คืบคดีเหมืองทองอัครา ลุ้นถอนประทานบัตร 5 แปลง

ภาพ The Story of แม่หญิงไฟ้ท์
ภาพ The Story of แม่หญิงไฟ้ท์

ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดี #เหมืองทองอัครา ครั้งแรกหลังผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ ฟ้องหน่วยงานรัฐให้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองที่ออกโดยมิชอบมากว่าสิบปี ความเห็นตุลาการมองบริษัททำถูกต้องตามขั้นตอน มี EHIA แล้วและไม่จำเป็นต้องเพิกถอนประทานบัตรตามชาวบ้านร้อง

26 ก.ค. 65 ที่ศาลปกครองสูงสุด ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์ จำนวน 10 คน พร้อมด้วยทนายความสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมรับฟังคดี #เหมืองทองอัครา ที่พริมสินี สินทรธรรมธัช ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะตัวแทนเครือข่ายได้ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, คณะกรรมการเหมืองแร่, อธิบดีกรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง ที่ออกโดยมิชอบซึ่งเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับการทำงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ. 2542

ตัวแทนเครือข่ายฯได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่จังหวัดพิษณุโลกในวันที่ 10 พ.ย. 2533 โดยมีบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อการพิจารณาในครั้งนี้เข้ามาเป็นคู่กรณีเพิ่มเติมภายหลังจากคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองแล้ว จนทำมาสู่การยื่นอุทธรณ์ของผู้ที่ถูกฟ้องและต้องเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดที่ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานครในวันที่ 26 ก.ค. 65 ที่ผ่านมานี้

โดยศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดนัดพิจารณาคดีนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งพริมสินี สินทรธรรมธัช ในฐานะตัวแทนเครือข่ายที่เป็นผู้ฟ้องคดี รวมถึงบริษัทและหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นผู้ที่ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลเป็นหนังสือและแถลงด้วยวาจา พร้อมกับรับฟังการแถลงความเห็นของตุลาการผู้ให้ความเห็นในคดี ซึ่งตามหลักการพิจารณคดีความเห็นของตุลาการดังกล่าวยังไม่ใช่คำพิพากษาแต่อย่างไร โดยเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในครั้งแล้ว ศาลปกครองสูงสุดจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไปที่ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก

การฟ้องคดีในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากบริเวณพื้นที่เหมืองทองพิจิตร ที่กินพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ พิจิตร เพรชบูรณ์ พิษณุโลก และสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณรอบๆเหมืองที่มีการแพร่กระจายของสารโลหะหนักซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากการกระบวนการทำเหมืองแร่และแต่งแร่ เช่น สารหนู แมงกานีส เหล็ก ตะกั่ว ปรอท เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนยังเกิดการชะล้างสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในกองดินและหินทิ้งไหลลงสู่พื้นที่ราบไปทั่ว ซึ่งสารพิษดังกล่าวได้แพร่กระจายเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ปนเปื้อนไปบนพื้นดินและไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะที่ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านใช้อาศัยอยู่และใช้ประโยชน์ทางการเกษตร นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต เกิดเหตุความเดือดร้อนรำคาญเกินสมควรและได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย

ตุลาการผู้แถลงคดี มีความเห็นโดยสรุปว่าการกระทำของผู้ที่ถูกฟ้องเป็นการกระทำตามขั้นตอนการขอออกประทานบัตรแล้ว และบริษัทที่พิพาทได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว จึงมีความเห็นว่า พิพากษายกฟ้อง ซึ่งเป็นการเห็นต่างจากคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ระบุว่าให้บริษัทต้องดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ( EHIA ) ภายใน 1 ปี ให้เรียบร้อยก่อน เพราะถือว่าเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถ้าภายใน 1 ปี หากบริษัทไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก็ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง

ขณะที่พริมสินี สินทรธรรมธัช ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีในครั้งนี้กล่าวภายหลังจากศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้วว่า วันนี้ทางเครือข่ายคาดหวังว่าตุลาการผู้แถลงคดีจะมีความเห็นที่ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น เพราะแนวทางในการต่อสู้คดีได้ชี้แจงต่อศาลว่าบริษัทเอกชนที่เป็นคู่พิพาทไม่ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ( EHIA) ตามที่กฎหมายกำหนด จนส่งผลกระทบให้การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำไม่มีมาตรการป้องกันทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จนสร้างความเสียหายให้แก่พวกเรา แม้ว่าบริษัทพิพาทจะอ้างว่าได้จัดทำรายงาน EHIA แล้ว แต่เราได้มีข้อโต้แย้งซึ่งเป็นคำแถลงที่ยื่นต่อศาลว่า รายงานฉบับดังกล่าวไม่ใช่รายงาน EHIA แต่เป็นรายงานที่ตั้งชื่อให้คล้ายคลึงเท่านั้น ซึ่งในรายงานที่บริษัทกล่าวอ้างว่าเป็นรายงาน EHIA ยังมีเนื้อหาที่ไม่ครบถ้วนตามกระบวนการรายงานของ EHIA

“เมื่อเรามาดูกันแล้วมันเหมือนไม่ใช่รายงาน EHIA ที่ต้องทำตามขั้นตอน เราก็มีความหวังว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประทานบัตรตามศาลปกครองชั้นต้น แต่พอตุลาการผู้แถลงคดีของศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่าการออกประทานบัตรเป็นการกระทำโดยชอบและยกฟ้องผู้ที่ถูกฟ้องทั้งหมด ซึ่งเป็นการกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นพวกเราก็เลยคาใจ และแม้ว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาเช่นไร เราและพี่น้องเครือข่ายฯ ก็ยืดหยัดที่จะสู้ต่อไปและก็ยังมีความหวังที่จะต่อสู้ในคดีอื่นๆ อีก” เธอกล่าว

ด้านเฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาสเดียวในขั้นตอนการพิจารณาคดีในศาลปกครองสูงสุด ที่ตัวแทนเครือข่ายฯที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองพิจิตรจะได้มาชี้แจงต่อศาลและบอกเล่าถึงผลกระทบ ความทุกข์ระทมที่ได้เขารับจากการทำเหมือง เพราะหากมีการนัดฟังคำพิพากษาแล้วคดีก็จะเป็นที่สิ้นสุด และในคดีนี้บริษัทพิพาทฯ แม้ว่าจดทะเบียนในไทยมีกรรมการเป็นคนไทยแต่ก็รู้กันดีว่า บริษัทนี้เป็นตัวตายตัวแทนของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินการเหมืองทองคำในไทย เท่ากับว่าต่างชาติเข้ามาเอาทองของไทย โดยที่คนไทยไม่ได้ซื้อทองได้ในราคาถูกลงเลย ราคาทองคำขึ้นอยู่กับราคาตลาดทองคำโลกนั้นเท่ากับว่า สังคมไทยได้รับผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและยังต้องสูญเสียทองคำซึ่งเป็นทรัพย์สินของคนทั้งประเทศ จึงอยากให้การพิจารณาคดีในครั้งนี้มีคำพิพากษาเพิกถอนประทานบัตรและคุ้มครองชุมชนรวมถึงนักปกป้องสิทธิที่เขาได้รับผลกระทบ

“กรณีนี้ก็เป็นเรื่องธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งตามแนวทางหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้เมื่อปี 2559 ที่กำหนดเสาที่หนึ่ง การคุ้มครอง เสาที่สอง การเคารพ ที่รัฐจะต้องทำให้ภาคเอกชนต้องประกอบธุรกิจด้วยการเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และศาลเป็นเสาหลักส่วนที่ 3 คือ การเยียวยา ที่เป็นองค์กรประกอบสำคัญในการก่อให้เกิดการคุ้มครอง เคารพ และเยียวยาอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชน” ทนายกล่าว

ศาลปกครองสูงสุดจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไปที่ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลก

 

 

error: Content is protected !!