สกลนคร – 2 เมษายน 2566 ณ ริมอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ในอำเภอวานรนิวาส “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” จัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทง เพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ โดยมีทั้งกิจกรรมทางศาสนาและความเชื่อ การจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนของกลุ่มและเวทีเสวนา “อดีต ปัจจุบัน อนาคต โปแตชอีสานกับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและการพัฒนาอีสาน”
งานบุญดังกล่าวจัดขึ้นเป็นปีที่หก นอกจากไทบ้านในชุมนุมต่างๆ โดยรอบแล้ว ยังมีตัวแทนนักปกป้องสิทธิในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชและเหมืองแร่ประเภทอื่นๆ เดินทางมาร่วมงานกว่าสามร้อยคน งานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทงจึงเป็นเหมือนงานประจำปีที่รวมตัวชุมชนที่เผชิญปัญหาจากเหมืองแร่ทั่วภาคอีสาน
ต่อชะตาอ่างเก็บน้ำใน “เขตเหมืองแห่งใหม่”
งานในช่วงเช้าเป็นพิธีศาสนาและความเชื่อ เริ่มด้วยการบวงสรวงเซ่นไหว้ศาลเจ้าศรีสุทโธสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนและทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้าแก่พระสงฆ์ จากนั้นทางกลุ่มได้พาผู้มาร่วมงานเดินชมนิทรรศการที่ติดตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำห้วยโทง ซึ่งมีเนื้อหาบอกเล่าความประวัติความเป็นมาในแต่ละช่วงเวลาการต่อสู้ของกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส
อ่างเก็บน้ำห้วยโทงก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2534 โดยมีจุดประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับการเกษตร จนต่อมามีการนำน้ำในอ่างไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น เช่น ทำน้ำประปาให้กับคนอำเภอวานรนิวาส จนในปี 2547 บริษัท ไซน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์เปอเรชั่น เข้าขอยื่นขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช และได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อเข้าสำรวจในพื้นที่เป็นเวลาห้าปีระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2562
ด้วยความกังวลว่าการเข้ามาของโครงการทำเหมืองแร่โปแตชจะสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆให้กับชุมชน ประชาชนในอำเภอวานรนิวาสจึงรวมตัวกันในนาม “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” เดินหน้าต่อสู้คัดค้านด้วยการ ทั้งเดินขบวน ยื่นหนังสือ รวมถึงการปิดล้อมไม่ให้ทางบริษัทเข้าทำการขุดเจาะสำรวจในพื้นที่ จนถูกทางบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมาแล้ว
ข้อกังวลใหญ่อย่างหนึ่งของทางกลุ่ม คือหากมีการทำเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นจะก่อมลพิษต่ออ่างเก็บน้ำห้วยโทงที่ใช้หล่อเลี้ยงคนทั้งอำเภอวานรนิวาส
“ถ้าเหมืองเกิดขึ้น เราจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากห้วยโทงได้ ห้วยโทงก็เปรียบเหมือนคนที่ป่วย เราเลยต้องทำพิธีสืบชะตาห้วยโทงไว้ให้มีชีวิตอยู่กับเราต่อไป” นงค์ชัย พันธ์ดา ไทบ้านจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ผู้รับหน้าที่เป็นพิธีกรในงาน กล่าวอธิบายถึงความหมายของการจัดงานบุญสืบชะตา ซึ่งมุ่งหมายจะใช้งานบุญประเพณีเชื่อมร้อยผู้คน ทั้งในชุมชนเองให้ร่วมปกป้องแหล่งน้ำของตัวเองและคนจากพื้นที่อื่นๆ ที่ได้ต่อสู้ในประเด็นปัญหาเดียวกัน
พ.ร.บ.แร่ฉบับปี 2560 กำหนดให้มีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดแร่ออกมาในทุกสี่ถึงห้าปี เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการทรัพยากรแร่ในระยะสั้น ซึ่งแผนแม่บทฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2566-2570 ที่เพิ่งประกาศใช้ในเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ ได้บรรจุพื้นที่วานรนิวาสเข้าไปเป็น “เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง” หรือ “Mining zone” แม้ก่อนหน้านี้ กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสจะออกมาคัดค้าน เนื่องเป็นการประกาศเขตเหมืองแร่ทับพื้นที่แหล่งน้ำสำคัญคือห้วยโทง ซึ่งควรจะเป็นพื้นที่ได้ถูกยกเว้นตามกฎหมาย

“ด่านขุนทด” ตัวอย่างผลกระทบจากโพแทช
ต่อมาในช่วงบ่ายมีการจัดเวทีเสวนา “อดีต ปัจจุบัน อนาคต โปแตชอีสานกับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน” โดยมีทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและไทบ้านจากพื้นที่เหมืองโปแตช ร่วมวงเสวนา
“ปัญหาผลกระทบหลายอย่าง พวกเราไปทวงถามเหมืองแร่ก็ปัดความรับผิดชอบ หรือจ่ายค่าชดเชยบ้างเป็นบางหลัง หนำซ้ำยังถูกฟ้องกลับจนทุกวันนี้คนที่ร่วมกันต่อสู้ต่างรู้สึกหวาดกลัว ใครสู้ก็ถูกขู่ฟ้องจับติดคุก ชาวบ้านกลัวกันมาก เพราะพวกเขาเองก็ไม่รู้กฎหมาย ที่สำคัญชาวบ้านกลัวเสียเงินสู้คดี เพราะชาวบ้านเอง ก็ต่างยากจนหาเช้ากินค่ำ” ธนาวรรณ ไกนอก ผู้ร่วมเสวนา กล่าวทั้งน้ำตา ถึงสถานการณ์ ที่บ้านของเธอในตำบลหนองไทร อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา
หลังเหมืองโปรแตชของบริษัท ไทยคาลิ เข้ามาดำเนินกิจการในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2558 ได้มีเกลือรั่วไหลออกจากเหมืองเข้าสู่พื้นที่ของชุมชนโดยรอบ มีการตรวจพบว่าน้ำในชุมชนมีค่าความเค็มสูงกว่าน้ำทะเลถึงสองเท่า กระทบทั้งพื้นที่เกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ และมีอาคารบ้านเรือนหลายแห่งที่ประสบความพุพังจากการถูกน้ำเค็มกัดกร่อน
“ปกติแล้วไม่ใช่คนร้องไห้เก่ง แต่วันนี้พูดด้วยความรู้สึกที่ว่าไม่อยากให้พี่น้องทั่วประเทศได้รับผลกระทบ เหมือนที่ด่านขุนทดต้องเจอ” ธนาวรรณ พูดออกไมโครโฟนด้วยเสียงสะอื้น ยกให้กรณีของด่านขนทด เป็นตัวอย่างที่จะเกิดขึ้นกับอีกหลายชุมชน หากเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันด่านขุนทดเป็นพื้นที่เดียวในอีสานที่มีเหมืองแร่โปแตชดำเนินการอยู่
นอกจากธนาวรรณแล้ว ในเวทีเดียวกันยังมีชาวบ้านจากอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มอนุรักษ์วานรนิวาส นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผลัดเปลี่ยนจับไมค์แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูล
รายงานโดย สมานฉันท์ พุทธจักร