ไทยเซ็นสัญญาซื้อขายไฟเขื่อนปากแบง 29 ปี คนโขงกังวลผลกระทบ
ไทยลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงในลาว ด้วยระยะเวลาซื้อขายทั้งหมด 29 ปี โดยไม่รับฟังเสียงของประชาชนที่กังวลด้านผลกระทบ

- Published 20 กันยายน 2023
- 3 min read
กรุงเทพมหานคร – กลุ่มประชาชนและเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างต้องตกใจ หลังผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุในที่ประชุมว่าได้มีการลงนามเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงในประเทศลาวเรียบร้อยแล้ว ด้วยระยะเวลาซื้อขายนานถึง 29 ปี
เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ในระหว่างที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่และประชุมร่วมกันกับนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ภาคส่วนราชการและผู้นำท้องถิ่น ที่ห้องประชุมอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อพุดคุยหารือเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบง แต่ทางกฟผ.กลับแจ้งในที่ประชุมว่าได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับบริษัทปากแบงพาวเวอร์จำกัด (มหาชน) แล้วเป็นระยะเวลา 29 ปี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
“ถ้าเราไม่ได้ประชุมเพื่อถามเรื่องนี้ เราก็ไม่รู้ว่ามันเซ็นไปแล้วด้วยซ้ำ เห็นได้ชัดว่าไม่มีความโปร่งใสหรือให้เรามีส่วนร่วมเลย” เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคของ International Rivers กล่าวให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “แม้ว่าเราจะมีการติดต่ออย่างต่อเนื่องกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้ตรวจสอบรัฐและคณะกรรมการต่างๆ แต่เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ฟังเรา”

“ไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครขอให้เซ็น”
หลังได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ชาวบ้านและองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เข้าร่วมการประชุมต่างรู้สึกตกใจและผิดหวัง เพราะถือว่าเป็นการเซ็นสัญญาที่ไม่รับฟังเสียงข้อกังวัลและข้อคัดค้านของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด อีกทั้งทาง ยังเป็นการลงนามสัญญาณที่กินเวลานานถึง 29 ปี โดยจะมีการเริ่มส่งไฟฟ้าตั้งแต่ พ.ศ. 2576 เป็นต้นไป ด้วยราคาซื้อขายที่ 2.70 บาทต่อหน่วย
การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันมานาน เนื่องจากเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนในประเทศจีนนั้นเสี่ยงให้ประเทศตอนบนควบคุมการไหลของน้ำที่ไหลลงมายังกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าจีนสร้างเขื่อนกันแม่น้ำโขงเพื่อหวังประโยชน์ทางการเมือง และการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาวที่มีเป้าหมายผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมาขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และระบบนิเวศในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กองทุนเยียวยาเขื่อนเพียงพอหรือไม่?
ผู้แทน กฟผ. แจ้งในที่ประชุมในช่วงท้ายว่าได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว พร้อมกับระบุว่าสัญญาเขื่อนปากแบงมีเงื่อนไขสำคัญคือมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดน โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการฯ ระบุให้มีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาจำนวน 45 ล้านบาทต่อปี เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชน โดยจะมีการปรับวงเงินเยียวยาทุก 5 ปี
ศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ยังได้มีการพูดคุยกับประชาชนถึงข้อห่วงกังวลเรื่องการระบายน้ำของเขื่อนจิ่งหงที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบนเหนือเขื่อนปากแบงขึ้นไปที่ส่งผลกระทบท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำโขงหลายแห่ง แต่ทาง กสม. ไม่สามารถดำเนินการนอกราชอาณาจักรไทยเพื่อตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวได้

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจะส่งผลทำให้การไหลของน้ำไม่เป็นไปตามฤดูกาลอีกต่อไป น้ำที่กักเก็บจากเขื่อนจะท่วมแก่งผาได ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชายแดนไทย-ลาว หากแม่น้ำโขงกลายเป็นแอ่งเก็บน้ำก็จะทำให้แก่งผาไดจมน้ำตลอดไป ส่งผลกระทบต่อไก สาหร่ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของคนในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ของเกาะแก่งหินก็จะจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้ไม่มีนกอพยพมาวางไข่อีกต่อไปด้วย
“วันนี้เห็นแล้วว่า การตัดสินใจลงนาม PPA เมื่อ 3 วันที่แล้ว ไม่ได้ใช้เหตุผลหรือข้อมูล แต่เป็นผลประโยชน์ เสียใจมากที่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประชาชน” นิวัฒน์กล่าว
ชาวบ้านและเครือข่ายประชาชนได้ทำหนังสือส่งไปเพื่อติดตามและแสดงข้อห่วงกังวลโดยตลอด แต่ถูกเพิกเฉยไม่รับฟังโดยหน่วยงานรัฐและผู้มีอำนาจ
ไพรินทร์ เสาะสาย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ทางเครือข่ายฯ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการในรัฐสภาเพื่อให้มีการตรวจสอบและขอให้ชะลอการลงนามสัญญาซึ้อขายไฟฟ้า และต่อมา กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ขอข้อมูลร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่ก็ไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด.
Other news
- 17 พฤศจิกายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 25 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 4 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช