โดย ณิชา เวชพานิช
ภาพ ลูค ดุกเกิลบี
- สิงหาคม 2, 2022
เมื่อเหมืองทองคำขนาดใหญ่สุดในไทยใกล้จะกลับมาเปิดอยู่รอมร่อที่จ.พิจิตร ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังนำการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนจากผลกระทบสุขภาพและมลพิษ
เป็นเวลาหกปีที่พริมสินี สินทรธรรมธัช ทำงานเป็นผู้ช่วยจัดซื้อของบริษัทเหมืองทอง เธอช่วยออกใบสั่งซื้อสิ่งของหลากหลาย ตั้งแต่กาแฟ อุปกรณ์ออฟฟิศ ไปจนถึงสารไซยาไนด์เป็นตัน
หญิงสาวคนนี้มีความสุขกับการทำงาน เพราะออฟฟิศอยู่ห่างออกมาไม่ไกลจากบ้านของเธอนัก หมู่บ้านเขาหม้อ จ.พิจิตร ประเทศไทย
“เราอยู่กับเขามาตั้งแต่เริ่มเลย ตอนที่นายกมาเปิดเหมือง เราพากันแต่งชุดไทยไปต้อนรับ” พริมสินี หวนคิดถึงวันวานอันแสนสุขก่อนที่เธอจะเรียนรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่กันแน่
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตรายถึงชีวิตชนิดหนึ่ง ใช้ในการทำเหมืองแร่และการสกัด ปกติแล้วจะเก็บอยู่ในบ่อกักเก็บหางแร่ วันหนึ่งคนงานที่ทำหน้าที่บรรจุสารไซยาไนด์ในแท่งกวนของเหมืองเกิดล้มป่วยหนัก ร่างกายเปล่งสีแดงกล้ามเนื้อกระตุก ภรรยาของเขามาร้องไห้ซบไหล่พริมสินี ตอนนั้นบริษัทออกประกาศว่าการตายของแรงงานคนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสารเคมีแต่อย่างใด แต่พริมสินีก็เริ่มระแคะระคายความปลอดภัยของเหมืองแล้ว
พวกเขาเริ่มติดต่อองค์กรสาธารณสุขหลายแห่งเพื่อขอให้ช่วยตรวจเลือด เนื่องจากคนในพื้นที่หลายคนมีอาการเจ็บป่วยซึ่งอาจเกิดจากสารพิษ รวมถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผลที่ได้มาสรุปว่า สมาชิกชุมชนหลายคนมีระดับไซยาไนด์ในเลือดสูงรวมทั้งมีสารโลหะหนักหลายชนิดปนเปื้อนในร่างกาย
“ตอนแรกเราคิดว่าเรากินกาแฟมากไป ก็เลยหยุด” พริมสินีจำได้ “แต่พอเลิกกาแฟ ก็ยังไม่รู้สึกอยากอาหารอยู่ดี ผิวก็มีผื่นคันจากน้ำบาดาลที่ปั๊มมาอาบ”
จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง คนในหมู่บ้านเริ่มย้ายออกจากหมู่บ้านเพราะต้องการหนีทั้งผลเสียต่อสุขภาพ เสียงระเบิดและฝุ่นในแต่ละวันจากเหมือง จากชุมชนที่เคยครึกครื้น หลายร้อยครอบครัวทิ้งบ้านช่องแล้วไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อื่น
เหลือเพียงแค่บ้านของพริมสินีที่ยังยืนหยัดอยู่อย่างกล้าหาญ ตั้งอยู่ในระยะเดินได้จากเหมืองทองใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของไทย แม้เธอจะโดดเดี่ยวแต่ก็เด็ดเดี่ยว วันนี้ ชีวิตของอดีตพนักงานเหมืองวุ่นอยู่กับการเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเธอและชุมชนของเธอ พริมสินีในวัย 46 นำขบวนการต่อสู้บริษัทเหมืองข้ามชาติมูลค่าหลายสิบล้านบาท
การงานในแผ่นดินทอง
ในสมัยโบราณ ผู้คนรู้จักเมืองไทยในฐานะ “สุวรรณภูมิ” หรือ “แผ่นดินทอง” ซึ่งกลายเป็นชื่อสนามบินหลักในกรุงเทพมหานคร ชื่อนี้กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศและตามความหมายตรงตัว ทองที่มีอยู่ใต้ผืนดิน
การสกัดแร่ทองคำในประเทศไทยนั้นเคยเป็นธุรกิจขนาดเล็กมากว่าหลายร้อยปี จนช่วงปี 2523 เมื่อแหล่งทองคำถูกค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสตื่นทองจึงเริ่มต้นขึ้น ผลจากยุคนั้น รัฐได้ให้ประทานบัตรสำรวจและสกัดแร่อันมีค่าแก่นักลงทุนอย่างต่อเนื่อง
อัครา รีซอร์สเซส บริษัทลูกในไทยของบริษัททำเหมืองสัญชาติออสเตรเลียชื่อคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดพบแหล่งสินแร่กระจายตัวไปทั่วจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลกในปี 2538 ตอนนั้นพริมสินีเพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนแถวบ้านในจังหวัดพิจิตร
“เราเรียนหนังสือที่นี่ ที่เดียวกันกับพี่สาวอีกสองคน” เธอกล่าวและเสริมว่า ถึงแม้โรงเรียนบ้านเขาหม้อจะมีขนาดเล็กมาก แต่ก็มีสนามหญ้าสีเขียวกว้างขวางที่งานแข่งฟุตบอลประจำตำบลมาขอใช้สถานที่จัดงานแข่งขัน แต่ปัจจุบันไม่มีโรงเรียนและสนามฟุตบอลอยู่แล้ว
เหมืองทองเริ่มเปิดทำการในปี 2544 ภายใต้โครงการชื่อ เหมืองแร่ชาตรีคอมเพล็กซ์ ครอบคลุมพื้นที่ 78,257 ไร่ หลังจากเรียนจบปวส. (หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง) หลักสูตรบัญชี พริมสินีไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างกับหนุ่มสาวชนบทคนอื่น เธอกำลังดิ้นรนหาเลี้ยงตนช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยตอนที่อาของเธอโทรมาบอกว่า เหมืองแห่งใหม่กำลังเปิดรับสมัครงาน
“ถือเป็นโอกาสดีเพราะว่าเราจะได้ทำงานแถวบ้านได้” เธอบอก คนในละแวกบ้านเธอหลายคนถูกว่าจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสหายากสำหรับชุมชนเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่นั้นยังชีพจากการปลูกข้าวและทำสวนผลไม้
กว้านซื้อชุมชน
พริมสินีทำงานที่เหมืองทั้งหมดหกปี แต่งงานกับเพื่อนพนักงานและมีลูกสาวที่น่ารักหนึ่งคน
ตลอดเวลาหลายปีนั้น เธอค่อยๆ เรียนรู้ว่าการทำเหมืองส่งผลกับชุมชนรอบข้างอย่างไรบ้าง งานศึกษาจากนักวิจัยอิสระได้ตรวจสอบน้ำที่รั่วไหลจากเหมืองสู่นาข้าวรอบข้าง พบว่ามีสารไซยาไนด์ปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานผิวน้ำทั่วไปถึง 1,734 เท่า ขณะเดียวกัน บริษัทรายงานค่าการตรวจสอบอยู่ที่ 522 เท่า เท่านั้น นอกจากนั้น ผลการตรวจสอบเลือดคนในพื้นที่พบว่าผู้ใหญ่และเด็กหลายพันคนมีค่าโลหะหนักในเลือดสูงกว่าค่ามาตรฐานสุขภาพทั่วไป
วันหนึ่ง บริษัทเสนอซื้อที่ดินของหลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้เหมือง หลายครอบครัวตอบรับข้อเสนอด้วยความหน่ายเสียงรบกวนและมลภาวะที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
พริมสินีปล่อยให้ครอบครัวของเธอตัดสินใจกันเอง เพราะเธอเป็นพนักงานบริษัท เลยอยากเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน แต่พวกเขาไม่ต้องการที่จะขายบ้าน ไม่นานหลังจากนั้นในเดือนธันวาคมปี 2550 พริมสินีพบว่าตัวเองถูกไล่ออกจากงาน
แม้เธอจะตกใจ แต่ก็ยังเข้มแข็ง พริมสินีนำเรื่องนี้เข้าศาลแรงงาน ฟ้องร้องว่าเป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สองปีหลังจากนั้น ศาลตัดสินคดีให้คุณแก่พริมสินีและสั่งให้บริษัทจ่ายเงินชดเชย
“การเสนองานให้ชุมชนนี่ไม่ได้เป็นเพราะเหมืองใจดีนะ แต่เป็นกลยุทธ์จัดการกับชุมชน” พริมสินียืนยัน
หลังเธอสูญเสียงานที่บริษัททำเหมืองไป เธอก็กลายเป็นผู้นำการต่อต้านเหมืองทองคำชาตรีเต็มตัว
ยืนหยัดในบ้านที่เหลือเพียงหนึ่ง
ช่วงแรกมีพริมสินีคนเดียวที่ออกมาต่อต้านเหมือง เมื่อปี 2553 เธอฟ้องร้องกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กล่าวหาว่าพวกเขาให้ประทานบัตรเหมืองแร่อย่างไม่เป็นธรรมในพื้นที่ที่มีป่าชุมชนอยู่ เธอเรียกร้องให้เพิกถอนประทานบัตรและหาทางเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัทต้องทำรายงานประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ภายในหนึ่งปี ต่อมา บริษัทกล่าวอ้างกับศาลปกครองสูงสุดว่าได้ทำรายงานนั้นแล้ว
ในปี 2559 ชาวบ้านในชุมชนราว 400 คนร่วมกันฟ้องร้องบริษัทว่าได้ละเมิดพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
พวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้บริษัทหันมารับผิดชอบให้ได้ ทั้งตรวจเลือดเพื่อพิสูจน์ผลกระทบจากเหมืองต่อสุขภาพ ประท้วงหน้าสถานทูตออสเตรเลียและกีดขวางทางเข้าเหมือง บางการเรียกร้องก็ได้ชัยชนะ แต่อีกหลายครั้ง การเรียกร้องนั้นก็ยังค้างอยู่ในชั้นศาล
พริมสินีถูกบริษัทฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท และต้องเจออีกหลายคดีเพราะการลุกออกมาต่อต้าน ในขณะเดียวกันเหมืองยังคงเปิดทำการระหว่างหลายปีที่คดีมากมายยังไม่ได้รับการตัดสิน ชาวบ้านในชุมชนหลายคนเลือกที่จะขายที่ให้บริษัทและย้ายออกไปเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
แต่บ้านของพริมสินียังคงตั้งอยู่ โดยมีเอกสารร้องเรียนเป็นปึกๆ และงานวิจัยกองอยู่เต็มมุมห้องชั้นสอง เธอเหลือเพื่อนบ้านแค่ไม่กี่คน ในบรรดานั้นเป็นพระอาศัยอยู่ในวัดที่สร้างเสร็จไปเพียงครึ่ง ที่ที่ครั้งหนึ่งเกือบจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนที่ไม่มีอยู่อีกแล้ว “ไม่จำเป็นต้องสร้างให้เสร็จหรอก เพราะไม่มีใครใช้ชีวิตที่นี่อีกแล้ว” เธอบอก
การต่อสู้กับเหมืองทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกในชุมชน เพื่อนและครอบครัวต้องแบ่งฝ่ายแยกกันเป็นกลุ่มสนับสนุนบริษัทและกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านเหมือง คนบางคนกล่าวหาพริมสินีและคนอื่นที่ค้านเหมืองว่า ที่ออกมาต่อสู้กับเหมืองก็เพราะอยากปั่นราคาที่ดินให้สูงขึ้น
ด้วยต้องการเสียงสนับสนุนและแนวร่วมในจุดยืนเดียวกัน พริมสินีเข้าร่วมเครือข่ายกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในไทยที่กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น เธอได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ผู้นำชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงซึ่งกำลังต่อสู้ต้านเหมืองในจังหวัดตากคล้ายคลึงกัน
“การเดินทางต่อสู้พวกนี้มันก็มีสามช่วงด้วยกัน ช่วงแรกบริษัทเข้ามา เริ่มเสนอผลประโยชน์กับชุมชนทำให้ชุมชนขัดแย้งกัน หลังจากนั้น แกนนำก็จะถูกทำให้เสียชื่อ เหมือนกับที่พริมสินีกำลังเจอเลย” ญาณพัฒน์กล่าว “ช่วงสุดท้ายก็คือ ถูกขู่ฆ่า ผมไม่ได้คิดเอาเองนะ คุณก็เห็นอยู่ว่ามันเกิดขึ้นทุกที่”
พริมสินีเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เธอต้องเจอการข่มขู่หลากหลายรูปแบบซึ่งเธอเชื่อว่ามาจากจุดยืนต่อต้านเหมืองของเธอ ตอนแรกก็เป็นหัวหมาตัดมาโยนใส่หน้าบ้านของเธอ จากนั้นก็เป็นคนท่าทางลับๆ ล่อๆ ยิงปืนมาทางบ้านของเธอจากเงาตะคุ่มในป่า
ชัยชนะลมๆ แล้งๆ
แต่ถึงแม้ว่าจะโดนข่มขู่หลายครา พริมสินียังคงยืนยันที่จะต่อสู้กับเหมืองและทำให้บริษัทรับผิดชอบให้ได้ เธอแบ่งเวลาในแต่ละวัน ไม่ดูแลนาข้าว ก็ไปเข้าร่วมงานหรือการประท้วงในกรุงเทพฯ
ในปี 2560 ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. หรือรัฐบาลทหารในขณะนั้น ใช้กฎหมายมาตราพิเศษสั่งปิดเหมืองทองชาตรี ด้วยเหตุผลเรื่องผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“ตอนนั้นดีใจมาก เราต่อสู้ปิดเหมืองมาหลายปีแล้วอยู่ดีๆ ก็มีรัฐบาลนี้มาปิดเลย” พริมสินีเล่า
แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ทางฝั่งออสเตรเลียเจ้าของเหมืองฟ้องรัฐบาลไทยกลับจากการใช้กฎหมายไม่ปกติเพื่อปิดเหมืองทอง โดยฟ้องร้องเรียกเงินชดเชย 30,000 ล้านบาท
ในระหว่างที่ศาลอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์ยังคงพิจารณคดีก่อนพิพากษา ผู้คนก็ได้ยินข่าวลือเรื่องทั้งสองฝ่ายไปตกลงกันและเรื่องการกลับมาเปิดเหมืองอยู่ตลอด ข่าวลือพวกนี้กระจัดกระจายอยู่ตามประกาศแต่ละครั้งของรัฐบาลไทยเพื่ออำนวยความสะดวกนักลุงทุนออสเตรเลียในธุรกิจเหมืองแร่ ในช่วงต้นปี 2564 รายงานสาธารณะของบริษัทคิงส์เกตระบุว่าประเทศไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่อีก 4 แปลงซึ่งอาจกรุยทางกลับไปสู่การกลับมาเปิดเหมือง
ชุนชนได้ส่งหนังสือร้องเรียนหลายฉบับถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อป้องกันไม่ให้เหมืองกลับมาเปิดทำการอีก ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบล่าสุด พรรคฝ่ายค้านได้นำเสนอและถกประเด็นนี้ในสภาและได้รับความสนใจจากสาธารณะอย่างมาก
“เราเรียนรู้ว่าการต่อสู้กับเหมืองมันมีหลายเรื่อง นอกจากว่า มันเกิดอะไรขึ้นที่บ้านเรา” พริมสินีกล่าว “มันก็เป็นเรื่องกฎหมาย นโยบาย และอำนาจ”
ทำให้เหมืองต้องจ่าย
ทุกวันนี้ บริษัทยังคงเสนอซื้อบ้านพริมสินี ในราคาที่มากกว่าเคยให้สิบห้าปีที่แล้วถึงสามเท่า
แต่เธอไม่ต้องการขายบ้าน เธอต้องการให้บริษัทรับผิดชอบผลกระทบต่อชุมชนจากเหมืองและเงินชดเชยเยียวยาความเสียหาย
“เราอยู่กับความเสี่ยงสุขภาพมาหลายสิบปี แล้วถ้าครั้งนี้เขากลับมาเปิดเหมืองจะกระทบหนักกว่าเดิมมาก นี่ยังไม่ถึงว่าความเสี่ยงต่างๆ ที่เราต้องเจออีกจากการเป็นแกนนำขบวนการต่อต้านเหมือง” เธอเล่า
หลังจากรู้ข่าวการกลับมาเปิดเหมือง พริมสินีหยิบมือถือกรอกเบอร์คนที่เธอไม่ได้โทรหามาหลายปี เธอต่อสายโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่เคยทำงานร่วมกับชุมชนก่อนที่เหมืองจะถูกสั่งปิด เพื่อขอให้ร่วมเดินทางต่อสู้กันใหม่
พริมสินีและ PPM หารือกับชาวบ้านจากบ้านเขาหม้อ ถึงแม้ว่าชุมชนจะมีหลายความเห็นต่างและแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คนจำนวนมากก็ยังมาร่วมวงพูดคุย
“ตอนนั้นเซอร์ไพรส์เหมือนกันนะ ได้ยินมาหลายครั้งว่าชุมชนรู้สึกหมดหวังแล้ว แต่ก็ยังมีหลายคนอยู่ที่ยังคงอยากต่อสู้” จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ สมาชิก PPM รุ่นใหม่เล่าถึงตอนที่ไปหาชุมชนเป็นวันแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2565
พวกเขาเรียกร้องให้ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเหมืองเสียใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่โครงการเหมืองแร่จำเป็นต้องทำตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560
รัฐบาลไทยไม่ใช่แค่ต่ออายุประทานบัตรให้กับเหมืองแร่ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น แต่ยังอนุญาตให้บริษัทนี้สำรวจพื้นที่ใหม่อีกด้วย ซึ่งอาจจะกว้างใหญ่ถึงแสนไร่เลยทีเดียว หลายหมู่บ้านในพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ก็อาจจะต้องเจอชะตากรรมเดียวกันกับชุมชนของพริมสินีในไม่ช้า หากเป็นตามที่จุฑามาศบอก
“คดีนี้แสดงให้เห็นว่าการประเมินผลกระทบของเหมืองต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้นสำคัญแค่ไหน” จุฑามาศกล่าว “และมีชุมชนเข้าร่วมการปิดเหมืองดีกว่าใช้นโยบายสั่งลงมา เพราะก็เห็นๆ อยู่ว่าพวกนักนโยบายพวกนี้กลับคำได้ง่ายขนาดไหน”
ถึงแม้ว่าความฝันสุดท้ายของพริมสินีคือการปิดเหมืองทองคำ เธอก็เข้าใจว่าชุมชนอาจจะต้องย้ายที่อยู่ แต่เธอก็อยากให้บริษัทรับรู้ผลกระทบของเหมืองทองต่อชุมชนและชดเชยให้ทุกคน
“เราห่วงสุขภาพลูกสาว พี่น้องเราแล้วก็ตัวเรา แต่เราก็ไม่อยากทิ้งคนอื่นไปนะ ถ้าเราต้องจากไปก็ไม่อยากให้คนอื่นที่นี่สูญเสียความหวังที่จะต่อสู้” พริมสินีบอก
“เราก็บอกความจริงไปว่าถ้าเราต้องไปก็ไม่ใช่เพราะว่าจะทอดทิ้งพวกเขานะ แต่เราต้องออกไปตั้งหลักสู้” เธอกล่าว “รู้ไว้เถอะว่าเราเป็นคนสุดท้ายของหมู่บ้านนี้แล้ว แต่เราอาจจะเป็นคนแรกของหมู่บ้านอื่นที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง”
แปลจากภาษาอังกฤษ โดย กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม
ลูค ดักเกิลบี เป็นช่างภาพชาวอังกฤษประจำกรุงเทพฯ คอยติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากมลพิษและการพัฒนาต่อชุมชนท้องถิ่นสม่ำเสมอ
Feature profiles
- 23 มิถุนายน 2022
- by ลูค ดุกเกิลบี
- 11 กุมภาพันธ์ 2022
- by Nanticha Ocharoenchai
- 14 ตุลาคม 2021
- by ปริตตา หวังเกียรติ
- 29 เมษายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช