ศาลยกฟ้อง ยืนไม่ต้องทำอีไอเอโรงไฟฟ้าขยะ

ภาพ: เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง หารือกับตัวแทนชุมชน ภาพโดย ณิชา เวชพานิช
ภาพ: เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง หารือกับตัวแทนชุมชน ภาพโดย ณิชา เวชพานิช

20 กรกฎาคม 2565 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีที่เครือข่ายประชาชนและกลุ่มจับตามลพิษได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงฯ ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste to Energy) กำลังไปที่นิยมมากขึ้นในไทยและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ “แก้กฎหมาย” ออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ฉบับที่ 7 ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ก่อนเดินหน้าสร้างโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประเภทดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาขยะชุมชนควบคู่กับผลิตพลังงานทางเลือก

อย่างไรก็ตาม โครงการแนวดังกล่าวสร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพให้ชุมชนรอบข้าง ปลายปี 2558 เครือข่ายประชาชนจึงได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวและนำกระบวนการอีไอเอกลับมาใช้สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดมากกว่า 10 MW เหมือนกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ

ศาลปกครองมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การแก้กฎหมายนั้นกระทบกับสิทธิของผู้เสนอโครงการโรงไฟฟ้า แต่ไม่ได้กระทบกับสิทธิของประชาชนส่วนรวม และการศึกษาผลกระทบต่างๆ ผ่านกลไกประมวลหลักการปฏิบัติ (COP) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามปัจจุบันนั้นเพียงพอแล้ว ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมมองว่าไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากเพียงพอ

“ปัจจุบัน มีโครงการโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นทั่วไทยไม่ต่ำกว่า 44 โรงและจากการศึกษาพบว่ามาตราการป้องกันมลพิษในไทยนั้นยังไม่เพียงพอ ทำให้มักจะปล่อยไดออกซินที่เป็นสารก่อมะเร็ง” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว

โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเกิดขึ้นหลายขนาดและพื้นที่ทั่วไทย โดยมักจะได้รับการต่อต้านจากชุมชน เช่น กรณีอ.เทิง จ.เชียงรายหรือกรณีอ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งกำลังปักหลักประท้วงอยู่กรุงเทพฯ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ก่อนทำ

“ตอนนี้ประเทศไทยกำลังลดมาตราฐานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ไม่ต้องทำอีเอไอก็ได้” สมนึก จงมีวศิน ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและหนึ่งในอนุกรรมการแก้ไขปัญหาจากการจัดการขยะไทยในรัฐสภา ชี้

เครือข่ายจะยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวในอีก 30 วันข้างหน้า

 

error: Content is protected !!