,

‘ส่องแสง สุปัญญา’ จากไม้ขีดก้านน้อยในสลัม จุดประกายความฝันคนจนเมือง

เรื่อง ศิโยรี ไทยตระกูลพาณิช

ภาพ ลูค ดุกเกิลบี




ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.2 ส่องแสง สุปัญญา เดินทางไปโรงเรียนกับรถซาเล้งที่พ่อและแม่ของเธอใช้ทำมาหากินตามท้องถนนในกรุงเทพฯ เธอมองว่าชีวิตเธอปกติและไม่มีปัญหาอะไร จนเธอเข้าเรียนชั้น ป.3 และต้องเดินทางไปโรงเรียนกับรถโรงเรียนที่มีคุณครูคอยรับส่งทุกเช้า

“วันนึง ไปได้ยินครูคุยกันหลังจากไปรับเราที่บ้านว่า “เด็กคนนี้อยู่ในสลัม” ตอนนั้นเรารู้สึกแย่มาก และสงสัยว่าการอยู่ในสลัมแปลว่า เราเป็นเด็กไม่ดีหรือเปล่า” ส่องแสงเล่า “ตั้งแต่นั้นมา ก็เลยบอกพ่อแม่ว่าเราเมารถ และขอนั่งรถเมล์ไปโรงเรียนดีกว่า”

ทุกสิ่งยิ่งแย่ขึ้นไปอีกเมื่อเธอโตขึ้นและชวนเพื่อน ๆ มาเล่นที่บ้าน บ้านที่เธออาศัยอยู่นั้นเป็นบ้านในสลัมทั่วไป คือ ผนังและหลังคาทำจากสังกะสี พื้นบ้านเป็นไม้ ในบ้านมีห้องเพียง 2 ห้อง คือห้องครัวเล็ก ๆ ด้านหน้า และด้านหลังเป็นห้องนอนของส่องแสงและพ่อแม่

พ่อแม่ของเพื่อนไม่แม้จะเดินเข้ามาในบ้าน พวกเขายืนอยู่หน้าบ้านและตกใจกับบรรยากาศรอบ ๆ ของสลัม

“พ่อแม่ของเพื่อนหลายคนไม่ให้เพื่อนมาหาที่บ้านอีก บางคนถึงกับบอกให้เลิกคบกับเราไปเลย เพื่อนหลายคนยังคงอยู่และให้กำลังใจ แต่บางคนก็ตัดเราไปจากชีวิตเพราะสถานะทางสังคมของเรา”

ตั้งแต่ตอนนั้น ส่องแสงก็เข้าใจแล้วว่าคนในเมืองส่วนใหญ่มักจะมอง “เด็กสลัม” ในเชิงดูถูก

จากความอายเป็นความภูมิใจ

ส่องแสงในวัย 30 ปี เป็นผู้นำชุมชนของเครือข่ายสลัม ๔ ภาค ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านสิทธิของคนจนในเมือง

เครือข่ายสลัม ๔ ภาคก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2541 มีตัวแทนชุมชนเมืองที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศและนักเรียนนักศึกษาที่สนใจในประเด็นนี้มาร่วมกันขับเคลื่อน หลายคนอาสาเป็นผู้ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในด้านสิทธิ

เครือข่ายสลัม ๔ ภาคจัดประชุมเป็นประจำเพื่อพูดคุยถึงปัญหาหรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน และยังได้ระดมทุนเพื่อเช่าหรือซื้อที่ดินเพื่อสร้างชุมชน ตัวแทนของเครือข่ายยังทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับหน่วยงานรัฐ อย่างเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือการรถไฟแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องการใช้ที่ดินและการสร้างบ้านเรือนในเขตริมทางรถไฟ

ตอนนี้ส่องแสงรับหน้าที่ให้คำปรึกษาของเครือข่ายสลัม ๔ ภาค แต่ในช่วงแรกก็ไม่ได้กระตือรือร้นมากนัก

“ตอนอายุ 10 ปี ก็เริ่มไปร่วมกับกลุ่มเยาวชนที่ทำเรื่องสิทธิคนจน ตอนแรก ๆ ก็เบื่อนะ แต่พอได้เจอเด็กคนอื่น ๆ ก็เริ่มสนุก พวกเขามาแชร์ว่าได้รับผลกระทบจากความยากจน เราก็เริ่มรู้สึกว่า เรื่องนี้น่าสนใจและอยากช่วยเหลือ”

อีกเหตุผลที่ทำให้ส่องแสงเริ่มเส้นทางการเป็นนักสู้เพื่อปกป้องสิทธิ ก็คือ แม่ของเธอ อัมพร จำปาทอง ซึ่งเป็นอดีตประธานเครือข่ายสลัม ๔ ภาค ส่องแสงจึงเติบโตมาพร้อม ๆ กับเห็นการทำงานของแม่และผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิชุมชน ส่วนใหญ่แล้ว นักกิจกรรมของเครือข่ายสลัม ๔ ภาคจะเป็นผู้หญิง เพราะผู้ชายมักจะไปทำงานในตอนกลางวัน ตอนเป็นเด็ก ส่องแสงจึงตามแม่ไปและได้ร่วมทำป้ายประท้วงเสมอ และได้เจอเยาวชนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วย

อัมพรเริ่มต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินตั้งแต่ชุมชนที่เธออยู่เจอกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน และหลังจากนั้นก็มาเป็นผู้นำเครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟสายใต้ที่ทำงานปกป้องสิทธิในที่ดินของชุมชนที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟสายใต้ เครือข่ายนี้ได้ร่วมกับกลุ่มสลัม ๔ภาค อัมพรจึงมาเป็นแกนนำของเครือข่ายสลัม๔ภาคด้วย

“ตอนแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมแม่ต้องทำงานหนักและสละเวลามากขนาดนี้ แม่ตอบเราว่า “ถ้าแม่ไม่ทำ แล้วใครจะทำ””

“ตอนนี้กลับรู้สึกว่า สิ่งที่แม่ทำอยู่มันเจ๋งมาก แม่ทำให้พื้นที่ที่มีปัญหาการบุกรุกกลายเป็นบ้านของคนได้” ส่องแสงเล่าด้วยน้ำเสียงปนภูมิใจ

“ตอนอายุ 10 ปี ก็เริ่มไปร่วมกับกลุ่มเยาวชนที่ทำเรื่องสิทธิคนจน ตอนแรก ๆ ก็เบื่อนะ แต่พอได้เจอเด็กคนอื่น ๆ ก็เริ่มสนุก พวกเขามาแชร์ว่าได้รับผลกระทบจากความยากจน เราก็เริ่มรู้สึกว่า เรื่องนี้น่าสนใจและอยากช่วยเหลือ”

สู้เพื่อสิทธิในที่ดิน

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 9 ของเมืองในเอเชียตะวันออก มีประชากรแตะ 10 ล้านคนเมื่อปี 2553 ข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ปัญหาสิทธิในที่ดินเป็นปัญหาที่ชุมชนคนยากจนในเมืองมักเผชิญ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมของห้างสรรพสินค้า คอนโดบนตึกสูง และการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวทั่วพื้นที่ จึงส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัย (housing insecurity) และการไล่รื้อที่อยู่อาศัยของผู้ที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว

ข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2562 ระบุว่า ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะได้ยาก เนื่องจากชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากเส้นทางรถขนส่งสาธารณะ สถาบันการศึกษา รวมถึงตลาด และแหล่งงาน ข้อมูลปี 2561 มีผู้อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดถึงร้อยละ 23 ของประชากรกรุงเทพฯ ในชุมชนสลัมที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างชุมชนคลองเตยมีผู้อยู่อาศัยมากถึง 80,000 คน

ชุมชนสลัมหลายแห่งได้เข้าร่วมกับเครือข่ายสลัม ๔ ภาค เพื่อต่อสู้ปกป้องสิทธิในที่ดิน และมักไปประท้วงหน้าสถานที่ราชการ พร้อมป้ายเรียกร้องและนำเสนอข้อคิดเห็นและร่างนโยบายอยู่บ่อยครั้ง

ส่องแสงและคนในชุมชนเคยปักหลักประท้วงหน้ากระทรวงคมนาคมถึง 3 วัน โดยตั้งเต๊นท์ขึ้นมาชั่วคราว เด็ก ๆ หลายคนก็ร่วมประท้วงด้วย แม้ว่าจะมีฝนตกในช่วงนั้นก็ตาม

ผู้คนต้องปีนประตูหน้าของกระทรวงฯ ที่ปิดอยู่ เพื่อเข้าไปหลบฝนใต้อาคาร 3 วันหลังจากนั้น ชุมชนจึงได้มีโอกาสเข้าพบรัฐบาล จนท้ายสุดก็ได้รับสิทธิในการเช่าที่ดินในย่านรังสิต 

ส่องแสงเห็นความพยายามในการต่อสู้ของแม่ผ่านกิจกรรมเหล่านี้มาโดยตลอด และรู้สึกประทับใจในความมุ่งมั่นนั้น แม้ว่าจะใช้เวลายาวนานถึง 7 ปีในการต่อสู้กับการรถไฟฯ ในเรื่องที่ดินริมทางรถไฟสถานีหลักหกซึ่งเป็นบ้านเดิมของครอบครัว

“ในสายตาเรา เรามองว่า แม่ก็คือแม่เสมอ แต่เวลาที่เราเห็นแม่อยู่บนเวทีและพูดคุยกับรัฐมนตรี เรารู้และเข้าใจเสมอว่า เรามีสิทธิมีเสียงและมีบทบาทที่จะเรียกร้องเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง”

วันนี้ ส่องแสงเดินตามเส้นทางสายเดียวกับแม่ ส่องแสงเป็นคนดูแลกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ (ชมฟ.) โดยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเรื่องวิธีการเจรจาต่อรองประเด็นที่ดินกับการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม

“เราเพิ่งได้ข้อตกลงที่เราพอใจเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ก่อนหน้านี้เราได้รับคำตอบช้ามากมาตลอด และตั้งแต่พวกเราประท้วงกันมา ชาวบ้านในชุมชนก็ถูกปิดปากด้วยหมายศาลข้อหาบุกรุกอยู่บ่อย ๆ” ส่องแสงเล่า

ชุมชนแออัดที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมักได้รับหมายศาล ในกรณีการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินของชุมชน 13 แห่ง ก็มีคน 4 คนได้รับคำสั่งศาล แต่โชคดีที่ในตอนนี้มีข้อตกลงอนุญาตให้ชุมชนสามารถเช่าที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ส่องแสงไม่เคยได้รับหมายศาล แต่เคยได้รับคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ในเวลา 15 วัน ซึ่งในครั้งนั้นเธอเจรจาให้เธอสามารถอยู่ในพื้นที่เดิมต่อได้

ยืนหยัดในสิทธิที่จะอยู่อาศัย

ส่องแสงและเครือข่ายสลัม ๔ ภาคต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินอยู่อาศัย ทั้งประท้วง เจรจาต่อรอง แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับหมายศาล

คนในสลัมส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นคนเร่ขายของ คนทำความสะอาด ยาม คนเก็บขยะ และคนงานก่อสร้าง การอยู่นอกเมืองจึงไม่ใช่ทางที่สะดวก การอยู่ห่างจากตัวเมืองซึ่งเป็นแหล่งงานนั้นแปลว่า พวกเขาจะต้องจ่ายค่าเดินทางมากขึ้นเพื่อเข้าเมืองมาทำงาน และส่องแสงยังอธิบายต่อว่า แถบชานเมืองก็ไม่มีงานทำมากนัก

“บางครั้ง รัฐก็อยากไล่ให้เราไปอยู่นอกเมืองโดยไม่คิดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเราบ้าง คนแก่ได้อยู่ในแฟลตสูง ๆ แล้วก็เดินขึ้นลงไม่ค่อยไหว ส่วนคนขายอาหารก็ไม่มีพื้นที่ให้จอดรถเข็นขายของเลย” นางอัมพร แม่ของส่องแสงกล่าว

นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม ๔ ภาคคนปัจจุบัน กล่าวถึงโครงการบ้านเคหะที่จัดสรรโดยการเคหะแห่งชาติว่าไม่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยากจนในเมือง

การเคหะแห่งชาติถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ภารกิจของการเคหะฯ คือการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และย้ายชุมชนแออัดไปอยู่ในที่ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นุชนารถเล่าว่า โครงการที่อยู่อาศัยหลายโครงการของการเคหะแห่งชาตินั้นมีค่าใช้จ่าย คนจะต้องจ่ายค่าเช่าหรือซื้อ ดังนั้น คนยากจนที่ไม่มีการทำงานแบบเป็นหลักแหล่งจึงไม่มีกำลังซื้อหรือเช่าได้ เพราะสัญญาที่ต้องทำกับโครงการต้องการสลิปเงินเดือนจากบริษัทที่จ้างงาน

ตอนที่ส่องแสงและครอบครัวได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อในพื้นที่เดิมที่หลักหก เธอเล่าว่า แม้ว่าคนในชุมชนจะได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตรงนั้นเพื่ออยู่อาศัยแล้ว แต่ก็มักประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

“เราไม่มีน้ำใช้ เพราะพื้นที่ตรงนั้นอยู่ในพื้นที่การรถไฟ เขาเลยไม่ให้วางท่อประปา เราก็ร้องเรียนเรื่องนี้ไป จนเทศบาลรังสิตต้องเอาน้ำจากรถดับเพลิงมาให้เราใช้ทุกอาทิตย์ คนแถวนั้นก็ต้องถือถังไปรับน้ำ ไฟฟ้าก็ไม่มีใช้ เขาเลยเอาไฟจากก่อสร้างมาให้พวกเราใช้ชั่วคราว”

ความลำบากภายใต้สถานการณ์โควิด

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนที่อาศัยในชุมชนแออัดเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากขึ้นกว่าเดิม ส่องแสงต้องปิดร้านเบเกอรี่ที่เธอทำส่งให้กับงานประชุมของเครือข่ายสลัม ๔ ภาคมาตลอด 2 ปี

รัฐบาลล็อคดาวน์บางพื้นที่และไม่อนุญาตให้มีการรวมกลุ่มเกิน 5 คนตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาด เมื่อไม่มีงานประชุมของเครือข่าย ส่องแสงจึงต้องไปช่วยแม่และสามีเก็บขยะขาย โดยขับรถซาเล้งไปตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อเก็บหนังสือพิมพ์เก่า กระดาษลัง และขวดพลาสติก แล้วขายกับคนกลางที่จะส่งต่อวัสดุเหล่านี้ไปยังโรงงานรีไซเคิลต่อไป

คนอื่น ๆ ในชุมชนก็เผชิญความยากลำบากเช่นเดียวกัน เมื่อห้างสรรพสินค้าและฟิตเนสปิด พนักงานหลายคนก็ถูกเชิญออก ทำให้หลาย ๆ คนไม่มีรายได้และไม่มีงานทำ

อัมพรและนุชนารถมองว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของรัฐในช่วงสถานการณ์โควิดนั้นพึ่งพาระบบราชการมากไป และไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนที่อยู่ฐานล่างของเศรษฐกิจได้เลย

“รัฐบาลมีเงินแจกจ่ายให้ประชาชน แต่เงินนั้นไม่ได้รับกันทุกคนนะ” อัมพรกล่าว “คนยากคนจนเขาไม่มีโทรศัพท์ไปลงทะเบียนรับเงินหรอก ส่วนคนสูงอายุก็ไม่รู้วิธีลงทะเบียน”

“และยังมีเงื่อนไขนั่นนี่อีกเยอะแยะกว่าเราจะเข้าถึงบริการทางสังคมได้” นุชนารถเสริม

ส่องแสง อัมพรและนุชนารถ ไม่ต้องการนั่งรอความช่วยเหลือจากทางรัฐหรือรอให้โชคชะตานำทาง ทั้งสามคนยังคงสู้ต่อเพื่อให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม ๔ ภาคร่วมมือกับชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อตั้งจุดบริการตรวจโควิดในชุมชนแออัดและในชุมชนก่อสร้างทั้งกรุงเทพฯ เครือข่ายสลัม ๔ ภาคยังได้ตั้งศูนย์พักพิง 9 แห่งให้แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื่อโควิด-19 และจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่คนในชุมชนถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย

สู้เพื่อชุมชน

ส่องแสง อัมพร และนุชนารถ ต่อสู้มาโดยตลอดเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น การที่ชุมชนไร้สิทธิในที่ดินและไม่มีงานทำนั้นเชื่อมโยงกับการขาดการเข้าถึงการศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะ

“เป็นเพราะบางคนอาศัยอยู่ใน “พื้นที่บุกรุก” เขาก็เลยไม่มีทะเบียนบ้าน แต่การเข้าเรียนจะต้องใช้ทะเบียนบ้าน เด็ก ๆ หลายคนเลยไม่ได้เรียนหนังสือ” ส่องแสงกล่าว “เด็กที่โตหน่อยเลยต้องมาทำงานหาเงิน (เพื่อเลี้ยงครอบครัว) แทนที่จะได้เข้าโรงเรียน”

บางชุมชนขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสาธารณะอย่างทางเดินเท้า เพราะเจ้าหน้าที่มองว่าที่นี่ไม่ได้เป็น “ชุมชน” ที่เหมาะสม นุชนารถชี้แจงว่าชุมชนจะต้องมีอย่างน้อย 100 หลังคาเรือน จึงจะสามารถมีทางเดินเท้า สะพาน หรือแม้แต่สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ

แม้ว่าชุมชนสลัมจะประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้ได้ที่ดิน น้ำประปา และไฟฟ้าใช้ รวมถึงสามารถส่งเด็ก ๆ ได้ไปโรงเรียนได้ แต่พวกเขาก็ยังประสบปัญหาใหญ่อีกหนึ่งสิ่ง นั่นคือ ทัศนคติด้านลบของคนไทยส่วนใหญ่ที่มีต่อคนในสลัม

ส่องแสง อัมพร และนุชนารถคิดว่า ทุกคนเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง และความพยายามจะช่วยเปลี่ยนความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ได้

ส่องแสงเล่าว่าหลังจากที่เธอย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเป็นหลักแหล่งเมื่อปี 2554 สังคมก็เริ่มมองเธอในทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้การมีทะเบียนบ้านอย่างเป็นทางการนั้นทำให้เธอสามารถขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้อย่างหนักแน่นมากขึ้น

“เมื่อก่อนคนอื่น ๆ มักจะมองคนในสลัมในทางที่แย่มาก ๆ มองว่าเป็นพวกโจร หรือพวกติดยามั่งล่ะ เราเลยอยากเปลี่ยนมุมมองของสังคมไทยต่อคนที่นี่ ว่าเราเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจกรุงเทพฯ และเป็นแรงงานที่สำคัญในภาคบริการหลายๆ ด้าน” นุชนารถกล่าว

เครือข่ายสลัม ๔ ภาคทำโครงการกับชุมชน อย่างเช่น โครงการปลูกผัก เลี้ยงกบ ปลาและไก่ นอกจากนี้ยังมีทุนให้ชุมชนได้กู้ยืมเพื่อเริ่มทำธุรกิจ หรือส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือ มีกิจกรรมอาสาสมัครสอนหนังสือหรือการบ้านให้แก่เด็ก ๆ ทุกเย็น เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ สามารถอ่านออกเขียนได้ กลุ่มเยาวชนมีกิจกรรมร่วมกับเด็กในชุมชน เช่น ทำเสื้อยืดขาย หรืองานศิลปะทำมือต่าง ๆ

“เวลาเราอยู่บ้าน เราก็ทำให้บ้านเราสะอาดสะอ้าน คนในสังคมจะได้มองว่าการอยู่ที่นี่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ดี” อัมพรกล่าว “เราปลูกต้นไม้ไว้หน้าบ้าน เวลาคนมองจากสถานีรถไฟจะได้เห็นว่าชุมชนที่นี่ก็น่าอยู่เหมือนกัน”

 

บรรณาธิการโดย ฟาเบียน ตระมูน

ศิโยรี (จอยซ์) ไทยตระกูลพาณิช เป็นบรรณาธิการหนังสือและนักเขียนอิสระ ศิโยรีสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

ลูค ดุกเกิลบี เป็นช่างภาพชาวอังกฤษ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และทำงานเป็นช่างภาพในเอเชียมาเกือบ 20 ปี

Feature profiles

เยาวชนหญิงนำการต่อต้านเหมืองถ่านหินในภาคเหนือของไทย

error: Content is protected !!