กลุ่มครู-อาจารย์ เล็งรวมตัวจัดตั้ง ‘สหภาพคนทำงานการศึกษา’

เสาร์อาทิตยนี้ ครูและอาจารย์จะรับบทเป็น “นักเรียน” เข้าคลาสพิเศษ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองร่วมกัน และศึกษาแนวทางการจัดตั้ง “สหภาพคนทำงานการศึกษา” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

ภาพ : ลูค ดุกเกิลบี/HaRDstories
ภาพ : สมาชิก “สหภาพคนทำงาน” เดินขบวนในกรุงเทพมหานครเนื่องในวันแรงงานสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565. ลูค ดักเกิลบี / HaRDstories

กรุงเทพฯ — นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน นัดรวมพลคนทำงานด้านการศึกษาหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ครูโรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงติวเตอร์ เสาร์-อาทิตย์นี้ เพื่อจัดอบรมแนะนำแนวคิดว่าด้วยการสร้างอำนาจต่อรองและจัดตั้ง “สหภาพแรงงาน” 

โครงการดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่า “หลักสูตรการจัดตั้งและสร้างอำนาจการต่อรอง” จะมีขึ้นในวันที่ 26-27 สิงหาคมนี้ โดยเนื้อหาเวิร์กชอปจะครอบคลุมหลักการขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง การรวมตัวจัดตั้งสหภาพ และประเด็นด้านสิทธิแรงงานต่างๆ ที่ครูและอาจารย์มักพบเจอ อย่างไรก็ตาม หนทางสู่การจัดตั้งสหภาพยังมีอุปสรรคมากมาย เช่นตัวบทกฎหมายไทยที่ไม่รับรองสิทธิการรวมตัวของคนทำงานการศึกษา และความไม่เข้าใจต่อคำว่า “สหภาพ” 

ตัวแทนกลุ่ม “ครูขอสอน” ซึ่งเป็นเครือข่ายครูที่เคลื่อนไหวด้านการปฏิรูปการศึกษา และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานอบรมครั้งนี้ กล่าวว่าโครงการมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้คนทำงานการศึกษา ตระหนักเรื่องสิทธิและพลังในการรวมกลุ่ม

“เวลาเราพูดถึงสหภาพ คนชอบนึกถึงแรงงานในโรงงาน” ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ “ครูทิว” ให้สัมภาษณ์กับ HaRDstories “แต่ในต่างประเทศ ครูก็มีสหภาพครูที่มีอำนาจต่อรองนะครับ” 

มุมมองของครูทิวสอดคล้องกับนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานอีกหลายคน ที่ตั้งข้อสังเกตว่าคนทำงานสายวิชาชีพอื่นๆ เช่นสื่อมวลชน มักจะไม่มีสหภาพแรงงานเป็นของตนเอง

“เราไม่มีอำนาจต่อรองกับคนที่กำหนดนโยบาย ต้องทำตามคำสั่งอย่างเดียวตามนโยบายที่กำหนดลงมา” ครูทิว ซึ่งทำงานเป็นครูในโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งเช่นกัน “ถ้าเราไม่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ก็ไม่สามารถมีอำนาจต่อรองได้ มันเป็นปัญหากับทุกอาชีพของคนทำงานนั่นล่ะครับ ไม่ใช่แค่ครู” 

การอบรมที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์อาทิตย์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จัดโดย “สหภาพคนทำงาน” อันเป็นเครือข่ายผลักดันด้านสหภาพและสวัสดิภาพแรงงานให้กับอาชีพต่างๆ โดยมีมูลนิธิจากเยอรมนี “Friedrich Ebert Stiftung” ให้ทุนสนับสนุน ทั้งนี้ “สหภาพคนทำงาน” ได้เคยจัดการอบรมในลักษณะนี้ให้กับกลุ่มไรเดอร์และคนทำงานด้านสาธารณสุขมาแล้ว และในเดือนหน้า จะมีรอบสำหรับนักดนตรีและคนทำงานกลางคืนด้วย 

ครู เจ้าหน้าที่โรงเรียน อาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย นักวิชาการ ติวเตอร์ และนักศึกษา สามารถสมัครร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ แต่ผู้จัดงานระบุว่าจะรับผู้เข้าร่วมอบรมเพียง 20 คนเท่านั้น รายละเอียดกิจกรรมระบุว่าในวันแรกจะเป็นการทำความเข้าใจ “คนทำงาน” และสหภาพ ส่วนวันที่สองจะเรียนรู้เกี่ยวกับการรณรงค์และการจัดตั้ง การเจรจาต่อรองร่วม และการผลักดันนโยบาย เป็นต้น

 

สมาชิก “สหภาพคนทำงาน” เดินขบวนในกรุงเทพมหานครเนื่องในวันแรงงานสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ภาพ: ลูค ดักเกิลบี / HaRDstories

 

เงินเดือนครู 4,000 บาท พอกินไหม?

วิบากกรรมต่างๆ ที่มักจะมาพร้อมอาชีพครูโรงเรียนรัฐในประเทศไทย เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นประจำ เพราะนอกจากครูโรงเรียนจะต้องสอนนักเรียนหลายคาบ ยังจะต้องใช้เวลากับกระบวนการทางราชการที่หยุมหยิม เมื่อไฟเสียหรือน้ำไม่ไหล ก็ต้องรับบทเป็น “ช่างจำเป็น” เสียเอง และยังไม่นับประเพณี “ครูเวร” ที่ต้องนอนเฝ้าโรงเรียนอีกด้วย 

ไหนจะปัญหาเงินเดือนครูที่เป็นกระแสดราม่าในโซเชียลมีเดียหลายครั้ง เช่น โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานีแห่งหนึ่ง ที่เคยประกาศรับสมัครครูดีกรีปริญญาตรี พร้อมเงินเดือน 3,800 บาท 

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่เรียกว่า “สหภาพครูแห่งชาติ” ซึ่งมักทำหน้าที่เป็นปากเสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการครู แต่ครูทิวอธิบายว่าหน่วยงานดังกล่าวสังกัดกับคุรุสภา และไม่ได้มีสถานเป็นสหภาพแรงงานอิสระแบบที่เห็นกันในต่างประเทศ

“เค้าเป็นกลุ่มครูที่สู้มานานมาก” ครูทิวกล่าว “แต่รูปแบบโครงสร้างก็ยังไม่ใช่สหภาพที่ขับเคลื่อนแบบในต่างประเทศ แบบนั้นยังไม่มีในประเทศไทยครับ” 

ปัจจัยสำคัญที่ครูยังไม่มีสหภาพคือ “กฎหมาย” ของไทยนั่นเอง เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 อันเป็นกฎหมายสำคัญที่คุ้มครองสิทธิการรวมตัวเพื่อตั้งสหภาพ แต่มาตรา 4 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ให้ใช้บังคับกับ “ราชการ” ทำให้ข้าราชการครูและคนทำงานด้านการศึกษาภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ในสุญญากาศทางกฎหมายไปโดยปริยาย

อีกปัจจัยหนึ่งคือการที่คนทำงานด้านการศึกษาจำนวนมาก ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสหภาพ และการรวมตัวเพื่อต่อรองกับนายจ้างหรือผู้มีอำนาจ แต่ครูทิวกล่าวว่า ตนหวังว่ากิจกรรมที่จะจัดขึ้นนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติดังกล่าว

“ในกลุ่มอาชีพการศึกษา คนรู้เรื่องการรวมตัวน้อยมากครับ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เราถึงต้องมาเริ่มต้นกัน” ครูทิวกล่าว “เราก็หวังว่าอาจารย์หรือครูที่เจอปัญหาร่วมกัน น่าจะได้มาเจอกัน มองเห็นหนทางร่วมกัน มาช่วยกันคิดว่าปัญหาเหล่านี้จะขยับเขยื้อนอย่างไร เผื่อจะได้เครื่องมือไปแก้ไขปัญหากัน”

เขากล่าวทิ้งท้าย “เรื่องนี้เราต้องค่อยๆทำความเข้าใจกันไปครับ” 

 

error: Content is protected !!