ใกล้คลอด ฐานข้อมูลติดตามมลพิษของประชาชน

ศาลพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ “PRTR” ภายใน 60 วัน แต่นักสิ่งแวดล้อมกังวลว่าจะครอบคลุมแค่ไม่กี่จังหวัด 

ภาพ: Greenpeace Thailand
ภาพ: Greenpeace Thailand

กรุงเทพฯ – ศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ มีคำสั่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด ทำเนียบดังกล่าวจะช่วยติดตามข้อมูลมลพิษปล่อยจากอุตสาหกรรมที่อาจกระทบกับสุขภาพประชาชน 

คำตัดสินเป็นผลจากคดีฟ้องโดยองค์กรสิ่งแวดล้อมและบุคคลเจ็ดราย เมื่อมกราคม 2565 โดยพิพากษาว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ปฏิบัติหน้าที่แก้ไขวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้

ช่วงมกราคมถึงพฤษภาคมทุกปี หลายจังหวัดทั่วไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคกลางและภาคเหนือ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งจากการทำการเกษตรและไฟป่า มีนาคมปีนี้ เชียงใหม่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงติดอันดับหนึ่งของโลก นำหน้ามุมไบ ประเทศอินเดีย

นอกจากปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้ว ปัญหามลพิษทางอากาศยังเป็นเรื่องอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม เช่น โรงงานระเบิด เหตุการณ์โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกและโฟมกิ่งแก้ว ใกล้กรุงเทพฯ เมื่อกรกฎาคม 2564 ทำให้สาธารณะกังวลถึงการแพร่กระจายของสารพิษในอากาศและแสดงให้เห็นว่าไทยขาดฐานข้อมูลสารเคมีที่ใช้ในโรงงาน เพื่อแจ้งเตือนให้สาธารณะทราบเพื่อป้องกันสุขภาพและรับมือ

ภาคประชาสังคมได้ผลักดันให้มีพ.ร.บ. PRTR เพื่อสร้างฐานข้อมูลดังกล่าว โดยมีกฎหมายจากสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเป็นต้นแบบ 

“หัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกคือ การให้เผยแพร่ข้อมูลปริมาณและชนิดของมลพิษจากทุกแหล่งกำเนิดทางเว็บไซต์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงได้ง่าย ตามหลักสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ หนึ่งในองค์กรผู้ฟ้องคดีกล่าว “ประเทศไทยควรต้องมีการใช้กฎหมาย PRTR โดยเร็วเพื่อจะได้แก้ปัญหามลพิษอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อย่างไรก็ตาม ศาลได้ยกฟ้องคำเรียกร้องของนักสิ่งแวดล้อมให้ยกระดับค่ามาตราฐาน PM2.5 ที่ปล่อยจากโรงงาน นอกจากนี้ เครือข่ายนักสิ่งแวดล้อมยังกังวลว่าร่างกฎหมาย PRTR ฉบับกระทรวงอุตสาหกรรมอาจจะเก็บข้อมูลเพียงแค่ใน 3 จังหวัดนำร่อง เครือข่ายฯ จึงกำลังพิจารณายื่นอุทธรณ์คดีและรณรงค์ร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน

 

error: Content is protected !!