ลุ้นคดีกลุ่มชาวบ้านโดนผลกระทบเหมืองทองอัครา

- Published 5 เมษายน 2023
- 2 min read
ผ่านไปหกปีหลังถูกรัฐบาลไทยสั่งปิด เหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้งเมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางบริษัทเหมืองได้รับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนต่างๆ ตามเงื่อนไขสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น การยกเว้นภาษีเป็นเวลาแปดปี ทว่าความกังวลเรื่องผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบข้างยังคงอยู่
เหมืองทองชาตรีนับเป็นเหมืองทองคำที่ใหญ่ที่สุดในไทย ครอบคลุมรอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์และพิษณุโลก เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2544 โดยบ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย จนกระทั่ง มกราคม 2560 รัฐบาลไทยได้ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ม.44) สั่งปิดเหมืองทองคำโดยอ้างถึงผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนรอบข้าง จนเกิดเป็นคดีระหว่างประเทศที่บริษัทออสเตรเลียฟ้องรัฐบาลไทยว่าการใช้กฎหมายพิเศษสั่งปิดเหมืองเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี
คิงส์เกต์ได้เรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยร่วมหลายร้อยล้านบาท ขณะที่คดีระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทเหมืองมีแนวโน้มว่าจะเจรจาและคลี่คลายภายในปีนี้ แต่คดีในระดับชุมชนยังเดินหน้าต่อ โดยศาลแพ่งรัชดาภิเษก กรุงเทพฯมีกำหนดสืบพยานและพิพากษาคดีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองภายในปีนี้
“ตราบใดที่ผลกระทบจากบ่อกักเก็บหางแร่รั่วไหลยังอยู่และยังไม่ได้แก้ปัญหาเดิมให้เบ็ดเสร็จ คุณจะเปิดให้เหมืองดำเนินการใหม่ได้อย่างไร” สมชาย อามีน ทนายเจ้าของคดีและจากสภาทนายความตั้งคำถามระหว่างให้สัมภาษณ์ HaRDstories
คดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นคดีกลุ่ม โดยมีตัวแทนผู้ฟ้อง (โจทก์) คือแกนนำจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่เหมืองทองและมีสมาชิกกลุ่มชาวบ้านพิจิตรและเพชรบูรณ์ที่ลงชื่อกับสภาทนายความเบื้องต้นราว 400 คน ฟ้องบริษัทอัคราฯ เมื่อปี 2559 ฐานละเมิดพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เรียกค่าเสียหายจากการเจ็บป่วยมีสารพิษในร่างกายและค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติราวคนละ 15 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 600 ล้านบาท

กระบวนการสกัดแร่ทองคำต้องใช้สารไซยาไนด์และกักเก็บไว้ในบ่อหางแร่ ทว่ารายงานวิจัยพบว่าบ่อกักเก็บนั้นรั่วไหลและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้แหล่งน้ำใกล้เคียงปนเปื้อนถึงไซยาไนด์สูงกว่าค่ามาตราฐานถึง 1,700 เท่า นอกจากนี้ คนในพื้นที่ยังตรวจพบสารไซยาไนด์และโลหะหนักประเภทอื่นๆ ในเลือดมีปริมาณเกินมาตราฐานตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เมื่อปี 2561 ศาลแพ่งได้รับฟ้องเป็นคดีกลุ่ม นับเป็นคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งผลตัดสินของศาลจะครอบคลุมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบลักษณะเดียวกับผู้ฟ้องทุกคนซึ่งอาศัยในระยะ 5 กิโลเมตรจากพื้นที่เหมือง
แหล่งข่าวในพื้นที่เผยว่า ปัจจุบัน เหมืองทองชาตรีได้กลับมาเปิดดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่มีการระเบิดเพื่อสกัดแร่
คดีแบบกลุ่มสิ่งแวดล้อมนับเป็นการดำเนินคดีรูปแบบใหม่ในประเทศไทยและเริ่มปรากฏคำตัดสินคดีแนวนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น กรณีชุมชนต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ประสบปัญหามีโลหะหนักในเลือดเกินค่ามาตราฐานและโรงงานรีไซเคิลปล่อยน้ำเสีย ปี 2563 ศาลแพ่งฯ ตัดสินให้บริษัทผู้ก่อมลพิษชดเชยค่าเสียหายชาวบ้าน 1,000 ราย ร่วม 1.3 ล้านบาท
“กรณีเหมืองทองพิจิตรฟ้องเป็นคดีกลุ่มก่อนหน้ากรณีน้ำพุ แต่ว่าศาลใช้เวลาไต่สวนนานกว่าสองปีก่อนจะรับเป็นคดีกลุ่ม” ทนายสมชาย ซึ่งช่วยเหลือคดีที่ราชบุรีด้วยเช่นกันอธิบาย “เพราะเป็นคดีแรกที่ศาลไทยยังไม่เคร่งครัดนัก ประกอบกับทางจำเลยยังดึงคดีให้ล่าช้า”
กุมภาพันธ์ปีนี้ บ.อัคราและโจทก์ได้ขอให้นำคดีเข้าสู่ขบวนการไกล่เกลี่ย โดยทางบริษัทเสนอจะตั้งกองทุนพัฒนาหมู่บ้านและเฝ้าระวังสุขภาพให้แก่ชุมชนในด้านต่างๆ หลังเปิดทำการ ด้านทางโจทก์ได้เสนอให้บริษัทจ่ายค่าชดเชย ทว่าสมชายมองว่า “การตั้งกองทุนเพื่อดูแลชุมชนนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ดำเนินการเหมืองอยู่แล้ว แล้วความเสียหายที่ผ่านมาในอดีตจะต้องมีการชดเชยเยียวยาด้วย”
ศาลมีกำหนดนัดรับฟังผลการไกล่เกลี่ยในวันที่ 11 เมษายนนี้ หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้จะเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการสืบพยานถึงเดือนกรกฎาคมและสิ้นสุดกระบวนการศาลภายในปีนี้
HaRDstories ได้รับการติดต่อทางอีเมลล์จากทางสื่อสารองค์กรของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เพื่อชี้แจ้งเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยทางบริษัทฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในรัศมี 500 เมตร – 3 กิโลเมตรจากเหมืองช่วงปี 2558-2564 พบว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการ การสำรวจครั้งดังกล่าวจัดทำโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รวม 5 ครั้ง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นเมื่อกรกฎาคมปี 2562 โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ซึ่งพบว่าประชาชน 78% ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไปเพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมองว่าสภาวะมลพิษก่อนและหลังเหมืองทำการไม่ได้แตกต่างกัน
“นอกจากนี้ ทีมชุมชนสัมพันธ์ของบริษัทฯ ลงพื้นที่พบปะพี่น้องในชุมชนอยู่เสมอ และสามารถยืนยันได้ว่าเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบได้ฉันท์มิตรและกลมกลืน มีการช่วยเหลือสนับสนุนกันในด้านต่าง ๆ ตลอดมา และเหมืองแร่ทองคำชาตรีไม่ได้ก่อผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มีคนในชุมชนรอบเหมืองจำนวนนับพันสมัครเข้าทำงาน” สื่อสารองค์กรของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส ระบุ “หากมีผลกระทบจริงตามข่าว เราคงไม่เห็นการตอบรับการกลับมาดำเนินการในลักษณะดังกล่าว”
การแก้ไข : บทความเวอร์ชั่นก่อนหน้าได้ระบุตัวเลขผู้เข้าข่ายผู้เสียหายในคดีกลุ่มเป็นจำนวนหนึ่งหมื่นราย ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการพิสูจน์ทางศาล ทางสำนักข่าวจึงแก้ไขตัวเลขดังกล่าว
Other news
- 17 พฤศจิกายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 25 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 4 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช