สิทธิการทำแท้ง : ‘ถูกกฎหมาย’ แต่ยัง ‘ผิดศีลธรรม’ ในสายตาหมอ

เรื่อง ธีรนัย จารุวัสตร์

ภาพ ลูค ดักเกิลบี

ภาพภายในห้องตรวจของ “คลินิกนายแพทย์วรชาติ” อ.พิมาย จังหวัดนครราชสีมา ภาพ: ลูค ดักเกิลบี/HaRDstories

นับตั้งแต่ประเทศไทยแก้กฎหมายอาญาเพื่อรองรับสิทธิการทำแท้ง เวลาได้ผ่านล่วงเลยมาแล้ว 2 ปีเต็ม แต่กลุ่มสิทธิสตรีและแพทย์ในเครือข่ายพันธมิตรยังต้องต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำแท้งเป็นบริการที่ปลอดภัย สะดวก และเข้าถึงได้ง่ายอย่างแท้จริง ท่ามกลางการต่อต้านจากบุคลากรหลายส่วนในระบบสาธารณสุข

ณ คลินิกแห่งหนึ่งในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ประมาณ 320 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร สูตินรีแพทย์นามว่านพ.วรชาติ มีวาสนา ต้องรับบทบาทสำคัญในการ “ช่วยชีวิต” ผู้หญิงหลายคนมาตลอดหลายปีนี้

นพ.วรชาติเป็นหนึ่งในแพทย์ที่แสดงความสมัครใจให้บริการ “ยุติการตั้งครรภ์” หรือ “ทำแท้ง” สำหรับผู้หญิงที่ถูกปฏิเสธจากแพทย์หรือโรงพยาบาลคนอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้หญิงเหล่านั้นไปหาทางออกอื่นๆ ด้วยวิธีที่อาจจะอันตรายถึงแก่ชีวิต นั่นคือ การทำแท้งเถื่อน หรือยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง

กลุ่มของแพทย์ดังกล่าวมีชื่อว่า “เครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย” หรือ RSA (อ่านแบบเสียงไทยว่า “อาสา”) ซึ่งทำงานอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มอาสาสมัครอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมและต้องการยุติการตั้งครรภ์ ภารกิจของพวกเขาคือการรับประกันว่าประชาชนจะต้องมีสิทธิ์เข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายในประเทศไทย ถึงแม้ว่าบุคลากรทางแพทย์หลายคนจะยังคงปฏิเสธการให้บริการด้วยเหตุผลทางด้านศาสนาและความเชื่อก็ตาม

“คนรับทำแท้งน้อยมาก หาหมอที่รับทำได้ยาก” นพ.วรชาติให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากโรงพยาบาลพิมาย “ถ้าไม่ใช่หมอในเครือข่าย RSA ก็ไม่มีใครเค้ารับแล้วครับ”

ในปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเนื้อหากฎหมายอาญาที่ห้ามทำแท้ง และเอาผิดหญิงที่ทำแท้งนั้น ขัดหลักเสมอภาคในรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ซึ่งอนุญาตให้หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด หากเป็นการยุติการตั้งครรภ์โดยบุคลากรทางแพทย์ และขยายความเป็นอายุครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ในเดือนกันยายนปี 2565 

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายหวังว่าสิทธิการยุติการตั้งครรภ์จะได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยในที่สุดหลังต่อสู้กันมานานหลายปี แต่ทว่าองค์กรที่เฝ้าติดตามสิทธิการทำแท้งได้อธิบายกับ HaRDstories ว่ามีความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวน้อยมากตั้งแต่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ เนื่องด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ตั้งแต่การใส่ “เกียร์ว่าง” ของระบบราชการ การขาดพลังขับเคลื่อนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ไปจนถึงทัศนคติเชิงลบในวงการแพทย์หลายคน ที่ยังมองว่าการทำแท้งเป็น “บาป” 

“กฎหมายบอกว่าคุณทำได้ แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าคุณต้องทำไงครับ” นพ.วรชาติกล่าว แม้แต่คลินิกของนายแพทย์ท่านนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันปัญหาดังกล่าว เพราะเหตุผลที่นพ.วรชาติต้องใช้คลินิกส่วนตัวของตนทำแท้งให้ผู้หญิงที่ร้องขอ ก็เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่ ไม่อนุญาตให้ทำแท้งภายในพื้นที่ของตน

ในประเทศที่ประชากรกว่าร้อยละ 95 ระบุว่านับถือพุทธศาสนา อิทธิพลของความเชื่อทางศาสนาต่อสังคมไทยจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิด้านการเจริญพันธุ์เองก็ยังนำเอาแนวความคิดเชิงพุทธศาสนามาใช้ในกิจกรรมรณรงค์เป็นครั้งคราว เช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ “กลุ่มทำทาง” ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักกิจกรรมสิทธิการทำแท้ง ได้จัดพิธีกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้หญิงที่ต้องเสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย หน้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยได้ง่ายขึ้น 

 

“กฎหมาย” ปะทะ “โลกความเป็นจริง”

กฎหมายอาญาที่ผ่านการแก้ไขล่าสุดระบุว่า หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องระบุสาเหตุใดๆ (แต่ในกรณีที่เป็นเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ยังต้องให้ผู้ปกครองเซ็นรับรองก่อนด้วย) ในขณะที่หญิงซึ่งอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ สามารถเข้ารับบริการทำแท้งได้เช่นกัน แต่ต้องเข้ารับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อน นับเป็นก้าวสำคัญทางกฎหมายที่รองรับปัญหา “ท้องไม่พร้อม” ในไทย

ในกรณีที่เป็นการทำแท้งด้วยสาเหตุว่า การตั้งครรภ์ต่อจะเป็นผลร้ายต่อตัวหญิงนั้นหรือตัวอ่อนในครรภ์ เช่น มีผลกระทบทางกายหรือใจ เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดทางเพศ และมีความเสี่ยงอย่างสูงที่ทารกจะพิการ กฎหมายมิได้กำหนดอายุครรภ์ แต่โดยหลักปฏิบัติแล้วให้เป็นไปตามวิจารณญาณของแพทย์

นอกจากนี้ ผู้หญิงสามารถเข้ารับการยุติการตั้งครรภ์ได้ฟรีในโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการ และร่วมโครงการเบิกงบประมาณจาก “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ สปสช.

ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้บังคับให้แพทย์ต้องให้บริการทำแท้งตามที่ผู้หญิงร้องขอ หลักเกณฑ์ของ “แพทยสภา” ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า หากไม่ให้บริการก็ต้อง “ส่งต่อโดยไม่ชักช้า” ไปให้สถานพยาบาลอื่นๆ ที่รับทำ

แต่ในความเป็นจริง มีเพียงแพทย์และสถานพยาบาลไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว ตามคำบอกเล่าของ สุไลพร ชลวิไล นักกิจกรรมจากกลุ่ม “ทำทาง” ซึ่งคอยติดตามการเข้าถึงบริการทำแท้งทั่วประเทศ 

“ถ้าเค้าไม่อยากทำ เค้าก็ต้องไปหาคนที่ทำได้สิคะ” สุไลพรให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงตัดพ้อ “แต่นี่เค้าไม่ทำอะไรให้ผู้หญิงซักอย่างเลย สำหรับพวกเค้า ศีลธรรมอยู่เหนือทุกอย่าง อยู่เหนือกฎหมายด้วย” 

กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ก็มีมุมมองคล้ายกัน “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่มีการส่งต่อ ต่อให้มีระบบส่งต่อเกิดขึ้นก็จริง แต่ส่งต่อจริงๆ ได้น้อย”

กฤตยากล่าวด้วยว่า ระบบส่งต่อที่อ่อนแอเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงหลายคนยังถูกปฏิเสธไม่ให้รับบริการจากโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง ด้วยเหตุผลที่กฎหมายไม่รองรับ หรือบางครั้งก็ถึงขั้นถูกเจ้าหน้าที่ด่าหรือทำให้อับอายด้วยซ้ำ ผู้หญิงที่ยังยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์จึงมีตัวเลือกเหลืออยู่น้อยมาก คือต้องยอมจ่ายเงินหลายพันบาทเพื่อรับบริการในคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน – ซึ่งถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับค่าครองชีพในไทย – หรือไม่ก็ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆ เพื่อหาแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการ

สุไลพรและผู้เฝ้าระวังสิทธิการทำแท้งคนอื่นๆ ให้ข้อมูลตรงกันว่า การเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกจำกัดเช่นนี้มีแต่จะสร้างความเสี่ยงต่อผู้หญิงเสียเอง เพราะยิ่งใช้เวลาในการหาสถานที่ทำแท้งนานขึ้น อายุครรภ์ก็ยิ่งนานขึ้น และกระบวนการทำแท้งก็ยิ่งซับซ้อนหรือมีความเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น และยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ค่าใช้จ่ายและความเครียดก็ยิ่งสูงตามด้วยเช่นกัน

“มันสะท้อนว่าถึงแม้เรามีกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเท่าไหร่ เกือบจะไม่มีประโยชน์เลย” สุไลพรกล่าว “เค้าบอกว่าเรามีสิทธิ์ แต่ไม่มีช่องทางให้เราใช้สิทธิ์นั้น” 

 

กฎเกณฑ์ที่ไม่มีหลักเกณฑ์

“คีรี” เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเข้ารับการทำแท้ง ก่อนที่การแก้ไขกฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2564 เธอเล่าว่าตอนที่รู้ตัวว่าท้อง เธอเป็นนักศึกษาจบใหม่และเพิ่งเริ่มทำงาน ขณะที่เงินเก็บก็ยังไม่มี จึงไม่พร้อมที่จะ “ท้องต่อ” และต้องเข้าสู่กระบวนการแสวงหาสถานพยาบาลที่รับทำแท้ง เช่นเดียวกับผู้หญิงอีกหลายคนในช่วงเวลานั้น

เธอโทรศัพท์ไปปรึกษาขอความช่วยเหลือจาก “สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663” อาสาสมัครได้ดำเนินการประสานกับเครือข่าย RSA เพื่อหาแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่พร้อมให้บริการที่ใกล้ที่สุด โดยกำหนดนามแฝงของเธอว่า “คีรี” ไว้สำหรับการประสานงาน เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเธอ 

ในที่สุด คีรีต้องเดินทางไปถึงจังหวัดสิงห์บุรี เนื่องจากเครือข่าย RSA ไม่สามารถหาสถานพยาบาลในสังกัดรัฐที่พร้อมให้บริการทำแท้งภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียงได้

แต่กว่าที่คีรีจะเข้ารับบริการได้ ก็ต้องทำแบบสอบถามประเมินสภาพจิตใจ เจ้าหน้าที่แจ้งกับเธอว่าเธอต้องประเมินตัวเองให้เป็น “โรคซึมเศร้า” เพื่อที่จะได้เข้าข่ายการยกเว้นทางกฎหมายขณะนั้น ซึ่งอนุญาตให้แพทย์ทำแท้งได้ถ้าหากการตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้หญิง

ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้คีรีหันมาสนใจประเด็นสิทธิการทำแท้งและทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับ “กลุ่มทำทาง” เพื่อรณรงค์ให้ผู้หญิงมีช่องทางเข้าถึงการทำแท้งได้ง่ายขึ้น แต่คีรีกล่าวว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เธอสังเกตเห็นก่อนและหลังที่การทำแท้งจะได้รับการรับรองในกฎหมายอาญา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยมาก นอกเหนือไปจากการยืนยันเชิงหลักการว่า ผู้หญิงมีสิทธิ์เข้าถึงการทำแท้งโดยมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ไม่ต้องระบุว่าตนเองมาทำแท้งเพราะเป็นโรคซึมเศร้า 

“กฎหมายดีขึ้น แต่ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากเท่าไหร่” คีรีกล่าวให้สัมภาษณ์

กลุ่มทำทางและองค์กรที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิการทำแท้ง ต่างให้ความเห็นตรงกันว่าการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ยังไม่ครอบคลุมประชาชนทั่วไปเท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่ได้มีฐานะทางการเงินที่สูงมากนัก ซึ่งต้องพึ่งพิงบริการสุขภาพถ้วนหน้าของภาครัฐ

ค่าใช้จ่ายในการทำแท้งในคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน มักจะเริ่มต้นที่ประมาณ 3,000 – 4,000 บาท และกลุ่มทำทางให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในบางกรณีที่อายุครรภ์สูง ค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลเอกชนสูงถึง 20,000 บาทเลยทีเดียว ในขณะที่ประชาชนสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ฟรีในโรงพยาบาลรัฐที่เข้าโครงการกับสปสช. 

ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า โรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานให้บริการทำแท้งครอบคลุมพื้นที่เพียงแค่ 39 จังหวัดเท่านั้น และผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าจำนวนโรงพยาบาลที่ให้บริการจริงๆ มีจำนวนน้อยกว่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้เสียอีก เช่น ในบางกรณี โรงพยาบาลขึ้นทะเบียนไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถให้บริการได้จริง เพราะหาแพทย์ที่ยินยอมให้บริการไม่ได้ 

นักกิจกรรมที่ติดตามสิทธิการทำแท้งอย่างสุไลพรและกฤตยากล่าวเสริมว่า การให้บริการทำแท้งในกรุงเทพมหานคร หายากยิ่งกว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดเสียอีก โดยการสำรวจของกลุ่มทำทางพบว่า โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครล้วนแต่ไม่มีการให้บริการทำแท้ง หรือไม่พร้อมให้บริการ 

และถึงแม้ว่าโรงพยาบาลรัฐบางแห่งจะให้บริการ แต่การตรวจสอบของทีมข่าว HaRDstories ก็พบว่าสถานพยาบาลเหล่านั้นมักจะกำหนดเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ขึ้นเอง ซึ่งกลายเป็นการ “กีดกัน” ผู้หญิงจำนวนมากออกจากระบบ โดยไม่ได้ยึดโยงกับหลักเกณฑ์ในกฎหมาย

เพื่อทดสอบว่าประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการทำแท้งได้มากน้อยแค่ไหน ผู้สื่อข่าว HaRDstories ลองโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงพยาบาลรัฐจำนวนหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยระบุว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งต้องการเข้ารับบริการทำแท้งเนื่องจากท้องไม่พร้อม ในอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ ซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายรับรอง 

แต่พยาบาลและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต่างๆ ที่ HaRDstories พูดคุยด้วย ระบุว่าโรงพยาบาลของตนไม่มีนโยบายให้บริการทำแท้งสำหรับผู้หญิงท้องไม่พร้อม หรือมีนโยบายว่ารับให้บริการเฉพาะกรณีตั้งครรภ์จากคดีข่มขืน หรือกรณีที่ทารกในครรภ์มีความพิการเท่านั้น

“ถ้าเป็นท้องไม่พร้อม เราไม่รับทำค่ะ ของเราไม่รับข้อบ่งชี้นี้” พยาบาล ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในย่านถนนราชวิถี กล่าวทางโทรศัพท์ “แล้วแต่เงื่อนไขของโรงพยาบาลเป็นคนกำหนดค่ะ” 

เท่าที่ HaRDstories สอบถาม มีโรงพยาบาลแห่งเดียวเท่านั้นที่ปฏิเสธการให้บริการแล้วพยายาม “ส่งต่อ” ตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนด ด้วยการแนะนำสถานที่ให้บริการอื่นๆ ที่ผู้สื่อข่าวสามารถติดต่อได้ ในขณะที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตดอนเมืองระบุสาเหตุที่ไม่ยอมให้บริการอย่างชัดเจนที่สุด 

“เราไม่รับเคสแบบนี้ค่ะ …  คุณหมอไม่รับ เราก็รับเคสไม่ได้ค่ะ” พยาบาลปลายสายกล่าวอย่างตัดบท 

คุณธรรมแบบคุณ-น่ะ-ทำ

นพ.วรชาติจากโรงพยาบาลพิมายกล่าวว่า ถึงแม้ตัวบทกฎหมายและทัศนคติของสังคมทั่วไปเกี่ยวกับการทำแท้งจะเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แพทย์หลายคนยังคงมีทัศนคติต่อต้านการทำแท้ง เพราะมองว่าเป็น “บาป” หรือ “การฆ่าคน” ซึ่งขัดกับหลักจริยธรรมวิชาชีพแพทย์ ที่พร่ำสอนให้ช่วยชีวิตมนุษย์

ทัศนคติเช่นนี้ยิ่งพบมากในกลุ่มแพทย์ที่อาวุโส หรืออยู่ในตำแหน่งที่สามารถกำหนดนโยบายหรือแนวปฏิบัติของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

“คุณเข้าใจมั้ยว่า หมอก็มีจิตวิญญาณ มีความคิดของเค้า ถ้าเค้ามองว่าเรื่องไหนผิด เค้าก็ไม่ทำ ความเชื่อบังคับกันไม่ได้หรอก” นพ.วรชาติให้สัมภาษณ์ “หมอก็ออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกัน อาจารย์ที่สอน เค้าก็สอนๆ กันว่าทำแท้งคือไม่ดี เค้าใช้จริยธรรมมาสอน”

นพ.วรชาติกล่าวด้วยว่า วงการแพทย์มักจะกล่าวว่า ต้องทำงานด้วยหลัก “คุณธรรม” แต่พอเป็นเรื่องการทำแท้ง กลับใช้หลัก “คุณ-น่ะ-ทำ” กล่าวคือ ปฏิเสธไม่ยอมให้บริการ และปัดหน้าที่ให้เป็นเรื่องของหมอคนอื่น โดยไม่ได้สนใจว่าคนไข้ได้รับบริการหรือไม่ 

“มีเขียนไว้นะ ถ้าแพทย์ไม่ทำ ให้รีบส่งต่อโดยไม่ชักช้า แต่จะให้ส่งไปไหนล่ะ ก็ไม่มีที่ไหนเค้ารับไง” นพ.วรชาติกล่าวระบายความอัดอั้น “นี่ไง หลักการคุณน่ะทำ กูไม่ทำ กับอีกอันนึง ‘คนไข้เป็นศูนย์กลาง’ แต่หมายถึงศูนย์แบบเลข 0 นะ เพราะคนไข้ไม่มีค่าอะไรเลย” 

กฤตยาจากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวเช่นกันว่าแพทย์เป็นส่วนสำคัญในกลไกการเข้าถึงการทำแท้ง เพราะถ้าหากแพทย์ที่มีหน้าที่ทำแท้งในโรงพยาบาลนั้นๆ ปฏิเสธไม่ให้บริการ แม้แต่ผู้บริหารหรือใครก็ไม่สามารถทำอะไรได้ 

กฤตยายังเล่าถึงกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้น ณ โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่มีการให้บริการทำแท้งเพราะไม่มีแพทย์ด้านสูตินรีเวช เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงทำได้แค่ส่งต่อผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งไปให้สถานพยาบาลอื่นๆ แทน ในเวลาต่อมา มีแพทย์สูตินรีเวชย้ายมาประจำที่โรงพยาบาลดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ดีใจกันว่าโรงพยาบาลจะสามารถให้บริการทำแท้งในพื้นที่ได้แล้ว คนไข้จะได้ไม่ต้องเดินทางข้ามพื้นที่ไปที่อื่นๆ

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นต้องผิดหวัง เมื่อแพทย์ท่านนั้นประกาศว่าตนไม่รับทำแท้ง และไม่ยอมเซ็นส่งต่อเคสไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ด้วย กระบวนการส่งต่อจึงต้องยุติลง 

“คนในระบบสาธารณสุขเค้าไม่กล้ายุ่งกับหมอกันหรอกค่ะ คนระดับผู้อำนวยการ [โรงพยาบาล] ก็ไม่กล้ายุ่ง” กฤตยาสรุป 

เธอกล่าวด้วยว่ากระบวนการทำงานที่แพทย์ผลักเคสทำแท้งไปให้คนอื่นๆ ตามดุลยพินิจของตนเองเช่นนี้ ยังกลายเป็นการผลักภาระและค่าใช้จ่ายไปให้โรงพยาบาลขนาดเล็กโดยไม่เป็นธรรมด้วย เพราะในหลายครั้งๆ แพทย์ในเครือข่ายเหล่านั้นต้องมารับเคสทำแท้งที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ ปฏิเสธไม่ยอมให้บริการ ทั้งที่มีทรัพยากรและแพทย์ที่พร้อมกว่า

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งทัศนคติเชิงลบต่อการทำแท้งก็มาจากพยาบาลเสียเอง อย่างเช่นในกรณีของนพ.วรชาติที่ระบุว่า ตนต้องทำแท้งที่คลินิกก็เพราะพยาบาลที่โรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่ ไม่ยอมมีบทบาทในกระบวนใดๆ ทั้งสิ้นที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง

“ขนาดแค่สายน้ำเกลือเค้ายังจะไม่จับเลยคุณ เค้าบอกงี้เลย” นพ.วรชาติเล่า “เขาไม่จะยอมมีส่วนร่วมใดๆทั้งนั้น ก็อย่างที่ผมบอกไง ระบบคุณ-น่ะ-ทำ กูไม่ทำ คุณเข้าใจหรือยังล่ะ”

ณฐกมล ศิวะศิลป เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของกลุ่มทำทาง ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิการทำแท้งทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2564 ซึ่งรวมถึงคำบอกเล่าจากผู้หญิงกว่า 60 คน

เธอกล่าวว่า ผู้หญิงหลายคนมักจะต้องประสบกับความอับอายหรือถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เมื่อพยายามเข้ารับบริการทำแท้งในสถานพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะจากพยาบาล 

“พอไปถึง เค้าไปเจอพยาบาลพูดจาให้อับอาย ตะโกนเรียกชื่อเสียงดัง คนที่นั่งแถวนั้นได้ยินกันหมดว่าคนนี้จะมาทำแท้ง ไม่รักษาความเป็นตัวของผู้เข้ารับบริการเลย” ณฐกมลเล่า “เราก็ได้แค่คาดเดากันเองนะว่าพยาบาลเค้าทำไปเพื่ออะไร แต่ถ้าให้พี่คิดเอง พี่คิดว่าเค้าทำเพื่อให้อับอาย ให้อายแล้วก็กลับไปเอง” 


“ขนาดคนอย่างผมยังเปลี่ยนได้เลย”

นักกิจกรรมสิทธิการทำแท้งที่ให้สัมภาษณ์ HaRDstories ในบทความนี้มีหลากหลายข้อเสนอที่อยากฝากไปยังรัฐบาลและผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นบริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง แทนที่จะเป็นเพียงถ้อยคำที่ปรากฏเฉพาะในกฎหมาย แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 

เช่น บรรจุบริการทำแท้งไว้ในหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของสถานพยาบาล เพื่อกระตุ้นให้แต่ละโรงพยาบาลตื่นตัวที่จะให้บริการ ผลักดันให้แต่ละจังหวัดมีผู้ให้บริการทำแท้งอย่างน้อย 1 แห่งต่อจังหวัด ประชาชนจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระเดินทางข้ามจังหวัด และคอยสอดส่องดูแลให้สถานพยาบาลต่างๆ มีระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ คอยเชื่อมต่อผู้หญิงที่ต้องการรับบริการทำแท้งกับผู้ประกอบวิชาชีพที่พร้อมให้บริการ แทนที่จะกีดกันการทำแท้ง 

“การทำแท้งต้องเข้าถึงได้จริงค่ะ ไม่อย่างงั้น ถ้าคุณมีเงิน คุณก็ไม่เดือดร้อน เพราะคุณไปทำได้หนิ” สุไลพรจากกลุ่มทำทางกล่าวยืนยัน “เพราะงั้นมันต้องครอบคลุม แล้วไม่ใช่ว่ามีแต่ต้องจ่ายเองนะ ทุกจังหวัดต้องมีบริการ และประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินด้วย”

อีกทางออกหนึ่งคือการอบรมให้แพทย์และพยาบาลรุ่นใหม่ๆ มีความตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิการทำแท้งในกฎหมายยุคปัจจุบัน และเคารพว่าผู้หญิงย่อมมีสิทธิในร่างกายของตนเอง  

“เหมือนกับยาคุม เมื่อก่อนเค้าก็พูดงี้ ยาคุมจะทำให้ผู้หญิงเงี่ยน จะทำให้ผู้หญิงร่าน นี่ไง เหมือนกันมั้ย วาทกรรมเดียวกันเลย” นพ.วรชาติยกตัวอย่าง “สังคมทุกวันนี้ก็เปลี่ยนความคิดไปแล้ว และเราก็คาดหวังให้เปลี่ยนความคิดเรื่องนี้ [การทำแท้ง] ด้วยสักวันนึง แต่กระบวนการเรื่องนี้มันช้า ต้องใช้เวลา”

นพ.วรชาติกล่าวว่า เขาเป็นคนที่เชื่อในพลังของการค่อยๆ พูดคุยเพื่อเปลี่ยนความคิดของคน เพราะตัวเขาเอง ก็เคยเปลี่ยนความคิดมาแล้วเช่นกัน

“เริ่มแรกผมก็คิดแบบนั้นเกี่ยวกับทำแท้งนั่นแหละ สมัยนั้นทำแท้งต้องใช้วิธีขูดมดลูก เจ็บมากนะครับ เราคิดสะใจด้วยซ้ำ เออดี ให้มันโดนซะบ้าง ให้สาสมกับที่ฆ่าลูกตัวเอง แต่ขนาดคนอย่างผมยังเปลี่ยนได้เลย” นพ.วรชาติเล่าความหลัง

“พอเราเจออะไรเยอะๆ ด้วยตัวเอง เราถึงค่อยมาคิดได้ว่า คนเรามีเหตุผลของเค้า เหมือนเพลงอะ ‘อื่นๆ อีกมากมาย’ เราไม่ได้เป็นเค้า เราตัดสินใจแทนเค้าได้ยังไง เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใจอะไรแทนใคร ผมเลยมีหลักคิดง่ายๆให้ตัวเองว่า ถ้าผู้หญิงเค้าอยากท้องต่อ เด็กก็ต้องได้เกิดอย่างมีคุณภาพ ถ้าเค้าอยากยุติ [การตั้งครรภ์] ก็ต้องทำอย่างปลอดภัย แค่นั้นเอง” 

ธีรนัย จารุวัสตร์ (โทนี่) เป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวประชาไทภาคภาษาอังกฤษ รายงานข่าวการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิมนุษยชน

ลูค ดักเกิลบี เป็นช่างภาพชาวอังกฤษประจำกรุงเทพฯ คอยติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากมลพิษและการพัฒนาต่อชุมชนท้องถิ่นสม่ำเสมอ

More Features

เหตุไฉน ‘สหภาพ’ ถึงยังเป็น ‘คำต้องห้าม’ ในวงการสื่อไทย?

error: Content is protected !!