- เมษายน 7, 2022
พวกเขาล่องเรือออกไปยามรุ่งสาง ตั้งแต่จำความได้ รู้สึกสบายใจทุกครั้งเวลาอยู่ในอ้อมกอดของท้องเรือและท้องน้ำ แต่พักหลังมานี้ ความรู้สึกแปลกหน้าไม่คุ้นเคยกลับเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ธิราช บุญยงค์ ใช้เวลาอยู่กับทะเลภาคตะวันออกของไทยทุกวัน ชาวประมงหนุ่มเชื่อว่าเขารู้จักทะเลดี ทว่าไม่นานมานี้ ผืนน้ำที่คุ้นเคยกลับให้ความรู้สึกประหลาด เขาแทบจับปลาไม่ได้เลย แถมตัวที่จับได้ก็มีคราบสีดำคล้ำติดที่เหงือก
“น่าจะเป็นเพราะน้ำมันรั่ว” เขาเปรย ว่าตามที่ชาวประมงระยองต่างพากันตั้งข้อสังเกตช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เช้าวันนี้ ธิราชแล่นเรือของครอบครัวไปร่วมกับขบวนประท้วงกลางทะเล เขาผ่อนเครื่องยนต์และหันหัวเรือประจันหน้ากับชายฝั่ง กองทัพเรือประมงหลากหลายขนาดหันเผชิญหน้าโรงงานที่เรียงตัวเป็นแนวยาว ปากปล่องทแยงท้าทายฟ้า สักจุดใดจุดหนึ่งในนั้น พ่อของเขากำลังนำกลุ่มผู้ชุมนุมมุ่งหน้าไปยังบริษัทน้ำมันต้นเหตุน้ำมันรั่วเมื่อไม่นานมานี้
ครอบครัวบุญยงค์อาศัยอยู่ที่ตำบลปากน้ำ จังหวัดระยอง บ้านตั้งอยู่ไม่กี่ก้าวจากชายหาดและห่างเพียง 15 กิโลเมตรจากท่าเรือมาบตาพุด เขตนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในไทย
ขับรถจากกรุงเทพฯ ไม่เพียงกี่ชั่วโมง จังหวัดระยองขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเลอร่อยและชายหาดราคาเป็นมิตรกับคนไทย จนกระทั่ง ภาพลักษณ์ดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยภาพอุตสาหกรรม เมื่อปี 2525 รัฐบาลประกาศให้ระยองเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาชายฝั่งตะวันออก
ตั้งแต่นั้น ชาวประมงระยองเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม แม้ว่าอุตสาหกรรมกับรัฐบาลจะยืนยันว่าชุมชนประมงจะยังคงรักษาวิถีชีวิตได้ตามเดิม แต่พวกเขาเห็นกับตาตัวเองว่ามีบางสิ่งผิดปกติกำลังเกิดขึ้น
ของฝากจากทะเลป่วย
หน้าบ้านหลังเล็ก ละม่อม บุญยงค์ ดึงอะไรบางอย่างออกมาจากกองของสะสมที่เฝ้ารักษามานานเกือบสิบปี มันเป็นถุงพลาสติกใสอัดแน่นไปด้วยแผ่นน้ำมันดิบสีดำ แลดูแข็งกระด้าง บนถุงมีวันที่ทดแปะอยู่
“ของฝาก” ละม่อมหยอก เขาอยู่กับอุบัติเหตุน้ำมันรั่วมานานมากพอที่จะหาอารมณ์ขันจากมัน
ในฐานะผู้ใหญ่ประจำครอบครัวและประธานกลุ่มประมงท้องถิ่น “กลุ่มประมงปากน้ำ” ชายวัย 70 ปีรู้ดีว่าเวลาเกิดเหตุน้ำมันรั่วขึ้น เขาจะต้องทำอะไร มันไม่ใช่ผลจากการฝึกอบรมใด แต่มาจากการเฝ้าสังเกตการปนเปื้อนมลพิษแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
มกราคมเป็นหน้าหมึกกระดองกับปูอ่าว ตามกระแสน้ำเข้ามากินเคยที่เป็นแหล่งอาหารหลักในอ่าวระยอง ทว่า 25 มกราคม ปีนี้ แทนที่ชาวประมงจะได้ของฝากติดไม้ติดมือจากทะเลเป็นสัตว์น้ำเหมือนทุกวัน แต่หากเป็นอวนประมงที่พังเสียหาย ทุกสิ่งเลอะเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันดำหลังเกิดเหตุท่อน้ำมันใต้ทะเลห่างจากฝั่งราว 20 กิโลเมตรแตกรั่ว ส่งน้ำมันดิบกว่า 47,000 ลิตรปนเปื้อนลงทะเล
ท่อส่งน้ำมันต้นเหตุนี้ดำเนินการโดย บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง บริษัทมหาชนลูกครึ่งไทย-อเมริกัน มีบริษัทเชฟรอนสัญชาติอเมริกันถือหุ้น 60% และสาธารณะไทยถือหุ้นอีก 40% ที่เหลือ
ไม่นานหลังเกิดเหตุ ชายทะเลภาคตะวันออกก็ท่วมท้นไปด้วยเจ้าหน้าที่ในชุดหมีสีขาวทำความสะอาดคราบน้ำมันที่พัดขึ้นมาติดหาด ขณะที่เรือหลายลำระดมฉีดสารเคมีขจัดคราบน้ำมันเพื่อกดน้ำมันที่รั่วไหลให้ลงพื้นทะเล เหตุการณ์น้ำมันรั่วพัดนักท่องเที่ยวให้หายวับจากหาดที่เคยคึกคัก พร้อมกับรายได้ของชาวประมงกับร้านอาหาร
ขนาดของผลกระทบนั้นยากจะระบุให้ชัดเจน ตอนแรก มีการรายงานว่าน้ำมันรั่วลงทะเลปริมาณ 400,000 ลิตร จากนั้น ตัวเลขได้เปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จนกระทั่งลงเอยน้อยกว่าตัวเลขแรกเกือบสิบเท่า เรียกความสงสัยจากสาธารณะและนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งคำถามว่าตัวเลขปริมาณน้ำมันนี้ไม่สอดคล้องกับสัดส่วนปริมาณสารเคมีขจัดน้ำมันที่ใช้
เหตุการณ์นี้เหมือนหนังม้วนเดิมที่ฉายภาพซ้ำในความทรงจำของละม่อมกับชาวประมงพื้นบ้าน คล้ายกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่เก้าปีก่อนที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจเรื่องผลกระทบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นครั้งแรก
ตอนเกิดน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 นั้น สำนักงานจังหวัดระยองประกาศว่า กระบวนการจัดเก็บคราบน้ำมันนั้นสำเร็จเรียบร้อยสิบวันหลังเกิดเหตุ ในตอนแรก คุณภาพน้ำอยู่ในระดับปกติดี จนกระทั่งไม่กี่เดือนให้หลัง คลื่นหน้ามรสุมได้คายวัตถุเม็ดสีดำคล้ายลูกปัด “ทาร์บอล” มาเกยหาดและพบอีกหลายปีหลังจากนั้น
นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ละม่อมกับชาวประมงคนอื่นๆ ตั้งข้อสังเกตว่าทะเลระยองกำลังป่วย พวกเขาเจอกระดองหมึกขนาดจิ๋วเกยอยู่บนหาดจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ามีบางอย่างที่ผิดธรรมชาติทำให้หมึกตายก่อนวัย บางครั้ง พวกเขาเจอปลาพิการ มีฝ้าขุ่นสีขาวในตา เป็นปลาตาบอด
ต่อมา ข้อสังเกตของชาวประมงได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ เรณู เวชรัชต์พิมล นักชีววิทยาและอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอร่วมกับชาวประมงและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาตัวอย่างสัตว์น้ำที่พบ
ผลตรวจเลือดปลาจากห้องแล็บพบว่ามีสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAH) ซึ่งเป็นสารประกอบน้ำมันดิบ สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำ สารตัวนี้บางครั้งก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ในระดับพันธุกรรม นอกจากนี้ยังเป็นสารก่อมะเร็งและโรคร้ายอื่นๆ
“การเก็บข้อมูลแบบนี้เป็นหลักฐานประจักษ์และได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ เพราะสัตว์ทะเลเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ” เรณู อธิบาย “สิ่งที่เราเป็นห่วงคือน้ำมันรั่วจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิตรอบที่สำคัญต่อห่วงโซ่อาหารอย่างไรบ้าง”
คลื่นอันตรายใต้น้ำ
ชาวประมงรอบอ่าวระยองนั้นเป็นเสมือนญาติพี่น้อง คอยส่งข่าวคราวแจ้งกันว่าพบฝูงปลาบริเวณไหน ทว่าตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันรั่ว พวกเขาคอยแจ้งกันเวลาเห็นอะไรผิดปกติ
“เรามีตาอยู่ทั่ว คอยช่วยกันสังเกต” ละม่อมเล่า พลางสอนให้เพื่อนชาวประมงอีกคนส่งภาพผิวน้ำทะเลสะท้อนคราบน้ำมันสีรุ้งที่ถ่ายด้วยมือถือเข้ากลุ่มไลน์ “เราเคยถืออวนปลา แต่วันนี้มาถือกล้อง”
เก้าปีก่อน เวลาพบคราบน้ำมันรั่ว ชาวประมงจะต้องรีบคว้ากล้องเดินทางไปจุดที่พบเพื่อถ่ายรูปเก็บหลักฐาน แต่วันนี้ พวกเขาพากันใช้มือถือเก็บภาพและคลิป ส่งออกไปสื่อสารกับโลกภายนอกผ่านแอพพลิเคชั่น
นวรัตน์ ธูปบูชา แม่ค้าขายอุปกรณ์ประมงวัย 48 ที่ต.ปากน้ำ รู้จักชาวประมงกับผู้ค้าอาหารทะเลหลายคน เธอเลยเป็นเหมือนศูนย์รวมที่ใครต่อใครพากันส่งหลักฐานสัตว์น้ำผิดปกติมาให้ ตั้งแต่ปี 2556 นวรัตน์จัดระเบียบหลักฐานรูปภาพและคลิป ก่อนส่งให้ทนายที่กรุงเทพฯ ทางกลุ่มไลน์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล
ภาพและคลิปทยอยไหลบ่าเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านต่างพากันตระหนักว่าน้ำมันรั่วได้ทิ้งผลกระทบในวงกว้าง พวกเขาจึงร่วมมือกับนักสิ่งแวดล้อมเพื่อเก็บหลักฐานอย่างเป็นระบบและนำสิ่งที่ค้นพบนี้ไปขึ้นศาล
“ตอนแรกเริ่มจากกลุ่มประธานชุมชนไม่กี่คน แต่ต่อมา หลายคนเริ่มเห็นว่าการเก็บหลักฐานช่วยเรียกร้องสิทธิให้ได้” วีรวัฒน์ อบโอ อธิบาย ทนายมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุุมชนคนนี้ทำงานร่วมกับชาวประมงระยองตั้งแต่เหตุน้ำมันรั่วรอบแรก “บางคนคิดว่าผลกระทบน้ำมันรั่วน่าจะจบแล้ว แต่มันมีหลักฐานที่กลุ่มคนเหล่านี้เก็บอยู่ เลยตระหนักกันมากขึ้นว่าปัญหามันยังไม่จบ”
เรื่องราวแบบนี้ไม่เกิดแค่ที่ระยองเท่านั้น ชุมชนหลายแห่งในไทยพากันสวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมือง บันทึกผลกระทบจากโครงการพัฒนาและมลพิษแถวบ้านเพื่อเป็นเครื่องมือทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน
“ตอนแรกเราไม่ได้สนใจเรื่องน้ำมันรั่วหรอก แต่ตอนหลังก็เข้าใจว่าเราเองก็กระทบเหมือนกัน” นวรัตน์นึกทบทวน ชี้ว่าน้ำมันรั่วนั้นส่งผลกระทบกับคนหลายภาคส่วนในจังหวัด
“มันกระทบกับประมง ร้านอาหารทะเล คนแปรรูป เจ้าของโรงแรมกับคนอีกหลายประเภท นี้ยังไม่นับผู้บริโภคนะ ราคาอาหารทะเลแพงขึ้นมาก เพราะประมงต้องออกเรือไกลมากขึ้น บางครั้งคุณซื้ออาหารทะเลระยอง แต่จริงๆ มาจากจังหวัดอื่น”
น้ำมันรั่วครั้งล่าสุดนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ณ โรงแรมบริเวณหาดที่เกิดเหตุ ผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนปิดรับชื่อเพิ่มเติมหนึ่งเดือนให้หลัง โดยมีผู้ลงทะเบียนราว 13,000 ราย ประกอบด้วยชาวประมงท้องถิ่นและอาชีพอื่นๆ
สองสัปดาห์หลังน้ำมันรั่ว บริษัทยังไม่จ่ายเงินช่วยเหลือใดๆ ชาวประมงหลายร้อยคนจากปากน้ำและพื้นที่ใกล้เคียงจึงเดินทางไปชุมนุมที่บริษัทน้ำมัน
“บริษัทจะไม่หนีแน่นอน เราชัดเจนว่าจะรับผิดชอบเพราะเป็นต้นเหตุน้ำมันรั่ว” จิระศักดิ์ มหาสุคนธ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลบริษัทน้ำมัน ยืนยันกับชาวบ้านที่รวมตัวประท้วง
บริษัทตกลงที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือ 45,000 บาทให้ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ เป็นจำนวนน้อยกว่าที่พวกเขาประเมินความเสียหายหลายเท่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์ บริษัทเริ่มต้นมอบเงินช่วยเหลือกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มแรก
“เราเก็บข้อมูลของเราแม้ว่าทางการจะไม่ทำแล้ว เรามองว่าเขาไม่อยากรู้ว่าผลกระทบทั้งหมดมันเป็นยังไงเพราะว่าไม่อยากฟื้นฟูอีกแล้ว” นวรัตน์สะท้อน
หวังฟื้นฟูท้องทะเล
สองเท้ายืนประจันผู้พิพากษา มือถือถุงปลาสด ชาวประมงผิวกร้านแดดอย่างบรรเจิด ล่วงพ้น จำได้แจ่มชัดถึงวันที่หิ้วของฝากจากบ้านเกิด อ.ตะพง ไปฝากศาล ปลาทรายเป็นปลาพื้นบ้านที่พบมากในอ่าวระยอง แต่เจ้าปลาที่เขาติดไม้ติดมือมาเสนอศาลวันนี้ดูผิดเพี้ยนประหลาด ผิวพวกมันถลอกเป็นแผลสีแดง
“ปลาทรายเป็นสัตว์รักสงบ” บรรเจิดระลึกความหลัง “เราส่งให้ศูนย์วิจัยประมงท้องถิ่นไปตรวจสอบว่าผิดปกติอะไร เขาบอกว่าปลามันกัดกัน”
ปี 2557 หนึ่งปีหลังจากเหตุน้ำมันรั่ว บรรเจิดกับชาวประมงอีกสี่ร้อยกว่ารายยื่นฟ้องบริษัทน้ำมันรวมถึงรัฐบาลไทยฐานล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ นำตัวผู้ก่อมลพิษมารับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น
พวกเขาแย้งว่าการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหลังน้ำมันรั่วนั้นไม่ได้ปฏิบัติให้เหมาะสมตามแนวทางสากลอีกทั้งสารเคมีที่ใช้กดน้ำมันนั้นทำให้ทะเลปนเปื้อนสารพิษ พวกเขาเก็บหลักฐานและร่างแผนฟื้นฟูร่วมกับนักอนุรักษ์เป็นเวลาหลายเดือน
ทว่าศาลได้ปฏิเสธเหตุผลของพวกเขาและตัดสินว่าผลกระทบจากน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 นั้นมีระยะเวลาเพียงหนึ่งปี ชาวประมงจึงยื่นอุทธรณ์และคดียังคงอยู่ในชั้นศาลฎีกาจนถึงวันนี้ นับเป็นคดีน้ำมันรั่วคดีแรกของไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินคดีเรื่องน้ำมันรั่วอื่นๆ ถัดจากนี้
หลังจากคำตัดสิน ชาวประมงยังคงเดินหน้าเก็บหลักฐาน สะสมภาพถ่ายตั้งแต่หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วจนถึงปี 2562 หกปีหลังอุบัติเหตุ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบระยะยาวของน้ำมันรั่ว
“จนถึงวันนี้ยังไม่มีการฟันธงว่าการฟื้นฟูน้ำมันรั่วปี 56 ดีขึ้นแล้วหรือยัง” วีรวัฒน์ ทนายประจำกลุ่มชาวประมงกล่าว “ชาวบ้านกำลังแสดงให้เห็นว่าทะเลยังป่วยอยู่และพวกเขายังได้รับผลกระทบอยู่”
สำหรับบรรเจิดและชาวประมงระยอง เหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 2556 และ 2565 เผยโฉมหน้าคล้ายคลึงกันจนน่ากังวล ไม่ว่าจะความคลุมเครือเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่วลงทะเล รวมถึงการที่ทางการปฏิเสธ ไม่ยอมรับหลักฐานที่ชี้ถึงผลกระทบระยะยาวต่อสัตว์ทะเล
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายประมงของบรรเจิดเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาผลกระทบและทางแก้ไขอย่างโปร่งใส รวมไปถึงตั้งกองทุนเพื่อใช้รับมือน้ำมันรั่วในไทยโดยเฉพาะ เพราะคาดว่าจะเกิดเหตุแนวนี้อีกหลายครั้งในอนาคต
“ตลอดหลายปีที่สู้มา เราตระหนักว่าเรามีความเป็นเจ้าของทรัพยากรมากเท่ากับเขา” บรรเจิด กล่าว “แต่เราถูกเอาเปรียบและกีดกันสิทธิของเรา”
ตระหนักว่าสิทธิในการร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นของชุมชน บรรเจิดแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนอื่นๆ ในไทยที่เผชิญสถานการณ์คล้ายกัน หนึ่งในนั้นคือชุมชนชาวประมงที่อ.จะนะ จ.สงขลา ทางตอนใต้ของประเทศ พื้นที่มีกำหนดสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีกแห่ง
ชีวิตติดรั้วอุตสาหกรรม
สองสัปดาห์หลังน้ำมันรั่ว เกิดเหตุน้ำมันรั่วซ้ำสองอีกครั้งบริเวณจุดเดิม ล่าสุด เมษายน 2565 บริษัทเผยว่า ได้ปิดฉากปฏิบัติการเก็บกู้ท่อส่งน้ำมันที่ดำเนินการมาร่วมสองเดือนและไม่พบน้ำมันรั่วไหลอีกแล้ว ตัวเลขปริมาณน้ำมันที่ปนเปื้อนสู่ทะเลยังเป็นปริศนาที่ไม่มีคำตอบชัดเจน แต่อาจรุนแรงหนักกว่ารอบปี 2556
หนึ่งเดือนหลังเกิดหายนะน้ำมันรั่ว รัฐบาลได้จัดพิธีโยนหินก้อนแรกเปิดตัวโครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุดระยะที่สาม ซึ่งจะขยายศักยภาพการรองรับก๊าซธรรมชาติในชายฝั่งตะวันออกไทย
การขยายท่าเรือจะต้องถมทะเลกว่าหนึ่งพันไร่ ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือออกประท้วงคัดค้าน พวกเขาหวังส่งเสียงถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีโยนหินก้อนแรก อย่างไรก็ตาม พิธีที่เดิมมีแผนจัด ณ จุดขยายท่าเรือกลับเปลี่ยนรูปแบบเป็นงานออนไลน์อย่างกระทันหัน
“คนออกนโยบายชอบพูดว่าไม่ค่อยมีประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายท่าเรือ” ธิราชกล่าว ระหว่างถือหางเสือเรือหาปลาที่ครอบครัวใช้ออกทะเลมากว่ายี่สิบปี
แม็ก ลูกชายวัย 18 ของเขายืนอยู่ด้านข้าง “เรามาเพื่อบอกว่าประมงพื้นบ้านมีจริงๆ มีเยอะด้วย”
หลังเหตุน้ำมันรั่วปี 2556 ธิราชเลิกอาชีพหาปลาและเปลี่ยนไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ห้างหลายปี เขาชอบที่ได้รายได้ประจำ แต่ยังคงคิดถึงชีวิตอิสระแบบชาวประมงที่ถึงแม้จะไม่มีรายได้สม่ำเสมอ แต่ท้องทะเลยังให้รายได้เขาดีกว่า
ธิราชกลับมาออกทะเลอีกครั้งหลังลูกจ้างเรือประมงมาตามให้กลับไป ทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์ประมงหนุ่มใช้เวลากับลูกชายบนเรือ แม็กรู้สึกภูมิใจที่เป็นเด็กนักเรียนคนเดียวในห้องที่รู้วิธีหาปลาจนเพื่อนๆ พากันอิจฉา
“ผมเรียนวิศวะอยู่ พอเรียนจบอยากทำงานโรงงานสักที่หนึ่ง แต่ผมก็ไม่ได้อยากทิ้งประมง” แม็กว่า “เดี๋ยวนี้ทำงานโรงงานมั่นคงกว่าเพราะทรัพยากรมันร่อยหรอลงไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่จะทำยังไงได้ เขากำหนดให้โรงงานตั้งอยู่ที่นี้แล้ว”
คำพูดนี้อาจฟังดูย้อนแย้ง แต่สำหรับแม็ก น้ำมันรั่วเป็นแค่ความเสี่ยงอย่างหนึ่งในหลายร้อยความเสี่ยงจากการใช้ชีวิตติดรั้วอุตสาหกรรม ชวนตั้งคำถามว่าชุมชนจะอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมอย่างไร
“คนเราชอบพูดว่าเหรียญมีอยู่สองด้าน เหมือนกับว่าระยองจะต้องเลือกอุตสาหกรรมหรือไม่ก็ประมงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เหรียญไม่ได้มีแค่สองด้าน ยังมีด้านตรงกลางระหว่างคู่ตรงข้ามใช่ไหม” บรรเจิด ถาม “เราพร้อมที่จะดูแลทะเลร่วมกับทางอุตสาหกรรม แต่มันต้องเป็นธรรมและเปิดให้เรามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”
ปี 2552 บอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็น “เขตควบคุมมลพิษ” ตามคำสั่งศาล หลังจากชาวระยองเรียกร้องเป็นเวลาหลายปี การกำหนดเป็นเขตควบคุมมลพิษมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสุขภาพในพื้นที่จากอุตสาหกรรม แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีมาตราการใดๆ ที่ชัดเจน แถมยังมีข่าวลือถึงการเพิกถอนสถานะเขตควบคุมมลพิษเพื่อขยายอุตสาหกรรมทำให้คนระยองพากันกังวล
ความกังวลอีกอย่างคือชุมชนรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงไหน ปี 2564 นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเสนอร่างกฎหมายโปร่งใสข้อมูลสารเคมีในอุตสาหกรรม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “PRTR” เข้ารัฐสภา หวังสร้างระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรมและสารเคมี ซึ่งเปิดให้สาธารณะเข้าถึงได้เหมือนกับอีก 36 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายตัวนี้
“กฎหมายนี้สำคัญมากเพราะในสถานการณ์ปกติ คนทั่วไปจะรู้ว่าย่านที่ตนเองอาศัยมีโรงงานและความเสี่ยงอะไรบ้าง” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กลุ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ผลักดันระบบข้อมูลมลพิษโปร่งใส ให้ความเห็น
“หากเกิดอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยจะรู้ว่าทันทีควรรับมืออย่างไรให้ตรงจุด”
กฎหมายตัวใหม่นี้หวังจะหยุดข้อถกเถียงที่ไม่จบสิ้นเกี่ยวกับเหตุน้ำมันรั่วหรืออุบัติภัยด้านอุตสาหกรรมต่างๆ กรีนพีซ เผยว่า ช่วงสามสิบปีนี้ เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วในไทยมากกว่า 200 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมาย PRTR นั้นถูกปัดตกโดยนายกรัฐมนตรีเมื่อกรกฎาคม 2564 โดยไม่ระบุถึงสาเหตุ
“น้ำมันรั่วปีนี้อาจจะเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทว่าเราได้แต่คาดเดาเพราะว่าข้อมูลพื้นฐานไม่ถูกเปิดเผย” เพ็ญโฉมว่า “ประเทศไทยจะต้องมีระบบที่สร้างความเชื่อใจระหว่างคนกับอุตสาหกรรม”
ณิชา เวชพานิช นักข่าวประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ติดตามประเด็นสังคมผ่านมุมมองด้านสิทธิและชีวิตผู้คน เธอเคยทำงานกับสำนักข่าวท้องถิ่นภายใต้ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม
ลูค ดักเกิลบี เป็นช่างภาพชาวอังกฤษประจำกรุงเทพฯ คอยติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากมลพิษและการพัฒนาต่อชุมชนท้องถิ่นสม่ำเสมอ
More Features
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 10 พฤษภาคม 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 5 เมษายน 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช