับปรุงในเรื่องใด ฯลฯ
แต่กระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่ถือว่าเป็นสหภาพอยู่ดี ทำให้คนทำงานสหภาพอย่างนิภาวรรณระบุว่าตนเสียดายแทน
“พี่คิดว่าสื่อยุคใหม่เนี่ย เหมาะที่จะตั้งสหภาพมากกว่าอีก ไม่เหมือนสื่อยุคเก่า เพราะสำนักข่าวใหม่ๆ พวกนี้ขนาดไม่ใหญ่มาก พนักงานก็เห็นๆ กัน สื่อสารกันใกล้ชิดอยู่แล้ว” นิภาวรรณกล่าว “เพราะงั้นการรวมตัวเป็นสหภาพมันไม่ยาก ไม่เหนือบ่ากว่าแรงเลย แถมเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำในหลายๆ เรื่อง แล้วสหภาพไม่ได้มีไว้เรียกร้องอย่างเดียว การเจรจาร่วมกันกับผู้บริหารทำให้เราเข้าใจธุรกิจบริษัทมากขึ้นด้วย เข้าใจสถานการณ์ว่าตอนนี้บริษัทกำลังเป็นยังไง”
ณรงค์ คณบดีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า การที่สื่อมวลชนแทบไม่มีสหภาพเลยก็ถือเป็น “ตลกร้าย” อย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะคนทำงานสื่อมีบทบาทอย่างใหญ่หลวงในประวัติศาสตร์แรงงานไทย กล่าวคือ ผู้ที่รวบรวมคนงานรถรางในพระนคร ให้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมแรงงานในปี 2475 (สมัยนั้นยังไม่เรียกว่าสหภาพ) ก็คือนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ นามว่า “ถวัติ ฤทธิเดช”
“เพราะงั้นเนี่ย เรียกได้ว่าสหภาพแรงงานแห่งแรกในไทย คนก่อตั้งเป็นนักหนังสือพิมพ์นะครับ” ณรงค์กล่าว
นักวิชาการท่านนี้ยังอธิบายด้วยว่า ความหวาดระแวงหรือความเข้าใจเชิงลบต่อสหภาพในวงการสื่อ – และในสังคมไทยโดยรวม – เป็นมรดกทางความคิดที่ตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น เนื่องจากในสมัยนั้น ทางการไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นพันธมิตรในค่ายทุนนิยม สร้างภาพลักษณ์สหภาพว่าเป็นคนงานที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบนายจ้าง เอาแต่สร้างความวุ่นวาย หรือโยงว่าเป็นพวก “คอมมิวนิสต์” แฝงตัวมาแทรกซึม
“สหภาพแรงงานบ้านเรามีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ แต่กลับไปไม่ถึงไหน เพราะโดนทำลายมาตลอดไงครับ สังคมไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับสหภาพน้อยมาก คำว่า ‘สหภาพ’ ถูกตีตราตั้งแต่สงครามเย็นแล้ว โดนตราหน้าว่าก่อกวน วุ่นวาย คนไทยฝังใจกันมา เรียนกันมาแบบนี้” ณรงค์กล่าว
“คนไม่เข้าใจกันว่า ประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข็มแข็ง ล้วนแต่เป็นประเทศประชาธิปไตยทั้งนั้น เช่นอังกฤษหรือเยอรมนี”
นิภาวรรณเห็นด้วยว่า สังคมควรจะเปลี่ยนทัศนคติต่อสหภาพได้แล้ว
“เราไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหา เราเป็นตัวกลาง เรารักษาผลประโยชน์ให้ทั้งบริษัทและตัวพนักงาน ถ้าบริษัทอยู่ไม่ได้ พนักงานก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน … พี่เป็นประธานสหภาพ พี่ก็สื่อสารกับผู้บริหารเค้าอย่างนี้ว่า เราไม่ได้จะมาทำให้บริษัทฉิบหาย บริษัทอยู่ได้ เราก็อยู่รอด เราสื่อสารกันด้วยเหตุด้วยผล” นิภาวรรณกล่าว “สหภาพไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัว”
ธีรนัย จารุวัสตร์ (โทนี่) เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษด้านการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิมนุษยชน ให้กับสำนักข่าวประชาไทภาคภาษาอังกฤษ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
More Features
- 10 มีนาคม 2023
- by พีระพล บุณยเกียรติ
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 31 พฤษภาคม 2023
- by HaRDstories