ภาพ : ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ / Thai News Pix
- 25 พฤศจิกายน 2022
ประเทศไทยโปรโมทเป็นสรวงสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ชุมชน LGBTQ ในประเทศกลับใช้ชีวิตอยู่กับความจริงอีกด้านที่จะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิและการยอมรับ
หญิงสาวสองคนจับมือและจูบกันในสระว่ายน้ำของโรงแรม ใต้ร่มไม้ พวกเธอยืนโอบกัน ชมโขลงข้างก่อนจะช่วยกันอาบน้ำและให้อาหารพวกมันฉากต่อมาเป็นภาพของหญิงสาวทั้งสองในชุดขาวประกอบพิธีแต่งงานในสวนสีเขียวชอุ่มและเต้นรำด้วยกันบนหาดทราย ก่อนบนจอจะปรากฏข้อความว่า “ในประเทศไทย เราเชื่อว่าความหลากหลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์”
ภาพเหล่านี้เป็นภาพจากคลิปวีดิโอสำหรับประชาสัมพันธ์โครงการ Go Thai Be Free ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โครงการดังกล่าวต้องการสร้างภาพลักษณ์ความเป็นสรวงสวรรค์ที่ยอมรับความหลากหลายให้กับประเทศไทยและดึงดูดนักท่องเที่ยวเพศหลากหลายให้มาเที่ยวมากขึ้นผ่านการใช้ภาพถ่ายและวีดิโอประชาสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นคู่รักเพศเดียวกันเดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร เยี่ยมชมวัด วิ่งเล่นบนหาดทราย และว่ายน้ำทะเลด้วยกันอย่างมีความสุข
นอกจากนี้ บนเว็บไซต์โครงการ Go Thai Be Free ยังมีข้อความว่าประเทศไทย “ยินดีต้อนรับชุมชนคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ ด้วยความภาคภูมิใจ” พร้อมกับเชิญชวนผู้สนใจมาท่องเที่ยวให้คลิกดูข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวที่ “เป็นมิตรต่อ LGBT” บนเว็บไซต์ และเมื่อเลื่อนหน้าจอลงมาอีกก็จะพบกับข้อความที่ระบุว่าประเทศไทยเป็น “ประเทศที่ยินดีต้อนรับ LGBTQ/LGBT+ มากที่สุดในเอเชีย” และยังกล่าวอีกว่า “พวกเราภูมิใจในตัวตนของชุมชนคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และคนทุกคน ไม่ว่าอัตลักษณ์ของพวกเขาจะเป็นอย่างไรหรือจะรักใคร”
แต่ถึงกระนั้น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และยังคงต้องประสบกับการคุกคามและเลือกปฏิบัติ คนข้ามเพศยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้แก้ไขเอกสารระบุตัวตนเพื่อให้ตรงตามอัตลักษณ์และยังคงถูกเลือกปฏิบัติทั้งในสถานศึกษาและในที่ทำงาน
ในขณะเดียวกัน กฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งจะอนุญาตให้คู่รักจดทะเบียนสมรสได้ไม่ว่าคู่สมรสจะเป็นเพศอะไรก็ตามตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎร ทว่าต้องพบกับแรงต่อต้านโดยสมาชิกสภาฝ่ายอนุรักษ์นิยมและผู้แทนเคร่งศาสนา
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่โครงการของ ททท. จะได้รับเสียงวิจารณ์มากมายในช่วงปีที่ผ่านมาจากผู้ที่เห็นว่าประเทศไทยยังไม่เคารพสิทธิมนุษยชนมากพอและยังคงเป็นสังคมที่อดทนต่อการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าจะให้การยอมรับ
การสร้างเรื่องเล่าว่าประเทศไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศอาจอันตราย ณชเล บุญญาภิสมภาร จากมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่าหนึ่งในอุปสรรคที่คนทำงานด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยต้องพบเจอคือการที่คนอื่นมักจะเข้าใจว่าสังคมไทยให้การยอมรับความหลากหลายทางเพศ และเนื่องจากว่าพวกเขาเห็นว่ามีผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ทั่วไปในสังคมและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ และเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องปกติแล้ว พวกเขาจึงคิดว่าการที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาเรียกร้องสิทธิคือการเรียกร้องสิทธิพิเศษ ซึ่งไม่เป็นความจริง
“เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิพิเศษ เรากำลังเรียกร้องสิทธิที่ผู้หญิงผู้ชายเขาก็มี แต่เราไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือเราไม่มี หรือเราไม่ถูกรับรองจากภาครัฐ” ณชเลกล่าว
และในขณะที่ภาครัฐกำลังพยายามทำให้ประเทศไทยดูเหมือนสรวงสวรรค์สำหรับคนเพศหลากหลายอยู่นั้น ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยกลับต้องพบกับความจริงที่เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติและความรุนแรง
ครั้นเมื่อฉันถูกเรียกให้เข้าไปตรวจร่างกาย ฉันเดินกลับไปที่โต๊ะด้าน หน้าที่มีนายแพทย์ประจำหน่วยคัดเลือกนั่งอยู่ ฉันนั่งลงบนเก้าอี้ข้าง ๆ กับ เจ้าหน้าที่ที่ดูเป็นคนหนุ่ม มีท่าทางเป็นมิตร เขาชวนฉันพูดคุยเรื่องสัพเพเหระและซักถามข้อมูลส่วนตัว ชื่อ ที่อยู่ และอาชีพปัจจุบัน อย่างสบาย ๆ อยู่ ๆ ในขณะที่ฉันกำลังเผลอ เขาก็เงื้อมมือขึ้นมากระตุกที่ปลายผมจนศีรษะของฉันโน้มเอียงไปตามแรงที่ดึง
“โอเค ผมจริง”
เจ้าหน้าที่กล่าวและหลังจากนั้น ก็เอ่ยปากขอฉันว่า
“ไหน ขอดูหน้าอกหน่อยครับ”
[…]
เจ้าหน้าที่ค่อย ๆ เอามือข้างหนึ่งแง้มคอเสื้อ ส่วนมืออีกข้างก็ล้วงเข้ามาถึงชุดชั้นในจนฝ่ามือสัมผัสกับหน้าอก ต่อหน้าธารกำนัล และใช้สายตาสอดส่องเข้าไปด้านในเพื่อเช็คว่าฉันมีหน้าอกหรือไม่ ตอนที่มือของเจ้าหน้าที่โดนที่หน้าอก ฉันในตอนนั้นเหมือนได้กลายเป็นวัตถุที่ไม่มีลมหายใจไปเสียแล้วจริง ๆ
ข้อความข้างต้นมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทหัวข้อ “กะเทยบันทึก: “รื้อ” ความหมายและตัวตนจากจดหมายเหตุส่วนบุคคลและเรื่องเล่า” โดยชนาธิป สุวรรณานนท์ วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวศึกษาจดหมายเหตุและประสบการณ์ส่วนตัวของชนาธิปในฐานะกะเทยคนหนึ่ง ในบทหนึ่งของวิทยานิพนธ์ ชนาธิปได้เขียนถึงประสบการณ์การเกณฑ์ทหาร ซึ่งพลเมืองไทยทุกคนที่มีเพศกำเนิดเป็นชายต้องผ่านเมื่ออายุครบ 21 ปีถ้าหากไม่ได้เข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหารตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม
ไม่เพียงแต่เธอจะถูกแตะเนื้อต้องตัวโดยเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยคัดเลือกต่อหน้าคนมากมายที่กำลังนั่งรอการตรวจร่างกายอยู่ เจ้าหน้าที่อีกรายยังชวนเธอให้ไปเที่ยวกับเขา ทำให้เธอรู้สึกกลัวและไม่สบายใจ เมื่อเธอปฏิเสธ เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวก็สร้างความไม่สบายใจให้เธอมากขึ้นไปด้วยการแสดงออกให้รู้ว่าเขาไม่พอใจที่เธอปฏิเสธเขา นอกจากนี้ชนาธิปยังกล่าวว่าหญิงข้ามเพศจำเป็นที่จะต้องทำตัวให้เหมือนหญิงตรงเพศมากที่สุดเพื่อให้ไม่ต้องไปเป็นทหารและเพื่อให้พวกเธอไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขอเอกสารรับรองซึ่งชนาธิปมองว่าเป็นการบังคับให้พวกเธอต้อง “ตีตราตัวเอง” ว่าเป็นผู้ป่วยด้วยภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งใช้เป็นข้อยกเว้นการเกณฑ์ทหาร ในขณะเดียวกัน หญิงข้ามเพศมักต้องประสบกับการถูกคุกคามทางเพศและมองเป็นวัตถุทางเพศระหว่างผ่านขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร แต่ส่วนมากมักถูกทำให้เงียบและไม่สามารถบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเอง
“คืนความเป็นธรรมให้ตัวเอง”
“คนไทยคุ้นเคยกับการมีอยู่ของ [ผู้มีความหลากหลายทางเพศ] ในประเทศไทย แต่เราไม่รู้ว่าเรื่องที่เราคิดว่าเล็กน้อย ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเขา” จารุนันท์ พันธชาติ ผู้กำกับละครเวทีจากคณะละครบีฟลอร์ กล่าว
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จารุนันท์และอันนา-เอลิซาเบธ ฟริค ผู้กำกับละครเวทีจากเยอรมนี ร่วมกันกำกับละครเวทีชื่อ “I Don’t Care ไม่ว่าอย่างไร” ซึ่งสร้างจากบทสัมภาษณ์คนข้ามเพศแปดคนในประเทศไทยและเยอรมนีโดยเยอเกน แบร์เกอ นักข่าวและนักวิจัย คำพูดจริงจากทั้งแปดคนได้ปรับเปลี่ยนเป็นบทพูดในละครแล้วเล่าเรื่องราวของการใช้ชีวิตในฐานะคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะประสบการณ์วัยเด็กที่ถูกบังคับให้ทำตามบทบาทตามขนบของเพศกำเนิดตน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงร่างกายตนเองเพื่อให้ตรงตามอัตลักษณ์ที่แต่ละคนเป็น
ในฉากหนึ่ง นักแสดงแขวนเครื่องแบบนักเรียนชายซึ่งประกอบด้วยเสื้อเชิร์ตสีขาวและกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินไว้กับคอพลางพูดถึงการถูกบังคับให้ตัดผมเพื่อให้เข้ากับกฎของโรงเรียน ในขณะที่นักแสดงอีกรายถือชุดกระโปรงสีชมพูฟูฟ่องพร้อมกับเล่าถึงการถูกบังคับให้ใส่ชุดนี้ไปโบสถ์
ในอีกฉาก นักแสดงบรรยายถึงการผ่าตัดยืนยันเพศสภาพ ขั้นตอนการสร้างอวัยวะเพศใหม่ และความเสี่ยงที่อาจจะถึงชีวิตจากการผ่าตัด แต่ในบทพูดก็ยังระบุว่าถึงจะรู้ความเสี่ยง ยังไงพวกเขาก็ทำ
ช่วงก่อนละครใกล้จบ นักแสดงคนหนึ่งดูเหมือนจะขัดจังหวะการแสดง บอกนักแสดงคนอื่นว่าต้องไปห้องน้ำ นำไปสู่บทสนทนาว่าใครควรใช้ห้องน้ำห้องไหนและระบุว่าหญิงข้ามเพศอาจจะไม่ใช้ห้องน้ำหญิงไม่ค่อยสะดวก ในขณะที่ชายข้ามเพศอาจไม่สามารถใช้ห้องน้ำชายได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้เมื่อผู้ชมมาถึงโรงละคร พนักงานต้อนรับจะกระซิบถามว่าพวกเขาเป็นเพศอะไร ก่อนจะขอให้จับฉลากเลือกฝั่งที่นั่งระหว่างฝั่งสีชมพูและฝั่งสีฟ้า ซึ่งบทวิจารณ์หลายฉบับกล่าวว่าอาจสื่อถึงการที่คน ๆ หนึ่งไม่ได้เกิดมาในร่างกายที่ตรงตามอัตลักษณ์ของตน
จารุนันท์กล่าวว่าในฐานะที่เป็นคนรักต่างเพศ การทำละครเรื่องนี้ทำให้เธอพบว่ามีปัญหามากมายที่เธอยังไม่รู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งที่ดูง่ายอย่างการไปห้องน้ำซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก และถึงแม้ว่าจะไม่อยากพูดว่าภาพแทนจะนำไปสู่การเหมารวมได้หรือไม่ เธอก็มองว่าภาพแทนบางอย่างอาจเห็นได้บ่อยจนกลายเป็นความคุ้นเคยและทำให้คนนึกถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างแรก
ภาพแทนของคนข้ามเพศในสื่อไทย ถ้าไม่ใช่ตัวละครที่เป็นกะเทยตลกและมีหน้าที่สร้างความขบขันให้กับเนื้อเรื่อง ก็ต้องเป็นหญิงสาวข้ามเพศหน้าตาสะสวยแต่มีชีวิตแสนเศร้าและในที่สุดจะต้องถูกปฏิเสธโดยคนที่เธอมีใจให้เพราะเธอเป็นหญิงข้ามเพศ ภาพแทนเหล่านี้คือภาพที่จารุนันท์กล่าวว่าเป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนรุ่นเธอ
“เรื่องเล่า” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับจารุนันท์ เธอมองว่าเรื่องเล่าอาจช่วยรักษาอำนาจของคนบางกลุ่ม แต่ว่าอาจมีพลังในการเปลี่ยนมุมมองของคนเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเล่าอย่างไร การมีพื้นที่สำหรับเรื่องเล่าที่หลากหลายอาจเปิดพื้นที่สำหรับมุมมองที่หลากหลาย จารุนันท์มองว่าไม่ใช่ว่าสังคมจะเล่าเรื่องตามแบบแผนเดิมไม่ได้ แต่แบบแผนดังกล่าวก็ควรจะถูกปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่เพื่อให้เห็นว่ามีเรื่องเล่ามากมายหลายแบบมากกว่าที่เคยมีมาในอดีต
“ใครอยากเล่าอะไรก็ได้ ทุกคนควรจะมีสิทธิเล่า” จารุนันท์กล่าว
สำหรับชนาธิป ภาพแทนอาจนำมาซึ่งการกดทับ เธอเล่าว่าตัวเองโตมากับเรื่องเล่าที่บอกว่ากะเทยไม่สมควรได้รับความรักหรือโอกาส ในขณะที่ศาสนาก็กดทับเธอด้วยการบอกว่าเป็นกะเทยเป็นบาปหรือเสียชาติเกิด แต่ถึงแม้ว่าภาพแทนของคนข้ามเพศอาจกำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เราก็ควรรับรู้ด้วยว่าภาพแทนเหล่านี้กำลังกำหนดมาตรฐานบางอย่างหรือเปล่า เช่นในยุคหนึ่ง ภาพแทนของคนข้ามเพศแบ่งชัดเจนว่าถ้าไม่สวยและฉลาดก็จะต้องตลก อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ชนาธิปกล่าวว่าถ้าภาพแทนเหล่านี้หลากหลายขึ้นได้ก็จะเป็นเรื่องดี เนื่องจากคนเราก็จะได้เห็นว่าเราจะเป็นอะไรได้มากมายหลายอย่าง เธออยากให้คนในสังคมรับรู้ว่าชุมชนคนข้ามเพศมีความหลากหลายไม่แพ้คนอื่น และมีความเป็นไปได้มากมายสำหรับสิ่งที่คนข้ามเพศจะเป็น
เธอพบว่าการเล่าเรื่องของตัวเองช่วยปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระ ในระหว่างที่เธอศึกษาจดหมายเหตุส่วนบุคคลเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ ชนาธิปพบว่าแม้แต่เอกสารราชการก็กลายเป็นสิ่งที่ใช้สร้างเรื่องเล่า เอกสาร เช่น สมุดพกวัยเรียนมักจะมีข้อความจากคุณครูระบุว่าเธอเป็นเด็กเรียบร้อยเหมือนผู้หญิง เอกสารนี้กลายเป็นสิ่งที่บันทึกตัวตนของเธอด้วยอำนาจของคนอื่น ดังนั้นเธอจึงมองว่าการได้เขียนเรื่องราวของตน ไม่ใช่ให้คนอื่นมาเล่าเรื่องของเธอ เป็นการคืนความยุติธรรมให้ตัวเอง
“ฉันรู้ดีว่าการออกมาเล่าประสบการณ์มันอาจจะช้าเกินไปที่จะเรียกร้องหาความยุติธรรมที่ควรจะได้รับ เพราะฉันไม่รู้ว่าจะไปหาหลักฐานอะไรมายืนยันต่อสิ่งเหล่านี้” ชนาธิปเขียนในวิทยานิพนธ์
“แต่ถ้าหากการเขียนคือพลังอันยิ่งใหญ่ ฉันขอปลดปล่อยพันธนาการแห่งความอ่อนแอ ความขี้ขลาด และการเพิกเฉยของตนเองในวันนั้น ฉันขอใช้พื้นที่ของการบันทึกใน การแบ่งปันเรื่องราวการเกณฑ์ทหารเพื่อคืนความเป็นธรรมให้ตนเอง”
หนทางข้างหน้า
“เราว่าสังคมไทยตอนนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านเหมือนกัน” จารุนันท์กล่าว
สองปีที่ผ่านมา การชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้นำประเด็นทางสังคมมากมายเข้ามาอยู่ในความสนใจของสังคมวงกว้าง นักกิจกรรมและผู้ชุมนุมต่างพากันลงถนนเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้าน มีการยื่นข้อเรียกร้องและเสนอกฎหมายต่าง ๆ เมื่อภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมเริ่มล่าชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน ร่างกฎหมายของพวกเขาได้รับรายชื่อมากกว่า 100,000 รายชื่อในเวลาเพียงข้ามคืน และขณะนี้มีคนลงชื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้แล้วมากกว่า 350,000 คน
จารุนันท์กล่าวว่าโซเชียลมีเดียทำให้คนเข้าถึงข้อมูลและแสดงออกได้มากขึ้น เธอกล่าวว่าถ้าหากเพลงอย่าง “ประเทือง” ซึ่งมีเนื้อหาล้อเลียนหญิงข้ามเพศโดยเล่าถึงการที่ตัวนักร้องเกือบจะตกหลุมรักหญิงสาวสวย แต่ต้องตกใจเมื่อทราบว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ ถูกเขียนถึงในทุกวันนี้คงไม่พ้นที่จะต้องถูกวิจารณ์ นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังทำให้คนเราค้นพบชุมชนของตัวเองได้ง่ายขึ้นมากกว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับคนที่ละแวกบ้านอย่างเดียว จารุนันท์กล่าวว่าเธอเห็นความเป็นไปได้ และมองว่าควรจะมีพื้นที่สำหรับเรื่องเล่าที่หลากหลายเพื่อให้ทุกคนเห็นความเป็นไปได้ของสังคมเช่นกัน
เมื่อจารุนันท์มองงานของตัวเอง เธอพบว่าสุดท้ายแล้ว “ไม่ว่าอย่างไร” ก็เป็นละครที่สร้างโดยเธอที่เป็นคนรักต่างเพศเพื่อสื่อสารกับคนรักต่างเพศ และบางทีผู้สร้างอาจละเลยบางส่วนของเรื่องที่จะโอบอุ้มชุมชนเพศหลากหลาย แต่เมื่อได้รับฟังความเห็นของผู้ชมแล้ว จารุนันท์ก็เชื่อว่าละครเรื่องนี้ทำได้ตามเป้าหมายของมันแล้ว
และถึงแม้ว่าจารุนันท์จะบอกว่าเธอไม่รู้ว่าประเทศไทยมีภาพลักษณ์เป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศจริงไหม ในฐานะคนรักต่างเพศคนหนึ่ง เธอคงไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศประสบได้ อย่างไรก็ตาม เธอก็ตั้งคำถามว่าทำไมถึงต้องทำให้ชีวิตของคนที่เป็นคนชายขอบยากขึ้นไปอีก
“ทุกวันนี้คนมันไม่ได้มีความสุขกับตัวเองง่าย ๆ เราอาจจะไม่ได้แฮปปี้กับที่อยู่ อาชีพ อะไรต่าง ๆ แต่อันนี้ [คนข้ามเพศ] อาจจะโจทย์คล้ายกันแบบนี้ แต่ทับถมไปด้วยร่างกายของตัวเองที่ต้องอยู่กับมัน ต้องเจอมัน คลำไปตรงไหนก็เจอ โคตรยากเลย แล้วเราที่ไม่มีความยากเท่าเขา ทำไมต้องไปสร้างกฎเกณฑ์อะไรให้มันยากสำหรับคนอื่นด้วย” เธอกล่าว
สำหรับณชเล เธอมองว่า “ในเมื่อสังคมไม่ยอมรับ กฎหมายต้องคุ้มครอง” เธอกำลังทำงานกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเธอหวังว่าจะช่วยลดการเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศในสังคมไทย ถ้าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ไม่เพียงแต่คนข้ามเพศจะสามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามได้เท่านั้น แต่จะเปลี่ยนเพศในเอกสารราชการได้เช่นกัน
ณชเลเชื่อว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน คนข้ามเพศจะเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะจำเป็นต้องปรับโครงสร้างและนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ นอกจากนี้พวกเขาก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้นเนื่องจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ในกรณีที่มีคำนำหน้านามที่ระบุเพศในเอกสารต่าง ๆ หรือหากหญิงข้ามเพศจะต้องเข้าโรงพยาบาลก็จะได้อยู่ในวอร์ดของคนไข้หญิง
ณชเลกล่าวว่าร่างฉบับปัจจุบันยังไม่ใช่ร่างที่ดีที่สุด และการทำประชาพิจารณ์ก็ช่วยให้ได้รับฟังเสียงของคนที่เห็นต่างหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งจะทำให้คณะทำงานสามารถปรับปรุงร่างกฎหมายได้ แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ระบุว่าคณะทำงานอยู่ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง รวมถึงการที่กฎหมายไทยตั้งอยู่บนระบบสองเพศด้วย
“เพศในความหมายของรัฐคือ ถ้าคุณไม่ใช่ชาย คุณก็คือหญิง ฉะนั้น พ.ร.บ. ของเรา มันยากมากเลยที่เราจะหาวิธีการเขียนที่จะไม่ไปต้านกับพ.ร.บ.อื่น” ณชเลกล่าว
สำหรับณชเล การมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศหรือกฎหมายอื่นใดไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดของขบวนการเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในฐานะนักกิจกรรม เธอต้องการทำให้สังคมไทยเข้าใจว่ามีอัตลักษณ์ทางเพศนอกเหนือจากระบบสองเพศและจะต้องไม่ตัดสินคนที่อัตลักษณ์ทางเพศ เธอกำลังสู้กับระบบความเป็นเพศที่ส่งผ่านมาทางสถาบันทางสังคมต่าง ๆ
“เมื่อใดก็ตามที่เรามองเป้าหมายเป็นภาพใหญ่ร่วมกัน เราก็จะผลักดันมันไปเรื่อย ๆ จนกว่าวันหนึ่ง คนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถยืนหยัดอยู่บนสังคมได้ด้วยความมีศักดิ์ศรีแล้วก็สะดวกใจ สบายใจไม่อึดอัด” ณชเลกล่าว
อันนา หล่อวัฒนตระกูล ผู้สื่อข่าวประจำ Prachatai English มีความสนใจในประเด็นความหลากหลายทางเพศความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิชุมชน
อันนาเป็นส่วนหนึ่งของทีมข่าวที่ได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2564 ขององค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย จากการทำงานสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่ลี้ภัยในกัมพูชา นอกจากนี้ อันนายังเป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัล Journalism for An Equitable Asia รอบปี 2562-2563 โดยองค์กร Asia Centre
More Features
- 10 มีนาคม 2023
- by พีระพล บุณยเกียรติ
- 27 มกราคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 24 ตุลาคม 2023
- by ณฐาภพ สังเกตุ
- 3 ธันวาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 13 พฤศจิกายน 2023
- by บำเพ็ญ ไชยรักษ์