หนึ่งชีวิตที่ทุ่มเพื่อท้องทะเล ‘ปิยะ เทศแย้ม’
เรื่อง ณิชา เวชพานิช
ภาพ พีระพล บุณยเกียรติ
- 29 เมษายน 2023
แม้ถูกเรือคราดหอยรุมทำร้าย ปิยะ เทศแย้ม ยังคงนำชุมชนประมงพื้นบ้านทั่วไทยปกป้องทะเลจากการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศที่กฎหมายไม่พอต้านทานกระแสทำลายล้าง
ตะวันใกล้ลับฟ้า ชาวประมงผิวกร้านแดดพากันเร่งเครื่องยนต์กลับฝั่งหลังจากวันอันยาวนานกลางอ่าวไทย แนวชายฝั่งปรากฏขึ้นในคลองสายตา แต่ทันใดนั้น สายตาของปิยะ เทศแย้มจับได้ถึงเงาของเรืออวนลากสองลำ
“เฮ้ย เรืออวนลากเข้ามาแถวนี้ไม่ได้!” ชายหนุ่มผิวเข้มแดดตะโกนกลบเสียงเครื่องยนต์ที่ดังกระหึ่ม “ใกล้เกินไป นี่มันอยู่ในสามไมล์ทะเล!”
ปิยะกรอกเสียงเตือนใส่วิทยุสื่อสารระหว่างเรือ แต่กลับได้คำตอบห้วน ๆ แค่ว่า บริเวณนี้ไม่มีกฎหมายที่ว่า แต่ชายหนุ่มรู้ดีว่านั่นเป็นแค่ข้ออ้างไร้น้ำหนัก เพราะเขาคลุกคลีกับงานอนุรักษ์ท้องทะเลมานานหลายปีจนรู้กฎหมายดี การใช้อวนลากใกล้แนวชายฝั่งนั้นถูกประกาศให้ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2547 เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อาศัยพื้นที่คลื่นลมสงบเป็นที่อยู่อาศัย
ประมงหนุ่มรีบส่งสัญญาณบอกเพื่อนประมงคนอื่นให้มาช่วย กลับลำเรือไปเผชิญหน้ากับเรือประมงผิดกฎหมาย ปิยะทอดสมอเรือเหนืออวนลากปลาที่กำลังกวาดพื้นทะเล ทันทีที่เรือลำอื่น ๆ มาสมทบ พวกเขาช่วยกันตัดอวน จนเหล่านักเลงเรือต้องหนีหัวซุกหัวซุน
ประเทศไทยออกกฎหมายหลายบท มุ่งจะตัดกำลังขบวนการประมงผิดกฎหมาย แต่ปัญหานี้ก็ยังแก้ไม่ได้เด็ดขาดจนถึงปัจจุบัน นำไปสู่การทำประมงเกินขีดจำกัดท้องทะเล ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพในอ่าวไทย วันนี้ ในฐานะประธานสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านที่มีสมาชิกชุมชนมากกว่าหกสิบแห่งทั่วไทย ปิยะนำชาวประมงพื้นบ้านร่วมกันปกป้องทะเลจนได้รับรางวัลปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมปีล่าสุด เขาเข้าใจดีว่าการอนุรักษ์ท้องทะเลอย่างแท้จริงนั้นต้องเป็นมากกว่ากฎหมายในกระดาษ
กลิ่นคาวธุรกิจประมง
ประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมประมงด้วยตั้งอยู่ใต้จะงอยปากของอ่าวรูป ก.ไก่ ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพของปลาทู สัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่อพยพตามแนวชายฝั่งจากใต้เข้าสู่ภาคกลาง
ช่วงปี 2500 หากครอบครัวชาวประมงใดมีลูกชายหลายคน จะฝึกให้ออกเรือตั้งแต่ยังเล็ก ปิยะเป็นลูกชายคนที่สองในครอบครัวประมงที่มีรายได้ไม่มาก เขารู้ตัวดีว่าจะไม่ได้เรียนหนังสือต่อหลังจบ ป.หก แล้วต้องออกไปช่วยที่บ้านทำมาหากิน หลังทนมาได้สักพัก เขายื่นคำขาด ไม่ยอมออกเรือกับครอบครัวอีกตอนอายุ 14 เพราะไม่อยากแบกรับความกดดัน
แต่โชคชะตากลับเล่นตลกหกคะเมน ปิยะลงเอยทำงานในแวดวงที่เขาพยายามวิ่งหนี เขาได้งานบนเรือประมงพาณิชย์และได้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว จากหน้าที่คอยผูกอวน เขาได้รับแต่งตั้งเป็น “ยี่ชิ่ว” หัวหน้าคนงานตั้งแต่วัยรุ่น ตอนแรก ปิยะคิดว่าทำงานบนเรือลำอื่นที่ไม่ใช่ของที่บ้านจะทำให้เขามีอิสระและตัวตนของตนเอง แต่ในไม่นาน กลับพบความจริงตรงกันข้าม
ลูกเรือประมงต้องทำงานต่อเนื่องราวกับไม่มีวันเหน็ดเหนื่อย บางครั้งออกเรือกันสองสามวัน บางคราวลากยาวไปถึงสัปดาห์ ปิยะเรียนรู้ในเวลาอันรวดเร็วว่า รายได้เขากับเพื่อนลูกเรือนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของเรือ ซึ่งบางทีเอาส่วนแบ่งกำไรไปมากกว่า 30% แถมยังขึ้น ๆ ลง ๆ ไร้มาตรฐาน ถึงเจ้าตัวจะไม่ได้เหยียบเท้าบนเรือสักก้าว นอกจากนั้น ชาวประมงยังต้องขายสัตว์น้ำที่จับได้ผ่านสะพานปลา ซึ่งจะขนและขายต่อให้กับพ่อค้าแม่ค้ากับร้านอาหาร แม้ว่าราคาอาหารทะเลจะผันผวนรายวัน แต่คนทำประมงกลับได้รับค่าใช้จ่ายรวบยอดทีเดียวในหนึ่งเดือน
“เราออกเรือทุกวัน แต่ไม่เคยรู้ราคาขายสุดท้ายของปลาที่เราหามา” ปิยะนึกย้อนกลับไปยังบรรยากาศวงการประมงช่วงปี 2530 ที่เอื้อให้มีการเอาเปรียบลูกเรือ “ตอนนั้นเราเลยชวนเพื่อนประมงมารวมกลุ่มกัน ลองขายปลาตรงกับลูกค้า ไม่ต้องพึ่งคนตรงกลาง ทำเองเลย”
ถึงแม้ว่าปิยะจะเป็นที่เคารพและเชื่อถือในฝีมือไล่ตามฝูงปลาทูจากคนในชุมชน แต่การเสนอแนวคิดธุรกิจใหม่ก็เสี่ยงจนหลายคนไม่อยากลองด้วย แต่ด้วยความแน่วแน่ เขาตัดสินใจทิ้งงานลูกเรือและเปิดรับซื้อผลผลิตจากเรือประมงพื้นบ้านเองและแจ้งราคาชาวประมงเป็นรายวัน ยุทธศาสตร์นี้ได้พัฒนาเรื่อย ๆ จนเป็นสหกรณ์จำหน่ายอาหารทะเลที่มีสมาชิกใน อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลายร้อยคนวันนี้ “ร้านคนทะเล” รับซื้ออาหารทะเลจากชาวประมงที่ทำการประมงอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาสูงและส่งต่อถึงผู้บริโภค
งานอนุรักษ์บนความเสี่ยง
ปี 2540 ประจวบคีรีขันธ์ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ “เวสเทิร์นซีบอร์ด” ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมพื้นที่ชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย โดยตั้งใจให้เป็นประตูเชื่อมต่อเมียนมากับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รัฐบาลไทยมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสามแห่งในประจวบฯ รวมกำลังผลิต 4,700 เมกะวัตต์
ชุมชนหลายอำเภอทั่วประจวบฯ พากันรวมตัวคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน “บ่อนอก-บ้านกรูด-ทับสะแก” ชาว อ.กุยบุรี บ้านเกิดของปิยะเองก็ร่วมด้วย ตั้งอยู่ห่างจากโครงการบ่อนอก 20 กิโลเมตร ชุมชนกังวลว่าโครงการจะกระทบระบบนิเวศชายฝั่งที่เป็นแหล่งวางไข่สัตว์น้ำ
ระหว่างการต่อสู้รอบนั้น ปิยะได้รู้จักผูกพันกับนักปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมคนอื่น ๆ ในจังหวัดบ้านเกิด เช่น เจริญ วัดอักษร แกนนำชาวบ้านจาก อ.เมือง แต่ท่ามกลางความเข้มแข็งของชุมชน โศกนาฏกรรมกลับเกิดขึ้น เจริญถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2547 หนึ่งปีหลังจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกยกเลิก
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครต้องรับผิดจากการฆาตกรรมเจริญ มือปืนสองรายถูกขังคุก แต่ต่อมาได้เสียชีวิตระหว่างอยู่ในเรือนจำ แม้เจริญจะจากไปแล้วเกือบยี่สิบ แต่สภาพบรรยากาศคุกคามแบบนี้ไม่ได้หายไปจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิง ล่าสุด ประเทศไทยติดอันดับ 13 ของประเทศที่มีจำนวนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมถูกฆ่ามากที่สุดทั่วโลก
กรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาของเจริญและหนึ่งในแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ย้อนทบทวนถึงการต่อสู้ของชุมชนวันนั้น “พวกเราเป็นผู้นำชุมชนที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ปกป้องทะเล คุณมักจะไปขัดผลประโยชน์ของทุนใหญ่”
การทำประมงที่ใช้เครื่องมือศักยภาพสูงอย่างอวนลากและเครื่องมือคราดหอยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงปี 2547 รัฐบาลไทยตั้งใจจะแก้ปัญหาดังกล่าวจึงประกาศบังคับใช้กฎหมายใหม่หลายข้อ แต่ไม่อาจหยุดการประมงละเมิดกฎหมายได้ หลังจากปิยะเฝ้าสังเกตจำนวนหอยลายที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แถมเครื่องมือของชาวประมงพื้นบ้านที่วางอยู่บนหน้าดินถูกทำลายเพราะเครื่องมือคราดหอย เขาและเพื่อนชาวประมงพื้นบ้านจึงก่อตั้งสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อยตอนปี 2551 คอยเฝ้าสังเกตการณ์ชายฝั่งหน้าบ้านและผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองทะเลที่ดีกว่าเดิม หนึ่งในความสำเร็จคือสามารถผลักดันให้รัฐบาลขยายเขตห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยจาก 1.6 เป็น 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง
เมื่อต้องรับมือเรือประมงผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่มักอ้างว่าไม่มีอำนาจพอหรือทำงานล้าช่า ทำให้ปิยะหงุดหงิด เขาและเพื่อน ๆ จึงออกไล่ตามเรือผิดกฎหมายเองหลายที จนเรืออวนลากกล่าวหาเขาข้อหา “ซ่องโจรอั้งยี่” ทำตัวเป็นนักเลงท้องถิ่น แต่เรื่องนี้ไม่ได้ดำเนินคดีต่อและหยุดแค่ที่สถานีตำรวจ เมื่อชุมชนพากันออกมาสนับสนุนปิยะว่าเขาทำไปทั้งหมดเพื่อปกป้องทะเล
ความเชื่อของคนในชุมชนไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่าย ๆ ปิยะเคยได้รับข้อเสนอสินบนจำนวนไม่น้อยเพื่อให้หยุดเคลื่อนไหว เขาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับคนอื่นในชุมชน ปฏิเสธเงินอาจหมายถึงผลลัพธ์ที่หนักกว่านั้น และปิยะรู้ตัวว่าเขาต้องเตรียมใจรับผลของการกระทำของเขา
นักเลงเรือคราดหอยรุมทำร้าย
เช้าวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ปี 2556 หลังจากขนปลาทูที่เพิ่งจับได้ขึ้นจากเรือเสร็จ ปิยะถูกชายกลุ่มหนึ่งรุมล้อมบนสะพานปลาแถวบ้าน กล่าวหาว่าเขาเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรือคราดหอยผิดกฎหมาย ก๊วนเด็กหนุ่มสวมสนับมือและรุมทำร้ายปิยะกระทั่งเพื่อนชาวประมงพากันเฮโลมาช่วย จนเกิดความชุลมุนโกลาหล ทำให้ท้ายที่สุด คนร้ายหลบหนีไป
ตั้งแต่คิ้วลากยาวไปถึงหู… หน้าปิยะอาบไปด้วยเลือดจนต้องเย็บคิ้วสี่เข็ม วันถัดมา คนในชุมชนหลายร้อยคนพากันออกไปบนท้องถนน ประกาศตามหาคนทำร้าย ฝูงชนรวมตัวกันที่สถานีตำรวจเพื่อช่วยหาคนผิดที่ทำร้ายปิยะ กรณ์อุมาเองก็มาด้วย เธอยืนยันว่าทนายจากกรุงเทพฯ จะมาช่วยสะสางความขัดแย้งครั้งนี้
“รวมตัวเป็นเครือข่ายช่วยเราได้ในระดับหนึ่ง” ปิยะย้อนทบทวนความหลังที่เคยถูกคุกคาม “เขารู้ว่าถ้าแกนนำคนนี้ลง เดี๋ยวจะมีคนขึ้นสู้แทน “
ศาลสั่งจำคุกคนที่ทำร้ายร่างกายปิยะสามเดือน ส่วนเจ้าของเรือคราดหอยที่เป็นเจ้าของสะพานปลา ซึ่งปิยะและชาวประมงคนอื่น ๆ ต้องใช้เทียบท่าขึ้นของนั้น เจรจาไกล่เกลี่ยกับชายหนุ่มภายใต้การตรวจสอบของผู้ว่าราชการจังหวัด
ท้ายที่สุด เจ้าของเรือคราดหอยเจ้าปัญหาต้องหยุดทำผิดกฎหมายใช้อุปกรณ์คราดหอยใกล้ชายฝั่ง นอกจากนี้ ยังต้องหยุดดำเนินการสะพานปลาแห่งนั้น
ตัดวงจรความขัดแย้ง
หลายสิบที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาและปรับแก้กติกาท้องทะเลมาเรื่อย ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อรับมือปัญหาประมงผิดกฎหมายเกิดขึ้นปี 2558 หลังจากสหภาพยุโรป ผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ ได้ให้ใบเหลืองไทย เตือนให้แก้ไขปัญหาอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม “ประมง IUU” การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ไทยจึงชำระกฎหมายประมงที่ใช้มานานกว่าเจ็ดสิบปีจนได้รับการประเมินคะแนนดีขึ้นเมื่อปี 2562
ปิยะสังเกตว่า การทำประมงผิดกฎหมายในไทยวันนี้ลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะกฎหมายเข้มงวดมากขึ้น และยังเป็นเพราะชาวประมงในแต่ละพื้นที่คอยจับตาดูแลทะเลหน้าบ้านอย่างใกล้ชิด แต่ว่ากฎหมายหลายข้อยังขาดการบังคับใช้และแค่เขียนอยู่ในกระดาษ ตัวอย่างช่องว่างทางกฎหมายหนึ่งคือการปั่นไฟล่อลูกปลาเข้าอวน ถึงแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดระยะเขตห้ามใช้ไฟล่อสัตว์น้ำในพื้นที่วางไข่ใกล้ชายฝั่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปิยะและคนอื่น ๆ พบเรือปั่นไฟลอยเรือชิดขอบนอกโซนห้ามจับแล้วปั่นไฟล่อลูกปลาเข้าอวนอยู่ดี
ปิยะกับสมาพันธ์สมาคมประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยจึงผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนที่นำขึ้นเรือได้ เพื่อรักษาไม่ให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับมากจนสูญพันธุ์ แต่ถึงกฎหมายมาตราดังกล่าวจะระบุอยู่ในพระราชกำหนดแล้วหลายปี ทว่ายังไม่เคยมีการกำหนดรายละเอียดและบังคับใช้จริง พวกเขาจึงจัดขบวนรณรงค์รับวันมหาสมุทรโลกปี 2565 โดยล่องเรือจากปัตตานีนับพันกิโลเมตรไปเทียบท่ารัฐสภาที่กรุงเทพฯ
ปีเดียวกันนั้นเอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้มอบรางวัลสิทธิมนุษยชนประจำปีแก่ปิยะสำหรับความทุ่มเทปกป้องทะเลต่อเนื่อง
ปิยะในวัยห้าสิบสองวันนี้ไม่ค่อยได้ออกเรือหาปลาเหมือนเคย เขาฝากความไว้วางใจกับลูกชายที่คอยออกเรือและบริหารจัดการร้านคนทะเล แม้ว่างานอนุรักษ์จะสุ่มเสี่ยงจนทำให้เขาถูกรุมทำร้าย ปิยะยังคงแน่วแน่ที่จะปกป้องทะเล นำชุมชนประมงพื้นบ้านหลายสิบแห่งทั่วไทยปฏิรูปกฎหมายประมงระดับประเทศ
“เราจะต้องสู้ประมงผิดกฎหมายกันอย่างงี้ไม่รู้อีกกี่ร้อยชาติ” ปิยะสะท้อน “เราต้องต่อยอดสิ่งที่สู้ไปถึงเรื่องของระดับนโยบายและกฎหมาย เมื่อถึงจุดนั้น เราถึงจะมีชีวิตที่ปลอดภัยแล้วไม่ส่งต่อการฆ่าจากรุ่นสู่รุ่น”
บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน
ณิชา เวชพานิช นักข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามประเด็นสังคมผ่านมุมมองด้านสิทธิและชีวิตผู้คน เธอเคยทำงานกับสำนักข่าวท้องถิ่นภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
พีระพล บุณยเกียรติ เป็นช่างภาพข่าวอิสระที่ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เขาทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้กับ SOPA Images เอเจนซี่ภาพข่าวของประเทศฮ่องกง พีระพล สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลและ สนใจในการเดินขบวนประท้วงต่างๆของประชาชน
Feature profiles
- 14 มกราคม 2022
- by สุลักษณา หลำอุบล
- 28 มกราคม 2022
- by เคเลบ ควินลี
- 14 ตุลาคม 2021
- by Nanticha Ocharoenchai
- 29 เมษายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช