นลัทพร ไกรฤกษ์ นักสื่อสารที่เปลี่ยนสังคมไทยให้มองคนพิการอย่างเท่าเทียม

โดย เอสรี ไทยตระกูลพาณิช

ภาพถ่ายโดย ลูค ดุกเกิลบี

คำพูดที่คนตาบอดไม่อยากได้ยิน รีวิวประสบการณ์เที่ยวอาบอบนวดของชายตาบอด และบทสัมภาษณ์คนพิการขายล็อตเตอรี่กับยอดขายที่ลดลงในช่วงโควิด 

เรื่องราวเหล่านี้ไม่ค่อยถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักของไทยที่มักจะผูกโยงความพิการไปกับความน่าสงสารและลดทอนคุณค่า เนื่องจากยังคงมีทัศนคติทางวัฒนธรรมที่เชื่อว่าความทุพพลภาพนั้นเป็นผลพวงจากกรรมในอดีต

แต่ ThisAble.me นั้นแตกต่างออกไป ThisAble เป็นสื่อแรกและสื่อเดียวในไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความเชื่อดังกล่าวและหยิบยกประเด็นทุพพลภาพมานำเสนอให้ผู้คนได้เห็นว่า คนพิการก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน พื้นที่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยนักข่าววัย 27 ปี นลัทพร ไกรฤกษ์

 

‘เพื่อน ๆ ช่วยกันอุ้ม’

นลัทพรในวัย 9 ขวบ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หมอบอกว่าเธอจะต้องใช้รถวีลแชร์ไปตลอดชีวิต และในช่วงแรกของชีวิตบนรถวีลแชร์นั้น เธอต้องฟันฝ่าผ่านระบบการศึกษาไทย

เธอไม่ได้พักช่วงทานอาหารกลางวันอยู่บ่อยครั้ง เพราะการขึ้นลงบันไดสำหรับเธอไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในช่วงมัธยมต้น มีครูคนหนึ่งเปิดโอกาสให้เธอได้เข้าชั้นเรียนที่เธอไม่เคยได้เข้าร่วมมาก่อน

“ตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้น ม.ต้น ก็ไม่เคยได้เรียนวิชาพละเลย ครูทุกคนคิดว่าเราเรียนไม่ได้หรอก” เธอเล่า “ก็เลยได้นั่งเฉย ๆ อยู่ในห้อง แล้วก็ได้คะแนนเต็ม”

คุณครูพละคนนั้นยื่นลูกวอลเลย์บอลมาให้ “เป็นครั้งแรกเลยที่ได้จับลูกวอลเลย์บอล” แล้วก็ได้ลองเล่น “ตีลูกครั้งแรกออกไปไกลแค่เมตรเดียว แต่ครูก็บอกว่าดีมากแล้ว ให้ทำเท่าที่ทำได้ ครูไม่ได้เปรียบเทียบเรากับคนอื่น ๆ เลย”

ช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในการเรียนของนลัทพร คือตอนที่ได้เข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ ตึกและอาคารเรียนยังคงเป็นแบบเก่า บ่อยครั้ง การใช้รถวีลแชร์ในมหาวิทยาลัยทำให้นลัทพรรู้สึก “แปลกแยก”  จากสายตาที่นิสิตนักศึกษาคนอื่น ๆ คอยจ้องมองอยู่

“เวลาไปเรียนทุกวัน เราต้องใช้ลิฟต์ขนของหลังอาคาร แล้วก็ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ รปภ. มาเปิดให้” เธอเล่า “เป็นการเข้าเรียนที่ไม่สะดวกเลย รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในมหาวิทยาลัย”

อาคารทั่วไปมักจะมีแค่บันได ส่วนลิฟต์ก็หยุดเพียงบางชั้น หรือลิฟต์ก็สวงนไว้ให้อาจารย์ผู้สอนใช้เท่านั้น ทางเดียวที่จะไปหอสมุดกลางได้คือขอให้คนช่วยอุ้มข้ามรั้วเหล็ก แล้วจากนั้นก็ต้องไปขอใช้ลิฟต์ขนของเพื่อขึ้นไปชั้นบน

“เอาจริง ๆ นะ เราผ่านการเรียนในมหาวิทยาลัยได้ก็เพราะเพื่อน ๆ ช่วยกันอุ้ม”

นลัทพรเข้าไปสำนักบริหารกิจการนิสิตด้วยตัวเองไม่ได้ ก็เลยต้องขอให้เพื่อนไปแทน เพื่อพูดคุยให้ทางมหาวิทยาลัยช่วยอำนวยความสะดวกให้เธอในเรื่องเล็ก ๆ อย่างการปลดล็อคลิฟต์ขนของ

“ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้สนใจ แล้วก็ไม่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกมากนัก” เธอเล่า “ตอนนั้นถามเจ้าหน้าที่ รปภ. ว่า รถประจำทางทำให้เหมาะกับผู้ที่ใช้วีลแชร์ได้ไหม เขาตอบว่า มี “แค่เราคนเดียว” ที่จะได้ใช้งาน”

ตอนเรียนจบ นลัทพรก็เตรียมพร้อมเข้าร่วมพิธีการจบการศึกษาเหมือนกับนิสิตคนอื่น ๆ

สำหรับพิธีการจบการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น นิสิตจะต้องซักซ้อมพิธีเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร 2 ครั้งก่อนวันเข้ารับจริงจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับนิสิตและผู้ปกครองหลาย ๆ คน การได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในเวลาสั้น ๆ บนเวทีนั้นถือเป็นความภูมิใจอย่างมาก

แม้ว่านลัทพรจะได้เข้าพิธีซ้อมรับพระราชทานปริญญาบัตรทั้ง 2 ครั้ง แต่ในวันรับจริง เธอต้องอยู่ข้างนอกหอประชุมเพื่อรอรับพระราชทานปริญญาบัตร โดยที่ไม่ได้ขึ้นรับบนเวทีเหมือนกับคนอื่น ๆ

“เราจะไม่เรียน ป.โทที่จุฬาฯ แน่นอน จุฬาฯ ไม่ได้รักเราเท่าที่เรารักมหา’ลัย มหา’ลัยไม่ได้ทำให้นิสิตรู้สึกว่าได้เล่าเรียนอย่างสมศักดิ์ศรี” เธอกล่าว

แพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนใคร

ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย นลัทพรสมัครเข้าฝึกงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวประเด็นข่าวคนพิการของเว็บไซต์ประชาไท

“ตอนแรก เราตั้งใจจะทำงานวาดภาพให้หนังสือเด็ก แต่พอได้มาทำงานที่ประชาไท ก็ทำให้เราเห็นว่า ในทุกส่วนของสังคมไทย คนพิการยังไม่ได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์เลย”

หลังจากเรียนจบเมื่อปี 2558 นลัทพรได้เป็นผู้สื่อข่าวประจำให้กับประชาไท และต่อมาปี 2560 เธอก็ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ ThisAble.me ขึ้นมาเพื่อเน้นสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับคนพิการ

นลัทพรใช้รถวีลแชร์พาตัวเองไปร่วมกิจกรรมสัมมนา กิจกรรมขับเคลื่อน หรือแม้แต่การประท้วงทางการเมืองโดยกลุ่มคนพิการอยู่หลายครั้ง และจากนั้นไม่นาน ThisAble.me ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่เหมือนใคร

“สิ่งที่เราทำได้ ก็คือการให้พื้นที่แก่เรื่องราวของคนกลุ่มชายขอบ ในสังคม การนำเสนอเรื่องราวของคนพิการในสังคมไทยยังถูกยึดโยงไปกับการรอคอยความช่วยเหลือหรือการกุศลอยู่ เรื่องราวข่าวเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ก็เลยมักจะมาพร้อมกับการขอรับบริจาคผ่านหมายเลขบัญชีธนาคาร”

รูปแบบเกมโชว์ที่คนนิยมก็คือรายการที่ให้คนพิการหรือมีฐานะยากจนมาออกอากาศ เล่าถึงปัญหาหนี้สินและความทุกข์ยาก แล้วก็เล่นเกมหรือแสดงความสามารถพิเศษผ่านทางรายการเพื่อแลกกับเงินรางวัล

“การนำเสนอรูปแบบนี้ไม่ได้สะท้อนให้เราเข้าใจเรื่องราวของคนกลุ่มนี้เลย ซ้ำร้ายกลับลดทอนคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของพวกเขาอีกด้วย” นลัทพรกล่าว “ในรายการนี้ ผู้พิการขาเดียวจะต้องโชว์ขาที่กุดเพื่อแลกกับกระสอบข้าวกลับบ้าน”

ThisAble ต้องการทลายความคิดเดิม ๆ เกี่ยวกับผู้พิการ แล้วทำให้คนในสังคมเห็นว่า เรื่องราวของผู้พิการไม่จำเป็นต้องวนเวียนอยู่กับความลำบากยากเข็ญอยู่ตลอดเวลา คนพิการก็เป็นคนที่มีความฝัน มีเพื่อนฝูง มีหน้าที่การงาน และมีความสัมพันธ์ทางเพศไม่ต่างจากคนอื่น ๆ

“บางคนตกใจมากตอนที่รู้ว่าเราเรียนจบมหา’ลัย” นลัทพรเล่า “แล้วยิ่งเรามีแฟน คนก็ยิ่งตกใจ แล้วก็ปฏิบัติกับแฟนเราเหมือนกับว่าเขาเป็นพ่อพระใจบุญมาโปรด”

ThisAble.me มีเนื้อหาที่ไวรัลและถูกพูดถึงเยอะมากคือเรื่องเซ็กส์ของคนพิการ เนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจจนคนเข้าเว็บไซต์อย่างถล่มทลายคือบทสัมภาษณ์คนทำไซด์ไลน์ที่รับงานลูกค้าคนพิการ อีกเรื่องคือรีวิวประสบการณ์อาบอบนวดของชายตาบอด 2 คนที่ใช้บริการทางเพศ

“จู่ ๆ ก็หยิบประเด็นเรื่องความพิการกับเซ็กส์ขึ้นมาเล่า” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ อายุ 54 ปี กล่าว “มีความคิดที่อิสระแบบคนรุ่นใหม่และแตะถึงหลากหลายประเด็น สังคมไทยไม่ค่อยพูดเรื่องเพศมากนัก ยิ่งในกลุ่มคนพิการ ประเด็นนี้ยิ่งถูกผลักไปอยู่ในพื้นที่สีเทา”

มานิตย์เป็นผู้ก่อตั้ง Accessibility is Freedom กลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ นลัทพรทำงานร่วมกับมานิตย์อยู่บ่อยครั้ง จากการเขียนข่าวเกี่ยวกับเขาเมื่อครั้งที่มานิตย์เรียกร้องให้มีลิฟต์โดยสารเชื่อมไปบนสถานีรถไฟฟ้าและทางลาดเข้าห้างสรรพสินค้า

“คนพิการในไทยไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมีทัศนคติและต้นทุนชีวิตที่จะเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ได้” มานิตย์กล่าว “ดีใจที่นลัทพรเป็นกระบอกเสียงให้คนพิการ ไม่ใช่เพียงแค่การเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ แต่รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวชีวิต แม้แต่เรื่องเซ็กส์”

อรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ อายุ 39 ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่มนักกิจกรรมคนพิการชื่อว่า Allism กลุ่มนี้เป็นที่รู้จักจากการแสดงละครทางการเมือง และการเข้าร่วมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อรรถพลใช้วีลแชร์ครั้งแรกหลังจากถูกยิงเข้าที่ประสาทไขสัน

สำหรับอรรถพล ThisAble ช่วยสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตเขา

“ในละครไทย ตัวละครที่พิการมักถูกนำเสนอว่าความพิการนั้นมาจากการถูกลงโทษหรือไม่ก็สามารถรักษาให้หายได้อย่างปาฏิหารย์ นี่เป็นการสะท้อนภาพคนพิการอย่างไร้ศักดิ์ศรีที่สุด” อรรถพลกล่าว “แต่ ThisAble มีการสื่อสารที่จริงใจ ตรงไปตรงมา และผมก็ดีใจที่ได้เห็นการเล่าถึงมุมอื่น ๆ ของคนพิการที่ไม่ใช่ด้านสู้ชีวิต เรื่องที่ผมชอบมากเลยคือเรื่องคนตาบอดที่กลัวผี

“พวกเราไม่ได้เศร้า เสียใจ หรือจมกับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ฉันอยากให้คนได้เห็นว่าคนพิการก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความฝัน”

วิกฤตโรคระบาดที่เผยความเหลื่อมล้ำ

ไม่มีเหตุการณ์ไหนเลยที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยได้ชัดเจนเท่าวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรน่า โรงพยาบาลเตียงเต็มจนรองรับผู้ป่วยอีกไม่ได้ สายด่วนฉุกเฉินก็เต็มแน่น และมีคนเสียชีวิตบนท้องถนน

คนบางกลุ่มอย่างคนพิการกลับถูกลอยแพ นลัทพรเล่าว่า โรงพยาบาลสนามหลายแห่งปฏิเสธผู้ป่วยที่พิการเนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์บางคนเกรงว่าจะเพิ่มภาระให้ตัวเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น กลุ่มคนตาบอดจึงไร้ทางเลือก นอกจากจะต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน แม้ว่าในขณะนั้นโรงพยาบาลจะยังรองรับผู้ป่วยได้ก็ตาม

“มันไร้สาระมากที่ต้องมาเลือกปฏิบัติ คนตาบอดต้องรักษาตัวอยู่บ้าน แต่คนทั่วไปได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล” นลัทพรกล่าว “รัฐบาลไม่มาเหลียวแลพวกเราเลย”

ประกาศสำคัญเกี่ยวกับโควิด-19 หรือแม้แต่คำสั่งล็อกดาวน์ก็ไม่มีภาษามือ โฆษกกับคนแถลงข่าวก็สวมหน้ากากอนามัย ทำให้อ่านริมฝีปากไม่ได้ คนพิการที่อยู่แยกตัวออกมาจากคนอื่น ๆ ก็เลยเข้าถึงข่าวสารต่าง ๆ ไม่ได้ 

ในช่วงการระบาด รัฐบาลมอบเงินเยียวยาแก่ผู้พิการคนละ 1,000 บาท นลัทพรบอกว่ามีหลายคนที่เข้าแอพหรือเว็บไซต์สำหรับลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยานั้นไม่ได้

คนพิการที่ไม่ได้เรียนจบปริญญาตรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่ได้ค่าแรงต่ำ อย่างเช่น ขายล็อตเตอรี่ ร้องเพลง ดูดวง หรือเป็นหมอนวด อาชีพทั้งหมดนี้ต้องติดต่อต้องเจอหน้ากันบนท้องถนน

ThisAble สัมภาษณ์คนขายล็อตเตอรี่อายุ 49 ปี ที่ต้องเข็นวีลแชร์ไปบนทางเท้าในกรุงเทพฯ เพื่อขายล็อตเตอรี่ให้ลูกค้าที่มีจำนวนบางตาลง และแทบสูญเสียรายได้เกือบหมดโดยเฉพาะช่วงที่รัฐบาลเลื่อนการออกรางวัลไปหนึ่งงวด

คนขายล็อตเตอรี่บอกกับนลัทพรว่า “ผมเป็นคนพิการแบบนี้จะไปทำงานอย่างอื่นก็ไม่มีใครรับ เราขายหวยเพื่อประทังชีวิตเพราะมีทางเลือกแค่นี้ แม้จะเสี่ยงโรคร้ายก็ต้องยอมเพื่อปากท้อง

ประเด็นทางการเมือง

คนพิการในไทยมีสิทธิที่ค่อนข้างจำกัด ประเด็นนี้เป็นประเด็นทางการเมืองที่นลัทพรสนใจ

หลังจากที่พรรคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางข้อกังขาถึงความชอบธรรม นลัทพรเริ่มเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2563 แต่โครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ กลับเป็นอุปสรรคสำหรับคนพิการที่จะเดินทางไปยังสถานที่ชุมนุม

“คนพิการบางคนไม่เชื่อแม้กระทั่งว่า การมีประชาธิปไตยจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเราให้ดีขึ้นได้ เพราะเราอยู่ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์มาตลอดทั้งชีวิต แค่ต้องร้องขอความสงสาร แล้วก็ขอรับบริจาค” นลัทพรกล่าว “สิ่งที่คนพิการได้รับจากรัฐบาลมีเพียงเงินช่วยเหลือแจก หรือไม่ก็ของพระราชทาน”

หลังจากเปิดตัว ThisAble  เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐก็ได้ติดต่อมายังนลัทพร พร้อมกับเชิญให้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันคนพิการสากล การเชิญในครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นโอกาสที่ดีเพื่อประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ของเธอ แต่เธอจะต้องแลกมาด้วยการถ่ายภาพกับนายกรัฐมนตรี ที่จะมาเข็นรถวีลแชร์ของเธอข้ามสิ่งกีดขวางหน้าทำเนียบรัฐบาล

“เขาต้องการภาพที่ทำให้คนเห็นว่า นายกรัฐมนตรี “รัก” คนพิการ แต่เราว่ามันตลกมาก อยากให้นายกรัฐมนตรีเดินเข้าไปในทำเนียบพร้อมกันกับคนพิการ น่าจะดีกว่าไหม”

นลัทพรเชื่อว่า การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนพิการในประเทศดีขึ้นได้ เธอยังร่วมเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และช่วยกำหนดทิศทางแคมเปญเพื่อสิทธิของผู้พิการในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ด้วย 

ถ้าเป็นไปได้ นลัทพรอยากให้เปลี่ยนการจัดประเภทผู้ทุพพลภาพ อย่างในระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ คนที่ตาบอดข้างเดียว หูหนวกข้างเดียว หรือสามารถเดินได้ 10 เมตร จะไม่เข้าเกณฑ์ว่าเป็นผู้พิการ

“เรารู้จักคนตาบอดข้างเดียว แล้วเขาก็ไม่มีเงินรักษา เพราะเขาไม่ได้ถูกนับเป็นผู้พิการ แล้วตาอีกข้างก็บอดตามไปด้วย ถึงเข้าเกณฑ์ผู้พิการ แต่ตอนนั้นมันก็สายไปแล้วที่รักษาให้หายได้”

เปลี่ยนทัศนคติทางสังคม

อคติต่อคนพิการของสังคมไทยมีรากฐานจากพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือและเชื่อว่า การขาดความสมบูรณ์ทางสติและร่างกายนั้นมาจากการทำกรรมไม่ดีในอดีต

“ดังนั้น สิ่งเดียวที่คนไทยควรทำคือยอมรับกับสิ่งนั้น เพราะเราทำไม่ดีมาก่อนเอง” นลัทพรกล่าว “มันเป็นความคิดที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่จงพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ถ้าคุณไม่มีขา คุณก็อยู่บ้าน แล้วก็ไปใช้แขนแทน”

ความคิดที่ฝังรากลึกนี้มีอิทธิพลต่อนโยบายของประเทศ ผู้พิการที่ลงทะเบียนจะได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือน 800 บาท ซึ่งแทบจะซื้ออะไรไม่ได้เลย

“ถ้ารัฐบาลมองเห็นว่าพวกเราเป็นคนปกติทั่วไปที่อยากออกไปเที่ยวกับเพื่อน ไปใช้ชีวิต มีอาชีพการงาน พวกเราก็ไม่สมควรจะได้รับเงินจำนวนน้อยนิดขนาดนี้” เธอพูดต่อ “รัฐมองว่า เราแค่หายใจอยู่ที่บ้าน แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว”

นลัทพรเห็นความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยในมุมมองของสังคมต่อผู้พิการ นักข่าวบางคนเริ่มติดต่อเธอเพื่อสอบถามถึงคำศัพท์เฉพาะที่ถูกต้องเมื่อพูดถึงคนพิการ ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นการพัฒนาที่ดีในด้านการทำงานของสื่อมวลชน ที่แม้ว่าในตอนนี้ยังคงมีคำว่า “ไอ้โรคจิต” และ “ไอ้ด้วน” ใช้อยู่ทั่วไป

“พวกเราไม่ได้เศร้า เสียใจ หรือจมกับความทุกข์อยู่ตลอดเวลา เราอยากให้คนได้เห็นว่า คนพิการก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความฝัน เราเห็นคนพิการหลายคนที่ใช้ชีวิตในสังคมและได้ทำตามความฝัน เราหวังว่ามันจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น” เธอพูดทิ้งท้าย

เอสรี ไทยตระกูลพาณิช เป็นนักข่าวจากข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ เอสรีเขียนงานให้แก่สำนักข่าวหลายแห่ง เธอได้รับทุนของรัฐบาลรัสเซียในปี 2563 เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทด้านรัสเซียศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ลูค ดุกเกิลบี เป็นช่างภาพข่าวที่กรุงเทพมหานคร ลูคนำเสนอเรื่องราวในไทยและในภูมิภาคนี้มากว่า 15 ปี ให้แก่สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

Feature profiles

ธนพร วิจันทร์ : ผู้นำสหภาพแรงงานผู้ไม่ยอมเลิกงาน

error: Content is protected !!