ศาลอาญายกฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานข้อหาฆาตกรรม “บิลลี่”
เจ้าหน้าที่อุทยานสี่รายพ้นข้อหาร่วมกันฆ่า “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แต่มหากาพย์เก้าปีการหายตัวไปของนักกิจกรรมกะเหรี่ยงยังไม่จบ คำถามหลายข้อยังไร้คำตอบและครอบครัวบิลลี่ยังคงทวงถามความยุติธรรม

- Published 29 กันยายน 2023
- 2 min read
กรุงเทพ – เจ้าหน้าที่อุทยานสี่รายพ้นข้อกล่าวหากรณีการฆาตกรรมนักปกป้องสิทธิชาวกะเหรี่ยง “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ
28 กันยายน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษายกฟ้องข้อกล่าวหาร่วมกันฆ่าที่กล่าวหาโจทก์ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่อีกสามราย เมื่อกันยายนปีก่อนหน้า ครอบครัวของบิลลี่ได้ฟ้องร้องจำเลยทั้งสี่ข้อหาไม่ได้ดำเนินการตามหน้าที่ (ไม่ได้ควบคุมตัวบิลลี่พร้อมของกลางส่งสถานีตำรวจภูธร) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันเผาทำลายศพแล้วเก็บชิ้นส่วนที่เหลือใส่ถังน้ำมันไปทิ้งในน้ำบริเวณสะพานแขวนในอุทยาน
ศาลพิจารณาว่าผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์ชิ้นส่วนกระดูกขมับข้างซ้ายนั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นของบิลลี่ แม้ว่าผลจะชี้ว่าเป็นชิ้นส่วนของบุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไปและเป็นพันธุกรรมของบุตรนางโพเราะจี (มารดาบิลลี่) หรือหลานนางนอกะเต (มารดานางโพเราะจี) จึงยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของญาติคนอื่นๆ ที่เสียชีวิต ดังนั้นจึง “ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่น”
อย่างไรก็ตาม ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปีชัยวัฒน์ ข้อหาไม่ได้ดำเนินการตามหน้าที่ตอนกักขังบิลลี่ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
บิลลี่หายตัวไปเมื่อ 17 เมษายน 2557 หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ทั้งสี่จับกุมในความผิดฐานนำของป่า (น้ำผึ้ง) ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ บริเวณด่านเขามะเร็ว โดยทั้งสี่อธิบายว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่แล้วหลังจากสอบสวน
ตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่จะต้องควบคุมตัวบิลลี่ พร้อมของกลางส่งสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเปรียบเทียบดำเนินการตามกฎหมาย และแจ้งผู้ถูกควบคุมตัวและครอบครัวให้ทราบถึงสิทธิที่มีทางกฎหมาย แต่ชัยวัฒน์และพวกไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น
ปัจจุบัน ชัยวัฒน์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงิน 800,000 บาทและไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ ขณะที่เจ้าหน้าที่อีกสามรายพ้นข้อกล่าวหาทุกประการ
“คดีต่างๆ ที่กล่าวหาว่าเราเกี่ยวข้องกับบิลลี่ เราก็ยืนยันในข้อเท็จจริงของเราว่าเราไม่ได้เกี่ยวข้อง” ชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์สื่อหลังจากการประกันตัว เผยว่าจะเตรียมอุทธรณ์ข้อหา 157 เร็วๆ นี้
“ที่เราเจอเป็นเหมือนเรื่องราวเดิมๆ ของเจ้าหน้าที่อุทยานที่ต้องปกป้องป่าในข้อกฎหมายที่เคร่งครัดแล้วกระทบกับชุมชน [พูดได้ว่า] พฤติกรรมโดยทั่วไปของเจ้าหน้าที่อุทยานสุ่มเสี่ยงผิด 157 ทุกคน”
เขาอธิบายว่าเจ้าหน้าที่อุทยานต่างต้องเจอสถานการณ์เสี่ยงละเลยการบังคับใช้กฎหมายสม่ำเสมอ เพราะต้องหาทางอยู่ร่วมกับชุมชนในป่าที่อาจมีการเก็บของป่าหากิน การจับกุมบิลลี่เกิดขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะออกมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานเมื่อปี 2562 ที่เปิดให้ชุมชนในป่าสามารถเก็บของป่าเพื่อการบริโภคได้
ครอบครัวทวงหาความยุติธรรม
ผลตัดสินศาลอาจพากรณีบิลลี่กลับสู่ความคลุมเครืออีกครั้ง แม้ว่าเมื่อปีก่อน ทนายประจำครอบครัวจะมองว่ามีความหวัง “คดีแรกในไทยที่การทำให้บุคคลสูญหายมีกระบวนการสืบสวนสอบสวนจนกระทั่งทำให้พบว่าเป็นการฆาตกรรม”
“เท่ากับว่าทุกอย่างกลับไปอยู่ที่เดิม บิลลี่กลายเป็นบุคคลสูญหาย” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายประจำครอบครัวและผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว ชี้ว่าผู้ที่พบเห็นและจับกุมบิลลี่เป็นคนสุดท้ายยังเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งสี่ “ความรับผิดชอบกลับไปอยู่ที่รัฐทุกฝ่ายที่จะรับผิดชอบต่อครอบครัวบิลลี่”
ถึงแม้จะยกฟ้องข้อหาเกี่ยวข้องการฆาตกรรม การพิจารณาของศาลอาญาพบว่าคำให้การและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่มีพิรุธหลายประการ เช่น จุดที่อ้างว่าปล่อยตัวบิลลี่ไม่มีพยานยืนยันและไม่สอดคล้องกับเวลาที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เคียงจุดปล่อยตัว
หลังคำตัดสิน พิณนภา รักจงเจริญ ภรรยาของบิลลี่เผยความรู้สึกว่า “ไม่มีอะไรจะพูด” ด้านทนายเผยว่าครอบครัวมีแผนจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
หลายกรณีอุ้มหายยังเป็นปริศนา
ปีนี้เป็นปีแรกที่พ.ร.บอุ้มหายบังคับใช้ในไทย แต่กรณีอุ้มหายหลายกรณียังไม่มีการสืบสวนที่ชัดเจน รวมถึงกรณี “ต้า” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองไทยที่หายตัวไปในกัมพูชาเมื่อปี 2563 พี่สาวของวันเฉลิมได้เข้าร่วมฟังคำพิพากษาคดีบิลลี่ด้วยเพื่อให้กำลังใจ
บิลลี่เป็นนักกิจกรรมกะเหรี่ยงที่สู้เพื่อสิทธิที่ดินและการอยู่ในป่าของชุมชน ผู้เป็นภรรยาได้อธิบายต่อศาลว่าบิลลี่มีหลักฐานคลิปวิดิโอเกี่ยวข้องกับการลักลอบตัดไม้ของเจ้าหน้าที่และบิลลี่มีแผนจะยื่นฎีกาปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงแก่รัชกาลที่ 9
ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกะเหรี่ยงและแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติยังคงไม่จบ ต้นเดือนกันยายน ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยส่วนหนึ่งยื่นเรื่องให้รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ให้เร่งดำเนินการตามกลไกแก้ไขปัญหา ซึ่งล่าช้าเพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ไทย
Other news
- 17 พฤศจิกายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 25 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 4 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช