นักปกป้องสิทธิรวมตัวต้านกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม

ภาพ : พีระพล บุณยเกียรติ/HaRDstories
ภาพ : พีระพล บุณยเกียรติ/HaRDstories

24 พฤษภาคม 2565 เครือข่ายประชาสังคมในนาม “ขบวนการคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน” ปักหลักชุมนุมกลางกรุงเทพฯ เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร

ผู้ชุมนุมกังวลว่าหากร่างกฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือที่รู้จักกันในชื่อเล่น “พ.ร.บ.การรวมกลุ่ม” (NPO) ผ่านเป็นกฎหมายนั้นจะลดทอนสิทธิพลเมืองและเปิดให้รัฐบาลหยุดการทำงานขององค์กรประชาสังคมต่างๆ หลังจากคณะรัฐมนตรีรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2564 ร่างฯ อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นและจะส่งต่อสู่รัฐสภา

ตั้งแต่การชุมนุมวันแรก (23 พฤษภาคม) ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องคำตอบจากรัฐบาล อนุชา นาคาศัย รมว.ประจำสำนักนายกฯ ออกมารับหนังสือจากตัวแทนขบวนเพื่อนำเรื่องเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันดังกล่าว ต่อมา ในช่วงบ่าย ครม.มีข้อสรุปว่าร่างกฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ผู้ประท้วงจึงไม่ต้องกังวล พร้อมกับเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมเพื่อศึกษาหารือเกี่ยวกับร่างต่อ

เครือข่ายประชาสังคมฯ ตัดสินใจปักหลักชุมนุมต่อเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเครือข่ายมีประสบการณ์เจรจากับรัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคมหลายครั้งและพบว่าการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เครือข่ายจึงเดินทางกลับไปปักหลักค้างคืนบริเวณหน้าสหประชาชาติ (UN) กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้หารือกับกลุ่มประชาสังคมไทยถึงความกังวลเรื่องร่างกฎหมายใหม่ตัวนี้

“พวกเรารวมกลุ่มสู้เหมืองที่บ้านพวกเรามาสิบกว่าปี ถ้าชาวบ้านไม่สามารถรวมกลุ่ม ไม่สามารถที่จะสมัครสมานสามัคคีกันได้ ก็ไม่สามารถจะต่อต้านนายทุนใหญ่ที่ละเมิดสิทธิคุกคามเราได้” ภรณ์ทิพย์ สยมชัย หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอายุ 54 จากวังสะพุง กล่าว พื้นที่วังสะพุง จ.เลย เผชิญกับผลกระทบหลายด้านจากการทำเหมืองทองขนาดใหญ่

ชุมชนเธอดำเนินคดีและถูกฟ้องหลายกรณีจากการเรียกร้องให้ผู้ก่อมลพิษรับผิดชอบ และสามารถปิดเหมืองได้สำเร็จก่อนที่รัฐบาลสมัยคสช.ออกคำสั่งปิดเหมืองทองทั่วประเทศในปี 2560 ปัจจุบัน ชุมชนเสนอแผนฟื้นฟูระบบนิเวศที่ออกแบบโดยคนในพื้นที่ ทว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไม่รับแผนดังกล่าว

“ขนาดเราสู้ขนาดนี้ รัฐยังมองไม่เห็นหัวเราเลย ถ้าเกิดพ.ร.บ.พวกนี้ออกมาล่ะ พวกเราจะสู้กับรัฐได้อีกหรอ รัฐจะไม่ละเมิดพวกเราไปมากกว่านี้อีกหรอ” ภรณ์ทิพย์  ถาม “ชาวบ้านตาดำๆ ที่สู้ด้วยตัวเองก็จะลำบากกว่านี้ พ.ร.บ.นี้ก็จะไปกดปราบไม่ให้พี่น้องรวมกลุ่มได้อย่างอิสระเสรี เลยเป็นเหตุให้พวกเราต้องออกมา”

error: Content is protected !!