เครือข่ายลุ่มน้ำชีเร่งแก้ผลกระทบเขื่อนยาวนาน 14 ปี

- Published 15 มิถุนายน 2022
- 2 min read
15 มิถุนายน 2565 เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่างราว 100 คนจากจ.ร้อยเอ็ดและยโสธรเดินทางไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ เพื่อเร่งให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบเร่งจัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำชีซึ่งกระทบกับวิถีชีวิตชุมชนมาตลอดหลายสิบปี
ชาวบ้านจากสองจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 3 แห่งในลุ่มน้ำชี ได้แก่ ฝายยโสธร-พนมไพร ฝายร้อยเอ็ด และฝายธาตุน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบริหารจัดการน้ำโขง ชี มูล ในภาคอีสานซึ่งได้สร้างฝายกั้นน้ำทั้งหมด 14 แห่งในอีสาน หลังจากเขื่อนทั้งสามสร้างเมื่อปี 2543 พบว่าทำให้ระดับน้ำผันผวนและท่วมไร่นาชุมชนใกล้เคียง ทำให้ต้นข้าวเน่าตายเป็นเวลา 1-3 เดือนตลอดสิบปีที่ผ่านมา กระทบกับวิถีชีวิตและประเพณี นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศป่าทาม ซึ่งเป็นป่าริมน้ำและแหล่งอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ
“ข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ดชื่อดังมาก เพราะว่าข้าวหอมมะลิที่หอมและมีคุณภาพเป็นข้าวนาปีซึ่งปลูกตามฤดูกาลธรรมชาติ แต่ว่าตั้งแต่มีเขื่อนมา ชาวบ้านไม่รู้จักชีพจรน้ำอีกเพราะมีคนเข้ามาควบคุมน้ำ ขึ้นอยู่กับว่าเขื่อนจะเปิดหรือระบายน้ำหรือไม่ วันนี้ชาวบ้านเลยต้องทำนาปรัง ซึ่งเป็นข้าวเกรดที่ใช้เป็นอาหารสัตว์และยังต้องใช้ปุ๋ยต้นทุนสูง เราต้องทำนาปรังเพื่อหาเงินซื้อข้าวนาปีมากิน” จันทรา จันทาทอง จากบ้านดอนแก้ว ต.บึงงาม อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด สะท้อนปัญหา เขาอาศัยอยู่ระหว่างเขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพร ต้องเผชิญน้ำท่วมต่อเนื่องหลายปี
ล่าสุด เครือข่ายฯ เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐจ่ายเงินเยียวยาเพื่อชดเชยค่าเสียหาย โดยคาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าสี่พันราย ที่ผ่านมาตลอด 14 ปี ชุมชนได้เรียกร้องให้แก้ไขปัญหา จนมีการตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการหลายชุดเพื่อแก้ปัญหามิติต่างๆ ทว่าไม่มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพียงพอ อีกทั้งคณะกรรมการชุดหลักนั้นพบว่าได้เลื่อนนัดประชุมแล้วหลายครั้ง ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่คืบหน้า วันนี้จึงเดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและกรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานเลขานุการเพื่อขอให้เร่งนัดวันประชุม
ราวเวลา 11.00 เครือข่ายเดินทางเข้าไปบริเวณที่ตั้งกระทรวงฯ หลังจากปักหลักบริเวณถนนด้านหน้าหลายชั่วโมง เพื่อยื่นหนังสือกับตัวแทนหน่วยงานรัฐทั้งสองและได้นัดหมายประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนลุ่มน้ำชีในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ เวลา 9.00 น. ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เครือข่ายยังย้ำว่า โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากโครงการโขงชีมูลยังไม่แก้ไขให้เสร็จสิ้น จึงไม่ต้องการให้รัฐบาลผลักดันโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งจะผันน้ำโขงเข้าอีสานในหลายพื้นที่อีกครั้งเพราะจะยิ่งกระทบซ้ำซ้อนปัญหาและจะต้องสร้างโครงสร้างคอนกรีตกั้นน้ำอีกหลายแห่งในอีสาน
“เรามากรุงเทพฯ วันนี้เพราะว่าศูนย์รวมอำนาจการจัดการน้ำอยู่ที่นี้” สิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด กล่าว “เรามาทวงคืนอำนาจจัดการน้ำให้กับชุมชนซึ่งรู้จักระบบนิเวศในพื้นที่ของตน ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการน้ำคือทางออกที่ยั่งยืน”
Other news
- 17 พฤศจิกายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 25 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 4 ตุลาคม 2023
- by ณิชา เวชพานิช
- 29 กันยายน 2023
- by ณิชา เวชพานิช