ผู้สูงอายุบางส่วนในชุมชนริมทางรถไฟป้าย ว. ย่านคลองเตย มักจะรวมตัวพบปะพูดคุยกันในช่วงเวลาเย็นของทุกวัน ภาพ พีระพล บุณยเกียรติ / HaRDstories
- 10 พฤษภาคม 2023
ในขณะที่การเลือกตั้งทั่วไป 2566 จะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า การผลักดัน “รัฐสวัสดิการ” ก็กำลังได้รับแรงหนุนครั้งใหญ่จากนักกิจกรรม นักการเมือง และตัวแทนคนยากไร้จากชุมชนแออัดทั่วประเทศ
ณ ชุมชนแออัดริมทางรถไฟแห่งหนึ่งในย่านคลองเตย ‘หนูเกณ อินทจันทร์’ วัย 62 ปี ยังคงทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แม้ว่าจะเธอจะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม งานหลักประจำวันของ “ป้าหนูเกณ” คือตื่นมาทุกเช้าเพื่อทำกับข้าวขายให้คนในชุมชน และบางวันก็โหนรถเมล์ไปทำอาชีพเสริมเป็นแม่บ้านในตึกสำนักงานย่านรามคำแหงด้วย
ยามใดที่ป้าหนูเกณมีเวลาว่างจากภาระงานรัดตัวแทบทุกวัน เธอก็ใช้เวลาเหล่านั้นเพื่อขับเคลื่อนทางสังคมด้วย ในฐานะผู้ประสานงานคนหนึ่งของ “เครือข่ายสลัมสี่ภาค” ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนยากจนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและสลัมทั่วประเทศ หนึ่งในภารกิจของพวกเขาคือการต่อสู้เรียกร้องให้ผู้สูงอายุได้รับบำนาญจากรัฐในจำนวนที่นำไปใช้เลี้ยงตัวเองได้จริง ดังเช่นหลายประเทศในยุโรป
“พวกพี่อยากให้รัฐเพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ” ป้าหนูเกณกล่าวให้สัมภาษณ์กับ HaRDstories “ตอนนี้รัฐมีสวัสดิการช่วยผู้สูงอายุอยู่บ้างก็จริง แต่มันไม่พอหรอก มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ พวกพี่มองว่า ถ้ารัฐปรับอุดหนุนผู้สูงอายุมากกว่านี้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้เยอะเลย”
เสียงเรียกร้องสวัสดิการด้านต่างๆ ต่อภาครัฐดูเหมือนจะดังขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ และนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งได้เล็งเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่อาจช่วยผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับทุกภาคส่วนของสังคม
เป็นที่มาของกลุ่ม “We Fair” ซึ่งได้เดินสายพบปะกับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ และได้ยื่นข้อเสนอแนะให้นำเอาตัวอย่าง “รัฐสวัสดิการ” แบบในโลกตะวันตก มาบรรจุเข้าเป็นนโยบายของพรรค แทนที่สวัสดิการแบบสงเคราะห์ หรือการหยิบยื่น “เศษเงิน” ช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือทัศนคติแบบเดิมๆ ที่มองว่ารัฐไม่มีหน้าที่ดูแลและช่วยเหลือประชาชน
“ในเชิงไอเดียเนี่ย เรามองว่า รัฐต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับสวัสดิการก่อนเลย” นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แกนนำผู้ก่อตั้งกลุ่ม We Fair ให้สัมภาษณ์กับ HaRDstories “ไม่ใช่ปล่อยให้สวัสดิการเป็นเรื่องของประชาชนที่ต้องรับผิดชอบกันเอง”
สำหรับบางคน ข้อเสนอรัฐสวัสดิการแบบ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของกลุ่ม We Fair อาจจะเป็นเพียงการ “ขายฝัน” ที่ไม่น่าจะทำได้จริง เพราะครอบคลุมในหลายด้านตั้งแต่เงินอุดหนุนดูแลเด็ก ไปจนถึงนโยบายเพิ่มวันลาคลอด และการเก็บภาษีความมั่งคั่ง ในขณะที่การปรับเพิ่มสวัสดิการแต่ละอย่างจากภาครัฐช่างเป็นเรื่องยากเย็นเสียเหลือเกิน แต่นิติรัตน์กลับมองว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอาจจะใกล้ความจริงมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ
นิติรัตน์ยกตัวอย่างว่า แม้แต่พรรคการเมือง “ตัวเต็ง” หลายพรรค ยังรับเอาข้อเสนอแนะจาก We Fair มาเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง โดยเฉพาะนโยบายสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เขาจึงมีความหวังว่า การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย แม้จะไม่เกิดขึ้นทันทีก็ตาม
“ผมเลยมองแบบนี้ว่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีของการเปลี่ยนแปลงความคิดต่อนโยบายเรื่องสวัสดิการ” นิติรัตน์กล่าว
‘เสียดายโอกาสประเทศไทย’
กลุ่ม We Fair เริ่มเดินสายพบปะกับตัวแทนพรรคการเมืองตั้งแต่ยังไม่ประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นิติรัตน์กล่าวสรุปว่า เขาได้ยื่นข้อเรียกร้องด้านรัฐสวัสดิการให้แก่พรรคการเมืองรวมทั้งหมด 14 พรรค ทั้งที่เป็นฝ่ายรัฐบาล (เดิม) และฝ่ายค้าน (เดิม) ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ฯลฯ
นิติรัตน์กล่าวว่า ท่าทีจากพรรคการเมืองต่างๆ ต่อแนวคิดนโยบายด้านรัฐสวัสดิการมีนัยยะเชิงบวกอย่างชัดเจน
“เกือบทุกพรรคที่เราไปเนี่ย โดยเฉพาะพรรคขนาดเล็กและกลาง เค้ารับไปเป็นนโยบายเลย แม้แต่พลังประชารัฐเค้าก็รับไปทำเป็นนโยบาย” นิติรัตน์กล่าว
“จากนี้ก็ต้องดูต่อไปว่า ความจริงใจในการทำงานให้นโยบายเกิดขึ้นได้เนี่ย มีมากน้อยแค่ไหน ต้องดูจากสิ่งที่ทำมา และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น”
นิติรัตน์มีเหตุผลฝังใจที่ทำให้เขาระแวดระวังคำสัญญาจากพรรคการเมืองเป็นพิเศษ เพราะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 4 ปีก่อน กลุ่ม We Fair ก็ได้รณรงค์นโยบายด้านรัฐสวัสดิการกับพรรคการเมืองเช่นนี้เหมือนกัน และก็ได้กระแสตอบรับอย่างดีจากพรรคการเมืองคล้ายๆ กัน แต่ทันทีที่การเลือกตั้งสิ้นสุดลง คำสัญญาด้านสวัสดิการหลายอย่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ กลับไม่ได้กลายมาเป็นนโยบายจริง
“ตอนนั้นเราคิดว่า เลือกตั้ง 24 มีนาคม [2562] จะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ที่ประชันขันแข่งนโยบายประชาสังคมกัน แต่น่าเสียดายที่พรรครัฐบาลไม่ได้ทำตามที่หาเสียงไว้เลย เรียกได้ว่า เราเสียดายโอกาสประเทศไทยที่จะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นิติรัตน์เล่าความหลัง
ความรู้สึกถูก “หักหลัง” เช่นนี้ คือเหตุผลที่กลุ่ม We Fair ตัดสินใจไม่ย่างกรายไปหาพรรครวมไทยสร้างชาติของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งครั้งนี้
นอกจากการเดินสายพบปะพรรคการเมืองแล้ว We Fair ยังได้จัดทำชุดข้อมูลต่างๆ ที่สรุปนโยบายด้านสวัสดิการของพรรคการเมืองแต่ละพรรค เพื่อช่วยให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับทราบว่า พรรคการเมืองใดบ้างที่มีจุดยืนใกล้เคียงหลักการของรัฐสวัสดิการมากที่สุด
สวัสดิการต้องถ้วนหน้า
หัวใจสำคัญของข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมืองจากกลุ่ม We Fair คือแนวคิดเรื่อง “สวัสดิการถ้วนหน้า” หมายความว่า ประชาชนทุกควรมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการและการช่วยเหลือต่างๆ อย่าง “ถ้วนหน้า” แทนที่จะเป็นการเลือกช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ถือว่า “ยากจน” ในหลักเกณฑ์ของรัฐบาลเท่านั้น
นิติรัตน์และเพื่อนนักกิจกรรมร่วมอุดมการณ์อธิบายว่า นโยบายสวัสดิการแบบหลัง เป็นการสร้างภาระโดยไม่จำเป็นต่อประชาชน ด้วยการบังคับให้ผู้รับสวัสดิการต้องพิสูจน์ตนเองและรายได้ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และเงินช่วยเหลือในแต่ละครั้งก็มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่มีแต่จะสูงขึ้น
“จุดยืนของเราคือ เราไม่เอาสวัสดิการแบบสงเคราะห์ เราต้องการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า” คือคำประกาศจาก นุชนารถ แท่นทอง หรือ “แหม่ม” แกนนำอีกคนหนึ่งของเครือข่ายสลัมสี่ภาค ซึ่งเคลื่อนไหวด้านสวัสดิการเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่ม We Fair มาตลอด
“ประชาชนเค้าไม่ควรต้องมาพิสูจน์ความยากจนค่ะ ทุกคนควรจะมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการเลยแต่แรก”
ตัวอย่างหนึ่งของสวัสดิการแบบสงเคราะห์ คือ “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่พลเอกประยุทธ์มักหยิบยกมาโฆษณาในการหาเสียงของพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นประจำ บัตรดังกล่าวมาพร้อมกับเงินช่วยเหลือในด้านต่างๆ แต่ละเดือน เช่น เงินช่วยเหลือสำหรับซื้อของใช้จำเป็นจากร้านที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 300 บาท เงินอุดหนุนขนส่งสาธารณะ 750 บาท เงินช่วยเหลือค่าไฟ 350 บาท และค่าน้ำ 100 บาท
ทั้งนี้ “บัตรคนจน” มีไว้สำหรับประชาชนที่เข้าหลักเกณฑ์ของรัฐบาลเท่านั้น (ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.7 ล้านคนจากทั่วประเทศ) และต้องพิสูจน์ตนเองก่อนได้รับสิทธิ์ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับความยุ่งยากในระบบยืนยันตนเอง และภาพประชาชนต่อคิวกันยาวเหยียดตามธนาคาร
ขณะเดียวกัน นิติรัตน์ยกตัวอย่างว่า ไทยเองก็มีสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน นั่นคือ “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “30 บาท รักษาทุกโรค” ซึ่งได้รับการชมเชยจากประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อปี 2545 ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีวิกฤติทางการเมืองและการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลหลายครั้งตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ทุกรัฐบาลก็ยังคงรักษาโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” ไว้ โดยแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นข้อพิสูจน์ความนิยมของระบบดังกล่าวอย่างชัดเจน
“รัฐสวัสดิการเชิงนโยบายเกิดขึ้นแล้วนะครับ ก็คือ 30 บาทไง” นิติรัตน์กล่าว “จินตนาการของเราก่อนปี 2545 เราก็แทบจะคิดไม่ถึงว่าจะมีบัตรทอง แต่ก็เกิดขึ้นได้ ทำให้คนจนจำนวนมากพ้นจากความยากจน พ้นจากระบบที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบเดิม เพราะงั้นเวลามีคนบอกผมว่า สวัสดิการถ้วนหน้าเป็นไปไม่ได้หรอก ผมก็ตอบ อ้าว มันมีอยู่แล้ว เกิดขึ้นแล้ว”
วันละ 20 บาท พอกินไหม?
นอกจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อีกตัวอย่างหนึ่งของสวัสดิการถ้วนหน้าในไทยคือ “เบี้ยคนชรา” ซึ่งรัฐจ่ายให้ผู้สูงอายุทั้งหมดโดยถ้วนหน้ากัน แต่ผู้สนับสนุนการปฏิรูปสวัสดิการชี้ว่า ถึงแม้หลักการจะมาถูกทาง แต่จำนวนเงินก็ยังถือว่าน้อยเกินไป
นั่นคือ 600 บาทต่อเดือนสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ขึ้นไป และปรับตามขั้นบันไดเป็น 700 บาทสำหรับผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป 800 บาทสำหรับผู้มีอายุ 80 ขึ้นไป ก่อนจะไปสุดที่ 1,000 บาทสำหรับผู้ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป
“เดือนละ 600 บาท ตกวันละ 20 บาทเอง น้อยมาก มันไม่พอกินหรอกค่ะ” ป้าหนูเกณกล่าว “ขนาดแถวๆ นี้ แกงถุงนึงก็ 20–30 บาทแล้ว ไม่รวมข้าวเปล่านะคะ”
ดังนั้น ผู้สูงอายุหลายคนในชุมชนแถวบ้านป้าหนูเกณ (รวมถึงป้าหนูเกณเองด้วย) จึงยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพต่อไปแม้จะอยู่ในวัยเกษียณ และผู้สูงอายุอีกหลายล้านคนทั่วประเทศ ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ดังที่สถิติเมื่อปี 2563 ระบุว่า อย่างน้อยหนึ่งในสามของประชากรอายุเกิน 60 ปีในประเทศไทยยังทำงานอยู่ โดยส่วนใหญ่เป็นการทำงานแบบหาเช้ากินค่ำและการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการ
เหตุผลหนึ่งที่สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุไม่ค่อยได้รับความสนใจจากภาครัฐ อาจจะเนื่องมาจากวัฒนธรรมครอบครัวไทยที่มองว่าเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะเลี้ยงดูคนชราในบ้านตนเอง ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ
แต่ป้าหนูเกณและนักกิจกรรมคนอื่นๆ มองว่า ระบบดังกล่าวไม่ยึดโยงกับความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน ที่แม้แต่คนรุ่นหนุ่มสาวเองก็ประสบความลำบากในการหาเลี้ยงตนเองและเก็บเงินไว้ใช้วันหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีฐานะค่อนข้างยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“แล้วสมมติผู้สูงอายุที่ไม่มีลูก ใครจะดูแลเค้าล่ะคะ?” นุชนารถจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค ตั้งคำถามดังๆ “สภาพเศรษฐกิจทุกวันนี้ ขนาดลูก 4-5 คน ยังเลี้ยงแม่คนเดียวไม่ได้เลย เพราะค่าใช้จ่ายมันสูงขึ้นเรื่อยๆ”
หนูเกณพบเห็นปัญหานี้ด้วยตนเอง เธอเล่าว่า เพื่อนบ้านของเธอเป็นผู้สูงอายุในวัย 70 ปี ที่ยังต้องตื่นเช้ามาทำอาหารและขายกับข้าวเหมือนเธอทุกวัน เพราะลูกเป็นผู้พิการ จึงทำงานหาเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ สำหรับป้าหนูเกณเองก็ยังคงทำงานสองอาชีพต่อไป ถึงแม้เธอเองจะมีลูกชายในวัยทำงาน
“เค้าก็ต้องดูแลลูกของเค้าด้วย เค้าเองก็มีภาระ เราไม่อยากไปเพิ่มภาระให้เค้าหรอกค่ะ” ป้าหนูเกณกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า ปัเญหาความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุจะยิ่งทวีคูณมากขึ้น เพราะประชากรของประเทศไทยมีแต่จะแก่ตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีรายงานระบุว่า ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะเข้าสู่สถานะ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super Aged Society) หรือมีประชากรอายุเกิน 65 ปี มากกว่าร้อยละ 20 ของประเทศ
We Fair ได้ยื่นข้อเสนอแก่พรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเร่งบรรเทาภาระทางเศรษฐกิจต่อคนชรา ด้วยการเสนอให้ปรับบำนาญถ้วนหน้าเป็น 3,000 บาทต่อเดือน อันเป็นข้อเรียกร้องที่ตกผลึกจากการหารือกับเครือข่ายสลัมสี่ภาคและภาคประชาสังคมอื่นๆ
หนูเกณอธิบายว่า การปรับขึ้นเป็น 3,000 บาท จะช่วยครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อย่างอาหารและค่าน้ำค่าไฟในแต่ละเดือน “เหตุผลที่เราเสนอให้เริ่มที่ 3,000 เพราะเราสำรวจกันมาแล้วตามชุมชน เราคุยกับผู้สูงอายุ แล้วก็ทำวิจัยกัน เลยสรุปว่า วันละ 100 บาท ก็ยังพอซื้อกับข้าว ซื้อข้าวสาร พออยู่ได้ ไม่ใช่ว่าเราเสนอตัวเลขขึ้นมาลอยๆ”
ข้อเสนอดังกล่าวดูเหมือนจะได้รับเสียงตอบรับมากเป็นพิเศษ เพราะพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคได้รับเอานโยบายบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท เป็นตัวชูโรงในการหาเสียงกันทั้งนั้น เช่น พรรคก้าวไกล ไทยสร้างไทย พลังประชารัฐ เสรีรวมไทย และประชาชาติ
รัฐสวัสดิการของใคร?
หากมองเฉพาะตัวเลข จาก 600 บาท ขึ้นเป็น 3,000 บาท อาจจะดูเหมือนเป็นตัวเลขที่เยอะ แต่นักกิจกรรมรัฐสวัสดิการระบุว่า จำนวนเงินดังกล่าวเทียบไม่ได้กับบำนาญสำหรับข้าราชการ ที่ได้กันโดยเฉลี่ยประมาณ 20,000 – 30,000 บาทต่อเดือน และแน่นอนว่าบำนาญสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ยิ่งได้รับสูงมากกว่านี้หลายหมื่นบาท
“มันชัดเจนอะว่า จริงๆ เรามีสวัสดิการเชิงรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว แต่มันเป็นรัฐสวัสดิการที่เหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนถูกจัดไว้ทีหลังอยู่เสมอ” นิติรัตน์กล่าว
ความเหลื่อมล้ำระหว่างสวัสดิการที่ “ประชาชน” กับ “ข้าราชการ” ได้รับ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนตั้งคำถามว่า อุปสรรคที่แท้จริงต่อรัฐสวัสดิการในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์หรือไม่
“เมื่อก่อนผมก็เข้าใจว่ามันเป็นคำถามทางเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นคำถามทางปรัชญา” ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักต่อสู้เรียกร้องรัฐสวัสดิการคนสำคัญ กล่าวให้สัมภาษณ์ “จริงๆ ประเทศเรามีเงิน แต่ขึ้นอยู่กับว่า คุณให้ความสำคัญกับคนกลุ่มไหนมากกว่ากันล่ะ?”
รายงานฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยจัดสรรงบประมาณให้สวัสดิการของข้าราชการ (ทั้งที่ยังทำงานอยู่และเกษียณแล้ว) และสมาชิกครอบครัว รวมประมาณ 5.2 ล้านคน มากยิ่งกว่างบประมาณที่จัดสรรให้ด้านสวัสดิการสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 66.2 ล้านคน โดยเฉพาะงบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการ หรือประมาณ 3.22 แสนล้านบาท ในขณะที่งบประมาณสำหรับเบี้ยคนชราของประชาชนทั่วไปอย่างป้าหนูเกณ ได้รับการจัดสรรเพียง 8.75 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
นอกจากนี้ ษัษฐรัมย์ยังวิจารณ์การเข้าถึงงบประมาณจำนวนมหาศาลของกองทัพไทย ที่ดูเหมือนจะแทบไม่ได้เจอกับการตั้งคำถามหรือการท้าทาย ต่างจากเวลาภาคประชาสังคมพยายามเสนอให้ปรับเพิ่มหรือขยายสวัสดิการสำหรับประชาชน
“เราไม่เห็นการตั้งคำถามกับความคุ้มค่าหรือวินัยการคลังของทหารเลย บ่อยครั้งกระทรวงกลาโหมเขียนกระดาษ 4-5 แผ่น ได้งบประมาณเป็นพันล้าน แต่งบประมาณสวัสดิการสำหรับประชาชน เช่นปรับบำนาญให้ผู้สูงอายุ กลับกลายเป็นเรื่องยากเย็น” ษัษฐรัมย์กล่าว “เป็นแบบนี้มาหลายสิบปี และเราจะเป็นแบบนี้ไปอีกร้อยปีหรือ?”
แม้ว่ากลุ่ม We Fair จะไม่ได้เรียกร้องให้ตัดงบประมาณด้านสวัสดิการหรือบำนาญสำหรับข้าราชการ แต่ We Fair ก็ยืนยันว่า รัฐต้องทำให้ช่องว่างระหว่างงบประมาณที่จัดสรรให้ประชาชนทั่วไป กับงบประมาณที่จัดสรรให้ข้าราชการ ต้องแคบลงกว่านี้
สำหรับคำถามสุดคลาสสิกอย่าง “แล้วจะเอาเงินมาจากไหน” นิติรัตน์เสนอว่า รัฐควรชะลอหรือปรับลดการซื้อยุทโธปกรณ์ล็อตใหญ่ๆ อย่างเช่นแผนการซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนในราคา 3.6 หมื่นล้านบาทของกองทัพเรือ พร้อมๆ ไปกับการจัดตั้ง “ภาษีความมั่งคั่ง” และการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีของไทยให้จัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
“ไม่ใช่ว่ารัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้พรุ่งนี้เลย มันต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไป” นิติรัตน์ยืนยัน “ถ้ามีภาษีไหลเข้ามามากขึ้น มีงบประมาณมากขึ้น ก็ใช้จ่ายได้มากขึ้น เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้”
ไม่ได้จบแค่การเลือกตั้ง
We Fair อาจจะยกระดับประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ ให้เป็นจุดสนใจสำคัญในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดีว่า คำสัญญาต่างๆ ของพรรคการเมืองตอนนี้ อาจจะกลายเป็นแค่ “ลมปาก” อีกตามเคย ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน
“บอกได้แบบตรงไปมาเลยว่า ทุกพรรคการเมือง พอเลือกตั้งเสร็จ ความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองก็กลับไปใกล้ชิดกับข้าราชการและนายทุน เป็นเรื่องปกติของการเมืองประเทศนี้ ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรได้” ษัษฐรัมย์กล่าว “มันก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนเกิดขึ้นเพียงแค่ไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้งเท่านั้น”
เขากล่าวเสริมว่า “เราต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ในปี 2562 เป็นปีที่พรรคการเมืองพูดเรื่องรัฐสวัสดิการเยอะขึ้นอย่างมีนัยยะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร … เพราะงั้น ผมคิดว่าถ้าจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต้องมีการรวมตัวของกลุ่มคนหลายภาคส่วนในสังคม”
นิติรัตน์กล่าวว่า กลุ่มของเขามีแผนที่จะทำงานขับเคลื่อนกับกลุ่มนักการเมืองที่มีอุดมการณ์สนับสนุนรัฐสวัสดิการ ด้วยการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ที่ขยายสวัสดิการให้แก่เด็ก สตรี คนชรา ฯลฯ นอกจากนี้ กลุ่ม We Fair ยังได้เตรียมที่จะรณรงค์ด้านรัฐสวัสดิการต่อไปเมื่อเกิดการ “ปลดล็อก” ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งหลังชุดปัจจุบันหมดวาระในปี 2567 และเมื่อพรรคการเมืองในสภาเริ่มผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นมรดกจากคณะรัฐประหารในอดีต
“ผมคิดว่า การวิวาทะพูดคุยต่างๆ เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ จะมีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าเลย” นิติรัตน์กล่าว “เราจะใช้ทุกเวที ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. หรือการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ”
ขณะเดียวกัน ตัวแทนผู้สูงอายุที่ยังต้องหาเลี้ยงชีพอย่างป้าหนูเกณ ก็ตั้งปณิธานไว้แล้วว่า เธอจะเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐสวัสดิการต่อไปอย่างแน่นอน
“ถ้ามีพรรคไหนไม่ทำตามที่รับปากกับเราไว้ตอนเราไปยื่น เดี๋ยวเราจะไปพบแน่นอน จะไปทวงสัญญาถึงที่” หนูเกณกล่าว “ตอนนี้เรากำลังรอดูอยู่ เราจะเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ไม่ได้จบแค่เลือกตั้งเท่านั้นค่ะ”
บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน
ธีรนัย จารุวัสตร์ (โทนี่) เป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไทภาคภาษาอังกฤษ รายงานข่าวการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิมนุษยชน
พีระพล บุณยเกียรติ เป็นช่างภาพข่าวอิสระที่ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เขาทำงานเป็นช่างภาพอิสระให้กับ SOPA Images เอเจนซี่ภาพข่าวของฮ่องกง พีระพล สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลและ สนใจในการเดินขบวนประท้วงต่างๆของประชาชน สามารถติดตามผลงานของพีระพลเพิ่มเติมได้ใน Instagram @peerapon_boonyakiat
More Features
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 31 พฤษภาคม 2023
- by HaRDstories
- 5 เมษายน 2023
- by ธีรนัย จารุวัสตร์