เปิดตัวผู้นำชนเผ่าพื้นเมืองชุดใหม่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนการเมืองไทย
สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยเปิดตัวคณะกรรมการและสมาชิกสภาฯ ชุดใหม่ นำโดยชายกะเหรี่ยงจากป่าตะวันตก ท่ามกลางความหวังของกลุ่มชนพื้นเมืองที่จะส่งเสริมการยอมรับและคุ้มครองชนพื้นเมืองในกฎหมายไทย

- Published 14 สิงหาคม 2023
- 2 min read
กรุงเทพฯ – สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ซึ่งเป็นกลไกประสานร่วมกันของชนพื้นเมืองทั่วไทย เปิดตัวสมาชิกชุดใหม่และสานต่อแผนขับเคลื่อนสี่ปีข้างหน้า เนื่องในโอกาสวันชนพื้นเมืองสากล 9 สิงหาคม 2566
สมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองปีนี้ประกอบด้วย 42 ชาติพันธุ์ นำโดยเกรียงไกร ชีช่วง ชาวกะเหรี่ยงโผล่ง จากอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ซึ่งทำงานกับเยาวชนในเครือข่ายกะเหรี่ยงเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณชายแดนไทย-เมียนมามาต่อเนื่อง นับเป็นการรับช่วงต่อของสภาชนเผ่าพื้นเมืองนำโดยกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ชนเผ่าอิ้วเมี่ยน ที่ดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วสองสมัย
แผนงานเชิงปฏิบัติการระยะ 4 ปี พ.ศ 2566-2570 จะเน้นพัฒนาเครือข่ายชนพื้นเมือง ส่งเสริมให้ครอบครัวและชุมชนพึ่งพาตนเอง และเดินหน้าจัดทำระบบฐานข้อมูลประชากรและที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมือง
ภัยคุกคามชนพื้นเมือง
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์รวม 60 กลุ่มชาติพันธุ์ มีประชากร 6.1 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 4.3 ของประชากร 71.6 ล้านคนในไทย ที่ผ่านมา ชนพื้นเมืองต้องเผชิญกับปัญหาจากอคติของนโยบายที่รวมศูนย์หลายประการ เช่น ปัญหาแย่งยึดที่ดินบรรพบุรุษจากนโยบายอนุรักษ์ ปัญหาสูญเสียที่ดินจากการพัฒนาท่องเที่ยว ปัญหาการเสียอัตลักษณ์ตัวตนทางวัฒนธรรมและภาษา
จุฑามาส เรือนนุ่น เยาวชนมอแกลนบ้างทุ่งหว้า อำเภอตะกั่วป่า จ.พังงา เล่าถึงภัยคุกคามพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนเธอ “ทางภาครัฐจะย้ายพวกหนูไปอยู่ที่ตีนเขา ทำให้พวกหนูต้องอยู่ห่างจากทะเล” พื้นที่สุสานที่มีการฝังร่างของบรรพบุรุษมานานกว่าสามร้อยปี กำลังจะถูกพัฒนาเปลี่ยนเป็นที่จอดรถริมหาด
ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้หันมาสนใจฟื้นฟูวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น ปี 2550 สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง นำไปสู่การที่ไทยออกมติครมซึ่งเป็นแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง (มติครม. 3 สิงหาคม 2553) และชาวเล (มติครม. 2 มิถุนายน 2553) ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเขตพื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์ตามหมู่บ้านต่างๆ

ภาพ : เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
ติดล็อกการเมือง
อย่างไรก็ตามแนวนโยบายเหล่านั้นยังไม่พอ เพราะยังมีชนพื้นเมืองอีกหลายกลุ่มและยังไม่นับเป็นกฎหมายที่คุ้มครองชนพื้นเมืองอย่างแท้จริง เครือข่ายชนพื้นเมืองจึงได้ผลักดัน “ร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ซึ่งได้รับการบรรจุเข้าสภาผู้แทนฯ แล้ว แต่ขั้นตอนผลักดันเป็นกฎหมายหยุดชะงักเมื่อเกิดการยุบสภาตอน 20 มีนาคม 66
ขณะที่ไทยมีกำหนดเลือกนายกรัฐมนตรีในสิงหาคมนี้ ตัวแทนชนเผ่ากว่า 50 คนได้ยื่นหนังสือให้ประธานและสภาชุดที่ 26 ให้เร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป
ร่างกฎหมายเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันเป็นหนึ่งในสี่สิบร่างกฎหมายเร่งด่วนที่พรรคก้าวไกล ได้ยื่นเข้าสภาฯ ให้เร่งพิจารณาหลังการตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลยังมีสมาชิกส.ส.บัญชีรายชื่อจากชนพื้นเมืองสองราย ได้แก่ มานพ คีรีภูวดล ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และเล่าฟั้ง บัณทิตเทอดสกุล ชนเผ่าม้งจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นพรรคการเมืองแรกในไทยที่มีส.ส.ชนพื้นเมือง
แต่สถานการณ์การเมืองซึ่งยังไม่ลงตัว ทำให้ไทยยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลังผ่านการเลือกตั้งไปสามเดือน และรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขเรื่องส.ว.ทำให้พรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดไม่สามารถเป็นพรรคนำจัดตั้งรัฐบาล
เกรียงไกร ชีช่วง เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยคนใหม่ กล่าวอย่างมีความหวัง “หากไทยมีกฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมการมีสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ยอมรับตัวตนและมีมาตรากาคุ้มครองอัตลักษณ์อย่างเป็นรูปธรรม จะส่งเสริมการอยู่ร่วมกับแบบพหวุฒนธรรมอย่างแท้จริง”
Other news
- 17 พฤศจิกายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 25 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 4 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช