เรื่อง ณิชา เวชพานิช
ภาพ พีระพล บุณยเกียรติ
- 7 ธันวาคม 2022
เมื่อเขื่อนบนแม่น้ำโขงทำให้สายน้ำผันผวนรุนแรง แปรสภาพแม่น้ำกลายเป็นสนามรบการเมืองระหว่างประเทศ ผู้หญิงคนหนึ่งยืนหยัด รวมพลังจากท้องถิ่นเพื่อปกป้อง “สายเลือด” ที่หล่อเลี้ยงชีวิตนับล้าน
ใต้ท้องฟ้าสีคราม ช่วงสงกรานต์ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการนั่งกินส้มตำกับเพื่อนและครอบครัวบนหาดทรายหาดบ้านอาญาเป็นผืนทรายทอดยาวกลางแม่น้ำโขงที่ผุดขึ้นมาช่วงหน้าแล้งทุกปีที่ระดับน้ำลดต่ำ คล้ายกับหาดน้ำจืดแห่งอื่นๆ ในไทย
อ้อมบุญ ทิพย์สุนา คุ้นเคยกับวัฏจักรธรรมชาตินี้ดี ครอบครัวเธอจัดโต๊ะอาหารเรียงรายบนหาด ลงไปในแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคาย กลายเป็นร้านอาหารที่ตั้งอยู่บนพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทย-ลาว สงกรานต์เป็นโอกาสทองต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ว่าจู่ๆ ปี 2554 กลับเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่พัดหาดหายไปทั้งผืน
อ้อมบุญแทบช็อก ร้านอาหารเธอเสียหายหลายแสนเพราะน้ำท่วมผิดฤดูกาลกลางเดือนเมษายน หลายเดือนต่อมา เมื่อถึงวันลอยกระทงตอนพฤศจิกายน แม่น้ำกลับลดต่ำแห้งแทนที่จะมีระดับน้ำสูง ปีนั้นเป็นปีที่สองที่เขื่อนจิ่งหง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขงในจีน เริ่มปั่นไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ 1,750 เมกะวัตต์
ตั้งแต่ปีนั้น ผู้คนทางตอนล่างของแม่น้ำเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงและพากันตื่นตัวเรื่องแผนสร้างโครงสร้างคอนกรีตอีกหลายสิบบนแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่สายนี้ สายน้ำโขงซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนกว่า 300 ล้านคนทั่วหกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทุกวันนี้ หาดบ้านอาญาเหลือเพียงอยู่ในความทรงของอ้อมบุญ ความทรงจำที่เธอเล่าให้ศาลปกครองและคนออกนโยบายในชุดสูทฟังครั้งแล้วครั้งเล่า เร่งเร้าให้พวกเขาตระหนักถึงผลลบจากเขื่อน อ้อมบุญไม่ใช่คนเดียวที่เผชิญเรื่องราวแบบนี้ แต่ยังมีผู้คนริมโขงอีกมากมาย เธอจึงชวนชุมชนท้องถิ่นในอีสาน มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง ส่งเสียงต้านทานการพังทลายแม่น้ำโขงที่พัดเชี่ยวกราก
เติบโตอย่างตั้งคำถาม
อ้อมบุญโตในครอบครัวชาวนาช่วงปี 2511 เธอหลงรักการอ่านและอ่านทุกอย่างที่จะหาเจอได้ในหมู่บ้านเล็กๆ ในอ.ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย บริเวณชายแดนไทย-ลาว บางทีก็เป็นหนังสือการเมืองแนวสังคมนิยมที่พี่สาวซ่อนในลังกระดาษช่วงเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาสมัยสิบสี่ตุลา แต่หนังสือที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล คือ นิยายรัก
นางเอกเป็นสาวนักพัฒนาสังคมที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่นั้นเธอพบกับตำรวจหนุ่มรูปหล่อผู้กลายเป็นคู่หูร่วมเส้นทางอุดมการณ์ พอพลิกถึงหน้าสุดท้าย อ้อมบุญในวัยมัธยมปลายสัญญากับตัวเองว่าจะเรียนสาขาพัฒนาสังคมในมหาวิทยาลัยและทุ่มเททำงานเพื่อคนอื่นเหมือนกับตัวละครโปรดให้ได้
หลังสงครามเย็น ช่วงปี 2532 ประเทศไทยกำลังไล่ตามความฝันเปลี่ยนสนามรบสู่สนามการค้า รัฐบาลไทยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้เกิดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมายผุดพรายทั่วอีสาน ภูมิภาคที่รัฐมองว่า “ด้อยพัฒนาที่สุด” และประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวนายากจน
หนึ่งในโครงการพัฒนาซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ห้ากิโลเมตรครึ่งจากจุดที่แม่น้ำมูลบรรจบกับแม่น้ำโขง กรณีเขื่อนปากมูลกลายเป็นห้องเรียนที่นักศึกษาหลายคน รวมถึงอ้อมบุญ เรียนรู้ที่จะตั้งคำถามกับแนวทางพัฒนาที่ภาครัฐผลักดัน
“ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้เรื่องผลกระทบจากเขื่อนมากเท่าไหร่” อ้อมบุญในวัย 55 วันนี้นึกกลับไป “ตอนนั้นแค่รู้ว่าที่รัฐบาลดำเนินโครงการมันไม่ถูกต้อง ชาวบ้านไม่มีใครได้รับข้อมูล ไม่มีใครตอบคำถามและคลายความกังวล”
การเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนปากมูลกลายเป็นขบวนการเข้มแข็งระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม เขื่อนกลับถูกสร้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศกับวิถีชีวิตของชุมชนบริเวณใกล้เคียง เรื่องราวของเขื่อนปากมูลได้จุดประกายให้ชุมชนและคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศตื่นรู้ ตื่นตัวถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ
ด้วยความเป็นคนอีสานเอง อ้อมบุญเชื่อมโยงกับคนในชุมชนอีสานพื้นที่ต่างๆ ได้ง่าย หลังเรียนจบ เธอเลือกทำงานกับชุมชนเพื่อพัฒนาสังคมมิติต่างๆ ต่อ ไม่ว่าจะพัฒนาการศึกษา ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหมืองและทำงานวิจัยด้านชลประทาน
“เราไม่คิดว่าตัวเองเป็นนักพัฒนาสังคม” อ้อมบุญว่า “เราเป็นแค่ชาวบ้านที่มีโอกาสเรียนหนังสือ”
ไขปริศนาสายน้ำผันผวน
ในปี 2551 ประเทศไทยออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการก่อตั้งสภาองค์กรชุมชนเพื่อสนับสนุนกลุ่มชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเรื่องกฎหมายตัวนี้ อ้อมบุญร่วมก่อตั้งเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสานหรือ “คสข.” ส่วนเวลาว่างจากงานประจำ เธอคอยช่วยครอบครัวบริหารร้านอาหารในแม่น้ำโขงที่หนองคาย
แต่ปี 2554 น้ำท่วมผิดฤดูกาลกลับซัดทลายธุรกิจครอบครัว มันไม่ใช่แค่ปีชงปีเดียว แต่กระแสน้ำโขงกลับผันผวนต่อเนื่องในอีกหลายปีต่อมา เหตุการณ์นี้ได้พัดพาเธอเข้าสู่เส้นทางงานปกป้องแม่น้ำโขง
ไม่ได้มีแต่คนในภาคท่องเที่ยวอย่างครอบครัวอ้อมบุญเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของสายน้ำ ชาวประมงและเกษตรกรริมโขงต้องเจออะไรที่หนักยิ่งกว่า เพราะหากินพึ่งพิงกับระบบนิเวศแม่น้ำอันละเอียดอ่อนโดยตรง
“พวกเราพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น” ทำไมสายน้ำถึงแปรปรวนกลายเป็นคำถามหลักที่สมาชิกเครือข่ายพากันสงสัย ตอนแรก เครือข่ายไม่ได้ตั้งใจทำงานอนุรักษ์แม่น้ำเป็นหลัก แต่เพราะแม่น้ำโขงเป็นแกนกลางของวิถีชีวิตผู้คน คสข.จึงกลายเป็นเสียงสำคัญที่ออกมาพูดเรื่องนี้
จำเลยหลักคือเขื่อนสร้างเสร็จใหม่หลายตัวทางตอนบนของแม่น้ำโขง ปี 2554 จีนได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำแล้วกว่าแปดเขื่อนบนตอนบนแม่น้ำโขงในเขตจีนเพื่อป้อนความต้องการไฟฟ้าและน้ำทำเกษตรในประเทศ
หลายคนโทษว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงผันผวนช่วงหลายปีที่ผ่านมา อ้อมบุญกับคนในเครือข่ายเห็นด้วยว่านั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่ายังมีอีกปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผลกระทบของเขื่อนเริ่มเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2562 เมื่อแม่น้ำสีขุ่นกลับกลายเป็นสีฟ้าใส
ชาวบ้านจากหลายชุมชนริมแม่น้ำโขงอาสาตรวจวัดคุณภาพน้ำทุกสัปดาห์แล้วส่งข้อมูลให้กับนักวิจัย ทีมงานเฉพาะกิจประมวลผลพบว่าความขุ่นของแม่น้ำลดลงอย่างชัดเจน ทำให้แม่น้ำส่วนล่างใต้เขื่อนเปลี่ยนจากสีขุ่นกลายเป็นสีใส
เขื่อนไซยะบุรีเริ่มสร้างเมื่อปี 2555 และเป็นเขื่อนแรกในแผนก่อสร้างสิบเอ็ดเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เขื่อนไซยะบุรีที่ตั้งอยู่ในลาวใกล้ชายแดนไทยนั้นเสี่ยงกักตะกอนแม่น้ำโขง ข้อมูลเรื่องความขุ่นน้ำที่เปลี่ยนแปลงบริเวณใต้เขื่อนไม่ใช่เรื่องใหม่ในสายตาของชนางค์ อำภารักษ์ นักวิจัยจากกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly) ที่ทำงานกับชุมชน เนื่องจากหน่วยงานรัฐไทยรู้มาแล้วหลายปี แต่มักไม่เปิดเผยกับสาธารณะ
“ทางการไม่เคยยืนยันข้อเท็จจริงนี้ เราเลยเก็บข้อมูลความขุ่นแบบชาวบ้านๆ เองเพื่อช่วยยืนยัน” ชนางค์อธิบาย “งานวิจัยทำให้ชาวบ้านมั่นใจที่จะสู้คัดค้านเขื่อนและรู้สึกว่าความรู้ที่เขามีนั้นมีอำนาจต่อรองกับคนออกนโยบายได้”
ข้อค้นพบนั้นกลายเป็นข้อมูลสนับสนุนส่งให้ศาลปกครองในคดีครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2555 ชุมชนริมโขงหลายพื้นที่ในไทยร่วมกันฟ้องคดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ซื้อไฟฟ้าหลักจากเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาว คดีนี้เป็นคดีข้ามพรมแดนแรกในไทยเกี่ยวกับแม่น้ำโขง
พลังแม่หญิงโขง
ระหว่างรวบรวมรายชื่อชุมชนที่อยากจะร่วมฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรี อ้อมบุญได้รู้จักสอน จำปาดอก หญิงวัย 65 ในหมู่บ้านเล็กๆ ไกลเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
หนึ่งปีก่อนหน้าฟ้องคดี อ้อมบุญจัดวงคุยที่ทำการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ข้อมูล เมื่อชวนชุมชนร่วมส่งชื่อฟ้องคดี มีเพียงแค่สองสามคนเท่านั้นที่ยกมือ หนึ่งในนั้นที่ยกอย่างแน่วแน่นคือมือของสอนที่มุ่งมั่นจะปกป้องน้ำโขง
ปริมาณไฟฟ้าสำรองในไทยนั้นมีมากกว่าความต้องการต่อเนื่องหลายปี ปี 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภครายงานว่าไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองราว 40-60% ซึ่งมากกว่าปริมาณสำรองเพื่อความมั่นคงทางพลังงานถึงสามเท่า แม้จะหักลบความต้องการที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตแล้ว ทว่าประเทศไทยยังคงเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำในลาว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน
เพื่อสู้กับแนวคิดนี้ อ้อมบุญส่งเสริมให้ชุมชนเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ละแวกบ้านของตนซึ่งนับวันค่อยๆ สูญหายไป ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ปลา พืชและวิถีทำเกษตรและประมงพื้นบ้าน สอนเองก็เป็นคนริมโขงคนหนึ่งที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนตนด้วยตนเองก่อนหน้าจะมาร่วมกับเครือข่าย
ตอนอ้อมบุญไปเยี่ยมสอนที่บ้านริมโขง เธอพบว่าสอนจดบันทึกรายได้ประจำวันจากการทำประมงและเกษตรริมแม่น้ำไว้บนปฏิทินสม่ำเสมอ
“เราเก็บข้อมูลว่าแม่น้ำโขงมีคุณค่ากับชุมชนอย่างไรบ้างเพื่อใช้ต่อรองมูลค่าที่เขาอ้างว่าได้จากการผลิตไฟฟ้า” อ้อมบุญอธิบาย เธอลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐมาเป็นนักกิจกรรมเต็มตัว “เราคิดว่าคนสนับสนุนเขื่อนกลัวที่จะรู้คุณค่าที่แท้จริงของแม่น้ำโขง”
เวทีรับฟังความคิดเห็นทางการเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างมักจะจัดในเมือง ทำให้ผู้หญิงจากพื้นที่ห่างไกลหลายคนไม่อาจเข้าร่วมแสดงความเห็นได้เพราะติดภารกิจดูแลบ้าน แต่อ้อมบุญพบว่าผู้หญิงเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่รับรู้ถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงและกระทบเกษตรริมโขง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการทำเกษตรที่อาศัยระดับน้ำขึ้น-ลงของแม่น้ำโขงเพื่อรดน้ำแปลงผัก
“ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการบริหารทรัพยากรแม่น้ำโขงและปากท้องในครอบครัวมาตลอด” อ้อมบุญอธิบาย “คนแบบนี้ผูกพันกับแม่น้ำ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ทิ้งแม่น้ำโขง”
สอนกลายเป็นกำลังสำคัญที่ส่งเสียงแทนผู้ฟ้องคดีคนอื่นๆ เรื่องผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีด้วยกำลังใจและความเชื่อมั่นจากอ้อมบุญกับเครือข่าย สิบปีให้หลัง ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยอ้างว่าเขื่อนที่ตั้งในลาวนั้นเป็นเรื่องข้ามพรมแดนที่เกินอาณาธิปไตยรัฐไทย ถึงอย่างนั้น สอนและแม่หญิงโขงคนอื่นๆ ก็สะสมความมั่นใจที่จะเป็นคนส่งเสียงสู้เรื่องนี้
“เป็นราษฎรก็เว้าไม่เก่ง แต่เห็นด้วยตา เบิ่งด้วยตัวเอง” สอนเล่าถึงบรรยากาศที่เธอยืนต่อหน้าศาลเล่าถึงผลกระทบจากเขื่อนโขงเป็นภาษาอีสาน “เครือข่ายคนริมโขง เฮาก็สื่อสารกันได้ตลอด มีผลกระทบคือกันที่นี่ก็มี ที่นั่นเรือก็มี”
ในอีสาน มีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำโขงและมีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำมากกว่าหนึ่งพันหมู่บ้าน อ้อมบุญรู้สึกทึ่งกับคนแบบสอน เธอเลยมักจะจดบันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ส่วนตัวของผู้คนริมโขง เผยแพร่ให้คนอื่นอ่านบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงกลุ่มไลน์กว่าสามสิบกลุ่มที่มีสมาชิกหลายร้อยจากหลากหลายพื้นเพ แต่ต่างมีจุดร่วมกันคืออยากปกป้องแม่น้ำโขง
สู้แบบบ้านๆ ในสนามรบระดับโลก
งานปกป้องแม่น้ำโขงดูเหมือนจะเป็นภารกิจยักษ์ใหญ่ หลายครั้งชาวบ้านหลายคนที่ทำงานกับอ้อมบุญอดท้อไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันสำเร็จ ท้ายที่สุดแล้ว เขื่อนก็จะถูกสร้างขึ้น
พวกเขากำลังสู้ในสนามรบที่ไม่มีวันชนะหรือเปล่า ยิ่งตอนนี้ เกมการเมืองระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ทวีความเข้มข้น นานาประเทศต่างพากันประชันอิทธิพลเหนือแม่น้ำโขง จีนเดินหน้าสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักอีกหลายสิบแห่ง สหรัฐอเมริกาลงทุนเงินหลายล้านเหรียญเพื่อกิจกรรมเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ในขณะเดียวกัน ลาวหมายมั่นปั้นมือจะเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” แล้วเดินหน้าสร้างเขื่อนอีกเจ็ดแห่งที่มีประเทศไทยเป็นผู้รับซื้อไฟรายหลัก
สนามรบทางการเมืองตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง บ้านของอ้อมบุญและอีกหลายชีวิต เมื่อเทียบกับผู้ผลักดันโครงการเขื่อนแล้ว เครือข่ายชุมชนแม่น้ำโขงดูเล็กมาก แต่นักปกป้องสิทธิแม่น้ำโขงอย่างอ้อมบุญเชื่อว่าความพยายามนี้ไม่ได้สูญเปล่า “เราต้องส่งเสียงให้รัฐบาลไทยทำอะไรเรื่องนี้”
ตั้งแต่คสข.ก่อตั้งในปี 2552 อ้อมบุญเห็นว่าสิ่งที่เครือข่ายพยายามทำได้ผลิดอกออกผลบ้างแล้ว สมัยก่อนหน่วยงานรัฐไทยไม่ยอมรับว่าการที่แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลจากโครงสร้างแข็ง แต่ว่า “ตอนนี้ยอมรับแล้วว่าเขื่อนเป็นสาเหตุหนึ่งของแม่น้ำโขงผันผวน”
ปี 2564 คสข.เดินขบวนบนถนนในกรุงเทพฯ พร้อมเครื่องมือประมง กิจกรรมครั้งนั้นได้พาให้หน่วยงานรัฐนับสิบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่กระทรวงพลังงานจนถึงกระทรวงต่างประเทศ มานั่งโต๊ะประชุมร่วมกันเพื่อหาทางช่วยชุมชนให้ปรับตัวเข้ากับแม่น้ำโขงวันนี้ที่มีเขื่อน
หน่วยงานตกลงตั้งกลุ่มไลน์เพื่อแจ้งเตือนระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงจากแม่น้ำโขงจุดต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ง่ายและพร้อมตั้งรับหากเกิดน้ำท่วมหรือน้ำลดฉับพลัน นอกจากนี้ ชุมชนยังทำงานร่วมกับกรมประมงเพื่อเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่นและประกาศเขตอนุรักษ์ โดยพัฒนาต่อจากข้อมูลที่ชุมชนเก็บมาตลอดหลายปี
วันนี้ อ้อมบุญทำงานในออฟฟิศเล็กๆ ชั้นสองของบ้านทาวน์เฮ้าส์ โดยมีลูกสาวคอยช่วยอยู่ข้างๆ เพื่อเดินหน้าเครือข่าย อีกไม่นาน บ้านและออฟฟิศในตัวหลังนี้จะต้อนรับหลานสาวคนใหม่
หลังจากพากันอบรมวิธีใช้สมาร์ทโฟนและโปรแกรมซูมประชุมออนไลน์ช่วงโควิดระบาดหนัก คสข.ประชุมออนไลน์กันทุกอาทิตย์เพื่ออัพเดตข่าวคราวจากแต่ละชุมชน อ้อมบุญยังคงทำงานต่อเนื่องและไม่มีแผนจะละมือจากงานน้ำโขงเร็วๆ นี้ ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเธอเอง แต่เพื่อผู้คนริมโขงอีกมากมายที่ผูกพันกับสายน้ำ
“คัดค้านเขื่อนไม่ได้หมายความว่าเราต่อต้านการพัฒนา” อ้อมบุญว่า “เราจะเอาข้อมูลมาพิสูจน์ให้เห็นว่าแม่น้ำโขงมีความหมายต่อผู้คนมากขนาดไหน”
ณิชา เวชพานิช นักข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามประเด็นสังคมผ่านมุมมองด้านสิทธิและชีวิตผู้คน เธอเคยทำงานกับสำนักข่าวท้องถิ่นภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
พีระพล บุณยเกียรติ เป็นช่างภาพข่าวอิสระที่ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เขาทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้กับ SOPA Images เอเจนซี่ภาพข่าวของประเทศฮ่องกง พีระพล สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลและ สนใจในการเดินขบวนประท้วงต่างๆของประชาชน สามารถติดตามผลงานของพีระพลเพิ่มเติมได้ใน
Feature profiles
- 14 มกราคม 2022
- by สุลักษณา หลำอุบล
- 10 ธันวาคม 2021
- by ศิโยรี ไทยตระกูลพาณิช
- 29 เมษายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 15 ธันวาคม 2022
- by ธีรนัย จารุวัสตร์