โดย ปริตตา หวังเกียรติ
ภาพ ลูค ดุกเกิลบี
- สิงหาคม 25, 2022
ยูรีซา สามะยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ในวันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่บ้านเป็นครั้งแรกในปี 2553 ครอบครัวของเธออาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กล้อมด้วยทุ่งนาในชุมชนมุสลิมที่จังหวัดปัตตานี
เจ้าหน้าที่เข้ามาสอบสวนพ่อแม่ของเธอ คนในครอบครัว และเพื่อนบ้าน แล้วพวกเขาก็จากไป พวกเขากลับมาอีกครั้งในสัปดาห์ต่อมา และสัปดาห์ถัดไป เพียงเพื่อเฝ้าดูว่ามีใครเข้าออกบ้านของเธอบ้าง
ยูรีซาสังเกตเห็นถึงความกังวลของพ่อแม่ และรู้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ปกติ แต่เธอไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ พ่อแม่ของเธอได้แต่บอกกับเธอว่าไม่ต้องกังวลและให้เธอตั้งใจเรียนต่อไป
การกระทำเช่นนี้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะถือเป็นเรื่องแปลกหากเกิดขึ้นในจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศ แต่ไม่ใช่กับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกมาตั้งแต่ปี 2548 การเติบโตมาในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้ ยูรีซาถูกสอนไม่ให้ตั้งคำถามมากนัก
เติบโตท่ามกลางความไม่สงบ
บ้านของเธอตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเป็นรัฐ “ปาตานี” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และบางส่วนของสงขลาที่อยู่ใกล้กับชายแดนมาเลเซีย ประมาณสามในสี่ของประชากรในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นชาวมุสลิม ซึ่งหากเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ชาวมุสลิมจำนวนนี้ถือเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศ
การร้องขอความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง หรือการมีอิสระที่จะปกครองตนเองมากกว่านี้ ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้เกิดขึ้นต่อเนื่องนานหลายสิบปี โดยสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นช่วงปี 2540 เมื่อผู้ก่อความไม่สงบได้ออกมาโจมตีเจ้าหน้าที่และประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งข้อมูลจากกลุ่ม Deep South Watch เปิดเผยว่ามีผู้สูญเสียชีวิตไปแล้วกว่า 7,000 ราย และบาดเจ็บรวมกว่า 13,000 คนจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น และถึงแม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะลดระดับลงบ้าง แต่การลอบวางระเบิด ซุ่มยิง รวมถึงการโจมตีด้วยหวังสังหารนั้นยังเกิดขึ้นอยู่ เห็นได้จากการโจมตีที่เกิดขึ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้ลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่โดยมุ่งเป้าร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันเป็นหลัก
ไม่นานหลังจากเหตุการณ์ที่ตำรวจมาบ้านยูรีซา พี่ชายของยูรีซาที่เป็นครูสอนในโรงเรียนอิสลามก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิด เขาจึงถูกจับเข้าคุก ครอบครัวของเธอได้พยายามพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ทำความผิดและพยายามที่จะนำเขาออกมา
“เพื่อนบ้านเรากลัวมากและไม่อยากสุงสิงกับเราอีก พวกเขาคิดว่าบ้านเราเป็นฆาตกร” ยูรีซาเล่า “เราจึงต้องหลบหน้าหลบตา และเลี่ยงที่จะเจอผู้คนที่เชื่อว่าพวกเราทำผิด”
กลุ่มภาคประชาสังคมระบุว่าการปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบของรัฐบาลได้นำไปสู่การจับกุมผู้บริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ได้ทำผิดถูกนำไปสอบสวนและทรมาน การบังคับใช้พระราชกำหนดฉุกเฉิน และกฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 2548 เปิดให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้มาตรการใด ๆ ก็ได้ในนามการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย
“สิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่ชายของฉันส่งผลกระทบด้านจิตใจและฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวมาก” ยูรีซากล่าว “โชคดีที่พวกเราเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติ ๆ ของเราเลยช่วยกันลงขันเพื่อพาเขาออกจากคุก”
พวกเขาหาพยานเพื่อมาพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่ผิด ทำให้ท้ายสุดศาลยกฟ้องคดีและปล่อยตัวเขาออกมา ซึ่งพี่ชายของเธอต้องสูญเสียเวลาถึงหนึ่งปีไปกับการถูกคุมขัง
ในวันนั้น ยูรีซาไม่รู้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะเปลี่ยนชีวิตเธอไปมากแค่ไหน และได้ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะปกป้องผู้อื่นจากการตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่คล้ายคลึงกันในอีกไม่กี่ปีต่อมา
“เมื่อฉันมองย้อนกลับไป เหตุการณ์นั้นทำให้ฉันมาทำงานกับกลุ่ม ‘ด้วยใจ’ และได้ช่วยเหลือผู้คนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง”
ช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์
กลุ่มด้วยใจก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ทำงานช่วยเหลือผู้ที่ถูกกักขัง ละเมิดสิทธิ และทรมานโดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในชายแดนใต้
ยูรีซาเข้าร่วมกลุ่มนี้หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ในตอนนี้เธออายุ 27 ปี และทำงานตำแหน่งเลขาธิการของกลุ่ม งานหลักของเธอคือการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจแก่ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบและความบอบช้ำทางจิตใจจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่
“ฉันไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับครอบครัวตัวเองมากนักในตอนที่พี่ชายถูกคุมขัง” ยูรีซาเล่าย้อนไปในอดีต “ตอนนั้นฉันยังเป็นนักเรียน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ฉันอยากช่วยพวกเขามากกว่านี้”
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ เล่าให้ฟังถึงตอนที่ยูรีซาเข้าทำงานที่ด้วยใจในปี 2559 ว่ายูรีซาเป็นคนสบาย ๆ และร่าเริง เธอมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และเข้าใจความทุกข์ยากของคนที่เธอได้ทำงานด้วย
“นั่นเป็นเพราะเธอมีประสบการณ์ตรง เธอจึงเข้าใจสถานการณ์ และความรู้สึกที่คนอื่นเจอ” อัญชนากล่าว “ความขัดแย้งไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับผลกระทบภายในจิตใจของผู้คนด้วย”
“ยูรีซาใส่ใจและทำได้ดีในการบันทึกและรายงานเคสต่าง ๆ” อัญชนาผู้ที่พี่เขยเคยถูกคุมขังและกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายกล่าว
กลุ่มด้วยใจให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ที่ได้รับข้อกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงและดำเนินการเกี่ยวกับโครงการการศึกษาเพื่อสันติภาพ
ด้วยใจยังทำการศึกษาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเผยแพร่รายงานออกมาเป็นประจำ เมื่อไม่นานมานี้ ได้รายงานว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา มีผู้คนกว่า 7,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้หญิง 24 คน และเด็ก 132 คน ถูกคุมขังและไม่อนุญาตให้ครอบครัวหรือทนายเข้าเยี่ยม อย่างน้อย 144 คนกล่าวว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่เพื่อบังคับให้สารภาพผิด อย่างน้อย 5 คน เสียชีวิตจากการถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหาร
เข้าใจความขัดแย้ง
ยูรีซาโตมาท่ามกลางความไม่สงบ และใช้ชีวิตกับมันมาโดยตลอด เธอเคยได้ยินเสียงระเบิดครั้งแรกตอนเธออยู่ชั้นประถม ตามมาด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงอีกมากมายในช่วงชีวิตวัยรุ่นของเธอ แต่เหตุการณ์เหล่านั้นยังดูเหมือนอยู่ไกลตัวเธอ จนกระทั่งมาถึงวันที่ครอบครัวเธอต้องเจอโดยตรง
“คนที่ไม่เคยเจอการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือรู้จักคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอาจจะไม่รู้ถึงความรุนแรงของปัญหานี้” ยูรีซากล่าว “พวกเขาที่เผชิญความรุนแรงใช้ชีวิตกับมันมาตลอด และเริ่มชินชาที่จะพูดถึง”
ยูรีซาเริ่มศึกษาเบื้องหลังของความรุนแรงเมื่อตอนที่เธอเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เธอรู้จักเพื่อนใหม่และเข้าร่วมชมรมนักศึกษา ซึ่งทำให้เธอได้อ่านหนังสือ ติดตามข่าว และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อน ๆ เกี่ยวกับความซับซ้อนของปัญหานี้
เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2445 เมื่อรัฐไทยที่นับถือศาสนาพุทธเข้ายึดครองปาตานีซึ่งเป็นรัฐสุลต่านมาเลย์ ตามมาด้วยนโยบายการบังคับกลมกลืนจนทำให้เกิดแรงต่อต้านจากประชากรมุสลิมในท้องที่ ในช่วงปี 2493 การเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนได้เกิดขึ้น ความรุนแรงยกระดับขึ้นในปี 2547 ที่หลายกลุ่มได้ตั้งเป้าโจมตีหน่วยงานดูแลความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน
รัฐไทยมองปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาด้านความมั่นคง ดังนั้นจึงใช้มาตรการจัดการความไม่สงบขั้นเด็ดขาดซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ ในจังหวัดชายแดนใต้จึงเต็มไปด้วยจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ ลวดหนาม และทหารหลายหมื่นนายประจำการอยู่
ความผิดหวังและฝังใจ
การทำงานของยูรีซา ทำให้เธอได้เจอกับหลายเหตุการณ์ บางกรณีส่งผลกระทบกับเธออย่างมาก เธอยังจำเหตุการณ์หนึ่งในปี 2560 ได้ชัดเจน ที่กลุ่มชายติดอาวุธหยุดรถประจำทางที่มาจากอำเภอเบตงมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองยะลา พวกเขาสั่งให้คนลงจากรถทั้งหมด แล้วจุดไฟเผารถประจำทาง
เจ้าหน้าที่ตอบโต้ทันทีด้วยมาตรการเด็ดขาด โดยการปิดล้อมอำเภอบันนังสตาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นทั้งหมด แล้วบุกเข้าตรวจทุกบ้านเพื่อหาคนกระทำผิด ชาวบ้านกว่า 50 คนถูกจับควบคุมตัวภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ท้ายสุด มีคน 12 คนได้รับข้อหาและถูกดำเนินคดีในศาล
“ไม่มีการเยียวยาให้แก่ชาวบ้านที่ถูกบุกค้นบ้าน หรือถูกคุมตัวไปขัง แม้ว่าคนเหล่านี้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย” ยูรีซากล่าว “พวกเขาฝังใจและผิดหวังที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติเช่นนี้กับเขา”
“ฉันทำงานร่วมกับพวกเขาถึง 2 ปี คอยจับตามองเวลาพวกเขาต่อสู้เพื่อให้คนในครอบครัวได้รับอิสรภาพ มันทำให้ฉันอยากทำงานให้หนักขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความไม่เป็นธรรม”
ยูรีซาเชื่อว่าการกระทำของรัฐต่อชุมชนบันนังสตาได้ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐ ส่งผลให้คนมุสลิมหลายคนตั้งข้อสงสัยว่ารัฐจะสามารถทำให้ชายแดนใต้กลับมาสงบสุขได้หรือไม่
“ในระดับนโยบาย ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ให้สัญญาว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้” ยูรีซากล่าว “แต่เหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ได้อยู่ในความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังคงมีอยู่”
แต่ยูรีซาเชื่อว่าทางออกจะต้องมาจากความร่วมมือของรัฐและหน่วยงานความมั่นคง “การแก้ไขปัญหาจะเกิดไม่ได้ถ้ารัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง”
การเจรจาด้านสันติภาพ
ในปี 2556 รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้จัดการเจรจาด้านสันติภาพกับกลุ่มความไม่สงบ BRN หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional) แม้ว่ากองทัพไทยจะไม่เต็มใจนัก
แต่การเจรจาที่มาเลเซียอยู่ในฐานะผู้ตัดสิน กลับถูกขัดขวางด้วยการทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ซึ่งตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึงปัจจุบัน การเจรจาด้านสันติภาพเกิดขึ้นอีกครั้งในปีถัดมา แต่เป็นกับอีกกลุ่มที่ชื่อว่ามารา ปาตานี (MARA Patani) ซึ่งถูกขัดอีกครั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19
“การเจรจาที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก ฉันอยากเห็นการเจรจาที่มีผลลัพธ์ตอบโจทย์คนในพื้นที่” ยูรีซากล่าว “ฉันอยากให้รัฐยกเลิกกฎพิเศษที่มีในพื้นที่ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยใจได้เก็บรวบรวมกรณีศึกษาของผู้คนที่ถูกคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปรวบรวมในรายงานเพื่อนำเสนอภาพรวมของการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉินและกฎอัยการศึก รายงานจะนำเสนอทางแก้ไขความตึงเครียดและการขาดความเชื่อมั่นระหว่างคนในพื้นที่และหน่วยงานความมั่นคงอีกด้วย
สร้างสันติภาพ
จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อ ยูรีซาสังเกตว่าเพื่อน ๆ และคนรอบข้างของเธอหลายคนได้ย้ายออกจากปัตตานีไปเรียนหรือหางานทำที่กรุงเทพฯ และมาเลเซีย
ยูรีซาไม่เคยเสียใจที่เลือกอยู่ที่บ้านเกิด เธอกลับรู้สึกยินดีที่ได้ทำงานกับด้วยใจและได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างสันติภาพและปกป้องสิทธิของประชาชน
“ฉันคิดว่าฉันเปลี่ยนไปมาก” ยูรีซาเล่า “ก่อนหน้านี้ ฉันรู้เรื่องความขัดแย้ง การเมือง ความมั่นคง สันติภาพ หรือแม้แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยมาก แต่ตอนนี้ฉันสนใจทุกเรื่องเลย”
ยูรีซาเข้าใจดีว่างานของเธอมาพร้อมกับความเสี่ยง ทหารฟ้องด้วยใจในปี 2562 ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท นอกจากนี้กลุ่มด้วยใจยังเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ทางออนไลน์ แม้ว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ แต่ยูรีซายังคงตั้งใจแน่วแน่ที่จะเดินในเส้นทางนี้ เธอรู้สึกภูมิใจที่ได้ช่วยและสนับสนุนครอบครัวของเธอรวมถึงชุมชนที่เธอทำงานด้วย
“ฉันรู้ว่างานนี้เสี่ยง ยิ่งพี่ชายของฉันเคยถูกจับด้วย” ยูรีซากล่าว “แต่ครอบครัวก็สนับสนุนฉันเต็มที่ เพราะพวกเขาไม่อยากให้ใครต้องมาเจอประสบการณ์ไม่ดีอย่างที่พวกเราเคยเจอมา”
ปริตตา หวังเกียรติ เป็นนักข่าวไทย ที่มาจากภูเก็ต ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ปริตตาทำงานในสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนใหญ่ทำงานให้แก่ Internews
Feature profiles
- 14 ตุลาคม 2021
- by Nanticha Ocharoenchai
- 14 มกราคม 2022
- by สุลักษณา หลำอุบล
- 14 ตุลาคม 2021
- by เอสรี ไทยตระกูลพาณิช
- 29 เมษายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช