ประชาชนสี่ลุ่มน้ำเหนือฟ้องโครงการผันน้ำยวม
ท่ามกลางความกังขาต่อการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาในไทย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวินฟ้องศาลปกครองขอให้ยุติโครงการพันล้านบาท “ผันน้ำยวม”

ลูค ดักเกิลบี/HaRDstories
- Published 25 ตุลาคม 2023
- - 3 min read
เชียงใหม่ – เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวินรวม 66 คน ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลหรือที่รู้จักในชื่อ “โครงการผันน้ำยวม”
คดีดังกล่าวมีทนายความของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดี โดยฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการห้าหน่วยงาน 5 ราย ประกอบด้วย กรมชลประทาน คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี
เครือข่ายกังวล่าโครงการซึ่งมีเป้าหมายเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพลและขยายพื้นที่ชลประทานนี้จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอนุรักษ์และมีพื้นที่ซ้อนทับกับพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา นอกจากนี้จะยังกระทบระบบนิเวศแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน
อีไอเอร้านลาบ
เครือข่ายยังกังวลว่ารายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการอย่างแท้จริง โดยรายงานซึ่งผ่านการเห็นชอบโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี 2564 ระบุว่าจะมีครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเพียง 29 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ชุมชนยังวิพากษ์วิจารณ์การประเมินผลกระทบดังกล่าวว่าเป็น “อีไอเอร้านลาบ” เพราะมีการนำรูปถ่ายชาวบ้านที่ทานอาหารเย็นหรือรับของบริจาคจากเจ้าหน้าที่บรรจุในรายงานว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน
“เสียใจมากที่เห็นรูปของตัวเองถูกเอามาใช้ผิดๆ แบบนี้ในอีไอเอ เขาแค่มาเอาของมาแจกแล้วขอถ่ายรูปเซลฟี่ แต่กลับนำรูปไปลงในอีไอเอ ใส่ข้อมูลผิดๆ ทำแบบนี้ถูกต้องได้อย่างไร” ดาวพระศุกร์ มึปอย ชาวบ้านกะเหรี่ยงแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ฟ้องคดีกล่าว
ผู้ฟ้องคดีขอศาลพิจารณาว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและยกเลิกโครงการ
“อีไอเอ” เครื่องมือที่ตกเป็นเรื่องถกเถียง
โครงการผันน้ำยวมไม่ใช่โครงการเดียวที่ชุมชนในไทยดำเนินคดีว่าการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นมีปัญหา ไม่อาจเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง สัปดาห์ก่อนหน้า ชาวบ้านอ.หนองไข่น้ำ จ.สระบุรี ได้ฟ้องศาลปกครองในลักษณะคล้ายกันเกี่ยวกับโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานที่จะตั้งใกล้พื้นที่ชุมชน
“ช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเห็นว่ามีการดำเนินคดีโดยนักปกป้องสิทธิต่อหน่วยงานรัฐเพิ่มขึ้น” ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลศึกษารายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนเล่มใหม่โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) “และหลายๆ คดีก็เป็นการฟ้องกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม”
อ่านเพิ่มเรื่องโครงการผันน้ำยวม
Other news
- 29 เมษายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 15 ธันวาคม 2022
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 7 ธันวาคม 2022
- by ณิชา เวชพานิช
- 25 สิงหาคม 2022
- by ปริตตา หวังเกียรติ