เมื่อลูกสาวชาวประมงลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลจากเมกะโปรเจคต์อุตสาหกรรม

เรื่อง วันเพ็ญ พาใจ

ภาพ ลูค ดุกเกิลบี

ขณะนั่งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา หญิงสาววัยรุ่นสวมฮิญาบคนหนึ่งเขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศ เธอบรรจงเลือกคำแต่ละคำเพื่อเรียกร้องไปยัง “คุณปู่ประยุทธ์” ให้ “รับฟังเรื่องราวของลูกหลานชาวประมงที่เติบโต ผูกผัน ดูแล ปกป้องทะเลจะนะ

ตอนนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม 2563 สองวันก่อนการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โครงการที่จะพลิกหมู่บ้านชาวประมงอันเงียบสงบในจังหวัดสงขลาให้กลายเป็นเขตอุตสาหกรรมแห่งใหม่

เช่นเดียวกับคนอีกมากในพื้นที่ ไครียะห์ ระหมันยะ ในวัย 18 ปี เพิ่งทราบข่าวโครงการดังกล่าวผ่านการประกาศว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ เธอรู้ในทันทีว่า ชุมชนของเธอ ซึ่งเป็นชุมชนที่พึ่งพาทะเลในการดำรงชีพ ตกอยู่ในความเสี่ยงเพียงไร

“บ้านที่หนูอาศัยอยู่ เสื้อผ้าที่หนูใส่ รองเท้า ชุดนักเรียน ค่าเทอม รถจักรยานที่หนูเคยขี่ ของเล่นที่​หนูเคยมี มาจากทะเลทั้งหมด” คือข้อความที่ไครียะห์เขียนในจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา “ความสุขทั้งชีวิตของหนู ความทรงจำดีๆ ทุกเรื่องราวในชีวิตที่หลอมรวมเป็นตัวหนูในวันนี้ ก็ได้มาจากทะเล”

เธอเรียกร้องให้มีการยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากเวทีนี้นั้นไม่ได้มีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในพื้นที่ นอกจากนี้ เวทียังจัดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนและเป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก ด้วยความมุ่งมั่นต้องการคำตอบหลัง ไครียะห์กับแม่ได้พากันปักหลักค้างคืนหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาเป็นเวลา 50 ชั่วโมง จนในที่สุด ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ประกาศเลื่อนเวทีออกไปเป็นเวลาสองเดือน

ความแน่วแน่ไม่แปรผันเช่นนี้ทำให้ไครียะห์ได้รับความสนใจจากสื่อไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งได้ให้สมญาเธอว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ชั่วข้ามคืน แฮชแท็ก #SAVECHANA ก็พุ่งขึ้นเทรนด์บนโซเชียลมีเดีย ทำให้เรื่องราวของไครียะห์ ผู้มุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาท้องทะเลที่เธอเรียกว่าบ้านได้เป็นที่รู้จักในสังคม และทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นถูกเลื่อนออกไปชั่วคราว

ลูกสาวแห่งทะเล

ไครียะห์เติบโตที่หมู่บ้านชาวประมงมุสลิมเล็ก ๆ ริมทะเลอ่าวไทย เธอเรียนรู้ที่จะทะนุถนอมความอุดมสมบูรณ์ของทะเลตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งพ่อและแม่ของเธอก็เป็นชาวประมง โดยแม่ทำหน้าที่ขายปลาที่พ่อจับมาได้ ท้องทะเลแห่งนี้แหละคือสิ่งหล่อเลี้ยงครอบครัวและกำกับจังหวะชีวิตของชุมชน

การได้เฝ้าสังเกตเห็นการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวประมงในแต่ละวัน รวมถึงความผันผวนไม่เคยหยุดของท้องทะเล ทำให้ไครียะห์ หรือชื่อเล่นว่า ยะห์ ยิ่งสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับท้องทะเล

“ยะห์โตมาในครอบครัวที่ร่วมเคลื่อนไหวและทำงานเพื่อชุมชน” สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ซึ่งมีโอกาสได้รู้จักกับยะห์ในช่วงปีที่ผ่านมา กล่าว “ยะห์มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานเพื่อคนอื่น ไม่ใช่แค่ตัวเอง”

ตั้งแต่ยะห์เป็นเด็ก พ่อของเธอก็ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด โดยเคยร่วมงานกับองค์กรต่าง ๆ เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง

ยะห์จะคอยตามพ่อไปด้วย พร้อมกับคอยถามคำถามเกี่ยวกับกลไกธรรมชาติของท้องทะเล ซึ่งทำให้เธอค่อย ๆ สนใจใคร่อยากรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศทางทะเลมากขึ้นเรื่อย ๆ

ที่โรงเรียน ยะห์ก็ไม่หยุดที่เรียนรู้ เธอค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ซึ่งทำให้เธอยิ่งต้องการที่จะปกป้องทะเลมากขึ้นเรื่อย ๆ เธอได้เรียนรู้ว่ามลพิษภายนอกส่งผลอันตรายต่อกระบวนการฟื้นฟูตัวเองของมหาสมุทรอย่างไรบ้าง ซึ่งมลพิษนั้นก็มีแต่จะแย่ลงเมื่อต้องเผชิญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและมลภาวะที่เกิดจากมนุษย์

“พอได้เริ่มเดินทางมากขึ้น ก็เข้าใจความสำคัญของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทำให้หนูแน่ใจว่าหนูมาถูกทาง” ยะห์กล่าว “หนูก็เลยมั่นใจว่า หนูไม่ได้ปกป้องครอบครัวหรือหมู่บ้านตัวเองเท่านั้น แต่ว่าหนูเป็นส่วนหนึ่งการเคลื่อนไหวที่ใหญ่กว่านั้น ในการช่วยต่อลมหายใจให้กับโลกใบนี้”

“บ้านที่หนูอาศัยอยู่ เสื้อผ้าที่หนูใส่ รองเท้า ชุดนักเรียน ค่าเทอม รถจักรยานที่หนูเคยขี่ ของเล่นที่​หนูเคยมี มาจากทะเลทั้งหมด”

เปลี่ยนชายฝั่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

เดือนมกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการลงทุน 18.7 พันล้านบาท สำหรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตำบลจะนะ บ้านเกิดของยะห์ เขตอุตสาหกรรมแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมเบาและหนัก เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานปิโตรเคมี และท่าเรือน้ำลึก และโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และแก้ปัญหาความไม่สงบที่สั่นคลอนภูมิภาคแห่งนี้มาหลายทศวรรษ

จะนะถือได้ว่าเป็นตำบลที่มีความขัดแย้งและอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ไทย สืบเนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา พื้นที่แห่งนี้ได้ตกอยู่ภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินครั้งแล้วครั้งเล่า และเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจในหลาย ๆ ด้าน

เนื่องจากเศรษฐกิจจังหวัดสงขลาและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขับเคลื่อนด้วยภาคการเกษตรและการประมง ดังนั้น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจึงมีเป้าประสงค์ที่จะสร้างงานด้านการผลิตให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนและผลิตภัณฑ์มวลรวมของภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ตอนที่ชาวจะนะได้รับทราบเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมที่เวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นั้น ปรากฏว่าโครงการได้รับการอนุมัติเบื้องต้นไปแล้ว ชาวบ้านจึงพากันตั้งคำถามว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นมานั้นเป็นไปเพื่อรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนหรือเป็นการประกาศที่จะเริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการกันแน่

สำหรับยะห์แล้ว แผนพัฒนาอุตสาหกรรมโครงการนี้เป็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาวะของทะเลซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีพของผู้คนที่บ้านเกิดของเธอ

ตำบลจะนะถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนามาหลายต่อหลายปีแล้ว บ่อยครั้งโครงการต่าง ๆ ได้รับการอนุมัติไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะอย่างเหมาะสม จากข้อมูลของยะห์

“หนูเกิดมาพร้อมกับความเจ็บปวด ที่จะนะมีปัญหามาหลายยุคหลายสมัย” ยะห์กล่าวถึงโครงการก่อนหน้านี้ เช่น โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ที่มีการประท้วงใหญ่หลายครั้งที่จังหวัดสงขลาในช่วงทศวรรษ 2540

ชัยชนะที่ยังน่าห่วง

หลังทำให้เวทีเลื่อนออกไปได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ยะห์ได้เขียนจดหมายฉบับที่สองถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เพื่อขอร้องให้นายกฯ รับฟังเสียงของชาวบ้านและทำการประเมินผลกระทบอย่างแท้จริงก่อนที่จะสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม ครั้งนี้ เธอเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อปักหลักค้างแรมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

“ความกังวลกับความกลัวที่มีมันเทียบกับความกลัวว่าจะไม่มีบ้านอยู่ไม่ได้เลย นั่นคือสิ่งที่หนูกลัวที่สุด” ยะห์กล่าว

ต่อมา ชาวบ้านหลายคนก็เริ่มเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านนิคมอุตสาหกรรม เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีนักเคลื่อนไหวในชุมชนเข้าร่วมมากขึ้น ชาวบ้านกว่า 50 คนเดินทางมาสมทบยะห์ที่กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดยพวกเธออาสาที่จะเป็นตัวแทนครอบครัวมาเข้าร่วมการคัดค้านครั้งนี้

หลังค้างคืนกลางถนนกรุงเทพฯ นานกว่าหนึ่งสัปดาห์ ชาวบ้านก็ตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน หลังได้พบกับธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรขณะนั้น ที่ได้เข้ามาเจรจา มติการเจรจาครั้งนี้คือ รัฐบาลตกลงที่จะทำการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ แต่ทว่ายังปฏิเสธที่จะยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่า โครงการนี้ยังอยู่ในการพิจารณาดำเนินการ เพียงแต่ถูกชะลอไปก่อน

“ตอนนี้ก็เงียบอยู่” ยะห์กล่าวตอนเดือนกรกฎาคม “แต่ก็มีข่าวออกมาเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้จะนะเป็นเขตการค้าเสรีเพื่อดึงดูดนักลงทุนแทน”

ปลายเดือนพฤศจิกายน ยะห์เดินทางจากจะนะไปยังกรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยเธอได้ปักหลักนั่งหน้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง เธอเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วว่าจะหยุดขับเคลื่อนโครงการเพิ่มเติมจนกว่าการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจะเสร็จสิ้น

เผชิญกับอุปสรรค

การที่สื่อพากันหันไมโครโฟนและกล้องมาหายะห์ และพากันขนานนามเธอว่า “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” ทำให้เธอกลายเป็นใบหน้าของขบวนการคัดค้านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้

“หนูรู้สึกภูมิใจค่ะ ที่ทำให้เรื่องราวของบ้านเกิดของตัวเองมีคนรู้จัก” เธอกล่าว “ตอนแรก ๆ ไม่ว่าเราจะพยายามส่งเสียงให้ดังแค่ไหนก็ไม่มีใครได้ยิน แต่วันนี้เราทำสำเร็จแล้ว”

ทว่าความสนใจจากสาธารณชนก็มาพร้อมกับการคุกคามข่มขู่และจับตามอง ทุกครั้งที่ยะห์กับครอบครัวออกจากบ้านจะมีคนติดตามตัว พ่อแม่ของยะห์เป็นห่วงความปลอดภัยของลูกสาว พวกเขาต้องหยุดงานเพื่อเดินทางไปยังสถานที่และงานกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมกับยะห์อยู่บ่อยครั้ง

“เพราะว่าพ่อแม่ของยะห์เคยเป็นนักต่อสู้มาก่อนมาก่อน พวกเขาจึงพร้อมที่จะสนับสนุนลูกสาว” สุภาภรณ์จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าว “การให้กำลังใจและความเข้าใจจากครอบครัวเป็นแรงผลักดันสำคัญให้นักเคลื่อนไหวที่เป็นเยาวชนกล้าที่จะออกมาพูด แล้วก็ก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้”

ครั้งหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหายะห์ที่โรงเรียน ทำให้ครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนต่างตกใจกลัว

“ครูที่โรงเรียนหนูชอบถามว่า ‘ไม่กลัวหรอ’” เธอเล่า “หนูก็ตอบว่า ‘ก็เอาสิ!’ ถ้าบนแผนดินนี้มีคนออกมาเรียกร้องสิทธิแล้วโดนยิงตาย ก็ให้มันรู้ไปเลยว่ามันคงจะไม่มีความยุติธรรมแล้วล่ะ”

แลไปข้างหน้า

หลังจบการศึกษาระดับมัธยม ยะห์เข้าเรียนต่อคณะสื่อสารสาขานวัตกรรมการออกแบบสื่อที่มหาวิทยาลัยปัตตานี เธอหวังว่า การเรียนสาขาด้านสื่อจะช่วยให้เธอเผยแพร่เรื่องราวการต่อสู้ของจะนะต่อไปได้ และสามารถที่จะผลิตสื่อเผยแพร่ไปสู่ทั่วโลก

“ทุกวันนี้มีคนได้ยินแล้วก็รับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหนูได้ ก็เพราะพลังของสื่อ สื่อเนี่ยช่วยได้มากที่สุด” ยะห์กล่าว “หนูอยากทำให้เรื่องราวของจะนะไปได้ไกลและเข้าถึงคนทุกประเภท”

ในอนาคต เธอหวังที่จะสร้างภาพยนตร์หรือการ์ตูนที่สะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่จะนะ รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับที่กว้างขึ้น

“แม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ คนในโลกนี้มีกี่คน คนในประเทศไทยมีกี่คน สิ่งเล็กๆน้อยๆ ทำคนละนิดๆ วันนึง เดือนนึง ปีนึง มันก็จะเยอะมาก” ยะห์กล่าว

ความสามัคคีคือสิ่งที่เธอหวังจะสร้าง แม้ว่าโครงการก่อตั้งอุตสาหกรรมยังอยู่ในการพิจารณาดำเนินการและอยู่ระหว่างการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ แต่ยะห์ยังคงยืนหยัดหนักแน่นที่จะต่อสู้เพื่ออนาคตของหมู่บ้านที่เธอวาดหวังไว้ ซึ่งเธอหวังสร้างความสามัคคีไม่เพียงแต่ภายในชุมชนของเธอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนอื่น ๆ ในสังคม

“เรื่องราวของจะนะมันไม่ใช่เรื่องของคนจะนะเท่านั้น” ยะห์กล่าว “แต่ผลกระทบระยะยาวจะเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนูอยากให้ทุกคนมองว่าเรื่องราวของจะนะเป็นเรื่องราวของทุกคน”

 

บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน

วันเพ็ญ พาใจ หรือ บุญญนินทร์ ภาคย์วิศาล เป็นนักข่าวนักเขียน เขียนข่าวครอบคลุมปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา เคยเขียนงานให้กับสำนักพิมพ์ Southeast Asia Globe และปัจจุบันเขียนให้นิคเคอิเป็นหลัก

ลูค ดุกเกิลบี เป็นช่างภาพข่าวที่กรุงเทพมหานคร ลูคนำเสนอเรื่องราวในไทยและในภูมิภาคนี้มากว่า 15 ปี ให้แก่สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

Feature profiles

ณัฐฐาพันธ์ แสงทับ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินในภาคใต้ของไทย

error: Content is protected !!