,

ความจริงและการฟื้นฟูจิตใจของ      ผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้

เรื่อง เคเลบ ควินลี

ภาพ ลูค ดุกเกิลบี

การทารุณกรรมและซ้อมทรมานส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อชุมชนชายแดนภาคใต้ แต่นักกิจกรรมหญิงคนหนึ่งกำลังหาทางหยุดความรุนแรงนี้ด้วยการบันทึกเหตุทารุณกรรมและเสนอการบำบัดเป็นสิ่งชดเชย

ความตั้งใจของอัญชนา หีมมิหน๊ะ คือการรื้อถอนโครงสร้างความรุนแรงที่ตามหลอกหลอนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน 

แต่ละวันของอัญชนามักเริ่มต้นด้วยเสียงโทรศัพท์หรือข้อความแจ้งว่ามีคนถูกทารุณระหว่างการคุมขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เธอรีบหยิบสมุดจดและโทรศัพท์สำหรับอัดเสียง แล้วตรงดิ่งไปบ้านเจ้าทุกข์เพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทันที

“พวกเขาใช้วิธีการทรมานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ทุบตี ใช้เครื่องช็อตไฟฟ้า ทำให้อดหลับอดนอน ไปจนนำถุงพลาสติกมาคลุมศีรษะ” อัญชนาเล่า แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดูเหมือนว่าจะหยุดใช้หลาย ๆ วิธีที่รุนแรงมากจนเกินไป 

ตั้งแต่ปี 2554 อัญชนาได้บันทึกปากคำเหตุทารุณกรรมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 150 กรณี เริ่มจากที่น้องเขยของเธอถูกจับและกล่าวว่าตนถูกทารุณในปี 2553 เธอได้ตั้งกลุ่ม “ด้วยใจ” ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและป้องกันการทารุณกรรม กลุ่มด้วยใจยังทำงานปกป้องเด็กและสตรี ทั้งยังบอกให้ผู้คนทราบถึงประเด็นการบังคับให้สูญหายซึ่งเป็นปัญหาหนักอึ้งของภูมิภาคที่ถูกมองข้าม

“คนที่ถูกทรมานมักประสบปัญหาด้านสภาพจิตใจและร่างกายตามมา” อัญชนากล่าว “หลังจากที่ถูกแยกตัวออกจากสังคมเป็นเวลานาน พวกเขาก็มีปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา และเมื่อกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน ก็เลยมักเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว”

ถึงกระนั้นอัญชนาก็เชื่อว่าเหยื่อทารุณกรรมเหล่านี้ ซึ่งเกือบทุกกรณีเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ นั้นคู่ควรต่อการได้รับสิทธิบำบัดเพื่อจะได้หลุดพ้นจากความเจ็บปวด

ด้วยใจเสนอโปรแกรมฟื้นฟูสภาพจิตใจให้แก่เหยื่อและครอบครัว ทางกลุ่มใช้กระบวนการให้คำปรึกษาและศิลปะบำบัดเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดระยะยาว อัญชนาอธิบายว่าบาดแผลในใจผู้ถูกทารุณกรรมนั้นอาจยังไม่หายแม้ผ่านไปนานหลายปีและโดยมากแล้วจะออกอาการหลังกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว

“กระบวนการสันติภาพทำได้ยากมาก เพราะผู้ชายจะเก็บความรู้สึกโกรธจากสิ่งที่เกิดขึ้นและอยากแก้แค้น หลายครั้งจบลงที่การใช้ความรุนแรงซ้ำอีกในครอบครัว” อัญชนากล่าว

แม้ว่าบาดแผลทางใจจะไม่มีวันหายดี อัญชนาก็เชื่อว่าศิลปะบำบัดสามารถช่วยให้เกิดผลดีที่ยั่งยืนได้ นอกจากให้คำปรึกษา กลุ่มด้วยใจยังเชิญสมาชิกในครอบครัวมาร่วมกิจกรรมทางศิลปะบำบัดอย่างการวาดภาพระบายสีเพื่อซ่อมแซมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ในปี 2562 ด้วยใจจัดนิทรรศการผลงานภาพวาดของผู้ได้รับผลกระทบจากการทารุณกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“ผู้ถูกกระทำบางคนไม่อยากพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากให้ครอบครัวเป็นห่วง” อัญชนาเล่า “หลังจากกลับบ้าน พวกเขาก็ไม่ได้เล่าให้ใครฟัง เลยทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าจนไม่สามารถควบคุมได้ การบำบัดจึงช่วยได้มาก เราเลยอยากให้ภรรยาและลูก ๆ ของเขาได้ไปร่วมกิจกรรมฟื้นฟูด้วย”

“มันไม่ดีกับกระบวนการสันติภาพเลย เพราะผู้ชายหลายคนโกรธมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นและต้องการแก้แค้น

ความขัดแย้งที่ค่อย ๆ ลาม

การทรมานผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่นั้นมองได้ว่าเป็นอาการที่กำเริบจากความขัดแย้งที่ค่อย ๆ ไหม้ลามในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อชาวมุสลิมมลายูลุกฮือต่อสู้เพื่อเอกราชหรือเพื่ออำนาจปกครองตนเองที่มากขึ้น

 ตั้งแต่ที่ความขัดแย้งปะทุขึ้นเมื่อปี 2547 กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้จับกุมตัวชายในพื้นที่ไปตอนกลางวันแสก ๆ โดยตัดสินล่วงหน้าว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่จับปืนสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน แต่ปรากฏว่าบ่อยครั้งผู้ถูกทารุณกรรมเพียงแต่ไปอยู่ผิดที่ หรือไปคบค้าสมาคมกับคนที่ถูกเพ่งเล็งเท่านั้น

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ความรุนแรงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,000 คน แม้ว่าความรุนแรงจะลดความถี่ลงในเวลานี้ แต่ก็ยังคงมีการลอบวางระเบิด การยิงสู้กัน หรือดักฆ่าเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เหตุการณ์เหล่านี้มักถูกเชื่อมโยงกับกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN) ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังคงใช้ยุทธวิธีแบบจรยุทธ์ต่อกองกำลังความมั่นคงของรัฐไทย

ชาวมุสลิมมลายูเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งติดชายแดนมาเลเซีย 3 ใน 4 ของประชากรเป็นชาวมุสลิม ความขัดแย้งได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธ และมุสลิมมลายูที่อาศัยอยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ที่ผ่านมากลุ่มก่อจลาจลได้พุ่งเป้าทำร้ายชาวไทยพุทธ รวมถึงครูและเจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการต่อสู้กับรัฐไทย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะโต้กลับด้วยความรุนแรง เป็นวัฏจักรความรุนแรงไม่จบไม่สิ้น 

กลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างกลุ่มด้วยใจซึ่งทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลการทรมานที่รัฐอนุญาตให้เกิดและยื่นมือช่วยเหลือเหยื่อความขัดแย้งนั้นมักจะมาตกอยู่ตรงกลางระหว่างแนวรบสองฝั่ง ทำให้ภารกิจของพวกเขาเป็นงานอันตราย

คุกคามด้วยกฎหมาย

ในเดือนพฤษภาคม 2559 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ฟ้องร้องอัญชนาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีก 2 คนคือ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสมชาย หอมลออ ในข้อหาหมิ่นประมาท ทั้งสามคนเชื่อว่าการฟ้องร้องนี้เป็นการตอบโต้โดยตรงต่องานที่พวกเขาทำ

“คดีหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ” อัญชนากล่าวว่า “มันไม่ถูกต้องเลยที่จะมาฟ้องหมิ่นประมาท เพราะเราพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นของคนในประเทศนี้ เข้าใจนะว่าอยากจะปกป้องประเทศ แต่เขากลับคิดว่าความมั่นคงสำคัญกว่าชีวิตของคนในพื้นที่ตรงนี้ แบบนี้มันไม่ใช่”

ต่อมาในปี 2560 กอ.รมน. ได้ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาท แต่หลังจากนั้นไม่นาน อัญชนาก็ค้นพบว่าตัวเองถูกใส่ร้ายทางออนไลน์ ในปี 2562 มีคนสร้างบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์รูปอัญชนาพร้อมคำพูดว่าร้าย แล้วก็เริ่มมีโพสต์ด่าว่าเธอตามมาอีกมากมายในช่วงสองสามวันนั้น เหมือนจงใจจะทำให้เสียความน่าเชื่อถือและสร้างความเสื่อมเสียให้แก่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

หลังจากกระหน่ำแจ้งไปทางเฟซบุ๊กตลอดหลายสัปดาห์ เฟซบุ๊กก็ลบบัญชีนั้นออกไปในที่สุดในเดือนมีนาคม 2563 เฟซบุ๊กพบว่ามีหลายบัญชีที่เกี่ยวข้องกับ “เครือข่ายปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ ไอโอ” ที่เป็นของกองทัพ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านได้เปิดโปงข้อมูลของเครือข่ายปฏิบัติการนี้ว่าได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล

“คอมเมนท์ที่อ่านเจอมันแย่มาก ถึงขั้นไปยุให้คนมาฆ่าเรา” อัญชนาเล่า

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มด้านสิทธิที่ทำงานในภาคใต้และเก็บข้อมูลการทารุณกรรม เชื่อว่าการที่ไม่สามารถคาดโทษให้การทารุณกรรมหรือการบังคับให้สูญหายเป็นอาชญากรรมนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด” ในสังคม

“นั่นไม่ได้แปลว่าอาชญากรรมจะเลวร้ายไปกว่าเดิม แต่การทารุณกรรมเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ และการแสวงหาความยุติธรรมเป็นไปได้ยากขึ้น” พรเพ็ญกล่าว

สัญญาณความคืบหน้า

หลังจากประสบความรุนแรงต่อเนื่องนานหลายปี ชุมชนมากมายกำลังหาทางกลับสู่ความปกติสุข การใช้ความรุนแรงค่อย ๆ เบาบางลงและการทารุณกรรมก็เริ่มลดน้อยลงตามที่ปรากฏในรายงาน ในเดือนนี้การเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มาเลเซียได้เริ่มต้นขึ้นอีกรอบหนึ่ง แต่อัญชนาเกรงว่าสถานการณ์อาจแย่ลงอย่างรวดเร็วได้อีกครั้ง เธอเน้นว่าคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างตัวเธอเองไม่ควรที่จะชะล่าใจ งานที่ทำยังต้องดำเนินต่อ 

“มีคนผิดลอยนวลมาแล้วมากมาย” อัญชนากล่าว “เราชะลอไม่ได้ ถ้าเราหยุดตามเรื่องเหล่านี้ มันก็อาจเกิดขึ้นอีก หลังเริ่มมีข่าวคนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว ทางผู้นำกองทัพเองก็เริ่มกังวล คนทั่วโลกเริ่มรู้แล้วว่ามีการทารุณกรรมเกิดขึ้น นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญเลย” 

ในระยะนี้รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาการซ้อมทรมาน คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกำลังรอพิจารณาในรัฐสภา

นารีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่ากระทรวงฯ กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อให้ความสำคัญกับปัญหาการซ้อมทรมานโดยรัฐ

“สถานการณ์เริ่มทุเลาลง” นารีลักษณ์ กล่าวว่า “เราพบว่าคำร้องเรื่องการซ้อมทรมานมีจำนวนน้อยลง”

ไม่นานมานี้ กระทรวงยุติธรรมได้ร่วมมือกับสมาคมป้องกันการทรมาน (Association to Prevent Torture หรือ APT) ซึ่งมีสำนักงานที่เมืองเจนีวา ทำโครงการอันเป็นหลักหมายสำคัญเพื่อลดการทารุณกรรมในระหว่างการควบคุมตัวโดยรัฐ

ชาซีรา อาหมัด ซาวาวี นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนจาก APT พูดถึงโครงการนี้ว่ามีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาลและเพื่อช่วยผลักดันมาตรการรับประกันความปลอดภัยในช่วงสองสามชั่วโมงแรกของการควบคุมตัวโดยตำรวจ สมาคมป้องกันการทรมานยังได้จัดทำคู่มือต่อต้านทารุณกรรมเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเข้าใจต่อการป้องกันการทรมานในมิติต่าง ๆ

“ในไทยมีการคุยเรื่องกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานมามากกว่าสิบปีแล้ว” ซาวาวีกล่าว “กฎหมายนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราทำให้การทรมานผู้อื่นเป็นอาชญากรรม เราก็จะสามารถเอาผิดผู้ทารุณกรรมได้”

ซาวาวีกล่าวเสริมว่าสององค์กรนี้จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องไปในระยะ 3 ปีนับจากนี้ โดย APT จะเน้นพูดถึงประเด็นการบังคับให้สารภาพและการควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกว่าเป็นสิ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างไร ด้วยความหวังว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ลดใช้วิธีการที่เป็นพิษเป็นภัยในอนาคต

“เราชะลอไม่ได้ ถ้าเราหยุดตามเรื่องเหล่านี้ มันก็อาจเกิดขึ้นอีก”

ฮึดสู้

สองสามปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่กดดันมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับอัญชนาและทีมงาน สถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ทำให้การเข้าหาและให้คำปรึกษาเหยื่อรายใหม่ ๆ เป็นไปได้ยากขึ้น เธอกล่าวว่าการแพร่ระบาดได้สร้างความแตกแยกและบังคับให้ชุมชนปิดตัวเองยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา แต่อัญชนาเชื่อว่าเธอจะฝ่าฟันมันไปได้ เหมือนกับความท้าทายอื่น ๆ ที่เคยเจอมา

ในวันนี้อัญชนาเรียกร้องความยุติธรรมจากการถูกใส่ร้ายทางออนไลน์ ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 อัญชนาและอังคณา นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีเช่นเดียวกัน ได้ยื่นฟ้อง กอ.รมน. ต่อศาลแพ่งกรุงเทพมหานคร และโดยเรียกค่าเสียหายหลายล้านบาทและให้มีการขอโทษอย่างเป็นทางการโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ ศาลจะไต่สวนกรณีนี้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้

ไม่ว่าคดีนี้จะลงเอยอย่างไร ไม่ว่าอัญชนาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ เธอยืนยันว่าจะยังคงบันทึกข้อมูลความรุนแรงต่อไป การฟ้องกลั่นแกล้งเพียงเท่านี้ไม่อาจหยุดเธอไม่ให้ช่วยเหลือเหยื่อของความขัดแย้งในมุมโลกนี้ที่น้อยคนนักจะเหลียวแล

“ที่ยังเดินหน้าทำอยู่นี้เพราะว่าเราเองก็ได้รับความช่วยเหลือมามากมาย” อัญชนาพูดถึงช่วงเวลาที่น้องเขยของเธอถูกละเมิดสิทธิระหว่างคุมขัง “เราเลยอยากทำอะไรเพื่อคนอื่นและช่วยเหลือคนที่ได้รับความเจ็บปวดเดียวกันกับที่เราเคยเจอ”

ภาพประกอบบทความนี้เดิมได้รับว่าจ้างถ่ายจากสมาคมป้องกันการทรมาน (Association to Prevent Torture – APT) ซึ่งช่วยให้ผู้สื่อข่าวเข้าถึงแหล่งข่าว

เคเลบ ควินลี เป็นนักข่าวอิสระประจำอยู่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่เขียนบทความข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นหลัก เคเลบเติบโตที่ประเทศไทยและเคยอาศัยอยู่ทั้งในพื้นที่ชนบทและตัวเมือง อีกทั้งยังสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเรื่องประเด็นการเมืองและประเด็นร่วมสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิภาคแห่งนี้

Feature profiles

‘ส่องแสง สุปัญญา’ ผู้ประคองคบเพลิงของแม่ สืบสานการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนสลัม

error: Content is protected !!