วิทยุเพื่อมวลชน : เพื่อนผู้อยู่เคียงข้างแรงงานพม่าในไทย

โดย เอเลน ลู

ภาพ ลูค ดักเกิลบี

สื่อของแรงงานหน้าตาเป็นแบบไหน? อาสาสมัครและทีมงาน MAP กลุ่มเล็กๆ จัดรายการวิทยุเผยแพร่ข้อมูลจำเป็นและความบันเทิงสำหรับแรงงานข้ามชาติเมียนมาในไทย ฝ่าฟันปัญหาการเมืองสองประเทศ ประสบการณ์ทำสื่อของพวกเขากลายเป็นบทเรียนสำคัญ

 

ในห้องเช่าเล็ก ๆ ย่านตลาดเมืองใหม่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ปี ลัก แรงงานย้ายถิ่นจากเมียนมา วัย 50 ปี กำลังเย็บเสื้อผ้า พลางเปิด MAP radio FM99 คลอระหว่างทำงานที่บ้าน เสียงจากวิทยุเล่าข่าวสารที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน รวมถึงแชร์ข้อมูลสำคัญอย่างการต่อใบอนุญาตทำงาน

บางครั้ง ปี ลัก ก็ร่วมเล่นเกมตอบคำถามกับดีเจในรายการ เพื่อชิงรางวัลเป็นเสื้อยืดของวิทยุ MAP หน้ากากอนามัย หรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเป็นภาษาไทใหญ่

ที่เมืองพะแตซึ่งอยู่ห่างเชียงใหม่ไปทางใต้ประมาณ 350 กิโลเมตร โก ทิน มิน วิน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงงานวัย 52 ปี อาศัยอยู่กับครอบครัวอีก 3 คน เขากำลังฟังวิทยุ MAP radio FM102.5 โกติดตามวิทยุคลื่นนี้มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อศึกษาถึงสิทธิของเขาในฐานะแรงงานข้ามชาติ

เป็นเวลานานกว่าหลายสิบปีแล้วที่ชาวพม่าอพยพย้ายถิ่นฐานมาเป็นแรงงานในประเทศไทย ส่วนมากมักทำงานในโรงงาน ภาคการประมง การเกษตรและงานก่อสร้าง เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานท้องถิ่น โดยเฉพาะงานประเภทใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงต่ำและเป็นงานหนัก

ในไทยมีแรงงานชาวพม่าราว 2 ล้านคน เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ประเทศไทยถือว่าให้ค่าแรงสูงกว่าและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ

ส่วนใหญ่แรงงานชาวพม่ามักจะหาที่ทางทำกินที่เชียงใหม่หรือแม่สอด เพราะอยู่ใกล้ชายแดน แต่แรงงานหลายคนยังคงไม่อยู่ในระบบ ขาดเอกสารรับรองการทำงาน ได้รับค่าจ้างต่ำ ติดหนี้ หรือแม้กระทั่งไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมได้ ส่วนกฎหมายไทยก็ไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ หลายปีที่ผ่านมาจึงมีกลุ่มเอ็นจีโอหลากหลายกลุ่มที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือแรงงานเมียนมาเหล่านี้

จุดกำเนิดวิทยุแรงงาน

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (Migrants Assistance Programme หรือชื่อย่อว่า MAP) เป็นองค์กรที่ทำงานด้านปกป้องสิทธิแรงงานชาวพม่าในไทย MAP ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่สนใจด้านสิทธิในปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคเอดส์ระบาดหนัก แรงงานย้ายถิ่นหลายคนได้รับผลกระทบ และหลายคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อ HIV

MAP ได้เข้าช่วยเหลือแรงงานโดยรวมกลุ่มอาสาสมัครด้านสุขภาพไปยังสถานที่ทำงานต่าง ๆ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรคเอดส์ ระหว่างการทำงาน อาสาสมัครได้เรียนรู้ถึงปัญหาอื่น ๆ ที่แรงงานกำลังประสบพบเจอ โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงการละเมิดสิทธิแรงงาน

ในช่วงปี 2540 MAP พบว่าแรงงานย้ายถิ่นหลายคนต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวและความรู้สึกแปลกแยก ด้วยความที่หลายคนไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ พวกเขาจึงพึ่งการฟังวิทยุเป็นหลัก MAP จึงเริ่มพัฒนาและเปิดตัวรายการวิทยุบนคลื่นความถี่ FM99 โดยเริ่มจากรูปแบบละครวิทยุเป็นตอน ๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ โรคเอดส์ เพื่อทั้งให้ความรู้ความเข้าใจและความบันเทิงควบคู่ไปด้วย  

“หลายคนกลายเป็นติดละครวิทยุไปเลย” บารห์ม เพรส ผู้อำนวยการมูลนิธิ MAP เล่าพร้อมหัวเราะเบาๆ แรงงานหลายคนย้ายมาทำงานที่ไทยตัวคนเดียว ทำให้คิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว นอกจากนี้ยังทำงานหนักและไม่ค่อยมีเวลาเข้าสังคมหรือเจอเพื่อนฝูง สถานีวิทยุ MAP จึงเน้นไปที่การสร้างพื้นที่ “แห่งความสนุก สร้างแรงบันดาลใจและให้ข่าวสาร” 

“เราอยากสร้างความเข้าใจในกลุ่มคนไทยเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และเล่าถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศให้พวกเขาฟัง”

หลายปีต่อมา เจ้าของ FM99 เกษียณอายุและจะหยุดดำเนินการ เขาได้ติดต่อมายัง MAP ว่าจะบริหารสถานีวิทยุนี้ต่อไปหรือไม่ ในปี 2547 MAP Radio FM99 จึงก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการที่เชียงใหม่ ในปี 2553 สถานีวิทยุ MAP FM102.5 ได้เริ่มดำเนินการที่แม่สอด ทั้งสองสถานีนี้ออกอากาศรายการที่เกี่ยวกับโรคเอดส์ การติดเชื้อ HIV สิทธิสตรี สิทธิเด็ก รวมไปถึงสิทธิแรงงาน

รายการนำเสนอในหลายภาษาทั้งภาษาไทย ไทใหญ่ พม่า กะเหรี่ยง และโรฮิงญา และเน้นสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือแรงงานชาวพม่าในไทย มีผู้ฟังราว 50,000-100,000 คน โดยทางสถานีออกอากาศวันละ 11 ชั่วโมง และรายการทั้งหมดจัดโดยอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ MAP  

ผู้ฟังมีทั้งกลุ่มแรงงานที่ทำงานในไทย คนงานก่อสร้าง คนงานภาคการเกษตรและพนักงานบริการ แต่สถานีวิทยุแห่งนี้ยังคงมีอุปสรรคเรื่องความคมชัดของสัญญาณสำหรับคนที่ทำงานในภาคการเกษตร เพราะบ่อยครั้งที่แรงงานกลุ่มนี้ต้องทำงานในพื้นที่ห่างไกล ทำให้รับสัญญาณวิทยุได้ไม่ดีนัก

“เราเคยได้ยินมาว่า เมื่อก่อน บางโรงงานอนุญาตให้คนงานเปิดฟังวิทยุระหว่างทำงานผ่านระบบเสียงตามสายของโรงงานได้ และเขาก็ชอบฟังรายการของ MAP กัน …แต่พอเริ่มมีคนงานเรียกร้องเรื่องสวัสดิภาพการทำงานกับนายจ้างมากเข้า หลาย ๆ โรงงานเลยไม่ให้เปิดฟังรายการของเราในช่วงทำงาน” เพรสเล่า

ปัญหาที่พบบ่อยในกลุ่มแรงงานข้ามชาติคือการไม่มีเอกสารอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศ รายการที่ให้ข้อมูลด้านแรงงานของวิทยุ MAP จึงทำเนื้อหาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเอกสาร สถานะของแรงงาน รวมไปถึงความจำเป็นในการลงทะเบียนด้านต่าง ๆ

วิทยุ MAP ช่วยให้ความเข้าใจกับแรงงานเกี่ยวกับใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมักลงพื้นที่ตรวจสอบสถานะแรงงานอยู่เป็นประจำ ใบอนุญาตทำงานจะต้องมีข้อมูลชื่อนายจ้าง สถานที่ทำงานและลักษณะงานอย่างชัดเจน หากข้อมูลไม่ถูกต้อง แรงงานต่างชาติอาจถูกจับ หรือนายจ้างอาจจะต้องเป็นฝ่ายจ่ายเงินประกันตัว

ในปี 2564 เพียงปีเดียว ตำรวจไทยจับแรงงานต่างด้าวกว่า 42,000 คนที่ไม่มีเอกสารรับรองการทำงาน แม้ว่าประเทศไทยยังคงขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก “เราทำงานด้านสิทธิ เราไม่เคยเรียกแรงงานที่ข้ามแดนเข้ามาอย่างผิดกฎหมายว่าแรงงานเถื่อน แต่เราใช้คำว่า แรงงานที่ไม่มีเอกสารแสดงตน” เพรสกล่าว

อีกปัญหาที่พบคือการเข้าถึงประกันสังคม ประเทศไทยได้ตั้งโครงการรับรองสิทธิประโยชน์ทางสังคมให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทนและสิทธิประกันสุขภาพ แต่การเข้าถึงสิทธิเหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามสถานะของแรงงาน

MAP ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการยื่นรับสิทธิทางสังคมต่าง ๆ การเข้าถึงผลประโยชน์ และการยืนยันสิทธิหลังจากลงทะเบียน เพราะมีหลายกรณีที่นายจ้างหักเงินประกันสังคมจากเงินค่าจ้างแต่ละเดือน แต่กลับไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันสิทธิให้แก่แรงงาน

สังคมไทยยังคงมีอคติต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติว่าเข้ามาแย่งงานคนในประเทศ MAP พยายามสื่อสารเพื่อทลายความคิดนี้ เพราะงานส่วนใหญ่ที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำนั้นมักจะเป็นงานที่คนในประเทศไม่อยากทำ เนื่องจากเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย สกปรก และมองว่าเป็นงานที่ไม่มีคุณค่า 

“เราอยากสร้างความเข้าใจในกลุ่มคนไทยเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และเล่าถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศให้พวกเขาฟัง” ตูม มอก ฮาน ผู้ประสานงานรายการของ MAP กล่าว “แรงงานข้ามชาติเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พวกเขาไม่ใช่อาชญากร” 

สร้างสรรค์รายการวิทยุ 

สำนักงานมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) ที่เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าใกล้กับย่านชุมชนน เราได้มีโอกาสไปสำนักงานแห่งนี้ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่อากาศยังคงร้อนและอบอ้าว ภายในสำนักงานค่อนข้างมืดทึม มีเพียงโต๊ะทำงานสามตัว บนผนังมีภาพถ่ายงานอบรมต่าง ๆ ที่ทางมูลนิธิเคยจัดขึ้น

สตูดิโอจัดรายการเป็นห้องเก็บเสียง มีอุปกรณ์พื้นฐานของการออกอากาศวิทยุ อย่างคอมพิวเตอร์ มิกเซอร์เสียง ไมโครโฟนและหูฟัง หลังห้องมีชั้นวางของที่มีหนังสือและเอกสารวางเรียงราย

วิทยุ MAP ดำเนินการโดยคนกลุ่มเล็ก ๆ ผู้จัดการสถานีเป็นคนคอยตรวจสอบการออกอากาศ รวมถึงรวบรวมข้อเสนอแนะ คำถาม หรือสายโทรศัพท์ที่เข้ามา แล้วแชร์กับทีมงานคนอื่นๆ ส่วนคนจัดรายการจะเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเอง หรือบางครั้งเป็นเจ้าหน้าที่จากองค์กรอื่น ๆ รวมถึงอาสาสมัคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาร่วมจัดรายการ

วิทยุแห่งนี้จะปรับผังรายการทุก ๆ หกเดือน และประชุมทุกเดือนเพื่อวางแผนเนื้อหาที่จะออกอากาศในแต่ละเดือน “คนจัดรายการของเราส่วนมากมีประสบการณ์มาก่อน…เขาเลยช่วยวางตารางออกอากาศรายเดือน อย่างเช่น จะมีแผนออกอากาศสี่ครั้งในเดือนนี้ และจะพูดเรื่องอะไรในแต่ละครั้ง” ฮานบอก “คนจัดรายการบางคนอาจจะไม่จัดรายการประจำทุกเดือน แต่จะเล่าถึงประเด็น หรือเนื้อหาที่ผู้ฟังสนใจถามหรือขอเข้ามา”

นักจัดรายการวิทยุจะใช้เวลาวางแผนรายการมากน้อยต่างกันไปตามประสบการณ์ ถ้ามีประสบการณ์การจัดรายการมาก่อน อาจใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่บางคนอาจใช้เวลาเตรียมตัวประมาณสามชั่วโมง โดยจะสอบถามผลตอบรับและข้อเสนอแนะจากเจ้าหน้าที่รายการของ MAP  ส่วนใหญ่แล้วนักจัดรายการจะเข้าอบรม หรือร่วมการฝึกปฏิบัติงานกับทาง MAP ก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องอยู่กับพวกเขาตลอดเวลาการทำงาน

เพื่อให้เข้าใจว่าผู้ติดตามฟังรายการสนใจเนื้อหาแบบไหน ทางวิทยุ MAP มักจัดวงพูดคุยเพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ฟังโดยเชิญกลุ่มผู้แรงงานข้ามชาติประมาณ 20-25 คนจากหลากหลายกลุ่มมาร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหารายการ และแลกเปลี่ยนสิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ รวมถึงหัวข้อที่อยากฟังและอยากให้ทางรายการเพิ่มเติม “เราอยากฟังความเห็นของพวกเขาให้ได้มากที่สุด” ฮานบอก   

วิทยุในฐานะเครื่องมือรวมกลุ่ม

“เราอยากให้วิทยุของเราเป็นการสื่อสารสองทาง” เพรสกล่าว “เราพยายามให้คนมีส่วนร่วมโดยโทรเข้ารายการ เวลาอยากถามคำถามหรือจะประกาศอะไร” ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานข้ามชาติมักโทรเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องอุบัติเหตุจากงาน ค่าจ้างที่ไม่เหมาะสม หรือสอบถามเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม

“จะต่อวีซ่ายังไงถ้าวีซ่าหมดอายุ จะต้องจัดการเรื่องใบอนุญาตทำงานอย่างไรถ้าเราเปลี่ยนนายจ้าง ตอนนี้ฉันเข้ามาไทยโดยไม่มีเอกสารรับรอง ถ้าถูกจับ จะถูกส่งกลับเมียนมาไหมหรือจะถูกจับเข้าคุกในไทย” นี่คือคำถามที่เจ้าหน้าที่จัดรายการวิทยุ MAP ได้รับอยู่บ่อยครั้ง

บางครั้ง ผู้ฟังก็โทรเข้ารายการเพื่อเล่าประสบการณ์ความสำเร็จ “มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติในแม่สอดเล่าว่าพวกเขารวมตัวกันต่อรองนายจ้างได้อย่างไร” แสงเมือง มังกร เลขาธิการคณะกรรมการและหัวหน้าสถานีวิทยุ MAP เล่า คนที่ต้องการจัดรายการวิทยุจะได้รับการอบรมวิธีการใช้เครื่องมือ วิธีเขียนบท และจัดรายการให้น่าสนใจ ชวนให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม

ผู้ฟังหลายคนได้นำสิ่งที่เรียนรู้จากการฟังวิทยุ MAP ไปปรับใช้จริง อย่างเช่น แรงงานหญิงคนหนึ่งได้พูดคุยกับนายงานให้มีวันหยุดแบบที่ยังได้รับค่าจ้างหลังจากฟังเกี่ยวกับสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับจากรายการวิทยุ อีกกรณีหนึ่ง นัง วาน ลูกจ้างในเชียงใหม่รู้จักวิธีดูแลสุขภาพตนเองโดยการสวมถุงมือเวลาที่ต้องทำความสะอาดห้องน้ำ เพราะสารเคมีจะส่งผลอันตรายต่อมือของเธอได้

MAP ยังคงพยายามขยายขอบเขตการทำงานไปยังชุมชนห่างไกล ที่แรงงานข้ามชาติมักไปทำงาน โดยการตั้งโต๊ะให้ข้อมูล แจกเอกสารให้ความรู้เป็นภาษาพม่า ประชาสัมพันธ์รายการวิทยุ และช่วยเหลือคนที่ต้องการดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน ส่วนใหญ่แรงงานกลุ่มนี้จะอยู่ในเขตชุมชน โรงงาน หรือพื้นที่ทำการเกษตรในแม่สอด ซึ่งต้องใช้เวลาขับรถเข้าไปราว 15-40 นาที

เจ้าหน้าที่ MAP ไปตั้งโต๊ะช่วงวันพระใหญ่ซึ่งเป็นวันหยุด และมักจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันแรงงาน วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากลและวันสตรีสากล MAP จะออกอากาศสดกิจกรรมเหล่านี้ รวมถึงการประชุมต่าง ๆ เพื่อให้สาธารณชนและแรงงานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงาน 

แรงงานและการเมือง 

หลังจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อนานหลายเดือน ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกิดการรัฐประหารขึ้นในประเทศไทย วิทยุชุมชนหลายแห่งถูกปิดจากข้ออ้างที่ว่ากลุ่มฝ่ายค้านใช้วิทยุนี้เพื่อปลุกระดมผู้คน วิทยุ MAP ได้รับคำสั่งให้ปิดตัวลงเช่นกัน หลังจากนั้นวิทยุชุมชนทุกแห่งจะต้องยื่นขอใบอนุญาตเพื่อกลับมาออกอากาศอีกครั้ง 

ในขณะนั้น MAP ได้เริ่มมีเพจเฟซบุ๊กและมีแอพพลิเคชันทางมือถือแล้ว แม้ว่าในช่วงนั้นคนส่วนใหญ่จะเริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงได้

MAP ตัดสินใจออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้รายการยังคงอยู่ ส่วนสถานีวิทยุนั้น MAP ได้รับใบอนุญาตและกลับมาออกอากาศได้อีกครั้งหนึ่งปีให้หลัง ในช่วงเวลานั้น ทาง MAP เห็นศักยภาพการเติบโตในเฟซบุ๊ก เนื่องจากผู้คนนิยมใช้มากขึ้น จึงเริ่มสื่อสารกับแรงงานผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์

ปัจจุบัน มีเพจภายใต้การทำงานของสถานีวิทยุ MAP ทั้งหมด 5 เพจ ส่วนเพจหลักของสถานีวิทยุ FM MAP มีผู้ติดตามกว่า 54,000 คน ภาพหน้าเพจเฟซบุ๊กมีสโลแกนของสถานีที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “Voices Without Borders” หรือ “เสียงไร้พรมแดน”

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดรัฐประหารในเมียนมา และมีการถอดถอนสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ National League for Democracy พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเข้ายึดอำนาจ ทำให้ชาวเมียนมาหลายคนย้ายออกนอกประเทศ ส่วนคนที่อาศัยที่ไทยอยู่แล้วต่างตัดสินใจอยู่ต่อ เนื่องจากเกรงกลัวความเสี่ยงหากต้องกลับเข้าประเทศอีกครั้ง

เงื่อนไขหนึ่งหลังจาก MAP ได้รับใบอนุญาตออกอากาศ คือ สถานีวิทยุจะต้องไม่ถกเถียงเรื่องการเมืองในรายการ แต่ MAP ออกอากาศข่าวสารเกี่ยวกับพม่าผ่าน Radio Free Asia และ Voice of America “เราถ่ายทอดข่าวสารจากสำนักข่าวอื่น ๆ …เราไม่ได้ทำข่าวเองหรือนำเสนอความเห็นของเราว่าคนควรจะทำอย่างไรหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร” เพรสกล่าว 

วิทยุ MAP ให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง ผู้อพยพบางคนพบว่าตัวเองมีหมายเรียกจับตอนไปต่ออายุหนังสือเดินทางที่สถานกงสุลเมียนมาในไทยจากการที่เข้าร่วมขบวนการทำอารยขัดขืน(Civil Disobedience Movement) หรือมีความเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force) ที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) ตั้งขึ้นเพื่อสู้กับรัฐบาลทหาร ด้วยเหตุนี้ ผู้อพยพที่มีหมายจับจึงตัดสินใจขอเอกสารรับรองบุคคลเพื่ออยู่และทำงานในไทย หรือไม่ก็เปลี่ยนชื่อ

ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ประเทศไทยอนุญาตให้ผู้อพยพชาวพม่าถือเอกสารรับรองบุคคล หรือที่เพรสเรียกว่า “บัตรประจำตัวของประชากรชั้นสอง” ซึ่งในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังเปิดให้ชาวต่างชาติขึ้นทะเบียนขอรับเอกสารรับรองนี้ MAP จึงได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับขั้นตอนดำเนินการ แรงงานข้ามชาติหลายคนพยายามหาหนทางเพื่ออยู่และทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่รัฐบาลในหลายประเทศเพื่อนบ้านไร้ท่าทีที่จะรับผู้อพยพย้ายถิ่นจากพม่าที่ต้องการลงหลักปักฐานในประเทศอื่นหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 

ช่วยเหลือแรงงานในช่วงโควิด 

ในช่วงต้นปี 2563 ที่โรคโควิด-19 เริ่มระบาด ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาด ได้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นต่อแรงงานข้ามชาติจากความเชื่อที่ว่าแรงงานเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เชื้อโควิดแพร่กระจาย 

ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อโควิดในตลาดอาหารทะเลที่สมุทรสาคร ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานและอยู่อาศัยของแรงงานชาวพม่าจำนวนมาก ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอการระบาดใหญ่ แรงงานข้ามชาติจึงถูกจำกัดบริเวณ ไม่ให้เดินทางออกนอกจังหวัด แต่กฎเดียวกันนี้กลับไม่ถูกบังคับใช้กับคนไทย

ในช่วงการเกิดโรคระบาด MAP ได้ให้ข้อมูลสำคัญผ่านวิทยุ อย่างข้อมูลเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ การประกาศหยุดโรงเรียน รวมถึงวิธีการรับวัคซีน ชนิดของวัคซีน ผลข้างเคียง และสถานที่ฉีด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การเข้าถึงวัคซีนเป็นไปได้ยากสำหรับแรงงานข้ามชาติ ส่วนผู้ที่ต้องการกลับเมียนมาก็มีคำถามถึงการเปิดปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา

สถานีวิทยุ MAP พยายามแปลคำประกาศของรัฐบาลและเห็นว่าข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มีความสำคัญกับแรงงานมาก “เราเลยเชิญเจ้าหน้าที่รัฐจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน มาร่วมพูดคุยในรายการเพื่อให้ข้อมูลที่อัพเดทที่สุด” แสงเมืองกล่าว

ในอนาคต MAP ต้องการจะย้ายสำนักงานแม่สอดให้ใกล้เขตชายแดนเมียนมามากขึ้น เพื่อให้คลื่นวิทยุ FM สามารถเข้าถึงผู้คนที่อยู่ลึกเข้าไปในเมียนมาได้ ในตอนนี้ สัญญาณครอบคลุมเพียงบางส่วนของพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐมอญ เมียนมามีภาษากลุ่มชาติพันธ์ุและภาษาถิ่นมากมาย ทำให้มีสื่อท้องถิ่นเล็ก ๆ หลากหลายที่ที่ใช้ภาษาเฉพาะกลุ่ม กระจายเสียงผ่านทางวิทยุและอินเทอร์เน็ต

MAP วางแผนที่จะตั้งเครือข่ายสื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย และสร้างความเข้าใจร่วมกันในการสื่อสารคำเฉพาะต่าง ๆ เมื่อพูดถึงสิทธิแรงงานและการโยกย้ายถิ่นฐาน 

ในตอนนี้ เพรสรู้สึกพอใจกับการทำงานของวิทยุ MAP และงานให้ข้อมูลข่าวสารและสิทธิแรงงานข้ามชาติ “มีแรงงานมากมายเข้ามาอยู่ในไทย วิทยุ MAP ได้กลายเป็นเหมือนเพื่อนของใครหลายคนไปแล้ว”

บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ the Asian Labour Review ซึ่งเป็นวารสารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแรงงานในเอเชีย

เอเลน ลู เป็นนักเขียนและนักกิจกรรมด้านแรงงาน เอเลนสนใจสิทธิแรงงาน และภาคประชาสังคมในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลงานเขียนของเอเลนตีพิมพ์ใน New Politics, Labor Notes และ ChinaFile

More Features

จาก ‘กำแพงใจ’ สู่ ‘ปิดเหมือง-ฟื้นฟู’ เมื่อชัยชนะของชาวบ้าน มาพร้อมการต่อสู้บทใหม่

error: Content is protected !!