จาก ‘กำแพงใจ’ สู่ ‘ปิดเหมือง-ฟื้นฟู’ เมื่อชัยชนะของชาวบ้าน มาพร้อมการต่อสู้บทใหม่
- ภาพโดย เริงฤทธิ์ คงเมือง
ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบางส่วนที่เคยถูกกลุ่มชายโพกผ้าดำกว่า 150 คน บุกปิดล้อมหมู่บ้าน ทำร้ายร่างกายและจับชาวบ้านมัดมือเป็นตัวประกัน ในเหตุการณ์วันขนแร่เถื่อนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2557 รวมตัวถ่ายรำลึกเหตุการณ์ที่เหมืองทองคำร้าง เริงฤทธิ์ คงเมือง/HaRDstories
- Published 13 พฤศจิกายน 2023
- 12 min read
ทีมข่าว HaRDstories พูดคุยกับ “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” จากชุมชนบ้านนาหนองบง จ.เลย ที่เดินหน้าฟื้นฟูมลพิษที่สั่งสมจากเหมืองทองคำในพื้นที่ ตลอดจนเยียวยาจิตใจของชาวบ้าน หลังการต่อสู้และเหตุรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานนับสิบปี
“ผมสู้ขัดขืนเลยถูกตีที่ท้ายทอยจนสลบไป ตื่นมาอีกทีถูกมัดคว่ำหน้าบนถนน”
วิสาญ วิจิตรปัญญา ชาวบ้านบ้านนาหนองบง จังหวัดเลย เล่าย้อนเหตุการณ์กลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เมื่อครั้งที่ชุมชนของเขาถูกกองกำลังชายฉกรรจ์กว่า 150 คนพร้อมอาวุธครบมือ บุกจับชาวบ้านมัดกองกลางถนน เพื่อเปิดทางให้รถบรรทุก 11 คันเข้าไปขนสินแร่จากเหมืองทองที่ชาวบ้านรวมตัวประท้วงคัดค้านกันมาหลายปี
วิสาญยังจำได้ว่าคืนยาวนานนั้นระงมด้วยเสียงสะอื้น เสียงร้องโกรธเกรี้ยว เสียงต่อสู้ทุบตีและเสียงปืน
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงหน้าเดียวในบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของบ้านนาหนองบง ซึ่งดำเนินยาวนานมาตั้งแต่เหมืองทองเริ่มทำการในปี 2547 แม้ว่าในภายหลังเหมืองดังกล่าวปิดตัวลงในที่สุด และชาวบ้านได้ชัยชนะจากการฟ้องร้องคดีในชั้นศาล แต่นับได้ว่าการต่อสู้บทใหม่เพิ่งจะเริ่มขึ้นเท่านั้น
นั่นคือการฟื้นฟูธรรมชาติ ตลอดจนที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากสารพิษต่างๆ อันเป็นผลพวงการทำเหมือง ชาวบ้านรวมตัวกันในนาม “ฅนรักษ์บ้านเกิด” มีเป้าหมายเด็ดเดี่ยวภายใต้คำขวัญของการต่อสู้ว่า “ปิดเหมือง ฟื้นฟู”
ทั้งนี้ ถึงแม้ศาลพิพากษาเป็นที่สุด “ให้ฟื้นฟู” โดยระบุให้ชาวบ้าน “มีส่วนร่วมในการทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม” แต่แกนนำในชุมชนระบุว่าภาครัฐยังไม่ตอบสนองในเรื่องดังกล่าว กลับดำเนินการฟื้นฟูตามแผนของภาครัฐฝ่ายเดียว
“ตอนนี้รัฐไม่ยอมรับให้ชุมชนมีส่วนร่วมจัดทำแผน ไม่ให้ร่วมเป็นกรรมการฟื้นฟูตามสัดส่วนที่ร้องขอ ต้องการเพียงให้ทำตามแผนของเขาฝ่ายเดียว ซึ่งเราไม่เอา” รจนา กองแสน สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว HaRDstories
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดดำเนินกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติรอบชุมชนและเยียวยาจิตใจของคนในพื้นที่บาดแผลที่เกิดขึ้นรายทางระหว่างประสบกับอุปสรรคมากมาย การข่มขู่คุกคาม การฟ้องร้องคดีความ ไปจนถึงการบุกทำร้ายอย่างอุกอาจ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนั้นที่วิสาญถูกตีที่ท้ายทอยสลบ
“ไม่รอแล้ว ปีนี้เราเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ไม้พื้นถิ่นที่เคยมีบนภูเขา รอฝนมาจะปลูก” รจนากล่าว พร้อมระบุว่าฤดูฝนปีนี้ชุมชนจะปลูกกล้าไม้ฟื้นฟูภูเขา เพราะชาวบ้านปรารถนาที่จะชำระความขมขื่นเดิมด้วยการเริ่มเขียนเรื่องราวใหม่และสร้างประสบการณ์ดีๆ ร่วมกัน
“ไม่รู้เลยว่าในน้ำมีสารพิษ”
ณ หมู่บ้านเชิงเขาที่โอบล้อมด้วยภูทับฟ้า ภูซำป่าบอนและภูเหล็ก หมู่ทิวเขาลูกย่อมเชื่อมต่อผืนป่ากับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง แหล่งต้นน้ำแม่น้ำเลยที่ไหลสู่แม่น้ำโขง
ทิวเขาและลำห้วยอันสันโดษแห่งนี้ ต้องชะตาพลิกผันครั้งใหญ่หลังมีการสำรวจพบแร่ในปี 2535 จนนำไปสู่การเปิดเหมืองแร่ทองคำสิบปีถัดมา โครงการระเบิดภูซำป่าบอนทำเหมือง ก่อนขยายมาที่ภูทับฟ้าแล้วสร้างโรงแยกแร่ในปี 2547
สุภาพ วิจิตรปัญญา ภรรยาของวิสาญ เล่าว่าหลังจากที่เหมืองเริ่มดำเนินงาน แม่ของเธอก็เริ่มสังเกตว่าข้าวในนาของครอบครัวมีรากเป็นสีดำ ก่อนจะทยอยล้มตายจนไม่ได้ผลผลิตเลย
แม่ของเธอสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะน้ำเสียจากหลุมสำรวจแร่บนภูเหล็กนั้นรั่วไหลเข้ามาในที่นา จึงเขียนหนังสือร้องเรียนด้วยลายมือ โหนรถประจำทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนหลายครั้งจนมีหน่วยงานมาขุดลอกหน้าดินถมที่นาที่ข้าวตาย แต่ข้าวก็ยังเสียหายต่อเนื่อง
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีประกาศเตือนของสาธารณสุขจังหวัด ห้ามบริโภคน้ำ สัตว์น้ำและพืชผักในร่องห้วยเหล็กเพราะมีสารหนูและโลหะหนักอื่นสูงมากจนไม่ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ ครอบครัวของสุภาพและชาวบ้านในละแวกนั้นจึงเลิกดื่มน้ำจากบ่อน้ำตื้น เลิกหาอาหาร ใช้น้ำ หยุดปลูกข้าว หยุดใช้ที่ดินแปลงนั้นกว่า 10 ปี
แต่สุภาพกล่าวว่าคำเตือนของภาครัฐมาสายเกินไป เพราะพ่อและแม่ของเธอล้มป่วยและเสียชีวิตกระทันหันในเวลาต่อมา ทั้งที่ทั้งสองมีสุขภาพแข็งแรง
เริ่มจากผู้เป็นพ่อคือแพงดี จิตรสีดา เสียชีวิตตอนอายุ 56 ปี โดยล้มป่วยกะทันหัน มีอาการมีไข้สูง ผิวหนังแข็งตึงเป็นสีดำคล้ำ เพียงชั่ววันท่านก็เสียชีวิตลงเมื่อ 22 พฤษภาคม 2546 ใบมรณะบัตรระบุเพราะหัวใจวาย
ปลายปีเดียวกันนั้น แม่ของเธอ เสวียน สิทธิสอน ก็มาเสียชีวิตอีกคนตอนอายุเพียง 44 ปี ด้วยอาการคล้ายพ่อ วันที่ 20 ตุลาคม 2546 ใบมรณะบัตรระบุว่าเพราะมะเร็งตับ ส่วนคุณตาคือสอน สิทธิสอน อายุ 77 ปี ป่วยอาการเหมือนลูกสาวและลูกเขย เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 มรณบัตรระบุว่าเพราะโรคมะเร็ง
สองสามีภรรยา สุภาพและวิสาญ ยืนยันว่าไม่เคยคลายสงสัยว่าการเสียชีวิตของสมาชิกครอบครัวทั้งสามคนนั้นมีสาเหตุจากดินและน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษตั้งแต่ตอนสำรวจแร่
“เราปลูกข้าวในนาร่องห้วยเหล็ก กินข้าวที่ปลูกทุกวัน วันละ 3 มื้อ เก็บผัก หาอาหาร ดื่มและใช้น้ำจากบ่อน้ำตื้นในนาทุกวัน โดยที่ไม่รู้เลยว่าในน้ำนั้นมีสารพิษ” สุภาพกล่าว
กำแพงใจ
หลังมีรายงานการปนเปื้อนโลหะหนักในน้ำ ดิน สัตว์น้ำ พืชและร่างกายมนุษย์ ชาวบ้านจึงตื่นตัวรวมตัวกันคัดค้านการทำเหมือง ขณะที่ฝ่ายเหมืองต้องการขยายเหมืองแร่ที่ภูเหล็กอีกลูก
ในนาม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” คนในชุมชนได้ยื่นหนังสือคัดค้านการทำเหมืองในพื้นที่ต้นน้ำ ชุมนุมประท้วงนับครั้งไม่ถ้วน ต่อสู้ยืดเยื้อนานกว่า 10 ปี
แต่เมื่อไม่มีการตอบสนองจากภาครัฐหรือกลุ่มทุน ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองเริ่มปรากฏชัดมากขึ้น ชุมชนจึงตกลงสร้างแท่งคอนกรีตและสิ่งกีดขวาง เรียกว่า “กำแพงใจ” เพื่อปิดถนนไม่ให้รถบรรทุกสินแร่น้ำหนักเกินและรถบรรทุกสารเคมีอันตรายวิ่งผ่านชุมชนไปยังเหมือง
“กำแพงใจ” กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของชุมชนบ้านนาหนองบง แม้ว่าในปลายปี 2556 มีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายบุกทำลายกำแพงถึง 3 ครั้ง แต่ชาวบ้านก็สร้างขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง ส่งผลให้แกนนำถูกข่มขู่จะเอาชีวิต จนชุมชนต้องพลัดเปลี่ยนกันมาเฝ้าระวังอยู่เวรยาม 3 จุดทั่วหมู่บ้าน ยืนยันข้อเรียกร้องให้ “ปิดเหมืองถาวร” และ “ฟื้นฟูมลพิษ”
สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเมื่อบริษัทเหมืองแร่ไม่อาจจะขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวนทำเหมืองแร่ต่อไป เหมืองแร่ทองคำต้องปิดตัวลงในปี 2556 ด้านฝ่ายเหมืองแร่เริ่มใช้มาตรการไล่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนในชุมชน เยาวชน สื่อมวลชน และนักวิชาการที่ให้ข่าวหรือเคลื่อนไหวเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง รวมกันมากถึง 27 คดี เฉพาะคดีเรื่องกำแพงใจมีการฟ้องร้อง 6 คดี เรียกค่าเสียหายกว่า 270 ล้านบาท ซึ่งคนในชุมชนมองว่าเป็นการตอบโต้เอาคืนอย่างชัดเจน
“เหมืองพยายามขอต่ออายุใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนทำเหมือง แต่ไม่สำเร็จเพราะชุมชนเรียกร้องให้ปิดเหมืองถาวร ฟื้นฟูการปนเปื้อน ทำให้แกนนำถูกขู่เอาชีวิต ถูกฟ้อง กดดันให้เปิดทางให้เขาขนแร่ออกจากเหมืองที่ชุมชนทำกำแพงขวางไว้ และต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าทำเหมืองแร่ต่อ” สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำชุมชนวัย 52 กล่าวถึงบรรยากาศการต่อสู้ในช่วงนั้น
ความขัดแย้งที่สั่งสมมานานนับสิบปี ปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ ในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 150 คน บุกเข้าทำลายกำแพงใจ และจับชาวบ้านที่ขัดขืนเป็นตัวประกัน เพื่อเปิดทางให้รถขนสินแร่เข้าสู่ตัวเหมือง
คืนฝันร้ายของนาหนองบง
ในคืนนั้น สุรพันธ์รู้ข่าวทางโทรศัพท์ว่า “โจรบุก!”
เขารุดไปจุดเฝ้ายามที่ 1 บริเวณสามแยกทางเข้าหมู่บ้าน แสงไฟจากรถหลายคันที่จอดขวางถนนสาดหน้า กลุ่มคนพุ่งมาล็อกตัวเขาใส่กุญแจมือ ผลักให้นอนกองกับคนอื่นที่ถูกจับก่อนหน้าราวสิบกว่าคน
“มันเป็นแกนนำ” สิ้นเสียงเขาก็ถูกทุบตีแล้วลากขึ้นรถขับออกไปตรงทางเข้าเหมือง สุรพันธ์เล่าว่าคนร้ายใช้ท้ายปืนตีที่ขมับ ใบหน้า เตะต่อยนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อเค้นถามว่าใครอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวบ้าง
นอกจากนี้ กลุ่มคนร้ายยังจับเด็กหนุ่มอายุ 15 ปีคนหนึ่งที่พยายามบุกเข้ามาช่วยเขา ทำร้ายเตะต่อยเด็กคนนั้นต่อหน้าเขา บังคับให้บอกชาวบ้านหยุดต้านเหมือง ก่อนจับเขานอนคว่ำหน้ากับถนนที่คล้อยลงเนิน ขณะรถพ่วงบรรทุกสินแร่วิ่งด้วยความเร็วผ่านศีรษะไปทีละคัน
ขณะเดียวกัน อังศณา หิรัญโท เล่าว่าเมื่อเธอทราบข่าวคนร้ายบุกมายังกำแพงใจ เธอรีบคว้ากล้องถ่ายรูปและมุ่งไปยังจุดเฝ้าเวรยามที่ 3 ของกำแพงใจ พบกับกลุ่มคนสวมไอ้โม่งปิดหน้านับร้อยถือมีด ไม้และปืน ประจันหน้ากับชาวบ้านที่พยายามสู้ปะทะปกป้องกำแพง
คนร้ายพยายามแย่งกล้องจากอังศณา แต่มีเพื่อนช่วยขวาง เขาถูกตีจนหัวแตกเพื่อช่วยให้เธอบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้จนได้ และใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลในเวลาต่อมา
สี่ทุ่มเศษ ๆ ภัทราภรณ์ แก่นจำปาอายุ 44 ปีได้รับโทรศัพท์จากอังศณา เธอกระโดดลุกจากที่นอน ขี่รถมอเตอร์ไซต์ไปบ้านผู้ใหญ่บ้านเพื่อแจ้งเหตุ แต่ไม่มีใครอยู่ ตัดสินใจขี่รถข้ามสะพานลำน้ำฮวย มุ่งหน้าสู่กำแพงใจลำพัง
“ไอ้โม่งสี่ห้าคนล้อมรถ ยึดกล้อง ยึดมือถือ” เธอถูกกระทุ้งหลังขู่ให้เดินไปเงียบๆ น้ำตาร่วงเมื่อเห็นชาวบ้านจำนวนกว่า 20 คนถูกทำร้าย จับนอนคว่ำหน้ากับถนน มัดมือไพล่หลัง มีกลุ่มไอ้โม่งถือมีดยาวๆ ไม้ใหญ่ๆ และปืนล้อมอยู่บริเวณจุดเฝ้าเวรยามที่ 2 ปลายสะพานข้ามน้ำฮวย
ในคืนวันนั้น วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ภรรยาของสุรพันธ์ ท้องแก่ 8 เดือนแล้ว ทันทีที่มีคนมาบอกเธอว่าสามีของเธอถูกกลุ่มคนร้ายจับตัวไป วิรอนรีบโทรแจ้งตำรวจและขอให้ส่งกำลังมาโดยด่วน แต่ไม่เป็นผล จึงวานให้เพื่อนบ้านพาไปสถานีตำรวจวังสะพุง เพื่อแจ้งให้ตำรวจมาช่วย แต่เจอเพียงร้อยเวรคนเดียวอยู่โรงพัก
“ผมไปไม่ได้” ร้อยเวรบอกเท่านั้น
วิรอนรีบกลับมารวมกับคนอื่นๆ ที่พยายามบุกเข้าไปช่วยคนถูกจับ แต่ต้องถอยร่นออกมาเพราะมีเสียงยิงปืนขู่เป็นระยะๆ อีกทั้งไม้ ขวดและของมีคมอื่นๆ ขว้างสวนออกมา
การเผชิญหน้ารุนแรงดำเนินไปตลอดคืนจนรุ่งสาง ผู้ก่อเหตุขนแร่ออกจากเหมืองได้ 11 รถพ่วงก็ถอนกำลังออกไป ชาวบ้านช่วยกันปล่อยตัวคนถูกมัด พาคนเจ็บส่งโรงพยาบาล
คนก่อเหตุเป็นร้อย แต่เอาผิดได้สองคน
การโจมตีอย่างอุกอาจต่อชุมชนในครั้งนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่โตชั่วข้ามคืน พร้อมเสียงประณามจากภาคประชาชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ
“เหมือนต้องต่อสู้ตลอดเวลาทั้งเวลาหลับและตื่น” วิรอนเล่าความรู้สึก
ชาวบ้านที่บาดเจ็บเสียหายคืนนั้น 9 คนได้ร่วมกับอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นนายทหารยศใหญ่สองคนพ่อลูก ร่วมกับชายฉกรรจ์อีก 150 คนที่บุกทำร้ายคนในชุมชน
การฟ้องร้องนำไปสู่คำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำคุกนายทหารยศสูงทั้งสองคนลูกกับพ่อ 2 ปี 6 เดือนและ 2 ปี ตามลำดับและให้ร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนคนที่ยื่นฟ้อง 9 คนรวมเป็นเงิน 160,600 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับเป็นชัยชนะทางกฎหมายครั้งสำคัญของชุมชนบ้านนาหนองบง
ในเวลาต่อมา ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นเบาไป เพราะทั้งสองรับราชการทหารมียศพันโทและพลโท แต่กลับกระทำการอุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงพิพากษาลงโทษทั้งสองสถานหนัก เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 (นายทหารคนลูก) 4 ปี 12 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 (นายทหารคนพ่อ) 2 ปี 16 เดือน และให้ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
อย่างไรก็ตาม วีระวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ผู้รับผิดชอบคดีนี้ระบุว่า โดยหลักการแล้วการเยียวยาจากกระบวนการยุติธรรมตามคำพิพากษามี 2 อย่าง หนึ่งคือนำคนผิดมารับโทษ แต่ในคดีนี้มีเพียง 2 คน ที่ได้รับโทษจำคุกจากผู้ร่วมกระทำผิดกว่า 150 คน ที่เหลือยังลอยนวล ทำให้ชาวบ้านกลัวว่าจะมีการย้อนกลับมาทำร้ายอีก
สองคือเยียวยาความเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สินเป็นค่าสินไหมทดแทน แต่นับจากวันพิพากษาศาลอุทธรณ์ปี 2561 จนปัจจุบันยังไม่มีใครได้รับค่าสินไหมทดแทน เพราะจำเลยไม่มาจ่าย ต้องบังคับคดี ชาวบ้านมีภาระต้องไปสืบทรัพย์นำเจ้าหน้าที่บังคับคดีไปชี้ทรัพย์ติดหมายยึด ขายทอดตลาดให้ได้เงินมาจ่ายค่าสินไหมทดแทน หากครบ 10 ปียังไม่ดำเนินการก็ไม่มีสิทธิได้รับ ซึ่งยากที่ชาวบ้านจะรับภาระไปสืบหาทรัพย์สินของผู้มีอิทธิพลถึงถิ่นเขา
ส่วนคดีความด้านผลกระทบจากเหมืองแร่ที่ชาวบ้าน 165 คนรวมตัวฟ้องร้องจนชนะ และศาลระบุให้เหมืองจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้าน ก็ประสบอุปสรรคเช่นกัน เพราะในปัจจุบันบริษัททุ่งคำ จำกัด มีสภาพล้มละลาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด ทำให้ชาวบ้านยังไม่ได้ค่าสินไหมชดเชยใดๆ
บาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา
นอกจากนี้ ชาวบ้านหลายคนที่ประสบเหตุการณ์ในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ยังได้รับผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจในระยะยาว บางคนยังมีอาการหวาดผวาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการ “เยียวยา” ให้แก่ผู้ประสบเหตุแต่อย่างใด
“นอนไม่หลับ กินไม่ได้ สะดุ้งตื่นกลางดึก เห็นภาพคืนนั้นในหัว ไม่กล้าออกจากบ้าน”
นี่คือคำกล่าวของ สมบุญ ศรีบุรินทร์ อายุ 48 ปี หนึ่งในผู้หญิง 3 คนที่ถูกจับตัวและถูกคนร้ายกระทืบใบหน้าคืนนั้น
“ศักดิ์ศรีเราถูกเหยียบ เหมือนฝุ่นติดตีนเขาไปไม่มีใครเห็น” สมบุญกล่าวเสริมด้วยน้ำเสียงขมขื่น “บาดแผลทางจิตใจ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะเยียวยาได้ ต้องรับรู้ก่อนว่ามีอยู่จริง ๆ”
อลิสา หะสาเมาะ นักสังคมศาสตร์ภัยพิบัติที่ศึกษาเรื่องผลกระทบทางจิตใจต่อประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่าอาการของหลายคนในชุมชนบ้านนาหนองบงสอดคล้องกับลักษณะบาดแผลทางจิตใจ (trauma) ที่มักพบเจอในพื้นที่ความขัดแย้ง เช่น สะเทือนใจ ฝันร้าย กลัว โกรธ เศร้า ระแวง นอนไม่หลับ เห็นภาพย้อนเหตุการณ์เลวร้ายในความทรงจำซ้ำๆ ฯลฯ“ผลกระทบที่ฝังลึกต่อตัวเขาและสังคมชุมชน แต่คนทั่วไปมักไม่รับรู้ความเจ็บปวดนั้น ไม่ยอมรับว่ามันมีอยู่จริง” อลิสาอธิบาย
เธอกล่าวด้วยว่า “บาดแผลในจิตใจ” และ “บาดแผลในสิ่งแวดล้อม” คือเหตุทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อรัฐ นับเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อสังคม เมื่อรัฐไม่ยอมรับว่าการอนุญาตทำเหมืองบนแหล่งต้นน้ำนั้นเป็นความผิดพลาดก่อให้เกิดมลพิษ ไม่มีการขอโทษ หรือออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันเยียวยา
“แม้ชุมชนจะฟ้องร้องจนชนะคดีศาลพิพากษาให้ดำเนินการฟื้นฟูแต่ก็ยังไม่ดำเนินการใด ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่า ‘รัฐ’ ไม่เห็น ไม่รู้ ไม่ยอมรับรู้ถึงบาดแผลที่เกิดจากเหมืองทองคำ ทำให้ไม่เคยค้นหาว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดบาดแผล จนทำให้เกิดการกระทำละเมิดต่อชีวิต ธรรมชาติ ต่อความสัมพันธ์ของคนในสังคม ต่อชุมชน ต่อครอบครัว ต่อสุขภาพร่างกายจิตใจ ต่อสิทธิอำนาจคนที่ควรมีในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคม” นักวิชาการท่านนี้ระบุ
ฟื้นฟูใจ-ฟื้นฟูธรรมชาติ
เหมืองปิดลงตั้งแต่ปี 2556 และศาลได้มีคำสั่งฟื้นฟูธรรมชาติตอนปี 2561 แต่ในความเป็นจริง ชุมชนยังจมอยู่ในปัญหามลพิษ ชาวบ้านหลายคนระบุว่าถึงทุกวันนี้ก็ยังปลูกข้าวไม่ได้ แหล่งน้ำใช้ น้ำดื่มปนเปื้อนเกือบทุกบ่อ ขณะที่การศึกษาจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขพบว่า มีร่องรอยโรคพิษสารหนูในร่างกายชาวบ้านราว 20 คน บางคนมีไซต์ยาไนต์ในเลือดสูงและมีแมงกานีสเกินค่ามาตรฐาน
“ตอนนั้นท้อง 8 เดือน ตอนนี้ลูกอายุ 8 ปีแล้ว” วิรอนกล่าวถึงความคับข้องใจต่อกระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูที่ดูเหมือนจะหยุดอยู่กับที่
รจนาจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยกตัวอย่างว่า เวลาผ่านไปเกือบ 9 ปีตั้งแต่ปิดเหมือง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดมาติดป้ายเตือนภัยเกี่ยวกับสารพิษที่ปนเปื้อนสูงให้เลย ทำให้ชุมชนต้องติดป้ายเตือนกันเอง เพื่อไม่ให้คนเก็บหาอาหารหรือผักไปรับประทาน แต่ก็ไม่ทั่วถึง
กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาการพัฒนาชุมชน ม.ราชภัฏสกลนคร ระบุว่าหลังคำพิพากษาให้ฟื้นฟูฯ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เสนอ “แผนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย” ต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ โดยในแผนเน้นสืบหาแหล่งมลพิษ และกำหนดมาตรการจัดการมลพิษในเขตประทานบัตร ซึ่งเป็นการเสนอของหน่วยงานรัฐฝ่ายเดียว ไม่ได้มีส่วนร่วมของชุมชนด้วย
ฝ่ายชุมชนบ้านนาหนองบงเสนอ “แผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย” แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐ
เพราะการกำหนดเป้าหมายและการอธิบายของรัฐจำกัดขอบเขตการฟื้นฟูอยู่ในเขตประทานบัตรทำเหมืองแร่เท่านั้น ในขณะที่ชุมชนพยายามโต้แย้งว่าการฟื้นฟูต้องเป็นความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อช่วยฟื้นคืนธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้ปลอดมลพิษ คืนความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมให้คนมีความสัมพันธ์ที่ดี เห็นคุณค่าของธรรมชาติ เยียวยาชดเชยคนป่วย คนถูกทำราย รวมถึงบาดแผลในจิตใจคนด้วย
“ปิดเหมืองได้ก็คุ้มที่สู้มา แต่ยังต้องสู้ต่อให้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สุขภาพและศักดิ์ศรีที่ถูกเหยียดหยาม” ภัทรภรณ์ แก่นจำปา หนึ่งในสามผู้หญิงที่ถูกรุมทำร้ายกล่าวให้สัมภาษณ์
เมื่อไม่สามารถรอกระบวนการจากภาครัฐได้ต่อไป กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ภายใต้การนำของและแกนนำคนอื่นๆ จึงต้องลงมือพยายามฟื้นฟูธรรมชาติด้วยตนเองเท่าที่สามารถกระทำได้ เช่น กระจายเมล็ดพันธุ์ ปลูกป่า ขึ้นป้ายเตือนในบริเวณที่มีสารพิษปนเปื้อน และแม้กระทั่งใช้พิธีทางจิตวิญญาณตามรูปแบบความเชื่อของท้องถิ่น
แกนนำระบุว่า กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้อย่างเดียว แต่เพื่อเยียวยาประชาชนในชุมชนด้วย จะได้ผ่อนคลายจากประสบการณ์ร้ายๆ ที่ผ่านมา ทำให้คนในชุมชนทำมาหากินปลอดภัยพึ่งพิงธรรมชาติได้ เห็นคุณค่าของธรรมชาติร่วมกัน
กระทงสามเหลี่ยมทำจากก้านกล้วย ประดับดอกไม้สด เทียนและเครื่องบูชา ปล่อยลอยจากมือแม่เฒ่าสู่ห้วงน้ำ เป็นเครื่องสักการะสายน้ำและขุนเขา เสียงประทัด ดนตรีดังขณะนางรำฟ้อนบูชา รอบศาลาเชิงภูทับฟ้า ริมฝั่งลำน้ำฮวยที่ศาลเจ้าพ่อศรีเมืองตั้งอยู่ในวันบุญใหญ่ “ไหว้เจ้าพ่อศรีเมือง” วันแรม 3 ค่ำเดือน 6 ทุกปี
“เจ้าพ่ออยู่ตรงนี้มาแต่เริ่มต้น ก่อนเราทั้งหลาย ก่อนเหมืองแร่มาระเบิดภูซำป่าบอนและภูทับฟ้า” หนู สุขปื้อ หญิงวัย 65 ปี คนทรงเจ้าพ่อศรีเมือง หนึ่งในแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าว“เราสู้ไม่ให้ระเบิดภูเหล็ก แลกชีวิตมาจึงรักษาภูเขาไว้ได้”
เบื้องหน้าภูทับฟ้าที่ตั้งเหมืองทองคำที่ทิ้งร้าง ชาวบ้านในชุดสีขาวนำขันดอกไม้ เทียน เครื่องไหว้จัดเรียงรายหน้าศาลา เข้าคิวรอให้เจ้าพ่อในร่างทรงผูกแขนอวยพร ปัดเป่ารอยอดีตมืดคล้ำของเหมืองแหล่งกระจายมลพิษสารหนู ปรอท แมงกานิส ไซต์ยาไนต์ ฯลฯ ที่ได้สร้างอันตรายมากมายต่อคนในชุมชน
“ขอให้ภูเขากลับมามีชีวิตเหมือนเดิม” ผู้สื่อสารทางจิตวิญญาณกล่าวนำคำอธิษฐาน
บรรณาธิการโดย ธีรนัย จารุวัสตร์
บำเพ็ญ ไชยรักษ์ เป็นนักวิจัยที่ใช้ประสบการณ์การทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยามาเขียนเป็นหนังสือ บทความ หรือสารคดี ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติ สังคม และผู้คน โดยงานเขียนส่วนใหญ่มีเนื้อหาด้านความเป็นธรรมทางสังคม ระบบนิเวศ และสุขภาพ
เริงฤทธิ์ คงเมือง เป็นช่างภาพสารคดีที่สนใจในประเด็นสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลงานตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี รวมทั้งนิตยสาร National Geographic ประเทศไทย และอีกหลายประเทศ
More Features
- 5 เมษายน 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 8 กุมภาพันธ์ 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 12 มกราคม 2023
- by HaRDstories
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช