ยกเลิกเบี้ยคนชราถ้วนหน้า ทำประเทศไทย ‘ถอยหลังไป 14 ปี’
ภาคประชาชนเดินหน้าค้านคำสั่งมหาดไทยยกเลิกเบี้ยคนชราแบบถ้วนหน้า ด้าน WeFair เตือน ระบบพิสูจน์ความจนจะทำคนจนตกหล่นแน่นอน

- Published 18 สิงหาคม 2023
- 3 min read
กรุงเทพฯ — กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสวัสดิการรวมตัวชุมนุมกัน ณ ที่ทำการของ 3 กระทรวงใหญ่เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เพื่อคัดค้านประกาศจากกระทรวงมหาดไทยที่จะปรับเปลี่ยนให้ระบบเบี้ยยังชีพคนชราเข้าสู่กระบวนการ “พิสูจน์ความจน” จากเดิมที่เป็นการแจกจ่ายแบบถ้วนหน้า
ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 11 ส.ค. ระบุว่า ประชาชนที่จะเข้าถึงเบี้ยคนชราจะต้อง “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” นับว่าเป็นการสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราแบบถ้วนหน้าที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2552
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ยืนยันว่า ประกาศดังกล่าวจะมีผลเฉพาะกับผู้ที่เกิดหลังปี 2507 เป็นต้นไปเท่านั้น และรายละเอียดต่างๆ จะกำหนดอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติในอนาคต แต่บรรดานักกิจกรรมได้เรียกร้องให้รัฐบาลกลับไปใช้ระบบเบี้ยคนชราถ้วนหน้าดังเดิม
“เรียกได้ว่า ถอยหลังครั้งใหญ่เลย” นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ แกนนำกลุ่มสวัสดิการถ้วนหน้า WeFair กล่าวให้สัมภาษณ์หลังการชุมนุมจบลง “ประกาศกระทรวงฉบับนี้นะ มันทำเราถอยหลังไป 14-15 ปีเลย”
เพื่อประท้วงมาตรการดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทย WeFair และตัวแทนภาคประชาสังคมอื่นๆ เช่น PMove และเครือข่ายสลัมสี่ภาค จึงได้ชุมนุมกันหน้าบริเวณกระทรวงการคลัง ก่อนจะย้ายไปปราศรัยต่อที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมกับยื่นหนังสือยืนยันหลักการเบี้ยคนชราถ้วนหน้าให้ผู้แทนจากฝั่งรัฐบาล โดยมี อนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. เป็นผู้รับมอบหนังสือและพูดคุยกับผู้ชุมนุม
“ให้มั่นใจได้ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้นจะไม่ทำให้ผู้สูงอายุผิดหวังอย่างแน่นอนครับ ขอบคุณครับ” ปลัด พม. กล่าวผ่านเครื่องกระจายเสียง ทำให้ผู้ชุมนุมพากันปรบมือ “ทั้งท่านและเราเนี่ย ต้องการปกป้องสิทธิของผู้สูงอายุเป็นจุดยืนเดียวกันอยู่แล้ว”
ระบบการจ่ายเบี้ยคนชราในปัจจุบันเริ่มต้นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2552 โดยมีข้อกำหนดเพียงแค่เป็นพลเมืองไทยอายุ 59 ปีขึ้นไปก็สามารถรับเบี้ยคนชราได้แล้ว ยกเว้นเสียแต่เป็นบุคคลที่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐในทางอื่น เช่น ข้าราชการ ซึ่งได้รับเงินบำนาญหลักหมื่นบาทเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว
ตัวแทนรัฐบาลได้ย้ำกับสื่อมวลชนว่า ระบบดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนให้มีการคัดกรองรายได้ เพื่อให้มั่นใจว่าเงินช่วยเหลือจะไปตกอยู่เฉพาะกับคนชราที่มีฐานะยากจนและต้องการความช่วยเหลือจากรัฐจริงๆ ซึ่งจะช่วยให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้หลายล้านบาท
ในอีกด้านหนึ่ง นิติรัตน์และนักกิจกรรมคนอื่นๆ เตือนว่ากระบวนการพิสูจน์ความจนเช่นนี้จะเสี่ยงทำให้คนชราจำนวนมาก “ตกสำรวจ” ทำให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความยุ่งยากในเชิงราชการและเสียค่าใช้จ่ายในกระบวนการมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
“ทุกวันนี้ เบี้ย 600 บาทก็ไม่พอแดกแล้ว” ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมแรงงานกล่าวปราศรัยหน้ากระทรวงมหาดไทย “ไม่ต้องมาพิสูจน์ความจน พวกกูไม่รู้จะจนไปถึงไหนแล้ว”
ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เครือข่ายเรียกร้องรัฐสวัสดิการอย่าง WeFair ได้สร้างกระแสรณรงค์ครั้งใหญ่ ด้วยความหวังว่า พรรคการเมืองที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลชุดต่อไปจะรักษาและขยายโครงการต่างๆ ที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้
ข้อเรียกร้องหนึ่งของกลุ่ม WeFair เป็นที่นิยมมากจนพรรคการเมืองหลายพรรคได้นำเอาไปบรรจุเป็นนโยบายหลัก นั่นคือ การเรียกร้องให้เพิ่มเบี้ยคนชราจากเริ่มต้นเดือนละ 600 บาท เป็น 3,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เพียงแค่สามเดือนหลังการเลือกตั้ง กลุ่ม WeFair กลับต้องประสบกับการพยายามลดทอนระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าครั้งใหญ่ในรอบ 14 ปี
แต่นิติรัตน์กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ตนยังมีความหวังอยู่ เพราะนโยบายด้านเบี้ยผู้สูงอายุถือเป็นหมุดหมายสำคัญของพรรคการเมืองระดับแถวหน้าจำนวนมาก จึงเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะไม่ยินดีเสียทีเดียวกับการตัดเบี้ยคนชราในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
“เท่าที่ดู เหมือนกับท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะได้เป็นรัฐบาลชุดต่อไป เค้าดูไม่ค่อยเห็นด้วยนะ” นิติรัตน์กล่าว “ก็ต้องรอประเมินสถานการณ์กันต่อไป รอดูรัฐบาลใหม่ที่จะมาฟอร์มทีม เมื่อเค้าตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ เราก็จะไปติดตามเรื่องนี้ทันที”
Other news
- 17 พฤศจิกายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 25 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 4 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช