จากตีตราสู่ให้ค่า พนักงานบริการทางเพศไทยกรุยทางให้งานถูกกฎหมายได้อย่างไร?

เรื่อง HaRDstories

รายงานเพิ่มเติมโดย กรรณิกา เพชรแก้ว

สัญลักษณ์ส้นสูงของเอ็มพาวเวอร์ตั้งอยู่กลางถนนเชียงใหม่เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบของโรคระบาดต่อพนักงานบริการเมื่อปี 2564 ภาพ จิตรภณ ไข่คำ/HaRDstories

หลังยืนหยัดรณรงค์ต่อสู้เพื่องานบริการทางเพศถูกกฎหมายในไทยมาหลายสิบปี ในที่สุด กลุ่มพนักงานบริการก็ย่างกรายเข้าใกล้เป้าหมายสุดท้ายจนได้

ช่วงปลายปี 2564 ทันตา เลาวิลาวัณยกุล นักรณรงค์ต่อสู้เรื่องสิทธิพนักงานบริการยืนท่ามกลางวงล้อมกล้องและนักข่าว มือของเธอจับไมค์เอาไว้แน่น ในบรรยากาศโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งย่ำยีชีวิตพนักงานบริการชาวไทยนับพันคน สิ่งที่เธอส่งเสียงร้องมาอย่างยาวนานได้กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนใหม่ในทันที

ชื่อเล่นของเธอคือปิงปอง เธอรวมตัวกับเพื่อนร่วมงานจากมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (Empower Foundation) และกลุ่มพนักงานบริการไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลที่กรุงเทพฯ โดยติดอาวุธเป็นส้นสูง บิกินี่ และจดหมายจากคนที่มาร่วมประท้วงไม่ได้

เรามาที่นี่เพื่อเรียกร้องสิทธิของเรา เราไม่ได้มาขอความเมตตา!” เสียงอ่านจดหมายถูกเปล่งกังวาน ร้องป่าวว่า งานบริการทางเพศไม่ใช่อาชญากรรม เราไม่ใช่อาชญากร!”

แต่งานบริการทางเพศนั้นกลับถูกทำให้ผิดกฎหมายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2503 คนที่โฆษณางานนี้อาจได้รับโทษปรับสูงสุดถึง 40,000 บาท ถูกจำคุกได้ถึง 2 ปี หรือได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ แม้จะมีข้อห้ามต่างๆ วงการนี้ก็ยังทำให้คนหลายกลุ่มได้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ รายได้นี้ถูกประเมินว่ามีมูลค่าเป็นหลายหมื่นล้านบาทต่อปี

หลังรณรงค์ต่อสู้เพื่อยกเลิกโทษอาชญากรรมของงานบริการทางเพศมาหลายสิบปี ประเทศไทยก็ปริ่มๆ จะมีงานนี้อย่างถูกกฎหมายสักที ร่างพระราชบัญญัติที่กรุยทางมาได้รับการสนับสนุนจากพนักงานบริการและกลุ่มประชาสังคมม ร่างนี้มุ่งเป้าการคุ้มครองแรงงาน ให้ได้รับประโยชน์ประกันสังคม และออกกฎในสถานที่ทำงานสำหรับพนักงานบริการ โดยยังคงแก้ไขประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในวงการไปด้วย

ร่างกฎหมายนี้ส่งสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ ไทยกำลังจะเปลี่ยนจุดยืนที่มีต่องานบริการทางเพศ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เอ็มพาวเวอร์และกลุ่มรณรงค์พยายามผลักดันอย่างสม่ำเสมอ หลังสายลมทางการเมืองได้เปลี่ยนทิศด้วยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ก็เกิดหลายสัญญาณในแง่บวกว่า เราจะได้ตั้งรัฐบาลที่ก้าวหน้าและสนับสนุนงานบริการทางเพศถูกกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ในขณะที่อนาคตเช่นนี้ดูเป็นไปได้ ชะตากรรมของร่างกฎหมายที่เสนอไปแล้วยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย รัฐบาลต่อไปจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่นี้หรือเปล่า หรือจะยังคงรักษาสิ่งที่มีมาเอาไว้ แล้วอนาคตสิทธิพนักงานบริการยังต้องคลุมเครือต่อไป?

 

เราก็แค่อยากทำงาน

มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ตั้งขึ้นในปี 2528 และเป็นผู้บุกเบิกการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิของพนักงานบริการทางเพศในประเทศไทย สมาชิกก่อตั้งเป็นกลุ่มพนักงานบริการทางเพศและพันธมิตร มูลนิธิมีพันธกิจหลักเพื่อต่อสู้กับอคติของสังคม เสริมอำนาจให้แต่ละคนที่ทำงานบริการ ทำให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิแรงงานที่จำเป็น เข้าถึงสวัสดิการสุขภาพ และบริการต่างๆ ในสังคม

ในปี 2563 โรคระบาดหวดตีพนักงานบริการทางเพศเข้าอย่างจัง รวมไปถึงอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย รัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยสั่งปิดสถานบันเทิงยามวิกาลและร้านนวดในเดือนมีนาคมปีนั้น จวบจนพฤษภาคม 2565 บาร์และสถานบันเทิงถึงจะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดทำการอย่างเต็มตัวได้อย่างถูกกฎหมาย

เอ็มพาวเวอร์ได้ออกแถลงการณ์สาธารณะในเดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อตอบโต้คำสั่งล็อกดาวน์ครั้งแรก เร่งรัดให้รัฐบาลช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ เมื่อสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนั้น เดือนเมษายน 2564 มูลนิธิจึงเรียกร้องให้สนับสนุนเงินรายเดือน จนกว่าธุรกิจต่างๆ จะกลับมาเปิดทำการและพนักงานบริการจะกลับไปดำเนินชีวิตต่อได้

แต่ข้อเรียกร้องการสนับสนุนจากรัฐก็ถูกทางการเพิกเฉย รวมทั้งข้อเรียกร้องให้เปิดสถานบันเทิงอีกครั้งก็ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

เมื่ออาชีพนี้อยู่อย่างไม่มีสถานะทางกฎหมาย พนักงานบริการส่วนใหญ่ต้องพบว่า ตัวเองไม่เข้าเงื่อนไขที่จะได้รับสวัสดิการสังคมและถูกกีดกันจากโครงการช่วยเหลือเร่งด่วนของรัฐบาล การถูกกีดกันจุดปะทุไฟต่อสู้ให้พนักงานบริการอย่างทันตา เพื่อนๆ ของเธอ และเอ็มพาวเวอร์รวมตัวประท้วงที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องเงินชดเชย มาตรการเยียวยา รวมทั้งรณรงค์เพื่อเป้าหมายสูงสุดให้งานนี้ได้ถูกกฎหมายเสียที ในกิจกรรมเดือนธันวาคม 2564 จดหมายฉบับสุดท้ายจบไปด้วยคำเรียกร้องอย่างเรียบง่ายว่า เราก็แค่อยากทำงาน

โรคระบาดนั้นส่งผลกระทบไปในวงกว้าง มันทำให้พนักงานบริการจำนวนนับไม่ถ้วนปริ่มๆ จะล้มทั้งยืนเพราะขาดเงินทอง มันเน้นย้ำสิ่งที่กลุ่มรณรงค์ต่อสู้ตลอดมาว่า อุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลและทำให้คนจำนวนมากมีงานทำ ไม่ควรถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไปโดยไร้ซึ่งกฎเกณฑ์และการคุ้มครองได้

 เราจะฟ้องคดีแบบกลุ่มดีไหม?

อุตสาหกรรมงานบริการทางเพศในไทยได้รับการประเมินว่าเป็นเลือดเนื้อสำคัญของเศรษฐกิจในประเทศ ธุรกิจนี้มีขนาดใหญ่โตขนาดไหน ยังไม่อาจรู้ได้เพราะยังเป็นธุรกิจใต้ดิน แต่ก็เชื่อกันว่ามีเม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาทต่อปี บริษัทวิจัยตลาดมืด Havocscope ตีมูลค่าอุตสากรรมนี้ไว้ที่ราวสองแสนล้านบาทในปี 2558 ซึ่งนับว่าเป็นจำนวน 1.6% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ – GDP) ปีนั้นเลย

จำนวนพนักงานบริการทางเพศมีการประเมินหลายครั้งและตัวเลขไม่แน่นอน เราจึงไม่สามารถเห็นภาพชัดเจนอุตสาหกรรมนี้ ประเทศไทยไม่มีการเก็บฐานข้อมูลพนักงานบริการที่ชัดเจนและครอบคลุม ตัวเลขพวกนี้มักปะปนกับข้อมูลการค้ามนุษย์ UN หรือสหประชาชาติได้รายงานจำนวนของพนักงานบริการในปี 2557 ไว้ที่ 140,000 คน ในขณะที่ตัวเลขของ Havocscope อยู่ที่ 250,000 ในปี 2558 และจัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีธุรกิจทางเพศใหญ่ลำดับที่ 8 ของโลก กรมควบคุมโรคประเมินในปี 2560 ว่าในพนักงานบริการ 144,000 คน มีเพศหญิงอยู่ถึง 129,000 คน ส่วนเอ็มพาวเวอร์ องค์กรที่รณรงค์เรื่องนี้ได้ประเมินจำนวนพนักงานบริการไว้ที่ 300,000 คนในปี 2559 “เขามาแล้วก็ไป ตัวเลขพวกนี้เลยเปลี่ยนไปมาตลอด” ชัชลาวัลย์ เมืองจันทร์ ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของเอ็มพาวเวอร์กล่าว

แม้รัฐบาลจะทำเป็นหูทวนลมเมื่อเอ็มพาวเวอร์เรียกร้องให้ช่วยเหลือ ทันตาและเพื่อนร่วมงานของเธอก็ยังเสนอความคิดที่กล้าหาญให้ดำเนินคดีฟ้องร้องแบบกลุ่มต่อรัฐ โดยให้แกนนำโจทก์เป็นผู้แทนพนักงานบริการทุกคนในประเทศ รณรงค์เรียกร้องเพื่อสิทธิของทุกคนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหมือนๆ กัน ถ้าคดีนี้ชนะขึ้นมา พนักงานบริการคนอื่นๆ ก็จะผ่านเงื่อนไขที่จะได้ค่าชดเชย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องฟ้องร้องคดีอื่นแยกไปอีก

หากเทียบกันแล้ว การฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มนั้นเพิ่งมีในประเทศไทยมาได้ไม่นาน การอภิปรายเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2545 แต่เพิ่งนำมาใช้กับระบบกฎหมายในประเทศก็ในปี 2558 และเกิดคดีความแรกในปี 2560 ที่ผู้ซื้อรถจำนวน 308 คนเรียกร้องค่าชดเชยรถที่ชำรุดจากบริษัทรถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่ง โดยมีโจทก์ผู้ชนะคดีกว่า 291 คน นับตั้งแต่ตอนนั้น คดีฟ้องร้องแบบกลุ่มก็มีจำนวนมากกว่า 100 คดีแล้ว ส่วนใหญ่จะฟ้องในประเด็นสิทธิผู้บริโภคและคดีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

แต่คดีความฟ้องร้องแบบกลุ่มต่อรัฐเพิ่งมีครั้งแรกในปีที่แล้วนี่เอง เมื่อกลุ่มธุรกิจกว่า 200 แห่ง ทั้งร้านอาหาร สปา ร้านนวด บริษัทเพื่อการบริการพักผ่อนหย่อนใจ ฟ้องให้รัฐบาลชดเชยการบังคับสั่งปิดธุรกิจของพวกเขา

ระหว่างที่เตรียมตัวสู้คดี เอ็มพาวเวอร์ก็ได้จ้างทนาย ใช้เวลาหลายเดือนตระเตรียมเอกสารที่สำคัญ รวมตัวกลุ่มพนักงานบริการเพื่อเป็นโจทก์สำหรับการฟ้องร้องแบบกลุ่มเพื่อค่าชดเชยนี้ แต่การฟ้องร้องทางกฎหมายต่อรัฐนั้นยากเข็ญกว่าที่คิดไว้ และต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายระหว่างทาง

การนำคดีนี้ขึ้นศาลไม่ได้มีแค่เตรียมเอกสารและหลักฐานที่ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมใจเปิดเผยตัวเองสู่สาธารณะและเข้ากระบวนการซักถามด้วย ทันตาอธิบาย พนักงานหลายคนไม่ค่อยสบายใจกับการทำแบบนี้ และต่อให้พร้อมก็ตาม นายจ้างของพวกเขาก็ไม่

ในที่สุด มูลนิธิจึงตัดสินใจไม่ฟ้องร้องต่อ เมื่อเห็นว่าคดีจะยืดระยะในกระบวนการศาลของไทยที่ขึ้นชื่อว่าเชื่องช้ายิ่งนัก แทนที่จะฟ้องคดี เอ็มพาวเวอร์เปลี่ยนไปเทแรงกายใจให้เป้าหมายขั้นสุด งานบริการทางเพศต้องถูกกฎหมาย

ผลักดันทางกฎหมาย

เอ็มพาวเวอร์ […] เป็นชุมชนที่ผลักดันโดยพนักงานบริการทางเพศ ก่อตั้งและดำเนินการโดยพวกเรา มีเป้าหมายเพื่อทำให้งานนี้ถูกกฎหมายให้ได้ ทันตากล่าว เธอทำงานอาชีพนี้มามากกว่า 20 ปี และขณะที่พูดนั้น เธอนั่งอยู่ในร้าน แคน ดู บาร์ (Can Do Bar)” ที่เชียงใหม่ มูลนิธิตั้งบาร์นี้ขึ้นมาในปี 2549 เพื่อเป็นสถานที่ทำงานต้นแบบของพนักงานบริการ

บาร์นี้ต้องปิดไปกว่าสองปีเพราะโรคระบาด ในช่วงที่ต้องหยุดพักนี้ ทีมงานเลยสบโอกาสปรับปรุงอาคารและสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาใหม่บนชั้นสอง พื้นที่ที่อุทิศเพื่อฉลองประวัติศาสตร์และความซับซ้อนของอุตสาหกรรมทางเพศ

เอ็มพาวเวอร์และกลุ่มรณรงค์ต่อสู้กลุ่มอื่นได้ยืนหยัดตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาให้งานบริการทางเพศถูกกฎหมาย  และถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองแรงงาน

ข้อเสนอของเอ็มพาวเวอร์ได้รับการเผยแพร่อยู่บ่อยครั้งในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มูลนิธิยืนยันว่าพนักงานบริการทางเพศควรได้รับการคุ้มครองและปกป้องผ่าน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ร.บ. ค่าชดเชยแรงงาน และกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบที่ไม่ต่างกับแรงงานในธุรกิจประเภทอื่นๆ

พนักงานบริการคือแรงงาน สมควรได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงาน และต้องได้รับสวัสดิการแรงงาน” นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ นักเคลื่อนไหวที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายสมัยกล่าว เขาเป็นสมาชิกหลักของกลุ่ม วี แฟร์ (We Fair)” กลุ่มที่เรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม  “ควรยกเลิกกฎหมายที่กีดขวางไม่ให้พวกเขาได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้ เช่น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี

กฎหมายยังบกพร่อง

ฉัตรฑริกา นภาธนาพงศ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำงานศึกษาอุตสาหกรรมเพศมายาวนาน เธอเห็นว่า เมื่อประเทศไทยทำให้งานบริการทางเพศผิดกฎหมาย มันทอดทิ้งพนักงานบริการไม่ให้ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการสังคม และยังทำให้พวกเขาต้องพบเจอการขูดรีด ถูกเอารัดเอาเปรียบและคดโกง

“การค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพภายใต้ระบบเศรษฐกิจใต้ดิน และเมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการให้บริการทางเพศในประเทศไทยยังคงมีแนวคิดว่าการค้าประเวณีเป็นอาชญากรรม ดังนั้น พนักงานบริการทางเพศจึงไม่ต่างอะไรกับอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม” ฉัตรฑริกาบอก HaRDstories ผ่านทางอีเมล

กฎหมายที่ทำให้งานบริการทางเพศเป็นอาชญากรรม มาจากบทบัญญัติโดยตรงและโดยอ้อมที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาไทยและพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี แม้ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ลงโทษพนักงานบริการทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง แต่กฎหมายนี้ก็ยังมุ่งเป้าให้โทษคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการค้าบริการทางเพศ เช่น ลูกค้าหรือคนที่คอยอำนวยความสะดวก

แต่พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 นั้นแสดงจุดยืนที่ชัดเจนกว่า โดยให้โทษพนักงานบริการทางเพศในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเชื้อเชิญหรือการโฆษณา รวมทั้งผลกระทบทางกฎหมายหากเชื้อเชิญผู้เยาว์หรือเป็นเจ้าของธุรกิจค้าบริการทางเพศ จุดประสงค์ของ พ.ร.บ. นี้ชัดเจนมาก มันมีไว้เพื่อให้การค้าประเวณีผิดกฎหมายและเกิดโทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในบัญญัตินี้

ถึงแม้จะให้โทษทางอาญาอย่างเป็นทางการ อุตสาหกรรมนี้ก็ยังเติบโตได้อย่างเปิดเผยมาตลอด บ่อยครั้งทางการมักเลือกปิดตาข้างเดียว ด้วยความที่อุตสาหกรรมนี้เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศอย่างใกล้ชิด ประเทศไทยเลยมีชื่อเสียงกระฉ่อนในระดับโลกว่าเป็นศูนย์รวมการท่องเที่ยวทางเพศ

นักรณรงค์และผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ว่ากฎหมายนี้ปราศจากความชัดเจนมาอย่างยาวนาน ทั้งยังวิจารณ์การบังคับใช้ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ รวมทั้งยังไม่สามารถคุ้มครองพนักงานบริการทางเพศจากการขูดรีดได้

ข้อบกพร่องดังกล่าวทําให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและทุจริต” ฉัตรฑริกากล่าว “เช่น เรียกจับและตรวจค้นพนักงานบริการในที่สาธารณะ หรือใช้วิธีล่อซื้อบริการทางเพศแล้วจับกุม เรียกร้องค่าปรับเป็นเงินหรือขอมีเพศสัมพันธ์แทน อันเป็นการละเมิดสิทธิผู้ค้าประเวณี”

หากมองในภาพกว้าง

สถานะทางกฎหมายของการบริการทางเพศนั้นถูกจำแนกประเภทออกมาได้สามประเภทหลักๆ ทั่วโลก ได้แก่ การสร้างโทษอาชญากรรม (criminalisation) การทำให้ถูกกฎหมาย (legalisation) และการยกเลิกโทษอาชญากรรม (decriminalisation)

การทำให้ถูกกฎหมายจะทำให้งานบริการทางเพศนี้จะมีกรอบคอยกำกับ มีการจดทะเบียน สวัสดิการสุขภาพและข้อกำหนดสวัสดิการอื่นๆ ในทางกลับกัน การยกเลิกโทษอาชญากรรมนั้นยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่ให้โทษอาชีพนี้

บางประเทศ เช่น สวีเดนหรือนอร์เวย์ นำทั้งสองแง่มุมไปใช้ ทั้งการทำให้ถูกกฎหมายและการยกเลิกโทษอาชญากรรม อย่างไรก็ดี ราวๆ ครึ่งหนึ่งของทุกประเทศทั่วโลกยังคงสร้างโทษอาชญากรรมให้งานนี้และลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องในงานบริการทางเพศ

ภาวะโรคระบาดที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการยกเลิกโทษอาชญากรรม ตัวอย่างเช่น ในประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ได้เอางานบริการทางเพศออกจากบัญชีอาชญากรรมในปี 2546 นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้คนหลายคนได้รอดชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด-19 ประเทศนี้มีค่าแรงฉุกเฉินให้แก่คนงานทุกคน ที่ได้รับค่าแรงน้อยลงอย่างน้อยร้อยละ 30 ในช่วงที่โควิดระบาด ซึ่งครอบคลุมพนักงานบริการทางเพศด้วย เพียงพวกเขา/เธอกรอกข้อมูลลงแบบฟอร์มโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอาชีพ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือผ่านการโอนเข้าบัญชีธนาคารโดยตรง สำหรับออสเตรเลีย มีแค่บางรัฐเท่านั้นที่นับให้งานนี้ไม่เป็นอาชญากรรมและพนักงานบริการทางเพศที่ถูกกฎหมายก็ได้รับการสนับสนุนรายได้จากรัฐบาลเครือจักรภพ

เช้าวันใหม่?

หลังรณรงค์ต่อสู้กันมากว่าหลายสิบปี เอ็มพาวเวอร์และกลุ่มรณรงค์ต่างๆ ดูเหมือนจะใกล้ถึงเป้าหมายท้ายสุดเข้าเต็มที ในปี 2561 จดหมายที่มูลนิธิส่งถึงรัฐสภาได้กระตุ้นให้เกิดการตั้งคณะกรรมการเพื่ออุทิศต่อเรื่องนี้และทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานบริการทางเพศ

ในขณะเดียวกัน ความรู้สึกของสาธารณชนคนไทยก็ดูเหมือนแปรเปลี่ยนไปและยอมรับงานบริการทางเพศว่าเป็นอาชีพถูกกฎหมายอาชีพหนึ่ง ผู้ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงนี้คือ อย่างน้อยก็ในบางส่วน ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนในปี 2563 ขบวนนี้ทำให้ประเด็นสื่อสารออกไปในกระแสหลักได้สำเร็จ จนเกิดการพูดคุยสาธารณะในวงกว้าง

ในรัฐสภา พรรคก้าวไกลได้แสดงจุดยืนอย่างเห็นได้ชัดในฐานะพรรคการเมืองแรกที่ยอมรับแนวคิดยกเลิกโทษอาชญากรรมของงานบริการทางเพศ โดยมี ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ พรรคจึงรณรงค์เพื่อกฎหมายการขึ้นทะเบียนงานบริการทางเพศอย่างแข็งขัน ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการสนับสนุนทางการเมืองต่อประเด็นนี้

ขณะเดียวกันนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ได้ตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับงานบริการทางเพศที่มีอยู่ โดยมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนี้ด้วย เมื่อจบขั้นตอนการทบทวน คณะกรรมการเห็นตรงกันว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นล้าสมัยเสียแล้ว จึงได้เดินหน้าร่างกฎหมายใหม่ และในต้นปี 2566 ร่างกฎหมายที่ชื่อว่า พ.ร.บ. คุ้มครองการทำงานบริการทางเพศ ก็เป็นรูปเป็นร่างแล้ว

พ.ร.บ. การค้าประเวณีที่มีอยู่ใช้มากว่า 27 ปีแล้ว มันล้าสมัยไปแล้วเพราะสังคมเราเปลี่ยนไป จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกล่าว คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ก็เห็นว่างานบริการทางเพศที่ทำด้วยความเต็มใจนั้นไม่ควรผิดกฎหมาย

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้งานบริการทางเพศถูกกฎหมาย และออกข้อกำหนดให้จ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร และผู้ให้บริการมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้บริการได้ อายุขั้นต่ำที่สามารถให้บริการทางเพศได้อยู่ที่ 20 ปี ผู้ให้บริการทางเพศต้องเต็มใจที่จะให้บริการ หากใครถูกบังคับให้บริการโดยขัดขืนใจ ก็จะถือว่าเป็นการค้ามนุษย์ ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อธิบายเพิ่ม เขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย

นอกจากนั้น องค์กรที่อุทิศตนให้ภารกิจนี้ก็จะถูกตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครอง จัดหาการเยียวยาทางกฎหมาย และให้การสนับสนุนทางอาชีพ องค์กรเช่นนั้นสามารถดำเนินงานผ่านรูปแบบคณะกรรมการระดับสูงของประเทศ คณะกรรมการนี้จะนำโดยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และบุคคลสำคัญจากองค์กรอื่นๆ คณะกรรมการจะมีตัวแทนจากสำนักงานประกันสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปจนถึงตัวแทนพนักงานบริการทางเพศ และมีผู้เชี่ยวชาญสูงสุดสามคนที่จะถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ

ด้วยชัยชนะที่ได้มาอย่างไม่คาดฝันของพรรคหัวก้าวหน้าอย่างก้าวไกลในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม แนวโน้มที่รัฐบาลจะสนับสนุนงานบริการทางเพศถูกกฎหมายจึงเป็นไปได้สูงมาก แม้ในเอ็มโอยู (บันทึกข้อตกลง – MOU) ล่าสุดที่เพิ่งลงนามไประหว่างพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่ได้มีประเด็นนี้อย่างชัดเจน แต่มันก็เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการนโยบายหนึ่งของพรรคก้าวไกล

ถึงแม้ว่าจะการเมืองไทยจะยังผันผวน ทันตาและเพื่อนร่วมงานของเธอนั้นมีความหวังว่า เป้าหมายที่รอคอยกันมายาวนานจะกลายเป็นความจริง พวกเขาไม่ไหวหวั่นและไม่สงสัย เชื่อมั่นว่าความพยายามและการรณรงค์ต่อสู้ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเปี่ยมความหมายได้ในที่สุด

ถ้ากฎหมายนี้ได้ใช้ขึ้นมา อาชญากรหลายแสนคนก็จะหายวับไปกับตา แล้วก็กลายเป็นลูกจ้างเหมือนคนทั่วๆ ไป ทันตากล่าว แล้วพวกค่าส่วยตรงนั้นก็จะกลายเป็นภาษีให้ประเทศเรา

 

บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน

แปลจากภาษาอังกฤษ โดย กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม

More Features

ส่วย นายหน้า และเขาวงกตสู่สัญชาติ: ชะตา ‘โรฮิงญา’ ในไทย ที่รัฐไม่ (ยอม) เห็น

error: Content is protected !!